Skip to main content

ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการแล้วใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2567) หน้า 175-240. ในการนำมาเผยแพร่ในที่นี้อีกครั้งนั้น ผู้เขียนได้ขออนุญาตจากกองบรรณาธิการวารสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้เขียนก็หวังว่าบทความจะมีประโยชน์ทั้งต่อนักศึกษาประวัติศาสตร์ทุกระดับชั้น รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจในความเป็น “ประวัติศาสตร์” ด้วย

 


 

แนวคิดว่าด้วย "ชนชั้น" และ "ประวัติศาสตร์" ของ อี.พี. ธอมป์สัน ใน The Making of the English Working Class

 

อี.พี. ธอมป์สัน (E.P. Thompson) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในฐานะนักประวัติศาสตร์นักเขียนบทความ และนักกิจกรรมการเมือง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมากที่สุดในหมู่นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อังกฤษทั้งหมดด้วย ในฐานะนักประวัติศาสตร์ นอกจากหนังสือ The Making of the English Working Class (1963)[1] แล้ว เขายังเขียนบทความอีกหลายชิ้นและหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น Whigs and Hunters (1975)[2], บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 18 อีกหลายชิ้น เช่น "Time, Work-Discipline, and Industrial Capitalism"[3], "Moral Economy of the English Crowd in the Eigteenth Century"[4], "Patrician Society, Plebeian Culture" (1974) และ "Eighteenth-century English Society: class struggle without class?" (1978)[5]และงานเขียนเชิงชีวประวัติเล่มมหึมาที่ชื่อ William Morris: Romantic to Revolutionary (1955)[6] ในหนังสือรวมบทความบางเล่ม เขาได้หยิบยกเอาหัวข้อที่สำคัญมากขึ้นมาอภิปราย เช่น ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษสมัยใหม่และแก้ต่างให้กับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ พร้อมกับต่อต้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏอยู่ใน The Poverty of Theory (1978)[7] ส่วนบทความในเชิงการเมืองของเขานั้น มีทั้งงานเขียนที่วิพากษ์วัฒนธรรมการเมืองของสงครามเย็นงานเขียนหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขามองว่าเป็นวิกฤตในด้านเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษซึ่งชิ้นที่สำคัญมากๆ ถูกนำไปพิมพ์รวมไว้ใน Zero Option (1982)[8] และหนังสือที่เขาเป็นบรรณาธิการร่วมกับคนอื่นอย่าง Protest and Survive (1980)[9] ในช่วงนับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ธอมป์สันได้อุทิศพลังงานเกือบทั้งหมดของเขาให้กับการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์การเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการรณรงค์ให้มีการลดอาวุธนิวเคลียร์ และการก่อตั้ง END (European Nuclear Disarmament) ในบั้นปลายชีวิต ธอมป์สันหวนกลับมาเขียนงานวิชาการอีกครั้งก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 28 สิงหาคม 1993

 

หน้าปก The Making of the English Working Class ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (1963)

 

มีผู้เสนอว่า ทั้ง The Making[10]งานเขียนว่าด้วยอังกฤษในศตวรรษที่ 18 และบทความในด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์นิพนธ์ของธอมป์สันนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกเขียนขึ้นจากแง่มุมของทฤษฎีว่าด้วยการกำหนดทางชนชั้น (theory of class determination) ของกลุ่มนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อังกฤษ (The British Marxist Historians) ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งทั้งสิ้น งานเขียนด้านประวัติศาสตร์ของเขามีคุณูปการอย่างมากทั้งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษโดยเฉพาะและต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมโดยทั่วไป The Making มีผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อการประกอบสร้างประวัติศาสตร์สังคมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ และ (เช่นเดียวกับงานเขียนของ เอริค ฮอบส์บอว์ม [Eric Hobsbawm] ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อังกฤษรุ่นเดียวกับเขา) มันได้เปลี่ยนแปลงขนบในการเขียนประวัติศาสตร์แรงงานไปจนแทบจะสิ้นเชิง ขณะที่การศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 ของธอมป์สันที่เริ่มต้นด้วยการนำเสนอการตีความใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมอังกฤษในยุคสมัยนี้ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการหวนกลับไปทบทวนช่วงเวลาที่ถือกันว่าเป็นยุคสมัยของ "ความมั่นคงและระเบียบ" ที่อยู่ในช่วงระหว่างหลังการปฏิวัติในศตวรรษที่ 17 ไปจนถึงช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น อันที่จริงแล้ว ธอมป์สันไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่เขายังเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมากับประเด็นปัญหาที่ว่าด้วย "ชนชั้น" ทั้งในแง่ทฤษฎีและในแง่ประวัติศาสตร์การก่อตัวของชนชั้นการต่อสู้และจิตสำนึกทางชนชั้น และศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเพื่อสร้างแนวทางใหม่ที่ข้ามพ้นไปจากตัวแบบว่าด้วยฐานกำหนดโครงสร้างส่วนบน (base-superstructure model) ในความคิดมาร์กซิสต์อีกด้วย[11]

บทความชิ้นนี้ต้องการแสดงให้เห็นแนวคิดว่าด้วย "ชนชั้น" และ "ประวัติศาสตร์" ของธอมป์สันซึ่งปรากฏอยู่ใน The Making โดยจะเริ่มจากภูมิหลังทางสังคม การเมือง และภูมิปัญญาของเขาซึ่งเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการเขียน The Making ของเขา จากนั้นก็จะพยายามหยิบยกเอาเนื้อหาสาระที่สำคัญของ The Making มากล่าวถึงโดยละเอียด ตามมาด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับคุณูปการของ The Making ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติทางประวัติศาสตร์" ของธอมป์สัน และจะปิดท้ายบทความด้วยข้อคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ต่างๆ ที่มีต่อ The Making

 

ใครคือ อี.พี. ธอมป์สัน และเขานั้นสำคัญไฉน ?

 

เอ็ดเวิร์ด ปาล์เมอร์ ธอมป์สัน (Edward Palmer Thompson) เกิดในอ๊อกฟอร์ดเมื่อวันที่ กุมภาพันธ์ 1924 ชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นของเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากพ่อชาวอังกฤษของเขา เอ็ดเวิร์ด จอห์น ธอมป์สัน (Edward John Thompson) ซึ่งเป็นครูและมิชชันนารีนิกายเมธอดิสต์ (Methodist) ในอินเดียในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ศึกษาสังคมอินเดียจนทำให้ได้รับความนับถือในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวข้อนี้และทำให้ได้รับตำแหน่งอาจารย์พิเศษในเบงกาลีที่วิทยาลัยออเรียลแห่งอ๊อกฟอร์ดด้วย เมื่อกลับสู่อังกฤษในปี 1923 จอห์น ธอมป์สันถูกเลือกให้เป็น Honorary Fellow of Oriel ในปี 1925 และถูกแต่งตั้งให้เป็นนักวิจัยที่อ๊อกฟอร์ด เลเวอร์ฮูล์มในปี 1934 และจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์อินเดียนับตั้งแต่ปี 1936 จนถึงปี 1946 เขาพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับอินเดียจำนวนมาก[12] อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุนลัทธิชาตินิยมและการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และเป็นเพื่อนกับ ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlar Nahru) และผู้นำนักชาตินิยมคนสำคัญอื่นๆ ด้วย[13] บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มของธอมป์สันอีกคนคือพี่ชายของเขา แฟรงค์ ธอมป์สัน (Frank Thompson) ผู้ซึ่งธอมป์สันนับถือ ยอมรับ และเลื่อมใสอย่างมาก แฟรงค์เข้าไปพัวพันกับกิจกรรมการเมืองของฝ่ายซ้ายอย่างกระตือรือร้นขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่อ๊อกฟอร์ดในช่วงก่อนจะเกิดสงครามและในท้ายที่สุดเขาก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ แฟรงค์ไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์แบบยึดตามทฤษฎีหรือคัมภีร์ แต่เป็นคอมมิวนิสต์แบบนักจิตนิยมโรแมนติกและแบบยูโธเปียน และที่สำคัญ เขามีความเป็นขบถมากเกินกว่าที่จะเลื่อมใสยำเกรงวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเชื่องๆ[14]

แม้ว่าพ่อของเขาจะหมดศรัทธาต่อนิกายเมธอดิสต์ไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างสำคัญยิ่ง (แม้ว่าจะในแง่ลบก็ตาม) ต่อการอบรมสั่งสอนธอมป์สันในวัยเยาว์ และถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นด้วยการส่งเขาไปเรียนที่คิงส์วูดซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของพ่อของเขาที่นับถือนิกายเวสเลียน (Wesleyan) ที่นั่นธอมป์สันจะถูกให้การศึกษาด้านศีลธรรมแบบเมธอดิสต์ที่เคร่งครัดอย่างมากซึ่งในเวลาต่อมาเขาจะแสดงปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง ในปี 1941 เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์โดย เริ่มต้นในด้านวรรณคดี แต่เปลี่ยนไปเรียนประวัติศาสตร์ ที่แคมบริดจ์ ธอมป์สันเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองของฝ่ายซ้ายอย่างรวดเร็วและถูกเลือกให้เป็นประธานสโมสรนักสังคมนิยมของมหาวิทยาลัย[15] ในปี 1942 ธอมป์สันเดินตามรอยของแฟรงค์ผู้เป็นพี่ชายซึ่งไม่ยอมเป็นนักเสรีนิยมตามความคาดหวังของพ่อแม่ แต่หันไปเป็นคอมมิวนิสต์แทน[16] กระนั้น หลังจากการบุกสหภาพโซเวียตของฮิตเลอร์ ธอมป์สันก็หันไปสนับสนุนการต่อต้านฟาสซิสต์ และจากนั้นก็คล้ายกับคนหนุ่มร่วมสมัยกับเขาจำนวนมากที่การเรียนของพวกเขาถูกขัดจังหวะด้วยสงคราม[17] ซึ่งธอมป์สันจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแอฟริกาเหนือและในฐานะผู้บัญชาการหน่วยรถถังในอิตาลี[18]

หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ธอมป์สันหวนกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์จนจบในปี 1946 ธอมป์สันกล่าวในเวลาต่อมาว่า เขาได้เรียนรู้มากมายจากงานเขียนของคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill)คริสโตเฟอร์ คอดเวลล์ (Christopher Caudwell) และ คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx)[19] และที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์นี้เองที่ธอมป์สันจะได้พบกับ โดโรธี ทาวเวอร์ (Dorothy Towers) ภรรยาในอนาคตของเขาผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกสันนิตบาตคอมมิวนิสต์[20] และเป็นนักประวัติศาสตร์และสอนประวัติศาสตร์สมัยใหม่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมด้วย (อันที่จริง โดโรธีเป็นผู้ที่ตื่นตัวในกลุ่มนักประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าธอมป์สัน)[21] พวกเขาแต่งงานกันในปี 1948 แต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ธอมป์สันและโดโรธีได้ร่วมมือกับกลุ่มยุวชนอังกฤษไปช่วยชาวนา กรรมกร ทหาร และนักศึกษา ก่อสร้างเส้นทางรถไฟยาว 150 ไมล์ในยูโกสลาเวีย[22] ธอมป์สันกล่าวถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นไว้ใน The Railway: an Adventure in Construction (1948)[23] ว่าประสบการณ์ครั้งนั้นคือสิ่งที่ช่วยก่อรูปความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับการต่อสู้แบบรวมหมู่ของประชาชน[24] และสอนบทเรียนแก่เขาว่า ความบากบั่นมุมานะบางอย่างจะช่วยทำให้ประชาชนสามารถสร้างกรอบความคิดขึ้นในเงื่อนไข "ของพวกเรา" ได้ มากกว่าที่จะเป็นในเงื่อนไขของ "ของฉัน" หรือ "ของพวกเขา" (หรือในเงื่อนไขของคนอื่น)[25]

ในปี 1948 เมื่อหวนกลับคืนสู่อังกฤษ ธอมป์สันทำงานในฐานะผู้บรรยายวิชาวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ธอมป์สันเล่าว่า ในช่วงที่ยังเรียนอยู่ "ฉันไม่เคยทำงานวิจัยเลย ฉันเข้ามาสอนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ เพราะหวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่ฉันจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอังกฤษในยุคอุตสาหกรรม และได้สอนผู้คนที่จะเป็นผู้สอนฉันเช่นกัน"[26] เขาโชคดีที่ได้รับตำแหน่งนี้ ในขณะที่มหาวิยาลัยหลายแห่งในเวลานั้นปฏิเสธที่จะจ้างคอมมิวนิสต์เข้าทำงาน ในช่วงแรกๆ เขาไม่ได้วางแผนที่จะกลายเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ในช่วงเวลาที่เขาสอนวรรณคดีนั้น เขาได้ถูก "ยึดครอง" โดยความคิดของกวีและนักสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 19 ที่ชื่อ วิลเลียม มอร์ริส (William Morris) และสิ่งที่งอกงามขึ้นจากความสนใจนี้ก็คือหนังสือเล่มมหึมาที่ชื่อ William Morris: Romantic to Revolutionary (1955) โดยในงานเขียนชิ้นนี้ ธอมป์สันบรรยายถึงมอร์ริสในฐานะนักลัทธิมาร์กซที่ปฏิวัติอีกผู้หนึ่งซึ่งใช้ศิลปะและทักษะด้านศิลปะถ่ายทอดความคิดของตน อย่างไรก็ตาม การที่ธอมป์สันเขียนหนังสือเล่มนี้ในขณะที่เขายังคงเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษอยู่นั้น ย่อมจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขาจะใช้มอร์ริสเพื่อสนับสนุนความคิดของพรรค มีคนจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าหนังสือ William Morris ถือเป็นจุดด่างพร้อยอันเกิดขึ้นจากอคติของธอมป์สัน ตัวอย่างเช่น ผู้วิจารณ์นิรนามคนหนึ่งใน the Times Literary Supplement ประกาศว่า งานเขียนชิ้นนี้มีอคติแบบมาร์กซิสม์มากจนเกินไป โหยหวนเกินไป ยาวเกินไป และอารมณ์ร้ายเกินไป อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาแตกหักกับพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ธอมป์สันได้แก้ไขการศึกษาเกี่ยวกับมอร์ริสของเขาด้วยการทำให้ข้อเสนอมีความรัดกุมยิ่งขึ้นและลบล้างลักษณะที่ยกย่องเชิดชูสตาลินออกไป[27]

ในปี 1950 ธอมป์สันสมัครเรียนในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลีดส์ เขาเสนอ "การศึกษาผู้ใหญ่ของชนชั้นแรงงาน 1840-1860" เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์โดยการอ้างอิงไปถึงเมืองเวสต์ ไรดิง ที่เขาละทิ้งมาเป็นเวลาถึง 1 ปี เพื่อให้เป็น "ภูมิหลังและจุดกำเนิดของการก่อตัวของพรรคแรงงานอิสระในยอร์คเชียร์และพัฒนาการของมันในช่วงระหว่าง 1880-1900" อย่างไรก็ตาม ธอมป์สันเรียนไม่จบในระดับปริญญาเอก โดยให้เหตุผลว่ามันเรียกร้องเวลาจากเขามากเกินไป เพราะเขาไม่เพียงแต่ยุ่งยากอยู่กับการสอน การทำวิจัย และการเขียนหนังสือเกี่ยวกับมอร์ริสซึ่งเอาเวลาในชีวิตของเขาไปครึ่งหนึ่งเท่านั้น หากแต่เวลาอีกครึ่งหนึ่งของเขาก็ใช้ไปกับกิจกรรมการเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ธอมป์สันกลายเป็นกรรมการสันติภาพที่แฮลิแฟกซ์ เป็นเลขาธิการสหพันธ์องค์การสันติภาพแห่งยอร์คเชียร์ เป็นบรรณาธิการวารสารสันติภาพแห่งภูมิภาค และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการประจำเขตยอร์คเชียร์ของพรรคคอมมิวนิสต์[28]

ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 และต้นทศวรรษ 1950 ธอมป์สันยังคงตื่นตัวอย่างมากภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงหลายปีนั้น เขาและจอห์น ซาวิลล์ (John Saville) ได้เริ่มจัดพิมพ์วารสาร The Reasoner ออกมา[29] จนกระทั่งถึงปี 1956 ในที่ประชุมครบรอบ 20 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อ นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) เปิดเผยเกี่ยวกับยุคสมัยอันชั่วร้ายของสตาลินและการปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังกาเรียนอย่างโหดร้ายของสตาลินก็ได้ทำให้ประชาชนทั่วโลกตัดสินใจแยกตัวออกจากลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ว่าธอมป์สันจะตกตะลึงอย่างมาก แต่ในเวลานั้นเขาก็ยังคงเชื่อมั่นว่าพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษน่าจะยังมีศีลธรรมอยู่และจะรับฟังคำทักท้วงต่างๆ จากสมาชิก แต่ทว่าธอมป์สันก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากพรรค ในเดือนกรกฎาคม 1956 เขาและจอห์น ซาวิลล์ ได้จัดการประชุมขึ้นเพื่อเปิดให้มีการอภิปรายถกเถียงในทางทฤษฎี[30] และต่อมาก็ช่วยกันจัดทำวารสาร The New Reasoner  ขึ้นมา โดยหวังว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับลัทธิสากลนิยม, สิทธิทางศีลธรรม, สังคมนิยม และความอยุติธรรมต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับ หากแต่ผลของความพยายามดังกล่าวก็คือการที่พวกเขาถูกขับออกจากพรรค และจากนั้นพวกเขาก็ได้ร่วมกับคนอื่นๆ อีกนับหมื่นคนผู้ซึ่งทิ้งพรรคและสร้างสรรค์สิ่งเรียกว่า "ซ้ายใหม่" (New Left) ขึ้นมา[31]

เช่นเดียวกับ ร็อดนีย์ ฮิลตัน (Rodney Hilton) และ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ในการแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์ของธอมป์สันเมื่อปี 1956 ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธสังคมนิยมหรือลัทธิมาร์กซ แต่หมายถึงการปฏิเสธ "ลัทธิมาร์กซ-ลัทธิเลนิน" ต่อมาธอมป์สันได้นิยามความเป็นสังคมนิยมของเขาในฐานะ "นักสังคมนิยมแนวมนุษย์นิยม" (socialist humanism)[32] ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นแนวคิดที่มีความตระหนักรู้อย่างมีศีลธรรมของลัทธิมาร์กซ์แบบหนึ่งที่ต้องการจะปลดปล่อยมนุษย์จากการตกเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการแสวงหาผลกำไรหรือจากการตกเป็นทาสของ "ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ"[33] ขณะเดียวกัน ธอมป์สันก็นิยามความเป็นลัทธิมาร์กซของเขาในฐานะ "ลัทธิมาร์กซสายมอร์ริสเซียน" (Morrisian-Marxism) ซึ่งหมายถึงลัทธิมาร์กซที่ถูกเปลี่ยนรูปไปแล้วโดยการหมกมุ่นครุ่นคิดและคุณค่าต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานของวิลเลียม มอร์ริส อันที่จริง การแยกตัวออกจากพรรคของเขาไม่ได้หมายถึงการแยกตัวออกจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะที่เป็นขบวนการๆ หนึ่ง และเขาก็นิยามตัวเองในฐานะ "คอมมิวนิสต์ที่มีเสรีภาพทางความคิดและประชาธิปไตย"[34]

ในปี 1959 The New Reasoner ได้ถูกผสมผสานรวมตัวกันกับวารสาร Universities and Left Review เพื่อสถาปนาวารสาร The New Left Review ขึ้นมา ธอมป์สันเขียนบทความและบทวิจารณ์สั้นๆ จำนวนหนึ่งให้กับวารสาร แต่หลังจากการแต่งตั้งให้ เพอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) เป็นบรรณาธิการ เขาก็ถูกขับออกจากกองบรรณาธิการ ในบทความเรื่อง "Outside the Whale" (1960) ถือเป็นการแสดงความโกรธของเขาต่อสมมติฐานที่มีร่วมกันในหมู่ผู้ที่เขียนบทความให้กับ The New Left Review ที่ว่าความพยายามทางการเมืองของชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานนั้นเป็นสิ่งที่อ่อนแอ ชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีกลุ่มปัญญาชนมาร์กซิสต์อย่างพวกเขามาช่วยปลุกเร้าให้การแสดงพลังทางการเมืองของชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานสมบูรณ์เสียงดังและคงทนถาวร ธอมป์สันเสนอว่ามุมมองเช่นนี้ ไม่เพียงยโสโอหัง หากแต่ยังผิดพลาดด้วย เพราะชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานคุ้นเคยกับความคิดของมาร์กซเป็นอย่างดี และในอดีตพวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างราดิคัลได้ สังคมทุนนิยมในอังกฤษ "ถูกเจาะเป็นโพรงพรุน" จนหมดแล้วโดยการเคลื่อนไหวของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และไม่ได้เรียกร้องต้องการทฤษฎีสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากใคร ธอมป์สันกล่าวว่า "สังคมนิยม ณ จุดของการเปลี่ยนผ่านที่มีลักษณะปฏิวัติหนึ่งๆ ต้องเติบโตขึ้นจากความแข็งแกร่งที่มีอยู่แล้ว และไม่มีใครจะสามารถกำหนดแนวความคิดมนุษยธรรมนิยมแบบสังคมนิยมลงมาจากข้างบนได้" จากนั้นในปี 1963 ธอมป์สันก็ตีพิมพ์ The Making of the English Working Class หนังสือที่จะทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วโลก และเป็นหนังสือที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักประวัติศาสตร์ด้านแรงงาน, นักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์นักทฤษฎีวัฒนธรรม, นักมานุษยวิทยา และนักสังคมวิทยา[35]

ในปี 1965 ธอมป์สันเข้าไปกุมทิศทางของศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค อันเป็นที่ที่เขาจะกลายเป็นนักประวัติศาสตร์ด้านแรงงานที่ต่อมาจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในฐานะ "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" และผู้ก่อตั้ง "ประวัติศาสตร์สังคมใหม่"[36] เพราะนอกจากธอมป์สันจะทุ่มเทพลังงานจำนวนมากไปกับความพยายามที่จะช่วยให้นักศึกษาของเขามองเห็นว่าการเขียนประวัติศาสตร์เป็น "สิ่งที่สำคัญยิ่งต่อสุขภาพที่ดีของสังคม" แล้ว เขายังได้ขยายการศึกษาค้นคว้าเข้าไปในประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 ด้วย โดยผลจากการวิจัยนี้ได้นำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือที่สำคัญเล่มถัดมา นั่นคือ Whigs and Hunters: the Origin of the Black Act (1975)[37] อย่างไรก็ตาม เขาไม่เคยเฉื่อยชาทางการเมืองเลย เพราะในปี 1966-1967 เขาและนักสังคมนิยมคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond William) และ สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) ได้ร่วมกันเขียนงานที่ในเวลาต่อมาจะมีชื่อว่า May Day Manifesto 1968 ซึ่งตั้งใจให้เป็นการท้าทายของนักสังคมนิยมต่อกลุ่มพลังฝ่ายขวาของรัฐบาลพรรคแรงงานของวิลสัน ในปี 1970 ธอมป์สันเข้าไปเกี่ยวข้องในการต่อสู้ทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยวอร์ริค เพื่อเปิดโปงการกระทำต่างๆ ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เขามองว่าเป็นการคุกคามทั้งต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพของพลเมือง[38] 

ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ธอมป์สันทิ้งมหาวิทยาลัยวอร์ริคเพื่อทำงานเขียนเต็มเวลา เขาเล่าว่า งานที่ศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมนั้นดีและมีประโยชน์มาก แต่มันทำให้เขาเขียนงานไม่เสร็จ เขารู้สึกว่าเขา "เป็นนักเขียนมากกว่าเป็นครู"[39] ธอมป์สันย้ายไปอาศัยอยู่ในแถบชนบทของเมืองวูสเตอร์เชียร์ ทำงานอยู่ที่นั่นในฐานะนักวิชาการและนักเขียนอิสระ ปัญญาชนสาธารณะ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองต่างๆ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานด้วย[40] ในช่วงสองทศวรรษสุดท้าย หลังจากการที่องค์การนาโต้ (NATO) ตัดสินใจที่จะใช้ขีปนาวุธ Cruise และ Pershing II ในอังกฤษและทั่วยุโรปตะวันตกในช่วงปลายปี 1979 ธอมป์สันได้หันไปอุทิศพลังงานจำนวนมากให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เขากลายเป็นผู้นำในการก่อตั้งและการเคลื่อนไหวของ END (European Nuclear Disarmament) และเชื่อมโยงกิจกรรมดังกล่าวเข้ากับความขัดแย้งในสหภาพโซเวียตและรัฐคอมมิวนิสต์แห่งยุโรปตะวันออก โครงการสุดท้ายนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเกลียดชังของธอมป์สันที่มีต่อสงครามเย็นและการแบ่งแยกยุโรปออกจากกัน END ดึงดูดความสนใจและการสนับสนุนจากผู้คนนับล้าน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการใช้ขีปนาวุธก็ตาม แต่ก็สามารถบ่อนเซาะอำนาจรัฐทั้งในตะวันตกและตะวันออกได้อย่างมาก และการบรรลุผลสำเร็จนี้ก็มีพื้นฐานอยู่บนการเคลื่อนไหวมวลชนจากเบื้องล่างด้วย[41] อาจกล่าวได้ว่าการที่ธอมป์สันทุ่มเททั้งเวลาและพลังงานชีวิตแทบจะทั้งหมดให้กับ END ในช่วงระหว่างปี 1980 และ 1985 นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงอย่างมาก แต่กระนั้น ภายหลังจากปี 1985 เขาก็หวนกลับมาทำวิจัยและเขียนงานด้านประวัติศาสตร์อีกครั้ง[42] ในช่วงทศวรรษสุดท้ายนี้ ธอมป์สันเขียนบทความจำนวนมากและหนังสืออีกจำนวนหนึ่ง เช่น งานเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิมาร์กซสายโครงสร้างนิยมอย่าง The Poverty of Theory, หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ที่รอคอยกันมานานอย่าง Customs in Common และงานเขียนอีกชิ้นคือ Witness against the Beast: William Blake and the Moral Law[43] เป็นต้น

 

ภาพ E.P. Thompson ในการประท้วงปี 1980

 

ธอมป์สันเสียชีวิตในวันที่ 28 สิงหาคม 1993 จะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตของเขา ธอมป์สันพยายามที่จะทำให้ผู้คนสนใจในประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วของอาวุธนิวเคลียร์จักรพรรดินิยมโซเวียตและอเมริกา, ความพยายามที่จะบ่อนทำลายสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงการสังเกตการณ์เหล่านี้พัวพันอยู่กับการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายและการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเช่นเดียวกับในงานเขียนทั้งหมดของธอมป์สัน ในประเด็นเหล่านี้ เราจะมองเห็นความเชื่อของเขาที่ว่า ประวัติศาสตร์สามารถกระตุ้นให้เกิดการกระทำทางการเมืองได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ธอมป์สันก็ดำเนินชีวิตตามมันไปด้วยตัวของเขาเอง[44] เชียลา โรว์บอแธม (Sheila Rowbotham) พูดถึงธอมป์สันในวันที่เขาจากไปว่า ธอมป์สันเป็น "นักคิดที่ยิ่งใหญ่มากคนหนึ่งในยุคสมัยของเรา"[45] และแม้ว่าใน Arguments Within English Marxism (1980) เพอร์รี แอนเดอร์สันจะโต้แย้งธอมป์สันแทบจะในทุกประเด็น อีกทั้งยังเป็นคู่ถกเถียงโต้แย้งที่สำคัญของธอมป์สันอยู่เป็นเวลานานหลายปีด้วยก็ตาม แต่เขาก็กล่าวว่า "เอ็ดเวิร์ด ธอมป์สันเป็นนักเขียนสังคมนิยมที่ดีที่สุดของเราในวันนี้ แน่นอนว่าในอังกฤษ และอาจเป็นไปได้ว่าในยุโรปด้วย ผู้อ่าน The Making of the English Working Class หรือ Whigs and Hunters จะยังคงจดจำงานวรรณกรรมที่สำคัญเหล่านี้ได้เสมอ ความหลากหลายอย่างน่าพิศวงของท่วงทำนองและจังหวะจะโคนที่ดำเนินไปตลอดการเขียนงานของธอมป์สัน ณ จุดสูงสุดแห่งพลังของมัน ความเร่าร้อนกระตือรือต้นสลับกับความขี้เล่นยั่วหยอก การกัดกร่อน ความปราณีต ภาษาพูดที่เป็นกันเองและเหมาะสมมีมารยาท"[46]

 

ว่าด้วย The Making of The English Working Class

 

ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์และบทความเชิงวิพากษ์ของเขา ธอมป์สันได้ดำเนินการต่อสู้ทางภูมิปัญญาอย่างทรหดอดทนเพื่อต่อต้านงานศึกษาในแนวมาร์กซิสม์และสังคมศาสตร์จำนวนมากที่ถูกสร้างบุคลิคภาพขึ้นมาโดยลัทธิเศรษฐกิจกำหนด (economic determinism) และโดยการปฏิเสธตัวกระทำการที่เป็นมนุษย์ (human agency) นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่า ลัทธิมาร์กซ์เป็นทฤษฎีประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด แต่มันไม่ใช่กฎประวัติศาสตร์ในแง่ที่การดำรงอยู่ของมนุษย์แทบจะถูกทิ้งไว้ภายนอกแบบแผนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน "ชนชั้น" ก็เป็นแนวคิดทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นเพียงโครงสร้างทางสังคมวิทยาหรือหมวดหมู่แนวคิดทางสังคมวิทยาเท่านั้น[47] ด้วยเหตุนี้ ข้อโต้เถียงแรกๆ ของธอมป์สันในวารสาร The New Reasoner จึงอยู่ที่การคัดค้าน "ตัวแบบฐานกำหนดโครงสร้างส่วนบน" (the base-superstructure model) โดยธอมป์สันบันทึกไว้ว่า ทั้งๆ ที่มาร์กซและเองเกลส์พยายามรักษาความคิดที่ให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ในเชิงวิภาษวิธี (dialectical interaction) ระหว่างจิตสำนึกทางสังคมและการดำรงอยู่ทางสังคมเอาไว้เสมอ แต่การใช้คำอุปมาที่ว่าด้วย "ฐานกำหนดโครงสร้างส่วนบน" ก็มักจะลดทอนแนวคิดของมาร์กซและเองเกลส์ในเรื่อง "กระบวนการ" ให้กลายเป็นเพียงตัวแบบที่หยุดนิ่งตายตัว ยิ่งไปกว่านั้น มันยังกลายเป็นตัวแบบที่ "เลวร้ายและอันตราย" ด้วย เมื่อสตาลินใช้มันในฐานะตัวแบบในเชิงกลไกที่ทำงานได้เองแบบกึ่งอัตโนมัติและเป็นอิสระจากตัวกระทำการที่เป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึก[48]

ธอมป์สันมองว่าความพยายามที่จะทำให้แนวคิดเรื่อง "องค์รวมทางสังคม" เป็นแนวคิดมาร์กซิสต์ทางเลือกเพื่อหลีกหนีออกไปจากแนวคิดแบบกลไกนั้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และความตั้งใจของธอมป์สันก็แจ่มชัดยิ่ง นั่นคือ โดยผ่านการใช้แนวการวิเคราะห์ว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น (class-struggle analysis) เขาพยายามที่จะสร้างแนวความคิดว่าด้วยวิภาษวิธีในเชิงวัตถุนิยมของการดำรงอยู่ทางสังคมและจิตสำนึกทางสังคมขึ้นมาใหม่ที่ห่างไกลออกไปจากการเป็นตัวแบบที่แข็งทื่อตายตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายนัก เนื่องจากคุณลักษณะที่แข็งทื่อตายตัวของ "ตัวแบบฐานกำหนดโครงสร้างส่วนบน" และความโน้มเอียงไปในทางลัทธิเศรษฐกิจกำหนดของมันนั้นก็มีผลกระทบต่อแนวคิดว่าด้วยชนชั้นของนักลัทธิมาร์กซด้วย นี่เองคือปัญหาทางภูมิปัญญาที่ธอมป์สันต้องเผชิญหน้าในการเขียน The Making เช่นเดียวกับที่เขาได้พยายามชี้ให้เห็นในบทความหลายชิ้นที่เขียนขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ด้วย[49]

เช่นนี้แล้ว The Making จึงเป็นงานเขียนว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคมที่สำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และธอมป์สันเองก็ตั้งใจที่จะให้ The Making มีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์นิพนธ์และในแง่ทฤษฎีทางสังคมด้วย[50] ดังที่เขากล่าวว่า "ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกมองในฐานะงานเขียนที่มีคุณูปการต่อการทำความเข้าใจเรื่องชนชั้น" และในถ้อยแถลงของเขาที่ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นถ้อยแถลงที่คลาสสิคอยู่ ธอมป์สันได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งต่อสิ่งที่เขาถือว่าเป็นภารกิจของเขาในฐานะนักประวัติศาสตร์ นั่นคือ

ฉันกำลังพยายามที่จะช่วยเหลือช่างทำถุงน่องผู้ยากไร้, ผู้เช่านาลัดไดต์ (Luddite) ที่จ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้, ช่างทอที่ยังทอผ้าด้วยกี่ทอผ้าล้าสมัย ช่างฝีมือ "ยูโทเปียน" และแม้แต่เหล่าสาวกผู้หลงผิดของ โจแอนนา เซาท์คอต (Joanna Southcotts) จากการวางมาดราวกับว่าตัวเองสูงส่งเหนือกว่าใครๆ อย่างมากมายของคนรุ่นหลัง ทักษะฝีมือและจารีตประเพณีต่างๆ ของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่กำลังจะตาย ความเป็นปฏิปักษ์ของพวกเขาต่ออุตสาหกรรมนิยมใหม่อาจเป็นสิ่งที่แลดูล้าหลัง ความคิดแบบนักชุมชนนิยมของพวกเขาอาจแลดูเพ้อฝัน, การสมคบคิดกันเพื่อก่อการกบฏของพวกเขาอาจแลดูมุทะลุบ้าระห่ำ หากแต่พวกเขามีชีวิตผ่านช่วงเวลาของความโกลาหลทางสังคมที่รุนแรงแหลมคมยิ่ง ขณะที่พวกเราไม่เคยผ่าน ความมุ่งมาดปรารถนาของพวกเขาเป็นสิ่งที่ใช้การได้ในเงื่อนไขของประสบการณ์ที่เป็นของพวกเขาเอง และถ้าหากพวกเขาจะเป็นผู้บาดเจ็บล้มตายของประวัติศาสตร์, พวกเขาก็ควรที่จะถูกประณามภายใต้เงื่อนไขชีวิตของพวกเขาเอง[51]

ในฐานะงานที่ศึกษา "การก่อตัวทางชนชั้น" The Making ถูกเขียนขึ้นเพื่อโต้เถียงกับการทำงานของนักสังคมวิทยาในแวดวงของ "ผู้ที่ศึกษาการแบ่งชนชั้นทางสังคม" ที่มักจะนิยามชนชั้นในฐานะโครงสร้างหรือหมวดหมู่ที่หยุดนิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง ธอมป์สันเสนอว่า ชนชั้นเป็น "ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์" และเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ "เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของมนุษย์" ซึ่งก็เป็น "ความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์" ด้วย ธอมป์สันไม่เห็นด้วยกับการหยุดความสัมพันธ์ให้ตายทื่อไว้ ณ ชั่วขณะเวลาหนึ่งๆ แล้วทำการวิเคราะห์ "โครงสร้าง" ของมันโดยละเอียด เพราะเขามองว่าความสัมพันธ์ต้องถูกก่อรูปขึ้นในหมู่ผู้คนจริงๆ และในบริบทที่เป็นจริงหนึ่งๆ เท่านั้น เขายืนยันว่าเราไม่สามารถที่จะมีชนชั้นที่แตกต่างกันสองชนชั้น โดยแต่ละชนชั้นนั้นดำรงอยู่อย่างแยกขาดเป็นอิสระจากกัน และจากนั้นจึงค่อยนำเอาทั้งสองชนชั้นนั้นเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์เดียวกันได้ เช่น เราไม่สามารถที่จะมี "ความรัก" ได้โดยปราศจาก "คู่รัก" และไม่สามารถที่จะมี "ความเคารพเชื่อฟัง" ได้โดยปราศจาก "ผู้ดีสูงศักดิ์" และ "ข้ารับใช้" เนื่องจาก "ชนชั้นเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์บางพวกซึ่งมีประสบการณ์ร่วมกัน (ทั้งที่สืบทอดมาจากอดีตและแบ่งปันร่วมกันในปัจจุบัน) รู้สึกถึงและแสดงอัตลักษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ของพวกเขาออกมาอย่างชัดแจ้งทั้งในหมู่พวกเขาเองและที่ต่อต้านขัดแย้งกับมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางผลประโยชน์แตกต่าง (และมักจะอยู่ตรงกันข้ามเสมอ) จากผลประโยชน์ของพวกเขา" ประสบการณ์ทางชนชั้นถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เข้าสู่มนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดหรือเข้ามาอย่างไม่เต็มใจ จิตสำนึกทางชนชั้นเป็นวิธีการที่ประสบการณ์เหล่านี้ถูกจัดการในเงื่อนไขทางวัฒนธรรมจากนั้นก็ก่อรูปขึ้นในจารีตประเพณี ระบบคุณค่า ความคิด และรูปแบบเชิงสถาบันต่างๆ[52]

คำว่า "ประสบการณ์" ปรากฏให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายๆ หน้าของ The Making และในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นๆ ของธอมป์สัน และเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องชนชั้นของเขาด้วย ธอมป์สันกล่าวว่า "ประสบการณ์" สัมพันธ์กับ "เวลา" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประวัติศาสตร์[53] และเหนืออื่นใดทั้งหมด ชนชั้นเป็น "ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์" ในความหมายที่ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังที่ธอมป์สันกล่าวว่า "ถ้าเราหยุดประวัติศาสตร์เอาไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่ง จุดจุดนั้นก็จะไม่มีชนชั้นดำรงอยู่ จะมีก็แต่ปัจเจกชนกลุ่มหนึ่งพร้อมด้วยประสบการณ์กลุ่มหนึ่ง การที่เราจะเข้าใจชนชั้นได้นั้น มีแต่จะต้องเฝ้ามองดูผู้คนเหล่านี้แบบข้ามยุคข้ามสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเพียงพอ, สังเกตดูแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมของพวกเขา, ความคิดต่างๆ ของพวกเขา และสถาบันต่างๆ ของพวกเขา" (เท่านั้น) ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นในฐานะ "ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์" (ไม่ใช่ในฐานะโครงสร้างหรือหมวดหมู่การวิเคราะห์แบบหนึ่ง) ยังเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับ "ตัวกระทำการ" (agency) และ "จิตสำนึก" ด้วย ธอมป์สันตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า The Making เพราะมันเป็นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการอันตื่นตัวกระตือรือร้นซึ่งเป็นหนี้บุญคุณต่อ "ตัวกระทำการ" มากพอๆ กับ "การเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขแวดล้อม" (conditioning) ธอมป์สันกล่าวในเวลาต่อมาว่า "ชนชั้นต้องถูกนิยามโดยผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา และในท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นคำนิยามของมันเพียงอันเดียวเท่านั้น"[54]

The Making เป็นการศึกษา "การก่อตัว" ของชนชั้นแรงงานอังกฤษในช่วงนับตั้งแต่ทศวรรษ 1790 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1830 และการปรากฏขึ้นของจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานที่ต่อมาจะบรรลุถึงจุดสูงสุดของมันในรูปโฉมของ "ขบวนการกฎบัตรประชาชน" หรือ Chartism[55]มันพยายามแสดงให้เห็นวิธีการที่ประชาชนผู้ใช้แรงงานอังกฤษเกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นในหมู่พวกเขาและร่วมกันต่อต้านนายจ้างของพวกเขาในช่วงระหว่างปี 1790 จนถึงปี 1830 เนื้อหาสาระของ The Making แบ่งออกเป็น ส่วน ส่วนที่คือ "The Liberty tree" ซึ่งกล่าวถึงจารีตประเพณีของสามัญชน 3 จารีตที่ได้รับการสืบทอดโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงานในช่วงระยะแรกเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) ดิสเซ็นต์ (dissent) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิสเซ็นต์ที่ถูกปรับแปลงแล้วโดยนิกายเมธอดิสม์ (Methodism)[56], (2) "ม็อบ" และความยุติธรรมแบบชาวบ้าน และ (3) สิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของชนชาวอังกฤษ (the ‘Englishman’s birthright’) รวมถึงหลักประกันทางกฎหมายและสิทธิของมโนธรรมสำนึกอิสระและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ, ส่วนที่คือ "The Curse of Adam" ซึ่งเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับการตกต่ำเสื่อมทรามลงของสภาพเงื่อนไขในการทำงานและการควบคุมปราบปรามทางศาสนา ทางสังคม และทางการเมืองที่เติบโตเข้มข้นมากขึ้น อันเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และส่วนที่ คือ "The Working Class Presence" ซึ่งทำการสืบเสาะแกะรอยและแสดงให้เห็นการตอบโต้ของประชาชนผู้ใช้แรงงานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งส่งผลให้จิตสำนึกทางชนชั้นของพวกเขาถูกพัฒนาขึ้นมา[57] 

สำหรับเนื้อหาส่วนแรกของ The Making ซึ่งก็คือ "The Liberty tree" นั้น ธอมป์สันพยายามตรวจสอบสืบค้นและแสดงให้เห็นจารีตประเพณีของประชาชน จารีตซึ่งมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปลุกระดมของฌากอแบ็งอังกฤษ (English Jacobin) ในทศวรรษ 1790 ประการแรกสุด ธอมป์สันกล่าวถึงจารีตของดิสเซ็นต์และความเปลี่ยนแปลงซึ่งมันได้รับหรือผ่านประสบการณ์มาในรูปแบบของเมธอดิสม์ จากนั้นธอมป์สันก็กล่าวถึงการรวบรวมเอาสมมติฐานและความคาดหวังต่างๆ ของประชาชนมารวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างสิ่งที่ต่อมาจะเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "สิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของชนชาวอังกฤษ" และประการสุดท้าย ธอมป์สันจะกล่าวถึงการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองของฌากอแบ็งอังกฤษ ซึ่งก็คือ "สมาคมคอร์เรสพอนดิง" (Corresponding Societies) นั่นเอง[58] ควรกล่าวด้วยว่า ในเนื้อหาส่วนแรกของใน The Making ซึ่งพยายามชี้ให้เห็น "อิทธิพลในเชิงอัตวิสัย" (subjective influences) ต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อ "การสร้าง" ชนชั้นแรงงานอังกฤษนี้ ธอมป์สันตั้งใจที่จะเอาชนะแนวพินิจฉบับมาตรฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมในด้านเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านแรงงาน ที่มักจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จากนั้นก็ค่อยกล่าวถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมและการเมืองของยุคสมัยนั้นๆ ในฐานะสิ่งที่ถูกกำหนดมาก่อนแล้วโดยเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่กระนั้น ธอมป์สันเองก็ไม่ได้ละเลยความสำคัญของวัตถุนิยมแต่อย่างใด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ธอมป์สันกลับเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงจารีตต่างๆ ของประชาชนซึ่งมีทั้งจารีตทางศาสนา, จารีตแบบกึ่งการเมือง, จารีตทางการเมือง และการจัดองค์กรทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่า "การสร้าง" ตัวเองขึ้นมาของชนชั้นผู้ใช้แรงงานนั้น เป็น "ข้อเท็จจริง" ของประวัติศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญมากพอๆ กันกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ[59]

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจารีตดิสเซ็นต์ซึ่งหมายถึงกลุ่มนิกายทางศาสนาต่างๆ ที่แยกตัวและไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ เช่น เควกเกอร์ (Quakers)แบ๊บติสท์ (Baptists), ยูนิแทเรียนนิสม์ (Unitarianism), เพรสไปทีเรียนนิสม์ (Presbyterians)เมธอดิสม์ และอื่นๆ ซึ่งต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพของพลเมือง, เชิดชูเรื่องความเป็นชาวคริสต์ที่มีเหตุผล และเรียกร้องการปกครองตนเองและความเป็นอิสระของท้องถิ่นนั้น ธอมป์สันเสนอว่าภายหลังจากความพ่ายแพ้ของพวกเลเวลเลอส์ (Levellers)[60] และเมื่อความหวังที่จะได้มาซึ่งระบอบการปกครองของนักบุญถูกทำลายลงในศตวรรษที่ 17 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการแบ่งแยกออกจากกันอย่างแหลมคมระหว่างแรงกระตุ้นทางจิตวิญญาณและแรงกระตุ้นทางโลกวิสัยของเหล่าคนยากคนจนที่เป็นพิวริตันนิสม์ (Puritanism)[61] ดังที่พวกแบ๊บติสท์ประกาศในปี 1654 ว่า บัดนี้ "ไม่มีพื้นดินให้นักบุญเหยียบ เช่นเดียวกับความหวังที่จะให้การปกครองและรัฐบาลของโลกตกอยู่ในมือของเหล่านักบุญจนกว่าวันแห่งการตัดสินสุดท้ายจะมาถึง แต่กว่าจะถึงวันนั้น มันเป็นชะตากรรมของพวกเขาที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในโลกอย่างอดทนจนกว่าจะบรรลุถึงการปกครองดังกล่าว" ซึ่งธอมป์สันเสนอว่า นี่คือ "การหันเหออกจากอาณาจักรภายนอกไปสู่อาณาจักรภายใน" ของดิสเซ็นต์ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจศตวรรษที่ 18 และการทำความเข้าใจองค์ประกอบที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องในการเมืองของชนชั้นแรงงานยุคหลัง ซึ่งในแง่หนึ่งนั้น เราสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้จากการที่กลุ่มหรือสมาคมต่างๆ ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาด้วยประโยคสองประโยค นั่นคือ (1) พลังด้านบวกของพิวริแตนนิสม์ และ (2) การล่าถอยของดิสเซ็นต์เพื่อปกป้องตัวเองจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากแต่เราก็ต้องมองเห็นวิธีการที่กลุ่มนิกายต่างๆ ที่แยกตัวและไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรแห่งอังกฤษเหล่านี้ยอมเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโลกอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ไปพร้อมๆ กับการละเว้นจากความมุ่งหวังที่จะบรรลุถึงซึ่ง "การปกครองและรัฐบาล" ของตนเองนั้น ทำให้พวกเขาสามารถหลอมรวมเอาศาสนาแห่งความเงียบสงบทางการเมืองเข้ากับลัทธิราดิคัลที่กำลังหลับไหลอยู่และเก็บรักษามันไว้ในภาพอุปมาของคำเทศน์นาและหนังสือเล่มเล็กๆ หรือใบปลิวโฆษณาการเมืองและศาสนาต่างๆ รวมทั้งในรูปแบบของการจัดองค์กรทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยหวังว่าวันหนึ่งมันจะแตกระเบิดลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไรด้วย ส่วนงานเขียนที่ถือว่าเป็นรูปธรรมของความตึงเครียดระหว่าง "อาณาจักรภายนอก" กับ "ภายใน" ที่แสดงนัยถึงการปฏิเสธอำนาจของผู้ปกครองเว้นแต่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังกล่าวก็คือ Pilgrim's Progress (1678) ของ จอห์น บันยัน (John Bunyan) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เราจะเห็นการที่ลัทธิราดิคัลที่กำลังหลับไหลถูกปกปักษ์รักษาเอาไว้ตลอดศตวรรษที่ 18 และจากนั้นก็ระเบิดออกมาครั้งแล้วครั้งเล่าในศตวรรษที่ 19 โดยธอมป์สันถือว่า Pilgrim's Progress เป็นหนึ่งในงานเขียนที่เป็นรากฐานสำคัญของการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานอังกฤษ เช่นเดียวกับ Rights of Man (1792) ของ โธมัส เพน (Thomas Paine) นอกจากนี้ บุคคลทั้งสองก็ยังมีคุณูปการอย่างมากในการเก็บรักษาความคิดและทัศนคติต่างๆ ที่ต่อมาจะถูกดึงมาใช้โดยขบวนการชนชั้นแรงงานอังกฤษในช่วงระหว่างทศวรรษ 1790-1850 ด้วย[62]

จารีตดิสเซ็นต์ยังมีคุณสมบัติที่สำคัญอีก ประการ นั่นคือ (1) ความคิดและการทดลองแบบนักชุมชนนิยม (communitarian) ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พวกเควกเกอร์ที่ก่อตั้งชุมชนเชคเกอร์ (Shaker) ขึ้นมาและหลังจากนั้น โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ก็จะทำให้กลายเป็นที่รู้จักและทำให้กลายเป็นเรื่องทางโลกแทน และพวกโมเรเวียน (Moravians) ที่มีชาวอังกฤษจำนวนมากเข้าร่วมกับชุมชนของพวกเขาในหลายเมือง เป็นต้น ธอมป์สันเสนอว่าจารีตแบบนักชุมชนนิยมนี้บางครั้งก็ถูกพบเห็นในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจารีตใต้ดินอีกจารีต นั่นคือ ความเชื่อที่ว่าพระเยซูจะลงมาจุติในโลกมนุษย์อีกครั้งเมื่อครบเวลาหนึ่งพันปี (millenarianism) เช่น พวกแรนเตอร์ (Ranters) และพวกฟิฟธ์ โมนาร์คี เมน (Fifth Monarchy Men) ซึ่งเป็นสมาชิกนิกายโปรเตสแตนต์ที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติอังกฤษแต่ไม่เคยถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความคำสอนของพระเจ้าและความหวังของพวกเขาเกี่ยวกับ "เยรูซาเล็มใหม่" (New Jerusalem) ที่เชื่อกันว่าเป็นพลับพลาของพระเจ้า เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ เมืองของพระเจ้า หรือเป็นเมืองสวรรค์บนแผ่นดินโลก ธอมป์สันเสนอว่าภาพอุปมาไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนว่าผู้คนเหล่านี้วิกลจริต หากแต่เป็นหลักฐานที่แสดงถึงแรงกระตุ้นเชิงอัตวิสัยอันทรงพลังที่เป็น "ความจริง" พอๆ กับแรงกระตุ้นในเชิงภาววิสัย มันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นวิธีที่มนุษย์รู้สึก หวัง รัก และเกลียด และสะท้อนให้เห็นวิธีที่มนุษย์เก็บรักษาค่านิยมต่างๆ เอาไว้ในภาษาของพวกเขาด้วย และมันก็เป็นในช่วงไม่กี่ปีภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสนี่เองที่กระแสความคิดเรื่องพระเยซูจะลงมาจุติในโลกมนุษย์อีกครั้งเมื่อครบเวลาหนึ่งพันปีซึ่งเคยหลบอยู่ใต้ดินมาเนิ่นนานได้โผล่พรวดขึ้นมาพร้อมกับพลังที่ไม่มีใครคาดถึง[63] และคุณสมบัติที่ (2) ก็คือการให้น้ำหนักกับ "เสรีภาพของมโนธรรมสำนึก" อันเป็นคุณค่าที่สำคัญอีกอันหนึ่งซึ่งสามัญชนพยายามปกป้องให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของ "เครือจักรภพอังกฤษ" ดังที่ธอมป์สันกล่าวว่า "ชนบทถูกปกครองโดยพวกผู้ดี เมืองถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่ทุจริตชั่วร้าย ชาติถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่ทุจริตชั่วร้ายที่สุด หากแต่โบสถ์ โรงเหล้าเล็กๆ และบ้านเป็นของพวกเขา ในสถานที่ต่างๆ ที่ชุ่มโชกไปด้วยการสักการะบูชา มีห้องว่างให้กับชีวิตทางภูมิปัญญาที่มีอิสระและการทดลองในเชิงประชาธิปไตยให้แก่ 'สมาชิกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด'" เสมอ[64] 

ธอมป์สันยังชี้ให้เห็นด้วยว่า มีองค์ประกอบหลายประการของจารีตดิสเซ็นต์ที่ถูกสืบทอดอย่างมีการปรับแปลงโดยเมธอดิสม์ซึ่งทำให้จารีตดิสเซ็นต์สามารถทนทานคงอยู่ต่อมาได้อีกนานในฐานะประสบการณ์อันหนึ่งในการก่อตัวของชนชั้นแรงงาน ธอมป์สันอธิบายว่าแรกเริ่มเดิมทีนิกายเมธอดิสม์เกิดขึ้นจากความปรารถนาของ จอห์น เวสลีย์ (John Wesley) ที่พยายามจะฟื้นฟูคำสอนของพระเยซูเนื่องจากโบสถ์ในสังกัดของคริสตจักรแห่งอังกฤษนั้นลุ่มหลงในวัตถุและเกียจคร้านเฉื่อยชา เมธอดิสม์แบบบรรพกาล (Primitive Methodists) เป็นศาสนาของคนจน ขณะที่พวกเวสเลียนนิสม์ออร์ธอด็อกซ์ (orthodox Wesleyanism) ถือว่าเมธอดิสม์เป็นศาสนาเพื่อคนจน เวสลีย์ประสบความสำเร็จในการรวมเอาประชาธิปไตยเข้ากับระเบียบวินัยและรวมเอาหลักการเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างสมดุล แต่ภายในสมาคมเมธอดิสต์นั้น ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาจะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยที่เข้มงวดซึ่งเกิดขึ้นจากความปรารถนาของเวสลีย์ที่จะทำให้ชาวเมธอดิสต์เป็นกลุ่มคนพิเศษ เช่น ต้องไม่แต่งงานนอกโบสถ์ หลีกเลี่ยงการสมาคมกับเครือญาติเพราะพวกนั้นยังอยู่ในอาณาจักรของซาตาน และที่สำคัญก็คือเวสลีย์ต่อต้านความเป็นอิสระของท้องถิ่นและเขานิยมการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเขาและคนของเขา อย่างไรก็ตาม ตลอดประวัติศาสตร์ของเมธอดิสม์นั้น จิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยก็ได้ก่อรูปขึ้นมาท้าทายต่อต้านหลักการและรูปแบบการจัดองค์กรที่เวสลีย์กำหนดไว้ ในปลายศตวรรษที่ 18 เมธอดิสม์ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นภายในตัวมันเอง เริ่มเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ เช่น การเลือกตั้งภายใน, ความเป็นอิสระของท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของฆารวาสในการประชุม และเมื่อเวสลีย์ตายในปี 1791 กระแสประชาธิปไตยภายในเมธอดิสม์ก็เพิ่มมากขึ้น ในปี 1797 อเล็กซานเดอร์ คิลแฮม (Alexander Kilham) ได้แยกตัวออกจากเมธอดิสม์ของกลุ่มเวสเลียนและก่อตั้ง "นิว คอนเน็คชั่น" (New Connextion) ขึ้นโดยมีการจัดโครงสร้างองค์กรแบบประชาธิปไตย "นิว คอนเน็คชั่น" มีอิทธิพลอยู่ในย่านศูนย์กลางของโรงงานท่ามกลางช่างฝีมือและช่างท้อผ้าที่เป็นพวกฌากอแบ็งนิยม ขณะที่ในบางเมือง สมาชิกของ "นิว คอนเน็คชั่น" ถูกรู้จักในฐานะพวก "ธอม เพน เมธอดิสต์" (Tom Paine Methodists) อย่างไรก็ตาม เมธอดิสม์กระแสใหม่นี้มีอิทธิพลน้อยกว่ากระแสเมธอดิสม์ของเวสลีย์และอ่อนแอลงเมื่อคิลแฮมเสียชีวิตในปี 1798 แต่กระนั้น ตลอดยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมธอดิสม์ก็ไม่เคยที่จะสามารถเอาชนะความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างกระแสประชาธิปไตยกับกระแสอำนาจนิยมภายในตัวมันเองได้ นอกจากนี้ ธอมป์สันยังเสนอด้วยว่า ในระดับหนึ่ง เมธอดิสม์เป็นพลังที่ทำให้เกิดความถดถอยทางการเมือง ขณะที่บางคนถึงกับกล่าวว่าเมธอดิสม์ขัดขวางการปฏิวัติอังกฤษในทศวรรษ 1790 แต่ทว่าในอีกระดับหนึ่งนั้น เมธอดิสม์ก็ช่วยทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองและความสามารถในการจัดองค์กรของชนชั้นแรงงานเติบโตเพิ่มมากขึ้น[65]

ส่วนจารีตประเพณีของประชาชนที่เรียกว่า "ม็อบ" นั้น ธอมป์สันเริ่มต้นด้วยการอภิปรายสั้นๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมทางสังคมในศตวรรษที่ 18 จากนั้นก็ให้คำอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบการลุกฮือก่อจลาจลที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบที่สามารถมองเห็นได้ในศตวรรษนั้น เขาเสนอว่า ในด้านหนึ่ง มีการลุกฮือก่อจลาจลที่เกิดขึ้นแบบเป็นไปเองซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อสำนึกเรื่อง "ความยุติธรรม" ของประชาชนถูกกระตุ้นหรือถูกปลุกขึ้นมา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการลุกฮือก่อจลาจลของฝูงชนที่เกิดขึ้นจากการปลุกปั่นหรือถูกควบคุมจัดการโดยบุคคลที่มีฐานะสูงกว่าหรือดำรงอยู่แยกต่างหากจาก "ประชาชน" เช่น ม็อบจัดตั้งของกษัตริย์และคริสตจักรแห่งอังกฤษ รวมทั้งม็อบจัดตั้งของสมาคมคอร์เรสพอนดิงด้วย ธอมป์สันมองว่า "การก่อจลาจลด้านอาหาร" (food riots) คือความมุมานะพยายามของประชาชนที่จะปกปักษ์รักษาและบังคับใช้แนวคิดเรื่อง "เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมอันเก่าแก่" อีกครั้ง เพื่อต่อต้านเศรษฐกิจของตลาดเสรี นอกจากนี้ ธอมป์สันยังได้กล่าวถึง "ม็อบลอนดอน" ด้วยว่าเป็นการแสดงพลังของประชาชนที่อาจจะถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะของ "การผสมผสานกันระหว่างม็อบกับฝูงชนที่ปฏิวัติ" และการเมืองของพวกเขาก็ควรที่จะต้องถูกมองในฐานะ "การเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน" ด้วย[66]

จารีตประเพณีของสามัญชนอันที่สาม คือจารีตประเพณีเรื่อง "ชนชาวอังกฤษผู้เกิดมาอย่างเสรี" ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เสรีภาพของการพบปะชุมนุมกันในที่สาธารณะ เสรีภาพของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรทางการเมือง และเสรีภาพในการเลือกตั้ง และที่สำคัญก็คือความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีมาแต่กำเนิดต่างๆ อันได้แก่ การมีเสรีภาพจากอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เสรีภาพจากการเข้าจับกุมคุมขังและการดำเนินคดีของตุลาการตามอำเภอใจ ความเสมอภาคที่มีมาก่อนกฎหมาย เสรีภาพจากการเข้าไปรื้อค้นและสอดส่องตรวจตราบ้านช่องตามอำเภอใจ เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในทางมโนธรรมสำนึก ในฐานะที่เป็นผลลัพธ์อันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการยืนยัน ต่อสู้แข่งขัน และยืนยันอีกครั้งอย่างไม่ลดละ จารีตประเพณีอันนี้ถูกสามัญชนยึดถือมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ฉันทามติทางศีลธรรม" ของพวกเขา ซึ่งเป็นเสมือนแผนที่ของดินแดนที่ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว และพรมแดนของมันก็เป็นเครื่องหมายของปริมณฑลอันหนึ่งซึ่งประชาชนอังกฤษจะไม่มีวันยินยอมให้ถูกแทรกแซงหรือถูกบุกรุกล่วงละเมิดโดยเหล่าผู้มีอำนาจ ธอมป์สันกล่าวว่า ถึงแม้โลกทัศน์ของสามัญชนแบบดังกล่าวอาจจะไม่ใช่โลกทัศน์แบบประชาธิปไตยเสมอไปก็ตาม หากแต่มันเป็นโลกทัศน์ที่ "ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์" อย่างแน่นอน และพวกเขาก็มองว่าตัวเองเป็นผู้ที่เชื่อใน "ลัทธิปัจเจกชนนิยม" ที่ถึงแม้ว่าจะมีสิทธิที่ถูกรับรองอยู่เพียงไม่กี่อย่างก็ตาม แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็จะต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายที่ขัดขวางการล่วงละเมิดจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจต่างๆ[67] 

ธอมป์สันเสนอว่า โธมัส เพน คือบุคคลที่แสดงออกซึ่งจารีตประเพณี "ชนชาวอังกฤษผู้เกิดมาอย่างเสรี" อย่างชัดเจนที่สุด และเขาก็ทำเช่นนั้นในรูปโฉมใหม่และมีความสำคัญอย่างถอนรากถอนโคนด้วย ในผลงานที่เป็นที่นิยมอย่างมากของเขา Rights of Man ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อตอบโต้ Reflections on the Revolution in France ของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)[68] โธมัส เพนได้ให้โวหารใหม่ที่ว่าด้วยหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคนแบบถอนรากถอนโคน (egalitarianism) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหรือสัมผัสถึงการขานรับจารีต "ชนชาวอังกฤษผู้เกิดมาอย่างเสรี" อย่างลึกซึ้งที่สุด และทะลุทะลวงเข้าไปในความคิดแบบกึ่งการเมืองต่างๆ ของประชาชนผู้ใช้แรงงานในเมืองด้วย ข้อเสนอของ Rights of Man ได้ฝ่าทะลวงเข้าไปในธรรมเนียมและแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่สร้าง "ฉันทามติทางศีลธรรม" และเตรียมการไว้ล่วงหน้าให้แก่ความคิดประชาธิปไตยที่มีความหมายกว้างกว่าซึ่งถือว่าเป็นที่สิ่งจำเป็นสำหรับการปรากฏตัวขึ้นของขบวนการแรงงานด้วย[69]

ทั้งจารีตดิสเซ็นต์และจารีตว่าด้วยเสรีภาพได้ร่วมกันก่อรูปการปลุกระดมของฌากอแบ็งอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1790 ซึ่งถูกเร่งเร้าให้เกิดขึ้นโดยการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 แต่กระนั้น ธอมป์สันก็ให้น้ำหนักว่าการปลุกระดมชาวอังกฤษนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อประชาธิปไตยแบบอังกฤษมากกว่า ยิ่งกว่านั้น "สมาคมคอริสพอนดิง" ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของฌากอแบ็งอังกฤษก็ถือว่าเป็น "จุดเชื่อมต่อทางสังคม" อันหนึ่งด้วย ดังที่ธอมป์สันอธิบายว่า "สมาคมคอริสพอนดิงแห่งลอนดอน" นั้น ขยายตัวออกไปในหลายทิศหลายทาง คือขยายตัวออกไปสู่ร้านกาแฟ โรงเหล้า และโบสถ์นอกรีตที่มีความคิดต่อต้านแบบต่างๆ นอกถนนและชายฝั่งฟลีตอันเป็นสถานที่ซึ่งช่างผู้ชำนาญงานอาจจะเดินกระทบไหล่กับช่างพิมพ์ เจ้าของร้าน ช่างทำแบบพิมพ์ หรือนักกฎหมายหนุ่ม ในขณะเดียวกัน มันก็ขยายออกไปในอีกทิศทาง นั่นคือ ขยายตัวเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับชุมชนของชนชั้นแรงงานดั้งเดิมกลุ่มต่างๆ เช่น คนงานตามชายหาดแห่งเมืองเว็ปปิงช่างทอผ้าไหมแห่งเมืองสปิตอลฟิลด์ส และเมืองเซาทวาร์ค อันเป็นป้อมปราการของกลุ่มนิกายทางศาสนาที่แยกตัวและไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรแห่งอังกฤษรุ่นเก่ากลุ่มต่างๆ เป็นต้น เช่น สมาคมคอริสพอนดิงทางตอนเหนือของเมืองเชฟฟีลด์ก็มีองค์กรต่างๆ ของช่างฝีมือที่ค่อนข้างมีอิทธิพลปรากฏอยู่ด้วย แม้ว่าอาชีพการงานของสมาชิกในองค์กรจะมีความหลากหลายน้อยกว่า "สมาคมคอริสพอนดิงแห่งลอนดอน" ก็ตาม[70]

นอกจากนี้ ธอมป์สันยังเสนอด้วยว่าในช่วงหลายปีของการปลุกระดมของฌากอแบ็งอังกฤษนั้น นอกจากสมาคมคอริสพอนดิงจะเป็น "จุดเชื่อมต่อทางสังคม" แล้ว มันยังเป็น "จุดเชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์" ด้วย เพราะถึงแม้ว่าสมาคมจะถูกปราบปรามอย่างหนัก และความเป็นไปได้ของการเป็นพันธมิตรกันระหว่างชนชั้นกลางผู้เห็นอกเห็นใจกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่เพิ่งจะก่อตัวขึ้นนั้นจะถูกขัดขวางโดยการระเบิดขึ้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ตาม แต่ธอมป์สันก็ยืนยันว่า เรากำลังเข้าใจผิดที่มองว่านี่เป็นจุดสิ้นสุด เพราะอันที่จริงแล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นต่างหาก เพราะในช่วงหลายปีเหล่านี้ได้มีพัฒนาการหลายอย่างที่สามารถเข้าใจได้ในฐานะ "การปฏิวัติอังกฤษ" ซึ่งถือว่าเป็นวิถีทางอันทรงพลังยิ่งที่ช่วยหล่อหลอมจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานในช่วงหลังสงครามขึ้นมา แม้ว่าผลลัพธ์ของช่วงเวลาหลายปีเหล่านี้จะไม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทันทีทันใดก็ตาม หากแต่ในช่วงหลายปีที่ตามมาภายหลังจากประสบการณ์ของฌากอแบ็งในช่วงทศวรรษ 1790 นี้ มันได้ทำให้เมื่อเหล่าช่างกล ช่างฝีมือ และผู้ใช้แรงงานราดิคัลตัดขาดทางการเมืองจากชนชั้นกลางราดิคัลแล้ว พวกเขาก็ยังได้นำเอาประโยชน์จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้สนับสนุนและค้ำจุนจารีตและรูปแบบของการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ของพวกเขาเอง ธอมป์สันกล่าวว่า อันที่จริงแล้ว ในช่วงหลายปีของการถูกปราบปรามเหล่านี้นี่เองที่จิตสำนึกของชนชั้นแรงงานได้เริ่มเติบโตขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ความคิดและการจัดองค์กรของพวกเขาชุ่มโชกไปด้วยแรงกระตุ้นแบบประชาธิปไตยอันแข็งแกร่ง[71] 

ในเนื้อหาส่วนที่สองของ The Making ซึ่งก็คือหัวข้อ "The Curse of Adam" นั้น ธอมป์สันได้หันไปตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตและความสัมพันธ์ทางสังคมในช่วงระหว่างทศวรรษ 1790-1830 ซึ่งเขาถือว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดอีกอันหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการก่อตัวของชนชั้นแรงงานอังกฤษ ในหัวข้อ "Exploitation" ซึ่งเป็นหัวข้อแรกของส่วนที่สองนี้ ธอมป์สันชี้ว่าเขาตั้งใจที่จะเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมากับสมมติฐานที่ว่า "พลังงานไอน้ำและโรงงานฝ้าย ชนชั้นแรงงานใหม่" เขาชี้ว่า "โรงงานที่ผลิตด้วยมือ" เป็นสิ่งที่ยังอยู่ห่างไกลอย่างมากจากการเป็น "เด็กที่แก่ที่สุดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม" ที่มาถึงช้ามาก[72] ธอมป์สันเสนอว่า การก่อตัวของชนชั้นแรงงานถูกพบ ถูกสร้าง หรือถูกหล่อหลอมขึ้นอย่างแท้จริงในประสบการณ์และการต่อสู้ที่หลากหลายของคนงานในเขตเหมืองแร่ คนงานในครัวเรือน ช่างฝีมือต่างๆ และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ธอมป์สันตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอข้อเสนอนี้ขึ้นมานั้น เป็นการเผชิญหน้ากับพวกนักประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่า "working classes" หรือ "lower classes" (ชนชั้นในรูปพหูพจน์) เป็นคำที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้อธิบายความหลากหลายของประสบการณ์ มากกว่าคำว่า "working class" (ชนชั้นในรูปเอกพจน์) อันเดียวโดดๆ ด้วย[73]

ภาระกิจของธอมป์สันคือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งดูเหมือนว่าเป็นประสบการณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้น แท้จริงแล้วเป็น "ประสบการณ์ร่วม" ที่มีหรือถูกแบ่งปันร่วมกันโดยชนชั้นแรงงาน แตกต่างจากพวกนักประวัติศาสตร์ที่อธิบาย "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" ในฐานะที่เป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและหรือกระบวนการทางเทคโนโลยี ธอมป์สันสามารถบรรลุภารกิจนี้ได้ก็เพราะว่าเขาพุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของกระบวนการผลิตและความสัมพันธ์ทางชนชั้นเป็นการเฉพาะ ประสบการณ์ร่วมที่ได้รับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งธอมป์สันแสดงให้เห็นนั้น คือการทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถจะอดทนได้อีกต่อไปแล้ว รูปแบบมีความเข้มข้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น รูปแบบแรกคือ "การขูดรีดทางเศรษฐกิจ" และอีกรูปแบบคือ "การกดขี่ปราบปรามทางการเมือง" ยิ่งไปกว่านั้น ธอมป์สันยังเสนอด้วยว่ากระบวนการทำให้การขูดรีดทางเศรษฐกิจและการกดขี่ปราบปรามทางการเมืองมีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้นนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้นด้วย เกี่ยวกับ "การขูดรีดทางเศรษฐกิจ" นั้น ธอมป์สันเขียนว่า

ในภาคเกษตรกรรมในช่วงหลายปีระหว่าง 1760 และ 1820 นั้น เป็นหลายปีของการล้อมรั้วที่ดินจำนวนมาก ซึ่งทำให้หมู่บ้านแห่งแล้วแห่งเล่า, สูญเสียสิทธิร่วมของพวกเขาไป, กลายเป็นคนไร้ที่ดิน และในทางตอนใต้, แรงงานผู้ถูกทำให้ลำบากยากไร้ก็ได้ละทิ้งการสนับสนุนต่อเจ้าของฟาร์มผู้ให้เช่าที่ดิน, เจ้าของที่ดิน และโบสถ์จำนวนเล็กน้อย ขณะที่อุตสาหกรรมภายในครัวเรือน, นับตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมานั้น, แนวโน้มที่กำลังแผ่ขยายกว้างมากขึ้นก็คือการที่นายจ้างขนาดเล็กหลีกทางให้กับนายจ้างขนาดใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงงานหรือพ่อค้าคนกลาง) และสำหรับส่วนใหญ่ของช่างทอผ้า, ช่างทำถุงเท้า หรือ ช่างทำตะปู ก็กลายเป็นคนงานรับจ้างที่รับรายได้เป็นค่าจ้างจากการจ้างงานที่ไม่แน่นอน ในโรงงานและในพื้นที่ทำเหมืองหลายแห่ง ก็เป็นช่วงเวลาหลายปีของการจ้างแรงงานเด็ก (และแรงงานผู้หญิงแบบลักลอบด้วย) เช่นกัน และระบบโรงงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่พร้อมด้วยระเบียบวินัยในการทำงานแบบใหม่ของมัน, ชุมชนโรงงานหลายแห่งที่ซึ่งเจ้าของโรงงานไม่เพียงสร้างความร่ำรวยขึ้นมาจากแรงงานที่ทำงานด้วยมือเท่านั้น แต่ยังสร้างความร่ำรวยขึ้นมาจากคนรุ่นหนึ่งด้วย ทั้งหมดนี้มีคุณูปการต่อความตรงไปตรงมาของกระบวนการขูดรีดและต่อการเกาะเกี่ยวกันทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ที่ถูกขูดรีด[74]           

ส่วน "การปราบปรามทางการเมือง" นั้น ธอมป์สันได้อธิบายถึงวิธีที่การพัฒนาทุนนิยมเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับผู้ใช้แรงงานลงไปเป็นความสัมพันธ์แบบผ่านเงินสด[75] ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เข้มข้นมากกว่าและมีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่า ขณะเดียวกัน มันก็อาจจะจริงที่ว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เสรีภาพของคนงานมีมากขึ้น แต่กระนั้น "เสรีภาพ" นี้ก็หมายความว่าพวกเขาจะรู้สึกถึงความไร้เสรีภาพของตัวเองมากขึ้นด้วย และความรู้สึกเช่นนี้ก็มักจะถูกยืนยันทุกครั้งที่พวกเขาพยายามจะต่อต้านการขูดรีดครั้งต่างๆ ที่มักจะเผชิญกับการใช้กำลังของนายจ้างหรือรัฐ และโดยปกติแล้วก็ทั้งคู่[76]

สิ่งที่ธอมป์สันเน้นย้ำเป็นพิเศษเกี่ยวกับระยะแรกเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คือความเปลี่ยนแปลงใน (และการทำให้เข้มข้นขึ้นของ) กระบวนการสะสมทุนในฐานะประสบการณ์ทางสังคมและประสบการณ์ของมนุษย์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้อธิบายมันด้วยศัพท์แสงแบบนี้ก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว เขากำลังนำเสนอกระบวนการที่มาร์กซได้อธิบายไว้แล้วใน Capital ในฐานะ "การผนวกกลืนแรงงานในเชิงรูปแบบ" (formal subsumption of labour) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ "การผนวกกลืนแรงงานอย่างแท้จริงโดยทุน" (real subsumption of labour by capital) "การผนวกกลืนแรงงานในเชิงรูปแบบ" เป็นกระบวนการที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วซึ่งให้พื้นฐานสำคัญต่อสิ่งที่ "การผนวกกลืนแรงงานอย่างแท้จริงโดยทุน" หรือกระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ มาร์กซกล่าวว่า "การผนวกกลืนแรงงานในเชิงรูปแบบ" อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้งานที่กำลังทำอยู่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น การขยายเพิ่มขึ้นของจำนวนเวลาในการทำงาน หรืองานอาจกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นหรืออย่างเป็นระเบียบมากกว่าภายใต้สายตาที่คอยตรวจตราจับจ้องของนายทุนเจ้าของผลประโยชน์ แต่มันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการใช้แรงงานโดยตัวมันเอง ในแง่ที่ว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงในการแบ่งงานหรือเทคโนโลยีของแรงงาน ขณะที่มาร์กซดูเหมือนจะอธิบายมันในฐานะกระบวนการที่เป็นสากลในพัฒนาการของระบบทุนนิยม และมันก็ได้มีการประยุกต์ใช้ในโลกที่สาม ขณะที่ในอังกฤษนั้นมันสามารถที่จะถูกมองในฐานะสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง "การสะสมทุนแบบบรรพกาล" ในขบวนการล้อมรั้วที่ดินช่วงแรกๆ และก่อนหน้าที่จะเกิดกระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 ความหมายทางสังคมของมันก็คือ "มันกระทำในฐานะพลังอำนาจที่กำหนดลงไปบนคนงานหลากหลายชนิด" และในฐานะสิ่งที่ทำให้คนงานเหล่านั้นได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน โดยกระบวนนี้เกิดขึ้นก่อนหน้ากระบวนการทำให้ตกอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมที่แท้จริงที่รวบรวมคนงานทั้งหมดเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันและนำเอาพวกเขามารวมไว้ด้วยกันในโรงงาน[77]

ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ The Making ก็คือทักษะในการเล่าเรื่องอันยอดเยี่ยมของธอมป์สัน โดยเขาได้สร้าง "บุคลิกภาพร่วม" ของประสบการณ์ที่ได้รับจากการถูกขูดรีดและการถูกปราบปรามของคนงานอังกฤษขึ้นมา แต่เขาทำเช่นนั้นอย่างเป็นระบบโดยการวาดภาพและการเน้นย้ำการกระทำและประสบการณ์ของช่างฝีมือและผู้ใช้แรงงานในระดับปัจเจก นั่นคือ เขาใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ในระดับปัจเจกเพื่อแสดงให้เห็นและนำเสนอประสบการณ์ร่วม โดยในวิธีการนี้ เราได้เห็นสิ่งที่ ซี. ไรท์ มิลล์ (C. Wright Mills) กล่าวถึงในฐานะ “การประสานกันของชีวประวัติและประวัติศาสตร์” ในเวลาเดียวกัน ธอมป์สันก็หลีกเลี่ยงกระบวนการทำให้เป็นรูปธรรมทั้งในทางสังคมวิทยาและวรรณกรรมในแง่ที่ลักษณะร่วมมักจะครอบงำอัตลักษณ์ในระดับปัจเจก หรือถูกทำให้กลายเป็นเพียงวัตถุ และเคลื่อนขบวนผ่านประวัติศาสตร์ไปเท่านั้น[78] ในที่นี้เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจาก "การผนวกกลืนแรงงานโดยทุนในเชิงรูปแบบ" ธอมป์สันได้อ้างถึงคำปราศรัยของคนงานปั่นฝ้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญการในระหว่างการประท้วงที่เมืองแมนเชตเตอร์เมื่อปี 1818 ซึ่งคนงานปั่นฝ้ายผู้นั้นได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึกคับแค้นข้องใจของประชาชนผู้ใช้แรงงานที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางสังคมของกระบวนการผลิตว่า

การปรากฏตัวขึ้นของชนชั้นนายจ้างปราศจากทั้งอำนาจหรือพันธหน้าที่แบบจารีตระยะห่างที่กำลังเติบโตขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้างลักษณะที่ตรงไปตรงมาของการขูดรีด ณ แหล่งที่มาของความร่ำรวยและอำนาจแบบใหม่การสูญเสียสถานะและเหนืออื่นใดทั้งหมดคือการสูญเสียความเป็นอิสระของผู้ใช้แรงงาน, การลดทอนลงไปสู่การพึ่งพาเครื่องมือการผลิตของนายจ้างอย่างสิ้นเชิงความลำเอียงของกฎหมายการแตกสลายลงของเศรษฐกิจครอบครัวแบบจารีตดั้งเดิมระเบียบวินัย, งานประจำที่น่าเบื่อ, ชั่วโมงและเงื่อนไขต่างๆ ของการทำงานการสูญเสียเวลาว่างและสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตรื่นรมย์การลดทอนสถานะของมนุษย์ลงไปเป็นเพียง “เครื่องมือ” อย่างหนึ่งเท่านั้น[79]

ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ในการโต้เถียงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมาตรฐานชีวิตในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ธอมป์สันได้จัดตัวเขาเองอยู่ในแนวเดียวกันกับจอห์นและบาร์บารา แฮมมอนด์ (John และ Barbara Hammond)[80] และฮอบส์บอว์ม ในแง่ที่เป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายเหมือนกัน ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามที่จะหยิบยกเอาประเด็นที่ว่าด้วยการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณมาอธิบายมาตรฐานชีวิตของผู้คนในช่วงทศวรรษ 1780-1850 ขึ้นมาพิจารณาด้วย คุณูปการสำคัญที่เขามีต่อข้อโต้เถียงนี้ก็คือการท้าทายของเขาต่อสมมติฐานที่ว่ามีการดำรงอยู่อย่างง่ายๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานชีวิตกับคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะในแง่ภาวะวิสัยหรือในแง่ที่มันถูกรับรู้เข้าใจก็ตาม ตัวอย่างเช่น ธอมป์สันกล่าวว่า "อาชีพต่างๆ เช่น การทำงานในเหมืองถ่านหินซึ่งค่าจ้างที่เป็นจริงได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นมากแล้วในช่วงระหว่างทศวรรษ 1790 และ 1840 แต่ชั่วโมงการทำงานก็ยาวนานมากขึ้นและความเข้มข้นของการใช้แรงงานก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น แรงงานผู้หาเลี้ยงครอบครัวจึง 'ถูกใช้งานจนร่างกายเสื่อมทรุด' ไปก่อนที่พวกเขาจะอายุถึง 40 ปี หากมองในแง่มุมทางสถิติกลับเผยให้เห็นถึงเส้นกราฟที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับหลายครอบครัวแล้ว พวกเขากำลังกังวลว่ามันอาจจะรู้สึกคล้ายกับการกดค่าจ้างแรงงาน"[81] คำกล่าวเช่นนี้ทำให้ธอมป์สันถูกมองว่าเป็น "นักวัฒนธรรมนิยม"[82] หรือผู้ที่ให้น้ำหนักกับแง่มุมในเชิงอัตวิสัยเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง เขาก็ไม่ได้เป็นนักวัฒนธรรมนิยมมากไปกว่าที่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์เลย เพราะสิ่งที่ธอมป์สันพยายามอธิบายก็คือว่า นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจผู้ซึ่งเกาะแน่นยึดติดอยู่กับดัชนีของมาตรฐานชีวิตเหล่านี้ ล้มเหลวที่จะเข้าใจการทำให้กระบวนการขูดรีดมีความเข้มข้นมากขึ้นในเชิง “ภาวะวิสัย” ในขณะเดียวกัน ธอมป์สันก็กำลังแสดงให้เห็นว่า "การขูดรีด" มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งในแง่ของช่วงเวลาทางภาวะวิสัยและอัตวิสัย ตามแนวทางนี้ ธอมป์สันกำลังทำให้มันชัดเจนมากขึ้นว่าการขูดรีดไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยนักลัทธิมาร์กซที่โน้มเอียงไปในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเท่านั้น หากแต่ "การขูดรีด" ยังถูก “รู้สึกถึง” โดยผู้คนที่มีประสบการณ์กับ "การขูดรีด" นั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ ธอมป์สันยังได้เรียกร้องให้สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางสังคมของกระบวนการผลิตไม่เพียงจะเกี่ยวข้องกับการทำให้การขูดรีดเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วย[83] ดังนั้น ธอมป์สันจึงสรุปว่า “ในช่วงทศวรรษ 1840 ประชาชนส่วนใหญ่ ฐานะดีขึ้น กว่าบรรพบุรุษเมื่อ 50 ปีก่อน แต่พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานและยังคงทนทุกข์ทรมานต่อไปกับการปรับปรุงแก้ไข (สภาพชีวิต) ให้ดีขึ้นเพียงบางเบานี้ในฐานะประสบการณ์ที่เป็นภัยพิบัติร้ายแรงอันหนึ่ง”[84]

ในเนื้อหาส่วนที่สองของ The Making นี้ ธอมป์สันยังได้ทำการตรวจสอบเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับนิกายเมธอดิสม์ในฐานะกลุ่มพลังที่มีคุณประโยชน์ต่อการสร้าง "วินัยในการทำงานแบบอุตสาหกรรม" ด้วย แต่ที่อธิบายได้ยากกว่าก็คือคำถามที่ว่า ทำไมผู้ใช้แรงงานจำนวนมากจึงเต็มใจยินยอมน้อมรับต่อรูปแบบการขูดรีดทางจิตใจดังกล่าว? เมธอดิสม์สามารถทำงานได้อย่างไรทั้งในฐานะศาสนาของผู้ขูดรีดและผู้ถูกขีดรีด? ต่อคำถามแรก ธอมป์สันตอบว่ามีเหตุผลอยู่ 3 ประการที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเต็มใจยินยอมน้อมรับต่อรูปแบบการขูดรีดทางจิตใจ นั่นคือ (1) การปลูกฝังความคิดความเชื่อโดยตรงผ่าน "โรงเรียนวันอาทิตย์" ที่กลุ่มเวสเลียนสืบทอดมาจากผู้ก่อตั้งของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่ออย่างหนักแน่นในเรื่อง "บาปที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเด็กๆ" และมองว่าเกมและการละเล่นต่างๆ เป็น "สิ่งที่ไม่มีคุณค่าต่อเด็กๆ คริสเตียน" ขณะที่เอกสารประกอบการศึกษาต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันของ "โรงเรียนวันอาทิตย์" ในหลายทศวรรษของศตวรรษที่ 19 ก็ยิ่งเผยให้เห็นเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาได้แจ่มชัด เช่น การสอนให้เด็กๆ หัดร้อง "เพลงศักดิ์สิทธิ์ของเด็กๆ" การสอนให้เด็กๆ ร้องเพลงที่มีเนื้อหาว่า พวกเด็กๆ เป็น "ทาสที่เคราะห์ร้ายของบาป ทั้งโดยธรรมชาติและโดยการปฏิบัติ" การเล่าเรื่องบุคคลที่เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีศีลธรรมตามแนวคิดของเมธอดิสม์ หรือไม่ก็ลงโทษเด็กๆ ที่หนี "โรงเรียนวันอาทิตย์" ไปเล่นฟุตบอลด้วยการตำหนิและให้เพื่อนๆ หัวเราะเยาะ เป็นต้น ซึ่งธอมป์สันมองว่านี่คือ "ความโหดร้ายทารุณทางจิตใจที่กระทำต่อเด็กๆ"[85] โดยแท้

เหตุผลประการที่ (2) คือ สำนึกในเรื่องความเป็นชุมชนของเมธอดิสต์ ในความหมายที่ว่า โบสถ์เมธอดิสม์ที่ตั้งอยู่ตามท้องถิ่นนั้นเป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง และเป็นมากกว่าสถานที่สำหรับการเทศน์ของพระ เพราะโบสถ์ช่วยทำให้เกิดการพบปะสังสรรค์กันทางชนชั้น เกิดกลุ่มเย็บผ้า เกิดกิจกรรมการเพิ่มเงินรายได้ต่างๆ และทำให้พระท้องถิ่นที่เดินทางหลายไมล์ได้เข้าไปมีบทบาทเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งปกติแล้วยากที่จะถูกเข้าไปเยี่ยมเยือนโดยพระนักเทศน์ที่อยู่ในเมือง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันทั้งจริงและสำคัญที่ว่าด้วยประตูโบสถ์ที่เปิดอ้ารอต้อนรับอยู่เสมอนั้น เมธอดิสม์ได้สถาปนา "ชุมชนชนิดใหม่" ขึ้นมาแทนที่ "ชุมชนแบบเก่า" ที่กำลังล่มสลายลงของผู้คนแห่งยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทั้งไร้รากและถูกละเลยทอดทิ้ง ในฐานะโบสถ์ที่ไม่ได้ใหญ่โตและอิงกับรัฐหรือชนชั้นปกครอง มันทำให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานเกิดสำนึกที่ว่าพวกเขาสามารถที่จะทำให้มันกลายเป็นโบสถ์ของพวกเขาได้ นอกจากนี้ สำหรับผู้คนจำนวนมากแล้ว ในช่วงหลายปีเหล่านี้ "ตั๋ว" หรือบัตรสมาชิกโบสถ์เมธอดิสต์มีความสำคัญราวกับเครื่องรางของขลัง เพราะสำหรับคนงานอพยพแล้ว มันคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปในชุมชนแห่งใหม่ได้เมื่อพวกเขาย้ายจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง ภายในชุมชนทางศาสนาเหล่านี้ ผู้ที่มาจากชนชั้นกรรมาชีพก็สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นมาเป็นพระที่สำคัญได้ ชายและหญิงรู้สึกว่าตัวของพวกเขามีพื้นที่บางอย่างเมื่ออยู่ภายในโบสถ์ พวกเขากลายเป็นที่รู้จัก และบางครั้งมันก็ทำให้ครอบครัวและบ้านของพวกเขามีความมั่นคงขึ้นด้วย[86]

ส่วนเหตุผลที่ (3) ที่ว่าด้วยผลกระทบทางจิตใจที่เกิดจากการต่อต้านการปฏิวัติในช่วงหลายปีนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่ว่าทำไมผู้ใช้แรงงานจึงเปิดใจให้กับการแผ่ขยายอิทธิพลของเมธอดิสม์ในช่วงหลายปีของสงครามนโปเลียน? ธอมป์สันเสนอว่ามันเป็นการดีที่สุดที่จะเข้าสู่ปัญหานี้โดยการพูดถึงแง่มุมในเชิงโรคจิตประสาทของเมธอดิสต์ ลัทธิฟื้นฟูศาสนาแบ๊บติสท์ (Baptist) และบรรดานิกายศาสนาที่เล็กกว่าต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาหลายปีอันเลวร้ายของการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นพบว่ามีการใช้ยาฝิ่นหรือยาเสพติดอย่างกว้างขวางในย่านโรงงานต่างๆ และคำเรียกของ ชาร์ลส์ คิงส์ลีย์ (Charles Kingsley) ที่ว่า "ฝิ่นของมวลชน" ก็เตือนเราว่าประชาชนผู้ใช้แรงงานจำนวนมากหันเข้าหาศาสนาในฐานะ "เครื่องปลอบประโลมจิตใจ"[87] ธอมป์สันเสนอว่านิกายเมธอดิสม์อาจจะขัดขวางการปฏิวัติก็ได้ และเราก็สามารถยืนยันอย่างแน่ชัดได้ด้วยว่าการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามนโปเลียนของนิกายเมธอดิสม์นั้นถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระบวนการต่อต้านการปฏิวัติในทางจิตใจ ธอมป์สันเสนอว่าในแง่หนึ่งนั้นทุกๆ ศาสนาที่วางน้ำหนักไว้อย่างมากมายกับชีวิตหลังความตายมักจะเป็น "ลัทธิสหัสวรรษ" (the chiliasm)[88] ของผู้คนที่พ่ายแพ้และสิ้นหวัง ดังจะเห็นว่า ในอังกฤษเมื่อทศวรรษ 1790 เมื่อแรงกระตุ้นในเชิงปฏิวัติได้ถูกขัดขวางยับยั้งก่อนที่มันจะบรรลุถึงจุดระเบิด ลัทธิมิลเลนาเรียน (Millenarianism) ที่แท้จริงได้สิ้นสุดลงในปลายทศวรรษ 1790 ด้วยความพ่ายแพ้ของลัทธิฌากอแบ็งอังกฤษ การเริ่มต้นขึ้นของสงครามและการกักขัง ริชาร์ด บรอเทอส์ (Richard Brothers) ไว้ในโรงพยาบาลบ้า แต่กระนั้น หลากหลายนิกายของ "นิว เยรูซาเล็มมิตส์" (New Jerusalemites) ก็รุ่งเรืองขึ้นในอีก 14 ปีต่อมา มีผู้วิเศษหลายคนปรากฏตัวขึ้น และผู้วิเศษที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในเวลานั้นก็คือ โจแอนนา เซาท์คอต[89] แต่กระนั้น เซาท์คอตเตียนนิสม์ (Southcottianism) ก็ไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของ "ลัทธิสหัสวรรษ" ที่มีลักษณะปฏิวัติ เพราะมันไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติการทางสังคมใดๆ และแทบที่จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับโลกจริงๆ และอันที่จริงแล้ว ความศรัทธาอันแรงกล้าของมันก็คล้ายคลึงกับความศรัทธาอันแรงกล้าของเมธอดิสม์ที่ปรารถนาการไถ่บาปในเชิงส่วนบุคคล แม้ว่าเซาท์คอตเตียนนิสม์จะเป็น "ลัทธิ" ของคนยากคนจนก็ตาม[90] ธอมป์สันไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อเสนอของฮอบส์บอว์มที่ว่า เมธอดิสม์และราดิคัลลิสม์ (Radicalism) เป็นกลุ่มที่พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน[91] เพราะเขามองว่า อันที่จริงแล้ว "ลัทธิฟื้นฟูศาสนา" ได้เข้าครองตำแหน่งแทนที่ตรงจุดหรือพื้นที่ที่แรงกระตุ้นทางโลกวิสัยหรือแรงกระตุ้นทางการเมืองพบกับความพ่ายแพ้แล้วต่างหาก[92]

ในเนื้อหาส่วนที่ 3 ของ The Making ที่ว่าด้วย "The Working Class Presence" ธอมป์สันย้อนกลับไปที่หัวข้อเกี่ยวกับ "ลัทธิราดิคัลสามัญชน" (plebeian radicalism) และย้อนรอยไปดูพัฒนาการของมันนับตั้งแต่ขบวนการลัดดิสม์ (Luddism) ไปจนถึงช่วงปลายของสงครามนโปเลียน ธอมป์สันเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการเข้ายึดครองทางการเมืองในเขตเลือกตั้งตามระบบรัฐสภาแห่งเมืองเวสต์มินส์เตอร์โดยลัทธิราดิคัล โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในเขตเมืองหลวงนั้น การติดต่อสื่อสารระหว่างนักปฏิรูปที่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานไม่เคยยุติลง อย่างไรก็ตาม ขบวนการราดิคัลใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจนในเดอะมิดแลนดส์และเมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็มีการปราบปรามลัทธิฌากอแบ็งและลัทธิสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง เช่น การออกกฎหมายคอมบะเนชั่น (Combination Acts) ที่ผลักการต่อสู้เหล่านี้ลงสู่ใต้ดินด้วย[93] ในบทที่ว่าด้วย "An Army of Redressers" ธอมป์สันได้ขยายความข้อเสนอของฮอบส์บอว์มที่ว่าการทำลายเครื่องจักรเป็นการกระทำที่มีเหตุผลและมีการจัดตั้งให้กว้างขึ้นกว่าเดิมโดยการแสดงให้เห็นว่าพวกลัดดิสม์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การประท้วงของคนงานในโลกอุตสาหกรรมโดยใช้รูปแบบที่ผิดกฎหมายและรูปแบบใต้ดินเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจุดเชื่อมต่อของประเพณีการประท้วงในโลกอุตสาหกรรมแบบปิดลับและประเพณีทางการเมืองแบบปิดลับด้วย ธอมป์สันยืนยันว่า ลัดดิสม์เป็นขบวนการที่เคลื่อนไหวแบบกึ่งก่อกบฏจลาจล และเสนอในเชิงโต้เถียงว่า มีประเพณีการเคลื่อนไหวแบบใต้ดินอย่างต่อเนื่องซึ่งขบวนการลัดดิสม์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เชื่อมต่อพวกฌากอแบ็งแห่งทศวรรษ 1790 เข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 1816-1820 ด้วย[94]

ในหัวข้อต่อมาที่ว่าด้วย "Demagogues and Martyrs" นั้น ธอมป์สันได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ "ช่วงเวลาหลายปีอันหาญกล้าของลัทธิราดิคัลสามัญชน" (ในช่วงปี 1816-1820) โดยอภิปรายถึงปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับระบบการนำหรือผู้นำ, เดอะแฮมป์เดน คลับ (the Hampden Clubs), เดอะเพนทริดจ์ ไรซิง (the Pentridge rising)ปีเตอร์ลู (Peterlo) และ เดอะคาโต้ สตรีท คอนสไปเรชั่น (the Cato Street conspiracy)[95] จากนั้นในหัวข้อสุดท้ายที่ว่าด้วย "Class Consciousness" ธอมป์สันพยายามอธิบายว่า ในทศวรรษ 1820 ที่ดูเหมือนจะเป็นทศวรรษแห่งความสงบและสันตินั้น ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นช่วงหลายปีที่ ริชาร์ด คาร์ไลล์ (Richard Carlile) ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์, เป็นช่วงหลายปีของสหภาพแรงงานที่กำลังเติบโตเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ, เป็นช่วงหลายปีของการต่อสู้เพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมายคอมบะเนชั่น, เป็นช่วงหลายปีของการเติบโตขึ้นของความคิดอิสระ, เป็นช่วงหลายปีของการทดลองทำงานร่วมกัน และเป็นช่วงหลายปีที่ทฤษฎีโอเวนนิต (Owenite Theory) เติบโตขึ้น นั่นคือ มันเป็นช่วงเวลาหลายปีที่ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลพยายามที่จะเปลี่ยนแปรการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้กลายเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วย "ประสบการณ์คู่" ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ที่ได้รับทั้งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและจากการลุกฮือก่อกบฏและความพ่ายแพ้ของลัทธิราดิคัลสามัญชน ธอมป์สันกล่าวถึงวัฒนธรรมของช่างฝีมือที่ทั้งราดิคัลและมีการศึกษาสูง และวิธีการต่างๆ ที่เหล่าช่างฝีมือและคนงานสร้างประเพณีที่ว่าด้วยเสรีภาพและชนชาวอังกฤษผู้เกิดมาเสรีของพวกเขาขึ้นมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ธอมป์สันยังได้อภิปรายถึงความเจริญก้าวหน้าในด้านความคิดทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดย วิลเลียม คอบเบ็ท (William Cobbett), จอห์น เวด (John Wade), จอห์น แกสต์ (John Gast) และ โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ด้วย จากนั้นในท้ายที่สุด ธอมป์สันก็สรุปว่า ชนชั้นผู้ใช้แรงงานถูกก่อรูปขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นในต้นทศวรรษ 1830 นี่เอง โดยได้รับผลสะเทือนอีกครั้งหนึ่งจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (1830) และถูกเสริมพลังเข้าไปอีกจากการขีดลากเส้นแบ่งทางชนชั้นขึ้นมาโดยชนชั้นกลางด้วยการผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูป (the Reform Bill) ออกมาในปี 1832[96]

 

The Making และการปฏิวัติทางประวัติศาสตร์ของธอมป์สัน

 

เอลเลน เมกซินส์ วูด (Ellen Meiksins Wood) กล่าวสรุปรวบยอดเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ธอมป์สันเป็นผู้ที่ทำงานจากสมมติฐานที่ว่าทฤษฎีมีความหมายโดยนัยสำหรับการปฏิบัติการเสมอ การให้ความหมายแก่คำว่า "ชนชั้น" ใน The Making ของเขาให้น้ำหนักกับชนชั้นในฐานะกระบวนการและความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ เขาบัญญัติความหมายของคำว่าชนชั้นเช่นนี้ขึ้นมาก็เพื่อปกป้องแก้ต่างและกอบกู้ชนชั้นจากนักสังคมศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของมัน ขณะเดียวกันเขาก็ตั้งใจที่จะตอบโต้ทั้งต่อจารีตทางปัญญาและปฏิบัติการทางการเมืองที่กดปราบตัวกระทำการที่เป็นมนุษย์เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จารีตทางภูมิปัญญาและปฏิบัติการทางการเมืองที่ปฏิเสธการตื่นตัวขึ้นมาด้วยตัวเองของชนชั้นแรงงานในการสร้างประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ โดยการวางการต่อสู้ทางชนชั้นไว้ที่ใจกลางของทฤษฎีและการปฏิบัติ ธอมป์สันตั้งใจที่จะช่วยชีวิต "ประวัติศาสตร์จากเบื่องล่าง" ที่ไม่ใช่แค่ในฐานะที่มันเป็นโครงการทางภูมิปัญญาอันหนึ่งเท่านั้น แต่ในฐานะที่มันเป็นโครงการทางการเมืองที่ต่อต้านทั้งการกดขี่ของชนชั้นที่ครอบงำและโครงการของ "สังคมนิยมจากข้างบน" ที่ลงมาจุติใหม่ในหลายรูปแบบตั้งแต่ลัทธิเฟเบียนไปจนถึงลัทธิสตาลินด้วย ขณะที่การต่อต้านลัทธิมาร์กซสายอัลธูแซเรียน (Althusserian Marxism) ของเขาก็คือการต่อต้านโดยตรงต่อความผิดปกติทางทฤษฎีของมันและปฏิบัติการทางการเมืองที่จารึกอยู่ในมันนั่นเอง[97]

ขณะที่ ซาราห์ มาซา (Sarah Maza) เสนอว่า The Making เป็น "การปฏิวัติทางประวัติศาสตร์" ของธอมป์สัน เนื่องจากในการเขียนประวัติศาสตร์สังคมที่ผ่านมานั้นคำว่า "social" มักหมายถึง "ส่วนทั้งหมดของสังคม" แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางสังคมในศตวรรษที่ 20 แล้ว คำว่า "social" หมายถึง "ชนชั้นแรงงาน" ความหมายของคำว่า "social" เช่นนี้เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากศตวรรษที่ 19 เมื่อนักปฏิรูปในยุโรปและอเมริกาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "คำถามทางสังคม" ที่พวกเขาหมายถึงผลสะเทือนแบบทำลายล้างของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีต่อชีวิตของเหล่าคนงาน ในทศวรรษ 1830 และ 1840 นักสังเกตการณ์ชนชั้นกลางได้เขียนเปิดโปงเกี่ยวกับความเสื่อมทรามของชีวิตคนงานในเมืองในยุคร่วมสมัยซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการริเริ่มนำเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาและการปฏิบัติในด้านแรงงานอย่างขูดรีดขูดเนื้อที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีเหล่านี้นำพามาให้กับคนงานดังที่ปรากฏใน The Condition of the Working Class in England ของ เฟรดริค เองเกล (Friedrich Engels) พัฒนาการของขบวนการชนชั้นแรงงานยุโรปแห่งศตวรรษที่ 19 ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักประวัติศาสตร์แรงงานรุ่นแรกที่ตื่นตัวในหลายทศวรรษทั้งก่อนและหลังปี 1900 ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การเขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นแค่การเขียนถึงสิ่งที่กระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมกระทำต่อคนงานเท่านั้น หากแต่ต้องเขียนถึงสิ่งที่คนงานกระทำการตอบโต้ต่อมันด้วย เช่น การจัดองค์กร การประท้วง การโจมตีรื้อถอน และการก้าวไปเป็นหัวหอกของการปฏิวัติ เป็นต้น ทว่าในช่วงเวลานั้น นักประวัติศาสตร์ทั้งในอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส มักจะไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน หรือไม่ก็นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับขบวนการแรงงาน นักสังคมนิยมที่ตื่นตัว และบางครั้งก็สมาชิกของสหภาพแรงงาน ดังนั้น มุมมองของพวกเขาจึงเป็นมุมมองของคนในและมีความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มคนที่พวกเขาศึกษาอย่างมาก[98]

ประวัติศาสตร์แรงงานในยุคแรกๆ เป็นประวัติศาสตร์สังคมที่มีการเมืองเป็นฉากหลังซึ่งมักจะมีข้อบกพร่องมากมาย ดังที่ฮอบสบอว์มกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานแบบจารีตส่วนใหญ่ "ค่อนข้างจะยึดติดคัมภีร์ ทั้งในเชิงวิธีวิทยาและในเชิงเทคนิค" ซึ่งคล้ายคลึงอย่างมากกับประวัติศาสตร์การเมืองแนวเก่าในแง่ที่มันมักจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อกิจกรรมของพวกผู้นำ แทนที่จะเป็นประสบการณ์ของผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนธรรมดาสามัญ และมักจะตกอยู่ภายใต้การให้คำอธิบายเกี่ยวกับการต่อสู้กันของกลุ่มย่อยต่างๆ ภายในขบวนการแรงงาน แบบฉบับของประวัติศาสตร์สังคมในเชิงประวัติศาสตร์แรงงานแบบคลาสสิคเช่นนี้มักจะสันนิษฐานล่วงหน้าถึงการมองโลกแบบมีลำดับชั้นของคนยากจนผู้ใช้แรงงานในแง่ที่สมาชิกสหภาพที่เป็นผู้ชายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ประวัติศาสตร์แรงงานแบบคลาสสิคที่ส่วนใหญ่แล้วถูกเขียนขึ้นในช่วงทศวรรษแรกและกลางของศตวรรษที่ 20 มักจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ชาย (แทบจะไม่เคยมีผู้หญิง) ที่ทำการต่อสู้แบบรวมหมู่ในพื้นที่ทางการเมือง ดังเช่นที่มันถูกนำเสนอในรูปแบบแรกเริ่มของ "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" ในแง่ที่การต่อสู้ต่างๆ ในอดีตได้มอบเรื่องเล่าที่เป็นต้นกำเนิดให้แก่ขนบความคิดแบบราดิคัลและความคิดที่ก้าวหน้าในยุคต่อมา  มาซาเสนอว่าด้วยภูมิหลังดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ The Making มีความแปลกใหม่อย่างราดิคัลและมีผลสะเทือนอย่างมากมายมหาศาล ขณะที่ธอมป์สันเองก็กลายเป็น "นักประวัติศาสตร์ที่ถูกอ้างถึงอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกของศตวรรษที่ 20" ประวัติศาสตร์อันยาวนานราวกับมหากาพย์เกี่ยวกับผลสะเทือนของระบบทุนนิยมในระยะแรกที่มีต่อสามัญชนอังกฤษในช่วงระหว่างทศวรรษ 1780 ถึงทศวรรษ 1830 ของธอมป์สันเล่มนี้ ถือว่าเป็นการเขียนกฎกติกาใหม่ให้ทั้งแก่การเขียนประวัติศาสตร์แรงงานและการเขียนประวัติศาสตร์สังคม ในโลกภาษาอังกฤษนั้น The Making ปราศจากซึ่งข้อสงสัยใดๆ ว่าเป็นงานเขียนที่ถูกอ่านอย่างกว้างขวางที่สุด และมักจะถูกอ้างอิงโดยเหล่านักประวัติศาสตร์อาชีพมากที่สุดในครึ่งที่สองของศตวรรษที่ 20[99]

ใน The Making ธอมป์สันแบ่งปันจารีตทางภูมิปัญญาร่วมกันกับนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์คนอื่นๆ ในความพยายามที่จะให้คำอธิบายและพิสูจน์ด้วยข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผลกระเทือนของระบบทุนนิยมที่มีต่อชีวิตของคนยากจน แต่ขณะที่ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ฉบับมาตรฐานมักจะพุ่งความสนใจไปที่ชัยชนะและความล้มเหลวของขบวนการแรงงาน The Making กลับสนใจเกี่ยวกับการจัดองค์กรของคนงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่มาร์กซิสต์อ้างว่าการศึกษาของพวกเขาเคร่งครัดเป็น "วิทยาศาสตร์" The Making แทบจะไม่มีตารางแสดงตัวเลข แต่พุ่งความสนใจไปที่ "ประสบการณ์เชิงอัตวิสัย" ของตัวละครเอกของมันแทน The Making ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะกับประชาชนผู้มักจะถือกันว่าเป็นเหยื่อของกระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหรือคนงานในโรงงานเท่านั้น หากแต่มันแสดงให้เห็นถึงผลสะเทือนของระบบทุนนิยมยุคต้นที่มีต่อคนงานแบบจารีตดั้งเดิมของประเทศอังกฤษแทน ไม่ว่าจะเป็น ช่างทอผ้า ช่างทำรองเท้า ช่างตีเหล็ก และช่างฝีมืออื่นๆ ผู้ซึ่งแบบแผนการทำงานและวิถีชีวิตของพวกเขาถูกชี้ชะตาโดยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักร และการแข่งขันจากพวกแรงงานไร้ทักษะราคาถูก ธอมป์สันเสนอว่า แรงบีบคั้นกดดันที่คนงานจารีตดั้งเดิมเหล่านี้ได้รับ เป็นแรงกดดันทางวัฒนธรรมมากพอๆ กับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ มันทำให้คนงานต้องสูญเสียอำนาจในการควบคุมเวลาของตนเอง เช่น แทนที่จะได้ทำงานอย่างเข้มข้นตามภาระงานเฉพาะอย่าง ดื่มสังสรรค์ในวันอาทิตย์ และหยุดพักตลอดทั้งวันเพื่อให้เกียรติแก่ "นักบุญวันจันทร์" พวกเขากลับต้องตกอยู่ภายใต้ "วินัยในการทำงาน" สมัยใหม่ นั่นคือต้องอดทนต่อสู้อยู่ภายใต้กระบวนการผลิตที่มีระเบียบกฎเกณฑ์เที่ยงตรง ขณะที่ลูกๆ ของคนยากคนจนก็ต้องทำงานหนักอยู่แทบจะตลอดเวลา แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่พวกเขาเคยทำงานแต่เฉพาะที่บ้านภายใต้การควบคุมดูแลของครอบครัว เด็กหนุ่มสาวถูกผลักเข้าสู่โรงงานและเหมืองที่ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกขูดรีดที่หนักขึ้นมากๆ ธอมป์สันกล่าวว่า "ประสบการณ์เกี่ยวกับความทุกข์ยากเช่นนี้ จู่โจมเข้าหาคนงานในรูปแบบต่างๆ นานานับร้อยนับพัน" เช่น คนงานตามไร่นาทุ่งกว้างสูญเสียสิทธิร่วมและเค้าเดิมของความคิดประชาธิปไตยแบบชาวบ้าน นายช่างสูญเสียสถานะความเป็นช่างฝีมือของเขา ช่างทอผ้าสูญเสียการดำรงชีวิตและความเป็นอิสระ เด็กๆ สูญเสียงานและการเล่นที่บ้าน คนงานจำนวนมากผู้ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงรายได้ให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องสูญเสียความมั่นคง เวลาว่าง และการเสื่อมลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จากประสบการณ์เหล่านี้เองที่ "จิตสำนึกทางชนชั้น" ซึ่งหมายถึงการตระหนักรู้ถึงการถูกขูดรีดร่วมกัน ได้เกิดขึ้น[100]

แม้ว่า The Making จะไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายในวันนี้ ด้วยความหนาถึง 800 กว่าหน้าและจัดวางหัวข้อแบบไม่ตั้งใจนัก หากแต่ก็ถูกยอมรับว่าเป็นหนังสือที่ให้ภูมิหลังอันลึกไกลอย่างมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อังกฤษ The Making กลายเป็นมาตรฐานโลกสำหรับสิ่งที่เรารู้จักในฐานะ “ประวัติศาสตร์สังคมใหม่" และมรดกสองประการของมันก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเขียนประวัติศาสตร์ มรดกอันแรกก็คือ The Making นั้นเป็นงานเขียนที่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับคนงานที่ไม่ได้อยู่แถวหน้าขององค์กรแรงงานและเป็นผู้ที่สร้างข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมา แต่ "ชนชั้นแรงงาน" ของธอมป์สันนั้นหมายรวมไปถึงคนจนทุกๆ ประเภท คนชายขอบ คนไร้สิทธิไร้เสียง และคนเหล่านี้ก็คือผู้คนที่อยู่ใน “ด้านที่สาบสูญ” ของประวัติศาสตร์, มรดกอันที่สองก็คือ ธอมป์สันยืนยันว่า “ชนชั้น” และ “จิตสำนึกทางชนชั้น” ไม่ใช่แนวคิดนามธรรมทางสังคมวิทยาที่อนุมานเอาจากทฤษฎีหรือตัวเลข หากแต่เป็นประสบการณ์และความสัมพันธ์เฉพาะที่จำเป็นจะต้องอธิบายในพื้นที่และเวลาที่เฉพาะเจาะจง เช่น จิตสำนึกทางชนชั้นจะปรากฏขึ้นในหมู่คนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอผู้ซึ่งทาใบหน้าของพวกเขาด้วยสีดำและเคลื่อนขบวนออกไปยามค่ำคืนเพื่อทำลายโรงงานที่หันไปใช้เครื่องจักรแบบใหม่ให้พังเป็นเสี่ยงๆ หรือไม่ก็ปรากฏขึ้นในหมู่ผู้คนเรือนหมื่นผู้ซึ่งมาชุมนุมกันเพื่อฟัง โจแอนนา เซาท์คอต (Joanna Southcott) ผู้วิเศษที่เชื่อว่าพระเยซูจะลงมาจุติอีกครั้งซึ่งกล่าวถึงความโกรธกริ้วของพระเจ้าที่มีต่อชนชั้นนำนายเงินผู้ “สำส่อน มั่วโลกีย์ ไม่นับถือพระเจ้า”[101]

เช่นเดียวกัน เจฟฟ์ เอลีย์ (Geoff Eley) ก็ประเมินคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของ The Making ไว้อย่างแหลมคมยิ่งว่า ประวัติศาสตร์ของธอมป์สันเป็นประวัติศาสตร์แบบต่อต้านคัดค้าน มันเผยให้เห็นจารีตประเพณีว่าด้วยประชาธิปไตยของประชาชนที่ถูกกำราบเอาไว้ จารีตประเพณีซึ่งสามารถระดมกำลังกันเพื่อเป้าหมายต่างๆ ที่เป็นการท้าทายต่อเรื่องเล่าฉบับทางการว่าด้วยประวัติศาสตร์อังกฤษที่มักจะถูกเสนอในฐานะเรื่องราวอันแสนโรแมนติกเกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบอบรัฐสภาที่ดำเนินไปอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปและอย่างสงบราบเรียบ งานเขียนของธอมป์สันเผยให้เห็นถึงการมีอยู่ของจารีตประเพณีที่ปฏิวัติซึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นในความคิดประชาธิปไตยแบบถอนรากถอนโคนของขบวนการฌากอแบ็งแห่งทศวรรษ 1790 ที่จากนั้นได้ถูกผลักลงสู่ใต้ดินโดยการปราบปราม หากแต่ความต่อเนื่องนี้ได้จรรโลงรักษาตัวมันเองไว้ในฐานะ "จารีตนอกกฎหมาย" จากนั้นก็เชื่อมประสานเข้ากับขบวนการแรงงานแห่งยุคสมัยที่เศรษฐกิจกำลังถูกทำให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมใหม่ และปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในฐานะลัทธิราดิคัลในทศวรรษ 1810 มันแสดงให้เห็นว่าสังคมอังกฤษและสถาบันต่างๆ ของมันถูกทำให้มั่นคงปลอดภัยมาได้เรื่อยมาก็แต่เพียงจากการต่อสู้ของประชาชนกับความอยุติธรรม ความรุนแรง และการขูดรีดเท่านั้น ขณะที่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ก็ยืนยันว่าความขัดแย้งทางสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำให้ความก้าวหน้าของสังคมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และประชาธิปไตยที่ดีก็ต้องเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวแบบรวมหมู่ การเมืองมวลชน และการลุกฮือต่อต้านระบอบการเมืองที่มีฐานอันคับแคบ ทุจริตคอรัปชั่น และบีบบังคับกดขี่บีฑา[102]

The Making ของธอมป์สันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมของนายทุนและการเปลี่ยนผ่านจากศักดินานิยมไปสู่ทุนนิยมของกลุ่มนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อังกฤษ มันเริ่มต้นขึ้นในปลายทศวรรษ 1950 ในฐานะบทแรกของตำราเรียนทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานอังกฤษ มันได้หยิบยกเอาโครงการ โครงการที่ยังไม่เป็นจริงซึ่งถูกริเริ่มโดยกลุ่มนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อังกฤษเมื่อ 10 ปีก่อนขึ้นมา นั่นคือ (1) การเขียนประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์เกี่ยวกับขบวนการแรงงานอังกฤษ และ (2) ประวัติศาสตร์ทั่วไปว่าด้วยทุนนิยมอังกฤษ ดังนั้นในแง่นี้ มันจึงมีงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มถูกผลิตขึ้นมาพร้อมๆ กับ The Making หลายชิ้น เช่น ชุดงานเขียนว่าด้วยประวัติศาสตร์อังกฤษในด้านเศรษฐกิจของฮอบส์บอว์มและของฮิลล์, บทความชิ้นต่างๆ ใน Labouring Men ของฮอบสบอว์ม, Rural Depopulation ของซาวิลล์ และงานเขียนอื่นๆ อีกหลายชิ้น นอกจากนี้ ความโกรธของธอมป์สันและการวิพากษ์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างขึ้นก็ยิ่งเน้นย้ำถึงความเกี่ยวดองกันนี้ได้ชัดเจนขึ้น มันได้ยกระดับการท้าทายต่อคำอธิบายแบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้นไปอีก มันตั้งคำถามกับการแบ่งเป็น "สังคมจารีต" หรือ "สังคมก่อนยุคอุตสาหกรรม" อย่างง่ายๆ ผ่านสิ่งซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสมัยใหม่ถูกพิจารณาด้วยแนวคิดดั้งเดิม และต้องถือว่า The Making เป็นงานเขียนว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคมทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการทำให้กลายเป็นทุนนิยมอุสาหกรรม "จากเบื้องล่าง" หรือจากจุดยืนของผู้คนที่เป็นเหยื่อของมันชิ้นแรกๆ ด้วย[103]

นอกจากนี้ เอลีย์ยังเสนอด้วยว่าโดยการบุกเบิกการวิจัยเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชน วัฒนธรรมประเพณี และการเปลี่ยนแปลงที่ถูกหล่อหลอมขึ้นโดยกระบวนการทำให้กลายเป็นทุนนิยมอุสาหกรรม ธอมป์สันได้ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับการเมืองเพิ่มขึ้นด้วย การศึกษาความคิดประชาธิปไตยแบบราดิคัลของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างทศวรรษ 1790 และทศวรรษ 1830 ตามมาด้วยการประกอบสร้างวัฒนธรรมของสามัญชนในศตวรรษที่ 18 ขึ้นมาใหม่อย่างทรหดอดทนของเขาได้ลากเส้นแบ่งให้กับพื้นที่ว่างอันหนึ่งซึ่ง "การเมือง" สามารถถูกพบเห็นได้ในวิถีทางที่คาดไม่ถึงต่างๆ นานา The Making เป็นการค้นหาการแสดงออกของคุณค่าร่วมเกี่ยวกับลักษณะของสังคมที่ดีในการปฏิบัติการและการชุมนุมเดินขบวนสารพัดชนิดที่ "ท่าทีที่กรุณาอันมากล้น" (ที่ยอมลดตัวลงมาศึกษา) ของนักประวัติศาสตร์การเมืองแบบดั้งเดิมยากที่จะยอมรับมันเข้าไปในเรื่องเล่าของพวกเขา นับตั้งแต่พิธีกรรมเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสิ่งที่ชุมชนต้องพึ่งพา ไปจนถึงการระเบิดขึ้นแบบมวลชนของลัทธิที่เชื่อในเรื่องโลกพระศรีอาริย์หรือเชื่อว่าพระเยซูจะลงมายุติอีกครั้งเมื่อครบรอบหนึ่งพันปี และการแสดงพลังทางตรงของขบวนการลัดไดท์ ในแง่นี้ The Making จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนชิ้นสำคัญอีก 2 ชิ้นที่ปรากฏขึ้นในปลายทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 ที่นิยามกำหนดวิธีการใหม่ในการมองการเมืองของประชาชน นั่นคือ Primitive Rebels ของฮอบส์บอว์ม และ The Crowd in History ของ จอร์จ รูด (George Rude)[104]

ขณะที่ เดนนิส ดวอร์คิน (Dennis Dworkin) ผู้เขียน Cultural Maxist in Postwar Britain[105] อธิบายถึงคุณูปการของธอมป์สันที่มีต่อการเขียนประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างการเขียนประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ในกลุ่ม History Workshop และการเขียนประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์ (feminist history) ไว้อย่างน่าสนใจว่า The Making ของธอมป์สันสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับการอภิปรายถกเถียงของนักประวัติศาสตร์สังคมนิยมในปลายทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 และไม่บ่อยนักที่จะมีงานวิชาการที่ครอบงำจิตสำนึกหรือจินตนาการของปัญญาชนราดิคัลและผลักดันให้ผู้เขียนของมันเข้าไปยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่สำคัญอย่างยิ่ง The Making กลายเป็นคำจำกัดความของพื้นที่ศึกษาของประวัติศาสตร์ราดิคัลทั้งหมด และแสดงอิทธิพลอย่างสำคัญทั้งต่อความคิดและการปฏิบัติของนักสังคมนิยม ดังที่ อาร์.เอช. ทาวนีย์ (R.H. Tawney) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าหากการเขียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภายหลังมาร์กซและหลัง-มาร์กซิสต์ (post-Marxist) ทั้งหมดหมายถึงการที่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากก้าวไปตามรอยเท้าของธอมป์สันไม่ว่าจะในแง่ที่สนับสนุนหรือต่อต้านความคิดของเขาก็ตาม ในลักษณะที่คล้ายกันนี้ ก็ต้องถือว่าการเขียนประวัติศาสตร์สังคมนิยมในอังกฤษนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ได้มาถึงยุคหลัง-ผู้นิยมธอมป์สัน (post-Thompsonian) หรือ ยุคหลัง-The Making of the English Working Class แล้วเช่นกัน[106]

มีหลายเหตุผลสำหรับอิทธิพลที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางของ The Making การค้นพบอันเร่าร้อนของธอมป์สันเกี่ยวกับแรงกระตุ้นและการต่อต้านที่ราดิคัลของประชาชนผู้ใช้แรงงานสร้างคุณูปการอย่างสำคัญต่อการให้คำนิยามแก่ "ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง" และได้ให้คำนิยามใหม่แก่พื้นที่ศึกษาในด้านการเมืองด้วย การปกป้องแก้ต่างให้กับแนวความคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นของเขาเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ประกาศว่าได้มาถึง "จุดจบของอุดมการณ์" แล้ว ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้นึกถึงการต่อสู้ทางชนชั้นตามแนวทางของมาร์กซิสต์ดั้งเดิม หากแต่ใช้มุมมองของ "ซ้ายใหม่" (New Left) มองการต่อสู้ทางชนชั้นในฐานะความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมสองแบบและวิถีชีวิตสองแบบ, มองวัฒนธรรมในฐานะวิถีของการต่อสู้ทั้งหมด และที่สำคัญก็คือ ในการต่อต้านต่อลัทธิกำหนดนิยมอันเคร่งครัดของพวกมาร์กซิสม์ออร์ธอด็อกซ์ (orthodox Marxism) ธอมป์สันเสนอว่าตัวกระทำการที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกกระทำของสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นผู้สร้างและผู้รังสรรค์ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองอย่างกระตือรือร้น[107]

สิ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือการปรากฏขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมของ The Making เพราะสำหรับนักวิชาการราดิคัลรุ่นใหม่ที่กำลังผงาดขึ้นมาและนักวิชาการที่อายุมากกว่าพวกเขาซึ่งวางน้ำหนักความเห็นอกเห็นใจของพวกเขาไว้ที่คนรากหญ้า นักศึกษา และขบวนการต่อต้านทางวัฒนธรรมในทศวรรษ 1960 แล้ว การยกย่องสรรเสริญรูปแบบการต่อต้านต่างๆ ของประชาชนผู้ใช้แรงงานของ The Making นั้น แสดงนัยถึงการเมืองที่เป็นทางเลือกอันหนึ่ง เหล่านักวิชาการทั้งหลายสามารถระบุตัวตนของพวกเขาเข้ากับคำอธิบายที่เป็นระบบของธอมป์สันเกี่ยวกับพวกลัดไดท์และการวิพากษ์ของธอมป์สันเกี่ยวกับการกดปราบความทรงจำเกี่ยวกับพวกลัดไดท์โดยขบวนการแรงงานที่มีการจัดตั้ง และการแสดงอัตลักษณ์เช่นนี้ก็ถูกยกระดับขึ้นโดยการปฏิบัติตัวของธอมป์สันทั้งในฐานะนักวิชาการและนักกิจกรรมราดิคัลด้วย อันที่จริงแล้ว The Making ไม่ใช่ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางวิชาการ แต่ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ธอมป์สันกำลังสอนหนังสืออยู่ที่ "สมาคมด้านการศึกษาของคนงาน" (the Workers' Educational Association) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง และกำลังพัวพันอย่างลึกซึ้งกับการเมืองของซ้ายใหม่ ดังนั้น The Making จึงเลือกข้าง ต่อสู้พัวพัน และพุ่งเป้าอย่างเปิดเผยไปยังผู้อ่านที่อยู่ในปีกซ้ายและในสหภาพแรงงาน อลัน ดอว์ลีย์ (Alan Dawley) ตั้งข้อสังเกตว่า The Making ก้องกังวานไปด้วยความหวังของนักวิชาการราดิคัลรุ่นหนึ่งที่เชื่อว่าคนธรรมดาก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้และเชื่อว่านักประวัติศาสตร์ที่เห็นอกเห็นใจก็สามารถเขียนถึงพวกเขาได้เช่นกัน[108]

หนังสือของธอมป์สันสร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อการทำงานด้านประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ราดิคัลทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ แต่เสียงสะท้อนของมันไม่สามารถวัดได้ด้วยวิธีการง่ายๆ มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยกขาดโดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงทั้งซ้ายใหม่ ขบวนการนักศึกษา และการต่อต้านทางวัฒนธรรมด้วย 

สำหรับนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์รุ่นเก่า The Making เป็นหมุดหมายในวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบมาร์กซิสต์ จอห์น ซาวิลล์ (John Saville) มองมันในฐานะการเปลี่ยนแปลงในความรู้ทางประวัติศาสตร์และเป็นภาพแทนของความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับชนชั้นสามัญชน ขณะที่ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ แนะนำ The Making ในฐานะการระลึกถึงความเห็นอกเห็นใจของนักประวัติศาสตร์รุ่นบุกเบิก ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าในความรู้และวิธีการทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นถัดมาด้วย[109] ส่วนฮอบส์บอว์มเชื่อว่า The Making ถูกอ่านอย่างกว้างขวาง มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์แบบราดิคัล และมองว่ามัน "จะกลายเป็นงานคลาสสิคในไม่ช้าและอย่างแน่นอน"[110] ดวอร์คินเสนอว่า แม้ The Making จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทัศนะของนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์รุ่นเก่าไปอย่างแท้จริง แต่มันก็กระตุ้นให้พวกเขาพุ่งความสนใจมากขึ้นเป็นพิเศษไปที่ "ประสบการณ์" ของขบวนการประชาชน แม้ว่า ร็อดนีย์ ฮิลตัน (Rodney Hilton) จะกล่าวถึงสังคมยุคกลางผ่านสายตาของชาวนามาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีงานศึกษาที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของชาวนายุคกลางของเขาปรากฏขึ้นเลย จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 1970 Bond Men and Made Free: Medival Peasant Movements and the English Rising 0f 1381 ของเขาจึงปรากฏขึ้น[111] โดยเขายอมรับว่าเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความยุ่งเหยิงทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และการประท้วงของขบวนการนักศึกษา และเขาก็ยอมรับว่าเขาเป็นหนี้อย่างมากจากตัวอย่างต่างๆ ที่ธอมป์สันกล่าวถึงใน The Making[112]

 

หลากหลายทัศนะวิพากษ์ที่มีต่อ The Making

 

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่สำคัญของยุคสมัย กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อธอมป์สันนั้นมาจากหลากหลายทิศทาง มีทั้งที่มาจากนักคิดปัญญาชนที่เป็นมาร์กซิสต์และไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์ มีทั้งที่เป็นการวิพากษ์ The Making โดยเฉพาะ, มีทั้งที่เกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 ของเขา, เกี่ยวกับทฤษฎีประวัติศาสตร์และลัทธิมาร์กซของเขา, เกี่ยวกับเพศสภาพและการละเลยบทบาทของผู้หญิง, เกี่ยวกับความสำคัญทางทฤษฎีของ "ภาษา" และประเด็นอื่นๆ อีกมากมายหลายประเด็น ในกรณีการละเลยบทบาทของแรงงานผู้หญิงใน The Making ซึ่งเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญของนักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์นั้น พวกเขาวิจารณ์ว่า ถ้าหากนักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์ในทศวรรษ 1970 มองตัวของพวกเขาเองว่าเป็นผู้ที่กำลังหยั่งรากลึกลงไปในจารีตของประวัติศาสตร์ประชาชนที่ถูกบุกเบิกโดยจารีตของนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์รุ่นที่แก่กว่าแล้ว พวกเขาก็ตระหนักว่าจะต้องกันตัวเองให้ออกห่างจากจารีตนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่ แคทเธอรีน ฮอลล์ (Catherine Hall) กล่าวว่า "แต่การเกี่ยวข้องพัวพันอยู่กับประวัติศาสตร์นิพนธ์ การท้าทายที่มันนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือถูกสำรวจถึง การปฏิเสธที่จะพิจารณาคำถามเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างจริงจัง ความเชื่อมั่นที่ว่าชนชั้นเป็นแนวคิดที่ตาบอดเรื่องเพศสภาพถูกแสดงออกให้เห็นอย่างช้าๆ โดยพวกเรา ได้เคลื่อนย้ายพวกเราไปสู่การปฏิเสธบิดาของพวกเราและพยายามที่จะทำงานชนิดใหม่ที่แตกต่างออกไป เขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งถูกกระตุ้นโดยชุดของความจำเป็นทางการเมืองอีกอันหนึ่งที่แตกต่างออกไป" ขณะที่นักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์บางส่วนวิจารณ์บทความของฮอบส์บอว์มเรื่อง "Man and Woman in Socialist Iconography" (1978) ที่พยายามแก้ต่างในเรื่องนี้ว่า ฮอบส์บอว์มก็ยังคงผลิตซ้ำอคติของผู้ชายที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์แรงงานแบบเก่าอยู่ดี[113]

แม้ว่านักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์จะพยายามรอบคอบระมัดระวังเมื่อพวกเขากล่าวถึงการให้ความสนใจอย่างมากต่อการกำหนดทางวัฒนธรรมของธอมป์สันก็ตาม แต่แนวโน้มทั่วไปส่วนมากของแนวทางการวิพากษ์นี้ก็ถูกปรับใช้กับเขาด้วยเช่นกัน เขาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตประวัติศาสตร์แรงงานที่ถูกครอบงำโดยผู้ชาย และแม้ว่าวิธีการศึกษาของเขาจะขยายกว้างออกไปสู่การค้นพบองค์ประธานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกีดกันไปไว้ที่ชายขอบอื่นๆ ก็ตาม แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอต่อบทบาทของผู้หญิงใน "การสร้างชนชั้นแรงงาน" พวกเขามองว่า สำหรับธอมป์สันแล้ว ชนชั้นเกิดขึ้นเมื่อ "ผู้ชายบางคน" ไม่ใช่ "ผู้หญิงบางคน" ตระหนักถึงผลประโยชน์ที่เป็นของพวกเขาและความขัดแย้งของพวกเขากับคนกลุ่มอื่นๆ ธอมป์สันมองประสบการณ์ทางชนชั้นในฐานะประสบการณ์ที่ถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นหลัก แต่เขาละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชายและผู้หญิงดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์เหล่านี้แตกต่างกัน หรือละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า "การผลิตซ้ำ" ก็มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทางชนชั้นด้วย ในความเป็นจริงธอมป์สันถือว่า "จิตสำนึกทางชนชั้น" มีความหมายเท่ากับคนงานผู้ชายที่ในท้ายที่สุดแล้วก็คือผู้ที่สร้างสรรค์ขบวนการแรงงานขึ้นมา ขณะที่ผู้หญิงชนชั้นแรงงานถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็นเพียงผู้หนุนเสริม ถูกนำเสนอภาพในฐานะสหายผู้ให้การสนับสนุนและภักดีต่อสหายชายของพวกเขาเท่านั้น ทั้งๆ ที่พวกเธอมีความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างลึกซึ้งกับความไม่พอใจต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อพัฒนาการของการเมืองทางชนชั้นด้วยเช่นกัน[114]

ขณะที่ โจน วัลลัค สก็อตต์ (Joan Wallach Scott) ซึ่งแม้จะยอมรับในอิทธิพลและคุณูปการของธอมป์สันอย่างมาก แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างแหลมคมว่า ใน The Making นั้น การกำหนดแนวความคิดทั่วไปแบบผู้ชายถูกทำให้เป็นจริงในรูปของบุคคลต่างๆ ที่เป็นผู้กระทำการทางการเมืองผู้ซึ่งถูกบรรยายภาพพจน์โดยให้รายละเอียดอย่างโดดเด่นและน่าสนใจ The Making เต็มไปด้วยฉากต่างๆ ของผู้ชายที่กำลังง่วนอยู่กับธุระการงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การเขียน การพูดคุย การเดินขบวน การทำบายเครื่องจักร การถูกนำตัวไปขัง การยืนประจันหน้ากับตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐมนตรีอย่างกล้าหาญ เรื่องเล่าอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับผู้ชายและชนชั้นเช่นนี้ถูกประกอบสร้างขึ้นในฐานะ "อัตลักษณ์ของความเป็นชาย" อันหนึ่ง แม้ว่าผู้กระทำการจะไม่ใช่ผู้ชายทั้งหมดก็ตาม แน่นอนว่ามีผู้หญิงใน The Making แต่พวกเธอก็ถูกระบุบ่งชี้ตัวตนโดย "ชื่อ" ซึ่งเริ่มตั้งแต่ แมรี่ โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) ไปจนถึง โจแอนนา เซาท์คอต แต่กระนั้นการจัดวางเรื่องราวและรหัสสำคัญที่สร้างเรื่องเล่าก็ถูกแบ่งเพศไว้ในลักษณะนี้เพื่อ "ยืนยัน" มากกว่าจะ "ท้าทาย" ต่อภาพตัวแทนของชนชั้นที่เป็นผู้ชาย ก็ทำให้ผู้หญิงดำรงอยู่ตรงชายขอบของ The Making พวกเธอเพียงแต่ช่วยเน้นความสำคัญของการเมืองของคนงานผู้ชายเท่านั้น[115] นอกจากนี้ ใน The Making ธอมป์สันยังไม่ให้ความสนใจที่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบของทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีต่อผู้หญิงซึ่งก็เป็นผู้ใช้แรงงานเช่นกันด้วย ยกเว้นผู้หญิงในโรงงานสิ่งทอแล้ว ผู้ใช้แรงงานหญิงอื่นๆ ก็แทบที่จะไม่ถูกให้ความสนใจใน The Making และผู้หญิงก็ถูกกล่าวถึงโดยปราศจากคำอธิบายใดๆ แค่เพียงในฐานะแรงงานราคาถูกที่ถูกใช้ประโยชน์แทนผู้ชายในพื้นที่ทำงานและโรงงานเท่านั้น ความสนใจที่ให้ต่อผลกระทบของทุนนิยมที่มีต่อคนงานผู้ชาย แทบจะไม่มีให้กับสถานะที่ตำกว่าและค่าจ้างที่ต่ำกว่าของผู้หญิงในตลาดแรงงานเลย ช่างฝีมือหญิงถูกละเลย แม้ว่าพวกเธอจะมีจารีตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอิสระอันยาวนานที่ต่อมาก็จะถูกรบกวนโดยระบบการทำงานแบบทุนนิยมเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ชายเช่นกัน[116]

อย่างไรก็ตาม สก็อตต์เสนอว่านักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์ไม่สามารถที่จะเพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องเล่าของธอมป์สันอย่างง่ายๆ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้หญิงชนชั้นแรงงานอย่างเต็มที่โดยหวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการก่อตัวทางชนชั้นที่อาจจะปรากฏขึ้นในท้ายที่สุด นักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์จะยังคงไปเพิ่มพลังให้กับบทบาทที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในประวัติศาสตร์ชนชั้นแรงงานของผู้หญิง ถ้าหากพวกเขาหรือเธอไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งปลูกสร้างทางความคิดอันมหึมาที่หนังสืออย่าง The Making พักอาศัยอยู่ สกอตต์เสนอว่าคำอธิบายเรื่องจิตสำนึกทางชนชั้นที่กำลังค่อยๆ ปรากฏขึ้นของธอมป์สันถูกสร้างขึ้นบน "ความเป็นคู่ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง" อันหนึ่ง ดังที่สก็อตต์กล่าวว่า "การทำงาน ในแง่ที่เป็นกิจกรรมทางการผลิตเป็นสิ่งที่กำหนดจิตสำนึกทางชนชั้นซึ่งการเมืองของเขาหรือเธอคือความเป็นผู้ที่ยึดถือหลักเหตุผล ขณะที่เรื่องภายในบ้านเป็นเรื่องที่อยู่ภายนอกกระบวนการผลิต และมันก็มีลักษณะที่ประนีประนอมหรือไม่ก็ต่อต้านโค่นล้มจิตสำนึกทางชนชั้นที่มักจะเป็นพันธมิตรกับขบวนการ (ทางศาสนา) ต่างๆ ที่รูปแบบของพวกมัน 'ถูกแสดงออกมา'" สองสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงนี้ถูกใส่รหัสลงไปอย่างชัดเจนในฐานะ "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" ขณะที่ "ชนชั้น" กลายเป็นสิ่งประกอบสร้างที่มีเพศสภาพ[117] สกอตต์เสนอว่า ลักษณะที่ถูกกำหนดเพศสภาพเอาไว้แล้วในแนวคิดว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้นของธอมป์สัน ทำให้ผู้หญิงไม่เคยสามารถที่จะแสดงบทบาทอื่นใดได้อีกนอกจากบทบาทที่เป็นชายขอบ ถึงแม้ธอมป์สันจะเชื่อว่าเขากำลังสร้างสรรค์ประสบการณ์ในเชิงภาววิสัยของผู้ใช้แรงงานขึ้นมาอีกครั้งอย่างเห็นอกเห็นใจก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เขาสร้างชนชั้นแรงงานขึ้นมามากพอๆ กับที่เหล่าสมาชิกของชนชั้นแรงงานสร้างตัวของพวกเขาเองขึ้นมา ถ้านักสตรีนิยมต้องการที่จะสร้างกรอบโครงของประวัติศาสตร์ชนชั้นแรงงานขึ้นมาใหม่ พวกเขาหรือเธอก็ต้องสร้างสรรค์ "โครงสร้างคำบรรยาย" ที่เป็นของพวกเขาหรือเธอขึ้นมาเอง โครงสร้างคำบรรยายที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่งานเขียนทางประวัติศาสตร์แสดงบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ทางชนชั้นทั้งในแง่ปัจเจกและในแง่รวมหมู่[118]

แคทเธอรีน ฮอลล์ เป็นนักประวัติศาสตร์เฟมมินิสต์อังกฤษอีกคนที่เติบโตขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของธอมป์สันและนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์รุ่นเก่าแต่ต่อมาเธอก็พัฒนาและแยกตัวเองออกมาจากวิธีการศึกษาของธอมป์สันและหันไปให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมชนชั้นกลางซึ่งในทางทฤษฎีแล้วถือว่าเป็นชนชั้นที่ครอบงำอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถสะกัดกั้นขบวนการต่อต้านได้สำเร็จในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ความคิดเช่นนี้ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์โดยการเปลี่ยนทิศทางการทำงานจากการยกย่องสรรเสริญพลังของฝ่ายต่อต้านไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของ "อำนาจนำ" (hegemony) แทน ใน Family Forturnes: Men and Woman of the English Middle Class, 1780-1850 (1987) ซึ่งเป็นงานเขียนที่สำคัญมากๆ ที่เธอเขียนร่วมกับ ลีโอน เดวิดอฟ (Leonore Davidoff) ฮอลล์ได้ทำการสำรวจประสบการณ์ของชนชั้นแรงงานในการปฏิวัติอุตสาหกรรม เธออุทิศความสนใจส่วนใหญ่ไปที่ชีวิตของชนชั้นกลาง ข้อเสนอของหนังสือตั้งอยู่บนความตระหนักเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งของกลไกทางอุดมการณ์และกลไกทางวัฒนธรรมที่ครอบงำในสังคมอังกฤษ และตั้งอยู่บนความต้องการที่จะเข้าใจจุดกำเนิดของชนชั้นกลางและการทำให้เข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับข้อจำกัดของประวัติศาสตร์ราดิคัลที่ยกย่องสรรเสริญการต่อต้านของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งส่งผลให้ฮอลล์ท้าทายกระแสประวัติศาสตร์สังคมนิยมที่ครอบงำอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Making ของธอมป์สัน ดังที่ฮอลล์กล่าวว่า

สำหรับนักสังคมนิยมส่วนใหญ่ มันมีเสน่ห์อย่างมากต่อการทำงานกับหลักฐานซึ่งให้ข้อเสนอและคำยกย่องสรรเสริญบางอย่างต่อการต่อต้าน มากกว่าจะเป็นการทำงานกับหลักฐานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (แม้ว่าจะถูกท้าทายอยู่เรื่อยๆ) ของกระฎุมพี (bourgeoisie) ตัวอย่างเช่น การอภิปรายเกี่ยวกับ "the making of the English middle class" ก็มักที่จะถูกให้ข้อมูลและถูกคิดในเชิงทฤษฎีน้อยกว่าการอภิปรายเกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน[119] 

วิลเลียม ซีเวลล์ (William Sewell) เป็นนักประวัติศาสตร์อีกคนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอิทธิพลและได้รับแรงบันดาลใจจาก The Making แต่ภายหลังเขาก็มองเห็นข้ออ่อนของมันและมีข้อวิจารณ์ต่อธอมป์สันผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์ "preface" ของ The Making ในบทความที่ชื่อ "How Classes are Made: Critical Reflections on E.P.Thompson's Theory of Working-class Fromation" โดยซีเวลล์วิจารณ์ว่า "ทฤษฎีว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้น" ของธอมป์สันมีความไม่เพียงพอทั้งในฐานะทฤษฎีและในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เขาบรรลุถึงใน The Making[120] การที่เขาติดแน่นอยู่กับความเป็นฝ่ายตรงข้ามในการถกเถียงโต้แย้งมากจนเกินไป ทำให้ธอมป์สันไม่สามารถก้าวข้ามพ้นลัทธิมาร์กซคลาสสิคไปได้ ประการแรก ทฤษฎี "การกำหนด" ของเขาที่ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดประสบการณ์ทางชนชั้นขึ้นมาชุดหนึ่งและประสบการณ์ทางชนชั้นเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดจิตสำนึกทางชนชั้นนั้น ยังมีลักษณะคล้ายคลึงอยู่ไม่น้อยกับทฤษฎี "การกำหนด" ของมาร์กซที่ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มีลักษณะขูดรีดก่อให้เกิดการต่อสู้ทางชนชั้นผ่านสิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นผู้มีจิตสำนึกต่อตัวเองในฐานะชนชั้นที่มีชะตากรรมทางประวัติศาสตร์ในการยกเลิกการกดขี่มนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน แตกต่างกันตรงที่การกำหนดของธอมป์สันนั้นเป็นไปอย่าง "หลวมๆ" เพื่อปล่อยที่ว่างไว้ให้แก่การใช้กำลังของตัวกระทำการและความไม่แน่นอนของประสบการณ์ของมนุษย์ แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ แม้ว่าเขาจะปฏิเสธตัวแบบว่าด้วย "ฐานกำหนดโครงสร้างส่วนบน" ก็ตาม แต่เขาก็ไม่ได้เสนอทางเลือกที่หลุดออกไปจากทฤษฎีเศรษฐกิจกำหนดเกี่ยวกับการก่อตัวทางชนชั้น เขากำหนดบทบาทให้กับตัวกระทำการที่เป็นมนุษย์และประสบการณ์ แต่เขาก็เชื่อมโยงพวกมันอย่างหลวมๆ เข้ากับกฎที่น่าจะเป็น (ไม่ใช่กฎเหล็ก) ยิ่งไปกว่านั้น ในภาพร่างของกระบวนการก่อตัวทางชนชั้น ธอมป์สันกลับยืนยันในสิ่งที่เขาปฏิเสธ นั่นคือ ชนชั้นดำรงอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากจิตสำนึกของคนงาน เช่นนี้แล้ว ถ้าหากประสบการณ์ของคนงานผลิตจิตสำนึกทางชนชั้น นั่นก็แสดงว่าประสบการณ์ของพวกเขาเป็นประสบการณ์ที่มีชนชั้นอยู่แล้ว และถ้าประสบการณ์ที่มีชนชั้นเหล่านี้ถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิต นั่นก็แสดงว่าความสัมพันธ์ทางการผลิตเหล่านี้จะต้องเป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มีชนชั้นที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้าที่มันจะให้กำเนิดประสบการณ์ที่มีชนชั้นอีกที[121] 

ปัญหาประการที่สองก็คือการที่ธอมป์สันยืนยันความเป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้น ในความหมายที่ว่าชนชั้นไม่เพียงจะเกิดขึ้นในกระบวนการทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่มันดำรงอยู่แต่เพียงในการเปลี่ยนผ่านของเวลาด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะดึงเอาความคิดเช่นนี้มาจากข้อสรุปทางญาณวิทยาที่ว่าการวิเคราะห์ชนชั้นแบบหยุดเวลาเอาไว้ในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้นั้น ซีเวลล์มองว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เพราะขณะที่ชนชั้นดำรงอยู่ในเวลานั้น มันก็จำเป็นที่จะต้องมีชั่วขณะเวลาหนึ่งในการวิเคราะห์ชนชั้นในเชิงทางประวัติศาสตร์ที่เพียงพอจะ "หยุด" เอาไว้เพื่อมองชนชั้นในฐานะความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่ถูกหยุดเอาไว้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก ระหว่างกลุ่มของคนงานอันหลากหลาย ระหว่างคนงานกับนายจ้าง หรือระหว่างคนงานกับวิถีการผลิต และตรงกันข้ามกับธอมป์สัน ซีเวลล์เสนอว่าอันที่จริงแล้วความคิดเรื่องความสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์แบบหยุดเวลาเอาไว้ในช่วงใดช่วงหนึ่ง เราไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ทางชนชั้นผ่านการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เราจะต้อง "หยุด" มันไว้เป็นบางครั้งบางคราวเพื่ออธิบายมันในฐานะโครงสร้างอันหนึ่ง กล่าวได้ว่า การต่อต้านแนวคิดที่ไม่เป็นประวัติศาสตร์ของลัทธิสตาลินและลัทธิโครงสร้างหน้าที่นิยม ทำให้ธอมป์สันก้าวเลยเถิดไปจากตำแหน่งที่ยืนยันว่าการอธิบายชนชั้นจะต้องรักษาการวิภาษกันระหว่างมุมมองแบบหยุดเวลาไว้ในช่วงใดช่วงหนึ่งกับมุมมองแบบประวัติศาสตร์ แล้วไปยึดเอามุมมองแบบประวัติศาสตร์บริสุทธ์ไว้เพียงอันเดียว[122]

สำหรับซีเวลล์ ปัญหาประการที่สามของธอมป์สันก็คือ ถ้าหากว่าการวาดภาพด้วยคำบรรยายอย่างรุ่มรวยเกี่ยวกับประสบการณ์ของชนชั้นแรงงานถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ The Making แล้ว ภาระหนักในการให้คำอธิบายก็ตกไปอยู่ที่แนวคิดเรื่อง "ประสบการณ์" ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของ The Making ซีเวลล์มองว่าความหมายของคำว่า "ประสบการณ์" ไม่มีรูปร่างที่แน่นอนชัดเจนซึ่งทำให้มันยากที่จะกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับบทบาทของ "ประสบการณ์" ในทฤษฎีว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้นได้ และธอมป์สันก็ทำผิดพลาดอย่างสำคัญที่ใช้งาน "ประสบการณ์" ในวิถีทางที่ขัดแย้งยุ่งเหยิงและไม่ลงรอยกัน ทั้งในบทความเรื่อง "Folklore, Anthropology, and Social History" และใน "preface" ของ The Making ธอมป์สันนำเสนอ "ประสบการณ์" ในฐานะ "การเป็นสื่อกลาง" ระหว่างความสัมพันธ์ทางการผลิตและจิตสำนึกทางชนชั้น แต่ปัญหาของความคิดนี้ก็คือประสบการณ์ดูเหมือนจะหมายรวมถึงทั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งซึ่งมันทึกทักเอาว่าตัวมันกำลังเป็นสื่อกลางให้ คำถามก็คือว่า "ความสัมพันธ์ทางการผลิต" หรือ "การดำรงอยู่ทางสังคม" หรือ "จิตสำนึก" ดำรงอยู่ภายนอกประสบการณ์ใช่หรือไม่ ? "การดำรงอยู่ทางสังคม" อันใดอันหนึ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกประสบการณ์จำเป็นที่จะต้องเป็นโครงสร้างที่หยุดเอาไว้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแบบเดียวกับที่ธอมป์สันปฏิเสธหรือไม่ ? และจิตสำนึกที่ดำรงอยู่ภายนอกประสบการณ์จะเป็นชนิดของจิตสำนึกที่ได้จากการอนุมานเอาตามที่ผู้นิยามสตาลินเชื่อว่าเป็นของชนชั้นแรงงานหรือไม่ ? ความสำเร็จที่สำคัญอันหนึ่งของการพรรณนาถึงการก่อตัวของชนชั้นแรงงานของธอมป์สันคือการวาดภาพความสัมพันธ์ทางการผลิตไม่ใช่ในฐานะสิ่งที่เป็นนามธรรม หากแต่ในฐานะประสบการณ์ของหญิงและชายจริงๆ ดังที่ปรากฏในส่วนที่สองของ The Making ขณะที่ "จิตสำนึกทางชนชั้น" ที่ถูกอธิบายในบทสุดท้ายก็ไม่ใช่ชุดของหลักการนามธรรมหรือหลักการเชิงตรรกที่คนงานยึดถือ หากแต่เป็นประสบการณ์รูปธรรมของพวกราดิคัล, นักหนังสือพิมพ์ และผู้สนับสนุนโอเวนผู้ซึ่งเขียนและอ่านข้อเขียน ใบปลิว บทความในหนังสือพิมพ์ หรือพูดปราศรัยในบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองและสังคมของพวกเขา และเป็นผู้ซึ่งปฏิบัติตามจิตสำนึกทางชนชั้นในชีวิตของพวกเขา กล่าวอย่างรวบรัด ประสบการณ์ไม่สามารถแสดงบทบาท "การเป็นสื่อกลาง" ได้ในคำอธิบายของเขาเกี่ยวกับการก่อตัวของชนชั้นแรงงานอังกฤษ เพราะว่า (สำหรับธอมป์สัน) การก่อตัวของชนชั้นแรงงานอังกฤษ "ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจาก" ประสบการณ์[123]

ขณะที่ซีเวลล์เน้นบทบาทของสัญลักษณ์ แกเร็ธ สเตดแมน จอห์น (Gareth Stedman John) พุ่งความสนใจไปที่ภาษา (language) โดยให้น้ำหนักเป็นการเฉพาะต่อขอบเขตที่ภาษาไม่เพียงสะท้อนความจริงทางสังคม แต่เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างความจริงทางสังคมขึ้นมาด้วย เขายอมรับว่ามีกระบวนการและโครงสร้างทางสังคมดำรงอยู่จริงๆ และมองว่าภาษาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการตรวจสอบสิ่งเหล่านั้น[124] คล้ายกับธอมป์สัน, สเตดแมน จอห์นศึกษาการประกอบขึ้นของชนชั้นแรงงาน เขายอมรับคุณูปการของธอมป์สันในการปลดปล่อยความคิดเรื่องจิตสำนึกทางชนชั้นออกจากการเชื่อมโยงโดยตรงของมันที่มีต่อฐานทางเศรษฐกิจ แต่เขาไม่เห็นด้วยกับธอมป์สันที่มองว่า "การดำรงอยู่ทางสังคม" เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับ "จิตสำนึกทางสังคม" เพราะความคิดเช่นนี้ทิ้งที่ว่างอิสระเพียงน้อยนิดให้แก่บริบททางอุดมการณ์ที่อยู่ภายในสิ่งซึ่งการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันของ "ภาษาของชนชั้น" (language of class) อันหนึ่งจะสามารถถูกประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เขามองว่า การถกเถียงโต้ตอบกันไปมาอย่างง่ายๆ ระหว่างจิตสำนึกและประสบการณ์ไม่สามารถอธิบายรูปแบบที่ถูกทึกทักเอาว่าเป็นจริงโดยอุดมการณ์ของ "ขบวนการกฎบัตรประชาชน" (Chartism) ได้ แทนที่จะอธิบายแบบธอมป์สัน สเตดแมน จอห์นจัดวางองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของจิตสำนึกทางชนชั้นไว้ใน "ภาษาของชนชั้น" โดยเขามองว่าแนวความคิดเรื่อง "ประสบการณ์ของชนชั้นแรงงาน" ของธอมป์สันนั้น จำเป็นที่จะต้องถูกปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เนื่องจากประสบการณ์เหล่านี้ "ฝังตรึง" อยู่ในภาษาอันหนึ่งซึ่งมีโครงสร้างของมันเองด้วย[125] เขามองว่าแนวความคิดต่างๆ ที่ตีความขบวนการกฎบัตรประชาชนในแง่มุมของจิตสำนึกทางชนชั้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ถ้าหากแนวคิดเหล่านั้นมองข้ามขอบเขตที่ขบวนการกฎบัตรประชาชนไม่ได้ฝังตรึงอยู่ในโครงสร้างทางสังคม หากแต่ฝังตรึงอยู่ใน "ภาษาทางการเมือง" ที่ดำรงอยู่มาก่อนแล้ว สเตดแมน จอห์นเสนอว่าการผงาดขึ้นและการเสื่อมลงของขบวนการกฎบัตรประชาชน "ถูกกำหนดโดย" ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม "น้อยกว่า" ภาษาทางการเมืองที่เหล่าผู้สนับสนุนขบวนการกฎบัตรประชาชนใช้ในการตีความการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา[126] แต่กระนั้นนี่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในการวิเคราะห์ขบวนการกฎบัตรประชาชนในฐานะขบวนการทางการเมืองนี้ สเตดแมน จอห์นจะละเลยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมลงไปโดยสิ้นเชิง[127]

ควรกล่าวด้วยว่า เพอร์รี แอนเดอร์สัน ก็เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายอีกคนที่วิจารณ์ The Making ได้อย่างแหลมคมยิ่ง ใน Arguments Within English Marxism (1980) หนังสือที่แม้จะตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อโต้เถียงกับ The Poverty of Theory ของธอมป์สันโดยเฉพาะก็ตาม หากแต่เขาก็ยังได้ชี้ให้เห็นปัญหาบางประการที่ปรากฏอยู่ใน The Making ด้วย โดยแอนเดอร์สันเสนอว่าใน The Making นั้น เงื่อนไขเชิงภาวะวิสัยของการสะสมทุนและการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมถูกปฏิบัติในฐานะเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับรองและอยู่ภายนอกการสร้างชนชั้นกรรมาชีพอังกฤษ[128] ขณะที่ความก้าวหน้าของทุนนิยมอุตสาหกรรมก็ถูกทำให้กลายเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งในกระบวนการเชิงอัตวิสัยที่ยาวนานและใหญ่โตในที่ซึ่งการก่อตัวของชนชั้นแรงงานอังกฤษปรากฏขึ้นในฐานะพัฒนาการที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในจารีตประเพณีที่ต่อเนื่องของวัฒนธรรมประชาชน[129] นอกจากนี้ ธอมป์สันยังไม่ได้ให้วิธีการในการทดสอบข้อเสนอของเขาที่ว่า "ชนชั้นแรงงานอังกฤษสร้างตัวมันเองมากพอๆ กับที่มันถูกสร้าง" และไม่ได้ให้เครื่องมือที่ใช้วัดความสัมพันธ์ที่ได้สัดส่วนระหว่าง "ตัวกระทำการ" และ "ความจำเป็น" ด้วย แอนเดอร์สันเสนอว่าอย่างน้อยที่สุดธอมป์สันก็ควรจะสำรวจ 2 ประเด็นดังต่อไปนี้อย่างเชื่อมประสานกัน นั่นคือ (1) การรวบรวมและการเปลี่ยนรูปกำลังแรงงานในเชิงภาวะวิสัยโดยการปฏิวัติอุตสาหกรรม และ (2) การแตกหน่อก่อตัวในเชิงอัตวิสัยของวัฒนธรรมทางชนชั้นที่ตอบโต้ต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่เนื่องจากธอมป์สันจดจ่อสนใจอยู่แต่กับ "ประสบการณ์ของผู้ทำการผลิต มากกว่าจะเป็นวิถีการผลิตโดยตัวมันเอง" ดังนั้น สิ่งที่เขามอบให้จึงเป็นเพียงองค์ประกอบในเชิงอัตวิสัยของสมการนี้เท่านั้น[130] นอกจากนี้ การที่ธอมป์สันเน้นย้ำเกี่ยวกับความต่อเนื่องของจารีตประเพณีของประชาชนที่ตัดข้ามช่วงเวลาของการระเบิดขึ้นอย่างวิบัติหายนะของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และยืนยันที่จะจัดวางช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ไว้ในการก่อตัวของชนชั้นแรงงานในแง่ที่ผลของวิกฤตการณ์จะแสดงออกมาในช่วงปี 1790-1832 ซึ่งเป็นช่วง "ก่อน" ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของการผลิตและกำลังแรงงานโดยทุนนิยมอุตสาหกรรมที่พัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้วนั้น ธอมป์สันก็ไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอันไพศาลของชนชั้นแรงงานที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นเลย[131] 

 

บทสรุปส่งท้าย

 

แม้จะถูกวิจารณ์จากหลากหลายทิศทาง แต่ The Making ก็ถูกยอมรับในฐานะงานเขียนระดับคลาสสิกอีกชิ้นหนึ่ง นับตั้งแต่ถูกพิมพ์ครั้งแรกในปี 1963 มันก็ถูกพิมพ์ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง กองบรรณาธิการนิตยสาร Guardian ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2013 กล่าวว่า The Making "สง่างามและอุทิศทุ่มเท" นับตั้งแต่ถูกพิมพ์ออกมาก็ยัง "ไม่มีนักประวัติศาสตร์สังคมอังกฤษคนใดสามารถผลิตหนังสือออกมาได้ดีเทียบเท่ากับ The Making of The English Working Class ของ อี.พี.ธอมป์สัน...หนังสือระเบิดปะทุไปด้วยพลังงาน มันใช้หลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่างๆ นานา เช่น เพลงพื้นบ้านและพิธีกรรมในพื้นที่ทำงานเพื่อวาดภาพประสบการณ์ชีวิตของชนชั้นแรงงานขึ้นมา" และมันก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ The Making จะกลายเป็นหนังสือที่ทำให้แวดวงผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์แรงงานอังกฤษถึงกับตกตลึง เพราะมันถูกเขียนโดยอาจารย์คนหนึ่งที่สอนอยู่ที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จัก ผู้เขียนของมันเป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยปราศจากการศึกษาในระดับสูง แทบจะไม่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันหรือหน่วยงานอันทรงเกียรติใดๆ การใช้เพลง บทกวี และหนังสือพิมพ์หน้าเดียวต่างๆ ของเขาทำให้ผู้คนในแวดวงวิชาการถึงกับสะดุ้งโหยง กระนั้น The Making ก็สร้างความพึงพอใจอย่างมากให้กับภาควิชาประวัติศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย มีผู้กล่าวว่า The Making "ส่งแรงสั่นสะเทือนผ่านห้องสำหรับพักสูบบุหรี่อันสุภาพเรียบร้อยของมหาวิทยาลัยที่เงียบสงบเฉื่อยชาและเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการศึกษาเกี่ยวกับยุคสมัยนั้นๆ ไปตลอดกาล" มันท้าทายต่อประวัติศาสตร์แบบวิชาการและเป็นเรื่องเล่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเอกสารทางการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ข้อโต้เถียงของธอมป์สันอันหนึ่งที่ว่า "การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้กำหนดลงไปบนหรือมีผลกระทบต่อวัตถุที่ไร้ชีวิตจิตใจ หากแต่กำหนดลงไปบนหรือมีผลกระทบต่อชนชาวอังกฤษผู้เกิดมาเสรี"[132]

ขณะที่ เฮนรี เอบเลิฟ (Henry Abelove) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอว่า ด้านที่เป็นรากฐานของชีวิตและงานของธอมป์สันคือความสนใจของเขาที่มีต่อบทกวี (อันที่จริง ความตั้งใจแรกเริ่มของเขาคือการเป็นกวี ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ และทั้งพ่อและพี่ชายของเขาก็เป็นกวี) ธอมป์สันแสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่เขาก็ยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับบทกวี ชีวิตส่วนใหญ่ในฐานะครูโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ทำให้เขาสามารถที่จะหลอมรวมเอาวรรณกรรม/บทกวีและประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันในการสอนและการบรรยายของเขาได้ ยิ่งกว่านั้น การศึกษาทางประวัติศาสตร์ของธอมป์สันมักจะมีการอ้างอิงถึงบทกวีและกวีที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกับยุคสมัยที่เขาศึกษาอีกด้วย ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ ใน The Making ซึ่งเปิดและปิดเรื่องด้วยการอ้างถึงบทกวีของวิลเลียม เบลก (William Blake) ขณะที่ใน Whigs and Hunters ธอมป์สันก็จบหนังสือของเขาด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับกวีอย่าง อเล็กซานเดอร์ โปป (Alexander Pope) และโจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) รวมทั้ง

  เมื่อธอมป์สันตั้งชื่อหนังสือเล่มสำคัญของเขาว่า The Making of the English Working Class เขาตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงการเดินเคียงคู่ไปพร้อมกันระหว่างศิลปะกับการต่อสู้ของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาทั้งหมดในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ คำว่า "making" นั้นมีความหมายสองนัย Maker หมายถึงกวีในภาษาอังกฤษโบราณ ขณะที่ making หมายถึงการเขียนงาน การสร้าง และการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงของกวี ดังนั้น ชื่อหนังสือ The Making of the English Working Class จึงสะท้อนถึงการมาบรรจบกันของสองสิ่ง นั่นคือ สิ่งที่ธอมป์สันทำในฐานะนักเขียนคนหนึ่งและการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานอังกฤษเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จด้วยตัวของพวกเขาเอง[133]

 


 

[1] E.P.Thompson, The Making of the English Working Class, Harmondsworth: Penguin, 1963. 

[2] E.P.Thompson, Whigs and hunters: The origins of the Black Act. Harmondsworth: Pantheon, 1975.

[3] E.P.Thompson, "Time, Work-Discipline, and Industrial Capitalism", Past & Present, 38 (February 1967) p.56-97 and in Customs in Common, New York: The New Press, 1991, p.325-403.

[4] E.P.Thompson, "Moral Economy of the English Crowd in the Eigteenth Century" in Customs in Common, New York: The New Press, 1991, p.185-258.

[5] E.P.Thompson, "Patrician Society, Plebeian Culture" Journal of Social History, Vol. 7, No. 4 (Summer, 1974), pp. 382-405. และใน Customs in Common, New York: The New Press, 1991, pp.16-96. and "Eighteenth-century English Society: class struggle without class?", Social History, 3 (May 1978), pp.133-165.

[6] E.P.Thompson, William Morris: Romantic to Revolutionary, Newyork: Phantheon Book, 1977.

[7] E.P.Thompson, The Poverty of Theory, London: Merlin Press, 1978.

[8] E.P.Thompson, Zero Option, London: Merlin Press, 1982.

[9] E.P.Thompson, Protest and Survive, Harmondsworth: Penguin, 1980.

[10] เพื่อความกระชับของบทความ ต่อไปนี้จะใช้คำว่า The Making แทนคำว่า The Making of the English Working Class ไปตลอดทั้งบทความ ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อเต็มของหนังสือ

[11] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, Cambridge: Polity Press, 1984, p. 168.

[12] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, Manchester and New York: Manchester University Press, 2013, p.4.

[13] Henry Abelove (etc.), Visions of History, Pantheon Books, 1983, p.11.

[14] E.P.Thompson, Beyond the  Frontier: The Politic of a Failed Mission, London and Stanford, CA: Merlin Press and Stanford University Press, 1997, pp.56-64.

[15] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.5.

[16] Henry Abelove (ed.), Visions of History, p.11.

[17] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 169.

[18] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.5.

[19] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, New York: Routledge, 2015, p.302.

[20] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302.

[21] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 169.

[22] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.7.

[23] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302.

[24] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 169.

[25] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302.

[26] Henry Abelove (ed.), Visions of History, p.13.

[27] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302-303.

[28] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.8.

[29] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 169-170.

[30] Tim Rogan, The Moral Economists: R. H. Tawney, Karl Polanyi, E. P. Thompson, and the Critique of Capitalism, Princeton University Press 2017, p.148.

[31] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.303.

[32] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 170.

[33] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302.

[34] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 170.

[35] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.304.

[36] Cal Winslow (ed.), E.P.Thompson and the Making of the New Left: Essays and Polemics, Newyork: Monthly Review Press, 2014, p.10.

[37] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.305.

[38] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 170.

[39] Henry Abelove (ed.), Visions of History, p.14.

[40] Cal Winslow (ed.), E.P.Thompson and the Making of the New Left: Essays and Polemics, p.10.

[41] Cal Winslow (ed.), E.P.Thompson and the Making of the New Left: Essays and Polemics, p.10.

[42] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.12-13.

[43] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 170-171.

[44] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.306.

[45] Roger Fieldhouse and Richard Taylor (ed.), E.P.Thompson and English Radicalism, p.13.

[46] Perry Annderson, Arguments Within English Marxism, London: New Left Books, 1980.

[47] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.172.

[48] E.P.Thompson, "Socialist Hummanism", The New Reasoner, Summer 1957, p.113.

[49] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.173.

[50] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.173.

[51] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, Harmondsworth: Penguin, 1968, p.13.

[52] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.9-10.

[53] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.174.

[54] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.11.

[55] ขบวนการกฎบัตรประชาชน หรือ Chartism เป็นขบวนการชนชั้นแรงงานซึ่งปรากฏขึ้นในลอนดอนเมื่อปี 1836 จากนั้นมันก็ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วและคึกคักตื่นตัวอย่างมากในช่วงระหว่างปี 1838-1848 เป้าหมายของผู้ที่สนับสนุนขบวนการกฎบัตรประชาชน ก็คือการได้มาซึ่งอำนาจและสิทธิทางการเมืองสำหรับชนชั้นแรงงาน ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางผ่านการประชุมและแผ่นพับของพวกเขา

[56] เมธอดิสม์ (Methodism) หรือที่เรียกอีกอย่างว่าขบวนการเมธอดิสต์ เป็นอีกหนึ่งนิกายย่อยของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เกิดขึ้นโดย จอห์น เวสลีย์ (John Wesley ค.ศ. 1703 - 1791) เป็นชาวอังกฤษที่มีจุดประสงค์ ต้องการให้ผู้นับถือพระเจ้ามีอิสรภาพมากขึ้นสามารถปฏิบัติศาสนาไปตามหลักของเหตุผลให้เหมาะแก่ชีวิตของตน

[57] Marnie Hughes-Warrington, Fifty key thinkers on history, p.302-308.

[58] ดูรายละเอียดใน E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.19-203.

[59] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.176-177.

[60] เลเวลเลอส์ (Levellers) เป็นขบวนการทางการเมืองที่ยึดมั่นในอำนาจอธิปไตยของประชาชน ขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียง ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย และความอดทนทางศาสนา จุดเด่นของแนวคิดของเลเวลเลอส์ คือ ประชานิยม ดังที่พวกเขาแสดงออกโดยการเน้นไปที่สิทธิตามธรรมชาติที่เท่าเทียมกัน และการปฏิบัติของพวกเขาในการเข้าถึงสาธารณชนผ่านแผ่นพับ คำร้อง และคำร้องอุทธรณ์ต่อฝูงชน

[61] พิวริตันนิสม์ (Puritanism) เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนที่สนับสนุนความเชื่อทางปรัชญาและการกระทำพิธีทางศาสนาที่ บริสุทธิ์” (Purity) กว่า และความเคร่งครัดส่วนบุคคล ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กลุ่มพิวริตันเชื่อว่าการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษยังไม่เพียงพอและคริสตจักรแห่งอังกฤษยังทำพิธีศาสนาที่ไม่ต่างไปจากพิธีศาสนาของศาสนจักรโรมันคาทอลิกเท่าใดนัก

[62] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.28-34.

[63] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.51-55.

[64] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.56-57. "สมาชิกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด" เป็นชื่อหัวแรกในเนื้อหาส่วนที่ ของ The Making หมายถึงจำนวนอันมากมายนับไม่ถ้วนของสมาคม London Corresponding Society ในอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 18 ที่มี โธมัส ฮาร์ดีย์ (Thomas Hardy) เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญ

[65] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.41-50.

[66] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.64-81.

[67] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.84-110.

[68] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.97-107.

[69] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.84-110.

[70] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.179.

[71] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.179-180.

[72] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.207-211.

[73] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.180.

[74] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.217.

[75] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p. 215-216.

[76] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.218.

[77] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.182

[78] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.183-184.

[79] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.218-221.

[80] จอห์นแฮมมอนด์ เป็นนักข่าวและนักเขียนชาวอังกฤษเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาหลายชิ้นเขียนร่วมกับภรรยาของเขาที่ชื่อ บาร์บารา แฮมมอนด์ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์สังคมชาวอังกฤษผู้ค้นคว้าและเขียนหนังสือที่มีอิทธิพลหลายเล่มร่วมกับสามีของเธอ รวมถึงหนังสือไตรภาคอย่าง Labourerเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งปิดล้อมและการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีต่อชีวิตของคนงานด้วย

[81] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.231.

[82] Rechard Johnson, "Thompson, Genovese and Socialist-Humanist History", History Workshop, 6 (Autumn 1978), pp. 79-100.

[83] Harvey J. Kaye, The British Marxist Historians: an introductory analysis, p.185.

[84] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.231.

[85] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.411-414.

[86] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.415-417.

[87] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.417-418.

[88] ลัทธิสหัสวรรษ (the chiliasm) เป็นความเชื่อในช่วงหนึ่งพันปีแห่งสันติภาพและความเจริญทางโลก บางครั้งก็บรรลุถึงด้วยการกลับมาของพระเยซูในช่วงเวลานั้น มีความหมายคล้ายกับลัทธิมิลเลนาเรียน (Millenarianism)

[89] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.419-420.

[90] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.424.

[91] Eric Hobsbawm, "Methodism and the Threat of Revolution", History Today, (1957), VII, p.xiv.

[92] E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.428.

[93] ดูรายละเอียดในบทที่ว่าด้วย "Radical Westminsterใน E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.491-514.

[94] ดูรายละเอียดในบทที่ว่าด้วย "An Army of Redressersใน E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.515-659.

[95] ดูรายละเอียดในบทที่ว่าด้วย "Demagogues and Martyrsใน E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.660-780.

[96] ดูรายละเอียดในบทที่ว่าด้วย "Class Consciousnessใน E.P.Thompson, The Making of The English Working Class, p.781-915.

[97] Ellen Meiksins Wood, "The Politics of Theory and the Concept of Class: E.P. Thompson and His Critics," A Socialist Review Volume 9, 1982, p.45-46.

[98] Sarah Maza, Thinking About History, Chicago: University of Chicago Press, 2017, p.22.

[99] Sarah Maza, Thinking About History, p.22-23.

[100] Sarah Maza, Thinking About History, p.24-25.

[101] Sarah Maza, Thinking About History, p.25.

[102] Geoff Eley, A Crooked Line: From Cultural History to the History of Society, the United State of America: The University of Michigan Press, 2005, p.54-55

[103] Geoff Eley, A Crooked Line: From Cultural History to the History of Society, p.57-58

[104] Geoff Eley, A Crooked Line: From Cultural History to the History of Society, p.58

[105] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain: History, the New Left and the Origins of Cultural Studies, Durham and London: Duke University Press, 1997.

[106] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.182.

[107] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.183.

[108] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.182-183. และดูรายละเอียดใน Alan Dawley, "E.P.Thompson and the Pecularities of the American," Radical History Review, no.19 (Winner 1978-1979), pp.39.

[109] Christopher Hill, "Men as They Live Their Own History" in Christopher Hill, Change and Continuty in Seventeenth-Century England, Cambridge, Mass: Harvard University Press, 1975, p.241-242. 

[110] Eric Hobsbawm, "The Making of the Working Class, 1870-1914" in Eric Hobsbawm, Workers: World of Labor, New York: Pantheon Books, 1984. 

[111] Rodney Hilton, Bond Men and Made Free: Medival Peasant Movements and the English Rising 0f 1381, London: Methuen, 1977.

[112] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.183-184.

[113] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.198-199.

[114] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.199-200.

[115] Joan Wallach Scott, Gender and the Politics of History, New York: Columbia University Press, 1999, p.72.

[116] Joan Wallach Scott, Gender and the Politics of History, p.74.

[117] Joan Wallach Scott, Gender and the Politics of History, p.79.

[118] Joan Wallach Scott, Gender and the Politics of History, p.83-84.

[119] Dennis Dworkin, Cultural Maxist in Postwar Britain, p.202-204.

[120] William Sewell, "How Classes are Made: Critical Reflections on E.P.Thompson's Theory of Working-class Fromation" in Harvey J. Kaye and Keith McClelland (ed.), E.P.Thompson: Critical Perspectives, Philadelphia: Temple University Press, 1990, pp.51.

[121] William Sewell, "How Classes are Made: Critical Reflections on E.P.Thompson's Theory of Working-class Fromation," pp.54-56.

[122] William Sewell, "How Classes are Made: Critical Reflections on E.P.Thompson's Theory of Working-class Fromation," pp.57-58.

[123] William Sewell, "How Classes are Made: Critical Reflections on E.P.Thompson's Theory of Working-class Fromation," pp.59-60.

[124] Gareth Stedman John, Languagees of Class: Studies in English Working Class History 1832-1982, Cambridge, 1983, p. 7-8.

[125] Gareth Stedman John, Languagees of Class, p.101-102.

[126] Gareth Stedman John, Languagees of Class, p.107-178.

[127] Georg G. Iggers, Historiography in the Twentieth Century, Wesleyan University Press, 2005, p.130.

[128] Perry Anderson, Arguments Within English Marxism, London: Verso, 1980, p.39

[129] Perry Anderson, Arguments Within English Marxism, p.34

[130] Perry Anderson, Arguments Within English Marxism, p.32-33

[131] Perry Anderson, Arguments Within English Marxism, p.45 อันที่จริงแล้วควรต้องกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ แอนเดอร์สันก็ได้ร่วมกับ ทอม แนร์น (Tom Nairn) เขียนบทความออกมาเป็นชุดเพื่อวิวาทะและวิจารณ์กับธอมป์สันโดยเฉพาะจนกลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "ข้อเสนอของ แนร์น-แอนเดอร์สัน" (Nairn-Anderson Theses) โดยบทความสำคัญๆ ที่พวกเขาเขียนออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น ได้แก่ Tom Nairn, "The British Political Elite", New Left Review, 23 (1964), Perry Anderson, "Origins of the Present Crisis", New Left Review 24 (1964)Nairn, "The English Working Class", New Left Review 24 (1964), "Anatomy of the Labour Party", New Left Review, 27 and 28 (1964) and "The Fateful Meridian", New Left Review 60 (1970) และ Anderson, "Figures of Descent", New Left Review (1987) อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าธอมป์สันแทบจะไม่ได้เขียนอะไรออกมาตอบโต้ต่อข้อวิจารณ์เหล่านี้เลย แต่กระนั้น ก็มีผู้ที่สนับสนุนธอมป์สันจำนวนหนึ่งเขียนงานขึ้นมาอธิบายแก้ต่างให้กับเขา เช่น เอลเลน เมกซินส์ วูด, (Ellen Meiksins Wood, "The Politics of Theory and the Concept of Class: E.P. Thompson and His Critics," A Socialist Review Volume 9, 1982, p.45-75), สุมิต ซาร์การ์ (Sumit Sarkar, "The Relevance of E.P.Thompson," in Sumit Sarkar, Writing Social History, Delhi: Oxford University Press, 1997, p.50-81) และ ฮาร์วี เจ. เคย์ (Harvey J. Kaye, "E.P.Thompson, The British Marxist Historical Tradition and the Contemporary Crisis," in Harvey J. Kaye and Keith McClelland. (eds), E. P. Thompson: Critical Perspectives, Philadelphia, PA: Temple University Press, 1990, pp.252-275) เป็นต้น

[132] Cal Winslow (ed.), E.P.Thompson and the Making of the New Left: Essays and Polemics, p. 20-21.

[133] Henry Abelove, "Review Essay of The Poverty of Theory," in American Historical Review, 84 (December 1979) p. 142