Skip to main content

ธนกร การิสุข นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: เนื้อหาสรุปและเรียบเรียงจากการบรรยายของธนัท ปรียานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "ครัวไทยสมัยใหม่และวัตถุดิบจากระบบอุตสาหกรรม: การเปลี่ยนแปลงการจัดเตรียมและการบริโภคอาหารในครัวเรือนชาวกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490-2530" เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566

 


 

การเสวนาในครั้งนี้มีผู้นำเสนอคือ ธนัท ปรียานนท์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็นหลักของการเสวนาคือการศึกษาพัฒนาการของสังคมไทยผ่านรูปแบบครัวไทยและบทบาทของผู้หญิงไทยในฐานะแม่บ้าน ธนัทมุ่งวิเคราะห์กลุ่มครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ช่วงระยะทศวรรษ 2490 – 2530 โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มงานที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สงครามเย็นและสตรีศึกษา ทั้งนี้ ธนัทกล่าวว่าข้อมูลสำหรับการเสวนาดังกล่าวยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก เนื่องจากยังอยู่ในระยะแรกเริ่มของการจัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ สิ่งที่เขาจะกล่าวต่อไปจึงมีสถานะเป็น “ข้อสังเกต” เท่านั้น

 

 

การศึกษาของธนัทเกิดขึ้นบนฐานความสนใจส่วนตัวในเรื่องสงครามเย็น อย่างไรก็ดีเขาเห็นว่างานศึกษาในบริบทสงครามเย็นส่วนใหญ่ให้พื้นที่กับการสงครามและบทบาทของผู้ชายในฐานะพลวัตสำคัญของสังคมช่วงดังกล่าว เขาจึงเริ่มตั้งคำถามต่อบทบาทของผู้หญิงในฐานะพลวัตขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น ก่อนจะจบลงที่การมุ่งเน้นไปยังเรื่องการครัวซึ่งเขาเห็นว่าน่าสนใจและท้าทายอย่างมาก เนื่องจากมีงานศึกษาไม่มากนักและส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปยังชนชั้นสูงซึ่งเป็นผู้นิยามความเป็นอาหารไทยผ่านสูตรอาหารชาววังที่ผลิตซ้ำผ่านหนังสืองานศพ นอกจากนี้ งานศึกษาที่ผ่านมายังเน้นเฉพาะรัฐซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับอาหารและรูปแบบการบริโภค ธนัทจึงต้องการให้ความสนใจกับกลุ่มบุคคลใหม่คือชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น

ในขั้นแรก เขาชวนพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงบางประการในครัวไทย ผ่านกรณีศึกษาคือการประกวดการจัดบ้านและบริเวณ ปี 2497 ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และภริยา โดยนำเสนอภาพครัวของข้าราชการไทยที่เป็นภาพแทนบ้านชนชั้นกลาง เขาตั้งข้อสังเกตว่าครัวในยุคทศวรรษ 2490 เริ่มมีพัฒนาการบางอย่างที่ทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเครื่องครัวที่มาจากภาคอุตสาหกรรมอย่างหม้อโลหะและตู้เย็น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหารยังใช้ฟืนหรือถ่านเป็นหลัก เขาชี้ให้เห็นว่ากลิ่นและควันไฟอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บ้านในระยะนี้ต้องแยกที่พักอาศัยและครัวออกจากกัน (ดูภาพประกอบ 1)  ขณะที่ในระยะต่อมาคือ ทศวรรษ 2500 เมื่อเชื้อเพลิงใหม่อย่างแก๊สเข้ามาในประเทศไทยจึงเริ่มเกิดการแบ่งพื้นที่ภายในบ้านที่พักอาศัยให้เป็นครัว

 


 

ภาพประกอบ 1: ภาพห้องครัวในการประกวดการจัดบ้านและบริเวณ พ.ศ. 2497, [สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ, ภาพประกวดการจัดบ้านและบริเวณ (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2497)] 

 


 

งานศึกษานี้อาศัยกรอบแนวความคิด “consumption junction” ที่สัมพันธ์กับการรับเทคโนโลยีของผู้หญิงในยุคสงครามเย็น กล่าวคือ พิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีผ่านสื่อกลางอย่างวารสารและคหกร แรงบันดาลใจในเรื่องนี้มาจากงานเขียนสำคัญชื่อ  Cold War Kitchen ซึ่งกล่าวถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับครัวเรือน และงานเขียนของ Hillary J. Mason เรื่อง Kakeibo Monogatari: women’s consumerism and the postwar Japanese kitchen, 1945 – 1964 ซึ่งสนใจบทบาทแม่บ้านญี่ปุ่นในฐานะผู้บริหารรายได้ครัวเรือน งานทั้งสองชิ้นอาศัยมุมมองของประวัติศาสตร์สตรีซึ่งพิจารณาผู้หญิงในฐานะผู้รับความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเรื่องบ้าน

ส่วนสำคัญของการเสวนาครั้งนี้คือ การกล่าวถึงหลักฐานและข้อสังเกตที่ได้จากการพิจารณาหลักฐานเบื้องต้น การศึกษาของธนัทอาศัยการพิจารณานิตยสารที่มีเนื้อหาสำหรับแม่บ้านหรือผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์ออกจำหน่ายช่วงทศวรรษ 2490 – 2520 ธนัทพิจารณานิตยสารกลุ่มดังกล่าวในฐานะพื้นที่และสื่อสังคมที่ส่งผลต่อบทบาทของผู้หญิง กล่าวคือ เขามองว่านิตยสารเป็นพื้นที่ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้หญิง บทความวิชาการ ข่าว ที่แทรกอยู่ระหว่างบทความเรื่องงานบ้านและอาหารทำให้ผู้หญิงได้รับรู้เรื่องโลกภายนอกพร้อม ๆ กับเรื่องในบ้าน จดหมายจากทางบ้านที่ส่งถึงกองบรรณาธิการเพื่อขอและแบ่งปันความรู้กลายเป็นวงสนทนาหรือสังคมที่เชื่อมโยงผู้อ่าน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) เข้าด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ นอกจากนี้นิตยสารยังเป็น “เพื่อนคู่คิดของแม่บ้าน” ผ่านการแนะนำเรื่องการจัดเตรียมวัตถุดิบ แนะนำเมนูและวิธีการประกอบอาหาร และแนะนำเรื่องการตัดสินใจซื้อสิ่งของ รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่าย

 


 

ภาพประกอบ 2: ภาพซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า กรุงเทพฯ พ.ศ. 2513 จากนิตยสาร LIFE

 


 

ท้ายที่สุด ธนัทตั้งข้อสังเกตต่อนิตยสารในฐานะหลักฐานบันทึกพัฒนาการของสังคมไทยยุคสงครามเย็น เช่น คู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์ ชุมนุมแม่บ้าน เรวดี และคหเศรษฐศาสตร์ โดยวิเคราะห์ว่าจดหมายถึงกองบรรณาธิการที่มีจุดมุ่งหมายสอบถามเรื่องวิธีการใช้และซ่อมแซมของใช้ โฆษณาเตาหุงต้ม และสูตรเมนูอาหารต่างชาติ สื่อให้เห็นถึงบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปในยุคสงครามเย็น คือ 1) จดหมายจากผู้อ่านสื่อให้เห็นถึงความสนใจของแม่บ้านไทยที่มากขึ้นต่อเทคโนโลยีสำหรับครัวเรือนใหม่ ๆ 2) โฆษณาเตาหุงต้มแสดงถึงรูปแบบเชื้อเพลิงในครัวไทยที่เปลี่ยนแปลง และเชื่อมโยงถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงไทยยุคใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นในระยะนี้ด้วย และ 3) สูตรเมนูอาหารต่างชาติที่ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในระยะนี้หากเทียบกับยุคก่อนสงครามเย็น เกิดจากการที่ประเทศไทยซึ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฝ่ายโลกเสรี ทำให้มีองค์กรและบุคลากรต่างชาติเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนมาก การพัฒนาทักษะด้านอาหารต่างชาติเหล่านั้นของแม่บ้านชนชั้นกลาง (ซึ่งมีข้าราชการเป็นภาพแทน) จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับสังคมนอกบ้านที่พฤติกรรมการบริโภคมีความเปลี่ยนแปลงไป