Skip to main content

กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ E-mail: kanokwan.piamsuwansiri@gmail.com

 

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นในวาระครบรอบ 98 ปี ชาตกาล สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทยเป็นเวลากว่าแปดทศวรรษ ทั้งในบทบาทผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.), นักหนังสือพิมพ์, ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก่อนที่เขาจะตัดสินใจออกจากป่ามาเป็นทนายสิทธิมนุษยชนต่อสู้เพื่อประชาชนหน้าบัลลังก์ศาล บทความนี้จึงเขียนขึ้นในลักษณะสารคดีชีวประวัติของสัมผัส เพื่อคารวาลัยต่อชายผู้หนึ่ง ซึ่งได้บำเพ็ญภารกิจแห่งชีวิตและอุดมคติของเธออย่างงดงามเสมอมา

 

เนื่องจากบทความมีขนาดยาว ผู้ที่สะดวกอ่านเป็นไฟล์ pdf (ความคมชัดของภาพน้อยกว่าในเว็บไซต์) สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

 


 

แนะนำบทความ โดย รศ. ดร. ธิกานต์ ศรีนารา

 

ข้อเขียนเรื่อง “ชีวิตและการต่อสู้ของสัมผัส พึ่งประดิษฐ์: ทนายความลูกชาวนา ผู้ถูกกล่าวหาว่าขบถต่อแผ่นดิน” ของ กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ ชิ้นนี้ ถือเป็น microhistory ฉบับประวัติศาสตร์การเมืองโดยแท้ เพราะพยายามที่จะเล่าถึงชีวิต การต่อสู้ ฐานะและบทบาททางการเมืองที่ดำเนินไปอย่างพลิกผันและเต็มไปด้วยสีสันท่ามกลางความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในช่วงนับตั้งแต่ทศวรรษ 2480 มาจนถึงปลายทศวรรษ 2560 ของคนๆ หนึ่งที่ชื่อ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 ก่อนจะยุติบทบาทลงไปในต้นทศวรรษ 2510 และหวนกลับมาสัมพันธ์กับ พคท. อีกครั้งในช่วงปลายชีวิตของทั้งเขาและ พคท.

จุดเด่นอีกประการของข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือ ภาพประกอบบุคคล เอกสารสิ่งพิมพ์ และสถานที่ต่างๆ ที่หาดูได้ค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป รวมไปถึงข้อมูลหลักฐานทั้งชั้นต้นและชั้นรองจำนวนมากที่กนกวรรณนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานเขียนชิ้นนี้ที่ก็ถือว่าค่อนข้างใหม่และหาอ่านได้ยากสำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ที่ไม่เคยสนใจหรือศึกษาประเด็นนี้มาก่อน ดังนั้น ข้อเขียนขนาดยาวชิ้นนี้ จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์ขบวนการฝ่ายซ้ายไทยไม่มากก็น้อย

 


 

ชีวิตและการต่อสู้ของสัมผัส พึ่งประดิษฐ์: ทนายความลูกชาวนา ผู้ถูกกล่าวหาว่าขบถต่อแผ่นดิน

 

 

ความรักชาติในสังคมไทยในแต่ละยุคมักผูกติดอยู่กับการนิยามตามขนบแบบเดียวตามลัทธิชาตินิยมทางการ ซึ่งเบียดขับผู้ที่รักชาติในแนวทางอื่นให้กลายเป็นขบถหรือนักโทษทางการเมืองไป สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้รักชาติที่หมายถึงประชาชนทุกคนซึ่งประกอบขึ้นเป็นชาติบนฐานคิดแบบเสมอภาคนิยม ดังที่เขาได้เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ กระทั่งสิ้นลมหายใจไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งในบทบาทผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.)ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก่อนที่เขาจะตัดสินใจออกจากป่ามาเป็นทนายสิทธิมนุษยชนต่อสู้เพื่อประชาชนหน้าบัลลังก์ศาล บทความนี้จึงเขียนขึ้นในลักษณะสารคดีชีวประวัติของสัมผัส เพื่อคารวาลัยต่อชายผู้หนึ่ง ซึ่งได้บำเพ็ญภารกิจแห่งชีวิตและอุดมคติของเธออย่างงดงามเสมอมา

 

พุทธทศวรรษ 2460-2490: สัมผัสสัจธรรม จากลูกชาวนา สู่นักศึกษาวิชากฎหมายที่ ม.ธ.ก.

 

 

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เกิดวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ปีขาล ในครอบครัวชาวนาฐานะปานกลาง ที่อำเภอเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่พื้นเพเดิมของบิดามารดาเป็นชาวพิษณุโลก สัมผัสจึงเติบโตท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นโคลนสาบควาย เกลือกกลิ้งอยู่กลางท้องไร่ท้องนาที่จังหวัดพิษณุโลก เขามีพี่น้องมาก แต่เสียชีวิตตั้งแต่เด็กหลายคน เหลือเติบโตขึ้นมาได้สี่คน สัมผัสเป็นคนที่สอง 

ความโชคดีอย่างหนึ่งในชีวิตของสัมผัสคือ เขามีพี่ชายคนโตชื่อจิต พึ่งประดิษฐ์ ผู้ใฝ่หาความก้าวหน้าในชีวิต หลังจากจบมัธยมหกจากโรงเรียนประจำจังหวัด จิตจึงขวนขวายไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ กระทั่งเรียนจบได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เงินเดือน 45 บาท เขาก็รับน้องชายสองคนคือสัมผัสที่ขณะนั้นอายุ ขวบ และสมพงษ์ น้องคนเล็กมาเรียนที่กรุงเทพฯ แม้ชีวิตต้องพึ่งตนเองทุกอย่าง อยู่ห่างไกลพ่อแม่ อดมื้อกินมื้อ สัมผัสก็มองว่าการได้เรียนหนังสือนับเป็นโชคดีอย่างที่สุดของเขา

สัมผัสเริ่มเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้านของจิตที่กรุงเทพฯ จากนั้นไปเรียนที่โรงเรียนวัดอนงคารามจนจบชั้นประถมสี่ ต่อด้วยโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขจนจบมัธยมหก จากนั้นสอบเข้าเป็นนักศึกษา (สมัยนั้นไม่เรียกนักเรียน) ที่แผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 7 ห้อง เลขประจำตัว 4053 ในปี 2487 ซึ่งสัมผัสรู้สึกภูมิใจเช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กต่างจังหวัด และมีฐานะยากจน ที่ได้รับโอกาสให้ศึกษาต่อในโรงเรียนระดับสูงที่ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ปรารถนาให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วยการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นกำหนดว่าผู้ที่จะเข้าเรียนชั้นอุดมศึกษาได้ต้องผ่านโรงเรียนเตรียมฯก่อน ซึ่งขณะนั้นมีเพียงเตรียมธรรมศาสตร์ เตรียมจุฬาฯ เตรียมนายร้อย และเตรียมนายเรือ สัมผัสบรรยายความเคารพรักที่เขาและเพื่อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนจากต่างจังหวัดที่มีต่ออาจารย์ปรีดีไว้ว่า “ท่านรักเหมือนลูกหลาน ท่านแจกสมุด ดินสอ ตำราเรียน ทั้งยังช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินอยู่ นักศึกษาทุกคนถึงรักท่าน เคารพท่านเหมือนพ่อจริง ๆ”[1]

 

ตึกเรียน ต.ม.ธ.ก. ก่อนถูกรื้อเพื่อสร้างตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

 

บัตรประจำตัวนักศึกษาของนายรุ้ง เมฆโสภณ เพื่อนร่วมรุ่น ต.ม.ธ.ก. 7 ของสัมผัส[2]

 

ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่สองส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยในช่วงที่สัมผัสเรียนชั้นมัธยมปลาย ด้านหลักเป็นผลจากการที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองดินแดนไทยในระหว่างปี 2484-2487 ซึ่งทำให้ชีวิตในวัยเรียนของสัมผัสเต็มไปด้วยความลำบากยากเข็ญจากภัยสงคราม อาคารบ้านเรือนถูกระเบิดทำลาย ผู้คนต้องอพยพหลบภัย หลายชีวิตต้องบาดเจ็บล้มตายจากการโจมตีทางอากาศไม่เว้นวัน เครื่องอุปโภคบริโภคอัตคัตขาดแคลน การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

 

จังหวัดพระนครสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากซ้ายตามเข็มนาฬิกา (1) จอมพล ป. เดินทางร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์หลักสี่เมื่อวันที่ มกราคม 2486 (2) (4) และ (5) สภาพความเสียหายหลังถูกทิ้งระเบิด (3) ภาพยนตร์ข่าวตอนที่ 204 ฉายครั้งแรก 27 เมษายน 2487 การซ้อมรบระหว่างเครื่องบิน Zero กับเครื่องบินช้างเผือก (6) หลุมหลบภัยหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ[3]

 

ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่ ที่สัมผัสเข้าศึกษานับเป็นรุ่นแรกที่ต้องเรียนในอาคารเรียนโรงจากที่ใต้ถุนหลังคาจากเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์ เนื่องจากในช่วงปลายสงครามจะมีเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาบินวนเพื่อทิ้งยุทธปัจจัยลงมาให้แก่ขบวนการเสรีไทย ผนังห้องเรียนแบ่งด้วยฝาขัดแตะ ส่วนพื้นนั้นเป็นพื้นดิน ตั้งอยู่บริเวณหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน แต่หลังเปิดเรียนได้เพียง 15 วันก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนทางไปรษณีย์แทนเนื่องจากสถานที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่ปลอดภัยและเสียหายจากการระเบิด

ระหว่างเดินทางกลับบ้านที่พิษณุโลก หลังจากเข้ามาสอบในกรุงเทพฯครั้งหนึ่ง สัมผัสพบว่าสะพานรถไฟถูกทิ้งระเบิด ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงัก สัมผัสและเพื่อนร่วมทางอีก 12 คนจึงตัดสินใจเดินเท้ากลับพิษณุโลก ระหว่างทางเขาต้องเดินตากแดดตามรางรถไฟ ค่ำไหนนอนนั่น เริ่มตั้งแต่สถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้เวลาเดินทางถึงสี่วันกว่าจะถึงบ้าน รวมระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร เมื่อแม่ของสัมผัสเห็นเขาผอมดำและอิดโรยจนแทบจำไม่ได้ เธอรีบโผเข้ากอดด้วยความเป็นห่วงพร้อมร้องว่า “ลูกแม่” สำหรับสัมผัส นี่เป็นอีกครั้งที่เขารอดชีวิตมาได้ ในขณะที่เพื่อนอีกหลายคนต้องสูญเสียชีวิตไประหว่างสงคราม

 

นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเข้าร่วมฝึกวิชากองพันสารวัตร[4]

 

ชิต เวชประสิทธิ์[5]

 

เมื่อขึ้นชั้นปีที่สองมหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักเรียนเตรียมฯเข้าร่วมวิชากองพันสารวัตร โดยมีการฝึกทหารอย่างลับ ๆ สัมผัสและเพื่อน ต.ม.ธ.ก. รุ่น นักเรียนเตรียมอุดมของจุฬาฯ รวมถึงนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้สมัครเข้าร่วมการฝึก ซึ่งจัดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและที่จังหวัดชลบุรี หลังจบหลักสูตร พวกเขาได้รับการบรรจุเป็นนายสิบทหารสารวัตร และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่มีหน้าที่ปกป้องกองบัญชาการเสรีไทยและเตรียมพร้อมต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น โดยมีการตั้งแนวป้อมและสิ่งกีดขวางจากท่าพระจันทร์ไปบางลำภูและจากท่าพระจันทร์ไปสนามหลวง แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติการสงครามก็ยุติลงเสียก่อน สัมผัสที่ยังคงมุ่งมั่นจึงไปสมัครเป็นทหารอีกครั้ง แต่ชิต เวชประสิทธิ์ ผู้สอนวิชาชวเลขที่ ต.ม.ธ.ก. แนะนำให้เขาทำหน้าที่เป็นสายลับคอยสืบความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นแทน

หลังสงครามยุติ สัมผัสได้สมัครเข้าศึกษาวิชากฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ในระหว่างปี 2490 ถึง 2494 เลขทะเบียน 19940 ความลำบากที่สัมผัสเคยเผชิญทำให้เขาแข็งแรงและมีความรับผิดชอบ พร้อมกับที่มันได้ทิ้งภาพประทับของความโหดร้ายยากแค้นจากสงครามไว้ในจิตใจสัมผัสและคนไทยจำนวนมาก ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้สัมผัสเข้าร่วมเป็นผู้นำนักศึกษาตลอดสี่ปีที่เขาเข้าต่อศึกษาวิชากฎหมายที่ ม.ธ.ก.

 

พุทธทศวรรษ 2490: จากนักศึกษาวิชากฎหมาย ม.ธ.ก. สู่ขบถแผ่นดิน

 

ช่วงปี 2490-2494 ที่สัมผัสเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายที่ ม.ธ.ก. ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้สัมผัสเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่มุ่งเรียนเพียงเพื่อให้จบ มาเป็นการเรียนไปทำงานไป พร้อมทั้งต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อความเป็นธรรม โลกทัศน์ของสัมผัสจึงเริ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว อุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวม[6]

 

ชะตากรรมของประชาชนในสงครามเกาหลี จากซ้ายตามเข็มนาฬิกา (1) กองทัพเรือสหรัฐฯ โจมตีกองทัพจีน (2) ผู้ลี้ภัยแบกน้องอยู่หน้ารถถัง (3) เปียงยางหลังสงครามยุติ (4) ผู้ลี้ภัยจากเกาะเชจู (5) หญิงบำเรอชาวเกาหลี (6) ทหารสหรัฐให้กำลังใจเพื่อนทหารที่เพื่อนถูกฆ่าตาย (7) ทหารกองทัพประชาชนเกาหลีถูกจับ และ (8) นักรบกองโจรหญิงในเกาหลีเหนือ[7]

 

ในระดับโลก ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น ส่งผลให้สหรัฐฯ สนับสนุนยุโรปตะวันตก ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยแผนการต่าง ๆ และมีการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ (NATO) ขึ้น ขณะที่โซเวียตก็จัดตั้งสภาความร่วมมือและช่วยเหลือทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน (COMECON) และองค์การข่าวสารคอมมิวนิสต์ (COMINFORM) ขึ้นเพื่อตอบโต้ การเผชิญหน้าระหว่างค่ายอุดมการณ์ทำให้เกิดสงครามในจีน เกาหลี และทำให้สภาวะสงครามเย็นเริ่มแผ่เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ประกอบกับสภาพการณ์เมืองไทยเข้าสู่สภาวะอำนาจนิยมมากขึ้นเมื่อหลังการรัฐประหาร พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่กลุ่มจอมพล ป. กับกลุ่มอนุรักษนิยมหรือนิยมเจ้าร่วมมือกันยึดอำนาจจากกลุ่มปรีดีและผู้สนับสนุน โดยเฉพาะหลังความพยายามยึดอำนาจคืนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กบฏวังหลวง” ของกลุ่มปรีดีและผู้สนับสนุนที่ล้มเหลว ซึ่งเร่งให้คณะรัฐประหารซึ่งครองอำนาจอยู่ดำเนินการกวาดล้างปรีดีและผู้สนับสนุนหรือถูกคิดว่าสนับสนุนปรีดีอย่างรุนแรง เริ่มตั้งแต่ความพยายามกำจัดปรีดีทั้งทางกายภาพด้วยการนำรถถังปิดล้อมทำเนียบท่าช้างที่พำนัก แต่ปรีดีหนีไปได้ และทางการเมืองโดยการให้ร้ายป้ายสีว่าปรีดีมีส่วนร่วมในคดีลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ซึ่งทำให้ปรีดีต้องหลบลี้หนีภัยไปอยู่ต่างแดนจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตามด้วยการวิสามัญฆาตกรรมผู้สนับสนุนหรือถูกทึกทักว่าสนับสนุนปรีดีจำนวนมาก อาทิ การสังหารหมู่สี่อดีตรัฐมนตรีที่ทุ่งบางเขนในขณะที่อยู่บนรถยนต์ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจ และการสังหารอดีต ส.ส. พร มะลิทอง, ดร.ทวี ตะเวทิกุลเตียง ศิริขันธ์ รวมทั้งคนอื่น ๆ ในขณะที่ถูกควบคุมตัวอย่างโหดเหี้ยมทารุณ[8] 

 

ประกาศจับปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. ออกเมื่อวันที่ สิงหาคม 2491 กับ
ภาพเตียง ศิริขันธ์และสี่รัฐมนตรีอีสานที่รัฐบาลมองว่าเป็นผู้สนับสนุนปรีดีถูกวิสามัญฆาตกรรม[9]

 

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมที่นำโดยจอมพล ป. ตัดสินใจเลือกสนับสนุนขั้วอำนาจโลกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ และส่งทหารไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี ก็สร้างความขมขื่นขัดเคืองใจแก่สัมผัสอย่างยิ่ง

สัมผัสกล่าวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสมัยที่เป็นนักศึกษาไว้ในบทความ “ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495” ซึ่งลงพิมพ์ครั้งแรกในปรีดีสาร ฉบับวันปรีดี 11 พฤษภาคม 2545 ดังนี้

ปี 2490 สงครามยุติ ประชาธิปไตยเบ่งบาน เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ก็เกิดมีการเลือกตั้ง กลุ่มเสรีไทยก็ตั้งพรรคสหชีพโดยมีอาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้าพรรค ... พอเลือกตั้งเสร็จ พรรคสหชีพของขบวนการเสรีไทยได้รับเสียงข้างมาก อาจารย์ปรีดีก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นฝ่ายค้าน ตอนนั้นผมเพิ่งอยู่ปี 1 พอเสร็จพิธีไหว้ครูแล้ว เราก็ยกอาจารย์ปรีดีขึ้นแบก บรรยากาศเป็นกันเองมาก ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมากมาย ...”[10] 

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ขึ้น “ทิศทางของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังพัฒนาก้าวหน้าต้องขาดสะบั้นและหันไปสู่การปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ” สิ่งที่ซ้ำเติมความไม่พอใจของสัมผัสคือการเห็นว่าหลังคณะรัฐประหารกวาดล้างบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว เป้าหมายต่อไปของการปราบปรามก็คือ ม.ธ.ก. ซึ่งเป็นฐานกำลังของพลังประชาธิปไตยและการเมืองของปรีดี เริ่มตั้งแต่ 

 

ประตู ม.ธ.ก. ฝั่งท่าพระจันทร์ กับการขนย้ายสัมภาระทุกชิ้นออกไปให้หมดสิ้นจากบริเวณมหาวิทยาลัยภายใน 3 ชั่วโมง ตามคำสั่งที่กองทัพบกออกบังคับแก่ ม.ธ.ก. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2494[11]

 

คณะธรรมศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ ม.ธ.ก. อพยพไปอาศัยเรียนอยู่ที่เนติบัณฑิตยสภา ส่วนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีคณะรัฐศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะปริญญาโท-เอก ไปอาศัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[12]

 

(1) การส่งกองกำลังทหารกองรักษาดินแดนเข้าไปตั้งในมหาวิทยาลัยด้านที่ติดกับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีทหารยืนยามถืออาวุธปืนเฝ้าประตู กลางคืนก็มีทหารสะพายอาวุธเดินลาดตระเวนตรวจตราเป็นที่หวาดหวั่นของนักศึกษาที่เลิกเรียนเวลาค่ำ หรือต้องทำกิจกรรมหรือประชุมถึงกลางคืนอย่างยิ่ง

(2) ถอดถอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดเดิมที่มีนายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การออก เปลี่ยนเอาบุคคลในคณะรัฐประหารเข้ามาควบคุมและบริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏ หลายคนต้องหลบลี้หนีภัยไป

 

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและอาจารย์ชุดเดิมสมัยที่มีปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การบางส่วน จากซ้าย (1) วิจิตร ลุลิตานนท์ (2) เดือน บุนนาค และ (4) เสริม วินิจฉัยกุล ถูกถอดถอน (3) ทวี ตะเวทิกุล ถูกวิสามัญฆาตกรรม[13]

 

(3) ออกกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. จัดมหาวิทยาลัย ยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การที่ปรีดีดำรงตำแหน่งอยู่ เปลี่ยนเป็นอธิการบดีเอาบุคคลในคณะรัฐประหารเข้ามาเป็น โดยมีจอมพล ป. เข้าเป็นอธิการบดีคนแรก

(4) เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาซึ่งเดิมมีอยู่สองคณะ คือคณะธรรมศาสตร์กับคณะบัญชี ซึ่งคณะธรรมศาสตร์เรียนทั้งวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองตามหลักสูตรปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต โดยแบ่งแยกออกเป็น 5 คณะ ตามหลักสูตรวิชาเรียนอยู่เดิม ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งแยกหรือสลายการรวมตัวของนักศึกษาที่รวมกันอยู่ในคณะเดียวตามวิธีการปกครองของนักล่าอาณานิคมกระทำต่อประเทศเมืองขึ้น ด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครอง

(5) ยึดธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ที่ผู้ประศาสน์การปรีดีให้นำเงินของมหาวิทยาลัยไปซื้อหุ้นจากธนาคารโญโกฮามาซึ่งเลิกกิจการเมื่อปี 2483 แล้วมาจดทะเบียนใหม่เป็นธนาคารเอเชียฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทางเศรษฐกิจและการเงินหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยให้เลี้ยงตนเองและพัฒนาต่อไป ด้วยการนำหุ้นไปขายให้แก่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

(6) ปล่อยข่าวให้ร้ายป้ายสีว่าผู้ประศาสน์การปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และมีส่วนร่วมในคดีลอบปลงพระชนม์ เพื่อให้ประชาชนที่หลงเชื่อจงเกลียดจงชัง และเสื่อมศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย และหันมาให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารทำลายมหาวิทยาลัย

และ (7) หลังจากกรณีกบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494 กองทัพบกได้ถือโอกาสส่งกำลังทหารเข้ายึดครองและสั่งปิดมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน จากนั้นอนุมัติให้ขายมหาวิทยาลัยแก่กองทัพบกในจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อใช้ประโยชน์ทางทหารด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2494 ซึ่งเป็นการทำลาย ม.ธ.ก. อย่างชนิดขุดรากถอนโคนไม่ให้เหลือ[14]

 

รายชื่อคณะกรรมการนักศึกษา ม.ธ.ก. ในวารสารธรรมจักร
สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ดำรงตำแหน่งเลขานุการของคณะกรรมการฯ ปี พ.ศ. 2494-2495

 

นอกจากการทำลาย ม.ธ.ก. ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว สัมผัสยังเห็นว่าคณะรัฐประหารได้ดำเนินการบ่อนทำลายนักศึกษาอย่างเป็นระบบ โดย

(1) จำกัดสิทธิของนักศึกษาปริญญาตรีธรรมศาสตร์ในการประกอบอาชีพทางกฎหมาย ด้วยการกำหนดให้ต้องศึกษาจากสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเพิ่มอีก 1 ปีก่อน จึงสมัครเป็นสมาชิกสามัญของเนติบัณฑิตยสภาได้ ทำให้วันที่ สิงหาคม 2491 นักศึกษากว่า 5,000 คนรวมตัวกันเรียกร้องให้ยกเลิกกฎนี้ นายอันดับ รองเดช นักศึกษา ม.ธ.ก. ประท้วงด้วยการกรีดเลือด 

 

นายอันดับ รองเดช ผู้นำนักศึกษา กรีดเลือดประท้วง[15]

 

(2) กระทรวงมหาดไทยออกกฎ ก.พ. ที่ 110 จำกัดสิทธิบัณฑิตธรรมศาสตร์ในการเข้ารับราชการ โดยให้สิทธิแก่บัณฑิตรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอัตราชั้นตรี พร้อมเงินเพิ่ม ส่วนบัณฑิตธรรมศาสตร์ต้องรอบรรจุในตำแหน่งว่างและได้เพียงชั้นจัตวา นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิยังขยายไปถึงการรับราชการตำรวจ โดยลดตำแหน่งจากยศร้อยตำรวจตรีเหลือเพียงจ่านายสิบตำรวจตรี ทำให้นักศึกษาไม่พอใจมากขึ้น

(3) มหาวิทยาลัยใช้มาตรการลงโทษนักศึกษาที่เข้าร่วมรณรงค์เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ โดยใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น การลงโทษนักศึกษาที่เข้าร่วมรณรงค์เข้าชื่อเรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงคราม สนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพ นักศึกษา ม.ธ.ก. คัดค้านคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่จะทำการสอบสวนนักศึกษาในกรณีดังกล่าวด้วยการลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำนักศึกษา คือ อาทร พุทธิสมบูรณ์, ประจวบ อัมพะเศวต, ลิ่วละล่อง บุนนาค, ทวีป วรดิลก และปริญญา ลีละศร นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ถูกลงโทษห้ามเข้าฟังคำบรรยายเป็นเวลา 1 ปี ได้แก่ มารุต บุนนาค, ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์, อารีย์ อิ่มสมบัติ และพรชัย แสงชัจจ์ ซึ่งนักศึกษาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนั้นมีการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามของประชาชนอย่างกว้างขวาง นักศึกษาจึงได้ต่อสู้เรียกร้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง ถึงกับนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาล

 

ผู้นำนักศึกษา ม.ธ.ก. ร่วมสมัยกับสัมผัสบางส่วน แถวหนึ่งจากซ้าย สุวัฒน์ วรดิลกทวีป วรดิลกมารุต บุนนาคไวฑูรย์ สินธุวณิชย์แถวสอง ประจวบ อัมพะเศวตผิน บัวอ่อนลิ่วละล่อง บุนนาคอดุลย์ ภมรานนท์แถวสาม สำราญ พร้อมพูลกนก สามเสนพรชัย แสงชัชจ์สุวิทย์ เผดิมชิตแถวสี่ สนอง มงคลเฉลียว พิศลยบุตร, ปริญญา ลีละศร และเปลื้อง วรรณศรี[16]

 

(4) การบ่อนทำลายความสามัคคีของนักศึกษาเกิดจากการแบ่งแยกนักศึกษาเป็น 5 คณะ และใส่ร้ายผู้นำนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือพวกของปรีดี เพื่อสร้างความแตกแยกเป็นฝ่ายขวา-ซ้าย ส่งผลให้การต่อสู้ของนักศึกษาอ่อนแอลง ทำให้เกิดคำขวัญ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” เพื่อเรียกร้องความสามัคคีในการต่อสู้

(5) ส่งสายลับเข้าปะปนในกลุ่มนักศึกษาเพื่อสืบข่าวและติดตามการเคลื่อนไหว จนถึงขั้นข่มขู่ให้นักศึกษาเกิดความหวาดกลัวและระแวงกันในขบวนการต่อสู้

(6) ใช้วิธีซื้อนักศึกษา เช่น ให้ทุนเรียนต่างประเทศ ให้ตำแหน่งสูงขึ้น หรือผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ถอนตัวจากการต่อสู้ ซึ่งได้ผลกับบางคนที่ยอมละทิ้งอุดมการณ์[17]

สัมผัสและเพื่อนมองว่าความรุนแรงในการทำลายมหาวิทยาลัยและการต่อสู้ของนักศึกษาทวีขึ้นถึงขีดสุด หลังความพยายามก่อการปฏิวัติของทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่นำโดย น.ต. มนัส จารุภา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 รัฐบาลยุคนั้นมองว่า ม.ธ.ก. เป็นฐานพลังของฝ่ายปรีดี อีกทั้งหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นทหารเรือ ก็ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับปรีดี ส่งผลให้รัฐบาลเชื่อว่าทหารเรือเป็นแนวร่วมของปรีดีด้วย จึงส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การปิดมหาวิทยาลัย นักศึกษาตกอยู่ในสภาพไม่แน่นอน เสมือนคนว่างงาน ไม่มีใครทราบได้ว่าจะกลับมาเรียนได้เมื่อไร หรือจะเรียนจบเมื่อใด

สัมผัสเล่าความรู้สึกในช่วงเวลาดังกล่าวว่า

ในความรู้สึกของนักศึกษาสมัยนั้น มันเหมือนกับว่า สถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตของประเทศถูกยึด ผู้บริหารอย่างอาจารย์ปรีดี ซึ่งเราเคารพเป็นปูชนีย์อยู่เหมือนกับเป็นพ่อเราคนหนึ่ง ถูกขับไล่ ... พวกเราเกิดความรู้สึกถูกข่มเหง รังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม พูดแล้วมันน้ำตาไหล ตอนนั้นพวกเรายังแต่งละครให้พวกเรานักศึกษาเหมือนกับถูกจับมัด ล่ามโซ่ ถูกกุญแจมือ พ่อแม่ก็ถูกขับไล่ แล้วก็เล่นเพลงหวนอาลัย ที่ขึ้นว่า หวนอาลัย หัวใจคร่ำครวญ’ พอเพลงนี้ขึ้นตอนนั้นทุกคนร้องไห้หมด น้ำตาไหล หัวใจคร่ำครวญ’ เหมือนในเพลง[18]

เบื้องต้น คณะกรรมการนักศึกษาจึงได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหาสถานที่เรียนใหม่ จนกระทั่ง ม.ธ.ก. ได้ยืมสถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาฯ นักศึกษาจึงจำเป็นต้องอพยพไปเรียนต่างที่ ท่ามกลางตารางเรียนที่ไม่แน่นอน สภาพแวดล้อมคับแคบและไม่สะดวก สถานการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน[19]

ต่อมา เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขายมหาวิทยาลัยแก่กองทัพบกในวงเงิน 5 ล้านบาทเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2494 คณะกรรมการนักศึกษาจึงแบ่งกันเป็นสองชุด ชุดแรกไปขอความเห็นใจจากสื่อมวลชน ชุดที่สองไปขอความเห็นใจจากนักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในที่สุดพรชัย แสงชัชจ์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาขณะนั้นได้มาแจ้งแก่ที่ประชุมนักศึกษาว่าตนติดต่อ ส.ส. เพทาย โชตินุชิต จังหวัดธนบุรีได้ และ ส.ส. เพทาย อาสาจะตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในรัฐสภาในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 จึงนำมาสู่การนัดแสดงพลังของนักศึกษา โดยนักศึกษา ม.ธ.ก. เกือบ 3,000 คนเดินขบวนจากสนามหลวงมุ่งหน้าสู่บริเวณรัฐสภา (ขณะนั้นตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม) เพื่อฟังการโต้ตอบกระทู้ถาม เรื่อง สถานที่ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ของ ส.ส. เพทาย แรงกดดันทั้งในและนอกสภาทำให้ในที่สุดจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีต้องยอมจำนนต่อเงื่อนไขและข้อเรียกร้องต่อสู้ของนักศึกษาและยอมคืนมหาวิทยาลัยให้ โดยประกาศว่า “คืน ม.ธ.ก. ให้แน่ พวกคุณลูกหลานทั้งนั้น”[20] เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ของนักศึกษาได้ก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในปี 2499[21]

 

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2494 ขบวนนักศึกษา ม.ธ.ก. เกือบ 3,000 คนกำลังทยอยเข้าสู่บริเวณรัฐสภา เสมือนคลื่นของกองทัพประชาชนที่มุ่งหน้าเข้าขยี้ทำลายฝ่ายอธรรม โดยชูคำขวัญ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย”[22]

 

นักศึกษากำลังนิ่งฟังการโต้ตอบกระทู้ “กรณียึดครอง ม.ธ.ก.” ที่เสนอโดย ส.ส. เพทาย โชตินุชิต จังหวัดธนบุรี ที่รัฐสภา[23]
 


“ม.ธ.ก. สำแดงกำลัง” จอมพล ป. ผู้จำนนต่อเงื่อนไขและข้อเรียกร้องต่อสู้ของนักศึกษาประกาศว่า “คืน ม.ธ.ก. ให้แน่ พวกคุณลูกหลานทั้งนั้น” ต่อมานักศึกษานำมาใช้เป็นภาพปกวารสารธรรมจักร[24]

 

จากซ้าย นักศึกษา ม.ธ.ก. จัดพิธีอำลาที่เนติบัณฑิตยสภา ภาพขวาสุด คุณพระดุลย์พากย์สุวมัณฑ์[25]

 

หลังได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี นักศึกษา ม.ธ.ก. ได้จัดพิธีอำลาที่เนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วารสารธรรมจักรบรรยายความรู้สึกนักศึกษา ม.ธ.ก. ขณะนั้นไว้ว่า

ถึงแม้หัวใจของเราจะชอกช้ำและขมขื่น แต่เราก็รู้สึกอบอุ่นขึ้น เมื่อเข้าไปอยู่ภายในอ้อมแขนของเนติบัณฑิตยสภา เราจำได้ถึงคำพูดของคุณพระดุลย์พากย์สุวมัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันกล่าวต้อนรับ พวกเราถือว่านักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นเสมือนน้องชายของเรา เราจะให้ความสะดวกสบายและสิทธิเสรีทุกอย่างเท่าที่พี่ชายจะพึงให้แก่น้อง ๆ ได้’ … เราขอรำลึกถึงความเอื้ออารี และไมตรีจิต … ด้วยความขอบคุณเป็นอย่างสูง … ในที่สุด โดมก็กลับคืนมาอยู่ในอ้อมแขนของพวกเราอีกครั้งหนึ่ง ‘รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย’ คติพจน์สั้น ๆ นี้จะต้องเป็นสัจธรรมที่มีความหมายสำคัญยิ่งแก่ชาวโดมทุก ๆ คน ตราบเท่าที่ยอดโดมของเรายังไม่พังพินาศไป ... การต่อสู้ทุก ๆ ครั้งได้ให้บทเรียนแก่เราว่า ไม่มีกำลังใดจะใหญ่ยิ่งเท่าพลังแห่งความสามัคคี!

สัมผัสเล่าว่าในตอนนั้น มารุต บุนนาค ประธานนักศึกษา รวมทั้งสัมผัส และคณะกรรมการนักศึกษาคนอื่น ๆ ได้จัดพานักศึกษา 2,000 คนนั่งรถไฟไปทัศนศึกษาที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พอกลับมาถึงหัวลำโพงตอนเช้าก็พากันไปท่าพระจันทร์เพื่อยึดมหาวิทยาลัยคืนในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นเหตุการณ์ในชีวิตที่เขาไม่เคยลืม[26] 

 

คำขวัญที่นักศึกษาและประชาชนชูขึ้นเพื่อต่อสู้ในปี 2494 ถ่ายทอดเป็นประติมากรรม “วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พฤศจิกายน” ณ ลานหลังตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปี 2557[27]

 

สัมผัสจบการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตย์ (ธ.บ.) ในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี โดยไม่ทันได้คาดคิดว่าจะต้องทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ตนเองในเวลาอันใกล้

 

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิตย์ (ธ.บ.) พ.ศ. 2494 กับคำปฏิญาณในการรับปริญญาตรี[28]

 

พุทธทศวรรษ 2490: จากธรรมศาสตร์บัณฑิตย์ สู่นักโทษการเมืองบางขวาง

 

ในช่วงเวลาที่สัมผัสและประชาชนต้องเผชิญกับการกดขี่สิทธิเสรีภาพและการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเป็นองค์การทางการเมืองที่ต่อต้านอำนาจรัฐไทยและยึดแนวทางลัทธิมาร์กซ์ ได้รับแนวทางรณรงค์สันติภาพจากขบวนการคอมมิวนิสต์สากลมาเคลื่อนไหวในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มปัญญาชนในเมือง เช่น นักศึกษา นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก[29] 

สำหรับสายงานนักศึกษา พคท. ได้สอดแทรกแนวคิดการรณรงค์สันติภาพเข้ากับงานหลักสองด้านของพรรค คือ งานชนบทและงานปัญญาชนในเมือง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พรรคยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ขึ้น ส่งผลให้มีสมาชิกนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น เปลื้อง วรรณศรีประจวบ อัมพะเศวตไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ และผิน บัวอ่อน รวมถึงนักศึกษาอีกหลายคนที่อาจเข้าร่วม เช่น พรชัย แสงชัจจ์ปลอบ เศวตดุล และอดุลย์ ภมรานนท์ ซึ่งส่วนใหญ่มีตำแหน่งในคณะกรรมการนักศึกษา ม.ธ.ก. และเคลื่อนไหวผ่านวารสารธรรมจักร[30]

 

ใบลงนามเรียกร้องสันติภาพ ผู้ลงนามส่งคืนได้ที่หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์, ธรรมจักรรายปักษ์ และเสรีภาพวันจันทร์[31]

 

ตัวอย่างทัศนะคัดค้านสงครามเกาหลีที่แพร่หลายผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในขณะนั้น[32]

 

แม้การเคลื่อนไหวของ พคท. โดยเปิดเผยจะสิ้นสุดลงหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แต่ลัทธิมาร์กซ์ไม่ถูกถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดพลังวิพากษ์สังคมไทยแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประกอบกับบทเรียนจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ที่ประสบความสำเร็จ สัมผัสเองจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดและแรงบันดาลใจกระทั่งเข้าร่วมเป็นสมาชิก พคท. ในช่วงเวลานี้ด้วย โดยเพื่อนนักศึกษา ม.ธ.ก. ชักชวนผ่านการพูดคุยปรับทุกข์ผูกมิตร[33] การพิจารณาความคิดและการเคลื่อนไหวของสัมผัสหลังจากนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้บริบทการเคลื่อนไหวต่อสู้ของ พคท. เป็นหลัก

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลจอมพล ป. ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เต็มที่ยิ่งขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2493 ไทยได้ลงนามในสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับสหรัฐฯ และต่อมาได้ส่งทหารไทยไปร่วมรบเพื่อปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ ในเกาหลี ทำให้เกิดแรงต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ทวีการเคลื่อนไหวคัดค้านการรุกรานเกาหลีของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างแนวร่วมของ พคท. ทำให้งานของ พคท. ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนสันติภาพนับแสนคน[34] 

หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ได้เผยรายชื่อบุคคลสำคัญหลายกลุ่มที่ร่วมลงนาม เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์อรัญญ์ พรหมชมพู (อุดม สีสุวรรณ)กุลิศ อินทุศักดิ์ (อัศนี พลจันทร)ฉัตร บุณยศิริชัย, อิศรา อมันตกุลรัตนะ ยาวะประภาษ, อุทธรณ์ พลกุลสมบูรณ์ วิริยะศิรินิ่มนวล ชลภูมิประหยัด ศ. นาคะนาทสุภัทร สุคนธาภิรมย์สนิท เอกชัยสุวัฒน์ วรดิลกถวัลย์ ศิลปะกิจลาภ เงินดีวรา สาสิงห์สุเทพ เหมือนประสิทธิเวชวิจิตร คุณาวุฒิ และแขไข เทวินทร์ เป็นต้น กล่าวกันว่า แม้กระทั่งท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และบุตรสาวของ พล.อ. มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น ก็ร่วมลงนามด้วย[35] 

นอกจากนี้ ยังมีปัญญาชนสายสังคมนิยมอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. จึงได้ก่อตั้ง “ขบวนการกู้ชาติ” ขึ้นเพื่อเตรียมการรัฐประหารโค่นอำนาจจอมพล ป. ปัญญาชนกลุ่มนี้ประกอบด้วย สุภัทร สุคนธาภิรมย์สุพจน์ ด่านตระกูลสุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นต้น โดยกลุ่มนี้ชักชวน น.ต. พร่างเพ็ชร บุณยรัตพันธุ์ และจ่าทหารเรือจำนวนหนึ่งเข้าร่วมได้สำเร็จ ขณะเดียวกันยังมีผู้ปฏิบัติงาน พคท. เช่น ปั่น แก้วมาตย์ และไสว มาลยเวช คอยประสานงาน อย่างไรก็ตาม พคท. มิได้เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการกู้ชาติอย่างเป็นทางการ[36]

ประกอบกับงานจัดตั้งชาวนาในชนบทของ พคท. ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2491 ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลระบุว่าจนถึงปลายปี 2495 มีหลักฐานยืนยันว่ามีอย่างน้อย 7 จังหวัดในภาคอีสานได้รับผลกระทบจากการปลุกระดมในชนบทของพรรค ได้แก่ ศรีสะเกษบุรีรัมย์สุรินทร์สกลนครอุบลราชธานีขอนแก่น และร้อยเอ็ด[37]

 

กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ฯให้นำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนในภาคอีสานที่ประสบภัยแล้งระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2495[38]

 

แรงต่อต้านคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. ที่เพิ่มขึ้นอย่างสูงนี้นำไปสู่การจับกุมครั้งใหญ่ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งเป็นเวลาเพียงห้าวันหลังจากที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งปีแห่งการยึดมหาวิทยาลัยคืนจากรัฐบาลในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของ “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” ที่ยกย่องสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้เป็นประธานคณะผู้แทนแจกจ่ายสิ่งของที่ผู้คนบริจาคแก่ประชาชนในภาคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติ ก็ได้เดินทางกลับถึงพระนครได้เพียงวันเดียว[39] 

การจับกุมในครั้งนี้มีผู้ถูกจับประมาณ 200 คน[40] ทั้งนักการเมือง นักเขียน และนักศึกษา ม.ธ.ก. โดยเฉพาะคณะกรรมการนักศึกษาที่เป็นแกนนำการต่อสู้ ซึ่งถูกตั้งข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” หรือ “ขบถ 10 พ.ย.” นับเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่ถูกจับกุมด้วยอำนาจเผด็จการ มีมารุต บุนนาค (ประธานนักศึกษา), เฉลียว พิศลยบุตร (รองประธานนักศึกษา), สมบัติ สุวรรณชีพ (หัวหน้านักศึกษาหญิง), สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (เลขานุการคณะกรรมการนักศึกษา), ประเสริฐ สมรรคจันทร์ (หัวหน้าคณะรัฐศาสตร์), อารีย์ อิ่มสมบัติ (บรรณาธิการธรรมจักรฉบับนักศึกษา), ชาญ แก้วชูใส (ประธานแผนกปาฐกถา), ประจวบ อัมพะเศวต (อดีตประธานนักศึกษา), สุวิทย์ เผดิมชิต (บรรณกร) และอีกหลายคนถูกสอบสวน[41] 

 

“กบฏ 10 พ.ย.” 54 คนภายในห้องพิจารณา 24 ศาลอาญา ถนนหน้าหับเผย ถ่ายโดยช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ แถวที่หนึ่งจากซ้าย (1) พ.ท. สาลี่ ธนะวิบูลย์ (2) สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (3) บัว จันทกร (4) ชาย เฮ็งกุล หรือก๊กไซ แซ่เฮง (5) ฉัตร บุณยศิริชัย (6) สุภัทร สุคนธาภิรมย์ (7) จ.อ. โสตถิ์ เศวตพันธ์ (8) ปิ่น เสียงชอบ (9) ประสิทธิ์ เทียนศิริ แถวที่สองจากซ้าย (10) ชิต เวชประสิทธิ์ (11) จ.ท. ไพโรจน์ มนไทวงศ์ (12) สิงห์ชัย บังคดานรา หรือนเรศร์ นโรปกรณ์ (13) พลทหารปาล พนมยงค์ (14) พินิจ ปทุมรส (15) จ.ต. ประดิษฐ์ หุนธนเสรี (16) จ.ท. ยิ่ง รัตนจักษ์ (17) สุพจน์ ด่านตระกูล (18) อารีย์ อิ่มสมบัติ (19) จ.ท. ทองอินทร์ ครามนา (20) น.พ. เจริญ สืบแสง (21) กุหลาบ สายประดิษฐ์ (22) วิเศษ ศักดิ์สิทธิ์คันศร (23) สุชาติ ภูมิบริรักษ์ (24) ซ้ง หรือเกี๋ยง แซ่คู (25) สมัคร บุราวาศ แถวที่สามจากซ้าย (26) สุบรรณ์ จันทรแก้ว (27) จ.อ. สงขลา กระจ่างพจน์ (28) ภู ชัยชาญ (29) จ.ท. มา ทองแท้ (30) จ.อ.อ. เมี้ยน เดชาติวงศ์ (31) อนันต์ ทัตตานนท์ (32) มงคล ณ นคร (33) จ.ท. ประสิทธิ์ ใจอุ่น (34) สาร โนนใหญ่ (35) จ.อ. บุญส่ง ประสมแสง (36) ไสว มาลยเวช (37) ครอง จันดาวงศ์ (38) บุญมี ลัทธิประสาตร แถวที่สี่จากซ้าย (39) ภู จันทเขต (40) ณรงค์ ชัยชาญ (41) ฮะ หรือฮัก แซ่ลิ้ม (42) ร.อ. พิมพ์ ยุวะนิยม (43) จ.ท. ไสว วงษ์หุ่น (44) น.ต. พร่างเพ็ชร์ บุณยรัตน์พันธ์ (45) บุ ชัยชาญ (46) สอน เสนา (47) อุทธรณ์ พลกุล (48) จ.ท. มนูญ สุทธิวงศ์ (49) จ.ท. บุญนาน รัตนไพร (50) พันจ่าเอก นาค ปิ่นแก้ว (51) น้อย จันทา (52) น.ต. มนัส จารุภา ร.น. (53) เปลื้อง วรรณศรี (54) ฮางเฮ้า หรือฮั่งเฮ้า แซ่โง้ว (55) สุ่น กิจจำนงค์ (ไม่ปรากฏในภาพ)[42]

 

หนึ่งในผู้ถูกจับคือ ฉัตร บุณยศิริชัย นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ได้ชี้แจงถึงสาเหตุของการจับกุมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ว่าเกิดจากประชาชนผู้รักสันติคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่เข้าร่วมรบในเกาหลี การสะสมกำลังรบ การเพิ่มภาษีอย่างมาก การกดขี่เสรีภาพของประชาชนและสื่อ คัดค้านการแซงชั่นสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการให้สหรัฐอเมริกาผูกขาดการค้ายาง ทำให้ราคายางตกต่ำและเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจแห่งชาติ ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณจากการรบในเกาหลีมาสร้างสรรค์ประเทศ แถมยังเรียกร้องให้ 5 มหาอำนาจทำกติกาสัญญาสันติภาพ คัดค้านการใช้อาวุธปรมาณู และอาวุธสังหารหมู่  ตลอดจนถึงเรียกร้องให้ยุติสงครามเกาหลี รวมถึงข้อพิพาททั่วโลก ด้วยวิธีการเจรจา เพื่อให้พลโลกปลอดภัยจากความพินาศและความอดอยากแบบที่เคยประสบมาระหว่างสงครามมหาประลัยครั้งที่แล้ว[43] 

หลังจากการจับกุม รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้เร่งรัดการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ออกใช้ในเวลาเพียงสามวัน โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 ร่างกฎหมายนี้ได้ถูกส่งเข้าสภา กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนและรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความชุด “ที่นี่และที่นั่น” โดยใช้นามปากกา “อิสสรชน” เปิดโปงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่ง พล.ต.อ. เผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อ้างหลักฐานแผนการกบฏในการเร่งรัดให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับรองกฎหมายคอมมิวนิสต์ในวันเดียว

กุหลาบชี้ว่า หลักฐานที่นำเสนอโดยเผ่าระบุว่า ผู้ร่วมในการก่อกบฏต่อประเทศไทยประกอบด้วยคนถึง ชาติ มีโซเวียตรัสเซีย ไทย เขมร ลาว จีน ฟิลิปปินส์ มลายู และเวียดมินห์ (อินโดจีน) โดยแผนการตามมติที่ประชุมระบุว่า

ให้ฆ่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ให้คุมขังกษัตริย์และบังคับให้กระจายเสียงว่ายอมสละราชสมบัติ ให้ฆ่ากษัตริย์เสียถ้าปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม ให้เลิกลัทธิกษัตริย์ ตั้งรัฐบาลรีปับลิกแห่งไทยใหม่ การวางเพลิงเป็นงานที่สำคัญมาก โซเวียตรัสเซียจะให้ความรับผิดชอบโดยเต็มที่ในการคมนาคมทั้งทางทะเลและอากาศ สมาคมหญิงจะให้ความรับผิดชอบในการพยาบาล ริบทรัพย์ของผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์เอามาแจกจ่ายแก่พลรบพวกกบฏชาวนา และกรรมกรโซเวียตรัสเซียจะเป็นประเทศแรกที่รับรองรัฐบาล ฯลฯ

ซึ่งเมื่อกุหลาบตรวจหลักฐานในสำนวนคดีสันติภาพทั้งหมด กลับไม่เคยปรากฏว่ามีพยานเอกสารชิ้นนี้อยู่เลย[44] อย่างไรก็ดี ผลจากการกวาดล้างและออกพระราชบัญญัติปราบปรามคอมมิวนิสต์นี้ส่งผลถึงปริมณฑลทางการเมืองทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดทำให้คณะรัฐประหารมีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จขึ้น เพราะไม่เหลือพลังต่อต้านรุนแรงใด ๆ ในสังคมอีก[45]

การถูกใส่ร้ายจากรัฐบาลครั้งนี้ทำให้สัมผัสในวัย 26 ปีถูกจองจำร่วมกับจำเลยคนอื่น ๆ เป็นเวลาถึง 2 ปี 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ถึง 15 มีนาคม 2498) โดยในช่วงแรก เขาถูกฝากขังที่สถานีตำรวจบางซื่อเป็นเวลา วัน ก่อนจะถูกย้ายไปเรือนจำชั่วคราวสันติบาลอีก 84 วัน ระหว่างที่ถูกคุมขัง สัมผัสเล่าว่า

สถานการณ์ช่วงนั้นยังสับสนอยู่มาก ว่าตำรวจจับคนเหล่านี้ด้วยข้อหาอะไร ทุกคนจึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะปลดปล่อยให้พวกเขากลับไปมีอิสรภาพอีกครั้งหนึ่งในเร็ววัน[46]

สัมผัสบอกว่าเขาโชคดีที่ระหว่างอยู่ในคุกได้เรียนรู้จากผู้อาวุโสหลายคน หนึ่งในบุคคลสำคัญคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิดนักเขียนผู้เป็นแรงบันดาลใจ เพราะก่อนถูกจับ เขาเคยอ่านงานเขียนของกุหลาบหลายชิ้น เช่น สงครามชีวิต ซึ่งสะท้อนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และประชาชน ทำให้สัมผัสรู้สึกเลื่อมใส “อาจารย์กุหลาบ” มานาน เมื่อพบตัวจริงในคุก ความชื่นชมยิ่งเพิ่มขึ้น ครั้งแรกที่พบกัน สัมผัสมองผ่านลูกกรงเหล็ก เห็นอาจารย์กุหลาบเดินไปมาอย่างห้าวหาญราวกับเสือติดกรง เมื่อกุหลาบเห็นเขาก็เอ่ยถามว่า “คุณมาจากไหน” สัมผัสตอบว่า “ผมเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” กุหลาบจึงกล่าวว่า “ดี...มาอยู่ด้วยกัน” จากวันนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ จากคนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์และครอบครัวเดียวกัน[47]

เมื่อครบกำหนดฝากขังสามเดือน ตำรวจจำเป็นต้องส่งสำนวนฟ้องเพื่อดำเนินคดี ทุกคนยังคงเชื่อและมีความหวังว่าเมื่อสำนวนถึงอัยการ อัยการจะปล่อยตัวพวกเขา สัมผัสเล่าต่อว่า

ระหว่างที่ถูกจองจำ ต่างคนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทุกคืนเวลาห้าทุ่ม สองยาม จะมีรถของสันติบาลมารับตัวพวกเราไปสอบปากคำคืนละคน สองคน พาไปตระเวน พาไปในที่เปลี่ยว สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้น บรรดาผู้อาวุโสจะให้กำลังใจพวกเราเสมอว่า ไม่ต้องกลัว เราพูดความจริง และความจริงที่พวกเราทำนั้นไม่ผิด สิ่งที่พวกเราทำไปเพื่อสันติภาพ เพื่อความเป็นธรรม ที่สุดแล้วตำรวจต้องปล่อยตัวพวกเรา

อุทธรณ์ พลกุล หนึ่งในนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ยังเสริมว่า

เมื่อนักกฎหมายลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็คงทำให้ผู้ถืออาวุธต้องสงบลง[48]

 

แผนผังบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม[49]

 

แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นตามที่พวกเขาคาดหวัง เมื่ออัยการรับสำนวนจากตำรวจ ก็มีผู้ถูกส่งฟ้องศาลถึง 54 คน ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร สัมผัสเสริมว่าในวันนั้นมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งมานั่งร้องไห้กับพวกเขาที่ถูกจับ แม้ในใจสัมผัสจะรู้สึกผิดหวัง เขาก็ต้องปลอบเพื่อนว่า “พวกคุณไม่ต้องเสียใจ พวกเราไม่ได้ทำความผิดอะไร เมื่อต้องถูกขังก็ต้องสู้กันต่อไป” จากนั้นจำเลยทั้งหมดจึงถูกย้ายไปคุมขังที่ “ขัง 4” เรือนจำลหุโทษคลองเปรมเป็นเวลา 5 เดือน ต่อมาถูกย้ายไปที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรี กระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2496 ทั้งหมดถูกย้ายไปยังแดน 6 การเมืองในเรือนจำกองมหันตโทษบางขวาง นนทบุรี สัมผัสบรรยายสภาพที่คุมขังแห่งสุดท้ายว่า “ไม่มีเสียงเพลง ไม่มีรอยยิ้ม มีแต่เสียงโซ่ตรวน มีผู้คุมถือตะบองเดินไปเดินมา”[50] 

ในปีเดียวกันนี้ พูนศุข พนมยงค์ ได้ตัดสินใจพาดุษฎีและวาณี พนมยงค์ บุตรสาวสองคนที่อายุ 14 และ 12 ปี เดินทางไปฝรั่งเศส จากนั้นพยายามติดต่อปรีดีจนสำเร็จ จึงเดินทางผ่านสวีเดน ฟินแลนด์ รัสเซีย เข้าไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน[51] สัมผัสเล่าว่า ตอนที่ท่านผู้หญิงพูนศุขจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้มาบอกลาปาลกับเพื่อนนักศึกษาในคุก สัมผัสเรียนกับท่านผู้หญิงพูนศุขว่าไม่ต้องห่วง “ปาล” พวกเขาทั้งหมดจะดูแลปาลอย่างดี จากนั้นทุกคนนั่งร้องไห้ต่อหน้าท่านผู้หญิง[52]

 

ตึกอำนวยการ เรือนจำกลางบางขวาง[53]

 

ผังเรือนจำกลางบางขวาง[54]

 

หอรักษาการณ์ เรือนจำกลางบางขวางที่นักโทษคดี “กบฏ 10 พ.ย.” มองเห็นจากช่องลมทุกวัน[55]

 

ตึกขังเดี่ยว เรือนจำกลางบางขวาง[56]

 

แผนผังการจัดห้องขังจำเลยคดี “กบฏ 10 พ.ย.” ในเรือนจำกลางบางขวาง สัมผัสอยู่ห้องเลขที่ 42 ร่วมกับปาล พนมยงค์ และอารีย์ อิ่มสมบัติ ในห้องขังขนาดกว้าง 4.25 เมตร ยาว เมตร สูง 3.6 เมตร[57]

 

ภาพวาดสีน้ำขณะกุหลาบ สายประดิษฐ์นั่งทำงานในห้องขังที่เรือนจำกลางบางขวาง ระหว่างปี 2496-2500 โดย ฮะ หรือฮัก แซ่ลิ้ม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉวนหมินเป้า

 

เพื่อนนักศึกษา มธก. ร่วมคุก “กบฏ 10 พ.ย.” จากซ้าย ปาล พนมยงค์อารีย์ อิ่มสมบัติสิงหชัย บังคดานรา (นเรศ นโรปกรณ์) และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ น่าจะถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2498[58]

 

ปลายพุทธทศวรรษ 2490 ต้นพุทธทศวรรษ 2500: จากนักโทษการเมือง สู่นักหนังสือพิมพ์อาชีพของ พคท.

 

สัมผัสบรรยายว่าเมื่อถูกย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง ไม่มีใครหวั่นไหวหรือท้อแท้ ทุกคนคิดเพียงว่าจะสู้คดีและต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอย่างไร แม้กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะมีอาชีพนักหนังสือพิมพ์ แต่โดยส่วนตัวก็จบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับสัมผัส พวกเขาจึงมีโอกาสนั่งล้อมวงวางแผนแนวทางการสู้คดีร่วมกัน โดยที่สัมผัสเพิ่งตีตั๋วเป็นทนายความในคุกนี้เอง การทำงานประสานกับกุหลาบเพื่อต่อสู้คดีทำให้สัมผัสกับกุหลาบสนิทสนมและใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น[59]

 

เอกสารคำร้องของสัมผัสในฐานะจำเลยและตัวแทนคณะทนายคดีกบฏ 10 พ.ย.
ขอนำเครื่องพิมพ์ดีดเข้ามาใช้จัดพิมพ์เอกสารต่อสู้คดีในเรือนจำ

 

เอกสารพนักงานอัยการ กรมอัยการแจ้งว่ากรมราชฑัณฑ์ไม่อนุญาตให้สัมผัสและพวก
นำเครื่องพิมพ์ดีดเข้ามาใช้จัดพิมพ์เอกสารในการต่อสู้คดีกบฏ 10 พ.ย.

 

เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองทุกยุคสมัย สัมผัสยังคงสืบสานธรรมเนียมการใช้เวลาในเรือนจำเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้โลกทัศน์และชีวทัศน์กับเพื่อนผู้ต้องขัง[60] เขาเล่าว่า

ผมค่อนข้างโชคดี ... เพราะคนที่เข้ามาอยู่ในคุกห้วงเวลานั้นล้วนแต่เป็นระดับครูบาอาจารย์ มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ คุณสมัคร บุราวาส สอนด้านปรัชญา อาจารย์กุหลาบ สอนด้านวิชาการประพันธ์ การหนังสือพิมพ์ คุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ น.ต. มนัส จารุภา สอนภาษาอังกฤษ และยังมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีน ฉวนหมินเป้า สอนภาษาจีน … ยามว่างจากการไปศาล ว่างจากภารกิจประจำวันก็ไปเรียนวิชาที่ผมชอบมากที่สุดคือวิชาว่าด้วยการประพันธ์ และรองลงมาคือภาษาอังกฤษ[61]

กระบวนการถ่ายทอดวิชาการประพันธ์ ... ของอาจารย์กุหลาบ เริ่มต้นขึ้นแบบไม่เป็นทางการ ใครใคร่เรียนรู้ก็เดินเข้ามาหา ... การเรียนจะมีลักษณะเป็นการพูดคุยแบบเป็นกันเอง อาจารย์กุหลาบมักจะย้อนถามลูกศิษย์ให้ได้ฝึกสมองคิดตามตลอดเวลา ... ลูกศิษย์ ตอบถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง อาจารย์กุหลาบไม่เคยตำหนิ แต่สิ่งที่ทุกคนได้โดยไม่รู้ตัวคือได้ฝึกการคิด ซึ่งต่างจากการเรียนหนังสือในห้องเรียนที่นักเรียนมีหน้าที่จดบันทึกเพียงอย่างเดียว ... หลักการเขียน อาจารย์กุหลาบจะเน้นไปที่เนื้อหาต้องสะท้อนให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อศีลธรรม ... นักหนังสือพิมพ์ต้องมีจริยธรรม

ผลผลิตจากวิชาการประพันธ์คือสัมผัสและนักเรียนคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ “วันใหม่” ในคุก เนื้อหาเกี่ยวกับชาวไร่ ชาวนา สะท้อนความยากจนและความเดือดร้อนของชาบ้านตามแนวทรรศนะที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น[62]

นอกจากวิชาการประพันธ์ สัมผัสยังนับถือกุหลาบในฐานะต้นแบบความมั่นคงในจิตใจ ภาพที่เขาจำได้ชัดเจนคือ

หลายต่อหลายครั้งที่คนของรัฐบาลพยายามเกลี้ยกล่อมให้อาจารย์กุหลาบเขียนบทความเยินยอ โดยแลกเปลี่ยนกับการเสนอตำแหน่งใหญ่ ๆ โต ๆ ให้ หรือแม้กระทั่ง การเสนอเงิน เสนอทองให้ แต่นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ไม่เคยรับของใคร ๆ แม้แต่สตางค์แดงเดียว คุก...ขังได้แต่ตัวของอาจารย์กุหลาบเท่านั้น แต่จิตวิญญาณความเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์นั้นขังไม่ได้[63] 

ทุกวินาที[ของอาจารย์กุหลาบถูกใช้]อย่างคุ้มค่า [อาจารย์กุหลาบ]ไม่เคยไปนั่งเล่นหมากรุก หมากฮอสให้เสียเวลา เมื่อมีเวลาว่าง เป็นต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบกระดาษขึ้นมาร่ายเรียงเรื่องราวถ่ายทอดจินตนาการผ่านตัวหนังสือ หรือไม่ก็เก็บสะสมข้อมูลด้วยการพูดคุยกับกลุ่มชาวนา ผู้ต้องขังจากจังหวัดศรีสะเกษ[64]

 

คณะจำเลยคดีกบฏ 10 พ.ย. ยืนฟังคำพิพากษา ณ บัลลังก์ 24 ศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2498 กับญาติมิตรของจำเลยและประชาชนผู้สนใจไปฟังคำพิพากษากันคับคั่ง[65]

 

การพิจารณาคดีกบฏสันติภาพกินเวลากว่า 2 ปี 3 เดือน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2498 ดุลอำนาจทางการเมืองในไทยเปลี่ยนแปลง จอมพล ป. พยายามปรับแนวทางการบริหารประเทศด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การฟื้นฟูประชาธิปไตย” ขึ้น[66] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ศาลอาญาได้พิพากษาคดีกบฏสันติภาพเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยมีผู้ถูกยกฟ้องและปล่อยตัว 5 คน ได้แก่ เปลื้อง วรรณศรีสัมผัส พึ่งประดิษฐ์สิงห์ชัย บังคดานรา (นเรศ นโรปกรณ์)มงคล ณ นคร และฮวงเฮ้า แซ่โง้ว ส่วนณรงค์ ชัยชาญ ถูกจำคุก 20 ปี คนอื่น ๆ ถูกจำคุกคนละ 11 ปี 4 เดือน โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ แต่ระหว่างกระบวนการนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษในปี พ.ศ. 2500 ส่งผลให้ผู้ต้องคำพิพากษาทั้งหมดได้รับนิรโทษกรรมและได้รับการปล่อยตัวออกมาในปีเดียวกัน[67] 

 

เอกสารพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 พร้อมด้วยคำอธิบายโดยสังเขปของสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต[68]

 

หลังพ้นโทษ สัมผัสได้ทำงานเป็นทนายความเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนและขาดความเป็นธรรมในช่วงเวลาสั้น ๆ พร้อมกันนั้น เขายังทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงานหลายแห่ง โดยแนะนำให้กรรมกรเข้าใจกฎหมายแรงงานใหม่ สัมผัสเล่าว่า

ผมเป็นที่ปรึกษาให้กรรมกรรถไฟมักกะสันที่สไตรค์หยุดงาน รวมถึงสหภาพแรงงานบางซ่อน สหภาพแรงงานบอมเบย์เบอร์ม่า และสหภาพอีสต์เอเชียติกโรงงานทอผ้า[69] 

การทำงานนี้ทำให้เขาได้พบกับ ไขแสง สุกใส วัย 25 ปี ผู้ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2497 ด้วยข้อหากบฏและการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลังพยายามเดินทางจากนครพนมไปพบผู้นำประเทศสังคมนิยมที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเปิดโปงการสังหารสี่อดีตรัฐมนตรีอีสานโดยรัฐบาลไทย แต่ถูกจับกุมและคุมขังที่คุกขี้ไก่ เมืองท่าแขก ประเทศลาว ก่อนส่งตัวมายังทางการไทย สัมผัสต้องไปศาลอาญาทุกวันพฤหัสบดีเพื่อต่อสู้ในคดี “กบฏสันติภาพ” ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้พบกับไขแสง[70]

บน ไขแสง สุกใส ลูกความคดีคอมมิวนิสต์คนแรกของสัมผัสหลังคดี “กบฏสันติภาพ”
 ล่าง กำแพงคุกขี้ไก่เมืองท่าแขกที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ขังคนลาว[71]

 

สัมผัสเล่าถึงการเจอไขแสง ลูกความคดีคอมมิวนิสต์คนแรกของสัมผัสหลังคดี “กบฏสันติภาพ” ไว้ว่า

กบฏสันติภาพมีนักศึกษาห้าคน เราเด็กสุดเลยถูกปล่อยออกมาก่อน ออกจากคุกก็มาเจอไขแสงเข้า

เขาเสริมว่า

ตอนนั้นออกจากคุกแล้ว ผมมาทำงานหนังสือพิมพ์ พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของสหภาพแรงงาน จำได้ว่า ผมเป็นทนายอยู่กับศาลอาญา ก็มาว่าความให้กรรมกรรถไฟ พื้นฐานความคิดเราไม่พอใจเผด็จการ ไม่พอใจการปกครองสมัยนั้น พอมาเจอคุณไขแสง เข้าใจว่าเป็นนักต่อสู้คนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่คัดค้านเผด็จการ เรียกว่าความคิดตรงกัน แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน อีกประการหนึ่งไขแสงถูกส่งเข้ากรุงเทพฯแล้ว (เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์) ญาติพี่น้องไม่มีเพราะอยู่ไกล ทนายก็ไม่มี สมัยนั้นทนายความไม่ใช่จะหาง่าย ๆ โดยเฉพาะคดีร้ายแรงแบบนี้ ผมเข้าไปสอบถามรู้ว่ายังไม่มีก็เลยอาสาว่าความให้ เราอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน กำลังไฟแรง[72] 

 

นิสิต-นักศึกษา-ประชาชนชุมนุมประท้วง “การเลือกตั้งสกปรก” พ.ศ. 2500[73]

 

“ทุกคนโกง!” จอมพลสฤษดิ์กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง “การเลือกตั้งสกปรก” ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนใจฟังจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ที่ยืนอยู่ด้านซ้ายของสฤษดิ์ด้วยสีหน้าหม่นหมอง) พวกเขาต้องการให้สฤษดิ์เป็นผู้พูดที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 หกเดือนต่อมา สฤษดิ์จึงก่อรัฐประหาร[74]

 

สัมผัสออกจากคุกไม่นาน วิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจอมพล ป. ก็ทวีความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือความพยายามของรัฐบาลจอมพล ป. ที่จะบริหารประเทศตามแนวทางประชาธิปไตย หรือ “การฟื้นฟูประชาธิปไตย” เช่น การสัญญาว่าจะเพิ่มเสรีภาพให้กับสื่อมวลชน การอนุญาตให้มีการชุมนุมสาธารณะวิจารณ์รัฐบาลที่สนามหลวง (หรือ “ไฮด์ปาร์ค”และการประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ. 2498 เพื่อสมัครรับเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น แนวทางเหล่านี้ทำให้เกิดการฟื้นตัวของขบวนการและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลอย่างแพร่หลาย[75] 

นอกจากนี้ ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่มอบให้รัฐบาลจอมพล ป. ยังนำไปสู่การแข่งขันทางการเมืองภายในกลุ่มคณะรัฐประหารเอง ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ผู้นำกลุ่มทหาร และ พล.ต.อ. เผ่า ผู้นำกลุ่มตำรวจ ส่งผลให้การบริหารประเทศขาดความเป็นเอกภาพ[76] 

กระทั่งปี พ.ศ. 2500 เกิดกรณี “การเลือกตั้งสกปรก” ซึ่งพรรคเสรีมนังคศิลา ที่จอมพล ป. เป็นหัวหน้า ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่โปร่งใสและเต็มไปด้วยการทุจริต ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการประท้วงผลการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลให้กระแสโจมตีจอมพล ป. รุนแรงยิ่งขึ้น[77]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 ประชาชนและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ออกมาเดินขบวนประท้วง “การเลือกตั้งสกปรก” จากถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนคร แต่จอมพลสฤษดิ์กลับออกมาพบขบวนประท้วงและปราศรัยว่า “ถ้ามีการเดินขบวนประท้วง รัฐบาลก็จะหลีกทางให้” พร้อมทั้งสั่งให้ทหารเปิดทางและเป็นผู้นำขบวนนักศึกษาและประชาชนไปพบจอมพล ป. ด้วยตนเอง[78]

จอมพลสฤษดิ์ปล่อยให้ประชาชนวิจารณ์จอมพล ป. อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนกล่าวต่อฝูงชนว่า “ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ ขอพูดอย่างชายชาติทหารว่าข้าพเจ้ามีความเห็นใจประชาชน สิ่งใดที่มติมหาชนไม่ต้องการ ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมมือด้วย” และลงท้ายว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” ทำให้ภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ดีขึ้นและเกิดกระแส “แอนตี้” จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า แต่ “เชียร์” จอมพลสฤษดิ์ในสังคมไทย[79] 

 

จากซ้าย เปลื้อง วรรณศรีไสว มาลยเวช และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ น่าจะถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2497[80]

 

งานศึกษาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และธิกานต์ ศรีนารา เห็นตรงกันว่า พคท. แสดงจุดยืน “แอนตี้” จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ขณะเดียวกันก็ “เชียร์” จอมพลสฤษดิ์ ผ่านเครื่องมือโฆษณาอย่างหนังสือพิมพ์ ปิตุภูมิ LA PATRIE และ มาตุภูมิ[81] ซึ่งในระยะแรกออกเป็นรายสัปดาห์ต่อมาออกเป็นรายปักษ์[82] เน้นนำเสนอข่าวและการเมืองโดยเฉพาะของ พคท. แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสื่อของ พคท. อย่างเปิดเผย[83]

สัมผัสเข้ามีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ตามคำชักชวนของเปลื้อง วรรณศรี (28 ตุลาคม พ.ศ. 2465–28 มิถุนายน พ.ศ. 2539) ทุนก่อตั้งเรี่ยไรจากนักโทษคดีกบฏสันติภาพร่วมคุก[84] สัมผัสเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างเขากับเปลื้องไว้ว่า

ในกบฏสันติภาพด้วยกัน ผมใกล้ชิดคุณเปลื้อง วรรณศรี มากที่สุด เขาเป็นรุ่นพี่ [ต.ม.ธ.ก.รุ่นเดียวกับมารุต บุนนาค เป็นรุ่น ส่วนผมรุ่น เป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้สัมผัสกับอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาเคารพรัก

คุณเปลื้องเป็นคนที่คบแล้วไม่ใช่เอาแต่ความคิดหรือการจัดตั้ง แต่มีความเห็นอกเห็นใจในชีวิตความเป็นอยู่ เอื้อเฟื้อ เมตตา อนาทรร้อนใจ ผมใกล้ชิดคุณเปลื้องมาตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา และเข้าไปอยู่ในคุก เปลื้องยากจนสุด แต่ถ้าใครให้เงินแล้ววางก้าม เขาจะไม่เอาเลย กูกินกล้วยแทนข้าวก็ได้ แล้วอาเจียนออกมาเป็นเลือด (วัณโรค) เหม็น ... ความร่วมทุกข์ร่วมสุข ความใกล้ชิด เกิดเป็นความผูกพัน[85] 

ภาพ ปกหนังสือพิมพ์ ปิตุภูมิ LA PATRIE และปก มาตุภูมิ ของ พ.ค.ท.[86]

 

สำหรับ ปิตุภูมิ ออกจำหน่ายฉบับแรกออกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2498 ชูคำขวัญว่า “น.ส.พ. เพื่อชีวิตและความหวัง” มีเปลื้องเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา, สัมผัสเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ, นักเขียนประจำ คือ อุดม สีสุวรรณ และชาญ กรัสนัยบุระ นอกจากนี้ยังมีงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่น ทวีป วรดิลกอัศนี พลจันทรกุหลาบ สายประดิษฐ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ สำนักงานและพิมพ์ที่โรงพิมพ์ กิตติกุล 262/ถนนนครไชยศรี ศรีย่าน พระนคร ต่อมาวันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่โรงพิมพ์สยามการพิมพ์ เลขที่ 79 ถนนศาลาแดง ซอย 2[87]

ส่วน มาตุภูมิ มีสัมผัสเป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์ฉบับที่ ปีที่ ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 สำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับ ปิตุภูมิ ในแง่เนื้อหาแล้วไม่ต่างจาก ปิตุภูมิ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจาก ปิตุภูมิ มาเป็น มาตุภูมิ เท่านั้น สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือนักเขียนทุกคนล้วนใช้นามปากกาทั้งหมด สาเหตุสำคัญคือได้เกิดการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และพลโทถนอม กิตติขจร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากนั้นได้สั่งเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ฉบับรวมทั้ง ปิตุภูมิ ด้วย[88]

 

ซ้าย หนังสือพิมพ์ปิตุภูมิแสดงจุดยืนสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ คัดค้านจอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์[89]

ขวา สำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตักเตือนคณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ปิตุภูมิมิให้โฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีก[90]

 

งานศึกษาของธิกานต์ ศรีนาราเสนอว่าจุดยืนทางการเมืองในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2498-2500ของ ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ มี ประเด็นใหญ่ ๆ คือ (1) ต่อต้าน “จักรพรรดินิยมอเมริกา” และสนับสนุน “ประเทศค่ายสังคมนิยม” กับ (2) ต่อต้านจอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ขณะเดียวกันก็โน้มเอียงไปทางสนับสนุนหรือ “เชียร์” จอมพลสฤษดิ์[91] โดยธิกานต์ประเมินสอดคล้องกับสุธาชัย ยิ้มประเสริฐว่า การแสดงจุดยืนแบบหลังนับเป็น “ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย” โดยธิกานต์ได้ยกตัวอย่างข้อความที่ ปิตุภูมิ ปีที่ 2 ฉบับที่ 48 (11 มีนาคม 2500) แสดงการสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ว่า “ด้วยปฏิบัติการอันเด็ดเดี่ยว สุขุม และทันกาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการฝ่ายทหารยามฉุกเฉิน และโดยการสนับสนุนอันแน่วแน่ แข็งแกร่ง และพร้อมเพรียงกันของประชาชนผู้รักชาติ บัดนี้ สถานการณ์อันเลวร้ายได้ผ่านไป เหตุการณ์เริ่มคืนสู่สภาพปกติแล้ว”[92] 

ขณะที่สุธาชัยได้ยกตัวอย่างข้อความของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายสังคมนิยมที่สดุดีและฝากความหวังต่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ว่า

เมื่อรัฐบาลพิบูลสงครามได้ล้มลงแล้ว ประชาชนก็ได้ต้อนรับคณะทหารและผู้บัญชาการทหารบกในฐานะกัลยาณมิตรของเขา แล้วเฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ด้วยความเอาใจช่วย ในขณะเดียวกันที่ทางพวกฝรั่งตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งนายฝรั่งผู้เป็นเจ้าเงินนายเงินของรัฐบาลไทยก็ได้มองดูการล้มลงของรัฐบาลพิบูลสงครามซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอำนาจ และปกป้องผลประโยชน์ของตนในประเทศไทยและในเอเชียอาคเนย์ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น แต่ก็ได้พยายามปลอบใจตนเองและเตือนคณะทหารไปด้วยในตัว[93] 

 

ซ้าย ปิตุภูมิ ลงข่าวบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการสมัครผู้แทนฯ รับใช้ประชาชน
ขวา สัมผัส ผู้ช่วยบรรณาธิการปิตุภูมิปราศรัยหาเสียง พ.ศ. 2500[94]

 

นอกจากเป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ ในช่วงนี้ พคท. ยังขยายงานแนวร่วมในเมือง โดยสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางรัฐสภา ดังที่ ประจวบ อัมพะเศวต อดีตผู้นำนักศึกษา เล่าถึงการเคลื่อนไหวของ พคท. หลังรัฐบาลจอมพล ป. จัดการเลือกตั้งทั่วไปไว้ว่าดำเนินไปในรูปแบบของงานแนวร่วมในเมืองและการต่อสู้ในรัฐสภา โดยมีการโยกย้ายผู้ปฏิบัติงานบางส่วนไปยังศูนย์ปฏิบัติงานในจังหวัดพระนครและหัวเมืองใหญ่ เพื่อเชื่อมประสานกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ส่งเสริมการขยายกำลังคน การโฆษณา และสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสำหรับงานพื้นฐานในชนบท เมื่อถึงช่วงการเลือกตั้งทั่วไป พคท. ได้สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมภายใต้ชื่อ “สันติชนแนวร่วมสังคมนิยม” ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดพระนคร ได้แก่ สุวัฒน์ วรดิลกสัมผัส พึ่งประดิษฐ์อุทธรณ์ พลกุลลิ่วละล่อง บุนนาคบุญทรง วิจารณะ และสุเทพ สัจจกุล แต่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในต่างจังหวัด ผู้สมัครที่ พคท. สนับสนุน ได้แก่ เจริญ สืบแสง (ปัตตานี)ชิต เวชประสิทธิ์ (ภูเก็ต)เปลื้อง วรรณศรี และสุธี ภูวพันธ์ (สุรินทร์) ต่างได้รับเลือกตั้งทั้งหมด[95]

สัมผัสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งปรากฏโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งในนิตยสารปิตุภูมิระบุว่า “บรรณาธิการ และผู้ช่วย ปิตุภูมิ สมัครผู้แทนฯ รับใช้ประชาชน ... นายสัมผัส สมัครที่จังหวัดธนบุรี ... หมายเลข ๑๔”[96] และครั้งที่สองคือ การลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทหนึ่ง ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500[97]

แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่การที่สัมผัสลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 โดยลงสมัครเขตจังหวัดพระนคร ในนามสันติชนและสมาชิกแห่งแนวร่วมสังคมนิยม เบอร์ 26 ร่วมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะอดีตผู้ถูกกวาดจับคราว “กบฏสันติภาพ” คนอื่น ๆ อาทิ สุภัทร สุคนธาภิรมย์สุชาติ ภูมิบริรักษ์เจริญ สืบแสงอุทธรณ์ พลกุลเปลื้อง วรรณศรีครอง จันดาวงศ์ไสว มาลยเวชลิ่วละล่อง บุนนาคทองใบ ทองเปาด์ และสุวัฒน์ วรดิลก[98] สะท้อนให้เห็นว่าสัมผัสและปัญญาชนหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งได้ตระหนักถึงความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของตนเองในการสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์แล้ว ดังจะเห็นได้จากนโยบายหาเสียงของแนวร่วมสังคมนิยมที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชั่วคราวที่คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์แต่งตั้งขึ้น ซึ่งปรากฏในเอกสารแสดงนโยบายหาเสียงสำคัญสองฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก “สาส์นเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน จาก คณะกรรมการกลางแนวร่วมสังคมนิยม” มีข้อความระบุว่า

 

สาส์นเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน จาก คณะกรรมการกลางแนวร่วมสังคมนิยม” เอกสารประกอบการหาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500[99]

 

ท่านพี่น้องประชาชนทั้งหลาย นับแต่ได้มีการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามออกไป ประชาชนชาวไทยต่างพากันคาดหวังว่า ... จะได้เห็นรัฐบาลใหม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ให้เหมาะสมถูกต้อง เป็นอิสระแก่ตนเองเช่นประเทศเพื่อนบ้าน อันมีเขมร พม่า อินเดีย และอินโดนีเซียก็ดี หรือความหวังที่จะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานในทางประชาธิปไตย จากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในครั้งนี้ก็ดี ยังคงเป็นสิ่งเลือนลางห่างไกลอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า รัฐบาลชั่วคราว ที่คณะทหารจัดตั้งขึ้นนั้น ยังคงมีนโยบายต่างประเทศเกาะแน่นอยู่ค่ายตะวันตก รวมทั้งนโยบายภายในก็ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดเก่า ที่ประชาชนแสนจะเบื่อหน่ายเกลียดชังและขับไล่ออกไปแล้วนั่นเอง ...

… การจะได้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่สามารถบริหารและปฏิบัติตามคำเรียกร้องต้องการของพี่น้องประชาชนดังกล่าวนี้ได้ มิใช่สิ่งสะดวกง่ายดายนัก จำต้องใช้ความพากเพียรอดทน ต่อสู้เรียกร้องอย่างเหนียวแน่นต่อไป แต่ความสำเร็จนั้นจะบรรลุผลได้ ย่อมขึ้นอยู่ที่การร่วมมือร่วมใจ ของพี่น้องประชาชนเป็นส่วนสำคัญด้วย โอกาสในการร่วมมือของพี่น้องประชาชนได้มามาถึงแล้วในครั้งนี้ คือการใช้สิทธิเสียงของท่านในการเลือกเลือกตั้ง ซึ่งถึงกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม ศกนี้ ว่าท่านทั้งหลายจะพิจารณาตัดสินใจเลือกใคร พรรคการเมืองใด ให้เป็นตัวแทนของท่าน หากท่านพี่น้องประชาชนเลือกเอาบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ไม่ปรากฏนโยบายชัดแจ้ง ทั้งไม่ปรากฏผลงานแต่หนหลัง ว่ายืนอยู่ข้างฝ่ายประชาชนหรือหาไม่ เช่นนี้ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อความผิดหวังได้มาก ...[100]

          

เพื่อสันติภาพและชีวิตที่ดีกว่านี้ฯ” เอกสารประกอบการหาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500[101]

 

และฉบับที่สอง ในเอกสารชื่อ “เพื่อสันติภาพและชีวิตที่ดีกว่านี้คำแถลง ของ สันติชนและสมาชิกแห่งแนวร่วมสังคมนิยมในการสมัครรับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร” ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มสันติชนและสมาชิกแห่งแนวร่วมสังคมนิยมยังยืนกรานจุดยืนในการต่อต้าน “จักรพรรดินิยมอเมริกา” และสนับสนุน “ประเทศค่ายสังคมนิยม” โดยระบุว่า

นโยบายเป็นกลางนั้น อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า นโยบายเพื่อสันติภาพและมิตรภาพ อันเป็นการตรงกันข้ามกับนโยบายเพื่อสงคราม และการบำเพ็ญตนเป็นศัตรูกับมนุษย์ตั้งครึ่งโลก ดังที่รัฐบาลพิบูลสงครามได้ใช้มา และประเทศของเรายังคงใช้หลักนโยบายเช่นนั้นอยู่ในบัดนี้ นโยบายเป็นกลางนั้นหมายถึงการไม่เข้าร่วมกลุ่มทหารในยามสันติ และไม่เข้าร่วมรบในยามสงครามไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด ๆ เว้นแต่ประเทศจะถูกโจมตีโดยตรง นโยบายเป็นกลางหมายถึงการแสดงเจตจำนงที่จะรักษาความเป็นอิสระของชาติและสันติภาพของโลก ...

ด้วยนโยบายเป็นกลาง ... ประเทศของเราก็จะสามารถถอนถอนต้นออกเสียจากความเสียหายร้ายแรงนานาประการได้ ประเทศของเราก็จะสามารถพัฒนาการ ... ไปตามแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และจะสามารถเชิดชูคุณธรรมของชาติให้เด่นขึ้นได้ ... อันจะเป็นปัจจัยส่งเสริมความสามัคคีของชนชาติเดียวกันให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้น การผูกไมตรีระหว่างชาติ การไปมาหาสู่ ค้าขาย การแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ และวัฒนธรรมระหว่างชาติ ก็จะแพ้ไพศาล กล่าวโดยสรุปก็คือ ด้วยการชูธงแห่งนโยบายเป็นกลาง ประเทศของเราย่อมอยู่ในวิสัยที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศให้ลุล่วงไปได้ ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะสถาปนาประชาธิปไตยและรัฐบาลของประชาชนให้สำเร็จได้และในที่สุดย่อมอยู่ในวิสัยที่จะนำมหาชนชาวไทย ให้บรรลุสภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจได้ อันหนึ่งการชูธงชัยแห่งนโยบายเป็นกลาง ประเทศของเราจะได้มีส่วนบรรเทาความตึงเครียดแห่งสถานการณ์ของโลก อันเป็นผลของการทำสงครามเย็นระหว่างค่ายมหาอำนาจ ด้วยการวางตนและปฏิบัติการดังกล่าวนี้ ก็จะกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาติไทยที่ล่มจมไปแล้วกลับคืนมาได้ ...[102]

สัมผัสเล่าบรรยากาศในขณะหาเสียงไว้ว่า กลุ่มสันติชนแนวร่วมสังคมนิยม

ได้รับเสียงสนับสนุนจากกรรมกร นักศึกษา ประชาชนที่มีความคิดก้าวหน้า สังคมนิยมอย่างกว้างขวาง จนถูกพรรคอนุรักษนิยมโจมตี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ให้ร้ายป้ายสีด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา จึงต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลับไปทำงานหนังสือพิมพ์และทนายความภายใต้เงื้อมมือเผด็จการต่อไป[103]

หลังการเลือกตั้งไม่นานก็เกิดการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 การรัฐประหารครั้งนี้มุ่งกระชับอำนาจและสนับสนุนนโยบายต่างประเทศแบบเข้าข้างฝ่ายมหาอำนาจโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดการจับกุมและปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ปัญญาชน รวมถึงกรรมกรและชาวนาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดถูกจับกุมกว่าร้อยราย หนังสือพิมพ์ปิตุภูมิและมาตุภูมิก็ถูกปิดตัวลงถาวร เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์สั่งกวาดล้างหนังสือพิมพ์ที่ก้าวหน้า และส่งคนมาพังแท่นพิมพ์[104]

สัมผัสคิดว่าเขาต้องถูกจับอีกครั้งแน่นอน ในตอนแรกเขาคิดว่า “จับก็จับ ไม่หนี” เพราะเคยผ่านประสบการณ์ติดคุกมาแล้ว แต่เพื่อนฝูงเตือนว่าครั้งนี้หากไม่หนีจะไม่ใช่แค่จับ เพราะเขามีชื่ออยู่ในบัญชีดำมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา อีกทั้งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolute power) ที่ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งสามารถกลั่นแกล้ง ลงโทษ หรือประหารชีวิตใครก็ได้ตามดุลพินิจ ประกอบกับ พคท. มีคำเรียกร้องให้ประชาชนลงสู่ชนบท สัมผัสจึงตัดสินใจหนี โดยมีสองทางเลือก คือไปต่างประเทศหรือชนบท เขาเลือกจะไปชนบท โดยบอกตัวเองว่า “เกิดที่ไหน ตายที่นั่น ชีวิตต้องสู้”[105]

 

พุทธทศวรรษ 2500-2510: "สหายเปลี่ยน" ลูกที่ดีของพรรคแห่งเขตงานภาคกลางตะวันตก (ตะนาวศรี)

 

ซ้าย เขตปฏิบัติงานสาขา พคท. จากมุมมองฝ่ายความมั่นคงของรัฐ[106] ขวา ส่วนหนึ่งของอดีตสหายนำเขตงานภาคกลาง วนตามเข็มนาฬิกา (1) รวม วงษ์พันธ์ (2) ผิน บัวอ่อน (3) สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ และ (4) ประเสริฐ เอี้ยวฉาย[107]

 

เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวต่อสู้ของสัมผัสและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงนี้คือ รัฐบาลเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์สมัยจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม-จอมพลประภาสที่ปราบปรามกดขี่เสรีภาพของประชาชนไทยหนักมือขึ้น ประกอบกับสภาพโลกมีหลายขั้วอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ โซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทำให้สงครามเย็นในระดับโลกและสงครามร้อนในภูมิภาคอินโดจีนรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่กระแสการต่อต้านสงครามเวียดนามและขบวนการซ้ายใหม่ทวนกระแสหลักแห่งทุนนิยมและจักรวรรดินิยมของเยาวชนนักศึกษาทั่วโลก ประกอบกับประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเมืองขึ้นใหม่ ที่สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพและกองทหารในประเทศไทยเพื่อรบในอินโดจีนโดยทำข้อตกลงปิดลับกับรัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาส[108]

 

ประเทศไทยในสภาพเมืองขึ้นใหม่ จากซ้ายตามเข็มนาฬิกา (1) แผนที่แสดงฐานทัพอากาศของไทยที่สหรัฐฯใช้เป็นฐานปฏิบัติการในสงครามอินโดจีน (2) ปฏิบัติการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของสหรัฐฯ จุดเริ่มต้นปฏิบัติการขยายสงครามเวียดนามโดยใช้ดินแดนไทยเป็นฐานทัพ (3) ใบหน้าประชาชนขณะกองทหารอเมริกันสังหารชายหญิงและเด็กในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวียดนาม (4) นักโทษเวียดกงถูกจับระหว่างปฏิบัติการ Ballistic Charge (5) และ (6) รัฐบาลไทยส่งทหารไทยไปช่วยสหรัฐฯทำสงครามในเวียดนาม[109]

 

วิรัช อังคถาวร หนึ่งในผู้นำสูงสุดของ พคท. ในช่วงพุทธทศวรรษ 2510-2520 ใช้นามปากกาว่า ธ.เพียรวิทยา ระบุไว้ในเอกสาร “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา” ที่เขียนและปรับปรุงในช่วงปี พ.ศ. 2517-2521 ว่า ด้วยสภาพการเมืองทั้งในระดับสากลและในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปหลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 พคท. จึงจัดการประชุมสมัชชาพรรคฯสมัยที่สามขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2504 ในที่ประชุมเสนอเรื่องแนวทางการต่อสู้ว่า ให้ใช้วิธีการต่อสู้ทุกรูปแบบ โดยใช้ชนบทอันกว้างใหญ่เป็นฐาน ปลุกระดมชาวนาให้ลุกขึ้นสู้ เบื้องต้นยังเป็นการเสนอแนวทางแบบกว้าง แต่เป็นที่เข้าใจกันภายในว่าถึงเวลาต้องเตรียมการจับอาวุธขึ้นสู้ในแบบเดียวกับลาวและเวียดนาม ต้องให้การศึกษาและเตรียมเงื่อนไขมวลชน ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องแนวทางนโยบาย และออกแนวนโยบายใหม่ 12 ข้อ เน้นการสามัคคีพลังผู้รักชาติรักประชาธิปไตย เพื่อขับไล่การรุกรานของจักรพรรดินิยมอเมริกา และโค่นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลาง ให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงของกลุ่มสฤษดิ์ เป็นต้น จากนั้นแก้ไขระเบียบการพรรคออกมาเป็นฉบับใหม่[110] 

จากนั้นที่ประชุมได้เลือกกรรมการกลางพรรค 24 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการกรมการเมือง 7 คน คือ เจริญ วรรณงาม (ชัช)พายัพ อังคสิงห์ (โต)ธง แจ่มศรี (ดิน)ทรง นพคุณ (บาไพรัช)รวม วงศ์พันธ์ (สม)ประสิทธิ์ ตะเพียนทอง (ห่ง) และวิชัย อ่วมพันธ์เจริญ (จิงโจ้) โดยเจริญ ยังได้รับเลือกเป็นเลขาธิการที่หนึ่งใช้ชื่อจัดตั้งว่า “มิตร สมานันท์” ส่วนคณะกรรมการเลขาธิการอีก 3 คน คือ วิรัช อังคถาวร (ธาร)ดำริห์ เรืองสุธรรม (ดั่ง) และประเสริฐ เอี้ยวฉาย (เอิบ) กรมการเมืองสำรอง ได้แก่ ผิน บัวอ่อน (อุทัย)สัมผัส พึ่งประดิษฐ์อุดม สีสุวรรณ (อรรถ) และอัศนี พลจันทร (ไฟ) คณะกรรมการกลางที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอื่น 10 คน คือ ศักดิ์ สุภาเกษม (บิน)นิตย์ พงษ์ดาบเพชรวิโรจน์ อำไพประสิทธิ์ เทียนศิริ (แดง)สิน เติมลิ่ม (ประวัติ)อุทัย เทียมบุญเลิศ (สงบ)สุรีย์ จิตรประทุมพันโทพโยม จุลานนท์ (คำตัน)หู้ แซ่ลิ้ม และ ส.ท.เริง เมฆไพบูลย์[111]

หลังฝ่ายนำสมัชชาสามมีความเห็นค่อนข้างเป็นเอกภาพเรื่องการตระเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ คณะกรรมการและผู้ปฏิบัติงานก็ให้ความสำคัญและไปเคลื่อนไหวปรับปรุงงานชนบทให้เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม พรรคส่งผู้ปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่กลับจากการไปศึกษาที่สถาบันมาร์กซ์-เลนินไปเคลื่อนไหวเตรียมมวลชน เช่น เขตงานหัวเมืองภาคกลาง ส่งรวม วงศ์พันธ์ ไปเป็นครูที่สุพรรณบุรี ส่งผิน บัวอ่อนสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ไสว มาลยเวช และเจริญ วันรัตน์ ไปสร้างงานที่จังหวัดเพชรบุรี, ไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ ไปขยายงานภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง, วิทย์ อุดมประเสริฐ ไปเป็นครูที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมสีห์ อโณทัย ไปเป็นครูอยู่จังหวัดเชียงใหม่เจริญ วรรณงาม และ ม.ล. ปรีชา นวรัตน์ เคลื่อนไหวอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม เป็นต้น[112]

ในช่วงรอยต่อระหว่างคุกบางขวางกับเขตงานป่าเขานี้ สัมผัสได้พบกับคุณนงลักษณ์ พึ่งประดิษฐ์ ผู้เป็นคู่ชีวิต 

สัมผัสบอกเล่าถึงเรื่องราวความรักของเขาไว้ว่า

พูดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงเพลง คู่ฟ้าภราดร ในละครเรื่อง ผิดแผ่นดิน ซึ่งร้องในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี พฤศจิกายน 2495 มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า ล้ำรักใดอื่น สดชื่นชีวิน คงเสถียรดำรงศักดิ์ คือรักมนุษยชาติประสงค์ รักนี้จักคงยืนยง คงอยู่คู่ฟ้าภราดร เป็นความรักในอุดมคติที่ฮิตในสมัยนั้น สมัยเป็นนักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยหนุ่ม เวลาส่วนใหญ่อยู่กับกิจกรรมการต่อสู้ การเรียน การทำงาน ชีวิตอยู่ในแวดวงนักศึกษาก็เป็นธรรมดาที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อนหญิงที่ร่วมกิจกรรมที่ต้องตาต้องใจ บางครั้งเลิกประชุมมืดค่ำก็ต้องไปส่งที่บ้านเพื่อความปลอดภัย บางครั้งก็ใช้ร่มเงาต้นจำปีเป็นที่พบปะปรึกษาหารือ ซึ่งถูกหาว่าเป็นแหล่งชุมนุมมั่วสุมกันวางแผนต่อต้าน ถูกฟันทิ้งด้วยอำนาจเผด็จการ เหลือแต่ตำนานเพลง ทุกทิวารีภายใต้ร่มเงาจำปี และเมื่อถูกจับติดคุกก็ได้รับการช่วยเหลือส่งเสียให้กำลังใจจากเพื่อน ๆ พวกนี้[113]

แต่นั่นแหละ วันเวลาผ่านไปชีวิตที่ต้องแปรผันไปตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของความเป็นอนิจจัง ต้องไปสัมพันธ์กับคนหลายหมู่เหล่าตามภารกิจจนกระทั่งมาลงเอยเมื่อผมต้องออกสู่ชนบท ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป อนาคตไม่รู้ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่รู้ สำหรับคนที่รักและมอบดวงใจให้ไว้แก่กัน ก็ต้องให้เป็นที่เข้าใจกัน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก่อนที่จะจากกันด้วยความรักและอาลัย และในที่สุดเธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวไปร่วมชะตากรรม ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันในชนบท ด้วยพิธีแต่งงานเรียบง่ายที่มีเพียงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือที่นั่น และมิตรสหายให้ศีลให้พร เป็นคู่ทุกข์คู่ยากร่วมเป็นร่วมตายชนิดที่หนทางชีวิตมิใช่โรยด้วยดอกกุหลาบ ต้องระหกระเหินผจญภัยถูกจับกุมคุมขังทรมานพลัดพรากจากกัน แต่ในที่สุดเมื่อมรสุมร้ายพัดผ่านไป ก็ได้อยู่กินสร้างเนื้อสร้างตัวชนิดปากกัดตีนถีบ มีลูกมีหลานที่น่ารัก มีชีวิตความเป็นอยู่ สุขสบายตามอัตภาพ ไม่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ก็อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณธรรมในบั้นปลายชีวิตด้วยความภาคภูมิ เธอคือคุณนงลักษณ์ พึ่งประดิษฐ์[114] 

 

ลุงสัมผัสกับป้านงลักษณ์ในช่วงบั้นปลายชีวิต พ.ศ. 2564[115]

 

ภาพปกหนังสือ “80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์” กับเทือกเขาตะนาวศรี เขตงานที่สัมผัสร่วมต่อสู้อยู่ 12 ปี[116]

 

เรื่องราวในช่วงที่สัมผัสเข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท. ไม่ถูกพูดถึงมากนัก[117] อย่างไรก็ดี ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ ผู้ใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายนิยม หรือสหายโชติแห่งตะนาวศรี กรรมการกลางสำรองชุดที่ เล่าถึงชีวิตการต่อสู้ของสัมผัสในชนบทและเขตป่าเขาที่เขาประสบทราบด้วยตนเองไว้ในหนังสือชื่อ เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก ตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. 2565 ว่า เขตงานที่สัมผัสเข้าร่วมต่อสู้คือเขตงานภาคกลางตะวันตก หรือเขตจรยุทธ์ตะนาวศรีเหนือและใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี[118]

งานหลักแบ่งเป็นสองส่วนคือ (1) งานบุกเบิกในเมืองและที่ราบชายป่าเขา และ (2) งานในป่าเขาบนเทือกเขาตะนาวศรี บุคคลสำคัญที่เป็นผู้เบิกเบิกเขตงานนี้มี คน[119]คือ (1) ครูโค้ว สมาชิกพรรคสายจีน (ก่อน พ.ศ. 2500) (2) ส.พิชิต ณ สุโขทัย หรือจูโซ่วลิ้ม กรมการเมืองชุดที่ 2 (พ.ศ. 2495-2504)[120] (3) ส.อุทัย หรือผิน บัวอ่อนกรมการเมืองชุดที่ (พ.ศ. 2504-2510)[121] (4) ส.เปลี่ยน หรือสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ กรรมการกลางและกรมการเมืองสำรองชุดที่ (พ.ศ. 2504-2512) และ (5) ส.สอน หรือครูสง่า ทัพมงคล ผู้ปฏิบัติงานพรรคชุดแรก ๆ[122] 

ประสงค์ให้รายละเอียดว่า หลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ พรรคได้ส่งสหายพิชิต ณ สุโขทัย มาปลูกบ้านในพื้นที่ข้างองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (ปัจจุบันคือตลาดมงคล) เพื่อสานต่อและถ่ายโอนงานจากครูโค้ว สหายจีนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่มาก่อน ต่อมา ผิน บัวอ่อน และสัมผัส หรือสหายเปลี่ยน ได้มาพักที่นี่ด้วย โดยสหายเปลี่ยนฝึกใช้แรงงานและเครื่องมือเกษตรเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเดินทางไปขยายงานในอำเภอกุยบุรีตามแนวทางของผิน บัวอ่อน ซึ่งเน้นการขยายงานจากคนใกล้ตัว ผินจึงพาสหายเปลี่ยนไปฝากไว้กับพี่ชายของตน คุณปล่อย บัวอ่อน (สหายพรหม) ที่บ้านท่าข้าม ตำบลบ้านบน (ปัจจุบันคือตำบลกุยบุรี) อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยเหตุนี้ สหายเปลี่ยนจึงกลายเป็นผู้นำสำคัญในการสร้างงานภาคกลางตะวันตกรองจากผิน บัวอ่อน[123]

รูปแบบการขยายงานในเขตนี้ ประกอบด้วย (1) การขยายงานกับลูกหลานจีน ผ่านโรงเรียนจีนและการสอนภาษาจีนตามบ้าน และ (2) การฝังตัวในชนบท โดยสร้างคนของพรรคจากชาวนาชาวไร่ทั้งคนไทยและลูกครึ่งจีน สหายเปลี่ยนทำงานร่วมกับสหายสอน (ครูสง่า) และสหายนงหรือคุณแกระ (ภรรยาสหายเปลี่ยน) ในอำเภอกุยบุรี 

ครอบครัวแรกที่สหายเปลี่ยนไปสัมพันธ์ใกล้ชิดคือครอบครัวคุณชื้น สุขทน ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ถูกสังคมรังเกียจ สหายเปลี่ยนแสดงความไม่แบ่งแยกด้วยการร่วมแรงร่วมกินร่วมนอน กินข้าวโดยใช้มือเปิปจากจานเดียวกัน เพื่อสร้างความไว้วางใจ กระทั่งสามารถชักชวนคุณชื้นเข้าสู่กระบวนการศึกษาและจัดตั้งหน่วยการศึกษาชุดแรกได้ 6 คน

จากนั้น สหายเปลี่ยน สหายสอน สหายนงได้ประสานกันขยายงานต่อเนื่องไปยังกลุ่มสตรีและเยาวชนในหมู่บ้าน สามารถตั้งหน่วยศึกษาเพิ่มเติมได้อีกหลายหน่วย เมื่อหน่วย สยท. มีความตื่นตัวเพียงพอ สมาชิกก็ทยอยเดินทางไปศึกษาการเมืองและการทหารที่ประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมาสามารถขยายงานไปได้อีกหลายหมู่บ้านในอำเภอกุยบุรี เช่น บ้านหนองหมู บ้านหนองตาเสือ บ้านละออง บ้านหนองเตาปูน และบ้านหนองบัว เป็นต้น

การคลุกคลีกับชาวนาชาวไร่ผู้ยากไร้ที่จุดนี้ทำให้สหายเปลี่ยนและสหายสอนร่วมกันเขียนเป็นเอกสารสรุปบทเรียนสำหรับให้การศึกษาทั้งเขตงานได้ ชิ้นสำคัญคือ “งานชาวนาควรทำอย่างไร” ที่มีคำขวัญและแนวปฏิบัติ เช่น “4 ดี 5 ร่วม 7 จังหวะ”, “ปรับทุกข์ ผูกมิตร ปักหลัก ชักชวน” และการขยายงาน “จากจุดเป็นแนว จากแนวเป็นด้าน ขยายผลสะเทือนไปยังหมู่บ้านข้างเคียง” 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สมาชิกมีจิตใจเสียสละ ด้วยคำขวัญ “3 อย่าเพิ่ง” คือ “ถ้ายังไม่มีคนรัก อย่าเพิ่งมีคนรัก” “ถ้ามีคนรักแล้วยังไม่ได้แต่งงาน อย่าเพิ่งแต่งงาน” “ถ้าแต่งงานแล้วยังไม่มีลูก อย่าเพิ่งมีลูก” และ “ต่อสู้กับ 3 กลัว เอาชนะ 6 ห่วง” เพื่อกระตุ้นให้สหายกล้าคิดกล้าทำ แต่ยังต้องปฏิบัติตามกฎงานลับ “7 ห้าม 2 ต้อง” เช่น กล้าปลุกระดม แต่ต้องไม่ประมาท ต้องรักษากฎงานลับ คัดค้านลัทธิเสรี และประเมินผลงานตามเป้าที่วางไว้ เมื่องานในพื้นราบ “แดง” แล้ว ให้ถอยไปปักหลักในป่า ใช้เข็มมุ่ง “ป่านำบ้าน” หน่วยติดอาวุธที่อยู่ในป่า ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตามคำขวัญ “13 เตรียม 7 พร้อม” เป็นต้น[124]

 

กองกำลังชุดสุดท้ายของ พคท. ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งยังคงยืนหยัดสู้ไปถึงราว พ.ศ. 2539 (ภาพถ่ายวันที่ ธ.ค. 2529)[125]

 

ต่อมาช่วง พ.ศ. 2506 ถึง 2513 สหายเปลี่ยนได้เข้าเป็นหนึ่งในเจ็ดสหายนำที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกสร้างเขตงานต่อสู้ด้วยอาวุธบนเทือกเขาตะนาวศรีร่วมกับ ส.เวช หรือสหายมี (อนันต์ บุนนาค) สายครูจากนครปฐมส.สอน (สง่า ทัพมงคล) สายครูจากกรุงเทพฯส.ใจ หรือ ส.ขำ (สุเทพ เฮงสวัสดิ์) สายกรรมกรจากกรุงเทพฯส.จิต (ซ่วน อึ่งทอง) สายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากพัทลุงส.ชม (ซุ่น อึ่งทอง) และ ส.แดง หรือ ส.แสง (เสงี่ยม ลิ้มประยูร) สายกรรมกรจากชลบุรี[126] 

ขณะสร้างเขตงานพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ชายป่าเขา ต้องระมัดระวังอันตรายรอบด้าน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น พวกเขาเดินแนวทางชนชั้นตามคำเรียกร้องของพรรคอย่างเคร่งครัด[127] ยิงได้สัตว์ป่า หมู เก้ง กวาง จะเอาเนื้อไปขายเอาเงินไปซื้อปลาอกกะแล้ (ปลาสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่ ตัวบางเฉียบ มีแต่เกล็ดกับก้าง) บางคนต้องเสียสละชีวิต เช่น ส.แดง เป็นต้น[128]

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 ผิน บัวอ่อนถูกจับกุม สหายเปลี่ยนขึ้นรับผิดชอบงานในเขตพื้นราบของภาคกลางตะวันตกหรือเป็นเลขาธิการเขตแทนผิน หรือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในขอบเขตความรับผิดชอบดังกล่าว เขาย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยบางครั้งเปลี่ยนไปใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายลุง” หรือ “สหายบุญธรรม” และได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการรวมจังหวัดระหว่างปี พ.ศ. 2510 ถึงปลายปี พ.ศ. 2511 ทำงานทั้งในเขตพื้นราบ เขตป่าเขา และเขตต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ โดยติดต่อประสานงานกันเป็นประจำตามเวลาที่กำหนด 

อย่างไรก็ดี ระหว่างที่สหายเปลี่ยนเดินทางไปประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ขยายวง ซึ่งเปิดขึ้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดการกวาดล้างใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางตะวันตก สหายนงหรือคุณแกระ ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบติดต่องานระหว่างหน่วยนำของพื้นที่ภาคกลางตะวันตกกับงานในเขตป่าเขาและศูนย์กลางพรรคแทนสัมผัส ถูกจับกุมที่บ้านพักในเขตดาวคะนอง ส่งผลให้สัมผัสที่เพิ่งเดินทางกลับจากที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯขาดการติดต่อกับพรรคไประยะเวลาหนึ่ง[129] 

ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ หรือสหายนิยม หรือสหายโชติ ตะนาวศรีเล่าว่า ภายหลังการกวาดล้างใหญ่ภาคกลางไม่นาน เขาได้พบกับสัมผัสอีกครั้งที่บ้านพักหลังหนึ่งแถวรองเมือง ใกล้หัวลำโพง ที่สายงานในกรุงเทพฯซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประเสริฐ เอี้ยวฉายเช่าให้สหายนิยมอยู่เพื่อหาทางฟื้นงานการติดต่อกับเขตต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าเทือกเขาตะนาวศรี ขณะนั้นสัมผัสเพิ่งกลับจากประชุม และได้บอกแก่สหายนิยมว่า

ตอนนี้ภาระหน้าที่สำคัญของเราคือ หาทางติดต่อกับกองกำลังอาวุธบนเทือกเขาตะนาวศรีให้ได้เร็วที่สุด เพราะว่ามีสหายจำนวนหนึ่งที่จบการศึกษาการเมืองการทหารจากลาวใต้จะเดินทางกลับ เฉพาะหน้านี้หากหาที่รองรับในกรุงเทพฯไม่พอ ก็เอาไปฝากไว้เขตงานอื่นก่อนก็ได้ เมื่อติดต่อได้แล้วค่อยขอกลับมาในเขตงานของเรา[130]

จากนั้นสัมผัสเสี่ยงกลับไปที่บ้านกลางทุ่งแถววัดห้วยชินศรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยใช้เป็นสถานีติดต่อกับเขตป่าเขาทางเพชรบุรี โดยมีปืนพกเพียงกระบอกเดียวแต่ขอลุยไปติดต่อเอง เพราะรู้เส้นทางดี หลังจากนั้นสหายนิยมไม่ได้ข่าวสัมผัสอีก กระทั่งในเวลาต่อมาจึงทราบจากสายงานในกรุงเทพฯว่าสัมผัสถูกจับแล้ว[131]

นอกจากสัมผัส น้องชายของเขาคือ สมพงษ์ พึ่งประดิษฐ์ อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ไปศึกษาต่อในเยอรมนี และเคยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เข้าร่วมการต่อสู้การต่อสู้กับ พคท. ด้วย หลังวันเสียงปืนแตก พ.ศ. 2508 สมพงษ์ขึ้นเป็นสหายนำในเขตดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ร่วมกับวิรัช อังคถาวร และสุกิจ มีเสือ แต่ต่อมาก็ถูกยิงเสียชีวิตที่ชายป่า[132] 

ไม่แน่ชัดว่าทำไมสัมผัสจึงตัดสินใจยุติบทบาทการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับมวลชนในชนบทและป่าเขาที่ดำเนินมาถึง 12 ปี หลังถูกจับกุม สัมผัสเล่าไว้เพียงว่า

พอผมออกมาผมก็เริ่มเป็นทนายความใหม่อีกครั้ง ทำไปได้ไม่ทันพ้นปี 2513 ผมก็ถูกจับอีกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ เขาหาว่าผมไปปลุกระดมนักศึกษาให้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ พอโดนจับผมก็ไม่ให้การอะไร จะประหารชีวิตก็แล้วแต่คุณ

จะให้บอกว่าไปอยู่กับใคร ที่ไหนนั้นเป็นการทรยศต่อผู้มีพระคุณ ขายพรรค ขายพวก เห็นแก่ตัว เอาตัวรอด ไม่ใช่วิสัยที่คนอย่างผมจะทำ[133]

สัมผัสบอกทางการเพียงว่า

การเข้าร่วมการต่อสู้มาโดยตลอดไม่ใช่เพราะหลงผิดหรือมุ่งร้ายทำลายชาติ ผมเป็นบัณฑิต จะหลงผิดคิดร้ายต่อแผ่นดินได้อย่างไร หากแต่เป็นไปด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น

เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงอยู่ในป่าได้นานถึง 10 กว่าปี เขาตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า

เป็นนักต่อสู้ (นักปฏิวัติ) ไม่กลัวตายเสียอย่าง อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้[134]

หลังถูกคุมขังเกือบสองปี ทางการก็ต้องปล่อยตัวเขาโดยปราศจากข้อกล่าวหา เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติที่ว่าถ้าไม่มีหลักฐาน จะคุมขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 1 ปี เขาเล่าว่าทางการพยายามโน้มน้าวให้เขารับความช่วยเหลือ แต่เขาปฏิเสธ “ถ้ารัฐบาลจะช่วยก็ช่วยคนอื่น ไม่ต้องช่วยผมหรอก” เขาปรารถนาแค่เพียงอิสรภาพ

ขอให้ผมอยู่อย่างประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพ รักชาติ ประชาธิปไตย อย่ารบกวน ติดตามดังเช่นที่ผ่านมาก็แล้วกัน

ไม่ต้องช่วยเหลืออะไร ผมมีความรู้ มีพรรคพวกเพื่อนฝูง ผมเลี้ยงตัวเองได้ แล้วผมก็เป็นทนาย มีสำนักงานเป็นของตัวเอง เขาถึงได้เลิกยุ่งกับผม[135]

หลังจากได้รับอิสรภาพ สัมผัสต้องเลือกระหว่างการกลับไปใช้ชีวิตในป่าหรือเริ่มต้นใหม่ในเมือง เขาตัดสินใจอยู่ในเมือง เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต่างก็เป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้เช่นกัน แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก หลังห่างหายจากชีวิตในเมืองถึง 12 ปี แต่เขาไม่เคยท้อแท้ หัวใจยังคงเป็นไท และยังรักเพื่อนพ้องเหมือนเดิม ด้วยกำลังใจและการสนับสนุนจากญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง เขากลับมาทำงานในฐานะทนายความ อาชีพเดิมที่เคยใช้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับประชาชน[136]

เมื่อมีคนถามว่าทำไมเขาถึงหายไปนาน บางคนตอบแทนอย่างเรียบง่ายว่า “เพราะมันรักชาติมากไปหน่อยเลยอยู่ไม่ได้” ส่วนสัมผัสเองมักถูกถามว่าไม่เสียดายชีวิตที่ผ่านมาหรือ เมื่อเห็นเพื่อนฝูงต่างก้าวหน้าไปไกล เขาเพียงตอบอย่างสงบว่า

ผมขอแสดงความยินดีกับทุกคน แต่นั่นไม่ใช่จุดหมายหรือวิถีชีวิตของผม[137] 

 

เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 จากซ้าย แถวที่ 1 (1) ฝูงชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 13 ตุลาคม (2) ส่วนหนึ่งของขบวนประท้วงรัฐบาล 11-12 ตุลาคม (3) เฮลิคอปเตอร์ของรัฐบาลบินอยู่เหนือฝูงชน (4) ฝ่ายประชาชนขับรถขยะของเทศบาลกรุงเทพฯเข้าชนรถถัง (5) กองบัญชาการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แถวที่ 2 (1) การประจัญหน้าระหว่างประชาชนที่มีแต่ธงชาติกับทหารที่มีอาวุธ (2) การรอคอยของประชาชน ด้านโรงเรียนสตรีวิทยา (3) ประชาชนหมอบราบกับพื้นเมื่อตำรวจที่หลบอยู่ในกรมสรรพากรระดมยิงระเบิดควันแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน (4) ประชาชนอันเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อนเผากองสลากฯ (5) นักศึกษาและประชาชนกราบศพนายจีระ บุญมากในฐานะวีรชน[138]

 

เอกสารโต้ตอบเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ในหมู่ฝ่ายซ้ายไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[139]

 

สัมพันธภาพระหว่างสัมผัสกับ พคท. หลังจากที่เขาตัดสินใจออกจากป่ากลับมาใช้ชีวิตในเมืองในช่วงแรกไม่ราบรื่นนัก โดยเฉพาะหลังจากผิน บัวอ่อน อดีตสหายนำเขตภาคกลางตะวันตก ซึ่งเคยเป็นผู้นำงานและทำงานใกล้ชิดกับสัมผัส ได้รับการปล่อยตัวจากโทษประหารในปี 2512 ผินมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์การเมืองและทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสายพิราบ ซึ่งต่อมาเรียกตัวเองว่า “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” แม้ในระยะแรกผินจะหันไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเริ่มวิจารณ์ขบวนการนักศึกษาว่ามีแนวโน้มซ้ายจัดและสนับสนุนแนวทางชนบทล้อมเมืองของ พคท. รวมทั้งวิพากษ์การชี้นำการต่อสู้ของ พคท. อย่างต่อเนื่อง ภายใต้นามปากกา “อำนาจ ยุทธวิวัฒน์” โดยผลงานสำคัญของเขา ได้แก่ “วิจัยสังคม” “แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ!” “ปล้นทฤษฎี” “อธิบายศัพท์การเมือง” “วิพากษ์นายผี” และ “การต่อสู้สองแนวทาง” ฯลฯ 

ในช่วงเวลาเดียวกัน พคท. ที่รับอิทธิพลจากกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมของ พคจ. ก็ประเมินว่าผินเป็นพวกลัทธิแก้ รับใช้ชนชั้นปกครอง และสร้างความเสียหายแก่ขบวนการปฏิวัติ มีการผลิตเอกสารออกมาโจมตีตอบโต้ผินด้วย อาทิ อัศนี พลจันทร หรือนายผี ใช้นามปากกา “อุทิศ ประสานสภา” เขียนบทความ “โต้ลัทธิแก้ไทย” วิพากษ์และประณามผินอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนของ ประวุฒิ ศรีมันตะอนุช อาภาภิรมเสถียร จันทิมาธร ฯลฯ ร่วมด้วย การโต้แย้งใหญ่ครั้งนี้เปลี่ยนทิศทางความคิดของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นให้หันไปเป็นซ้ายแบบ พคท. มากขึ้น[140]

กรมการเมืองจึงมีมติขับผินออกจากพรรคในปี พ.ศ. 2519 ประวุฒิ ศรีมันตะ อดีตสมาชิก พคท. ที่เคยต่อต้านแนวคิดของผินให้สัมภาษณ์แก่รังสิต ทองประคำ ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมของผิน บัวอ่อน” เมื่อ พ.ศ. 2539 ว่า หลังการลงมตินี้ พรรคได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานะสมาชิกพรรค 3 คน ได้แก่ ผิน บัวอ่อนประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ดังนี้ “ผินกับประเสริฐ เป็นบุคคลที่ทรยศต่อพรรค จึงให้ขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากไปให้ข้อมูลข่าวสารกับทางการ ถ้าสมาชิกผู้ใดพบเห็นบุคคลทั้งสองให้ฆ่าได้ทันที ส่วนสัมผัสให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งบริหารในพรรค แต่ยังคงธำรงความเป็นสมาชิกไว้ (สัมผัสละทิ้งพรรคกลับไปใช้ชีวิตในเมือง)”[141]

เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีงานเขียนชิ้นใดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัมผัสกับ พคท. ในช่วงปี พ.ศ. 2519–2524 กระทั่งสารคดีการเมืองเรื่องพลิกแผ่นดิน ของประจวบ อัมพะเศวต ได้กล่าวถึงกรณีการจับกุมดำริห์ เรืองสุธรรม[142] หรือสหายดั่ง กรรมการกลางสมัยสมัชชา 2 และ และ ใน คณะกรรมการสาขาภาคเหนือ ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็น ใน กรมการเมืองสมัยสมัชชา 3[143] โดยอ้างอิงจากนิตยสารสู่อนาคต ที่รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2524 ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ในสังกัดพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) จับกุมดำริห์ เรืองสุธรรม ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) หลังการปะทะขนาดเล็ก พร้อมอาวุธและเงินสดหมื่นกว่าบาท แม้มีบัตรประชาชนและไม่มีสิ่งผิดปกติ แต่จากการพบ “ทหารพิทักษ์” คุ้มกันมากกว่าปกติ ทำให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเขาอาจเป็นแกนนำสำคัญของ พคท. ซึ่งดำริห์เปิดเผยตัวตนในเวลาต่อมา พร้อมแสดงความตั้งใจเจรจากับรัฐบาลไทยในนามตัวแทน พคท. เพื่อหารือแนวทางร่วมมือในการต่อต้านการรุกรานของเวียดนาม โดยระบุว่า นายสังข์ พัธโนทัย เป็นบุคคลที่ถติดต่อรัฐบาลได้ รวมถึงเขียนจดหมายถึง ‘สหาย ส.’ และน้องชายที่จังหวัดลำปางเพื่อสื่อสารเรื่องนี้[144]

นิตยสารสู่อนาคตได้ถ่ายสำเนาต้นฉบับไว้ด้วยทั้ง 2 ฉบับ โดยในจดหมายที่ดำริห์ส่งถึง สหาย ส. ระบุที่หัวจดหมายว่า เขาเขียนในที่คุมขังชั่วคราว กองบัญชาการ พตท. 42 สนามบินดอนนก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ความว่า 

คุณ ส. ที่รักและนับถือ ผมต้องขออภัยที่จู่ๆ ก็เขียนจดหมายถึงคุณโดยส่งจากสถานที่ ที่ได้ระบุในหัวจดหมาย และใคร่ขอรบกวนคุณเพื่อความช่วยเหลือบางประการ กล่าวคือ เมื่อราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 24 นี้ ผมเดินทางลงไปเยี่ยมเขตจังหวัดสุราษฎร์ฯ บางจุดเพื่อแลกเปลี่ยนและหารือกับฝ่ายนำของเขตเกี่ยวกับเรื่องที่คุณสังข์ พัธโนทัย เป็นฝ่ายริเริ่มเสนอต่อ พคท. และทางรัฐบาลได้มาพบปะเจรจาหาทางยุติการรบราฆ่าฟันกันระหว่างไทยด้วยกัน และร่วมมือกันในการต่อต้านการรุกรานของเวียดนาม คุณสังข์ ได้แจ้งให้ทราบในครั้งหลังสุดว่า เขาได้พบนายกฯ เปรมแล้ว ซึ่งท่านให้แจ้งว่า ยินดีที่จะมีการพบปะเจรจากัน (รายละเอียด ขอให้คุณหาเวลาไปเยี่ยมและสอบถามจากคุณสังข์ฯ เอง)

จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับฝ่ายนำเขตจังหวัด รวมทั้งติดต่อหารือไปทางศูนย์กลางด้วยนั้น ปรากฏว่าต่างก็มีความเห็นร่วมกันว่า ทางพรรคควรจะลองเจรจาดู โดยมีตัวแทนหารือคุณสังข์ก่อน และมีความเห็นให้ผมกลับมาดำเนินงานนี้ และถือโอกาสมารักษาสุขภาพที่กรุงเทพฯด้วย ผมจึงเดินทางออกจากเขตป่าเขาในวันที่ 18 เม.ย. โดยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แต่พอดีไปเจอกับด่านตรวจค้นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของ พตท. 42 จึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ชุดคุ้มครอง 151 ผมจึงเสนอขอพบตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกรุงเทพฯ และปฏิเสธการดำเนินการสอบสวนในท้องถิ่นระดับล่าง ในวันที่ 20 เขาได้ส่งผมไปที่ พตท. 42 ซึ่งผมได้เปิดเผยชื่อจริงและแจ้งความประสงค์ที่จะรายงานการติดต่อพบปะกันให้เขาทราบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ พตท. 42 (พ.ท. ไสว เลิศประเสริฐ) ได้กรุณาดำเนินเรื่องไปถึงชั้นบนตามลำดับชั้น เย็นวันที่ 21 ถูกย้ายไปที่คุมขังชั่วคราว (ที่อยู่ปัจจุบันนี้) บ่ายวันที่ 23 รองหัวหน้า พตท. 42 (พ.อ. พิเศษ กิติ รัตนฉายา) ได้เชิญไปพบคุยกัน และเห็นดีที่จะมีการพบปะเจรจา ระหว่าง พคท. กับรัฐบาลแต่ขอรายงานเสนอถึงชั้นบน เพื่อสอบถามก่อน ผมยังไม่แน่ใจว่า จะต้องรออีกสักกี่วัน รู้สึกร้อนใจมาก จึงใคร่ขอให้คุณสละเวลาไปเยี่ยมผมที่สุราษฎร์ฯ อีกครั้ง ยิ่งด่วนยิ่งดี เพื่อผมจะได้แจ้งความประสงค์ในการขอความร่วมมืออีกครั้งด้วยวาจา ขอขอบคุณอีกครั้ง[145]

ลงท้ายจดหมายว่า “ฝากความคิดถึงมายังคุณ แกะ ด้วยครับ รักนับถือ ดำริห์ เรืองสุธรรม ผู้ส่ง” การลงท้ายจดหมายว่า “ฝากความคิดถึงมายังคุณ แกะ” นี้เอง ที่ทำให้พอทราบได้ว่า สหาย ส. ผู้มีสำนักงานทนายความอยู่ในกรุงเทพฯ น่าจะเป็นสัมผัส เพราะภรรยาของสัมผัสใช้ชื่อจัดตั้งหนึ่งว่า “แกระ”[146] โดยเมื่อสู่อนาคตได้ลองติดต่อสอบถามไปยัง สหาย ส. ก็ได้คำตอบมาว่า 

ผมไม่เคยยุ่งเกี่ยวทางด้านนี้ (พคท.) มานานแล้วนะครับ ตั้งแต่เราปี 2512 มา ผมก็พยายามไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายกับทางนั้น ขณะเดียวกันทางด้านรัฐบาลผมก็ทำตัวอยู่ระหว่างกลาง ผมยืนยันครับว่า ผมไม่เข้าใครออกใครอีกแล้วสำหรับเรื่องภายในนั้น ผมไม่ยุ่งเกี่ยวจริง ... ผมงงมากครับ เพราะผมไม่เคยได้รับจดหมายจากคุณดำริห์เลย และไม่รู้ด้วยว่าคุณดำริห์เป็นใคร หน้าเป็นอย่างไร เพราะตอนอยู่ในนั้น เราใช้ชื่อจัดตั้งกันและใช้หลายชื่อ ... คุณสังข์เอง ผมรู้จักแต่ก็ไม่เคยติดต่อกันเลยเช่นกัน ... เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่แน่ครับ เพราะอยู่ดี ๆ จะเอาชื่อผมไปให้ติดต่ออะไร เดี๋ยวผมเดือดร้อนอีก ผมเองก็อยากรู้เรื่องนี้เหมือนกันว่าเรื่องเป็นอย่างไรและมาอย่างไร ...[147]

ทั้งนี้ สู่อนาคตได้รายงานความเห็นต่อการจับกุมครั้งนี้ไว้ว่า

เจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่ 4 เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องที่จะเป็นการถูกจับกุมโดยบังเอิญนั้นเป็นไปได้น้อย หนทางที่เป็นไปได้สองหนทางคือ ตั้งใจให้ถูกจับหรือไม่ก็เป็นการ ‘ขาย’ หรือ ‘หักหลัง’ กันเอง เหตุผลมีดังนี้ (1) โดยปกติฝ่ายนำของสุราษฎร์ธานี จะจัดให้บุคคลสำคัญระดับดำริห์ ออกทาง ช่องบ้านเหนือคลอง ไม่ได้ เพราะเป็นช่องอับ เปอร์เซ็นต์ของการตรวจค้นมีสูง ตัวดำริห์เองก็พูดภาษาใต้ไม่ได้ ย่อมต้องถูกสงสัยเวลาถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ (2) ถ้าจัดให้คนระดับดำริห์ เรืองสุธรรม ออกทางช่องนี้ ก็ไม่ควรให้เขาพกปืนเถื่อนลงมา (3) ไม่แต่เท่านั้น ดำริห์ ยังมีเงินติดตัวออกมาถึง หมื่นกว่าบาท ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นที่แน่นอน ดำริห์ ออกมาทางช่องนี้ ย่อมจะต้องถูกจับแน่นอน แต่ดำริห์จะรู้ปัญหานี้หรือไม่ ถ้ารู้ก็แปลว่าเขาตั้งใจให้ถูกจับ เพื่อจะหาหนทางเจรจากับรัฐบาล ถ้าไม่รู้ก็แปลว่าเขาถูก หักหลัง[148]

ซ้าย ดำริห์ เรืองสุธรรม ขวา วิรัช อังคถาวร[149]

 

นอกจากนี้ ประจวบชี้ว่า ดำริห์ เดินทางไปพบกับสิน เติมลิ่ม[150] กรรมการกลางพรรคสมัยสมัชชา และเลขาธิการเขตภาคใต้ในขณะนั้น[151] ที่สุราษฎร์ธานีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เหตุผลไม่ชัดเจน ในจดหมายของเขาที่มีไปถึง สหาย ส. อ้างว่า เพื่อหารือเรื่องการเจรจากับรัฐบาล แต่แหล่งข่าวของสู่อนาคตให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้อยู่ที่ดำริห์ เดินทางมาพบ สิน เติมลิ่ม ครั้งนี้ คงจะมีการพูดคุยและไปโจมตีศูนย์กลางพรรคโดยเฉพาะตัว “วิรัช อังคถาวร” ที่ขัดแย้งกันมาแต่กรณีสามจังหวัดวิพากษ์ศูนย์กลาง ให้ สิน เติมลิ่ม ฟังอย่างรุนแรง โดยไม่เฉลียวใจว่า สิน เป็น “คนของวิรัช” และ “เป็นไปได้ที่สินรายงานกลับไปยังศูนย์กลางพรรค การขายจึงเกิดขึ้น ศูนย์กลางอาจจะยืมมือเจ้าหน้าที่จัดการดำริห์แทนก็ได้ โดยสินเป็นผู้ร่วมมือ” ดังนั้น “เรื่องที่จะเป็นการถูกจับกุมโดยบังเอิญนั้น มีความเป็นไปได้น้อย หนทางที่มีความเป็นไปได้พอ ๆ กัน หนทางก็คือ ตั้งใจให้ถูกจับหรือไม่ก็เป็นการ ขาย หรือ หักหลัง[152]

ขณะที่ประจวบให้ความเห็นว่า

การถูกจับกุมของดำริห์ ครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะดำริห์ เป็นบุคคลสำคัญของ พคท. เป็นการจับกุมโดยที่ พคท. รู้เห็นออกมาให้จับ เพื่อจะมีการเจรจาสงบศึกกัน แต่ต่อจากนั้นก็ไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันของ พคท. กับรัฐบาล แต่อย่างใด แต่ถ้าถูกจับโดยบังเอิญ ก็นับว่าดำริห์ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการจับกุม[153]

อย่างไรก็ดี ข้อวิเคราะห์ของสู่อนาคตและประจวบไม่ได้ระบุว่าทำไมดำริห์จึงเลือกติดต่อกับ สหาย ส. หรือสัมผัสที่แสดงตนว่าออกจาก พคท. ตั้งแต่ปี 2512 หากมีข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมในอนาคตก็อาจช่วยขยายความเข้าใจในประเด็นนี้ได้

 

พุทธทศวรรษ 2510-2540: "ทนายประชาชน" กลับสู่การต่อสู้หน้าบัลลังก์ศาล

 

ซ้าย ขำ พงศ์หิรัญ เจ้าของสำนักงานพงศ์หิรัญทนายความ[154]
ขวา นามบัตรของสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ทนายความประจำสำนักงานพงศ์หิรัญทนายความ[155]

 

ปี พ.ศ. 2514 สัมผัสเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะทนายความที่สำนักงานพงศ์หิรัญทนายความ ของขำ พงศ์หิรัญ (26 สิงหาคม 2457-15 มิถุนายน 2515) รุ่นพี่ธรรมศาสตร์บัณฑิต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 เขาได้ออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง โดยรับว่าความให้ประชาชนที่ถูกฟ้องไล่ที่ ถูกโกง หรือถูกตำรวจซ้อมและรังแก

นอกจากนี้ สัมผัสยังทำหน้าที่ทนายความอาสาให้สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยมารุต บุนนาค (21 สิงหาคม 2467-23 กันยายน 2565) และร่วมต่อสู้กับเพื่อนทนายเพื่อผลักดันให้เกิด “สภาทนายความ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2528 

ความสำเร็จครั้งนี้นำไปสู่การปลดปล่อยวิชาชีพทนายจากการควบคุมของอธิบดีศาลอุทธรณ์ ให้มีเอกราชในการปกครองตนเองตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ซึ่งสัมผัสมองว่าเป็นก้าวสำคัญที่เพิ่มความเจริญก้าวหน้าและศักดิ์ศรีของอาชีพทนายความ[156]

 

หัวกระดาษแสดงชื่อสำนักงานทนายความของสัมผัส คือ “พึ่งประดิษฐ์ สำนักงานทนายความชั้น ๑”

 

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อดีตนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เล่าถึงร่องรอยชีวิตของสัมผัสในช่วงปี 2516-2520 ไว้ว่า “อาสัมผัส” มักไปมาหาสู่ที่คณะเด็กเล็ก หรือคณะสราญรมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้าง มีเรือนไม้ปลูกอยู่สามหลัง โดยเรือนแรกเป็นที่อยู่ของครูจิตและครูสุทิพย์ พึ่งประดิษฐ์ (พี่ชายและพี่สะใภ้ของสัมผัส) ซึ่งครูสุทิพย์เป็นผู้กำกับคณะพญาไทและรองผู้บังคับการโรงเรียนในขณะนั้น ส่วนเรือนที่สองเป็นเรือนนอนและห้องเพร็บของนักเรียน ด้านหลังมีบ้านไม้เล็ก ๆ ที่ “คุณน้าเจียม” ภรรยาของอาสัมผัสพักอยู่เพื่อดูแลการครัวของคณะสราญรมย์และคณะพญาไท อาสัมผัสเป็นที่รักของเด็ก ๆ ด้วยบุคลิกสุขุม ชวนคิด และชอบคุยเรื่องที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกโตเกินวัย วันอาทิตย์หากไม่มีผู้ปกครองมาเยี่ยม สัมผัสจะชวนเด็ก ๆ ขึ้นบ้าน สั่งหมูปิ้งหรือข้าวห่อจากร้านสวนจิตรมากินกันอย่างสนุกสนาน[157]

 

ภูมิภาพโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยพุทธทศวรรษ 2490 ภาพล่างซ้าย พระยาภะรตราชาผู้บังคับการให้พรนักเรียน พ.ศ. 2518[158]

           

หนึ่งในบทบาทที่สัมผัสภาคภูมิใจ คือการเป็นที่ปรึกษาฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้กับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามคำเชิญของอาจารย์สมยศ เชื้อไทย แห่งภาควิชากฎหมายมหาชน และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2527 ศูนย์นิติศาสตร์มีภารกิจสำคัญสองประการ คือ (1) ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และ (2) ฝึกอบรมนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม[159]

ศูนย์เน้นช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และคดีที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้มีอิทธิพล เช่น ในปี พ.ศ. 2530 ชาวไร่ชาวนาในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถูกนายทุนฉ้อโกงเงินและที่ดิน ทนายความท้องถิ่นไม่กล้ารับคดี ศูนย์นิติศาสตร์จึงเข้ามาช่วยเหลือจนศาลชั้นต้นตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดีและได้โฉนดคืน[160]

อีกกรณีเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เกี่ยวกับการทุจริตการเกณฑ์ทหาร ประชาชนในอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา คัดค้านการทุจริต แต่กลับถูกดำเนินคดีข้อหาขัดขืนการตรวจเลือกทหาร ศูนย์นิติศาสตร์แต่งตั้งทนายต่อสู้คดี และพิสูจน์ได้ว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการเกณฑ์ทหาร สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย[161] 

 

สัมผัสกับศูนย์นิติศาสตร์ จากซ้ายตามเข็มนาฬิกา (1) และ (6) โครงการอบรมเผยแพร่กฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2538 (2) สืบข้อเท็จจริงคดีเกาะยาว พ.ศ. 2532 (3) สอบข้อเท็จจริงที่เชียงราย พ.ศ. 2534 (4) ร่วมถอดบทเรียนกับผู้มีส่วนร่วมทำคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ พ.ศ. 2562 และ (5) งานเลี้ยงปีใหม่ พ.ศ. 2560 คนนั่งกลางภาพ (1) และ (5) คือสมยศ เชื้อไทย[162]

 

ทั้งนี้ เดิมศูนย์นิติศาสตร์เป็นกิจกรรมนักศึกษาหรือนิติศึกษา แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์เผยแพร่วิชานิติศาสตร์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเพ่งเล็ง ต่อมาได้รับการยอมรับให้เป็นหน่วยงานในสังกัดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ง่าย ต้องทำงานด้วยความเสียสละ เนื่องจากศูนย์ขาดงบประมาณและเจ้าหน้าที่ มีเพียงสัมผัสและอาจารย์ชุมพล จันทราทิพย์เป็นที่ปรึกษา โดยอาศัยนักศึกษาที่สละเวลามาช่วยงาน

สัมผัสมองว่างานนี้สำคัญต่อสังคมและช่วยเน้นให้นักศึกษามีอุดมการณ์ พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ศูนย์นิติศาสตร์กว่าสี่ทศวรรษ โดยดำรงตำแหน่งสำคัญในศูนย์หลายตำแหน่ง เช่น อดีตทนายความอาสา ประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายอดีตผู้อำนวยการศูนย์ (3 ตุลาคม 2537–31 สิงหาคม 2539), อดีตที่ปรึกษาสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย, อดีตประธานฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และอดีตอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[163] 

สัมผัสสะท้อนมุมมองว่า

สมัยก่อนเราพูดกันแต่เรื่องเสียสละ เดี๋ยวนี้พูดเรื่องเสียสละเป็นถูกหัวเราะเยาะเอา ผมไปสอนเด็กว่าความ คนสมัยก่อนมีสุภาษิต อดอยากเยี่ยงเสือ สงวนศักดิ์’ [หรือ “ถึงจนทนสู้กัด กินเกลือ อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ พวกพ้อง อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์ โซก็เสาะใส่ท้อง จับเนื้อกินเอง๚”-ผู้เขียน] เด็กมันบอกว่า คิดแบบลุงก็อดตาย นี่คือทัศนคติของคนยุคนี้ที่บริโภคนิยม นิยมวัตถุ ต้องมีรถขี่ ชีวิตไม่เรียบ ๆ ง่าย ๆ จะให้เขาทำเหมือนอย่างผมก็ทำไม่ได้[164] 

เขาเน้นย้ำว่า

เราหากินกับคนรวยได้ แต่อย่าทิ้งคนจน หากินกับคนรวย แต่ก็ช่วยคนจน แต่ส่วนใหญ่มันไม่เอาอย่างนั้น มันจะหากินกับคนรวยอย่างเดียว อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน อย่างที่เขาว่ารัฐบาลก็เอามาใช้ได้นะ ทนายก็เหมือนกัน อย่ามัวแต่อุ้มคนรวยไม่ช่วยคนจน คุณว่าความให้คนรวยได้ ล้าน 10 ล้าน กินไปกี่ปีล่ะ มาว่าความให้คนจนสักเรื่องได้ไหม[165] 

 

ภาพ ธรรมศาสตร์บัณฑิตและทนายความสิทธิมนุษยชนร่วมสมัย 
จากซ้าย ทองใบ ทองเปาด์ชาญ แก้วชูใส และประดับ มนูรัษฎา

 

นอกจากนี้ สัมผัสยังทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีปกครองและคดีการเมือง อาทิ คดีคอมมิวนิสต์และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยร่วมกับทนายความที่รักความเป็นธรรมต่อสู้คดี ทั้งที่คดีเหล่านี้อาจทำให้ทนายต้องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเล่นงานเสียเอง สมาชิกของคณะทนายนี้ อาทิ ฟัก ณ สงขลา (6 เมษายน 2452-14 ธันวาคม 2518)ชาญ แก้วชูใส (17 กรกฎาคม 2466-21 มกราคม 2544), ทองใบ ทองเปาด์ (12 เมษายน 2469–24 มกราคม 2554) ประดับ (รามสง) มนูรัษฎา (ตุลาคม 2470-21 เมษายน 2537) และวสันต์ พานิช (ธันวาคม 2491-12 มิถุนายน 2566) เป็นต้น กระทั่งมีผู้ขนานนามพวกเขาว่า “ทนายของประชาชน”[166] “ทนายสิทธิมนุษยชนรุ่นแรก”[167] และ “ทนายสามเสือ”[168]

 

จากซ้าย (116 ธันวาคม 2517 ทองใบเป็นทนายว่าความคดีหมิ่นฯ ตาม ม.112 แม้หน้าบัลลังก์ ประเดิมก็ยังโดนสวมกุญแจมือ (228 กุมภาพันธ์ 2518 วันพิพากษา ประชาชนมาฟังจนล้นห้อง แม้แต่อัยการก็ไม่มีที่นั่ง ทองใบบรรยายใต้ภาพไว้ว่า “ประชาชนห้อมล้อมคนของเขาเสมอ” (3) ประเดิมชนะคดี ประชาชนแห่ไปรับเนืองแน่นที่หน้าเรือนจำ[169]

 

จากคดีคอมมิวนิสต์แรกที่เขาว่าความให้ไขแสง สุกใส เมื่อปี พ.ศ. 2497 สัมผัสยังคงรับบทบาทสำคัญในการช่วยว่าความคดีคอมมิวนิสต์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเดิม ดำรงเจริญ อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงที่ผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากบทบาทของประเดิมในตำแหน่งประธานฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ของ “โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีและศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)การเป็นบรรณาธิการวารสารสัจธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และการมีบทบาทสำคัญในการดูแลสิ่งพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับ ทำให้เขาตกเป็นเป้าทางการเมือง จนถูกจับกุมและจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นฯ[170]

ในช่วงที่ไม่มีใครกล้าเป็นทนายให้ ทองใบ ทองเปาด์ ได้เข้ามารับหน้าที่ทนายหลัก และสัมผัสมาช่วย จนศาลพิพากษาให้ประเดิมพ้นผิด ความสัมพันธ์ระหว่างประเดิมและสัมผัสจึงแน่นแฟ้นขึ้น โดยสัมผัสมักแสดงความสนิทสนมและเข้าใจประเดิมในฐานะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ติดคุกจากข้อหาการเมืองเช่นเดียวกัน[171]

หนึ่งในคดีคอมมิวนิสต์รุ่นสุดท้ายที่สัมผัสร่วมทำ คือคดีที่คณะกรรมการพรรคชุดที่ 4 ถูกจับใหญ่ โดยครั้งแรกเป็นการจับกุมในช่วงวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2527 เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ สมัยที่ ในปี พ.ศ. 2526 มีมติให้หน่วยโฆษณาของศูนย์กลางออกมาเคลื่อนไหวในเมือง[172] พิรุณ ฉัตรวนิชกุล กรรมการกลางพรรคชุดที่ 4 เล่าว่าเขาพยายามทำงานแนวร่วม จึงเข้ามาในเมืองไปติดต่อกับอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และไปให้สัมภาษณ์กับชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษ ทำให้ถูกติดตาม กระทั่งคนในหน่วยโฆษณาทั้งหมดถูกจับรวมทั้งสิ้น 22 คน[173]

 

ภาพสีกันยายนปี 2532 คนชูมือขวาสี่คน จากซ้าย (1) วิโรจน์ บุญเพชร หรือสหายบ่เลย (2) ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ หรือสหายโชติ (3) พิรุณ ฉัตรวนิชกุล หรือสหายขวาน (4) นพ ประเสริฐสม หรือสหายคำ (5) คนสูงอายุใส่แว่น มาโนช เมธางกูร หรือลุงประโยชน์ (6) คนหนุ่มใส่แว่น สุวัฒน์ มุ่งเชิดชูธรรม (7) คนชูมือซ้าย สมพงศ์ วิจิตรไชยพันธุ์ และคนอุ้มแมวอาจเป็น สมบัติ ไชยรส[174]

 

คดีนี้ สัมผัสและทีมทนายกว่า 40 คน นำโดยทองใบ ทองเปาด์ชาญ แก้วชูใสประดับ มนูรัษฎาวสันต์ พานิชสุธรรม แสงประทุมสุนัย จุลพงศธรสุทัศน์ เงินหมื่นพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ มาช่วยต่อสู้คดี โดยไม่เพียงพึ่งพาแง่มุมทางกฎหมาย แต่ยังใช้แนวทางสิทธิมนุษยชนผ่านสื่อและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ผู้ต้องหาทยอยได้รับการประกันตัว กระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง คน สั่งฟ้อง 6 คน คือพิรุณและพวกที่ต้องต่อสู้คดีข้อหาร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต[175] 

ระหว่างต่อสู้คดี สหายนำของ พคท. อีกกลุ่มหนึ่ง ถูกกวาดจับในช่วงวันที่ 21-22 เมษายน 2530 ภายหลังไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ หรือสหายขาบ กรมการเมืองสมัยสมัชชา ได้จัดการประชุมที่บังกะโลบางแสน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2530 ต่อมามีผู้เรียกว่า “กรณีวันไหลบางแสน” โดยชุดแรกถูกจับที่ด่านบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คน เป็นกรมการเมืองถึง คน คือ ไวฑูรย์นพ ประเสริฐสม หรือสหายคำสิน เติมลิ่ม หรือสหายประวัติ และประจวบ เรืองรัตน์ หรือสหายสยาม ต่อมาถูกจับอีก 11 คน เป็นกรรมการกลาง คน คือ ประเสริฐ ท้าวธงไชย หรือสหายแสงหรือสหายทอง และหนก บุญโยดม หรือสหายเกษมหรือสหายณรงค์ การจับกุมครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมของ พคท. กรมการเมืองจาก เหลือเพียง คนซึ่งป่วยและอ่อนล้าด้วยความชรา ขณะที่กรรมการกลาง 28 คน จำนวนหนึ่งก็อยู่ในคุก อีกจำนวนหนึ่งก็อยู่ต่างประเทศ[176]

พิรุณเล่าบรรยากาศในระหว่างต่อสู้คดีของผู้ถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์เหล่านี้ว่า การมีสัมผัสและทีมทนายที่มีชื่อเสียงช่วยว่าความนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความยอมรับในสถานภาพของ “พิรุณกับพวก” แต่ยังทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับในฐานะบุคคลที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ที่ต้องเผชิญคดีการเมืองร้ายแรงเพียงเพราะมีความคิดเห็นต่างจากทางการ[177] 

ขณะที่ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ หรือสหายนิยม (โชติ ตะนาวศรี) เล่าว่า ด้วยการต่อสู้บนศาลนี้แหละที่ทำให้เขาได้กลับมาพบกับสัมผัสอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ติดต่อกันกว่าสิบปี ในฐานะ “ทนายความและลูกความ” เขาย้อนรำลึกเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า

การต่อสู้บนศาล เราถือเป็นเวทีโฆษณาสัจธรรมของพรรค ไม่ได้น่ากลัวอะไร คุณสัมผัสในฐานะทนายส่วนตัวของผม ตอนนี้ได้เปลี่ยนจาก สหายเปลี่ยน ที่นุ่งกางเกงขายาวเสื้อเชิร์ตธรรมดา หันมาสวมชุดเสื้อครุย มองดูท่าทางน่าเกรงขาม เวลาลุกขึ้นซักค้านฝ่ายโจทก์ เต็มไปด้วยความมั่นใจ ทนายประดับซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ ผม หันมาสะกิด พูดเสียงเบา ๆ นี่จัดตั้ง หมายความว่า คุณสัมผัสซึ่งเป็นจัดตั้งของผม ตอนนี้กำลังทำหน้าที่แก้ต่างให้ผม โดยการชี้ให้ศาลเห็นว่า ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ทุกคน ล้วนเป็นคนดี มีคุณธรรมและศีลธรรมทั้งสิ้น นี่คือคุณสัมผัสในปี พ.ศ. 2527-2532[178]

การต่อสู้คดีนี้ยืดเยื้อกว่า ปี ทีมทนายได้ผลักดันให้องค์การนิรโทษกรรมสากลและองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ต้องหา โดยให้สมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ตลอดจนพระประมุขและผู้นำของนานาประเทศให้ช่วยจับตาการดำเนินคดีนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับที่พรรคการเมืองหลายพรรคช่วยยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง กระทั่ง รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่สนับสนุนให้นิรโทษกรรมลงจากอำนาจ เปลี่ยนสู่สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงค่อยมีการพิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งพิรุณกับพวกได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ กันยายน พ.ศ. 2532[179]

นอกจากนี้ สัมผัสยังรับหน้าที่เป็นทนายในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหมิ่นประมาท พล.อ. สุจินดา คราประยูร ของ ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสุลักษณ์ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “ประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร” ในงาน “6 เดือน รสช. โศกนาฏกรรมสังคมไทย” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2534 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาร่วมฟังประมาณ 200 คน หลังการปาฐกถา กองทัพบกได้มีคำสั่งจาก พล.อ. สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น มอบอำนาจให้ พ.ท. สุขสันต์ สิงหเดช นายทหารพระธรรมนูญ ร้องทุกข์กล่าวโทษสุลักษณ์ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าปาฐกถาของสุลักษณ์มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการระบุว่าสถาบันฯ ควรเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือให้ทหารอ้างยึดอำนาจ นอกจากนี้ สุลักษณ์ยังวิจารณ์กองทัพบกว่าเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย พร้อมทั้งระบุว่าสุลักษณ์มักมีการบรรยายและเขียนบทความที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพบก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชนและกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมแก่สังคม[180]

จากการถูกกล่าวโทษ สุลักษ์ต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศชั่วคราว ก่อนจะกลับมามอบตัวเพื่อสู้คดีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2535 โดยมีทีมทนาย ได้แก่ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์วสันต์ พานิช และสมชาย หอมละออ ร่วมต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลากว่า 4 ปี กระทั่งศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ทำให้สุลักษณ์พ้นจากข้อกล่าวหา[181]

 

มติชนวันที่ กันยายน พ.ศ. 2534 พาดหัว “สุ แจ้งจับ ส.ศิวรักษ์ หาหมิ่นกษัตริย์ แถมหมิ่น ผบ.ทบ.”[182]

 

ภาพล่างขวา ส.ศิวรักษ์ฉายร่วมกับคณะทนายความ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์วสันต์ พานิช และสมชาย หอมละออ[183]

 

สัมผัสชี้ว่าคดีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเขาได้เขียนแสดงจุดยืนที่ทำให้เขาเข้าร่วมต่อสู้ในคดีนี้ไว้ในคำนำหนังสือ “พิพากษาสังคมไทย พิพากษา ส.ศิวรักษ์” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ว่า “ในสถานการณ์ที่ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เราไม่อาจมีเพียงจิตใจที่รักชาติ รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรมอยู่อย่างเดียว หากยังต้องอาศัยความกล้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความเสียสละ ... ส.ศิวรักษ์ เป็นหนึ่งในผู้หาญกล้าที่ออกมาต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการ รสช. อย่างไม่พรั่นพรึงในฐานะปัญญาชนสยาม นักคิด นักเขียน และนักปาฐกถา ... [ดังนั้นเมื่อคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนถูกนำขึ้นสู่ศาล ทนายความไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนจำเลยเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นทนายของประชาชน ผู้พิทักษ์สิทธิ์และเสรีภาพของสังคม ... ผมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของ ส.ศิวรักษ์ และเห็นว่าการต่อสู้ในคดีนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องตัวเขา แต่เพื่อปกป้องหลักการประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคมไทย ... การต่อสู้ของ ส.ศิวรักษ์ คือการต่อสู้ของประชาชน ชัยชนะของ ส.ศิวรักษ์ คือชัยชนะของประชาชนและชัยชนะของธรรม”[184]

 

นามบัตรของลิ่วละล่อง บุนนาคฝากข้อความให้สัมผัสช่วยแถลงต่อศาลอุทธรณ์

 

กว่าสี่ทศวรรษในบทบาททนายความอาชีพ งานหลักของสัมผัสคือการเป็นทนายอาสาช่วยเหลือประชาชน เขาไม่เคยว่าความเพื่อเงิน นอกจากที่จำเป็นเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ สัมผัสยังเคยเป็นกรรมการมารยาททนายความ, อุปนายกกรรมการบริหารสภาทนายความ, กรรมการเนติบัณฑิตยสภา และที่ปรึกษาศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในแวดวงนักกฎหมายทนายความหลายสถาบันที่ต่อสู้เพื่อประชาชนและความเป็นธรรมมาโดยตลอด ผู้คนในสังคมจึงจดจำและยอมรับสัมผัสในฐานะ “ทนายของประชาชน” กระทั่งสภาทนายความได้มอบโล่เกียรติคุณให้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพทนายความด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละอุทิศตนเพื่อศักดิ์ศรีของวิชาชีพทนายความตลอดมาในวันทนายความปี 2542 

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2543 สภาทนายความได้เสนอชื่อสัมผัสเป็น 1 ใน 3 ผู้สมัครตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด แม้สัมผัสจะเป็นเพียงผู้สมัครคนเดียวที่ผ่านเข้าสู่รอบ 23 คนสุดท้าย แต่กลับได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนน้อยที่สุด คณะกรรมการสรรหาอ้างเหตุผลสองด้าน คือ เขาเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และไม่มี “เกียรติประวัติ” ในสายตาของกรรมการ อย่างไรก็ตาม สัมผัสตอบโต้ว่า “เขาว่าผมไม่มีเกียรติประวัติอะไร มันจะมีอะไรได้ล่ะ ก็ผมไม่ใช่ข้าราชการนี่ เกียรติของคนมันไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่ ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่มันอยู่ที่คุณธรรม ทนายความอย่างผมก็มีเกียรติได้ นักหนังสือพิมพ์อย่างคุณมีเกียรติได้ ประชาชนธรรมดาทุกคนก็มีเกียรติได้เหมือนกัน ... วิถีทางการต่อสู้มันไม่ใช่ว่าจะได้มาด้วยความราบรื่น ได้มาด้วยการไหว้วอนหรือความเมตตากรุณา เหมือนหยาดฝนที่หลั่งมาให้ชื่นใจ ... การได้มาซึ่งศาลปกครองมันเป็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ... การต่อสู้ของประชาชนมันก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ก็เหมือนกินข้าวนั่นแหละ กินคำเดียวไม่อิ่มหรอก ต้องกินหลาย ๆ คำ”[185] 

 

ไทยโพสต์ แทบลอยด์ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 พาดหัว “สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ทนายประชาชน ผู้ถูกสภาสูงปฏิเสธ”

 

แม้สภาสูงปฏิเสธ สัมผัสก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้หน้าบัลลังก์ศาลจนกระทั่งอายุ 70 กว่าปีจึงได้วางมือจากการว่าความ เนื่องด้วยวัยวุฒิที่แปรเปลี่ยนไปตามวันที่ไม่เหมาะสมกับอาชีพว่าความ เขาหันมาเป็นที่ปรึกษาและอบรมคนรุ่นใหม่ จากประสบการณ์ของทนายประชาชน เพื่อสร้างเสริมคุณธรรมช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

พุทธทศวรรษ 2520-2560: ผู้รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายไทย ปรีดี-พคท.

 

หลังจากสัมผัสออกจากคุกรอบสอง เขาไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อความเป็นธรรมในศาล แต่ยังมุ่งมั่นแย่งยึดพื้นที่ทางความคิดจิตใจของคนในสังคม ผ่านหลายบทบาท อาทิ บทบาทกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ[186] อย่างไรก็ดี บทบาทหลักที่สัมผัสให้ความสำคัญอย่างมากคือ การฟื้นฟูและผลิตซ้ำกิจกรรมและประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายไทย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

 

สัมผัสกับภาพปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การที่เขาเคารพรัก[187]

 

ในปี พ.ศ. 2527 สัมผัสมีบทบาทผลักดันการจัดตั้ง “ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์” ซึ่งรวบรวมศิษย์เก่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ทั้ง 8 รุ่น ที่เข้าเรียนระหว่างปี พ.ศ. 2481-2490 ก่อนโรงเรียนถูกยุบเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีสำเร็จการศึกษา 5,898 คน ชมรมนี้เริ่มจากแนวคิดของสุภัทร สุคนธวัติ รุ่นที่ 1 ที่ได้เยี่ยมคารวะปรีดีในปารีส และได้เล่าถึงความพยายามของศิษย์เก่า ต.ม.ธ.ก. ที่จัด “งานเตรียมปริญญารำลึก” ทุกปี ตั้งแต่ปี 2510 ปรีดีจึงแนะนำให้รวมทั้ง 8 รุ่นให้แข็งแกร่งเหมือนแขนงไผ่ที่มัดรวมกัน สุภัทรจึงเชิญประธานแต่ละรุ่นมาหารือและสร้าง “ธรรมนูญชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ พุทธศักราช 2527” ขึ้น โดย ชาญ แก้วชูใสสำราญ ชื่นเจริญสุข และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เป็นผู้รับผิดชอบปรับปรุงร่าง[188]

ในช่วงแรก ชมรมมุ่งผลักดันการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของปรีดี หลังปรีดีถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2526 เพื่อแสดงกตเวที โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยที่นงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี จัดสร้างอนุสาวรีย์ผู้ประศาสน์การปรีดี และกำหนดวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันปรีดี พนมยงค์” เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่าน โดยชูคำขวัญว่า “รำลึกเกียรติคุณ หนุนกตเวที สามัคคีชาวธรรมศาสตร์ เพื่อชาติและราษฎรไทย” กิจกรรมเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2528 โดยสัมผัสได้เข้าเป็นคณะกรรมการจัดงานและได้รับแต่งตั้งเป็นประธานรับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก “วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2528”[189]

 

บน จดหมายจากพูนศุขถึงสัมผัส ล่าง ปกหนังสือที่ระลึกปรีดีสาร ที่สัมผัสอาสาจัดทำ ออกทุกวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปี[190]

 

สัมผัสร่วมงาน “วันปรีดี พนมยงค์” ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปี[191]

 

สัมผัสน่าจะเขียนจดหมายถึงพูนศุข พนมยงค์ เพื่อแจ้งข่าวและขอรับต้นฉบับงานเขียนของปรีดีมาประกอบการจัดทำหนังสือที่ระลึก พูนศุขจึงแนบต้นฉบับ เรื่อง “คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อ ธรรมศาสตร์บัณฑิต นักสันติภาพ ที่ได้มาเยี่ยม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514” กลับมาพร้อมกับจดหมายถึงสัมผัส ลงวันที่ 5 เมษายน 2528 ความว่า “คุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ที่รัก มีความยินดีที่ได้ทราบว่าในวันที่ 11 พฤษภาคมศกนี้ ต.ม.ธ.ก. รุ่น ถึง รุ่น จะจัดงานระลึกถึงท่านผู้ประศาสน์การร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก เพื่อแจกหรือจำหน่ายในงานนี้ด้วย ... ขอสรรเสริญท่านทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้ประศาสต์การฯ ขอให้ท่านทั้งหลายประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลและได้รับความสำเร็จในการจัดงานระลึกครั้งนี้สมประสงค์ทุกประการ”[192] 

 

หนังสือ คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ ที่ระลึกงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์[193]

 

นับแต่นั้น สัมผัสก็อุทิศตนจัดทำหนังสือระลึกวันปรีดีต่อเนื่องนานกว่า 15 ปี[194] ก่อนส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2550 นอกจากนี้ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ สัมผัสก็ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 145/2541 อีกทั้งเขายังดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย[195]

 

ภาพซ้าย สัมผัสกับธง ภาพขวา จากซ้าย สมควร พิชัยกุลธง แจ่มศรีสัมผัส พึ่งประดิษฐ์[196]

 

ขณะเดียวกัน ในงานรื้อฟื้นกิจกรรม พคท. ประสงค์ หรือสหายนิยมเล่าว่า “ภายหลังลุงธง แจ่มศรี [เลขาธิการ พคท. คนที่ 4-ผู้เขียนออกจากป่าในปี พ.ศ. 2537 เก็บตัวอยู่บ้านมวลชน จนกระทั่งมีการยกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์’ [ยกเลิกปี พ.ศ. 2540-ผู้เขียน] ลุงธงก็มีความพยายามจะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ ชุดที่ 4’ แต่เรียกไม่สำเร็จ ต่อมาจึงได้ตั้งเป็น คณะทำงานฯ ขึ้นมา เพื่อไปฟื้นงานจัดตั้งตามภาคต่าง ๆ ซึ่งใน คณะทำงานนี้ นอกจากสหายบางคนใน คณะกรรมการกลางพรรคฯ ชุดที่ 4’ แล้ว ยังมีลุงสัมผัส ที่เป็นอดีตกรรมการกลางพรรคฯ ชุดที่ รวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่า แม้คุณสัมผัสจะมีฐานะสูงทางสังคมในเวลานั้น มีคนนับหน้าถือตาเป็นจำนวนมาก ส่วนพรรคฯ ก็อยู่ในช่วงกระแสต่ำ เกิดวิกฤติศรัทธาไปทั่ว แต่คุณสัมผัสก็พร้อมจะทุ่มเทให้กับงานของพรรคฯ กลับมาลุยงานเพื่อฟื้นการการจัดตั้งของพรรคฯ ซึ่งมีความยากลำบากมาก ช่วงแรก ๆ การประชุมทุกครั้ง คุณสัมผัสจะใช้บ้านของตัวเองเป็นที่ประชุม โดย คุณสัมผัส รับหน้าที่ไปฟื้นการจัดตั้งทางภาคเหนือ คุณขาบ ไปฟื้นงานจัดตั้งทางภาคใต้ ส่วน คุณวินัย ไปฟื้นงานจัดตั้งทางภาคอีสาน

“การประชุมลักษณะนี้ดำเนินไปเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหว จัดกิจกรรม เมืองไทยรายสัปดาห์ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยการนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล ภายในองค์การนำก็เกิดมีความคิดเห็นที่แตกต่างกระทั่งแตกแยกกัน ต่อปัญหาสถานการณ์ของบ้านเมือง ที่แท้ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรูกันแน่ความแตกแยกนี้นำไปสู่การประกาศถ้อยแถลงยุติบทบาทของ องค์การนำพรรคฯ ชุดที่ 4’ โดยลุงธง แจ่มศรี เลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการเปิดประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคฯ ทั่วประเทศครั้งใหม่ เพื่อกำเนิดองค์การนำชุดใหม่ต่อไป เพราะปัญหาแนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เป็นเรื่องใหญ่ ต้องแก้กันในสมัชชาฯ ไม่ใช่แก้กันในหมู่สหายภายในองค์การนำฯ เพียงไม่กี่คน 

“การกระทำของลุงธงดังกล่าว คุณสัมผัสได้สนับสนุนและยืนเคียงข้างโดยตลอด ทำการต่อสู้กับความคิด ทฤษฎีที่ผิดภายในพรรคฯ อย่างไม่ประนีประนอม จนกระทั่งลุงธงได้ส่งไม้ต่อให้สหายผู้ปฏิบัติงานที่เอาการเอางานจนประสบความสำเร็จ”[197] 

 

สัมผัสเป็นประธานในพิธีรดน้ำศพ และร่วมทอดผ้ามหาบังสุกุล ในงานฌาปนกิจ ธง แจ่มศรี เลขาธิการ พคท. คนที่สี่เมื่อวันที่ 10 และ 14 กรกฎาคม 2562 ณ วัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ภาพล่างซ้ายคือสหายขาบ[198]

 

คมชัดลึกนำเสนอข่าวกรณีความขัดแย้งนี้ไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2553 คณะกรรมการกลางฯฝ่ายเสียงข้างมาก นำโดยไวฑูรย์ สินธุวณิชย์ หรือสหายขาบ และวินัย เพิ่มพูนทรัพย์ หรือสหายชิต ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ พธม. ได้เข้ายึดพรรคฯ พร้อมตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่ และตั้ง “สหายวิชัย ชูธรรม” เป็นเลขาธิการพรรคฯ คนใหม่ ขณะที่ฝั่งธง แจ่มศรีปฏิเสธและคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกเผด็จการขวาจัดอำนาจนิยม และพยายามโน้มน้าวสหายให้กลับมาอยู่บนหนทางที่ถูกต้องของลัทธิมาร์กซ์[199] 

บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ลูกศิษย์และมิตรต่างวัยของสัมผัส ซึ่งเป็นผู้รับส่งสัมผัสไปร่วมงานศพธง แจ่มศรีเล่าว่า “ในวันเผาศพช่วงวางดอกไม้จันทน์ ลุง [สัมผัส] นั่งเก้าอี้ ส่วนผมยืนอยู่ข้าง ๆ ชายสูงอายุคนหนึ่งเดินลงมาจากเมรุ … แล้วก็หยุดยืนมองหน้าลุง แต่ลุงนั่งนิ่งเฉยไม่ได้ทักทายอะไร สายตามองไปข้างหน้าเหมือนไม่เห็นชายคนนั้นเลย ชายคนนั้นยืนมองหน้าลุงนิ่ง ๆ อยู่พักนึงก็เดินไป ผมก็เลยเข้าไปถามลุงว่าเขาเป็นใคร ลุงตอบมาสั้น ๆ ว่า ลุงขาบ [ไวฑูรย์แล้วก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ”[200]

 

 

นอกจากเข้าร่วมกิจกรรม สัมผัสยังมีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของ พคท. ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2537 “สกล” อดีตสมาชิก พคท. และคณะได้ค้นพบหีบศพของ รวม วงษ์พันธ์ อดีตกรรมการกลางและกรมการเมือง พคท. สมัยสมัชชาสาม ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ การค้นพบนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างที่วัดมกุฏกษัตริยารามรื้อสุสานเพื่อล้างป่าช้า จึงย้ายศพมาเก็บรวมไว้ในโกดัง เพื่อประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์ให้ญาติมาติดต่อขอรับ จากนั้นจะเผาศพที่เหลือรวมกันแบบผีไร้ญาติ คณะผู้ค้นพบจึงหาทางติดต่อญาติของรวม กระทั่งพบว่า “คุณป้าประดิษฐ์ สุทธิจิตร” ภรรยาของรวมยังมีชีวิตอยู่ และเป็นผู้เก็บศพสามีไว้ “เพื่อรอว่าสักวันหนึ่งสัจจะจะปรากฏ” โดยเธอแวะเวียนไปเยี่ยมสามีเสมอ กระทั่งศพถูกย้ายออกไป

สัมผัสเป็นผู้เสนอให้มีการจัดงานศพวีรชนประชาธิปไตยอย่างสมเกียรติ สมศักดิ์ศรีแด่ผู้พลีชีพเพื่อคัดค้านเผด็จการ และเป็นการแสดงกตเวทีต่อนักรบประชาธิปไตยอีกหลายท่าน ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏนาม อาทิ สมพงษ์ พึ่งประดิษฐ์สนอง มงคลจิตร ภูมิศักดิ์เอกทัย ทิพย์ศิริโยธาชูวงษ์ โอวาทวงษ์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาศอันดีให้คนรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักสืบสานสายสัมพันธ์กันต่อไป ในคราแรก “คุณป้าประดิษฐ์” ตั้งใจจะเผาศพรวมวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการจากไป แต่กลัวญาติมิตรไม่สะดวกเพราะตรงกับวันจันทร์ จึงเลื่อนเป็นวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนแทน โดยในพิธีฌาปนกิจครั้งนี้ได้มีการจัดทำหนังสือที่ระลึกชื่อว่า “รวม วงษ์พันธ์ วีรบุรุษ นักรบของประชาชน” แจกจ่ายด้วย นับเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและชีวิตส่วนตัวนอกเหนือบทบาทนักปฏิวัติของรวมออกสู่สาธารณะ หลังเขาถูกประหาร[201] 

นอกจากนี้ สัมผัสยังได้เขียนบทความ “สหายอัศนี วีรชนผู้กล้าหาญ” ในปี พ.ศ. 2540 เพื่อรวมพิมพ์ในหนังสือชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530) ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่” ในวาระที่ ป้าลม วิมล พลจันทร และคณะไปรับกระดูกของนายผี อัศนี พลจันทรกลับประเทศไทยผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 นับเป็นส่วนหนึ่งของการยกย่องและรำลึกถึงวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้กล้าหาญในอดีต[202]

 

คณะรับกระดูกของนายผี ประกอบด้วย ป้าลม วิมล พลจันทรแสวง รัตนมงคลมาศยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว), สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) และสมชาย ศรีสุนทรโวหาร ฯลฯ[203]

 

บทความ “สหายอัศนี วีรชนผู้กล้าหาญ” โดย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์[204]

 

พุทธทศวรรษ 2540-2560: มิตรอาวุโสของสามัญชน

 

ในช่วงปัจฉิมวัย คณะกรรมการจัดงานโครงการ 72 ปี 24 มิถุนายน 2475 ได้มอบรางวัลผู้อภิวัฒน์ให้แก่สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2547 คำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งความว่า “ในวันที่ 24 มิถุนายน 2547 นี้ เป็นวาระที่ครบรอบ 72 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ คณะกรรมการจัดงานโครงการ 72 ปี 24 มิถุนายน 2475 จึงมีมติเอกฉันท์ในการมอบรางวัล ผู้อภิวัฒน์ เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความก้าวหน้าอย่างยิ่งให้กับนายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุคคลอาวุโสที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม เป็นผู้พิทักษ์รักษาสัจจะในทางประวัติศาสตร์อย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ท้าทายอำนาจเผด็จการและความอยุติธรรมในสังคมตลอดมา ... เพื่อให้สาธารณชนรับรู้และสืบทอดแบบอย่างจริยวัตรอันงดงามนี้สืบไป”[205]

 

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลผู้อภิวัฒน์ ในโอกาศครบรอบ 72 ปี 24 มิถุนายน 2475 มอบแด่สัมผัส พึ่งประดิษฐ์[206]

 

สัมผัสเยี่ยมคารวะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้ร่วมชะตากรรมกบฏสันติภาพที่งานวันเกิดท่านผู้หญิง[207]

 

สัมผัสกล่าวความรู้สึกต่อรางวัลนี้ไว้ว่า

ตลอดชีวิตที่ทำงานมา ผมทำด้วยใจรัก ทำด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง แม้จะมีใครมองต่างไปจากเรา ผมก็ไม่ได้สนใจ ผมยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผมไม่เคยคิดถึงลาภยศสักการะ หรือสรรเสริญใด ๆ ... แต่เมื่อได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัลนี้ ผมก็ต้องขอบพระคุณโดยเฉพาะในใบประกาศเกียรติคุณเป็นลายเซ็นของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งท่านรู้จักผมตั้งแต่สมัยผมเป็นนักศึกษาติดคุกอยู่ร่วมกับคุณปาล พนมยงค์ ลูกชายท่าน ... การได้รับรางวัล ‘ผู้อภิวัฒน์ดีเด่น’ ซึ่งเสมือนการเดินตามรอยทางและเจตนารมณ์ในการอุทิศชีวิตทำงานเพื่อชาติ - เพื่อประชาชนให้วัฒนา - ผาสุก ปลอดพ้นจากการกดขี่ - ข่มเหง ทุกรูปแบบที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้บุกเบิกสร้างแบบอย่างที่งดงามและทรงคุณค่าไว้แล้ว ผมจึงรู้สึกยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติแห่งชีวิตที่จะตอกย้ำให้ผมยิ่งต้องทำงาน – ยิ่งต้องทุ่มเทให้หนักมากขึ้นเพื่อความไพบูลย์ผาสุขของมวลพี่น้องประชาชนไทยของเราต่อไป[208]

วัตรปฏิบัติของสัมผัส คือการเป็นมิตรอาวุโสที่สร้างสายใยเชื่อมร้อยสังคมระหว่างนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่างรุ่น เขาเดินทางมาร่วมงานวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 11 พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และงานรำลึกเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และงานรำลึกวีรชนปฏิวัติในเขตงานของ พคท. อย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นเพียงช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตที่สุขภาพไม่เอื้ออำนวย

 

ที่สวนโมกขพลาราม ภาพถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2547-2549[209]

 

ซ้าย ที่งาน “รำลึกวีรชนปฏิวัติ-อาลัยสหายผู้เสียสละ” เขตงานภาคกลางตะวันตก “ตะนาวศรี” ณ อนุสรณ์สถานวีรชนปฏิวัติ เขตงานภาคกลางตะวันตก วัดยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2549-2550 
ขวา ภาพงานเดียวกัน เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2558[210]

 

สัมผัสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่งานรำลึก 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อปี 2559 โดยบอกทนายรุ่นน้องว่า “อย่าไปหวังความยุติธรรมจากเผด็จการ”[211]

 

ข้อเขียนชิ้นท้าย ๆ ของสัมผัส ปรากฏในรูปแบบคำไว้อาลัยถึง ธง แจ่มศรี เลขาธิการ พคท. คนที่ 4 ซึ่งถึงแก่กรรมต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในคำไว้อาลัยนี้ เขาได้ยกย่องมิตรร่วมรบผู้เสียสละไว้ว่า “ด้วยจิตใจที่เสียสละ หนักแน่น มั่นคง ต่อภารกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช ประชาธิปไตย และความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนที่จักได้มานั้น ก็ด้วยการต่อสู้ นี่คือจิตวิญญาณของสหายธง แจ่มศรี ที่ให้ไว้ในฐานะเลขาธิการใหญ่ พคท. ในเขตฐานที่มั่น ภายใต้สถานการณ์เรียกร้อง สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ ด้วยจิตวิญญาณการต่อสู้ภายใต้การนำของสหายธง แจ่มศรี ได้แผ่ขยายไปทุกทิศทั่วไทย ทั้งกรรมกร ชาวไร่ ชาวนา นักศึกษา และประชาชน ภารกิจนี้มิอาจปฏิเสธได้ว่าเป็นคุณูปการของสหายธง แจ่มศรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นภารกิจที่สหายธง แจ่มศรี ได้มอบให้ไว้แก่พวกเรา เพื่อที่จักได้สืบทอดต่อไป ลงท้ายว่า “ด้วยจิตคารวะ” จาก “สหายน้อย พลประชา สัมผัส พึ่งประดิษฐ์”[212]

 

สัมผัสที่ห้องศาลจำลองมารุต บุนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

กระทั่งวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สัมผัสได้จากไปอย่างสงบ สิริรวมอายุ 97 ปี เดือน กําหนดการสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจ ณ ศาลา 2 วัดน้อยนางหงษ์ (บางยี่ขัน) กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

 

งานสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจศพสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม พ.ศ. 2567[213]

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่อาจจะมีวิถีและความคิดทางการเมืองแตกต่างจากสัมผัสได้เขียนบทกวีมาร่วมคารวาลัย ความว่า

 

                               สัม ผัส ยืนหยัดทั้ง             ชีวา

                               ผัส สัจธรรมพลา               บ่มิร้าง

                               พึ่ง พิสุทธิ์ยุติธรรมา          สุจริต

                               ประดิษฐ์ นิมิตรสู้สร้าง      สืบสร้างสมัยเสมอฯ

          


 

[1] เนื้อความในส่วนนี้ทั้งหมดสรุปและนำมาจาก คณะลูกศิษย์ศูนย์นิติศาสตร์, 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (กรุงเทพฯสายธาร, 2550) และ “สัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” ใน ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490)บรรณาธิการโดย วารุณี โอสถารมย์ (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554) เป็นหลัก.

[2] Rungmanee Mekhasobhon, #เพื่อนพ่อ,” เฟซบุ๊ก, 23 พฤศจิกายน 2564, https://shorturl.asia/7NtFP.

[3] จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 20,. 19 (มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559): 2, 42, 62, 87, 96.

[4] กำแพง-กาลเวลา 80 ปี ธรรมศาสตร์ (2477-2557) (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557).

[5] สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 (กรุงเทพฯสำนักงานอำนวยการหนังสือรัฐสภาสาร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2503).

[6] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 37.

[7] Bruce Cumings, The Korean War: A History (New York: Modern Library, 2010) ; Jon Guttman, Looking at the Korean War, 71 Years On, Historynet, May 12, 2020, https://shorturl.asia/md9bk.

[8] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 39สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, “ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,ปรีดีสาร ฉบับวันปรีดี (11 พฤษภาคม 2545ใน วันธรรมศาสตร์สามัคคี พฤศจิกายน 2494 วันที่ชาวธรรมศาสตร์ยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหาร (ม.ป.พ., [2550?]สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล“ปรีดี พนมยงค์จอมพล ป.กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500,” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544), 31-32.

[9] กำแพง-กาลเวลา 80 ปี ธรรมศาสตร์ (2477-2557), 15 ; ชาญวิทย์ เกษตรศิริส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) กับวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง โดยรัฐตำรวจของคณะรัฐประหาร,ศิลปวัฒนธรรม, 4 มีนาคม 2567, https://shorturl.asia/1uLCR ; สูจิบัตรนิทรรศการ 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ (2443-2543) (ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543) ; กษิดิศ อนันทนาธร“พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี,” the101world, 2 มีนาคม 2564, https://shorturl.asia/T7E5H ; สมบูรณ์ วรพงษ์เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร รัฐมนตรีพิมพ์ครั้งที่ (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2550).

[10] ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 170.

[11] ภาพและคำบรรยายจาก ธรรมจักร 5, 2 (ตุลาคม 2495).

[12] ภาพและคำบรรยายจาก เรื่องเดียวกัน.

[13] ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 171-172 ; อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ ดร.ทวี ตะเวทีกุล ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ธันวาคม 2510 (พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาธรรมศาสตร์, 2510) ; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเดือน บุนนาค ม.ว.ม.ป.ช. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 สิงหาคม 2525 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2525) ; ที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศลครบร้อยวัน ศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ 17 มีนาคม 2531 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531) ; อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ.ม.ป.ช.ม.ว.ม. นายกราชบัณฑิตยสถาน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: เพื่อนพิมพ์, 2528).

[14] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,.

[15] กำแพง-กาลเวลา 80 ปี ธรรมศาสตร์ (2477-2557), 16 ; มารุต บุนนาค, “56 ปีที่ผ่านมา,” ใน 60 ปี ต.ม.ธ.ก. (พ.ศ. 2481-2541), (กรุงเทพฯ: ประกายพรึก, 2541), 143-145 ; “ชีวิตของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 24 กันยายน 2565, https://shorturl.asia/V52sP ; ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 1 (พ.ศ. 2481-2485)บรรณาธิการโดย วารุณี โอสถารมย์ (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554).

[16] ธรรมจักร 3, 5 (มีนาคม 2494ธรรมจักร 4, 2 (พฤษภาคม 2495ธรรมจักร 5, 1 (สิงหาคม 2495ธรรมจักร 5, 2 ; ธรรมศาสตร์  9, 3 (2499สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ: ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” ใน ใต้ธงปฏิวัติ (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2562) วิจักษณ์ นันทยุทธ์เส้นทางชีวิตและโลกทัศน์ทางการเมือง ผิน บัวอ่อน หรือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ผู้ชูธงทฤษฎี “การต่อสู้สองแนวทาง” ในการปฏิวัติไทย (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือ 25 ปี 6 ตุลา2544).

[17] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,”.

[18] เรื่องเดียวกัน ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 172.

[19] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,” เฉลียว พิศลยบุตร“การเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากทหาร,” ใน วันธรรมศาสตร์สามัคคี พฤศจิกายน 2494 วันที่ชาวธรรมศาสตร์ยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหาร

[20] เรื่องเดียวกัน สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 2, วันที่ 11 ตุลาคม 2494, 42-63 ; ธรรมจักร 5, 2.

[21] ใน 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์41. ใช้คำว่า “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” แต่ผู้เขียนยึดคำว่า “สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ตาม กำแพง-กาลเวลา 80 ปี ธรรมศาสตร์ (2477-2557), 24. โดยพิจารณาจากความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ในแง่ช่วงเวลาเป็นหลัก.

[22] ภาพและคำบรรยายจาก เรื่องเดียวกัน วันธรรมศาสตร์สามัคคี พฤศจิกายน 2494 วันที่ชาวธรรมศาสตร์ยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหาร.

[23] ธรรมจักร 5, 2 ; สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 2, วันที่ 11 ตุลาคม 2494.

[24] ภาพและคำบรรยายจาก ธรรมจักร 5, 2.

[25] เรื่องเดียวกันพระพรหมมังคลาจารย์พุทธทาสคือใคร ท่านทำอะไร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระดุลย์พากย์สุวมัณฑ์-ฉลวย-ทิพวรรณ ปัทมสถาน, 2541).

[26] Prinya Thaewanarumitkul, “อำลาคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 18 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/Y7eus.

[27] ธรรมจักร 5, 2 ; “มธ.เปิดตัวประติมากรรมวันธรรมศาสตร์ฯ,” Post Today, 12 มิถุนายน 2557, https://shorturl.asia/LqaYf ; Munin Pongsapan, “อาลัยศาสตราจารย์พิเศษมารุต บุนนาค,” เฟซบุ๊ก, 23 กันยายน 2565, https://shorturl.asia/9RzbV.

[28] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์.

[29] Somsak Jeamteerasakul. Chapter 5,” In “The Communist Movement in Thailand,” (PhD diss., Monash University, 1993) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ กบฏสันติภาพ,” ใน กึ่งศตวรรษ ขบวนการสันติภาพ “ความจริง” เกี่ยวกับ “กบฏสันติภาพ”: สำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนสามรุ่นบรรณาธิการโดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา (กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2545) ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ“ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 26, ฉ. 2, (2546-2547): 151-179.

[30] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ กบฏสันติภาพ,”.

[31] การเมืองรายสัปดาห์, 27 พฤษภาคม 2493 ; “ใบลงนามเรียกร้องสันติภาพ” [2493?].

[32] กุหลาบ สายประดิษฐ์“ภาพสงครามในเกาหลี” (ม.ป.ท.: ม.ป.พ.).

[33] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ กบฏสันติภาพ,” สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, สัมภาษณ์โดยผู้เขียน, 17 พฤศจิกายน 2561 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ,” 298-314 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ“ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” 153 ; 162 ; สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1),” ฟ้าเดียวกัน 1, ฉ.1 (มกราคม-เมษายน 2546): 157.

[34] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ กบฏสันติภาพ,” 145-208 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, 163-164 ; 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 43-44.

[35] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ, “ใต้ธงปฏิวัติ,” 320.

[36] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ“ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” 164.

[37] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ กบฏสันติภาพ,” 149-166.

[38] กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ“กุหลาบแดงบานบนผืนแผ่นดินจีน: โครงการสร้างความเป็นไทยที่ปฏิวัติของกุหลาบ สายประดิษฐ์ พ.ศ. 2501-2517, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565).

[39] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,”.

[40] ยึดจำนวนถูกจับกุมทั้งหมดตาม The New York Times, November 13, 1952. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ เพื่อนร่วมคุกในคดีสันติภาพ“พลทหารปาล พนมยงค์ สมัยเป็นจำเลยที่ 11 ในคดีสันติภาพ (ขบถ 10 พ.ย. 2495),” ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์: คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์2525)55. ที่ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุม 200-300 คน ขณะที่ไพลิน รุ้งรัตน์ [นามแฝง]“กุหลาบแกร่งในชีวิต ศรีบูรพา’,” ใน คืออิสระชน คือคนดี คือศรีบูรพา73 ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 104 คน.

[41] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495,”.

[42] PRIDI Interview 101 ปี ชาตกาล สุพจน์ ด่านตระกูล: ชีวิต และงานจากคำบอกเล่าของภรรยาและบุตรสาว โสภณ พันธุ์ไททิพย์ และดอม ด่านตระกูล,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 28 กันยายน 2567, https://pridi.or.th/th/content/2024/09/2158 ; วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์กบฏสันติภาพ มารุต บุนนาค“ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 10 กันยายน 2563, https://pridi.or.th/th/content/2020/09/412.

[43] จารึก ชมพูพล [นามแฝง]“บันทึกจากบางขวาง,” ใน เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 (กรุงเทพฯ: นรามิตรการพิมพ์, 2516), น. 546-561.

[44] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ ครั้งที่ 3, สมัยวิสามัญ, 13 พฤศจิกายน 2495, 432-435 ; กุหลาบ สายประดิษฐ์การเมืองของประชาชน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีบ, 2548), 9-11.

[45] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐแผนชิงชาติไทยพิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2550), 300-305.

[46] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สัมผัส กุหลาบ สายประดิษฐ์’,” ใน 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย (กรุงเทพฯสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2548), 57-73.

[47] เรื่องเดียวกัน.

[48] เรื่องเดียวกัน.

[49] กรมราชทัณฑ์ประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี (กรุงเทพฯโรงพิมพ์ราชฑัณฑ์ เรือนจำกลางคลองเปรม, 2525), 402 อ้างถึงใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506” (ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2564), 282.

[50] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สัมผัส กุหลาบ สายประดิษฐ์’,” เพื่อนร่วมคุกในคดีสันติภาพ, “พลทหารปาล พนมยงค์ สมัยเป็นจำเลยที่ 11 ในคดีสันติภาพ (ขบถ 10 พ.ย. 2495),” จารึก ชมพูพล [นามแฝง]“บันทึกจากบางขวาง,.

[51]ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/poonsuks-interview-in-sarakadee/ อ้างถึงใน ดิน บัวแดง“ว่าด้วย เอกสารปรีดี’ ที่ชานกรุงปารีส: การลี้ภัยของปรีดีจากจีนสู่ฝรั่งเศส,” ประวัติศาสตร์ปริทัศน์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, แก้ไขครั้งล่าสุด 31 ธันวาคม 2566, https://hist.human.cmu.ac.th/node/243#_ftn40.

[52] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 53.

[53] กรมราชทัณฑ์ประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี, 369.

[54] เรื่องเดียวกัน, 370.

[55] เรื่องเดียวกัน, 369 ; ภาพร่างมุมมองผ่านลูกกรงห้องขังออกไปด้านนอกจากเพื่อนร่วมคุกในคดีกบฏสันติภาพ.

[56] กรมราชทัณฑ์ประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี, 370.

[57] รวบรวมโดยเพื่อนร่วมคุกคดีกบฏสันติภาพ อ้างถึงใน กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ“กุหลาบแดงบานบนผืนแผ่นดินจีน: โครงการสร้างความเป็นไทยที่ปฏิวัติของกุหลาบ สายประดิษฐ์ พ.ศ. 2501-2517,”. 

[58] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 44 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, 318.

[59] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สัมผัส กุหลาบ สายประดิษฐ์’,” 64-65 ; 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 45.

[60] ดูการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดใน Kasian Tejapira, Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture (Kyoto: Kyoto University Press, 2001), Chapter 3.

[61] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สัมผัส กุหลาบ สายประดิษฐ์’,” 67.

[62] เรื่องเดียวกัน, 67-71.

[63] เรื่องเดียวกัน, 65.

[64] เรื่องเดียวกัน.

[65] ไทยใหม่, 16 มีนาคม 2498.

[66] ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” ใน การเมืองวัฒนธรรมของซ้ายไทย: หนังสือพิมพ์ใต้ดินปัญญาชนหัวก้าวหน้าวรรณกรรมเพื่อชีวิต และสงครามความทรงจำ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2566), 269.

[67] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดินตอนขบวนการสังคมนิยมในไทย (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2546), 57-60.

[68] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 48.

[69] เรื่องเดียวกัน, 85.

[70] วัฒน์ วรรลยางกูรไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (กาญจนบุรีปลายนา, 2543).

[71] เรื่องเดียวกัน, 94-109.

[72] เรื่องเดียวกัน.

[73] กำแพง-กาลเวลา 80 ปี ธรรมศาสตร์ (2477-2557), 25.

[74] Thak Chaloemtiarana, Thailand: The Politics of Despotic Paternalism (Cornell University Press, 2007), xxi.

[75] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐแผนชิงชาติไทย, 328-330 อ้างถึงใน ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” 276-281.

[76] เรื่องเดียวกัน, 272-275.

[77] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐแผนชิงชาติไทย, 362-368 อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, 279-280.

[78] เรื่องเดียวกัน.

[79] เรื่องเดียวกัน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1),” 157.

[80] อิฐ สิทธิราษฎร์, “เปลื้อง วรรณศรี - ไสว มาลยเวช - สัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 11 พฤศจิกายน 2563, https://shorturl.asia/KTLJX.

[81] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1),” 157 ; ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” 281-330. ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้คำเรียกประเภทของสิ่งพิมพ์ว่า “หนังสือพิมพ์” ตามคำบอกเล่าของสัมผัสใน ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 179. ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญของหนังสือ อย่างไรก็ดี ธิกานต์จัดว่าเป็น “นิตยสาร”.

[82] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ, 14 สิงหาคม 2567 (เอกสารยังไม่ได้ตีพิมพ์).

[83] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐแผนชิงชาติไทย, 356 อ้างถึงใน ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” 281-330.

[84] ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 179.

[85] วัฒน์ วรรลยางกูรไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก, 108-109.

[86] วิชัย นภารัศมี, “มาตุภูมิ,” เฟซบุ๊ก, 27 กรกฎาคม 2561, https://shorturl.asia/ELui2 ; Thikan Srinara, “ก่อนจะเป็น 'คอมมิวนิสต์ลาดยาว',” เฟซบุ๊ก, 13 ธันวาคม 2557, https://shorturl.asia/6IL7h ; “เมื่อปัญญาชนฝ่ายซ้าย ชม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า เด็ดเดี่ยว สุขุม และทันกาล’,” เฟซบุ๊ก, 1 ตุลาคม 2559, https://shorturl.asia/l25Fa.

[87] ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” 281-330.

[88] เรื่องเดียวกัน.

[89] Thikan Srinara, “เมื่อปัญญาชนฝ่ายซ้าย ชม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า เด็ดเดี่ยว สุขุม และทันกาล’,”.

[90] วิชัย นภารัศมี, “คำเตือนจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ เมื่อ ๖๐ ปีก่อนถึงวารสารปิตุภูมิ,” เฟซบุ๊ก, 18 พฤศจิกายน 2561, https://shorturl.asia/w4fQx

[91] ธิกานต์ ศรีนารา“นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500,” 281-330.

[92] เรื่องเดียวกัน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐแผนชิงชาติไทย, 399.

[93] ปิยะมิตร, 26 กันยายน 2500 อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน.

[94] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 37, 47.

[95] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 61-62.

[96] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 37, 47.

[97] เรื่องเดียวกัน สาส์นเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน จาก คณะกรรมการกลางแนวร่วมสังคมนิยม (พระนครอักษรสาสน์, 2500).

[98] เรื่องเดียวกัน.

[99] เรื่องเดียวกัน.

[100] เรื่องเดียวกัน.

[101] เพื่อสันติภาพและชีวิตที่ดีกว่านี้: คำแถลง ของ สันติชนและสมาชิกแห่งแนวร่วมสังคมนิยมในการสมัครรับเลือกตั้งเปนผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร (พระนครผดุงศิลป, 2500).

[102] เรื่องเดียวกัน.

[103] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 47.

[104] เรื่องเดียวกัน, 49-50 ; ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[105] เรื่องเดียวกัน ; 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 49-50.

[106] สายหยุด เกิดผลพคท. หายไปไหน?พิมพ์ครั้งที่ 2 (กุรงเทพฯ: แสงดาว, 2566).

[107] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลความขัดแย้งระหว่างสายงานพรรคสองสายงาน’ (1), 22 ตุลาคม 2567, https://shorturl.asia/UQtgG ; ความขัดแย้งระหว่างสายงานพรรคสองสายงาน’ (2), 23 ตุลาคม 2567, https://shorturl.asia/25TUd ; ความขัดแย้งระหว่างสายงานพรรคสองสายงาน (จบ)’, 26 ตุลาคม 2567, https://shorturl.asia/z86jN ; วิจักษณ์ นันทยุทธ์, เส้นทางชีวิตและโลกทัศน์ทางการเมือง ผิน บัวอ่อน หรือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ผู้ชูธงทฤษฎี “การต่อสู้สองแนวทาง” ในการปฏิวัติไทย ส.นิยมเสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2565).

[108] เกษียร เตชะพีระ, “สงครามประชาชนในชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” (เอกสารประกอบการเรียนวิชา ร.321 การเมืองการปกครองไทย ปีการศึกษาที่ 1/2561).

[109] Operation Rolling Thunder-Vietnam War, Worldatlas, accessed November 14, 2024, https://shorturl.asia/k8BVf ; American Atrocity: Remembering My Lai, Time, March 13, 2013, https://shorturl.asia/WVF8h ; Kingdom of Thailand during the Vietnam War, CAVWV, accessed November 14, 2024, https://www.cavwv.org/thailand.html ; Thai Soldiers in Vietnam, Flickr, November 272017, https://shorturl.asia/PcABR ; Operation Ballistic Charge (September 16–22, 1967), Flickr, May 16, 2018, https://shorturl.asia/QmlL3. รายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯในการทำสงครามอินโดจีน ดู ประจักษ์ ก้องกีรติและแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯพิมพ์ครั้งที่ 2 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556)บทที่ 3-4 กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, “การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก,” (รายงานการวิจัยทุนปรีดี พนมยงค์ และมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2550).

[110] ธ.เพียรวิทยา [นามแฝง], “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา,” ฟ้าเดียวกัน 1, ฉ.1 (มกราคม-เมษายน 2546): 170-200 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ, “ใต้ธงปฏิวัติ,” 384-386.

[111] เรื่องเดียวกัน.

[112] เรื่องเดียวกัน, 361, 390.

[113] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 70-71.

[114] เรื่องเดียวกัน.

[115] Rungmanee Mekhasobhon, #เพื่อนพ่อ,” เฟซบุ๊ก, 23 พฤศจิกายน 2564, https://shorturl.asia/khAx9.

[116] ภาพเทือกเขาตะนาวศรีจาก เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน รถรับจ้างเฟซบุ๊ก19 กุมภาพันธ์ 2567, https://shorturl.asia/sUTzn.

[117] เช่น อธึกกิต แสวงสุข ผู้สื่อข่าวอาวุโสและอดีตผู้เข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท. กล่าวในรายการ “ร่วมอาลัย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, Matichon TV, 13 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/Jkt8s ว่า สัมผัสไม่ได้เข้าป่า. ขณะที่งาน ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก (ม.ป.ท.: พันประทีป2565) ก็เขียนเพียงชื่อจัดตั้งของสัมผัส โดยและละเว้นการเปิดเผยชื่อ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าขณะที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาสัมผัสยังคงมีชีวิตอยู่.

[118] เรื่องเดียวกัน. ทั้งนี้ ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 163. ระบุว่าพื้นที่นี้เรียกว่า “เขต 7” แต่ Anun Han, “คารวาลัย ดำริห์ (วิศิษฐ) เรืองสุธรรม (ส.ดั่ง),” เฟซบุ๊ก26 มกราคม 2566, https://shorturl.asia/S9WjH. ระบุว่า “ในเขตเชียงราย (เขตพะเยา) คือเขต 7”.

[119] ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก, 9-13 ; ส.นิยม หรือประสงค์ อรุณสันติโรจน์สัมภาษณ์โดยผู้เขียน, line, 2 กันยายน 2567 ;. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ, 362 ระบุว่าหน่วยศึกษาที่นครปฐมสมัย สหายพิชิต ณ สุโขทัยนำงาน ยังมีสหายนำคนอื่นเข้าร่วมด้วย อาทิ อุทัย เทียมบุญเลิศ หรือสหายสงบเริง เมฆไพบูลย์ และคุณเต่าหรือหลี่เซิน.

[120] จูโซ่วลิ้ม เกิดที่พิจิตร บิดาเป็นจีน มารดาเป็นไทย-ขมุ เขารับความคิดสังคมนิยมจาก พคจ. โดยตรง เนื่องจากไปศึกษาที่ประเทศจีนตั้งแต่เด็กกระทั่งจบมหาวิทยาลัยต้าถงที่เซี่ยงไฮ้ ระหว่างเรียนได้ร่วมเคลื่อนไหวกับ พคจ. ภายใต้การนำของอู่จื้อจือ ผู้รับผิดชอบกลุ่มคอมมิวนิสต์ซัวเถา ต่อมาปี 2470 เขากลับสยามพร้อมอู่จื้อจือและร่วมกันตั้งสมาคมศึกษามาร์กซ-เลนินในหมู่ชาวจีน ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “นายโต” หรือ “เปี๊ยะโต” ต่อมาถูกจับกุมคุมขังในช่วงปลายปี 2472 หลังพ้นโทษในปี 2479 เขาเดินทางไปช่วยการปฏิวัติจีนที่เยนอาน และกลับไทยราวเดือนกันยายน 2488 ใช้ชื่อจัดตั้งภาษาไทยหลายชื่อ อาทิ ประพันธ์ วีระศักดิ์สำหรับฐานะโฆษกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนแรก, พายัพ อังคสิงห์และพิชิต ณ สุโขทัยสำหรับตีพิมพ์งานเขียนกับสำนักพิมพ์มหาชน อาทิ ทางออกของไทยปรัชญานักปฏิวัติศีลธรรมใหม่ และจะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร ฯลฯ ตามการประเมินของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขาคือผู้นำ พคท. “ที่แท้จริง” ที่ผลักดัน พคท. ให้ทำตามบทเรียนการปฏิวัติจีนด้วยการทุ่มกำลังไปจัดตั้งชาวนาในชนบทตั้งแต่ปลายปี 2491 และให้จัดการประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่สองและสามเพื่อรับรองการตัดสินใจนั้นอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อ พคจ. มีมติก่อตั้ง สปท. เขาเป็นสหายนำคนหนึ่งที่มีบทบาทประสานงานกับ พคจ. ในช่วงก่อตั้งสถานีที่เวียดนาม ใช้ชื่อจัดตั้งที่ สปท. ว่า “เลเหวียก” แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นและสุขภาพไม่แข็งแรง ทำให้เมื่อสงครามเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้น จูโซ่วลิ้มได้ย้ายมาดำเนินงานการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทั่งเสียชีวิตในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516. ประวัติจูโซ่วลิ้มรวบรวมสรุปจาก เกษียร เตชะพีระจินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน: คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 2537), 25-31 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ, 194-391 ; สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกบฏสันติภาพ, 193-194 ; วันเพ็ญ อัครสมิต, สัมภาษณ์โดย กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ, 31 มกราคม 2563 ; กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ, “กำเนิดและการก่อตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยในฐานะเวทีสถาปนาความเป็นไทยทวนกระแสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2504-2508,รัฐศาสตร์สาร 44,. 3 (2566): 1-66.

[121] ผิน บัวอ่อน เกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2472 (ปฏิทินเก่า) ในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดเพชรบุรี เขาหนีออกจากบ้านตั้งแต่ขวบไปอยู่วัด เพื่อหลีกเลี่ยงพ่อที่ดื่มสุราและแสวงหาการศึกษา ต่อมาผินเลือกเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควบคู่กับคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธ.ก. โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสหกรณ์ของปรีดี พนมยงค์ และบทความทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ผลิตโดย พคท. ผินเป็นผู้ใฝ่รู้และสนใจศึกษาแนวคิดสังคมนิยมอย่างจริงจัง ระหว่างเป็นนักศึกษา ผินมีบทบาทในกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ พคท. สนับสนุน ต่อมาเขาได้เข้าเป็นสมาชิกและเป็น ใน 7 กรรมการของสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.) ชุดแรก ก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิก พคท. ในปี 2493 เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารสัจจธรรมซึ่ง พคท. ก่อตั้งขึ้นแทนสำนักพิมพ์มหาชนที่ต้องยุติบทบาทลง ผินตัดสินใจลาออกในปี 2495 เพื่อทำงานเผยแพร่ของพรรคเต็มตัว แต่ไม่นานรัฐบาลก็การกวาดล้างใหญ่วันที่ 10 พ.ย. 2495 พรรคจึงชักชวนไปศึกษาต่อที่สถาบันมาร์กซ์-เลนินที่ปักกิ่ง หลังสำเร็จการศึกษา ศูนย์การนำให้ผินกลับมาปฏิบัติงานที่กรุงเทพในปี 2501 โดยเน้นจัดตั้งมวลชนและพัฒนางานชนบท จากนั้นเขาได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลางพรรคสมัยสมัชชาสามปี 2504 และกรมการเมืองทดแทนรวม วงษ์พันธ์ในปี 2505 ด้วยวัยเพียง 32 ปี ผินมีหน้าที่รับผิดชอบจัดตั้งมวลชนเพื่อต่อสู้ด้วยอาวุธในพื้นที่เขต 7 ภาคตะวันตกและภาคใต้บางส่วน กระทั่งถูกจับกุมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 เหตุการณ์หลังผินได้รับการปล่อยตัวจะกล่าวถึงในเนื้อหาส่วนต่อไป. ประวัติผินรวบรวมจาก รังสิต ทองประคำ“ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคม ของ ผิน บัวอ่อน,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2539) สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ, 314-315, 328-329, 340-344, 362, 385-411.

[122] สง่า ทัพมงคล อดีตนักศึกษา ม.ธ.ก. เมื่อเข้าพรรคเริ่มลงพื้นที่ชนบทไปฝังตัวปลุกระดมชาวนาที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ต่อมาปี 2497 จัดตั้งได้ย้ายสง่าไปขยายงานที่ภาคกลางตะวันตก ก่อนจะส่งไปเป็นครูสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนจีนแห่งหนึ่งในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปี จากนั้นจัดตั้งย้ายสง่าไปสอนหนังสือที่โรงเรียนวรรณวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมอีก ปี ต่อด้วยย้ายไปเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนสนธิสุนทรวิทยาคมที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีก ปี ในระหว่างสอนหนังสือ ครูสง่าก็ขยายงานพรรค เพาะเป้า สร้างแกน กระทั่งปี 2505 ก็ถูกย้ายไปขยายงานชาวนาที่ราชบุรีคนเดียว โดยไปฝังตัวที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กระทั่งปี 2508 จึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ. ใน ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก, 9-11 ; “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[123] เรื่องเดียวกัน, 20-21, 98-99.

[124] เรื่องเดียวกัน, 14-17, 83-85 ; ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[125] อิฐ สิทธิราษฎร์, “ภาพเมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2529,” เฟซบุ๊ก, 3 ธันวาคม 2566, https://shorturl.asia/fzj5W.

[126] ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก, 98-102.

[127] เรื่องเดียวกัน. ศึกษาตัวอย่างการเดินแนวทางชนชั้นตามคำเรียกร้องของพรรคอย่างเคร่งครัดของสัมผัส ที่เรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่ทำงานใต้ดินในกรุงเทพฯ และในที่ราบไปฝึกฝนหล่อหลอมตนเองในเขตป่าเขาได้ใน ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “ไปเฉลิมฉลองวันพรรคฯครบรอบ 25 ปีในป่าตะนาวศรีกับคุณสัมผัส, 20 สิงหาคม 2567 (เอกสารยังไม่ได้ตีพิมพ์). ซึ่งน่าจะตีพิมพ์เผยแพร่เร็ว ๆ นี้.

[128] ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก, 98-102.

[129] เรื่องเดียวกัน, 32, 61-65, 85 ; ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 163 ; ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ, 411 ; ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “ไปเฉลิมฉลองวันพรรคฯครบรอบ 25 ปีในป่าตะนาวศรีกับคุณสัมผัส,” “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[130] เรื่องเดียวกัน.

[131] เรื่องเดียวกัน.

[132] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 72 ; พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“น้อมคารวะ ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 14 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/nqapl.

[133] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์50-51 ; ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 180.

[134] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์50-51.

[135] เรื่องเดียวกัน ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 2 (พ.ศ. 2486-2490), 180.

[136] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์52.

[137] เรื่องเดียวกัน.

[138] ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขบวนการประชาชน ตุลาคม 2516 (กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517).

[139] ชาว สุภาจินดานนท์“โต้กันไปโต้กันมา...สรุป,” เฟซบุ๊ก, 4 เมษายน 2563, https://shorturl.asia/2syzl.

[140] ส.นิยม [นามแฝง], เสี้ยวประวัติศาสตร์ เขตงานภาคกลางตะวันตก, 188-193 ; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ, 424, 430-431 ; วิจักษณ์ นันทยุทธ์เส้นทางชีวิตและโลกทัศน์ทางการเมือง ผิน บัวอ่อน หรือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ผู้ชูธงทฤษฎี “การต่อสู้สองแนวทาง” ในการปฏิวัติไทย (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือ 25 ปี 6 ตุลา2544)ข-จ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล“ประวัติศาสตร์หลัง ตุลาฯ: “สังคมต้องจดจำขบวนการประชาชนที่กล้าหาญอย่างมากทางความคิด” – ธิกานต์ ศรีนารา,ตุลาคม 2564, the101world, https://www.the101.world/thikan-srinara-interview/ ; รังสิต ทองประคำ“ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคม ของ ผิน บัวอ่อน,” 131-139.

[141] เรื่องเดียวกัน. ในกรณีนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ,” 431-433 ระบุเพียงว่า ในระหว่างการต่อสู้ของนักศึกษากำลังแหลมคม คณะกรรมการพรรคชุดที่ เปิดประชุมครั้งที่ กลางเดือนพฤษภาคม 2519 ที่สำนัก 185 ศูนย์กลางพรรคจังหวัดน่าน มีเจริญ วรรณงามธง แจ่มศรีดำริห์ เรืองสุธรรมประสิทธิ์ ตะเพียนทองสิน เติมลิ่มพโยม จุลานนท์ไพรัช นพคุณเปลื้อง วรรณศรี รวมทั้งสุเทพ วงศ์ไพบูลย์ ตัวแทนจากเขตงานภาคกลางเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติประณามลัทธิแก้ของผิน บัวอ่อนที่แปรพักตร์รับใช้ชนชั้นปกครอง จึงมีมติให้ขับออกจากพรรค.

[142] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 110-113.

[143] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ,” 385-386, 410.

[144] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 110-113.

[145] เรื่องเดียวกัน.

[146] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,”.

[147] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 110-113.

[148] เรื่องเดียวกัน.

[149] ดำริห์ เรืองสุธรรมขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ :สุขภาพใจ, 2544), หน้ารองปกอิฐ สิทธิราษฎร์“ไม่ยิ้มเลยอะ...ไม่ยิ้มเลย,” เฟซบุ๊ก, 25 ธันวาคม 2564, https://shorturl.asia/PTntd.

[150] เรื่องเดียวกัน.

[151] ต่อมาได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางและกรมการเมืองสมัยสมัชชา ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ,” 456, 447-448.

[152] ประจวบ อัมพะเศวตพลิกแผ่นดิน, 110-113.

[153] เรื่องเดียวกัน.

[154] อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายขำ พงศ์หิรัญ ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2515 (พระนครการพิมพ์พระนคร, 2515)กษิดิศ อนันทนาธร“ขำ พงศ์หิรัญ: ‘ราษฎรสามัญผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ’, the101world, 5 มิถุนายน 2561, https://www.the101.world/kham-ponghiran/.

[155] Rungmanee Mekhasobhon, #เพื่อนพ่อ,” เฟซบุ๊ก, 23 พฤศจิกายน 2564, https://shorturl.asia/khAx9.

[156] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์68-69 ; กษิดิศ อนันทนาธร, “มารุต บุนนาค: ชีวิตที่เรียนรู้ไปเพื่อรับใช้ประชาชน,” the101world, 23 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.the101.world/marut-bunnag/.

[157] ศุภมิตร ปิติพัฒน์“ระลึกถึงอาสัมผัส พึ่งประดิษฐ์กับชีวิตในโรงเรียนเก่า,” เฟซบุ๊ก, 13 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/G67oj.

[158] ประวัติและข้ออบรมของวชิราวุธวิทยาลัย (พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2494) ; อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ม.ว.ม. (กรุงเทพฯโรงพิมพ์พระจันทร์, 2519).

[159] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 60-69.

[160] เรื่องเดียวกัน.

[161] เรื่องเดียวกัน.

[162] เรื่องเดียวกัน, 2, 60-67 ; ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฟซบุ๊ก, 27 ธันวาคม 2560, https://shorturl.asia/Bcsfi ; 27 สิงหาคม 2562, https://shorturl.asia/E4rcR.

[163] “ด้วยความเคารพรักเเละอาลัยคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฟซบุ๊ก, 13 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/DZ6Ul ; 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 61-62.

[164] เรื่องเดียวกัน, 87.

[165] เรื่องเดียวกัน.

[166] ชาญ แก้วชูใส ผู้องอาจ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2544) ; ชีวิตและการทำงานทองใบ ทองเปาด์ ทนายประชาชน-ทนายแม็กไซไซ และงานเขียน คอมมิวนิสต์ลาดยาว (กรุงเทพฯ: บริษัท เพชรประกาย จำกัด, 2554)ทนายกล้าของประชาชน (กรุงเทพฯ: 179 การพิมพ์, 2537) ; ระลึกถึง ประดับ มนูรัษฎา ธ.บ. 2 ตุลาคม 2470-21 เมษายน 2537 จาก ศิษย์สำนักวัดราชาธิวาสวิหาร (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2537) ; ช.อ. ณ ธรณินทร์ [นามแฝง]วิธีสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์: ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ นายฟัก ณ สงขลา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ: กราฟิกอาร์ต, 2518) ; ประเดิม ดำรงเจริญ“ระลึกถึง พี่ทองใบ ทองเปาด์,” ใน ชีวิตและการทำงานทองใบ ทองเปาด์ ทนายประชาชน-ทนายแม็กไซไซ และงานเขียน คอมมิวนิสต์ลาดยาว (กรุงเทพฯเพชรประกาย, 2554).

[167] Yaowalak Anuphan, “คุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 12 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/4IxQZ ; “ร่วมอาลัย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน,”.

[168] หมายถึงประดับ, ทองใบ และสัมผัส ใน Sa-nguan Khumrungroj (劉振廷), X, 13 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/o8au5.

[169] ประเดิม ดำรงเจริญ“ระลึกถึง พี่ทองใบ ทองเปาด์, 85-93.

[170] เรื่องเดียวกัน ; Pradoem Damrongcharoen, “พิธีรดน้ำและสวดอภิธรรมแด่ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักปฏิวัติและนักนสพ.,” เฟซบุ๊ก, 14 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/kg3lo.

[171] เรื่องเดียวกัน ประเดิม ดำรงเจริญ“ระลึกถึง พี่ทองใบ ทองเปาด์, 85-93.

[172] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[173] ยึดจำนวนผู้ถูกจับตาม เรื่องเดียวกัน. ซึ่งระบุจำนวนผู้ถูกจับตรงกับ พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“ทนายทองใบ กับการต่อสู้พิทักษ์สิทธิปฏิวัติของ พิรุณกับพวก’,” ใน ชีวิตและการทำงานทองใบ ทองเปาด์ ทนายประชาชน-ทนายแม็กไซไซ และงานเขียน คอมมิวนิสต์ลาดยาว, 65-70 ที่ระบุว่ามีผู้ถูกจับในวันที่ กรกฎาคม 2527 รวม 22 คน แต่ต่างสถานที่. อย่างไรก็ดี มีเอกสารที่ระบุวันและจำนวนผู้ถูกจับครั้งนี้ต่างออกไป คือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ“ใต้ธงปฏิวัติ,” 449-450 ระบุว่ามีผู้ถูกจับวันที่ กรกฎาคม 2527 รวม 16 คน ได้แก่ (1) พิรุณ ฉัตรวนิชกุล (2) มาโนช เมธางกูร (3) ชลธิรา สัตยาวัฒนา (4) ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ (5) รังสรรค์ แซ่ซี (6) สวัสดิ์ อนันตปัญญากุล (7) สายหยุด สะพานสินธุ์ (8) สงวน ทิพยสิงห์ (9) บุญส่ง อรุณสันติโรจน์ (10) สุจิต ยิ่งกิจสถาวร (11) อารี ชาญทะเลชล (12) ประดิษฐ์ ภักดีบำรุง (13) ประทุม สินธุสุวรรณ (14) สุนีรัตน์ วิริยกุล (15) กวิน ชุติมา และ (16) มงคล วุฒิสิงห์ชัย. ซึ่งเมื่อพิจารณารายชื่อพบว่าพิรุณกล่าวถึงปัญญาชนอีกอย่างน้อยสองคนที่ถูกตั้งข้อหา แต่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ไม่ได้ระบุไว้ ได้แก่ ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ซึ่งโดนข้อหาเดียวกับมงคล วุฒิสิงห์ชัย คือ เห็นบุคคลอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้วไม่แจ้ง

[174] แคน สาริกา [นามแฝง]ชุมทางบางนา เนชั่นสุดสัปดาห์ (กุมภาพันธ์ 2554) อ้างถึงใน อิฐ สิทธิราษฎร์, เฟซบุ๊ก, 10 พฤษภาคม 2563, https://shorturl.asia/PeBHn.

[175] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.; พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“ทนายทองใบ กับการต่อสู้พิทักษ์สิทธิปฏิวัติของ พิรุณกับพวก’,”.

[176] ผู้ถูกจับอีก 12 คนคือ (1) วิบูลย์ เจนไชยวัฒน์ หรือสหายทุ่ง (2) เชาว์ พงศ์สุนทรสถิตย์ หรือสหายพูน (3) ชิตชนก โสภณปาล หรือสหายสืบ (4) สมบัติ ไชยรส หรือสหายชน (5) นิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ หรือสหายอำไพ/สหายไผ่ (6) ปุ่น แก้วหานาม หรือสหายธนู/สหายประสาร (7) วิโรจน์ บุญเพชร หรือสหายบ่เลย (8) สมพงษ์ วิจิตรไชยพันธุ์ (9) สมนึก พงษ์พิชิต (10) ประสิทธ์ (11) นพดล ภักดี (12) อ่อนศรี อินทวุฒิชัย หรือสหายแพน ใน “รายงาน บทสรุป พลิกปูมคอมฯ รุ่นเดอะ คอมฯ รุ่นสุดท้าย?,มติชนสุดสัปดาห์ 7ฉ.348 (พฤษภาคม 2530) ; 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 86.

[177] พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“ทนายทองใบ กับการต่อสู้พิทักษ์สิทธิปฏิวัติของ พิรุณกับพวก’,” ; “น้อมคารวะ ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 14 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/6Kzkw. 

[178] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[179] พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“น้อมคารวะ ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,พิรุณ ฉัตรวนิชกุล“ทนายทองใบ กับการต่อสู้พิทักษ์สิทธิปฏิวัติของ พิรุณกับพวก’,.

[180] พิพากษาสังคมไทย พิพากษา ส.ศิวรักษ์ คู่มือศึกษาการดำเนินคดีอาญาลักษณะความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชนุภาพและหมิ่นประมาทบรรณาธิการโดย นิพนธ์ แจ่มดวง (กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม2539), 28-46.

[181] รายละเอียดคดี ดู เรื่องเดียวกัน ส.ศิวรักษ์ผจญมาร รสช. (กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม2538คนนอกคุก: ทำไมข้าพเจ้าไม่สยบยอม รสช. ภาค 1 (กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2539) คนนอกคุก: ทำไมข้าพเจ้าไม่สยบยอม รสช. ภาค 2 (กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2539).

[182] มติชน, 4 กันยายน 2534 ; Kamol Kamoltrakul, เฟซบุ๊ก, 15 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/2YKvq.

[183] ส. ศิวรักษ์คนนอกคุก: ทำไมข้าพเจ้าไม่สยบยอม รสช. หนุ่มบางโพ [นามแฝง]“ที่มาวาทะพลเอกสุจินดา ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์’ ก่อนนำสู่ พฤษภาทมิฬ’,ศิลปวัฒนธรรม24 พฤษภาคม 2567, https://www.silpa-mag.com/history/article_87077.

[184] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“คำนำ,” ใน พิพากษาสังคมไทย พิพากษา ส.ศิวรักษ์ คู่มือศึกษาการดำเนินคดีอาญาลักษณะความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชนุภาพและหมิ่นประมาท.

[185] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 76-82.

[186] “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมอาลัยคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ อดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์, Thai Journalists Association, 15 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/3lIgq.

[187] Suntariya Muanpawong, เฟซบุ๊ก, 14 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/1Wp7g.

[188] ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่ม 1 (พ.ศ. 2481-2485), 142-144 ; สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“วันปรีดี พนมยงค์,” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2528 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, 2528) ; สุภัทร สุคนธวัต“เพียงครู่หนึ่งยังจำได้,วันปรีดี พนมยงค์ 2530 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, 2530).

[189] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“วันปรีดี พนมยงค์,.

[190] เรื่องเดียวกัน หนังสือวันปรีดี 11 พฤษภาคม ฉบับย้อนหลังอ่านได้ที่ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book),” สถาบันปรีดี พนมยงค์, https://pridi.or.th/th/libraries/e-book/pridi-day.

[191] เรื่องเดียวกัน.

[192] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“วันปรีดี พนมยงค์,”.

[193] คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 2543). เข้าถึงได้ทาง https://shorturl.asia/2i8Af.

[194] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 53.

[195] “มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรม คุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์’,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/Vb6vJ ; คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์.

[196] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ขอคารวะ,” ใน ใต้ธงปฏิวัติ, 72 ; อิฐ สิทธิราษฎร์“ขอแสดงความคารวะและไว้อาลัยต่อนักปฎิวัติอาวุโส ปู่สมควร พิชัยกุล,” เฟซบุ๊ก, 13 มีนาคม 2563, https://shorturl.asia/6JlxB.

[197] ส.นิยม (โชติ ตะนาวศรี) [นามแฝง], “แบบอย่างของการฝึกฝนหล่อหลอมตนเอง จากปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยจนกลายมาเป็นนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ,.

[198] “‘สัมผัส พึ่งประดิษฐ์’ ปธ.รดน้ำศพ ธง แจ่มศรี’ เลขาฯ พคท. คนสุดท้าย กำหนดฌาปนกิจ 14 ก.ค. นี้, Matichononline, 10 กรกฎาคม 2562, https://shorturl.asia/5mspj ; ประสงค์ อรุณสันติโรจน์ (สหายโชติแห่งตะนาวศรี)“สีสันงานศพ ธง แจ่มศรี ณ วัดพระประโทณเจดีย์ นครปฐม,” ใน ใต้ธงปฏิวัติ, 32-56.

[199] ขุนน้ำหมึก [นามแฝง], “เปิดตัว จ่านิว’ ผู้สืบทอด ธง แจ่มศรี’,คมชัดลึก, 15 กรกฎาคม 2562 ; พรานข่าว [นามแฝง],เหวง’ รื้อบาดแผล ประวัติศาสตร์ พคท.,คมชัดลึก, 19 กรกฎาคม 2562.

[200] Baramee Chaiyarat, “ผมได้พบลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 17 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/AROSk.

[201] อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายรวม วงษ์พันธ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2538, [ม.ป.ท.: ม.ป.พ.], 2538, 113-118 ; ส.ศิวรักษ์คนนอกคุก: ทำไมข้าพเจ้าไม่สยบยอม รสช. ภาค 2.

[202] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“สหายอัศนี วีรชนผู้กล้าหาญ,” ใน คณะกรรมการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่”ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530), บรรณาธิการโดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ([ม.ป.ท.]: บริษัท 21 เซ็นจูรี่, 2541), 226-227 ; Cholthira Satyawadhna, “บันทึกเรื่องล้ำในไพรลึก โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา ขอกล่าว คำกาศครู’ ~ ‘นายผี’,” เฟซบุ๊ก, 22 พฤศจิกายน 2567, https://shorturl.asia/oP651.

[203] ข้อมูลและภาพจาก เรื่องเดียวกัน.

[204] ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530), หน้าปก, 226-227.

[205] 80 ปี ชีวิตสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, 54-55.

[206] เรื่องเดียวกัน.

[207] เรื่องเดียวกัน, 59.

[208] เรื่องเดียวกัน.

[209] เรื่องเดียวกัน, 72.

[210] Thai Yuki Dorayaki, “นักปฏิวัติตลอดกาล... ลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” เฟซบุ๊ก, 14 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/jKeFT ; Siripojna Prapunthapojna, “งาน รำลึกวีรชนปฏิวัติ-อาลัยสหายผู้เสียสละ’ เขตงานภาคกลางตะวันตก ตะนาวศรี’,” เฟซบุ๊ก, 21 ธันวาคม 2558, https://shorturl.asia/2UM9Z.

[211] “อีกขุมพลังวันนี้ก่อนนอน>> ศูนย์ทนายฯพบคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,” Sirikan June Charoensiri, เฟซบุ๊ก, 8 ตุลาคม 2559, https://shorturl.asia/h9TJO.

[212] สัมผัส พึ่งประดิษฐ์“ขอคารวะ,” ใน ใต้ธงปฏิวัติ, 72.

[213] Manus Klaeovigkit, เฟซบุ๊ก, 15 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/uJd8h ; Rungmanee Mekhasobhon, “ภรรยาอาสัมผัสจุมพิตลาสามีเป็นครั้งสุดท้าย,” เฟซบุ๊ก, 13 สิงหาคม 2567, https://shorturl.asia/IYAXR ; Prinya Thaewanarumitkul, “อำลาคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์,.

Attachment Size
Download บทความ (pdf) (1.26 MB) 1.26 MB