ธนัท ปรียานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Food Culture in Colonial Asia เป็นผลงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์อาหารที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ Cecilia Leong-Salobir ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2011 เพียงหนึ่งปีหลังจากที่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาจาก the University of Western Australia ในงานชิ้นนี้ ผู้เขียนศึกษาการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งครอบคุลมพื้นที่ที่เป็นประเทศอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในปัจจุบัน ผู้เขียนกำหนดจุดเริ่มต้นของการศึกษาไว้ที่ ค.ศ. 1858 อันเป็นปีที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษเข้าปกครองอินเดียแทนบริษัทอินเดียตะวันออกและจบช่วงเวลาการศึกษาที่ ค.ศ. 1963 เมื่อประเทศมาเลเซียได้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของอดีตอาณานิคมอังกฤษคือ มาลายา บอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์
ความน่าสนใจของหนังสือขนาดกะทัดรัดที่ยาวเพียง 138 หน้า (หากนับเฉพาะเนื้อเรื่องไม่รวมเชิงอรรถและบรรณานุกรม) อยู่ที่การผสานกรอบการวิเคราะห์ของหนังสือซึ่งครอบคลุมหลากหลายจารีตของประวัติศาสตร์นิพนธ์ เมื่อเริ่มอ่านเราอาจจัดประเภทให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในกลุ่มงานเขียนแบบ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม หรือ ประวัติศาสตร์อาหาร เนื่องจากผู้เขียนมุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร แต่ด้วยวิธีการศึกษาของผู้เขียนที่เน้นความเชื่อมโยงและการโอนถ่ายโยกย้าย คน สิ่งของ และความคิด ภายใต้โครงข่ายของระบอบอาณานิคมที่ไม่จำกัดเพียงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองแม่-อาณานิคม แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณานิคมต่าง ๆ หลายแห่งของจักรวรรดิอังกฤษ ก็อาจทำให้เราสามารถจัดประเภทงานชิ้นนี้ให้อยู่ในตระกูลของ Global History หรือ Transnational History ได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาบทบาทของตัวแสดงทางประวัติศาสตร์อย่าง คนรับใช้ชาวพื้นเมือง (native servant) ซึ่งผู้เขียนยกให้เป็นพระเอกของเรื่อง ก็อาจทำให้มองเห็นได้ว่า ผู้เขียนเลือกรับเอาบางองค์ประกอบจากงานเขียนแนวหลังอาณานิคมหรือ Subaltern Studies มาผสานไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
เมื่อผนวกกรอบการวิเคราะห์ข้างต้นกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภท ตำราอาหาร คู่มือดูแลบ้าน บันทึกความทรงจำ และบันทึกการเดินทาง ซึ่งมิใช่หลักฐานจากทางการจากระบอบอาณานิคม ก็ทำให้ผู้เขียนได้ข้อเสนอหลักที่ท้าทายความเข้าใจดั้งเดิมเกี่ยวกับวัฒนธรรมการบริโภคของเจ้าอาณานิคม
ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาระบอบอาณานิคมจำนวนมากได้พยายามเสนอว่า เจ้าอาณานิคมมุ่งเน้นการบริโภคอาหารแบบตะวันตกในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความแตกต่างและรักษาสถานภาพของผู้ปกครองให้สูงส่งกว่าผู้ใต้ปกครอง และเมื่อใดก็ตามที่เลือกบริโภคอาหารของชาวพื้นเมืองก็เป็นไปเพื่อแสดงออกถึงภูมิความรู้ในวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองที่พวกเขามี ข้อเสนอหลักของ Food Culture in Colonial Asia กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
ผู้เขียนเสนอว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เจ้าอาณานิคมไม่เพียงบริโภคอาหารแบบตะวันตก แต่ยังบริโภคอาหารซึ่งมีที่มาจากชาวพื้นเมืองด้วย เช่น แกงกะหรี่แบบต่าง ๆ (curry) ซุปถั่วกับไก่ (mulligatawny) และข้าวต้มไก่และมันฝรั่ง (pish-pash) อาหารเหล่านี้ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นคนรับใช้ภายในบ้านและสถานที่อื่น ๆ ของเจ้าอาณานิคม คนรับใช้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้กุมความรู้เกี่ยวกับตลาดสดและวัตถุดิบในพื้นที่ พวกเขาจึงมีบทบาทหลักในครัว และเป็นผู้ให้กำเนิดรายการอาหารแบบ hybrid ที่ไม่เหมือนกับอาหารของชาวพื้นเมืองและชาวตะวันตก ผู้เขียนเรียกรวม ๆ รายการอาหารเหล่านี้ว่า “อาหารของโลกอาณานิคม” (colonial cuisine) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากอาณานิคมบริติชราชก่อนจะแผ่ขยายไปสู่อาณานิคมอื่น ๆ อย่างมาลายาและสิงคโปร์ ผ่านการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน
Food Culture in Colonial Asia เผยให้เห็นถึงความอิหลักอิเหลื่อของระบอบอาณานิคม ในด้านหนึ่ง เจ้าอาณานิคมได้สร้างภาพลักษณ์ทางลบเกี่ยวกับคนรับใช้ ซึ่งมักจะเป็นชาวพื้นเมืองในกรณีของอินเดีย และชาวจีนอพยพในกรณีของมาลายาและสิงคโปร์ ว่าพวกเขาน่ารังเกียจ สกปรก และขี้โกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกเอาเงินจ่ายตลาดที่สูงกว่าความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันคนขาวก็ไม่อาจมีชีวิตในอาณานิคมได้โดยปราศจากคนรับใช้ชาวพื้นเมือง หลักฐานแบบบันทึกส่วนตัวและบันทึกการเดินทางแสดงให้เห็นว่า คนรับใช้ติดตามเจ้าอาณานิคมไปทุกที่ แม้แต่ในเวลาพักร้อนที่ผู้ปกครองต้องการปลีกตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยชาวพื้นเมืองด้วยการเดินทางไปยังที่พักตากอากาศบนภูเขา ผู้ที่คอยดูแลก็ยังคงเป็นคนรับใช้ชาวพื้นเมืองอยู่นั่นเอง
ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่เจ้าอาณานิคมมีต่อคนรับใช้ ตอกย้ำสภาวะไร้อำนาจ (agency) ของเจ้าอาณานิคมที่มีอยู่เหนือวิถีการบริโภคของตน ในแง่นี้ การที่พวกเขาบริโภคอาหารของชาวพื้นเมืองจึงมิใช่การ “เลือก” อวดภูมิความรู้ทางวัฒนธรรม หากแต่เป็นการพึ่งพิงและยอมจำนนต่อการการเตรียมอาหารโดยชาวพื้นเมือง พวกเขามีอำนาจจำกัดในการเลือกว่าจะกินหรือไม่กินอะไร
พร้อม ๆ กันกับการชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบใหม่ในพื้นที่ใต้ปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ผู้เขียนก็ได้ยกความดีความชอบให้กับแรงงานและความคิดสร้างสรรค์ของชาวพื้นเมืองซึ่งโดยปกติแล้วมักไม่ปรากฏตัวหรือมีบทบาทในประวัติศาสตร์อาณานิคมที่ยึดเอาชาวตะวันตกเป็นศูนย์กลาง
Food Culture in Colonial Asia เป็นตัวอย่างของงานเขียนประวัติศาสตร์อาหาร ที่นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายว่า เป็นความพยายามในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารของมนุษย์ โดยหยิบยืมกรอบการวิเคราะห์และวิธีการศึกษาจากงานเขียนประวัติศาสตร์ในแนวอื่น ๆ รวมไปถึงแนวคิดทฤษฎีจากศาสตร์อื่น ๆ มาใช้ดำเนินการวิจัย ในกรณีนี้ ผู้เขียนเฟ้นหาความเชื่อมโยงในโครงข่ายของจักรวรรดิอังกฤษ ที่นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้ในการปรุงอาหาร และมองหาเสียงและบทบาทของผู้อยู่ใต้ปกครองจากเอกสารของผู้ปกครอง