Skip to main content

วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

ครั้งแรกที่ฉันได้อ่านงานชิ้นนี้  ก็พยายามที่จะหาที่ทางหรือจัดวางงานเขียนดังกล่าวท่ามกลางงานชิ้นอื่นๆ จนได้ข้อสรุปอย่างย่นย่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยอาจจะรุ่มรวยงานเขียนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะวิเคราะห์ในมุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อชี้ให้เห็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สมัยใหม่ กระนั้นเรายังค่อนข้างขาดแคลนงานเขียนอันสะท้อนมุมมอง ความคิด ชีวิต และอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลที่มีชีวิตร่วมสมัย ซึ่งแน่นอนว่าฉันกำลังหมายถึงกระบวนการทำงานของนักประวัติศาสตร์ที่มากกว่าการร้อยเรียงชีวประวัติบุคคล ทามารา ลูส ได้ทำให้เรามองเห็นสิ่งนั้น ท่อนหนึ่งที่ไอดา อรุณวงศ์ แปล สะท้อนสิ่งที่เพิ่งกล่าวว่า

“การเล่าถึงช่วงเวลานี้ในประวัติศาสตร์สยาม โดยผ่านประสบการณ์ชีวิตของปฤษฎางค์ เผยให้เห็นว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นชัยชนะทางการเมืองของประเทศชาติดังเช่นที่มักเข้าใจกัน เรื่องราวของเขาจดจารไว้ด้วยความถี่ถ้วนอันชวนรวดร้าวถึงนาฏกรรมชีวิตและแรงผลักดันทางอารมณ์ ที่ได้ถูกปกปิดไว้เบื้องหลังประวัติศาสตร์ซึ่งบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองของสยามในแบบที่มีการควบคุมไว้มากกว่า ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้สภาวะภายในของปัจเจกบุคคลต่างๆ ทั้งเจ้าอาณานิคมและข้าอาณานิคม ซึ่งมักถูกมองอย่างแบนๆ นั้น ได้มีชีวิตขึ้นมา”[1] (ลูส, 2556: 19)

ปฤษฎางค์เติบโตมาในแวดวงของคนชั้นสูง มีมิตรสหายมากมายถึงชั้นกษัตริย์ เขาเคยอยู่ในเหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 คำนวณสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ปฤษฎางค์เป็นบุตรคนสุดท้องของพระองค์เจ้าชุมสาย นายช่างและช่างศิลป์ผู้ประสบความสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 บิดาของเขาได้นำเขาไปฝากไว้กับรัชกาลที่ 5 ก่อนที่ตัวเองจะถึงแก่กรรม นั่นทำให้ชีวิตของปฤษฎางค์กับรัชกาลที่ 5 ในเวลาต่อมามีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก ทั้งการที่เขาถูกส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่สถาบันราฟเฟิลส์ สิงคโปร์ ก่อนถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากคิงส์คอลเลจในลอนดอน เมื่อปี 2419 ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ประยุกต์ เขายังถือเป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญามหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ และนั่นทำให้เขากลายเป็นดาวเด่น และกลายเป็นศูนย์กลางของคนหนุ่มในกลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าที่สุดที่ทำงานในราชการสยาม

กล่าวได้ว่าปฤษฎางค์เข้ามาอยู่ในฐานะกระดูกสันหลังของกษัตริย์คือรัชกาลที่ 5 ทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกษัตริย์ภายในสยามและในเวทีนานาชาติ ผลงานสำคัญอย่างหนึ่งของเขาคือ การผลักดันให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกับนานาชาติในเรื่องภาษีสุราและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ไม่เพียงเท่านั้น เขายังผลักดันเรื่องระบบไปรษณีย์และโทรเลขให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการลงนามในอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ และนำไปสู่การจัดตั้งกรมไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2426 มากกว่านั้น เขายังเข้าไปสำรวจและจัดระเบียบทางทหารให้เป็นแบบยุโรป

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของปฤษฎางค์มาถึงจุดที่ฐานะของตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ไม่สมดุลกับฐานันดรชั้นยศ นั่นกลายเป็นที่ติฉินนินทาและเกิดแรงตึงเครียดในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง เมื่อครั้งที่เขายังทำหน้าที่อยู่ที่ต่างประเทศ เขายังต้องคอยจัดการงานและธุระของเจ้านาย อันเป็นงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับราชการโดยตรง เช่น ในอัตชีวประวัติของเขาที่เขียนขึ้นในช่วงปี 2423-2432 เขาเล่าว่า “ในเวลาที่เปนราชทูตอยู่นั้น ได้รับสั่งให้ทำของหลวง และซื้อสิ่งของเป็นอันมาก เปนคนเต้นอยู่ไม่หยุดว่าง คงมีอะไรต่อมิอะไรทำแลคิดอยู่เสมอ แต่เปนกระดูกแขวนคอทั้งนั้น หาได้รับประโยชน์ร่ำรวยเช่นผู้อื่นที่รับสั่งของหลวงไม่”

คำเปรียบเปรยเชิงตัดพ้อนี้ ยังได้กลายเป็นแกนกลางของเรื่องเล่าและประเด็นที่ลูสชวนให้พวกเรา ในฐานะคนอ่าน พินิจชีวิตของปฤษฎางค์ ที่ตัวเขาเองมองว่า เขาทำงานอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่กลับถูกกล่าวโทษและถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมต่อความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ ในห้วงยามอันยากลำบากที่เขาไม่อาจทำหน้าที่อย่างมีเกียรติได้ดังเดิม ก็เกิดข่าวลือในทางเสียหายแก่เขามากมาย ทั้งเรื่องของ ศรี ผู้หญิงที่เขาเองให้การดูแลจนถึงวาระสุดท้าย หรือเรื่องที่เขาใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยในต่างแดน ช่วงเวลาหลายปีทีเดียวที่ปฤษฎางค์ไม่อาจเดินทางกลับมายังสยาม เขาใช้ชีวิตดั่งผู้ลี้ภัย เดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ไซ่ง่อน สิงคโปร์ ปีนัง เประ และท้ายสุดได้อุปสมบทที่เกาะลังกา เมื่อปี 2439 ในระหว่างนั้นเขายังเขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ 5 ขอโอกาสกลับเข้าทำงานรับใช้พระองค์และชาติบ้านเมือง

ปฤษฎางค์เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2453 อันเป็นปีที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต กระนั้นชีวิตในช่วงบั้นปลายของเขายังประสบกับความยากลำบากแสนสาหัส ต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในแวดวงสังคมการเมืองสยาม สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามนั้นคืออัตชีวประวัติของเขาที่ร่างไว้ในปี 2467 กระทั่งได้พิมพ์ออกมาเมื่อปี 2473 หรือเมื่ออายุของเขาล่วงเข้าสู่ปีที่ 79 แล้ว หลังจากนั้นปฤษฎางค์ยังมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาสำคัญนั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระทั่งได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อปี 2478 รวมอายุได้ 83 ปี การตายของเขาและตัวตนของเขาหลังจากนั้นยังคงถูกพิพากษาให้มีฐานะของผู้ซึ่งไร้ทั้งเกียรติยศและสถานะของผู้รักชาติ อันสะท้อนผ่านจดหมายฉบับหนึ่งของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถึงสมเด็จกรมพระยานริศฯ นั่นเอง

อัตชีวประวัติของปฤษฎางค์จึงกลายเป็นประจักษ์พยาน และเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้เขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม้ว่าเรื่องราวและเรื่องเล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เขาเลือกที่จะเขียนถึง และแน่นอนว่าคงมีเรื่องราวอีกมากที่เขาทอดทิ้งไม่กล่าวถึง ดังนั้น การนำเสนอสภาวะภายในของปัจเจกจึงมิได้หมายความว่าเรื่องราวทั้งหมดถูกยกยอดให้เป็นเรื่องของปัจเจก เนื่องด้วยชีวิตของปฤษฎางค์สัมพันธ์อยู่กับห้วงเวลาสำคัญที่สยามต้องแสดงให้นานาชาติเห็นว่าสามารถเท่าทันเกมการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ตัวของปฤษฎางค์ในฐานะทูตสยามคนแรกในยุโรปช่วงปี พ.ศ.2423-2432 ได้พยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถที่จะประสานทั้งอำนาจภายนอกและภายในคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายประการ กระทั่งการเสนอระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยหลักการแล้วคือข้อเสนอที่สวนทางกับการดึงอำนาจเข้าสู่สถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แน่นอนว่า “เมื่อไม่มีการควบคุมในเชิงสถาบัน การรวบอำนาจมาอยู่ในมือของกษัตริย์ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมบ่มเพาะปัจเจกเหล่านี้ให้แข่งขันกันทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์” (ลูส, 2556: 15)

อันที่จริงสังคมไทยเผชิญกับปัญหาว่าด้วยการไม่มีกลไกการควบคุมในเชิงสถาบัน ไม่เฉพาะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น การทำความเข้าใจสภาวะของอำนาจในห้วงเวลาดังกล่าว ยังทำให้เรามองเห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น การรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์และการปราศจากกลไกการควบคุมเชิงสถาบันทำให้กระบวนการควบคุมทางสังคม การเมือง ทำมากกว่ายุคของปฤษฎางค์ ที่อาศัยการซุบซิบนินทา ข่าวลือ และเรื่องอื้อฉาว แต่เป็นการใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 112 ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ แม้กระทั่งข้อเสนอของพรรคการเมืองต่อเรื่องดังกล่าวในบรรยากาศก่อนการเลือกตั้ง 2566

ความสำคัญและความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คือ ชีวิตของปฤษฎางค์ทำให้เราเข้าใจและมองเห็นสิ่งนามธรรมในประวัติศาสตร์ด้วยการอธิบายออกมาด้วยระนาบวิถีของมนุษย์ (ลูส, 2556: 274) ดังนั้นสำหรับงานวิชาการที่เขียนถึงสังคมไทย งานชิ้นนี้ถือเป็นตัวแบบของการศึกษาสังคมไทยที่มีวิธีวิทยาที่ต่างออกไป และแสดงให้เห็นว่าชีวิตของปัจเจกสามารถส่องสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม เติมเต็มด้านความละเมียดละไม ช่วยให้เราพินิจพิเคราะห์ช่วงเวลาดังกล่าวอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำ นั่นย่อมเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรามองเห็นว่างานประวัติศาสตร์นั้นแท้จริงแล้วใกล้ชิดกับเรามาก อย่างน้อยก็มากเท่าที่เราจะนึกออก

 

[1] อ้าง Ann Stoler, “Matters of Intimacy as Matters of State: A Response,” Journal of American History 88, no.3 (December 2001): 896.