อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊ค Attasit Sittidumrong เข้าถึงได้ ที่นี่
เป็นงานเขียนทางวิชาการที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เพราะแม้เนื้อหาหลักคือการศึกษาการเติบโตของลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (cult of wealth) ในสังคมไทย แต่ผู้เขียนก็มุ่งหวังให้ข้อเสนอดังกล่าวมีนัยยะทางทฤษฎีที่ท้าทายกับฐานความคิดแบบเวเบอร์ที่เชื่อว่าการขยายตัวของสภาวะสมัยใหม่และทุนนิยมจะนำมาสู่การขยายตัวในการใช้เหตุใช้ผลของมนุษย์จนนำไปสู่กระบวนการถอนความศักดิ์สิทธิ์ออกจากโลก (the disenchantment of the world) ซึ่งก็คือการเบียดขับให้พฤติกรรมที่ไร้เหตุผล หลงอยู่กับความเชื่อมงมงายต่างๆหมดที่หมดทางในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โดยผ่านกรณีศึกษาเรื่องการขยายตัวของลัทธิบูชาความมั่งคั่งในประเทศไทย ผู้เขียนได้เปิดให้เห็นถึงมิติใหม่ของความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลจากการขยายตัวของโลกสมัยใหม่ภายใต้กำกับของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ หรือก็คือสภาวะสมัยใหม่ไม่ได้แค่ถอนความศักดิ์สิทธิ์(แบบเดิม)ออกจากโลก แต่ยังสร้างความศักดิ์สิทธิ(ใหม่) ที่ผสานไปด้วยกันได้กับวิถีชีวิตสมัยใหม่แบบทุนนิยมอย่างไร้รอยต่อ
ในระดับของข้อมูลเชิงประจักษ์ หนังสือเล่มนี้คือบทวิเคราะห์การเปลี่ยนผันชีวิตทางศาสนาในสังคมการเมืองไทย โดยผู้เขียนได้เน้นให้เห็นว่า "ชีวิตทางศาสนา" ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการยึดมั่นในคำสอนทางธรรมหากแต่เป็นเรื่องพิธีกรรมในทางปฏิบัติ อย่างการขอพร เคารพบูชารูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาทั้งหลาย (หรือถ้าพูดในภาษาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่เพิ่งเสียชีวิตไปก็คือเป็นเรื่องของ "ไสย" ไม่ใช่เรื่องของคำสอน) ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ทศรววษที่ 2520 เป็นต้นมา ได้เกิดลัทธิพิธีอยา่งใหม่ที่เติบโตได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในชีวิตทางศาสนาที่สำคัญในสังคมไทย (และสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียตะวันออก) นั่นคือลัทธิบูชาความมั่งคั่ง โดยการเติบโตของลัทธิดังกล่าวนี้เริ่มจากการลดบทบาทในการควบคุมพุทธศาสนาของรัฐในช่วงทศววรษที่ 2520 อันเป็นผลจากชัยชนะของทางการในสงครามกลางเมืองกับพคท. ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยุทธวิธีของการรวมศูนย์และผูกขาดความเป็นไทยทางวัฒนธรรมเหมือนในสมัยก่อนหน้า พร้อมๆกับการส่งเสริมวัฒนธรรมชาวบ้านตลอดจนความเชื่อต่างๆในฐานะส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมท้องถิ่น" (ที่อยู่ภายใต้กำกับของวัฒนธรรมไทย) ส่งผลให้ลัทธิพิธีกรรมต่างๆที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งงมงายเริ่มมีที่ทางในการนำเสนอตัวเองมากขึ้น
ทว่า ถ้าการลดบทบาทในการควบคุมศาสนาของรัฐคือจุดเริ่มต้นของลัทธิบูชาความมั่งคั่ง การขยายตัวอยา่งก้าวกระโดดของวิถีชีวิตแบบทุนนิยมตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 ไล่ไปจนตลอดทศวรรษที่ 2530 ก็คือตัวแปรที่กระตุ้นให้ลัทธิบูชาความมั่งคั่งสามารถลงหลักปักฐานในกระแสวัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ของไทยอยา่งมั่นคง ทั้งนี้ เพราะแม้การขยายตัวของทุนนิยมอาจเปรียบได้กับการขยายตัวของโลกทัศน์แบบเหตุผลตามที่แม็ก เวเบอร์ได้เคยอธิบายไว้ แต่ความก้าวหน้าของทุนนิยมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (หรือที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็นทุนนิยมตอนปลาย/ทุนนิยมหลังสมัยใหม่/เสรีนิยมใหม่) ก็ได้ทำให้ทุนนิยมกลายเป็นระบบที่ตั้งอยู่บนเหตุผลอันซับซ้อนเกินไปกว่าที่มนุษย์ทั่วไปจะเข้าใจและคาดเดาผลลัพธ์ได้ ผลก็คือพร้อมๆไปกับการเติบโตของวิถีชีวิตแบบทุนนิยมที่ถูกกำหนดภายใต้กลไกตลาด ผู้คนในสังคมไทยก็ประสบกับภาวะไม่แน่ไม่นอนของชีวิตอันเนื่องมาจากการขาดความสามารถในการดาดเดาผลลัพท์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตน จนนำไปสู่อุปสงค์ที่ต้องการความสบายใจซึ่งส่งผลต่อมาสู่การเติบโตของ "ตลาดความเชื่อ" ที่ลัทธิพิธีต่างๆจะมุ่งนำเสนอเนื้อหาภายใต้การขายความศักดิ์สิทธิ์ที่มุ่งให้ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจและหลุดพ้นว่าตนจะได้รับความมั่งคั่งในอนาคต
นอกจากการขยายตัวของชีวิตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของลัทธิบูชาความมั่งคั่งในสังคมไทยก็คือบทบาทของสื่อมวลชนและการพิมพ์ที่ช่วยผลิตและขยายความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลและผู้วิเศษให้แพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับกันในสังคม ทั้งนี้โดยกลับด้านแนวคิดของวอลเตอร์ เบนยามินนักทฤษฎีวัฒนธรรมคนสำคัญซึ่งเคยเสนอว่าการผลิตซ้ำภาพถ่ายในสื่อสิ่งพิมพ์จะส่งผลทำลายรัศมี (aura) ของตัวแบบตั้งต้น ผู้เขียนได้อาศัยข้อวิเคราะห์ของฌอง โบดริยาร์ด นักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสเรื่องความจริงจำลอง (simulation) มาใช้ทำการวิเคราะห์ว่าภายใต้สื่อมวลชนที่โหมกระหน่ำเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคล/ผู้วิเศษดังกล่าว ก็ได้สลายช่องว่างระหว่างต้นแบบกับรูปจำลอง และทำให้รูปจำลองกลายเป็นที่สถิตย์ของความศักดิ์สิทธิ์โดยมิได้มีความแตกต่างไปจากต้นแบบแต่ประการใด ดังนั้น ความแพร่หลายของสิ่งพิมพ์และสื่อมวลชนที่จำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจึงยิ่งเป็นการเพิ่มและขยายความศักดิ์สิทธิ์จนนำไปสู่ความนิยมของลัทธิบูชาความมั่งคั่งในท้ายที่สุด
ข้อพิจารณาของผู้เขียนถึงบทบาทของสื่อในการสร้างสัญญะความศักดิ์สิทธิดังที่ได้อธิบายไปนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจกลไกความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสมัยใหม่กับการสร้างความศักดิ์สิทธิ์(ใหม่)ในโลกทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ ยิ่งกว่านั้น ความสำเร็จในการขยายตัวของลัทธิบูชาความมั่งคั่งยังส่งผลเปลี่ยนแปลงแก่นสารของชีวิตทางศาสนาของสังคมไทยอย่างสำคัญ เพราะการขยายตัวของลัทธิบูชาความมั่งคั่งนี้คือการทำจิตวิญญาณให้กลายเป็นสินค้า หรือก็คือการทำความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้กลายเป็นสินค้าในคลาดการค้าความศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนในสังคมทุนนิยมสามารถซื้อหามาได้ แต่พร้อมๆไปกับการทำจิตวิญญาณให้กลายเป็นสินค้า สังคมไทยก็ได้เข้าสู่ภาวะที่ทุนนิยมได้กลายเป็นจิตวิญญาณหรือก็คือภาวะที่จิตวิญญาณความเป็นไทยของสังคมถูกปรับให้เป็นวิธีคิดแบบทุนนิยม จนทำให้เส้นแบ่ง "ความเป็นไทย" แต่เดิมมีความพร่าเลือนตามไปด้วย ผลคือการเปิดกว้างของศาสนพิธีแบบพุทธไทยที่สามารถต้อนรับสัญญะความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งแตกต่างไปจากความเป็นไทย/ความเป็นพุทธแต่เดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของลัทธิเจ้าแม่กวนอิมของชาวจีน การขยายตัวของรูปเคารพ/การเคารพเทพฮินดู (เช่นพระพรหมณ์, พระพิฆเนศ ฯลฯ) หรือ การทรงเจ้า/เข้าผีประจำท้องถิ่นต่างๆ ในแง่นี้ การเติบโตของลัทธิบูชาความมั่งคั่งจึงเป็นการขยายขอบเขตลัทธิพิธีแบบพุทธไทยให้สามารถผนวกความเชื่อในแบบอื่นๆได้โดยไม่ขัดเขิน ทั้งเป็นการเปิดให้เห็นถึงลักษณะแบบพหุนิยมผสมผสานของสังคมไทยในโลกสมัยใหม่แบบทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
เป็นงานเขียนที่บรรจุข้อเสนออันซับซ้อน น่าสนใจสำหรับผู้ที่ศึกษาด้านศาสนากับสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนวนแปลไทยนั้น ผมคิดว่ามีเนื้อหาอีกไม่น้อยที่อ่านแล้วชวนงง (และต้องคิดย้อนกลับไปเป็นภาษาอังกฤษถึงจะเข้าใจ) แต่โดยรวมก็ต้องถือว่างานเขียนเล่มนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของผู้แปลที่น่าชื่นชม และควรสนับสนุน