ทิวาพร ใจก้อน นักศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ประวัติศาสตร์ "ของปลอม"
บทนำ
แม้ว่าจีนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตของปลอมหรือของเลียนแบบเป็นอันดับ ๑ ของโลกมาอย่างยาวนาน แต่ชื่อเสียงด้านการผลิต “ของปลอม” ซึ่งหมายถึงสินค้าเลียนแบบหรือสินค้าปลอมของไทยเรานั้นก็มีมานานเช่นกันจนถึงขนาดที่ว่าประเทศไทยถูกจัดให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอมขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] แม้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมมากนักโดยเฉพาะในสายตาเจ้าของผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย แต่กลับทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับบรรดานักท่องเที่ยวและผู้นิยมสินค้าแบรนด์เนม ประกอบกับปัจจัยหลายอย่าง (ซึ่งจะขอกล่าวต่อไปข้างหน้า) ทำให้ภาพลักษณ์ที่ว่า “คนไทย” มีความสามารถในการผลิตสินค้าเลียนแบบหรือสินค้าปลอมเป็นอย่างมากปรากฏชัดยิ่งขึ้น แต่คงมีคนจำนวนไม่มากนักที่ทราบว่าการผลิตของปลอมในสังคมไทยนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาและอาจก่อนหน้านั้น นั่นย่อมหมายความว่าการประเมินคุณค่าระหว่าง “แท้” และ “ปลอม” ที่ปรากฏในสินค้ามีมานานแล้วเช่นกัน
ของปลอมสร้างความไม่พึงใจแก่ผู้ผลิตสินค้า บางครั้งก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และยังมีประเด็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบเเรงงานของผู้ผลิตด้วย แต่เหตุใดของปลอมกลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว บทความนี้จึงต้องการสืบสาวความเป็นมาและพัฒนาการของการเกิดสินค้าปลอมหรือสินค้าเลียนแบบ ซึ่งบ่อยครั้งเรานิยมเรียกกันว่า “ของปลอม” นอกจากนี้ยังพยายามจะอธิบายถึงสภาพบริบททางสังคมที่ทำให้ของปลอมกำเนิด เปลี่ยนแปลง และได้รับความนิยมเท่าที่จะสามารถรวบรวบข้อมูลหลักฐานมาได้
ในปัจจุบันเมื่อเราพูดถึง “ของปลอม” อาจจะหมายถึงสินค้าเลียนแบบและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าเลียนแบบ หมายถึง สินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อพยายามลอกเลียนแบบหรือจงใจปลอมแปลงอย่างผิดกฎหมายให้มีคุณลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกับสินค้าของแท้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สินค้าแบรนด์เนมประเภทกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า น้ำหอม แว่นตา เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หมายถึง สินค้าที่มีการทำซ้ำ คัดลอก ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกทั้งภาพและเสียงจากต้นฉบับโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย รวมไปถึงการทำซ้ำเนื้อหาของสื่อต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์แผ่นซีดี ฟิล์ม ดีวีดี ตลอดจนการบันทึกเพลงและภาพยนตร์[๒] ทว่าเมื่อเราพูดถึง “ของปลอม” ในอดีตนั้นอาจจะมีความแตกต่างจากปัจจุบันทั้งในด้านความหมาย ความนิยม ประเภทของสินค้าปลอม และบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่อยู่เบื้องหลังตัวสินค้าปลอมเหล่านั้น
ย้อนรอยคำ "ปลอม" ในสังคมไทย
หากสังเกตจากรูปเสียงของคำว่าปลอม ทำให้เข้าใจว่าเป็นคำที่น่าจะยืมมาจากภาษาเขมร ซึ่งในภาษาเขมรก็ใช้คำว่า “บฺลม” อ่านว่า บลม เทียบเท่ากับคำว่า “ปลอม”[๓] ในภาษาไทยปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้มากที่คำว่า “ปลอม” จะมาจากอิทธิพลภาษาเขมร แต่ก็ไม่อาจระบุได้ว่ารับมาใช้เมื่อใดกันแน่
เราอาจจะสืบหาที่มาและความหมายของคำว่า “ปลอม” ในอดีตได้จากกฎหมายและพจนานุกรม ต่างๆ เช่น กฎหมายสุโขทัย จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓๘ ด้านที่ ๒ บทที่ ๔๓ มีข้อความจารึกว่า “หนึ่งสูกินบังอันท่านบมิห้ามสู ทั้งเห็นพระปรญบติเพื่อ (โบยผู้) ทำเปลี่ยนปลอม” และ บทที่ ๔๔ ว่า “ผู้ร้ายมันฉกท่านกินปลอม ทั้งท่าน...ครั้นรู้”[๔] ทำให้ทราบว่าคำว่า “ปลอม” เป็นคำที่ใช้มาอย่างยาวนานแล้วจากอดีต และแสดงว่าในสุโขทัยมี “การปลอม” เกิดขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ซึ่งคาดว่าแต่งขึ้นราวปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ได้กล่าวถึงเรื่องการ “ปลอม” ไว้เหมือนกัน ในตัวต้นฉบับ (ฉบับวัดเชียงหมั้น) จะใช้คำว่า “ทยม” หรือ เทียม ตัวอย่างข้อความในกฎหมายมังรายศาสตร์จากการถอดความของ ประเสริฐ ณ นคร เช่น
มาตรา ๑ ผู้ปลอมแปลงทอง หรือเงินดำเงินแดงก็ดี แกะพิมพ์ (รู้ขวักเหล็กตรา) ทำเงินก็ดี ควรฆ่าเจ้าตัวแล้วเกาะกุมเอาสมบัติ (เอาครัว) ผู้ใดรู้วิธีและปลอมแปลงเงินดำปลอมออกใช้โทษควรถึงตายหากไม่ฆ่าให้ตายก็ให้ริบทรัพย์สมบัติเข้าพระคลัง ผิได้เงินปลอม ทองปลอมให้ช่างเงินช่างทองผู้มีความรู้ตรวจดู ผิได้เงินปลอมเท่าใด ให้เจ้าพนักงานเหรียญกษาปณ์ (นายตรา) มาหล่อดูไม่ต้องไหมมัน แต่ให้ผูกความมันเอาไว้ (เอาคำขันมัน) หากได้เงินปลอมจากมันถึง ๒ ครั้ง ให้ถือว่ามันปลอมแปลงเงินและทองควรฆ่าเสียแล้วเกาะกุมเอาทรัพย์สมบัติเข้าพระคลัง ผิใส่ความว่าท่านแกะแม่พิมพ์ปลอมแปลงเงินและทองให้พิจารณาดู ให้ไหมผู้ใส่ความเท่ากับราคาทรัพย์สมบัติของผู้ถูกใส่ความ[๕]
ในกฎหมายต่างๆ มีการใช้คำว่า “ปลอม” “ไม่แท้” “พราง” “ลักลอบทำ” “ของเทียม” “ของปลอม” ในกฎหมายตราสามดวงจะใช้คำว่า “แปลง” ปะปนอยู่ด้วย ส่วนกฎหมายลักษณะอาญา ร. ศ. ๑๒๗ มีความพยายามจะแยกระหว่างคำว่า “ปลอม” กับ “แปลง” เช่น แปลงเงินตรา คือ แก้ไขเงินตราให้ผิดไปจากปกติ หรือกระทำอย่างใดใดโดยทุจริตให้น้ำหนักเงินตราน้อยลงไปกว่าปกติ[๖] ส่วนการปลอมตั้งใจที่จะหมายถึงการทำขึ้นใหม่ให้เหมือนของจริงมากกว่า ทว่าโดยส่วนใหญ่แล้วตัวบทกฎหมายในอดีตจะใช้คำว่า “ปลอม” ในความหมายเช่นเดียวกับในภาษากฎหมายปัจจุบันที่ว่า ทำเทียมขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ หรือสำคัญผิดว่าเป็นของแท้[๗]
นอกจากนี้ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ในพจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับเจ คาสเวล และเจ เอช แซนด์เลอร์ (J.Caswell and J.H.Chandler) ได้ใช้คำว่า “เทียม” โดยมีความหมายว่า “ปลอม” ส่วนคำว่า “ปลอม” มีความหมายเท่ากับ “ปลอมปน” ตามความหมายในปัจจุบัน ในคัมภีร์สรรพจนานุโยคมีการใช้คำว่า “ปลอม” และ “เทียม” เท่ากับความหมายของคำว่า “ปลอม” ในปัจจุบัน แต่ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอ บรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ คำว่า “ปลอม” กับคำว่า “เทียม” สามารถใช้แทนกันได้ โดย ปลอม + คำนาม แต่ถ้า “ปลอม” คำเดียวโดด ๆ แปลว่า “ลักเพศ” จนมาถึงพจนานุกรม ร.ศ. ๑๑๐ ก็ไม่ปรากฏคำว่า “เทียม” มีแต่คำว่า “ปลอม” ส่วนคำว่า “ของปลอม” พบเฉพาะในคัมภีร์สรรพจนานุโยคเท่านั้น ในขณะที่หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ จะมีคำว่า “ปลอมของ” นอกนั้นจะแยกใช้คำว่า “ของ” และ “ปลอม” ออกจากกัน หรือจะใช้คำนาม + ปลอม ดังจะได้ยกตัวอย่างให้เห็นต่อไปนี้
งานเขียนประเภทพจนานุกรมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสยามเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างเช่น พจนานุกรมไทย-ไทยฉบับเจ คาสเวล และเจ เอช แซนด์เลอร์ ฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งจัดทำในปี พ.ศ.๒๓๘๙ ได้อธิบายศัพท์เกี่ยวกับคำว่า “ปลอม” รวมทั้งคำที่มีความหมายใกล้เคียง ไว้ว่า
ปลอม นั้นคือปนคือคละกันเรียกว่าปลอม เหมือนคำพูดว่าเข้านี้กรวดมันปลอมปนนัก[๘]
ทำเทียม นั้นคือสิ่งที่ไม่แท้แลทำให้คนเหนว่าเปนแท้นั้นเรียกว่าทำเทียม เหมือนของมิใช่ทองคำแท้แลเขาทำเปนของกะไหล่ฃายซื้อแลคนไม่รู้ว่าทองคำแท้อย่างนี้ก็เรียกว่าของทำเทียม เหมือนคำพูดว่าของนี้ไม่แท้เปนของทำเทียมต่างหาก[๙]
ส่วนคัมภีร์สรรพพจนานุโยค[๑๐] ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้กล่าวถึงศัพท์ที่เกี่ยวกับคำว่าปลอมและของปลอมตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า
Counterfeit n. ของซึ่งทำให้เหมือนของอื่นอันต้องห้ามแลไม่ควรจะทำนั้น; ของซึ่งถ่ายลอกให้เหมือนเมื่อมิได้อนุญาตให้ทำเพื่อจะฬ่อลวงฉ้อคนให้เขาหมายว่าได้ของดี ของจริง v.t. ทำปลอม; ทำให้เหมือน; ถ่ายลอกจากแบบเพื่อจะฉ้อเข้า. v.i. ทำเปน; หลอกลวง. a. ปลอม ไม่จริง; ทำเมื่อยังมิได้ยอมให้ทำ; ทำเหมือนของอื่นเพื่อจะให้เขาหลงเหนว่าของซึ่งทำใหม่นั้นเปนของจริงเปนของเดิม, ดั่งเงินปลอม; ทำให้เหนว่าซึ่งเหนนั้น เหมือนของอื่น; ไม่จริง; ทำเทียม ไม่แท้. n. คนโกงหลอกเขา; คนซึ่งอวดว่าตัวเปนอย่างหนึ่งเมื่อไม่เปนอย่างนั้น. ตามตำรากฎหมาย, คนซึ่งได้เงินดีด้วยเงินปลอม; ของซึ่งทำ ทำเหมือนของอื่นนอกอำนาท เพื่อจะใช้ของไม่จริงเปนของจริงไป.
Counterfeiter, n. ผู้ซึ่งทำของปลอมทำนองไม่จริง; ผู้ซึ่งทำให้เปนเหมือนจริงเมื่อไม่จริง
Counterfeiting, n. การทำของปลอม, เพื่อจะโกงเขา. ppr. กำลังทำปลอม, ทำเปนอยู่.
นอกจากนี้ อาจจะดูความหมายของคำ “ปลอม” ได้จากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอ บรัดเลย์ที่ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖[๑๑] โดยได้ให้คำนิยามคำว่า “ปลอม” และคำที่อาจจะใช้ในความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียง ดังนี้
ปลอม, คือลักเพศ, คนแสร้งกระทำเพศตัวฤาเพศของอื่นให้วิปริตผิดเพศเดิมนั้น.
ปลอมของ, คือเอาของอันใด ๆ ที่มิใช่ของนั้นใส่เข้ากับของนั้น.
ปลอมเงิน, คือทำเทียม ทำด้วยทองแดงนั้น, เอาปนเข้ากับเงินดีนั้น
ปลอมหนังสือ, คือ ทำหนังสือเทียม, ใส่เข้ากับหนังสือจริงนั้น.[๑๒]
ทำเทียม, ทำเทียบ, การปลอม, ทำเปรียบ, คือการที่ทำปลอมให้เหมือนนั้น, เช่น พวกทำเงินแดงเงินเทียม.[๑๓]
ในพจนานุกรม ร.ศ. ๑๒๐ ฉบับกรมศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๑๐ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มอบให้พระยาปริยัติธรรมธาดาเป็นแม่กองจัดทำ ไม่มีปรากฏคำว่า ทำเทียม สำหรับคำว่าปลอมได้ให้ความหมายไว้ว่า ปลอม, ท. เปลี่ยน, แปลง, แปลก, ลักเพศ, ไม่จริง[๑๔]
ดังได้กล่าวไปแล้วว่าคำว่า “ปลอม” ล้วนแต่มีความหมายในเชิงลบหรือเป็นสิ่งที่กฎหมายระบุว่าเป็นความผิดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม คำว่า “ปลอม” หรือ “เทียม” อาจไม่ได้มีความหมายในเชิงลบหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายเสมอไป ดังพบในพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษพระราชทานไปยังเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ ฉบับแปลถวายใหม่ความว่า
...ข้าพเจ้าได้ปากกาทองคำมาจากเมืองอังกฤษ ซึ่งเขาคิดแปลงทำขึ้นใหม่ให้ดีกว่าก่อน ๒ เล่ม ช่างทองของเราดูแบบเดิมแล้วทำเทียมอย่างหัตถกรรมอันงดงามนี้ ทั้งประณีตและคล้ายคลึงกับหัตถกรรมของชาวยุโรปนั้นมาก ปากกาทองคำอันช่างทองทำขึ้นนี้ กับทั้งด้ามก้าไหล่ ทองอันเบาด้วยกันนั้น ข้าพเจ้าขอส่งมาพร้อมกับลูกดุม... [๑๕]
นอกจากนี้ เอเตียน กาลลัวซ์ ได้กล่าวถึงสินค้าสยามเมื่อครั้งที่ได้มีการจัดงานศิลปหัตถกรรมขึ้น ณ ฝรั่งเศสว่า
พอเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมขึ้นที่ชังป์ เดอ มารส์ ได้ไม่ทันไร บรรดาผู้ซื้อ ทั้งหลายก็พากันไปเบียดเสียดเยียดยัดกันแน่นอยู่ ณ ที่ตั้งแสดงของประเทศสยาม ซึ่งอันที่จริงแล้วที่นั่นก็ไม่ต้องเกรงว่าจะได้พบเห็นแต่ผลิตกรรมที่ทำขึ้นด้วยฝีมือหยาบๆ หรือว่าเป็นผลิตกรรมที่ทำเทียมขึ้นอย่างแนบเนียน หากแต่จะได้เห็นตะวันออกไกลแท้ๆ นั่นเทียว ปรากฏอยู่ตรงหน้า มาจากแหล่งกำเนิดของมันแท้ๆ อย่างที่จะปฏิเสธเสียมิได้... [๑๖]
จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมดข้างต้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าสยามมีฝีมือในการ “ทำเทียม” มากเท่าใดในสายตาชาวต่างชาติ และการทำเทียมนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย แปลว่าในสังคมไทยมีทั้งของปลอมที่ผิดกฎหมายและของปลอมที่ไม่ผิดกฎหมายก็ได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีของปลอมที่หมายถึงสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์แต่ไม่ได้ผิดกฎหมายเช่น ผมปลอม ฟันปลอม ฯลฯ ซึ่งบทความชิ้นนี้ละเว้นที่จะศึกษา
สำหรับความหมายของคำว่า “ปลอม” ในปัจจุบัน จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. ๒๕๕๔ มีความหมายดังนี้
(๑) [ปฺลอม] ก. ทำให้เหมือนคนอื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อให้หลงผิดว่าเป็นคนนั้นหรือสิ่ง นั้น เช่น ปลอมตัว.
(๒) [ปฺลอม] ว. ไม่แท้หรือไม่จริงตามสภาพของสิ่งนั้น เช่น ฟันปลอม ผมปลอม.
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่า “ปลอม” มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในแต่ละช่วงเวลาแต่ไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก ส่วนคำว่า “ของปลอม” น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นความรู้หรือสำนึกที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม ตามที่ปรากฎในคัมภีร์สรรพพจนานุโยค ของ แสมูเอ็ล เจ. สมิธ ที่เริ่มเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
ความคิดว่าด้วย "ของแท้" และ "ของปลอม" ในสังคมไทย
จากคัมภีร์สรรพพจนานุโยคทำให้เราทราบว่า “ของปลอม” ในความหมายว่าของเลียนแบบได้ปรากฏแก่สังคมไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็ยังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าของปลอมในที่นั้นหมายถึงการทำสินค้าปลอม ดังนั้นจึงไม่อาจฟันธงได้ว่าสำนึกและการให้คุณค่าแก่สินค้าระหว่าง “ของปลอม” และ “ของแท้” เพิ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เราอาจจะศึกษาวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของปลอมในอดีตได้อีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะได้เข้าใจพัฒนาการของของปลอมควบคู่กันไปด้วย
พัฒนาการของสินค้าปลอมในประวัติศาสตร์สังคมไทยจากที่ค้นพบในเอกสารหลักฐานต่างๆ อาจจะแบ่งได้เป็น ๓ ช่วงเวลา ช่วงแรก คือ ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ช่วงที่สอง คือ สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๕ และช่วงสุดท้าย คือ ทศวรรษที่ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา
"ของปลอม" ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔
หัวข้อก่อนหน้านี้ได้พูดถึงการปลอมก่อนสมัยอยุธยาไปบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะปรากฏในกฎหมายโบราณแต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีการปลอมสินค้าประเภทใดบ้าง ต่อมาในสมัยอยุธยามีหลักฐานหลายชิ้นที่พูดเกี่ยวกับการ “ปลอม” มีทั้งการปลอมเอกสาร ตราของทางราชการ และการปลอมสินค้า
การกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมที่ระบุไว้ในกฎหมายในสมัยอยุธยา ได้แก่ การปลอมบัญชี ได้บัญญัติไว้ในพระอัยการหลวงหรือที่เรียกว่า กฎหมายลักษณะอาญาหลวง ปี พ.ศ. ๑๘๙๕ บทที่ ๓๘ ๙๐ และ ๑๐๖ การปลอมแปลงดวงตราในพระอัยการลักษณะโจร หรือที่เรียกว่า กฎหมายลักษณะโจร ปี ๑๙๐๓ บทที่ ๑๕๖ และในพระอัยการหลวงหรือที่เรียกว่ากฎหมายลักษณะอาญาหลวงบทที่ ๕๕ ว่า “การแปลงตราพระราชสีห์ ตราคชสีห์ ตราจตุสดมภ์หรือเพิ่มใช้ข้อความเข้าในท้องตราและตราปลอมใช้โทษ ๕ สถาน” บทที่ ๕๙ ว่า “ปลอมดวงตรา (ทั่วๆ ไป) โทษ ๔ สถาน”[๑๗]
นอกจากการปลอมตราและเอกสารดังกล่าวแล้ว การปลอมสินค้าก็มีหลายกรณี ดังที่วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ ได้ศึกษาเอาไว้ว่า “...เอกชนได้มีโอกาสเข้าร่วมในการค้างาช้างด้วย...บ่อยครั้งที่เศรษฐีเหล่านี้ปลอมแปลงของที่หามาได้ และลักลอบค้าของที่มีจำนวนเกินกว่าที่เขาต้องส่งให้พระคลังสินค้า...”[๑๘] สินค้าหลายๆ ชนิดมีโอกาสที่จะถูกปลอมหรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือมีสินค้าที่เป็นของปลอมหลายอย่าง เช่น ชะมด ดังปรากฏว่า วิธีที่จะพิสูจน์ว่าต่อมกลิ่นที่นำมาขายเป็นของแท้และเป็นสินค้าชั้นดีนั้น เขาจะนำด้ายไหมไปรูดกับกระเทียมแล้วนำมาสอดเข้าไปในรูเข็ม จากนั้นก็นำเข็มร้อยด้ายเข้าไปถูกับต่อมกลิ่นหลาย ๆ ครั้ง หากยังมีกลิ่นกระเทียมเหลืออยู่ แสดงว่าเป็นสินค้าชั้นเลวหรือไม่ก็อาจจะเป็นชะมดเช็ดปลอม[๑๙] แต่ในส่วนของการปลอมสินค้าในสมัยอยุธยาที่กล่าวมายังไม่พบหลักฐานว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เอกสารที่ให้ข้อมูลว่าการปลอมสินค้าถือเป็นความผิดในสมัยอยุธยา ได้แก่ข้อความที่ระบุในกฎหมายตราสามดวง ดังนี้
๑๕๗ มาตราหนึ่ง ผู้ใดทำทองพรางทองอาบเอาไปฃายว่าทองดี ผู้ซื้อมิรู้จักเนื้อทอง ท่านว่าผู้ซื้อหาพิจารณามิได้ เหนแก่ถูกจึ่งซื้อไว้ แล้วจึ่งรู้ว่าทองพรางทองอาบ ให้เอา มันผู้ขายนั้นตีด้วยลวดหนัง ๒๕ ที ๔๐ ที แล้วให้ตัดมือคุงข้อ ให้ทะเวน ให้เรียกเอาเงีนคืน ให้แก่ผู้ซื้อ ของนั้นให้ทำลายเสีย มันผู้สมรู้รับซื้อฃาย ให้เอาขึ้นขาหย่างประจาร ปลงลง ทวนด้วยลวดหนัง ๒๐ ที ๓๐ ที อนึ่งถ้ามันทำทองอาบ มิได้ขายเอาไว้ใช้เองอย่าให้เอาโทษแก่มันเลย[๒๐]
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการปลอมทอง จะเป็นความผิดต่อเมื่อทำออกมาขายเป็นสินค้า แสดงว่าหากทำไว้เป็นเครื่องประดับหรือเก็บไว้ส่วนตัวไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาก็พบว่ามีการปลอมเงินแล้ว ดังปรากฏว่าในพระไอยการอาชญาหลวง มาตรา ๓๖ ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ระบุถึงสถานที่ค้าขายว่าให้อยู่ในถนนตระหลาด โดยมีนายตลาด หรือ เจ้าตระหลาด มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบเงินปลอม และดูแลความเรียบร้อยในตลาด[๒๑] ตัวอย่างการปลอมที่สำคัญอีกอย่างคือ การปลอมศักเลก ดังปรากฏในพระราชกำหนดเก่าซึ่งเข้าใจว่าเป็นกฎหมายที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[๒๒]
ในสมัยธนบุรี ไม่พบหลักฐานเรื่องการปลอมสินค้า มีเพียงแต่การปลอมเงินดังปรากฏว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเอาผิดและลงโทษบุคคลที่บ่อนทำลายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเฉียบขาด เช่น กรณีขุนอินทร- ไกลาศและนายน้อยชินะ ได้คบคิดกันลักลอบทำเงินตราพดด้วงจึงให้ประหารชีวิตทันที [๒๓]
สำหรับช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยรัชกาลที่ ๑-๓ แห่งราชวงศ์จักรี) ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอ-เดอร์เอง ก็มีข่าวเกี่ยวกับการปลอมสิ่งของ (ที่ผิดกฎหมาย) อยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น มีการทำสุราปลอม[๒๔] แต่เป็นการทำขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งกันไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ก็มีการทำอัฐปลอม(อัฐตะกั่ว)[๒๕] เขียนหนังสือปลอมเป็นเงิน[๒๖] เป็นต้น ในประชุมหมายรับสั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พบว่ามีการทำเงินแดงถือว่าเป็นเงินปลอมซึ่งใช้ทองแดงปนมากเกินไป และมีการทำเงินตะกั่ว จึงมีประกาศลงโทษผู้กระทำการดังกล่าว เนื่องจากเกิดกรณีตำรวจกรมใหญ่ซ้ายจับผู้ร้ายทำเงินปลอมได้ ส่วนคนที่มีเงินปลอมอยู่ในมือให้เอามาส่งแก่หลวง[๒๗]
จะเห็นได้ว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น มีการปลอมและของปลอมที่หลากหลาย การปลอมที่ผิดกฎหมายมักจะเกี่ยวข้องกับเอกสารหรือตราของทางราชการ รวมทั้งเงินตรา สำหรับสินค้าปลอมที่ผิดกฎหมายพบว่าทองคำเป็นของปลอมที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน นอกนั้นไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ และมีบทลงโทษอย่างไร
"ของปลอม" สมัยรัชกาลที่ ๔-๕
จากหลักฐานเท่าที่ได้ค้นคว้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ หากเทียบกับก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ จะเห็นได้ว่า ช่วงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปลอมและของปลอมเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ของปลอมที่ได้รับการระบุว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็มีมากขึ้น ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ มีการปลอมและของปลอมเกิดขึ้นมากกว่าสมัยก่อนหน้า อาจจะจำแนกการปลอมในสมัยรัชกาลที่ ๔- ๕ ได้เป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ การปลอมเงิน การปลอมตราและเอกสารทางราชการ และการปลอมสินค้า
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการปลอมของที่ผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง อาจจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ การปลอมเงิน และ การปลอมตราหรือหนังสือราชการ ส่วนการปลอมสินค้าหรือประกาศเกี่ยวกับสินค้าปลอมยังไม่เป็นที่ปรากฏอยู่ทั่วไป การปลอมตราหรือหนังสือราชการนั้น มีปรากฏในประกาศหลายฉบับ ดังพบในเอกสารประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ [๒๘]
สำหรับกรณีเกี่ยวกับการทำเงินปลอมนั้น เป็นกรณีที่พบมากที่สุดในหลักฐานลายลักษณ์อักษรสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังปรากฏในประกาศต่างๆ เช่น
ประกาศว่าด้วยคนทำเงินแดง (ณ วันอังคาร เดือนอ้าย แรมค่ำ ๑ ปีเถาะ สัปตศก) ด้วยมีพระบรมราชโองการ...ให้ทำหนังสือพิมพ์ประกาศแก่อาณาประชาราษฎร ในกรุงนอกกรุงหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือให้รู้จงทั่วกันว่า คนที่ทำเงินแดงปลอมใช้สอยระคนปนกันกับเงินดี ในพระราชกำหนดกฎหมายเก่าให้ลงพระราชอาญา ๖๐ ที แล้วให้ตัดมือเสีย อย่าให้กุมค้อนคีมได้ แล้วให้จำใส่คุกไว้จนตาย ภายหลังมาโปรดให้ยกโทษตัดมือเสียให้ลงพระราชอาญา ๖๐ ที แล้วให้ใส่คุกไว้ ๙ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง เห็นว่าเข็ดหลาบแล้วก็โปรดให้ พ้นโทษมาทำราชการอยู่กรมช่างเงิน สืบต่อมาคนทำเงินแดงลอบลักใช้สอยมีมากขึ้น ราษฎรที่ดูเงินไม่สันทัดก็ต้องขาดทุน...อ้ายพวกเหล่านี้ทำเงินแดงปลอมเงินดี ทำตราตีปลอมตราหลวงมีโทษเป็นมหันตโทษ จึงโปรดให้ตัดมือเสียเพียงข้อแล้ว จำไว้ ณ คุกจนตายตามพระราชกำหนดเก่า แต่คนที่เป็นลูกมือนั้นให้ตัดนิ้วเสีย คนที่รับเอาเงินแดงไปใช้นั้น ให้เอาไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง คนที่ทำเงินแดงที่ใช้เงินแดงในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้ก็เบาบางกว่าแต่ก่อน สืบได้ความว่ายังมีอยู่บ้างเล็กน้อย ไปเที่ยวลอบลักทำตามบ้านนอกแลหัวเมือง...ก็จะเอาผู้นั้นเป็นโทษตามพระราชกำหนด...[๒๙]
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อศึกษาจากหนังสือพิมพ์ กฎหมาย และประกาศต่างๆ ของทางราชการ จะพบว่ามีการปลอมต่างๆ เกิดขึ้น เช่น การต้มเงินแดง[๓๐] การส่งผู้ร้ายทำเงินแดงขึ้นคุก โดยปลอมแบบทำตราทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นรูป ร. ๕ คนทำชื่ออ้ายแย้ม ไปศึกษาวิธีทำกับพระแล้วเอามาปรับปรุงทำเอง[๓๑] นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการปลอมเอกสาร ดังพบในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ความว่า
....ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ด้วยได้รับหนังสือที่ ๓๑/๑๔๓ ลงวันที่ ๔ เดือนนี้มาที่กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ส่งสำเนาหนังสือต่าง ๆ รวม ๔ ฉบับ ในเรื่องไวสกงซุลเมืองน่านหาว่าพยาชำนิคบคิดกับจองกีมีหนังสือไปหลอกลวงมิสเตอลูซอง ว่าหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ให้รับเช่าทำป่าไม้ขรสักเมืองเชียงแสน แล้วให้มิสเตอลูซองส่งเงินค่า...ให้จองกี ๕๐๐๐... [๓๒]
ใน จดหมายเหตุสยามไสมย ก็มีปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับการทำของปลอม และของปลอมเอาไว้ไม่น้อย ดังปรากฏว่า แถวสำเพ็งจะมีคนขายผ้าถือผ้า ๒ ห่อ ห่อหนึ่งเป็นผ้าจริง อีกห่อหนึ่งเป็นผ้าปลอม หลอกขายราคาถูก โดยผ้าปลอมนั้นเปิดดูจะเป็นผ้าขี้ริ้วแทนที่จะเป็นผ้าม่วง[๓๓] หรือเรื่องภาษีฝิ่น ที่ว่าคนทำบัญชีในโรงฝิ่นอาจเขียนจำนวนเงินซื้อ-ขายเท็จได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมาก[๓๔] หรือในยุทธโกษ ก็มีการกล่าวถึงเรื่องฝิ่นปลอม กล่าวคือ มีการทำฝิ่นปลอม โดยเอาโคลนเหนียวมาทำเป็นฝิ่น หลอกขายในราคาถูก[๓๕]
นอกจากนี้ ยังมีการปลอมน้ำโซดาใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ ฉบับวันพุธที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๕ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ลงข่าวว่าคนจีนในกรุงเทพฯ คนหนึ่งทำน้ำโซดาใช้ตรามีรูปและสีคล้ายของห้างเฟรเซอร์แอนด์นีฟ สิงคโปร์ เพื่อให้น้ำโซดาของตัวขายได้จึงพยายามทำฉลากของตนให้คล้ายกับของบริษัทใหญ่[๓๖] เป็นต้น เกี่ยวกับการปลอมสินค้านี้ ในรัชกาลที่ ๕ มีกฎหมายระบุไว้ว่า
หมวดที่ ๘ ความผิดฐานกระทำทุจริตในทางค้าขาย มาตรา ๒๓๖ ผู้ใดปลอมเครื่องหมายในการค้าขายของบุคคล หรือบริษัทใดก็ดีหรือมันปลอมชื่อที่บุคคลหรือบริษัทใดเขาใช้ในการค้าขายก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปีและให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง[๓๗]
มาตรา ๒๓๗ ผู้ใดเลียนแบบอย่างเครื่องหมายในการค้าขายของผู้อื่นหรือบริษัทอื่นมาใช้ โดยเจตนาจะลวงให้ผู้ซื้อหลงว่าเป็นของของบุคคลหรือบริษัทอื่นนั้น ถึงวิธีที่เลียนเครื่องหมายนี้ทำให้ผิดเพี้ยนเสียบ้างเล็กน้อยเพื่อจะมิให้ตรงต่อการปลอมก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เดือนหนึ่งขึ้นไปจนถึงหนึ่งปี และให้ ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง[๓๘]
มาตรา ๒๓๘ ผู้ใดเอาของที่มันรู้อยู่ว่าเป็นของใช้ชื่อหรือเครื่องหมายในทางทุจริตหรือเป็นของที่เลียนเครื่องหมายของผู้อื่นหรือบริษัทอื่นในทางทุจริต ดั่งว่ามาในมาตรา ๒๓๕, ๒๓๖, ๒๓๗ นั้น เข้ามาในพระราชการอาณาจักรก็ดีมันขายหรือทอดตลาดสิ่งสินค้าเหล่านั้นก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓๕, ๒๓๖, และ ๒๓๗ นั้น[๓๙]
จากตัวอย่างความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการปลอมเครื่องหมายการค้าทั้งหมดข้างต้น ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีความแตกต่างจากกฎหมายที่ผ่านมา เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องของการปลอมสินค้า และยังมีกฎหมายระบุเกี่ยวกับการปลอมตราสินค้าที่ชัดเจนอีกด้วย
นอกจากนี้ ช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเรียกว่า สยามริปอสิตอรี ของหมอสมิธ พิมพ์จำหน่ายอยู่ในสมัยนั้น ได้ให้ข่าวว่า “เวลานี้ ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้าน และหวาดหวั่นอยู่ในระหว่างเปลี่ยนรัชกาล...แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวร ยังไม่สวรรคต ก็มีกิตติศัพท์ว่าจะเกิดกบฏ และได้มีเหตุวุ่นวายว่าด้วยเรื่องจับฝิ่นเถื่อน ทั้งปรากฏว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมาก เกิดยุ่งยากในเรื่องเครื่องแลก จนตื่นกันไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน” เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเป็นทำนองเดียวกันว่า “แต่ที่จริงมีเหตุการณ์อันเป็นเรื่องร้อน ต้องรีบระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ แต่ ๒ เรื่อง คือ เรื่องเงินตราเรื่องหนึ่ง กับเรื่องจีนตั้วเหียอีกเรื่องหนึ่ง ...”[๔๐]ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการปลอมและของปลอมเกิดขึ้นมากมาย และดูจะเป็นปัญหาสำคัญของรัฐมากขึ้นทีเดียว
สำหรับของปลอมหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๙ ) ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงมากนัก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสินค้าไม่มีความหลากหลาย อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ ดังพบว่าในช่วงที่มีนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. ทำให้มีการส่งเสริมธุรกิจของคนไทยและลิดรอนอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวต่างชาติ ดังมีคำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”[๔๑] หลังจากนั้นประเทศไทยเข้าไปสัมพันธ์กับเศรษฐกิจการค้าของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา ทว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าและบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตกทำให้สถานการณ์ธุรกิจของปลอมเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง และปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๑๐
สถานการณ์ "ของปลอม" จากทศวรรษที่ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา
สุมาลี เล็กประยูร ได้ทำการศึกษาเอาไว้ว่า การขยายตัวของสินค้าเลียนแบบเริ่มขึ้นราว พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อตราสินค้าลีวายส์ (Levi’s) ได้รับการลอกเลียนแบบทั้งตัวสินค้า รูปแบบ บรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปตะวันตก หลังจากนั้นสินค้าเลียนแบบได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา[๔๒]
ทว่าผู้เขียนมีความเห็นต่างออกไปว่าสินค้าเลียนแบบได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเกิดกระแสปัญหาสินค้าเลียนแบบและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นมาเป็นจำนวนมากจนเกิดมีสำนักงานกฎหมายในเมืองไทยประมาณ ๗-๘ แห่งที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรเกิดขึ้น สำนักงานกฎหมายเหล่านี้ เช่น สำนักกฎหมายดำเนิน สมเกียรติ และบุญมา สำนักกฎหมายติลลิกีแอนด์กิบบินส์ สำนักกฎหมายเอนกแอนด์บริดจ์ สำนักกฎหมายคัวช่า สำนักกฎหมายเภามรรคเจริญวุฒิ และที่ปรึกษากฎหมายสากล เป็นต้น ในช่วงเวลานั้นไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าปลอมมากที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ไทยจะมีชื่อเสียงด้านการผลิตสินค้าปลอมที่เป็นสินค้าแฟชั่นมากกว่า ในขณะที่ประเทศไต้หวันเน้นผลิตสินค้าปลอมประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สถิติการจับกุมผู้ขายสินค้าปลอมและแหล่งผลิตในประเทศไทยมีทั้งสิ้น ๘๑ รายในช่วงสามเดือนแรกของปี อีกสามเดือนถัดมาจับได้เกือบ ๕๐ ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าแผงลอยและร้านค้าใหญ่แถวถนนสีลม ส่วนใหญ่พบสินค้าปลอมประเภทกระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า และสุรา สินค้าที่มักจะถูกลอกเลียนแบบเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา แว่นตา เป็นต้น ส่วนสินค้าของปลอมที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในปัจจุบันนี้ คือ สินค้าจำพวกที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องมือในการสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการทำสินค้าปลอมที่หลากหลายเนื่องด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนข้ามชาติที่ส่งผลให้ความลับในการผลิตสินค้าไม่อาจจะเป็นความลับสำหรับบริษัทแม่เพียงบริษัทเดียวได้อีกแล้ว สินค้าปลอมจึงมีตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค สารเคมี ไปจนถึงพลังงานเชื้อเพลิง และอื่นๆ อีกมากมาย
ปัญหาในการติดตามจับกุมของปลอม คือ การสืบค้นหาแหล่งผลิตที่กระจายไปทั่วแต่ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอนเนื่องจากจะผลิตที่ไหนก็ได้และมีผู้ประกอบกิจการเป็นจำนวนมากเนื่องจากลงทุนน้อย นอกจากนั้น การจัดการอย่างเด็ดขาดและเกิดเป็นข่าวดังอาจไม่เป็นผลดีต่อสินค้าของแท้ที่วางอยู่ตามท้องตลาดเพราะผู้ซื้อจะเกิดความไม่เชื่อมั่นในสินค้า ยิ่งกว่านั้นการดำเนินการเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต้องเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ตาม นอกจากสำนักกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็มีธุรกิจนักสืบที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวของธุรกิจการปลอมแปลงสินค้า โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยพร้อมกับเครื่องมือสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัย และการร่วมมือด้านเครื่องหมายการค้าโดยตรงจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ประกอบกับอาศัยความเป็นชาวต่างชาติทำให้ผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าปลอมเข้าใจว่าเป็นนักท่องเที่ยว จึงง่ายแก่การสืบค้นข้อมูล[๔๓] แม้จะดูเหมือนว่าทางรัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของปลอมมากนักแต่ก็ได้ดำเนินการควบคุมบ้างเป็นระยะ การจัดการกับสินค้าปลอมนั้นรัฐใช้วิธีการที่หลากหลายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
"ของปลอม" กับการจัดการโดยรัฐ
ของปลอมมีผลกระทบต่อรัฐในแง่ที่ว่าทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์หลายประการที่พึงมี เช่น เงินภาษี แรงงานคน ความเชื่อถือจากผู้ค้า นักธุรกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจการค้าต่างๆ และยังผลให้เกิดข่าวลือและความหวาดระแวงตลอดจนเกิดเป็นคดีความหรือการฟ้องร้องในหมู่คนทั่วไป มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐ รัฐบาลจึงได้เข้ามาจัดการเกี่ยวกับของปลอมหลายวิธีการด้วยกัน ได้แก่ การออกกฎหมายลงโทษผู้ทำของปลอม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับทราบ และการใช้เทคโนโลยีและวิธีคิดสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการจัดทำของแท้เพื่อให้มีการทำปลอมได้ยากขึ้น
การใช้กฎหมายลงโทษควบคุม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ขึ้น และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ จำนวน ๓๔๐ มาตราที่ประกาศใช้นี้ นับว่าเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ (Modern Law) ฉบับแรกของไทย[๔๔] ในกฎหมายฉบับนี้ได้กล่าวถึงการปลอมดวงตรา พระราชลัญจกรและการปลอมตราสินค้า
กฎหมายสำคัญอีกส่วนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือกฎหมายเกี่ยวกับการปลอมตราสินค้า ซึ่งผู้ทำการปลอมตราสินค้าก็จะต้องได้รับโทษด้วย ดังที่ว่า “ผู้ใดปลอมเครื่องหมายในการค้าขายของบุคคล หรือบริษัทใดก็ดีหรือมันปลอมชื่อที่บุคคลหรือบริษัทใดเขาใช้ในการค้าขายก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปีและให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”[๔๕]ซึ่งกฎหมายนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนหน้านี้ กระทั่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ พระราชบัญญัติ เป็นต้น
การประชาสัมพันธ์
สำหรับการประชาสัมพันธ์นั้นมีการประกาศกฎหมายและข้อห้าม รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับของปลอม เพื่อมิให้คนทั่วไปหลงเชื่อ หรือเพื่อมิให้กระทำการปลอมของปลอมที่ผิดกฎหมายขึ้นมา ซึ่งส่วนมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะเน้นเรื่องเงินปลอมมากกว่าสินค้าปลอม เช่น หลังจากที่มีการพบธนบัตรปลอม ทางรัฐบาลประกาศข่าวเรื่องนี้รวมถึงข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างธนบัตรจริงและธนบัตรปลอมทางหน้าหนังสือพิมพ์[๔๖]
นอกจากนี้ยังมีการประกาศตั้งรางวัลให้แก่ผู้ที่สามารถจับคนทำของปลอม หรือนำของปลอมมาคืนแก่รัฐได้ รวมทั้งมีการมอบความดีความชอบแก่ข้าราชการที่สามารถจับผู้กระทำผิดในการทำของปลอมมาลงโทษได้อีกด้วย เช่น ในกรณีการปลอมธนบัตรคดีกรมหมื่นพงษาฯ เมื่อนายลอซัน (Eric St. J. Lawson) ผู้บังคับการกรมกองตระเวนได้รับหนังสือจากนายวิลเลียมซัน (W.J.F.Williamson) เจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แจ้งว่าฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์ได้พบธนบัตรปลอมไปขึ้นเงิน หลังจากเดินทางไปตรวจดูและพบว่าเป็นธนบัตรปลอมจริง นายลอซันได้โทรศัพท์แจ้งให้นายอากรบ่อนเบี้ยและแขวงหวยทั่วกรุงเทพฯให้มาพบ อธิบายจุดแตกต่างระหว่างธนบัตรปลอมกับธนบัตรจริง และหากผู้ใดพบผู้ใช้ธนบัตรให้แจ้งหรือจับบุคคลผู้นั้นมาส่งยังกองตระเวนในทันที หลังจากนั้นนายลอซันได้ไปยังธนาคารในกรุงเทพฯ รวมถึงโรงศุลกากร และกรมรถไฟเพื่อแจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทราบ และผลจากการสืบสวนคดีนี้ซึ่งใช้เวลาเพียง ๓-๔ วัน ส่งผลให้กรมหลวงนเรศวรวรฤทธิ์กราบทูลเสนอให้นายลอซันได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[๔๗]
ในปัจจุบันก็มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เลิกใช้สินค้าปลอมเช่นกัน เช่น เจ้าของยี่ห้อหลุย วิตตอง (LOUIS VUITTON) ซื้อเนื้อที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องสินค้าปลอม ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างของแท้และของปลอม[๔๘] รวมไปถึงการรณรงค์ต่อต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาในปัจจุบัน[๔๙]
การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาจัดการ
ในอดีตการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากตะวันตก พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดของรัฐก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้จัดการกับปัญหาของปลอมซึ่งส่วนมากจะใช้กับการทำเงินปลอม แม้จะพบอุปสรรคอยู่มากก็ตาม ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๔ ที่ว่า
...การแรกเริ่มจะทำการตีพิมพ์เงินเหรียญนี้ก็เหมือนกัน... เมืองไทยการช่างมือก็หยาบ วิชาก็น้อย...การทำเงินเหรียญเสียดังนี้ก็เป็นการกันเงินแดงดียิ่งนัก…เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอกำชับมาแก่ท่านทูตานุทูตให้เอาใจใส่หาเครื่องมือเครื่องจักรสำหรับทำเงินเหรียญ ทั้งทำตราตามอย่างซึ่งได้ให้มาแก่พระนายสรรเพธภักดีมานั้น แต่ให้รู้การต้นการปลายการ แลสำคัญแลไม่สำคัญ คิดให้รอบคอบ คือจะทำเหรียญทองก็ได้เงินก็ได้ พอให้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินของข้าพเจ้า... [๕๐]
แม้ว่าจะปรากฏปัญหาในการนำเครื่องจักรจากตะวันตกเข้ามายังสยามอยู่บ้าง[๕๑] แต่ในท้ายที่สุดเครื่องจักรเหล่านี้ก็เป็นที่พึงพอใจแก่ชนชั้นนำหรือรัฐเป็นอย่างมาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า
ข้าพเจ้ารู้สึกมีความชื่นชมและแปลกใจเป็นอย่างมากที่สุด ด้วยแม่พิมพ์เหล็กหรือเหล็กกล้าที่เป็นตราพระราชลัญจกรมาตรฐานของข้าพเจ้าสั่งทำโดย นายแซมมวล เยลฟิลแลน สำหรับประทับบนกระดาษและซอง ซึ่งได้สั่งมาให้ข้าพเจ้าหลายปีมาแล้วนั้น ได้ นำมาส่งแล้วพร้อมกับมีกระดาษแลซองมาด้วยเป็นจำนวนมาก... [๕๒]
นอกจากรัฐแล้ว พ่อค้าหรือบุคคลทั่วไปก็มีวิธีการในการตรวจสอบหรือป้องกันเงินปลอมเช่นกัน วิธีการที่ใช้ทั่วไป ได้แก่ การฝนเหรียญลงบนก้อนหินสีดำเพื่อดูสีของโลหะ การตอกตราเพื่อดูเนื้อโลหะข้างใน การชั่งโดยเทียบน้ำหนักกับปริมาตรวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด และการตัดหรือบากเพื่อดูโลหะเนื้อใน เป็นต้น[๕๓]
ในปัจจุบันก็มีความพยายามในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาจัดการกับปัญหาสินค้าปลอมอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เช่น ระบบโฮโลแกรม (Hologram) ระบบคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ที่นำสัญลักษณ์หรือวัสดุพิเศษไปติดลงบนสินค้าของแท้ทำให้ลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตสินค้าจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เข้ามาใช้ในการจัดการของปลอมมากกว่าที่รัฐบาลจะลงมือทำเอง ทั้งนี้สำหรับรัฐอาจจะเป็นเหตุผลด้านงบประมาณส่วนหนึ่ง และอาจเป็นเพราะว่าผลประโยชน์แอบแฝงด้วยส่วนหนึ่ง
จากที่ได้กล่าวมา อาจจะสังเกตได้ว่าแม้รัฐจะพยายามเข้ามาจัดการควบคุมของปลอมและการปลอมด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้น แต่ของปลอมก็ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่รัฐรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าพยายามหาทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับของปลอม (ที่ผิดกฎหมาย) ก็ยังมีผู้ที่พยายามผลิตคิดค้นของปลอมด้วยวิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน และก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการบริโภคสินค้าของปลอมมีอยู่มากด้วย
บทสรุปวิเคราะห์
ความคิดว่าด้วยเรื่องการทำของปลอมหรือของเลียนแบบในสังคมไทยนั้นมีมานานแล้ว หากเราพิจารณาจากการสร้างบ้านเรือน วัด วัง รูปเคารพ พระพุทธรูป ฯลฯ ล้วนเกิดจากการเลียนแบบต่อๆ กันมาทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อและเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต สิ่งที่มีคนคิดค้นขึ้นมาก่อนและมีการเลือกรับปรับใช้จนตกผลึกและคนในสังคมคิดเห็นว่าดีหรือเกิดประโยชน์ย่อมต้องสร้างเลียนแบบต่อๆ กันมา ดังนั้นการทำปลอมหรือเลียนแบบจึงเป็นสิ่งที่กระทำกันอยู่โดยทั่วไปในสังคมสมัยโบราณโดยไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ผิด
ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐหรือผู้กุมอำนาจในสังคมต้องการสร้างความชอบธรรมและรักษาอำนาจในการควบคุมคนเอาไว้ จึงได้ปรากฏมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจ เช่น ตรา เครื่องหมาย พระราชลัญจกรณ์ พระปรมาภิไธย แกงได เอกสารราชการ เงินตรา ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมคนในสังคมให้ทำตามกรอบ กฎระเบียบที่ผู้ปกครองสร้างขึ้น ทำให้ง่ายแก่การปกครองและควบคุมอำนาจในด้านต่างๆ ผู้เขียนคิดว่าจากจุดนี้เองที่ทำให้สำนึกเรื่อง “ของปลอม” และ “ของแท้” ปรากฏเด่นชัดขึ้น พร้อมๆ กับการเกิดกฎหมายเพื่อควบคุม “ความปลอม” “ความแท้” ที่ตามมาด้วย หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ ได้ว่าสำนึกเรื่อง “ปลอม” กับ “แท้” เกิดขึ้นเมื่อมีรัฐเกิดขึ้นนั่นเอง
สำหรับการทำของปลอมที่หมายถึงสินค้าก็อาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากความคิดที่ว่าการทำของเลียนแบบหรือของปลอมไม่ใช่การกระทำที่ผิดที่สืบเนื่องมาจากอดีตก่อนหน้านี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ การปลอมสินค้าเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักถ้าเทียบกับการปลอมเงิน เนื่องมาจากการปลอมเงินเพื่อนำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและทำกันมานาน และอาจเป็นเพราะมีสินค้าใหม่ๆ จากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามามากมายยากแก่การปลอมแปลง หรือยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตของปลอมที่มีศักยภาพพอรวมทั้งอาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ยาก บวกกับการศึกษาหรือความรู้สมัยใหม่นั้นค่อนข้างมีจำกัด โดยเฉพาะสำหรับคนชั้นล่างของสังคม อีกทั้งความต้องการสินค้าใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้แสดงฐานะทางสังคมยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงและ “ผู้มีอันจะกิน” สินค้าที่ปลอมกันมากมักจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังพบไม่มากเท่ากับการปลอมเงินตรา เพราะเงินตราคือแรงจูงใจสำคัญที่สามารถนำไปซื้อสินค้าได้ การปลอมเงินตรากระทำกันในหลายวิธี นับตั้งแต่ปลอมทำขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยพยายามให้เหมือนของจริงมากที่สุด การนำเงินตราของรัฐบาลที่มีค่าต่ำมาแก้ไขให้มีค่าสูง การแปลงราคาโดยแก้ตัวอักษรบนธนบัตรให้มีค่าสูงขึ้น การเติมตัวเลขให้มากขึ้น เป็นต้น[๕๔]
ความต้องการใช้เงินตรามีปริมาณที่สูง แต่เม็ดเงินในสยามกลับมีอย่างจำกัด จดหมายเหตุสยามไสมย หัวข้อ “เงินในประเทศสยาม” ชี้ให้เห็นว่าสยามขาดแคลนแร่เงิน ทำให้เงินที่ทำออกมาใช้ด้อยคุณภาพ เป็นที่เสียเปรียบต่างชาติเวลาเอาเงินไปแลกเปลี่ยน เช่น “...เงินญี่ปุ่น...ถ้าจะแลกกับเงินบาท จะต้องแลก ๔๙ เหรียณ เปนเงินบาทชั่งหนึ่ง จึ่งจะตรงกันกับเหรียณแมกซิโก ๔๘ เหรียณชั่งหนึ่ง เงินเหรียณฮอลันดาขนาดใหญ่ ๕๒ เหรียณชั่งหนึ่ง...”[๕๕] (๑ ชั่ง เท่ากับเงิน ๘๐ บาท) และยังมี “คำร้องทุกข์” ที่ชาวบ้านร้องว่าเจ้านายขุนนางเก็บเงินเสียหมด ไม่ยอมเอาเงินมาจ้างมาจุนเจือคนจน[๕๖]
การปลอมเงินนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วไปและรัฐเองก็ได้ให้ความสำคัญมาก ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ว่า “...มีเหตุการณ์อันเป็นเรื่องร้อน ต้องรีบระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ แต่ ๒ เรื่อง คือ เรื่องเงินตราเรื่องหนึ่ง กับเรื่องจีนตั้วเหียอีกเรื่องหนึ่ง ...” [๕๗]ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเงินตรานี้หมายรวมถึงความพยายามจัดการเรื่องภาษีอากรหรือเงินรายได้ของรัฐด้วย ดังปรากฏว่ามีการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๕๓[๕๘]
การที่เงินตรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้มากเมื่อเศรษฐกิจได้ขยายตัวโดยเฉพาะหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้มีเงินไม่พอในการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอาจยังส่งผลให้มีการปลอมเงินเกิดขึ้นมาก นอกจากเงินตราแล้วก็พบว่ามีการปลอมตราสินค้าเกิดขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่การปลอมสินค้าก่อนทศวรรษที่ ๒๕๓๐ ยังไม่มีความหลากหลายและบางครั้งไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องมาจากความคิดของคนในอดีตที่มีต่อสิ่งของเครื่องใช้นั้นสัมพันธ์กับลักษณะการใช้งานมากกว่าจะสัมพันธ์กับความคิดเรื่อง “ของแท้” กับ “ของปลอม” ความพยายามที่จะแยกระหว่างของแท้และของปลอมนั้นน่าจะมากับความเลื่อมล้ำทางสถานภาพทางสังคมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เราจะพบว่าสินค้าที่มักจะถูกทำเลียนแบบหรือปลอมทุกยุคทุกสมัยนั้นมักจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าฟุ่มเฟือยเป็นสินค้าที่สัมพันธ์กับรายได้ คนที่มีฐานะร่ำรวยก็มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นตามฐานะ ดังนั้นสินค้าฟุ่มเฟือยจึงใช้แสดงฐานะและสถานภาพทางสังคมที่เหนือกว่าผู้อื่นได้และผู้ใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจึงมักจะเป็น “ผู้ดี” และ”ผู้มีอันจะกิน” ซึ่งใครๆ ก็ปรารถนาที่จะเป็นผู้ดีและผู้มีอันจะกินเพราะจะส่งผลต่อการยอมรับและความก้าวหน้าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้อย่างสังคมไทย ผู้ผลิตสินค้าหรือบุคคลที่ต้องการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเองก็เห็นช่องทางดังกล่าวจึงได้ผลิตสินค้าแบบเดียวกันขึ้นมา ทางหนึ่งก็เพื่อหลอกขายสินค้าในราคาสูงเหมือนสินค้าฟุ่มเฟือยที่คนในสังคมกำลังนิยมชมชอบเพื่อผลกำไรที่งอกงาม แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีผู้ทำสินค้าเลียนแบบออกมาขายสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยเพื่อจะได้ใช้สินค้าในแบบที่ผู้ดีและผู้มีอันจะกินได้ใช้กันเพื่อให้ดูดีมีฐานะมีรสนิยมตามแบบผู้ดีผู้มีอันจะกินทั้งหลาย
เมื่อเกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประกอบกับเครื่องจักรกลต่างๆ มีราคาถูกลง การผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยไม่ได้จำกัดจำเขี่ยอยู่กับผู้ผลิตบางกลุ่มอีกต่อไป การผลิตสินค้าเลียนแบบหรือของปลอมจึงเป็นเรื่องง่ายดายที่ใครๆ ก็ทำได้ และใครๆ ก็สามารถเข้าถึงสินค้ายี่ห้อแพงๆ ได้แม้ว่าจะเป็นของปลอมก็ดูจะไม่แตกต่างจากของแท้สักเท่าใด และบางครั้งสินค้าที่ผลิตออกมานั้นผลิตมาจากวัสดุและโรงงานเดียวกัน แต่ลักลอบทำนอกเวลาหรือที่เรียกว่า “สินค้ากะผี” (ghost-shift)[๕๙] แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นของแท้ ดังนั้นอะไรจะเป็นของแท้หรือของปลอมจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครผลิต ผลิตจากอะไรเสมอไป แต่เป็นการพยายามจำแนก “เกรด” ของสินค้าเช่นเดียวกับการจำแนกแยกชนชั้นของคนในสังคมเองส่วนหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนทั่วๆ ไป กับผู้มีอันจะกินและผู้ดี การใช้ของแท้และของปลอมบางครั้งจึงเสมือนเป็นสัญญะบางอย่างของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในสังคมที่พยายามฉายภาพว่าคนมีสถานภาพที่เท่าเทียมกัน แม้ว่าในความเป็นจริงความแตกต่างทางชนชั้น การกีดกันทางชนชั้น การแย่งชิงทรัพยากรและพื้นที่ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เคยมีความเท่าเทียมกันเลยยังคงดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่อดีตกาลมาจนปัจจุบัน ผู้ใช้ของปลอมถ้าโดนจับผิดได้ว่าไม่ได้ใช้ของแท้ก็จะได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากคนที่นิยมของแท้ จึงต้องพยายามสรรหาของปลอมที่ทำอย่างแนบเนียนที่สุดมาใช้ ทำให้ของปลอมที่เหมือนของแท้ (ของปลอมเกรดเอ) มีราคาสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้นของปลอมเองก็ยังมีการแบ่งระดับ “ความเนียน” ในการปลอมตามสถานะทางเศรษฐกิจและค่านิยมของผู้ใช้อีกด้วย
ของปลอมจะไม่สามารถหมดไปจากสังคมได้ตราบใดที่ของปลอมยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการดิ้นรนเพื่อแย่งชิง “ความมีหน้ามีตา” หรือเป็นความพยายามแสดงความเท่าเทียมของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามใช้สินค้าราคาแพงยี่ห้อดังๆ เพื่อแสดงความเหนือกว่าอยู่เสมอ พอมีสินค้าใหม่เกิดขึ้นมาคนกลุ่มนี้ต้องพยายามเข้าถึงและแสวงหามาใช้ก่อนเพื่อแย่งชิงความเป็น “ผู้นำแฟชั่น” และแสดงความเหนือกว่า คนกลุ่มแรกก็พยายามตามให้ทันโดยการพยายามซื้อสินค้านั้นๆ มาครอบครองบ้าง แต่หากสู้ราคาไม่ไหวก็ต้องพยายามหาสินค้าที่ใกล้เคียงกันหรือสินค้าเลียนแบบมาใช้ การผลิตสินค้าปลอมจึงเกิดขึ้นเป็นวัฎจักรเช่นนี้เรื่อยไปตามค่านิยมและสินค้าที่เปลี่ยนไปในระบบทุนนิยม แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคบางส่วนที่ซื้อของปลอมมาใช้อาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ด้วย เช่น ซื้อเพราะการโฆษณาชวนเชื่อ ความไม่รู้ ซื้อมาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้คำนึงเรื่องยี่ห้อ ฯลฯ ทว่าเมื่อมีสินค้าวางขายก็ย่อมต้องมีผู้ซื้อ เมื่อมีผู้ซื้อก็ย่อมต้องมีการผลิต แม้รัฐเองจะทราบเรื่องนี้ดีแต่ก็อาจจะเห็นว่าหากปล่อยเอาไว้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจึงไม่พยายามเข้าไปจัดการแก้ไข และบางครั้งกลุ่มผู้ดีและผู้มีอันจะกินเองรวมถึงผู้มีอำนาจของรัฐก็กระโจนเข้าสู่ธุรกิจการค้าของปลอมเสียเอง ดังมีทนายที่รับว่าความคดีสินค้าปลอมท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า "เราเคยถูกขู่หลายครั้ง บางทีมีพวกนักเลงหรือคนแต่งชุดทหารเข้ามาจะทำร้ายร่างกายในสำนักงาน" [๖๐]
นอกจากนี้ สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าปลอมมากกว่าหรือเท่ากับการปลอมแปลงเครื่องหมาย เอกสาร ตรา ฯลฯ ของทางราชการและชนชั้นสูง จากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่ได้สืบค้นมาทำให้เห็นว่ารัฐและผู้มีอำนาจให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่าเรื่องสินค้าปลอม เพราะมันได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และสั่นคลอนอำนาจของผู้ปกครอง เป็นสิ่งที่ท้าทายอำนาจของกลุ่มคนที่พยายามรักษาอำนาจเอาไว้อย่างสืบเนื่องยาวนาน ในทางกลับกันยังเป็นสิ่งที่ใช้แสดงอำนาจทางการเมือง/สังคมของคนเหล่านั้นด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีคนพยายามปลอมแปลงหรือนำเครื่องหมาย เอกสาร ตราสัญลักษณ์ ฯลฯ ของผู้มีอำนาจตลอดจนชนชั้นสูงมาใช้เพื่อการใดการหนึ่งนั่นหมายความว่าคนผู้นั้นกำลังรุกล้ำอำนาจของผู้มีอำนาจบารมีและกำลังก้าวเข้าสู่การกระทำผิดในข้อหาฉกรรจ์ทางกฎหมายและคนจำนวนหนึ่งก็เดินเข้าสู่ความตายก่อนที่จะได้รับการลงโทษตามกฎหมายเสียด้วย บ่อยครั้งเรื่องดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามหรือ “คนที่หมดประโยชน์ทางการเมือง” นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าการทำสินค้าปลอมเสียอีก นอกเสียจากว่าจะดันไปผลิตสินค้าปลอมหรือเลียนแบบสินค้าของชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจทั้งหลายในสยามประเทศก็นับว่าเสี่ยงอันตรายไม่น้อยไปกว่ากัน การค้าน้ำมันปลอม (น้ำมันเถื่อน) อาจจะไม่ได้ผิดมากนักที่เป็นสินค้าปลอมหรือเถื่อนแต่อาจจะผิดอย่างร้ายแรงถ้ามีการแอบอ้างผู้มีอำนาจบารมีก็เป็นได้
เชิงอรรถ
[๑] BUSINESS INSIDER. These countries are the world's largest producers of fake goods. Available from: http://www.businessinsider.com/the-worlds-largest-producers-of-fake-goods-2016-4 [24 June 2017]
[๒] สุมาลี เล็กประยูร. “สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและคุณค่าแห่งแบรนด์.” วารสารนักบริหาร Executive Journal. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๓), น. ๒๐๗.
[๓] กาญจนา นาคสกุล. พจนานุกรม ไทย-เขมร. (กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖).
[๔] ดวงจิตต์ กำประเสริฐ. ประวัติศาสตร์กฎหมาย.พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพมหานคร : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๐), น. ๔๘.
[๕] ประเสริฐ ณ นคร. มังรายศาสตร์ เรียบเรียงจากฉบับวัดเสาไห้ พ.ศ.๒๓๔๓. เรียบเรียงเป็นภาษาปัจจุบัน พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงโหตรกิตยานุพัทธ์ (อาสา โหตระกิย์) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔, น. ๕๐-๕๑.
[๖] วิสูตร ธนชันวิวัฒน์. กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗. มปท., ม.ป.ป., น. ๙๐.
[๗] วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมรวมกฎหมายไทย. (กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, ๒๕๒๗), น. ๑๔๑ และ ๓๘๒.
[๘] J.Caswell and J.H.Chandler, A Dictionary of the Siamese language. (Bankok: Chulalongkorn Press, 2544), p.566.
[๙] Ibid, p.370.
[๑๐] แสมูเอ็ล เจ. สมิท. คัมภีร์สรรพพจนานุโยค เล่ม ๑ A-C. (กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒), น. ๘๗๘. (ในหน้าคำปรารภได้กล่าวว่า นายแสมูเอ็ล เจ. สมิท ชาวอังกฤษซึ่งได้ติดตามครอบครัวเข้ามาอยู่ในสยามประเทศตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้ที่มีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นอย่างดี ในกาลต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นได้ตั้งโรงพิมพ์ที่ตำบลบางคอแหลม รับจ้างพิมพ์หนังสือและเอกสารต่าง ๆ ที่มีค่ามากมาย นายสมิทมีความคิดว่าพจนานุกรม ๒ ภาษาน่าจะเป็นคลังแห่งความรู้อันเป็นประโยชน์ยิ่ง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่กำลังเรียนรู้ภาษาในสมัยนั้นจึงได้จัดทำเรียบเรียงพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทยขึ้น โดยยึดดิกชันนารีฉบับเว็บสเตอร์เป็นหลัก นายสมิท คงจะใช้เวลารวบรวมพจนานุกรมนี้อยู่นานหลายปี แล้วจึงได้ลงมือพิมพ์เล่มที่ ๑ เมื่อ ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๒) ใช้เวลาพิมพ์อยู่ถึง ๘ ปี จึงครบทั้ง ๕ เล่ม เรียกชื่อว่า คำภีร์สรรพพจนานุโยค)
[๑๑] องค์การค้าของคุรุสภา. หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ (จัดพิมพ์เลียนแบบของเดิมทุกประการ). (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๔)
[๑๒] องค์การค้าของคุรุสภา. หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ (จัดพิมพ์เลียนแบบของเดิมทุกประการ). น. ๔๒๗.
[๑๓] เรื่องเดียวกัน, น. ๓๐๐.
[๑๔] พจนานุกรม ร.ศ. ๑๒๐. (กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๑), น. ๒๒๖.
[๑๕] คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗. (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘), น. ๑๘๔.
[๑๖] เอเตียน กาลลัวซ์. สันต์ ท.โกมลบุตร. แปล. ราชอาณาจักรสยามในงานแสดงศิลปหัตถกรรม ณ ชังป์ เดอ มารส์ พ.ศ.๒๔๒๑ (ค.ศ.๑๘๗๘) และ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ พ.ศ.๒๒๒๙ (ค.ศ.๑๖๘๖) กับพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๑), น. บทนำ.
[๑๗] เมื่อกฎหมายให้ลงโทษกี่สถานก็ดี ไม่ได้หมายความว่าให้ลงโทษไปทุกสถาน แต่ให้เลือกลงโทษไปสถานใดสถานหนึ่งตามควรแก่โทษานุโทษ เช่น สถานหนึ่งให้บั่นคอริบเรือน สถานหนึ่งให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก สถานหนึ่งให้ไหมทวีคูณ สถานหนึ่งให้ทวนลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ที ใส่ตรุไว้ สถานหนึ่งให้จำไว้แล้วถอดเสียเป็นไพร่ สถานหนึ่งให้ภาคทัณฑ์ไว้ เป็นต้น ใน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช. กฎหมายสมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา), ๒๕๑๐, น. ๑๘) และ สุกิจ เชื้ออินทร์. การปลอมเอกสาร. น. ๑๐.
[๑๘] วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐), น. ๓๔.
[๑๙] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง. ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๐), น. ๑๗๐-๑๗๑.
[๒๐] องค์การค้าของคุรุสภา. กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๓, น. ๒๙๖.
[๒๑] มาตรา ๑๑๑ พระไอยการลักษณะโจร ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๕. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๖), น. ๑๔๑.
[๒๒] องค์การค้าของคุรุสภา. กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๕, หน้า ๙๕. ความว่า “(มาตรา) ๓๔ ด้วยพระบาทสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทรงมหากรุณาตำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ให้ศักนาม เมืองแลชื่อมุนนายลงไว้ในข้อมือ ไพรฟ้าประชากอร ข้าทแกล้วทหารทั้งปวงดั่งนี้ เพื่อจะให้ทำราชการทั่วหน้ากันเกลือกข้าทูละอองฯ แลผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการไพร่ฟ้าประชากอรข้าทหารทั้งปวง ไม่แจ้งในพระราชกำหนดกฎหมายเหนแต่ได้ความสบายทำเหลกปลอมศักแลขโมยเหลกของหลวงไปศักแต่อำเพอใจ หาผู้ลุกนั่งมิได้ต้องด้วยบทพระอายการว่าปลอมพลโทษนั้นถึงตายสิ้นทังโคตร ...”
[๒๓] กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ. ส.๓๐๖ ประเทศของเรา ๔. ม.ป.ป., น. ๑๓. อ้างใน ดนัย ไชโยธา. ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๖), น. ๓๓.
[๒๔] บางกอกรีคอเดอร์เล่มที่หนึ่ง จ.ศ.๑๒๒๖, น. ๒๑ และ ๒๐๔.
[๒๕]เรื่องเดียวกัน, น. ๗๕ และ ๑๐๕.
[๒๖] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๒๖.
[๒๗] ประชุมหมายรับสั่งภาค ๔ ตอนที่ ๒ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระนั่งเกล้า จ.ศ.๑๒๐๓-๑๒๐๕. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ๒๕๓๗), น. ๑๙๘-๒๐๑.
[๒๘]ชาญวิทย์ เกษตรศิริ .บรรณาธิการ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์, ๒๕๔๗), น. ๘๕.
[๒๙] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. น. ๘๑.
[๓๐] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๓๙.
[๓๑] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๔๐.
[๓๒] คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๒๑-๑๒๒ (ตอน ๑ ลงวันที่ ๖ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑). (นนทบุรี : โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๖), น. ๘.
[๓๓] จดหมายเหตุสยามไสมย เล่ม ๓ , น. ๓๐๓.
[๓๔] เรื่องเดียวกัน, น. ๖๑๘.
[๓๕] “คนโกงต่อคนโกง” ใน ยุทธโกษ เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๕ มกราคม ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) อ้างใน อเนก นาวิกมูล. เกร็ดสนุกชาวสยาม (กรุงเทพฯ : เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, ๒๕๔๔), น. ๗๑.
[๓๖] อเนก นาวิกมูล, ข้าวของในอดีต. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๑), น. ๕๑.
[๓๗] กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗. น. ๑๐๑.
[๓๘] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๐๒.
[๓๙] เรื่องเดียวกัน.
[๔๐] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕. (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕), น. ๒๗๕.
[๔๑] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย : หลายมิติ. (กรุงเทพฯ : โครงการรัฐศาสตร์ศึกษา, ๒๕๕๓) น. ๕๘.
[๔๒] สุมาลี เล็กประยูร. “สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและคุณค่าแห่งแบรนด์.” วารสารนักบริหาร Executive Journal. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๓), น. ๒๐๗.
[๔๓] นิตยสารผู้จัดการ. สินค้าปลอม ยุทธการจับปูใส่กระด้ง [ออนไลน์]. ตุลาคม ๒๕๓๒. แหล่งที่มา www.info.gotomanager.com/ newsprintnews.aspx?id=7549 [๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐]
[๔๔] แสวง บุญเฉลิมวิภาส, “กฎหมายลักษณะอาญา: ประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย”. วารสารนิติศาสตร์ ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๙, น. ๑๒๓.
[๔๕] กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗. ( หมวดที่ ๘ ความผิดฐานกระทำทุจริตในทางค้าขายมาตรา ๒๓๖), น. ๑๐๑.
[๔๖] หจช., ร.๕ ค.๑๑/๗, หนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ จากกรมหมื่นมหิศรราชหฤทธิ์ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๑๒๒. อ้างใน จิรวัฒน์ แสงทอง, “ชีวิตประจำวันของชาวสยามในกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๒๖-๒๔๗๕”, น. ๑๖๑.
[๔๗] หจช., ร.๕ ค. ๑๑ / ๘, ศาลาว่าการนครบาล หนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ของกรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๒๒. อ้างใน จิรวัฒน์ แสงทอง, “ชีวิตประจำวันของชาวสยามในกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๒๖ – ๒๔๗๕”, น. ๑๕๗-๑๕๘.
[๔๘] นิตยสารผู้จัดการ. สินค้าปลอม ยุทธการจับปูใส่กระด้ง [ออนไลน์]. ตุลาคม ๒๕๓๒. แหล่งที่มา www.info.gotomanager.com/ newsprintnews.aspx?id=7549 [๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐]
[๔๙] สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. แถลงข่าวการต่อต้านการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ [ออนไลน์]. ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐. แหล่งที่มา www. secretary.mots.go.th/ewt_news.php?nid=3902&filename=homepage3 [๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐]
[๕๐] “พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน” ใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘), น. ๒๙๓-๒๙๔.
[๕๑] “ พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี” ใน รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. น. ๒๙๖.
[๕๒] “ พระราชหัตถเลขา ถึง นาย ว.อาดัมสัน วันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ.๑๘๖๒” ใน รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. น. ๔๗๐.
[๕๓] นวรัตน์ เลขะกุล. เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์. (กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๒), น. ๙๓.
[๕๔] เรื่องเดียวกัน, น. ๘๙.
[๕๕] จดหมายเหตุสยามไสมย เล่มที่ ๑ จ.ศ. ๑๒๔๔. น. ๑๓๓.
[๕๖] เรื่องเดียวกัน, น. ๙๐.
[๕๗] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕. น. ๒๗๖.
[๕๘] สมภพ มานะรังสรรค์. “แนวโน้มพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนและหลังการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใน เอกสารการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๓๕ เรื่อง ๑๐๐ ปี แห่งการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: พัฒนาการและผลกระทบต่อสังคมไทย วันที่ ๒๐-๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. ๗๘.
[๕๙] Peter Navarro. The coming China Wars Where They Will Be Fought and How They Can Be Won. (New Jersey: FT Press, 2008), p. 18.
[๖๐] นิตยสารผู้จัดการ. สินค้าปลอม ยุทธการจับปูใส่กระด้ง [ออนไลน์]. ตุลาคม ๒๕๓๒. แหล่งที่มา www.info.gotomanager.com/ newsprintnews.aspx?id=7549 [๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐]