พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้คัดมาจาก "บทนำ" ของเอกสารคำสอนวิชา 004423 ประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก
ประวัติศาสตร์ความคิดคืออะไร
การศึกษาตัวบท (text) ในมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้นมีมาอย่างยาวนาน หากเราต้องการศึกษางานเขียนชิ้นหนึ่ง เราอาจเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเภทของตัวบท แรงจูงใจของผู้เขียน ตลอดจนระบบความคิดที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ การศึกษา “ความคิด” ในความหมายกว้างอาจแบ่งประเภทลงไปอีกได้มากมาย สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญกับการสร้างและวิพากษ์ระบบความคิดมากที่สุดได้แก่สาขาวิชาปรัชญา (philosophy) อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ความคิดอาจมีวิธีการทำงานที่ทับซ้อนกันและต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่จุดเน้นของทั้งสองวิธีการศึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ นักปรัชญาให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริงผ่านการทำความเข้าใจระบบความคิดในงานของนักปรัชญา กล่าวอีกอย่างคือนักปรัชญาเชื่อว่าในระบบความคิดเหล่านั้นมีตรรกะภายใน (internal logic) ในทางตรงกันข้าม นักประวัติศาสตร์ความคิดให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ในฐานะปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดงานชิ้นต่างๆ
ตัวอย่างเช่น นักปรัชญาการเมืองอาจให้ความสำคัญกับปรัชญาการเมืองในงาน The Prince (เจ้าผู้ครองนคร) ของนิโคโล มัคคิอาเวลลี (Niccolo Machiavelli) จากวรรคอันมีชื่อเสียงที่กล่าวว่า “The lion cannot protect himself from traps, and the fox cannot defend himself from wolves. One must therefore be a fox to recognize traps, and a lion to frighten wolves.” โดยการตีความว่ามัคคิอาเวลลีเสนอว่าเจ้าผู้ปกครองควรมีความสามารถในการใช้ทั้งพละกำลังและเล่ห์เหลี่ยม (force and fraud) ซึ่งสะท้อนศีลธรรมทางการเมืองแบบใหม่ สอดคล้องกับส่วนอื่นๆของงานชิ้นเดียวกัน นักปรัชญาการเมืองอาจกล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเมืองภายในของนครรัฐฟลอเรนซ์เช่นกัน แต่หัวใจหลักของงานนั้นยังคงเป็นการให้ความสำคัญกับ “ระบบ” ความคิดทางปรัชญา ในขณะที่บริบททางประวัติศาสตร์เป็นเพียงฉากหลังสำหรับวิธีการทางปรัชญาเท่านั้น
ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ความคิดเมื่อศึกษาวรรคเดียวกันนี้ของมัคคิอาเวลลีว่าด้วยการเป็นทั้งจิ้งจอกและราชสีห์ของเจ้าผู้ปกครอง อาจเริ่มด้วยสมมุติฐานว่าไม่มีสิ่งใดใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์ สมมุติฐานนี้ไม่ได้หมายความว่าวรรคดังกล่าวไม่มีคุณค่า แต่หมายความว่ามัคคิอาเวลลีเองย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางปัญญาร่วมสมัย หากเราคุ้นเคยกับบริบททางประวัติศาสตร์และงานเขียนทางปรัชญาและเทววิทยาของศตวรรษที่ 16 ย่อมทราบว่ายุคสมัยดังกล่าวซึ่งเรียกว่าเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการนี้มีการย้อนกลับไปอ่านงานของยุคคลาสสิกเช่นงานของนักปรัชญาโรมันอย่างกว้างขวาง การย้อนกลับไปอ่านดังกล่าวหมายรวมถึงทั้งการกลับไปนำงานเขียนยุคโบราณเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและการปฏิเสธความคิดเหล่านั้นว่าไม่เหมาะสมกับโจทย์ทางสังคมการเมืองของศตวรรษที่สิบหกอีกต่อไป
ในกรณีของมัคคิอาเวลลี นักประวัติศาสตร์ความคิดพบว่าเขาเป็นพวกหลังซึ่งเชื่อว่าปรัชญาการเมืองโบราณไม่ได้มีความเป็นสากลและแนวคิดทางการเมืองจากยุคคลาสสิกหลายงานก็ไม่สามารถนำมาใช้กับยุคสมัยของเขาได้อีกต่อไป นักประวัติศาสตร์ความคิดของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการจึงจำเป็นต้อง “อ่านให้รอบ” กล่าวคือไม่เพียงต้องอ่านหลักฐานของศตวรรษที่สิบหกเท่านั้นแต่จำเป็นต้องคุ้นเคยกับการอ้างอิงงานยุคคลาสสิกของนักเขียนในศตวรรษที่สิบหกอีกด้วย นักประวัติศาสตร์ความคิดจึงพบว่าวรรคว่าด้วยการอุปมาดังกล่าวนั้นเป็นการวิจารณ์หนังสือชื่อ De Officiis ว่าด้วยการปกครองและคุณสมบัติของนักปกครองที่ดีของชิโซโรโดยตรง นักประวัติศาสตร์ความคิดจึงสามารถจัดวางวรรคดังกล่าวว่าด้วยราชสีห์และจิ้งจอกลงไปในบทสนทนาร่วมสมัยว่าด้วยความเป็นสากลของปรัชญาการเมืองซึ่งมัคคิอาเวลลีไม่เห็นด้วย
ประเด็นสืบเนื่องจากการค้นพบข้อวิจารณ์ของมัคคิอาเวลลีต่อชิโซโรที่นักประวัติศาสตร์ความคิดสามารถนำไปพัฒนาเป็นหัวข้อวิจัยต่อไปได้คือประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดมนุษยนิยมและความเป็นสัตว์ (humanism and bestiality) เนื่องจากวรรคดังกล่าวโต้แย้งโดยตรงต่อแนวคิดมนุษยนิยมคลาสสิกซึ่งให้ความสำคัญกับความเหนือกว่าทางสติปัญญาและศีลธรรมของมนุษย์ซึ่งทำให้เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ในงานของชิเซโร นักการเมืองที่ละทิ้งคุณธรรมเพื่อผลลัพธ์ทางการเมืองจึงลดตัวลงและประพฤติตัวเยี่ยงสัตว์ ในทางกลับกัน มัคคิอาเวลลีปฏิเสธความมีประโยชน์ของแนวคิดมนุษยนิยมและความสำคัญของศีลธรรมแบบคลาสสิกดังกล่าวผ่านคำยืนยันของเขาว่าผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องยึดเหตุผลแห่งรัฐเป็นสำคัญ มุมมองแบบประวัติศาสตร์ความคิดจึงสามารถเล็งเห็นข้อวิจารณ์ทั้งต่อชิเซโรและแนวคิดมนุษยนิยมแบบคลาสสิกนี้ได้และส่งผลให้เราเข้าใจที่ทางของตัวบทในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
นักศึกษาจะพบว่าทั้งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ความคิดมีวิธีการทำงานที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่าจะเป็นความขัดแย้งทางระเบียบวิธีวิจัย วิธีการทำงานของนักปรัชญามีคุณูปการในการอ่านและวิเคราะห์เชิงลึกซึ่งนักประวัติศาสตร์อาจไม่มีทรัพยากรทั้งทางทักษะปรัชญาวิเคราะห์และทางเวลาที่ทำได้อย่างทัดเทียม ในขณะเดียวกันการค้นพบทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่หรือการค้นพบความเชื่อมโยงใหม่ๆ (เช่นการค้นพบว่างานของมัคคิอาเวลลีมีการอ้างอิงเชิงวิจารณ์ต่อปรัชญาการเมืองของชิโซโรซึ่งถือเป็นงาน “กระแสหลัก” สำหรับยุคเรเนซองส์มากกว่ายี่สิบจุด) นั้นก็ทำให้เราเห็นแง่มุมใหม่ๆของงานชิ้นต่างๆอันจะทำให้เราเข้าใจงานชิ้นนั้นๆได้รอบด้านและลึกซึ้งมากขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุที่ทั้งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ความคิดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางปัญญาที่เจริญงอกงามได้ด้วยการแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ความแตกต่างระหว่างนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ความคิดจึงเป็นความต่างในการแบ่งงานกันทำ (division of labour) มากกว่าเป็นความแตกหักทางโลกทัศน์
ประวัติศาสตร์ความคิดแบบ History of Ideas และ Intellectual History
นักประวัติศาสตร์ความคิดเองก็สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม ในระดับวิชานี้ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานจะเริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่าง History of Ideas และ Intellectual History เป็นสำคัญ History of Ideas นั้นมีความเก่าแก่กว่า Intellectual History และบ่อยครั้งที่ทั้งสองแนวทางการศึกษามีส่วนที่ซ้อนทับกัน
อย่างไรก็ตาม คำถามว่าด้วยความแตกต่างของสองแนวทางนี้อาจตอบได้ด้วยการมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อเควนติน สกินเนอร์ (Quentin Skinner) ซึ่งในที่นี้เป็นตัวแทนของ Intellectual historian วิจารณ์งานของอาเธอร์ เลิฟจอย (Arthur Lovejoy) ซึ่งเป็น Historian of Ideas ผู้ให้ความสำคัญกับ “Unit Ideas” และดูว่าหน่วยความคิดเหล่านั้นเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อกาลเวลาผ่านไป การศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดแนวนี้ให้ความสำคัญกับความคิดในฐานะวัตถุแห่งการศึกษาของนักประวัติศาสตร์และยิ่งไปกว่านั้น ความคิดต่างๆดังกล่าวเช่น ความคิดว่าด้วยเจตจำนงค์รวมหรือ General Will ของรุสโซก็อาจค่อยๆแปรเปลี่ยนไปและกลายเป็นฐานทางปรัชญาที่สนับสนุนการปกครองแบบเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarianism) ในเกือบสองร้อยปีถัดมาหลังจากที่รุสโซเสียชีวิตไปแล้วได้ เนื่องจากสำหรับ History of Ideas ความคิดต่างๆมีประวัติศาสตร์ในตัวของมันเองและหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ความคิดคือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทั้งทางความหมายและการนำความคิดนั้นๆไปใช้ จุดเน้นของการศึกษาแนวนี้จึงยังคงให้ความสำคัญกับหน่วยความคิดและพัฒนาการของความคิดนั้นๆเมื่อเวลาผ่านไป
ในขณะที่จุดยืนของ Intellectual History ในความหมายกว้างนั้นไม่เชื่อว่าความคิดเป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่เป็นเอกเทศที่มีและดำรงอยู่ผ่านเส้นเวลาในประวัติศาสตร์ Intellectual History ให้ความสำคัญกับตัวบทในฐานะการแสดงออกของผู้คนในบริบททางประวัติศาสตร์อันเฉพาะเจาะจงนั้นๆ ไม่มีงานเขียนชิ้นใดเกิดขึ้นในสุญญากาศทางประวัติศาสตร์ ผู้คนล้วนพยายามจะแก้ปัญหาทางสังคมการเมืองอะไรบางอย่างเสมอ และการจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้พวกเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องพึ่งพาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาต่างๆที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ทั้งผ่านตัวบทต่างๆและผ่านการแลกเปลี่ยนกับผู้คนต่างๆ ความคิดว่าด้วยเจตจำนงค์รวมของรุสโซจึงอาจถูกศึกษาในฐานะความพยายามในการรักษาคุณค่าแบบสาธารณรัฐไว้ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปของศตวรรษที่สิบแปดซึ่งรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ประชากรหลากหลายมากขึ้น ในทางหลักฐาน intellectual historian อาจจำเป็นต้องตามอ่านงานของรุสโซในยุคที่ยังอยู่ในเจนีวาและยุคที่ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรุสโซกับบุคคลร่วมสมัยเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าว กล่าวคือ intellectual historian ให้ความสำคัญกับตัวบทในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้นๆและไม่ได้มองว่ามีสิ่งที่เรียกว่าหน่วยความคิดหรือ Unit idea ที่มีอยู่แยกออกจากผู้เขียนอย่างเป็นอิสระต่อกัน
ดังนั้นการตัดสินว่าความคิดว่าด้วยเจตจำนงรวมของรุสโซว่าเป็นต้นธารแห่งระบอบอำนาจนิยมนั้นจึงเป็นสิ่งที่ intellectual historian ไม่สามารถทำได้และสำหรับเควนติน สกินเนอร์ถือว่าเป็นความผิดพลาดทางระเบียบวิธีวิจัยแบบที่เรียกว่า anachronism หรือการนำมุมมองของคนปัจจุบันย้อนกลับไปตัดสินอดีตอย่างมีอคติ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาในหมู่ intellectual historian เองก็หันกลับมาสนใจการศึกษาประวัติศาสตร์ระยะยาวหรือ La longue durée (ซึ่งแต่เดิมเป็นระเบียบวิธีการศึกษาของสำนัก Annales แห่งประเทศฝรั่งเศส) โดยเฉพาะเมื่อมีการนำเครื่องมือดิจิตัลเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้วย
โดยสรุป ประวัติศาสตร์ความคิดในความหมายกว้างให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนโจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งตัวบทนั้นๆพยายามสร้างบทสนทนาด้วย แตกต่างจากแนวทางการศึกษาแบบปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับตรรกะภายใน (internal logic) ของตัวบทเป็นสำคัญ