ธนกร การิสุข นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเสวนาและเปิดตัวหนังสือ ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง: ข้อถกเถียงในรัฐสภาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง HB7801 อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิทยากรร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ 1) กษิดิศ อนันทนาธร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เขียนหนังสือซึ่งเปิดตัวและใช้ชื่อเป็นหัวข้อของการเสวนาในครั้งนี้ 2) สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 3) กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ว่าด้วยหนังสือและรัฐธรรมนูญ 2492
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการนำเสนอของกษิดิศ อนันทนาธร ผู้เขียน ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง: ข้อถกเถียงในรัฐสภาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 กษิดิศได้กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ตนได้รับแรงบันดาลใจจากศิโรช อังสุวัฒนะ หลานตาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) (เจ้าพระยาผู้นี้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492) ซึ่งต้องการจะเผยแพร่เอกสารคำอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ กษิดิศเห็นว่า หากจะพิมพ์คำอภิปรายเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก จึงปรับมาใช้การเขียนบทแนะนำและวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ จากคำอภิปราย (ข้อถกเถียง) แทน จนกลายมาเป็นหนังสือที่ได้หยิบยกมาในการเสวนาครั้งนี้
กษิดิศยังได้ชวนย้อนกลับไปทำความเข้าใจความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2490 แต่คณะรัฐประหารก็กลับไม่ได้มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะรัฐประหารไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเป็นเอกภาพ กล่าวคือ ภายหลังการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งควง อภัยวงศ์ (ซึ่งไม่มีบทบาทในคณะรัฐประหาร) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ก็ได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และแม้ควง อภัยวงศ์ จะถูกคณะรัฐประหารทำให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2492 แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ยังคงอยู่เรื่อยมาถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2492 โดยที่สมาชิกของสภาไม่ถูกเปลี่ยนโดยคณะรัฐประหาร
ความเปลี่ยนแปลงของหมวดว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2492 เป็นผลมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลุ่มกษัตริย์นิยม พวกเขาต้องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในสถานะที่จะละเมิดและฟ้องร้องมิได้ พร้อมถวายพระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชบริพาร องคมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชอัธยาศัย รวมทั้งพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย จากเดิมที่เมื่อมีการถวายร่างกฎหมายให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงยับยั้งไว้ รัฐสภาสามารถลงมติประกาศใช้โดยยึดเสียงข้างมากในรัฐสภา (ซึ่งขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมากกว่าวุฒิสภา) ได้ทันที แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนมาให้ยึดเสียงข้างมากจำนวน 2 ใน 3 ของรัฐสภาซึ่งต้องรวมเสียงของวุฒิสภาด้วย แน่นอนว่า ความต้องการของสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในรัฐสภาจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย จนทำให้การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นการอภิปรายในรัฐสภาที่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และการเมืองไทยหลังทศวรรษ 2490
ในส่วนถัดไปซึ่งเป็นการนำเสนอของสมชาย ปรีชาศิลปกุล สมชายเริ่มต้นด้วยวิพากษ์ความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ในทางวิชาการ นับตั้งแต่การศึกษารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในฐานะภาพของการโต้กลับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม – กษัตริย์นิยม ที่สามารถนำพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับคืนมาหลังจากที่ถูกจำกัดไว้โดยคณะราษฏร และสมชายยังได้ยกทัศนะของหยุด แสงอุทัย ที่เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด (หากเทียบกับฉบับก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2475 - 2490) จากนั้นแบ่งเนื้อหาการนำเสนอของตนออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1) คำถามแห่งยุคสมัย 2) ความพลิกผันของระบอบการเมืองในสังคมไทย และ 3) ข้อสังเกตบางประการ
"คำถามแห่งยุคสมัย"
สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้กล่าวถึงคำถามว่าด้วยพระราชสถานะของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง คำถามในทำนองดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 และปรากฏในอยู่สังคมไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สมชายอ้างถึงงานวิชาการที่พยายามตอบคำถามดังกล่าวที่แยกออกมาได้เป็น 2 แนวทางคือ 1) แนวทางที่เข้าใจกันว่าสถาบันกษัตริย์ทรงมีพระราชสถานะอยู่เหนือการเมือง แต่มีข้อยกเว้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งสถาบันกษัตริย์จะเข้ามาเป็นผู้ยุติความขัดแย้งนั้น ดังในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 และ 2) แนวทางที่เข้าใจกันว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทในทางการเมือง ดังที่ปรากฏในหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษาของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
"ความพลิกผันของระบอบการเมืองในสังคมไทย"
สมชายยังได้วิพากษ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการศึกษารัฐธรรมนูญ โดยแบ่งประวัติศาสตร์การเมือง (และรัฐธรรมนูญ) ไทย ออกเป็น 4 ช่วงสำคัญคือ
- ยุคสมัยแห่งการรอมชอมและแตกหัก (ตั้งแต่ 2475 - ก่อน 2490) เป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันทางการเมือง ความขัดแย้งนั้นปรากฏผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ที่จำกัดพระราชอำนาจไว้อย่างชัดเจน ก่อนที่สถาบันทั้งสองจะรอมชอมกันผ่านรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475
- ยุคสมัยแห่งการโต้กลับของฝ่ายกษัตริย์นิยม - อนุรักษ์นิยม (2490 - 2492) ระยะนี้สถาบันกษัตริย์และฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามามีอำนาจในทางการเมืองและมีการถวายพระราชอำนาจให้สถาบันกษัตริย์มากขึ้น
- ยุคสมัยแห่งการสถาปนาและการแผ่ขยาย (หลัง 2492 - ต้นทศวรรษ 2530) ความสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญในห้วงเวลานี้อยู่ที่หมวดว่าด้วยสถาบันกษัตริย์มากขึ้น อีกทั้งแนวคิด “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็เด่นชัดขึ้นมามากเช่นกัน
- ยุคสมัยแห่งการลงหลักปักฐาน (ต้นทศวรรษ 2530 - 2550) ยุคสมัยสุดท้ายนี้เป็นยุคที่พระราชสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนและมั่นคง สมชายชี้ให้เห็นว่า บทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศใช้ในช่วงเวลานี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย
"ข้อสังเกตบางประการ"
สมชายยังได้ตั้งข้อสังเกตต่องานของกษิดิศและการศึกษารัฐธรรมนูญไทยในด้านแนวคิดและการใช้หลักฐานว่า แม้การศึกษารัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 จะเป็นการศึกษาแนวคิดทางการเมืองของชนชั้นนำไทย แต่ความคิดเหล่านั้นก็มาจากชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคมเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในเชิงเหมารวมว่าเป็นแนวคิดของชนชั้นนำไทยทั้งหมด ส่วนในแง่ของการใช้หลักฐาน สมชายตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารคำอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเต็มที่ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่หลากหลายอย่างยิ่ง ต่างจากเอกสารในยุคหลัง (ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา) ที่มีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มข้นจากทั้งรัฐ (Government Censorship) และจากผู้อภิปรายเอง (Self-Censorship) จนข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างหายไป
แนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย
กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ เป็นวิทยากรคนสุดท้ายที่นำเสนอในการเสวนาครั้งนี้ ผู้อภิปรายได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นของหนังสือ ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง ที่ทำให้ผู้อ่านได้อ่านตัวบทจริงของคำอภิปรายในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นำมาใช้ในการศึกษา และผู้อภิปรายยังได้ชวนทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีส่วนทำให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจังในรัฐสภา (อย่างที่ทำกันในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492) พร้อมวิพากษ์แนวคิดทางการเมืองระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 และฉบับต่างๆ
ผู้อภิปรายเสนอว่า ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนไปโดยให้อำนาจกับสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ โดยชี้ว่าหากเรานำกรณีร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงเตรียมประกาศใช้แต่ไม่ได้ใช้นั้นมาเป็นตัวชี้วัดเปรียบเทียบ ผนวกกับตัวชี้วัดเปรียบเทียบอีกกรณีก็คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างสุดขั้วในแง่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญที่ผ่านของไทยอยู่ในกรอบของทั้งสองฉบับนี้ ซึ่งมีเฉดพระราชอำนาจที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นตลอดประวัติศาสตร์
ในงานของ Walter Bagehot เรื่อง The English Constitution (1867) นั้นได้เสนอว่า สถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมีบทบาทเพียงแค่ส่วน “dignified parts” หรือส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์ แต่ไม่มี “efficient parts” หรือส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ อันควรเป็นหน้าที่ของรัฐสภา พูดอีกอย่างก็คือ สถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนั้น “ปกเกล้า” (ส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์) แต่ไม่ “ปกครอง” (ส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ)
ผู้อภิปรายกล่าวว่า หากนำมโนทัศน์คู่ที่เสนอโดยเกษียร เตชะพีระ มาคิดต่อ นั่นก็คือมโนทัศน์ “สาธารณรัฐจำแลง” (Disguised Republic) กับ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมือน” (Virtual Absolutism) เราจะเห็นได้ว่า จากบรรดากฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด ธรรมนูญการปกครอง (ฉบับชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475 เข้าใกล้ “สาธารณรัฐจำแลง” มากที่สุด ซึ่งให้มีเพียงส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์ ส่วนสำคัญเห็นได้จากมาตราที่ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 (หากประกาศใช้จริง) เข้าใกล้ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมือน” มากที่สุด ซึ่งให้พระราชอำนาจส่วนที่ทรงประสิทธิภาพอย่างชัดเจน เพราะระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญที่เหลือฉบับอื่นๆ ของไทยนั้น ได้ให้พระราชอำนาจเพิ่มขึ้นเขยิบหนีห่าง “สาธารณรัฐจำแลง” และไปในทิศทาง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมือน” มากขึ้นตามลำดับ อย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ก็เริ่มขยับออกจาก “สาธารณรัฐจำแลง” ไปเล็กน้อย ส่วนรัฐธรรมนูญ 2492 นั้น ขยับไปอย่างก้าวกระโดด เพราะเพิ่มพระราชอำนาจในส่วน efficient อย่างชัดเจน การเพิ่มพระราชอำนาจนี้น่าสนใจว่า ทำไมจึงทำสำเร็จในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
เสรีนิยมเจ้า+ประชาธิปไตยนิยมเจ้า
กิตติศักดิ์ยังได้ชวนคิดการเชื่อมโยงความคิดนิยมเจ้า (royalism) เข้ากับประเด็น “เสรีนิยม” และ “ประชาธิปไตย” ซึ่งพอเห็นร่องรอยในรัฐธรรมนูญ 2492 ในขั้นแรกนั้น เกษียร เตชะพีระ (บทนำหนังสือแปล เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา) ได้สรุปความแตกต่างของทั้งสองหลักการ สำหรับหลักการเสรีนิยมหมายถึง การจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งเน้นสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลพลเมือง และหลักนิติธรรม ส่วนหลักการประชาธิปไตยเน้นความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชน การปกครองโดยเสียงข้างมาก มีทิศทางกระจายอำนาจให้ประชาชน ในแง่นี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้เสนอมโนทัศน์ดังกล่าวเชื่อมโยงมโนทัศน์ลัทธินิยมเจ้า นั่นคือ ข้อแรก royal liberalism อันมีนัยหมายถึง แนวคิดตามหลักการเสรีนิยมที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์กำกับประชาธิปไตย (อ้างถึงงานของ Michael Connors และปฤณ เทพนรินทร์) ส่วนอีกประการก็คือ royal democracy แนวคิดตามหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์สนับสนุนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) (อ้างถึงงานของธงชัย วินิจจะกูล)
อันที่จริงผลในบั้นปลายก็เห็นได้ว่า แนวคิด royal liberalism ต้องการให้สถาบันกษัตริย์กำกับประชาธิปไตยปรากฏชัดเจนในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ระยะก่อนการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งมีการเรียกร้องให้มีการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์เพื่อใช้กำกับถ่วงดุลรัฐบาลทักษิณ ขณะที่แนวคิด royal democracy ที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์สนับสนุนการทำให้เป็นประชาธิปไตยปรากฏในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งสถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ กล่าวอีกนัยคือ สถาบันกษัตริย์ทรงมีส่วนในการยุติความรุนแรงทางการเมืองและทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา
ผู้อภิปรายได้ชวนคิดต่อว่า เราเห็นหน่ออ่อนของสิ่งเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญ 2492 หรือไม่อย่างไร อย่างกรณี royal liberalism อาจเห็นในประเด็นที่มีการเสนอให้สถาบันกษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ยับยั้งหรือวีโต้ร่างกฎหมาย และพระราชอำนาจในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีส่วนในการถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา ในขณะที่ royal democracy จะปรากฏผ่านมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” องค์ประกอบเหล่านี้ขยายตัวเติบโตมาได้อย่างไรนั้นเราน่าจะมาคิดอภิปรายกันต่อ