Skip to main content

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ อาจารย์ประจำศูนย์บูรณาการมนุษยาภิวัตน์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

นอกจากเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ในหัวข้อที่ศึกษาแล้ว หนังสือวิชาการประวัติศาสตร์ที่ดียังสามารถเสนอตัวแบบที่นำไปสู่การสานสนทนากับการศึกษาในหัวข้อที่คล้ายคลึงกันในสถานที่และเวลาที่แตกต่างออกไป Thinking Orientals เขียนโดย เฮนรี่ อี้ (Henry Yu) เป็นหนังสือที่สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อเมริกัน โดยเฉพาะประเด็นชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังสามารถเป็นตัวแบบในการทำความเข้าใจ ประเด็นชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆนอกจากสหรัฐอเมริกา ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากสมาคมประวัติศาสตร์อเมริกัน  (American Historical Association) ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการที่มีชื่อเสียง Thinking Orientals ปรากฏสู่บรรณพิภพในปี 2001 ในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีบทบาทมากขึ้นในสังคมการเมืองอเมริกัน

หนังสือวิชาการแต่ละเล่มย่อมเป็นกระจกที่สะท้อนตัวตนของผู้เขียนและบริบทที่หนังสือเล่มนั้นถูกผลิตขึ้น เฮนรี่ เป็นนักวิชาการแคนาดาเชื้อสายจีน ซึ่งปัจจุบัน (2023) ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ในฐานะชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ที่พยายามเข้าใจตำแหน่งแห่งที่และตัวตนในสังคม เฮนรี่มีบทบาททางวิชาการและสังคมในการสร้างพื้นที่ให้กับชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชียผ่านกิจกรรมทางสังคมและวิชาการต่างๆ

ในฐานะนักวิชาการเชื้อสายเอเชีย ที่เคยทั้งศึกษาและทำงานในสหรัฐอเมริกา เฮนรี่ตั้งคำถามต่อการประกอบสร้างอัตลักษณ์อเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีคนจีนและญี่ปุ่นเป็นภาพแทน ผ่านการเขียน Thinking Orientals เฮนรี่ชี้ชวนให้พวกเราตั้งคำถามต่อบทบาทของนักวิชาการอเมริกัน รวมถึงนักวิชาการอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีต่อการผลิตสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์ ในการนิยามตัวตนของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียและการรับรู้ของอเมริกันชนที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย กระทั่งทำให้ภาพการรับรู้ของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นทั้ง “ปัญหา” และ “คำตอบ” ต่อปัญหาชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา

เฮนรี่เริ่มจากการพาผู้อ่านท่องไปยังจุดเริ่มต้นของการประกอบสร้างความรู้เกี่ยวกับผู้อพยพชาวเอเชียโดยนักสังคมวิทยาสำนักชิคาโกในต้นทศวรรษ  1920 ที่การอพยพข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกของชาวเอเชียจำนวนมากมายังฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความกังวลให้กับชาวอเมริกันผิวขาว การสร้างความรู้เกี่ยวกับผู้อพยพชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมผ่านการดึงผู้คนเหล่านี้เข้าสู่สังคมอเมริกัน นักวิชาการอเมริกันนำโดย Robert E. Park ซึ่งเป็นเจ้าพ่อสังคมวิทยาสำนักชิคาโก มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มสร้างความรู้ดังกล่าว

เฮนรี่ได้คลี่ให้เห็นว่าการสร้างความรู้โดยนักวิชาการอเมริกันผิวขาวที่นำโดย Robert E. Park นี้ ได้วางรากฐานให้กับสร้างเครือข่ายและสถาบันทางความรู้ที่นำพานักวิชาการเข้ามาสานสนทนาสร้างความรู้เกี่ยวกับชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา กล่าวอีกนัยหนึ่งการเกิดขึ้นของการสร้างความรู้นี้ได้เปลี่ยนคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาให้กลายเป็นวัตถุแห่งความรู้ ที่สามารถถูกนิยามและปรับเปลี่ยนได้ ภายใต้เครือข่ายและสถาบันทางความรู้นี้นักวิชาการอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ได้เข้ามามีบทบาทในการนิยามตัวตนของตนเองเช่นกัน โดยความรู้ที่พวกเขาสร้างขึ้นทั้งสืบทอดและแตกหักกับความรู้ที่นักวิชาการผิวขาวได้ผลิตขึ้น

Thinking Orientals จึงเป็นงานชิ้นเอกที่กล้าตั้งคำถามท้าทายวงวิชาการอเมริกัน ที่บ่อยครั้งประเด็นทางชาติพันธุ์ถูกทำให้พร่าเลือนลงในวงวิชาการ ภายใต้กรอบคิดของวัตถุวิสัยและความเป็นกลางทางวิชาการ ประหนึ่งว่างานวิชาการปราศจากอคติและฉันทาคติทางชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ยังสามารถเป็นตัวแบบที่ช่วยฉุกคิดถึงกระบวนการสร้างความรู้ทางชาติพันธุ์นอกสังคมอเมริกันว่ามีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับสิ่งที่หนังสือเล่มนี้เสนออย่างไร