สิงห์ สุวรรณกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ว่าด้วยโครงสร้าง: อ่าน The Political Unconscious ของเฟรดริก เจมสัน ในวันร่ำลา
เฟรดริก เจมสัน (Fredric Jameson) ยักษ์ใหญ่แห่งวรรณกรรมวิจารณ์เสียชีวิตลงเมื่อวานนี้ (22 กันยายน 2567) ตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานถึง 90 ปี เจมสันได้ผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนวาระสุดท้ายกล่าวคือในช่วงปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมานี้ แต่ทุกชิ้นก็มีลายเซ็นที่หนักแน่นชัดเจน เขาประกาศตัวเป็นมาร์กซิสต์อย่างไม่เคยผันแปร แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ทั้งโลกชวนกันละทิ้งโครงการและอุดมคติของฝ่ายซ้ายแล้วหันไปหาแนวคิดโพสต์โมเดิร์นที่ “ล้ำสมัยกว่า” ในทศวรรษ 1990 ทว่าในเวลาเดียวกัน เขาก็วิพากษ์วิจารณ์มาร์กซิสต์แบบขนบอย่างถึงพริกถึงขิง วิพากษ์กระทั่งมาร์กซ์เองในหลายบทหลายตอน หรือจะกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือก่อสงครามกับวิธีคิดแบบลดทอนที่ฝังรากในแนวทางมาร์กซิสต์ขนบมาแทบจะในทุกงานเขียนของเขาก็ว่าได้ ซึ่งก็หมายความว่าเจมสันทั้งยืนเด่นโดยท้าทายต่อยุคสมัย และก็ได้ผลักแนวคิดฝ่ายซ้ายไปข้างหน้าให้มันมีชีวิตชีวาและทรงพลังยืนหยัดต่อกรกับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกทุนนิยมที่รังแต่จะแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปเสมอ ไม่เกินเลยที่เพอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) แห่ง New Left Review จะเรียกงานเขียนของเจมสันว่า “ระเบิดราวกับพลุไฟแมกนีเซียมที่จุดส่องสว่างท่ามกลางดินแดนอันธการแห่งโพสต์โมเดิร์น”
ข้อเขียนข้างล่างนี้ได้ดึงความคิดบางส่วนจาก The Political Unconscious ผลงานคลาสสิคของเจมสันที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1981 มาเป็นการชิมลางเพื่อชวนอ่านงานของเขาต่อไป และเพื่อแตกหน่อต่อยอดความคิดให้มัน “ระเบิด” ส่องสว่างไปข้างหน้าด้วยกัน
ว่าด้วยโครงสร้าง[1]
การอ่าน The Political Unconscious (2002) ของเฟรดริก เจมสัน (Fredric Jameson) สามารถช่วยเติมเต็มการคิดเรื่องโครงสร้างของหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะนอกจากเจมสันเริ่มต้นงานของตนด้วยการสรุปข้อเสนอของอัลธูแซร์ในเรื่องนี้อย่างกระชับ เขายังพยายามตีความ วิพากษ์วิจารณ์ และขยายความ เพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ให้กับปริมณฑลวัฒนธรรมในวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์ที่มีแนวโน้มจะลดทอนทุกอย่างลงให้เป็นการกำหนดหรือเป็นผลจากฐานเศรษฐกิจไปเสียหมดอีกด้วย นอกจากนี้ เจมสันยกตัวอย่างรูปธรรมในหลายกรณี โดยเฉพาะเมื่อพยายามทำความเข้าใจวรรณกรรม ทำให้เราสามารถเข้าใจอัลธูแซร์ที่ไม่ค่อยยกตัวอย่างในงานของเขาสักเท่าไรได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเจมสันยังส่งอิทธิพลต่อให้กับสลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Žižek) และคนอื่นๆ ที่ก็จะอนุญาตให้เราเข้าใจพื้นฐานความคิดของฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 ได้มากขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย
[…]
ในการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์” ที่มักวางพื้นฐานอยู่บนการคิดเรื่องเวลาแบบเป็นเส้นตรง ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงต่อการมองความเปลี่ยนแปลงของ “โครงสร้างสังคม” ข้ามยุคข้ามสมัยนั้น อัลธูแซร์พยายามก้าวข้ามมันด้วยการเสนอว่า สิ่งที่เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ซึ่งในคำอธิบายแบบมาร์กซิสต์ก็คือ “วิถีการผลิต (mode of production)” นั้นอยู่ลึกกว่า “ปริมณฑลทางเศรษฐกิจ” ดังที่เข้าใจโดยทั่วไป เมื่อปริมณฑลด้านเศรษฐกิจไม่ได้เท่ากับวิถีการผลิตแล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดวัฒนธรรม กฎหมาย การเมือง หรืออื่นๆ ในโครงสร้างส่วนบนแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ทุกระดับเหล่านี้ต่างมีอิสระโดยสัมพัทธ์ในตัวมันเอง มีห้วงเวลาและความเปลี่ยนแปลงในจังหวะของมันเอง (ไม่ได้จำเป็นต้องถูกกำกับโดย “ฐานทางเศรษฐกิจ” ที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลือก็จะเปลี่ยนตามไปหมด) รวมไปถึงตัดข้าม ตัดผ่าน ส่งผลกระทบ และกำหนดซึ่งกันและกันได้เสมอ ขณะที่สิ่งที่เรียกว่า “วิถีการผลิต” นั้นกลับถอยหนีห่างไปสู่ระดับลึกที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างตรงไปตรงมา อัลธูแซร์เปรียบเทียบระดับลึกที่สุดของสังคมนี้กับจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่เราต้องตีความผ่านการปรากฏตัวของมันในรูปลักษณะอื่นๆ เสมอ เช่น ในความฝันหรือคำพูดในจังหวะเผลอเรอ และหากจะทำความเข้าใจมัน ต้องประกอบสร้างมโนทัศน์และองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างละเอียดลออและซับซ้อนทุกครั้ง เฉพาะเป็นกรณีๆ ไป และไม่มีตัวแบบการอธิบายอย่างตายด้านตายตัว
กระนั้นก็ตาม เจมสันก็เตือนว่าคำว่า “อิสระโดยสัมพัทธ์” ของระดับต่างๆ ก็ต้องถูกนิยามให้ชัดเจน เพราะหากปล่อยไว้หลวมๆ ก็จะเป็นมโนทัศน์ที่ไม่อธิบายอะไรเท่าไรนัก และชวนให้หลงไปเข้าใจว่าระดับและปริมณฑลเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากกันและกันโดยสิ้นเชิง ให้ภาพคล้ายคลึงกับมโนทัศน์ “พหุสังคม (pluralistic society)” หรือแตกตัวออกเป็นสภาวะแตกต่างหลากหลายที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน แท้จริงแล้ว อัลธูแซร์ยืนยันถึงความเชื่อมโยงของปริมณฑลเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์ของระดับต่างๆ นั้นไม่ใช่หน่วยต่อหน่วย ชนกันไปมา แบบที่ ก. กระทบชิ่ง (ทำให้เกิด) ข. ราวกับเป็นลูกบิลเลียดซึ่งอัลธูแซร์เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลแบบกลไก (mechanical causality) และไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลเชิงการแสดงออก (expressive causality) ที่ปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นเพียงการแสดงออกซึ่งแก่นแท้หรือเนื้อในบางอย่าง เช่น จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย (Geist) ซึ่งอัลธูแซร์เห็นว่าเป็นลายเซ็นของวิธีคิดแบบเฮเกล ขณะที่อัลธูแซร์ยืนยันว่ามาร์กซ์คิดค้น causality อีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลเชิงโครงสร้าง (structural causality) ที่องค์ประกอบต่างๆ ต้องสัมพันธ์หรือเดินทางหรือถูกมองผ่านองค์รวมของ “โครงสร้าง” เสมอ ในเวลาเดียวกันโครงสร้างก็มิได้ดำรงอยู่อย่างเอกเทศ ลอยอยู่เหนือองค์ประกอบเหล่านี้ แล้วคอยบงการองค์ประกอบไปในทิศทางต่างๆ แต่เราจะพบโครงสร้างได้ก็เฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นนั่นเอง อาจจะฟังดูย้อนแย้ง แต่ความคิดนี้อัลธูแซร์หยิบยืมมาจากสปิโนซาที่เสนอว่าพระเจ้ามิได้อยู่เหนือโลก แต่ดำรงอยู่ในโลก (immanent) โดยปรากฏในภาวะต่างๆ เช่นในพื้นที่หรือในความคิด และเราไม่สามารถเข้าถึงพระองค์ได้โดยตรงนอกจากผ่านภาวะเหล่านั้น (ที่สัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนและเราต้องค่อยๆ แกะออกมาเป็นกรณีๆ ไป) เช่นเดียวกัน สำหรับอัลธูแซร์ โครงสร้างกับองค์ประกอบมิได้แยกขาดออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ส่งผลต่อกันและกันเสมอ ส่วนเสี้ยวถูกกำหนดโดยองค์รวมผ่านความสัมพันธ์ที่มันมีต่อส่วนอื่นๆ ขณะที่เราไม่สามารถมองหาองค์รวมได้ที่ไหนเลยนอกจากในความสัมพันธ์ที่องค์ประกอบมีต่อกันและกัน ในลักษณะนี้ โครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่อัลธูแซร์เรียกตามสปิโนซาว่า absent cause นั่นคือเป็นมูลเหตุก่อกำเนิดแต่แล้วก็ “หายไป” หรือจะกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นคือไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง แต่อยู่ในระดับที่เข้าถึงไม่ได้ตรงๆ และแสดงตัวออกในรูปลักษณ์อื่นๆ เสมอ เช่นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ในระบบ เป็นต้น โครงสร้างจึงดำรงอยู่ทุกหนแห่ง แต่ก็ไม่ดำรงอยู่ (อย่างชัดแจ้ง) ไปในเวลาเดียวกัน[2]
โครงสร้างทั้งแบ่งแยกให้เกิดความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบและเชื่อมโยงไปในเวลาเดียวกัน (Jameson, 2002, pp. 25-26) เจมสันตีความว่าการมองความสัมพันธ์แบบนี้คือการหารหัสแม่บทของ “การเชื่อมโยงเชิงโครงสร้าง” ที่จะสามารถถอดและแปลงรหัสของสิ่งต่างๆ ข้ามปริมณฑล ข้ามระดับชั้น ข้ามสกุล ข้ามสายพันธุ์ต่างๆ (identificatory transcoding) แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ลดทอนและยังคงธำรงลักษณะความแตกต่างของระดับชั้นเหล่านั้นเอาไว้ไปพร้อมๆ กัน เช่น การวิเคราะห์สถาบันครอบครัวต้องเชื่อมโยงประสบการณ์ของเด็ก (จิตวิเคราะห์) เข้ากับโครงสร้างชนชั้นของสังคมโดยรวม (การวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์) ให้ได้โดยไม่ลดทอนแต่ละระดับชั้นจนสูญเสียลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละปริมณฑลลงไป ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองชีวิตของคนคนหนึ่ง หรือประวัติศาสตร์ของครอบครัวเดี่ยวแบบกระฎุมพี หรือจุดตัดของความสัมพันธ์ทางชนชั้นในชั่วขณะเฉพาะของการพัฒนาทุนนิยมในประเทศนั้นๆ ที่กำลังมุ่งศึกษาอยู่ (Jameson, 2002, p. 28)[3]
เราอาจจะเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นหากมีภาพประกอบ เจมสันตีความว่าสำหรับอัลธูแซร์แล้ว “วิถีการผลิต” หนึ่งๆ หมายถึงองค์รวมทั้งหมดของความสัมพันธ์เหล่านี้ในทุกปริมณฑล ส่วนสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจ” อันรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางการผลิต พลังการผลิต ฯลฯ นั้นเป็นเพียงแขนงหนึ่งขององค์รวมนี้เท่านั้น กล่าวคือเราจะต้องเปลี่ยนความเข้าใจจากรูปที่ 1 ดังข้างล่างนี้ไปเป็นรูปที่ 2
รูปที่ 1: ความเข้าใจแบบมาร์กซิสต์ขนบที่โครงสร้างส่วนล่าง (เศรษฐกิจหรือวิถีการผลิต) กำหนดโครงสร้างส่วนบน (วัฒนธรรม อุดมการณ์ กฎหมาย รัฐ ฯลฯ) (Jameson, 2002, 17)
รูปที่ 2: โครงสร้างแบบอัลธูแซร์ตามการตีความของเจมสัน สังเกตว่าวิถีการผลิตหรือโครงสร้างนั้นกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างแต่ถอยร่นไปอยู่ในส่วนลึกที่สุด (จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดแจ้ง) ขณะที่ปริมณฑลเศรษฐกิจเป็นเพียงแขนงหนึ่งท่ามกลางแขนงอื่นๆ ของวิถีการผลิตเท่านั้น (Jameson, 2002, 21)
เจมสันยืนยันว่า นี่คือลักษณะที่ควรจะเป็นหากเราจะทำความเข้าใจ “โครงสร้าง” แบบอัลธูแซร์ กล่าวคือโครงสร้างอันหมายถึงวิถีการผลิตหนึ่งๆ นั้นเป็น absent cause มันจะไม่ปรากฏในฐานะองค์ประกอบรูปธรรมใดๆ เลย มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งขององค์รวม หรือเพียงระดับหนึ่งของช่วงชั้นต่างๆ “แต่คือระบบทั้งหมดของความสัมพันธ์ต่างๆ ของระดับชั้นเหล่านี้” (Jameson, 2002, p. 21)
เช่นเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์” ถึงที่สุดแล้วก็อยู่ในส่วนลึกที่สุดนี้ เพราะหากทุกระดับชั้น (การเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ) มีห้วงจังหวะเวลาและความเปลี่ยนแปลงเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ของตัวเองแล้ว กาลเวลาแบบประวัติศาสตร์ที่ผูกติดกับโครงสร้างอันเป็นส่วนลึกและฉายภาพถึงองค์รวมทั้งหมดนั้นจึงต้องไม่ใช่เส้นตรงและไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล (causality) แบบธรรมดาๆ
เจมสันตีความว่าในความซับซ้อนของกาลเวลา-ประวัติศาสตร์เชิงโครงสร้างนี้ต้องไปให้พ้นจากการคิดในลักษณะที่แบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างเวลาแบบที่เดินทางข้ามยุคข้ามสมัย (diachronic ที่เราอาจจะแปลได้ว่า “ปรกาล”) กับเวลาภายในระบบหรือยุคสมัยหนึ่งๆ (synchronic หรือ “สหกาล”) ซึ่งเป็นการคิดโดยสามัญทั่วไปของมาร์กซิสต์ที่พยายามอธิบายลักษณะของระบบการผลิตแบบหนึ่งก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตอีกรูปแบบหนึ่ง การคิดเช่นนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการเคลื่อนที่ของเวลาและการปฏิวัติก็คือช่วงเปลี่ยนผ่านข้ามรูปแบบการผลิต อย่างไรก็ตาม “โครงสร้าง” แบบที่อัลธูแซร์เสนอนั้นคือการคิดอยู่บนสมมติฐานตั้งแต่เริ่มแรกว่าการก่อรูปของสังคมใดๆ ก็ตามนั้นประกอบไปด้วยวิถีการผลิตอันหลากหลายและมีกาลเวลาภายในของแต่ละระบบดำรงอยู่ร่วมกันไปพร้อมๆ กันเสมอ[4] ฉะนั้น เวลาในโครงสร้างหนึ่งๆ จึงไม่ใช่ “สหกาล” (synchronicity) ธรรมดาๆ แต่เป็น “อภิ-สหกาล” (meta-synchronicity) ส่วนเวลาแบบข้ามยุคสมัยหรือ “ปรกาล” (diachronicity) นั้นก็ต้องถูกเข้าใจในลักษณะใหม่ที่ไม่ได้แยกขาดจาก “สหกาล” อย่างสิ้นเชิงเป็นขั้วตรงข้ามกันและกันอย่างความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม และการปฏิวัติก็จะไม่ใช่เป็นเพียง “เหตุการณ์คั่นจังหวะ” แต่ต้องถูกตีความใหม่ว่าเป็นการนำพาเอาการต่อสู้ในชีวิตประจำวันและรูปแบบสารพัดของความแตกต่างทางชนชั้นที่ดำเนินมาก่อนหน้าและแฝงฝังอยู่แล้วในประสบการณ์และชีวิตทางสังคมทั้งหมดนั้น ให้ปรากฏขึ้นใน “ห้วงขณะแห่งความจริง” ของการปฏิวัติ ฉะนั้น ห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติที่ดูเหมือนจะเป็นการ “เปลี่ยนผ่าน” ที่ได้เห็นได้อย่างชัดแจ้งนั้นก็ไม่ใช่อะไรนอกจากร่องรอยของเส้นทางขึ้นไปสู่บนพื้นผิวของกระบวนการต่อสู้ที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลามาแต่เดิมที่ปรากฏให้เราเห็นได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ส่วนเบื้องล่างหรือภายใต้ยอดน้ำแข็งนั้นคือการต่อสู้อันถาวรระหว่างวิถีการผลิตอันหลากหลายที่ดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กัน ดังที่เจมสันกล่าวว่า
ชั่วขณะแห่งชัยชนะของวิถีการผลิตใหม่ที่ทรงอิทธิพลขึ้นมา ก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการปรากฏออกในลักษณะปรกาล (diachronic manifestation) ของการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาและผลิตซ้ำความเหนือกว่าของระบบวิถีของตนเอง การต่อสู้ที่ดำเนินอย่างไม่รู้จบตลอดชั่วอายุขัยของมัน ที่ทุกขณะเวลาเต็มไปด้วยการต่อสู้และความขัดแย้งในระดับระบบหรือโครงสร้างกับวิถีการผลิตที่เก่ากว่าหรือใหม่กว่าซึ่งไม่ยอมถูกควบรวม หรือที่พยายามปลดตัวเองให้เป็นอิสระจากมันเสมอ (Jameson, 2002, 83)
ฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของการวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมคือการเผยให้เห็นการปฏิวัติวัฒนธรรมอันถาวรนี้และอ่านมันในฐานะโครงสร้างส่วนลึกอันเป็นขอบฟ้าแห่งความหมายที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ในองค์ประกอบในรายละเอียดขึ้นมาได้ (Jameson, 2002, pp. 82-83)
เจมสันมองว่าการทำความเข้าใจ “โครงสร้าง” ในแบบนี้ทำให้เราลัดข้ามปัญหาปลอมๆ ของการให้น้ำหนักความสำคัญแก่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเหนือด้านอื่นๆ ในสังคมหรือวัฒนธรรม เช่น เพศสภาพ เป็นต้น ในย่อหน้าที่สำคัญยิ่งเพราะเจมสันยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมนั้น เจมสันมองว่าการเหยียดเพศหรือลักษณะชายเป็นใหญ่ในสังคมต้องถูกทำความเข้าใจในฐานะการตกตะกอนของรูปแบบความแปลกแยกที่เกิดขึ้นในวิถีการผลิตอันเก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติที่ยังคงดำรงอยู่รอดอย่างแข็งขันจวบจนปัจจุบัน อันได้แก่ความแปลกแยกที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายและการแบ่งสรรอำนาจระหว่างผู้อาวุโสกับผู้เยาว์ การวิเคราะห์ที่ดีนั้นจะต้องมองโครงสร้างโบราณและระบบสัญญะของมันที่ยังเล็ดรอดหลงเหลืออยู่นี้ ควบคู่ซ้อนทับไปกับลักษณะความแปลกแยกที่เกิดขึ้นในวิถีการผลิตอื่นๆ เช่นการถูกทำให้เป็นสินค้าพาณิชย์ในสังคมทุนนิยม ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดที่จะต้องทำความเข้าใจโดยเฉพาะในยุคสมัยของเราเนื่องจากทุนนิยมขั้นปลายมักดึงเอาระบบวิถีเก่าก่อนเกือบทั้งหมดขึ้นมาให้ดำรงอยู่ควบคู่กันไปไม่มากก็น้อย สตรีนิยมแบบถอนรากถอนโคนจึงไปกันได้ดีกับกรอบคิดมาร์กซิสต์แบบขยายความใหม่นี้ เพราะความพยายามจะเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตที่ทรงอิทธิพลอยู่ในยุคสมัยของเรานั้นจะต้องรื้อโครงสร้างก่อนเก่าที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไปลงทั้งหมดไปพร้อมๆ กันด้วย (Jameson, 2002, pp. 85-86)
หากเข้าใจดังนี้แล้ว “ประวัติศาสตร์” ก็มีความหมายใหม่ขึ้นมาด้วย มันอยู่ในส่วนลึกของภูเขาน้ำแข็งที่บนส่วนยอดมีกาลเวลาเคลื่อนที่อย่างหลากหลาย ซ้อนทับ และตัดข้ามกันไปมาเป็นเครือข่ายหนาแน่น บนนั้นมันอาจจะมีกาลเวลาที่เคลื่อนที่อย่างเป็นเส้นตรงข้ามยุคข้ามสมัย (ปรกาล) เช่นกัน กล่าวคือการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่เช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธการจัดแบ่งยุคสมัยหรือ periodization ทว่าวางมันในแผนผังทางกาลเวลาที่กว้างขวางไปกว่านั้น มันเป็นเพียงหนึ่งในรูปกาลของวิถีการผลิตต่างๆ ที่ตกตะกอนซ้อนกันจนจมลงอยู่ก้นบึ้งของสิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้าง” อันมหึมาและสลับซับซ้อน ที่นั่นเองที่ “ประวัติศาสตร์” เป็นผลจากโครงสร้างอันเป็น “มูลเหตุที่ก่อกำเนิดแล้วหายไป” “ประวัติศาสตร์” กลายเป็นองค์รวมและขอบฟ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ที่มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เนื้อหาหรือองค์ประกอบของ “ภาษา” หรือ “สัญญะ” (หรือแม่บทอันใดอื่นที่กลุ่มทฤษฎีในช่วงหมุนให้ความสำคัญกับภาษา (linguistic turn) หรือโพสต์โมเดิร์นพยายามยกขึ้นมาครองบัลลังก์แทนที่) แต่คือพรมแดนของทุกๆ การดำรงอยู่และทุกๆ ความเป็นไปได้ “ประวัติศาสตร์” ในฐานะของปมเงื่อนด้านกาลเวลาในส่วนที่ลึกที่สุดของสังคมมนุษยชาติที่เรียกว่าโครงสร้างนี้คือจุดตัดใหญ่ที่สุด เจ็บปวดรุนแรงที่สุด เป็นบาดแผลลึกที่สุด เพราะมันคือการตกตะกอนของจุดตัดย่อยๆ อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างวิถีการผลิตอันหลากหลายที่ดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กันและพยายามต่อสู้ ข่ม เบียดขับ เพื่อให้ตนขึ้นมีอิทธิพลเหนือวิถีอื่นๆ ตลอดเวลา “ประวัติศาสตร์” คือรูโหว่ใจกลางของการต่อสู้เหล่านี้ทว่าล้มเหลว แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นดาวเหนือที่สุกสกาวที่สุดชี้ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ (เจมสันตั้งใจใช้คำเก่านั่นคือ “ยูโทเปีย”) อันเปิดกว้าง และไม่มีกรอบเกณฑ์ตายตัวที่จะต้องมีเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีกำหนดความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้อย่างในกรอบคิดของมาร์กซิสต์ขนบ ในความหมายเช่นนี้เองที่เจมสันย้อนกลับไปหาสโลแกนที่เขาเชื่อว่าเป็นจุดร่วมเชื่อมเอาวิธีคิดในแบบวิภาษวิธีทั้งหมดเข้าด้วยกัน นั่นคือ “จงทำทุกอย่างให้เป็นประวัติศาสตร์เสมอ! (always historicize!)” แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ในฐานะของขอบฟ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ความคิด ตัวตน วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงการก่อรูปของสังคมในวิถีต่างๆ ที่ดำรงอยู่ซ้อนทับกันไปนั้น มิได้มีความหมายทั่วไปอย่างที่เรารู้จักเข้าใจกัน แต่เฉือนลงไปในเลือดเนื้อของชีวิตของสังคมตลอดจนตัวตนของเรา บาดลึกจนถึงส่วนที่เราไม่ตระหนักหรือคาดคิด แต่มีอิทธิพลกำหนดเราเสมอไม่ว่าเราจะสนใจมันหรือไม่ก็ตาม กล่าวคือลึกไปสู่ระดับที่เจมสันเรียกว่า “ส่วนไร้สำนึก” ของมนุษยชาติอันมีลักษณะของการเมือง (แห่งความขัดแย้ง แห่งการต่อสู้ แห่งการปะทะกันอันถาวร) หรือ the political unconscious นั่นเอง
บรรณานุกรม
Althusser, L. and Balibar, É. (1968). Reading Capital. Marxist Internet Archives.
https://www.marxists.org/reference/archive/althusser/1968/reading-capital/index.htm
Jameson, F. (2002). The Political Unconscious. Routledge.
สิงห์ สุวรรณกิจ และ ทินกฤต สิรีรัตน์, “ว่าด้วยอุดมการณ์และโครงสร้างของหลุยส์ อัลธูแซร์: สํารวจงานศึกษาในไทยและข้อเสนอในการอ่านใหม่” [On Louis Althusser’s Ideology and Structure: A Survey of Writings in Thai and a Proposal for a Re-reading], มนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 25, 1 (มกราคม-เมษายน 2567 [2024]): 159-188.
[1] คัดลอกและปรับข้อความเล็กน้อยจาก สิงห์ สุวรรณกิจ และ ทินกฤต สิรีรัตน์, “ว่าด้วยอุดมการณ์และโครงสร้างของหลุยส์ อัลธูแซร์: สํารวจงานศึกษาในไทยและข้อเสนอในการอ่านใหม่” [On Louis Althusser’s Ideology and Structure: A Survey of Writings in Thai and a Proposal for a Re-reading], มนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 25, 1 (มกราคม-เมษายน 2567 [2024]): 159-188. https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JHUMANS/article/view/274155
[2] ดูรายละเอียดใน Althusser and Balibar, 1968 โดยเฉพาะในภาคที่ 2 บทที่ 4 “The Errors of Classical Economics: Outline of a Concept of Historical Time” และบทที่ 9 “Marx’s Immense Theoretical Revolution”
[3] ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่าการตีความอัลธูแซร์เช่นนี้เป็นการทำให้ความคิดเรื่องโครงสร้างแบบอัลธูแซร์คมชัดมากยิ่งขึ้นด้วยตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นการวิพากษ์อัลธูแซร์ไปในเวลาเดียวกัน หลักๆ เพราะเจมสันมองว่าการเชื่อมโยงใน “ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง” แบบนี้ก็พบได้ในนักคิดคนอื่นๆ กระทั่งในหมู่คนที่อัลธูแซร์วิจารณ์และพยายามฉีกตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นเฮเกล (G.W.F. Hegel) กรัมชี (Antonio Gramsci) หรือซาตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็ตาม
[4] ผู้สนใจในประเด็นนี้ ดูรายละเอียดใน Althusser and Balibar, 1968 โดยเฉพาะในภาคที่ 2 บทที่ 4 “The Errors of Classical Economics: Outline of a Concept of Historical Time” รวมถึงภาคที่ 3 ที่เขียนโดย Étienne Balibar ลูกศิษย์ของอัลธูแซร์