Skip to main content

ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก Jürgen Osterhammel, “Global History”, in Tamm, Marek and Burke, Peter, eds. Debating New Approaches to History, Bloomsbury Publishing, 2018, P. 21-47. เนื้อหาของบทความนี้ใช้ประกอบการสอนวิชา 004351 แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ และ 004483 ประวัติศาสตร์โลก

 


 

Global history คืออะไร?

 

การศึกษา Global history* ในปัจจุบันขยายตัวและเป็นที่นิยมอย่างมากจนถึงจุดที่ใคร ๆ ก็เรียกงานตัวเองว่าเป็น Global history ได้ งานทั้งหลายที่เรียกว่า Global นั้นมีจุดร่วมอยู่ที่การก้าวข้ามประวัติศาสตร์ชาตินิยมและการเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) อย่างไรก็ตาม ในวงการวิชาการแทบไม่เคยมีการพูดคุยเพื่อนิยาม แสวงหาจุดร่วมหรือข้อตกลงขั้นต่ำในเชิงวิธีวิทยาเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคำว่า World History และ Global History มักจะถูกใช้สลับกันไปมา เมื่อเปรียบเทียบดูบทความที่ตีพิมพ์ใน Journal of World History และ Journal of Global History เราแทบไม่พบความแตกต่างกันเลย อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของ Global history ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคลุมเครือไหลลื่นของการนิยามนั่นเอง

ก่อนที่จะลองพยายามสร้างคำนิยาม ขอย้อนดูประวัติการขึ้นมาของ Global history เสียก่อน Global history โผล่ขึ้นมาในช่วงจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัยในทศวรรษ 1990 กล่าวคือ ช่วงเดียวกับกระแส “หลัง” ต่าง ๆ เช่น หลังสมัยใหม่ หลังอาณานิคม หลังโครงสร้างนิยม ในช่วงนั้นวงการประวัติศาสตร์ขยายตัว แตกแขนงออกเป็นสาขาย่อยต่าง ๆ  แต่ Global history กลับมีความเป็นมาที่ต่างจากประวัติศาสตร์กระแสอื่น

หากพูดถึง World history ในความหมายของการศึกษาอดีตของกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับตัวเอง เราอาจพบว่าการเขียนประวัติศาสตร์แนวนี้เก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีการเขียนประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ World history ต่างจากประวัติศาสตร์กระแสอื่น ๆ คือ World history เป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชนอย่างมาก ปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะในลักษณะนี้แทบไม่เกิดกับนักประวัติศาสตร์แขนงอื่น ๆ นักประวัติศาสตร์แบบ World historian มักจะดูมีรัศมีของความยิ่งใหญ่และดูสำคัญสำหรับสาธารณชนทั่วไป สาธารณชนคาดหวังว่าพวกเขาต้องรู้ทุกเรื่อง ผลก็คือพวกเขามักพูดแต่อะไรกว้าง ๆ ผิวเผิน และมักจะถูกจับผิดได้ในรายละเอียดโดยเฉพาะจากวงการวิชาการ

จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อประวัติศาสตร์กลายเป็น “ศาสตร์” ขึ้นมา นักประวัติศาสตร์ที่เขียนแนว World history มักจะโดนดูถูก ไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตา เพราะถือว่าทำงานตอบสนองความต้องการสาธารณะมากกว่าคุณค่า “วิชาการ” ต่อมาในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์แบบอาชีพกับแบบสาธารณะมากขึ้น แม้จะยังไม่สามารถบรรจบกันได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม


 

William Daniell’s ‘European Factories at Canton’ (1806) © Sotheby’s/AKG Images

 


 

การขึ้นมาของ Global history: คำอธิบายสามแบบ

 

คำอธิบายทั้งสามแบบนี้เมื่อพิจารณารวมกันแล้วจะช่วยให้เราเห็นภาพว่า Global history ก่อกำเนิดมาจากกระแสอะไรบ้าง

คำอธิบายแรกคือการมองว่า Global history เป็นส่วนหนึ่งของจารีตการเขียนประวัติศาสตร์แบบสากลที่มีมาตั้งแต่โบราณ ในที่นี้หมายถึงงานเขียนที่พยายามให้ภาพกว้างที่สุดตามแต่บริบทของผู้เขียนจะเอื้ออำนวย ผู้เขียนเหล่านี้ในยุคโบราณก็อย่างเช่น Herodotus ในตะวันตก, Sima Qian ในจีน, Ibn Khaldun ในโลกมุสลิม ในกรณีของ Herodotus เราคงจะคาดหวังให้เขาเขียน Global history โดยรวมเรื่องออสเตรเลียเข้าไปด้วยก็คงไม่ได้ การที่เขาเขียนเรื่องอียิปต์ก็นับว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลจากตัวเองแล้วเมื่อพิจารณาว่า “โลก” ในบริบทของเขานั้นไม่ได้กว้างขวางนัก จารีตลักษณะนี้สืบทอดมาภายหลัง อย่างกรณี Voltaire ในศตวรรษที่ 18, Max Weber ในศตวรรษที่ 20, รวมถึงทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่ใช้อธิบายเรื่องจักรวรรดินิยม

จารีตแบบสากล (universalist tradition) นี้ พัฒนาควบคู่ไปกับกระแสการศึกษาประเด็นที่แคบลงมา ยกตัวอย่างเช่น Herodotus ให้ภาพประวัติศาสตร์แบบกว้าง ในขณะที่ Thucidydes สนใจศึกษาเรื่องที่แคบลงมาอย่าง Peloponnesian เป็นต้น ดังนั้น เราสามารถมองได้ว่าจารีตแบบสากลพัฒนามาพร้อมคู่ตรงข้าม ในลักษณะเช่น สากล/ท้องถิ่น, ข้ามชาติ/ชาติ, มหภาค/จุลภาค เป็นต้น โดยท้ายที่สุดแล้ว กระแส Global history คือการสืบเนื่องของจารีตการเขียนประวัติศาสตร์ในแบบแรกนั่นเอง

คำอธิบายแบบที่สอง คือการมองพัฒนาการของ Global history ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ระยะสั้น กล่าวคือ มองว่าเป็นพัฒนาการขั้นล่าสุดของประวัติศาสตร์นิพนธ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีขั้นแรกคือประวัติศาสตร์สังคม (ทศวรรษ 1960-70) ขั้นที่สองคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (ทศวรรษ 1980) และขั้นที่สามก็คือ Global history (ทศวรรษ 1990) นั่นเอง ถึงกระนั้น ก็ไม่ควรมองว่า Global history เป็น “ขั้นกว่า” ของประวัติศาสตร์แนวอื่น เพราะการมองแบบนี้มักจะมองข้ามความสำคัญของงานรุ่นก่อน ๆ ที่ส่งอิทธิพลอย่างสำคัญต่อ Global history ยกตัวอย่างเช่น งานประเภท Cambridge Histories ในทศวรรษ 1960 ที่ช่วยทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ของอาณาบริเวณต่าง ๆ ของโลกมากขึ้นจากเดิมที่งานประวัติศาสตร์มักจะเน้นยุโรปเป็นศูนย์กลาง งานอาณาบริเวณศึกษาเหล่านี้ซึ่งมองผิวเผินแล้วอาจดูขัดแย้งกับ Global history ในความเป็นจริงแล้วช่วยส่งเสริมและเป็นฐานสำคัญให้กับ Global history ต่างหาก

คำอธิบายแบบที่สาม คือ Global history ในฐานะส่วนหนึ่งของกระแสการศึกษาโลกาภิวัตน์ซึ่งบุกเบิกโดยนักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักทฤษฎีวัฒนธรรมในทศวรรษ 1990 บริบทของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การผงาดขึ้นมาของเอเชียโดยเฉพาะจีน และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกเชื่อมต่อกันรวดเร็วนั้นมาพร้อมกับการมองโลกในแง่ดี ทฤษฎีโลกาภิวัตน์จึงมักกล่าวถึงการเคลื่อนที่ ไหลเวียน ผสมผสานของผู้คน อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ที่เขียน Global history หยิบยืมทฤษฎีร่วมสมัยจากศาสตร์อื่น ๆ เหล่านี้มาใช้ในการเขียนเรื่องราวในอดีต ในแง่นี้ เราจึงเห็นการอ้างชื่อนักคิดที่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เช่น Giddens, Appadurai, Castells อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการแตกหักกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ในยุคก่อน ๆ อย่างสำคัญ

 

Global history กับประวัติศาสตร์มหภาคแบบอื่น ๆ

 

การที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการระบุว่าอะไรคือ Global history และอะไรคือการเขียน Global history ที่ “ดี” เมื่อดูผิวเผินแล้วอาจจะไม่เป็นปัญหา ต่างคนก็ต่างเขียนกันไปในแนวทางของตนเอง แต่ความเป็นจริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้สร้างปัญหาอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น สำหรับผู้สอน เราจะประเมินงานของนักศึกษาอย่างไร? เวลาเราเขียนบทปริทัศน์หนังสือเกี่ยวกับ Global history เรามีเกณฑ์ในการเลือกและมีเกณฑ์ใดในการวิจารณ์? สำหรับบรรณาธิการ เราจะประเมินต้นฉบับเกี่ยวกับ Global history อย่างไร? สำหรับภาควิชาประวัติศาสตร์ เราจะรับอาจารย์ใหม่ที่เป็น Global historian ด้วยเกณฑ์อะไร? เป็นต้น เหตุผลอีกประการที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ การมีนิยามและเกณฑ์มาตรฐานที่ชัด จะช่วยเป็นแนวทางในการตอบโต้ประวัติศาสตร์โลกแบบสาธารณะ (popular world history) ซึ่งโดยมากแล้วนำเสนอโดยนักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น มีเนื้อหาที่มาจากการคาดเดาและจินตนาการ ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้กลับได้รับความนิยมจากสาธารณชนอย่างมากและที่ผ่านมานักประวัติศาสตร์อาชีพก็ไม่ได้เข้าไปถกเถียงมากนัก

ก่อนจะนิยาม Global history ด้วยความคลุมเครือทำให้ประวัติศาสตร์แบบมหภาคแทบทั้งหมดถูกนับรวมว่าเป็น Global history ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะต้องจำแนกประวัติศาสตร์แบบมหภาคออกเป็นแบบต่าง ๆ ทำการนิยามประวัติศาสตร์แบบมหภาคเหล่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า Global history ในฐานะประวัติศาสตร์แบบมหภาครูปแบบหนึ่ง แตกต่างจากประวัติศาสตร์แบบมหภาคอื่น ๆ อย่างไร และท้ายที่สุดแล้ว Global history คืออะไรกันแน่ ในที่นี้ จะแบ่งประวัติศาสตร์มหภาคเป็นข้อ ๆ และทำการนิยาม ดังนี้

1. ประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ (Big History) ประวัติศาสตร์แนวนี้ในบางครั้งก็ถูกนับว่าอยู่ในขอบข่ายของ World history หรือ Global history ประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่สนใจกำเนิดจักรวาล (Big Bang)  และตำแหน่งแห่งที่ของ “ชีวิต” ในวิวัฒนาการอันยาวนานของจักรวาล ความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่เป็นแขนงของการศึกษาที่มีลักษณะข้ามศาสตร์ในตัวมันเอง นักประวัติศาสตร์แนว Global history ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์และไม่ไว้ใจการอธิบายที่ไม่ได้อิงกับหลักฐานแต่สาธารณชนก็มักจะคาดหวังให้พวกเขาไปตอบคำถามเรื่อง Big Bang ถึงที่สุดแล้วเราจะสามารถเรียนรู้อะไรจากการพิจารณากรอบเวลาหลายพันล้านปีได้จริงหรือ? การมองที่ไกลเกินไปเช่นนี้จะช่วยตอบโจทย์ทางการเมืองในปัจจุบันได้หรือ? สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่อาจจะทำให้ประวัติศาสตร์ปลอดจากการเมือง ไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับสังคมร่วมสมัยด้วยซ้ำไป

2. ประวัติศาสตร์สากล (Universal history) ประวัติศาสตร์แนวนี้สนใจแบบแผนพัฒนาการของมนุษยชาติในระยะยาว โดยมักอิงอยู่กับความเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว มีกำเนิดและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ประวัติศาสตร์สากลมักจะเชื่อมโยงกับทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมในระยะยาว โดยทั่วไปแล้วเป็นประเด็นที่นักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์สนใจในขณะที่นักประวัติศาสตร์อาชีพมักจะหลีกเลี่ยง

3. World history คือการศึกษาชุมชนมนุษย์ โดยมักจะศึกษา “อารยธรรม” ต่าง ๆ ซึ่งผูกโยงกันด้วยความเชื่อทางศาสนา ปฏิบัติการณ์ทางสังคม การสรรค์สร้างทางสังคมและวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน World history สนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเหล่านั้น วิธีวิทยาที่ World history นิยมใช้คือการเปรียบเทียบ โดยให้ความสำคัญกับความแตกต่าง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับพลวัตรภายในของสังคมและชุมชนมากกว่าพลวัตรภายนอก ก่อนทศวรรษ 1930 World history มักจะอยู่ภายใต้ “โครงเรื่อง” ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมตะวันตก แม้กระทั่งในปัจจุบัน ลักษณะดังกล่าวก็ยังมีอยู่บ้างแต่นักประวัติศาสตร์มักเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา

4. ประวัติศาสตร์ข้ามชาติ (Transnational history) ไม่ได้มาจากจารีตการเขียนประวัติศาสตร์แบบ World history แต่มาจากการขยายตัวของการเขียนประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติ ประวัติศาสตร์ข้ามชาติสนใจความสัมพันธ์ทางสังคม โดยมากจะศึกษารัฐที่มีพรมแดนติดกันหรือประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศใต้อาณานิคม ประวัติศาสตร์แนวนี้ช่วยทำลายมายาคติเรื่องความบริสุทธิ์ผุดผ่องและความเป็นเอกเทศของรัฐชาติแต่ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าชายแดนและพรมแดนยังมีความสำคัญ


 

 

งานชิ้นสำคัญในวงการประวัติศาสตร์โลกชิ้นหนึ่งคือ The Great Divergence ของ Kenneth Pomeranz งานชิ้นนี้พยายามอธิบายการขึ้นมาของยุโรปในฐานะมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งยุโรปทำสำเร็จก่อนที่อื่น ในทรรศนะของ Jürgen Osterhammel งานชิ้นนี้เป็น World history แบบเปรียบเทียบ (Comparative World history) ไม่ใช่ Global history เพราะไม่ได้สนใจการเชื่อมต่อหรือการไหลเวียน แต่สนใจนำปัจจัยภายในของยุโรปและจีนมาเปรียบเทียบกัน

 


 

Global history คืออะไร?

 

Global history เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์แบบมหภาค โดยเป็นมุมมองที่สนใจพิจารณาการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนและผลกระทบของการเคลื่อนย้ายดังกล่าวโดยเฉพาะภายในอาณาบริเวณที่กว้างขวางและประกอบด้วยหลากหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังสนใจการเชื่อมต่อ (connections) ที่มีลักษณะไม่สม่ำเสมอและมีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน่วยทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกเชื่อมด้วย โดยที่ Global history จะสนใจพลังจากภายนอก มากกว่าพลวัตรภายในแบบ World history

ในเชิงประเด็นศึกษา Global history ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่อาจจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของปัจเจก ชาติ หรืออารยธรรม (ต่างจากประวัติศาสตร์ข้ามชาติ) แต่มักแสวงหากระบวนการทางประวัติศาสตร์บางประการในระยะยาวที่ทำให้โลกเชื่อมโยงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น (คล้ายกับประวัติศาสตร์สากลที่มีลักษณะ “เทววิทยา”)

ในทัศนะของ Jürgen Osterhammel เขาเห็นว่าควรจะนิยาม Global history อย่างกว้าง ๆ ว่าคือประวัติศาสตร์ของการเชื่อมต่อที่สร้างความเปลี่ยนแปลง (a history of transformative connections) ส่วนในเรื่องโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นนั้นควรจัดอยู่ในขอบข่ายของประวัติศาสตร์โลกาภิวัตน์ (history of globalization) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ Global history มากกว่า

ด้วยความที่ Global history สนใจประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อ (connections) หลอมรวม (integration) การบรรจบกัน (convergence) การทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน (homogenization) เนื้อหาของ Global history จึงมีลักษณะเป็นวิภาษวิธี (dialectic) มากกว่าจะต่อเนื่องและคงที่ มีลักษณะเชิงวิเคราะห์ (analytical) ไม่ใช่ลักษณะแบบสารานุกรม (encyclopaedic) การเขียนประวัติศาสตร์แบบ Global history จึงไม่ใช่การเอาข้อมูลมหาศาลที่กระจัดกระจายมาจัดวางเรียงกันแบบกระเบื้องโมเสก แต่พยายามแสวงหาการเชื่อมต่อที่ซ่อนอยู่หรือคาดไม่ถึงที่จะช่วยให้เราเข้าใจปรากฎการณ์เดิม ๆ ได้แบบใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์รัฐชาติมักเน้นเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของตนแต่ Global history สามารถชี้ให้เห็นว่าเอกลักษณ์ดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากภายนอกและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ด้วยเหตุนี้  Global history จึงไม่ได้ทำให้เรามองประวัติศาสตร์ “กว้าง” ขึ้นอย่างที่ผู้คนมักจะคิด แต่ทำให้มอง “ลึก” ขึ้น เพราะชี้ให้เห็นปัจจัยอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ต่างหาก

ในแง่ช่วงระยะเวลาที่ศึกษา มักจะไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานนักเพราะการศึกษาการเชื่อมต่อกันที่ซับซ้อน อย่างเรื่องการอพยพย้ายถิ่น ห่วงโซ่สินค้า หรือการถ่ายโอนความคิดระหว่างอารยธรรมที่ต่างกัน หากศึกษาในกรอบเวลาสั้น ๆ มักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ Global history จะพบงานน้อยชิ้นที่ย้อนไปก่อนปี ค.ศ. 1500 และน้อยชิ้นที่จะศึกษาครอบคลุมหลายศตวรรษ

ในเชิงวิธีวิทยา Global history ไม่ได้ถูกนิยามจากวัตถุในการศึกษาแบบที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจศึกษาเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์กฎหมายศึกษากฎหมาย เพราะ Global history ไม่ได้ศึกษา “โลก” ความจริงแล้ว Global history เป็นวิธีการศึกษา มุมมองหรือเป็นแนวพินิจแบบหนึ่งต่างหาก ดังนั้นแล้ว แทบทุกวงวิชาการจึงสามารถใช้คำว่า Global ได้ หากเพิ่มมุมมองเกี่ยวกับการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนระยะไกล เช่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic history) สามารถกลายเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก (Global economic history) ได้ หากสนใจประเด็นการไหลเวียนของสินค้าและเงินตรา หรือถกเถียงเรื่องการกระจายของรายได้ ความร่ำรวย และการผลิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นต้น

 


 

แม้ Global history จะค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ แต่ก็มีตัวอย่างของการถูกโจมตีและเกิดเป็นข้อถกเถียงในระดับสังคม ตัวอย่างเช่น หนังสือ Histoire mondiale de la France (ประวัติศาสตร์โลกของฝรั่งเศส) ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุดมการณ์ฝ่ายขวาและชาตินิยมกำลังมาแรงในระดับโลก หนังสือเล่มนี้นำเอาประวัติศาสตร์ทางการของฝรั่งเศสมา "ชำแหละ" ดูว่าแต่ละเหตุการณ์สำคัญของชาตินั้นมีองค์ประกอบของ "โลก" ในนั้นอย่างไรบ้าง งานเขียนยักษ์ใหญ่เล่มนี้เขียนโดยนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของฝรั่งเศสถึง 122 คน ปรากฎว่าเมื่อตีพิมพ์ออกมากลับถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนักว่าเป็นความพยายาม "สลาย" ชาติ แม้กระทั่งในวงการวิชาการก็มีนักประวัติศาสตร์คนสำคัญอย่าง Pierre Nora ที่ออกมาโจมตีว่าหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเพียง "แถลงการณ์" ทางการเมืองเท่านั้นเอง

 


 

* สาเหตุที่คงคำว่า Global History โดยทับศัพท์ภาษาอังกฤษแทนที่จะแปลว่าประวัติศาสตร์โลก เพราะยังไม่พบคำแปลที่น่าพอใจที่สามารถสื่อให้เห็นความต่างระหว่าง Global History กับ World History