Skip to main content

สิงห์ สุวรรณกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

เมื่อการเสียสละทำให้ “เรา” ขยายขอบเขตออกไปด้วย: ชวนอ่าน Terry Eagleton, 2018, Radical Sacrifice, Yale University Press

 


ในภาษาไทย เราแยกคำว่า “เสียสละ” ออกจากคำว่า “บูชายัญ” และ “บวงสรวง” อย่างชัดเจน คงไม่มีใครพูดว่า “เราจะบูชายัญที่นั่งให้กับคนชรา” “เราจะบวงสรวงโอกาสครั้งนี้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในภายหน้า” หรือ “เราจะเชือดไก่เพื่อเสียสละให้กับเทวดา” แม้เห็นได้ว่าคำเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ แต่ถ้ามีคนพูดอะไรแบบนี้จริงๆ เราก็คงจะเลิกคิ้ว หรือถามเขาซ้ำว่าหมายถึงอะไร หรือไม่ก็เดินหนีดีกว่า


ในภาษาอังกฤษ นัยยะทั้งสองแบบกลับรวมอยู่ในคำว่า sacrifice เพียงคำเดียว ซึ่งทำให้มันมีมิติหลากหลายซ้อนทับอยู่ในความหมาย ในฉากหลังของมโนทัศน์ที่ดูไม่มีอะไรและเรามักทึกทักเอาว่าเข้าใจนัยยะของมันดีอยู่แล้ว


ในหนังสือ Radical Sacrifice อันชวนพิศวงนี้ Terry Eagleton นักทฤษฎีและนักวิจารณ์วรรณกรรมแนวมาร์กซิสต์ชาวอังกฤษ พาเราไปรู้จักลักษณะของ sacrifice ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และแน่นอนในปริมณฑลทางการเมือง เขาสะท้อนการ sacrifice ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคม (ทั้งสองระดับมักเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด) ตัวอย่างที่เขายกขึ้นมาเพื่อการเสียสละ/บูชายัญ มีตั้งแต่โอดิปุส พระเยซู คานธี ไปจนถึงยาจก แพะรับบาป นักโทษในค่ายกักกันของนาซี คนนอกหรือ “โมฆบุคคล” กล่าวคือคนที่ถูกสังคมตีตรากีดกันหยามเหยียดและจะถูกฆ่าโดยใครก็ได้ที่ชาวโรมันเรียกว่า homo sacer


หลักใหญ่ใจความที่ Eagleton ต้องการจะสื่อสารก็คือการเสียสละตนเองในตัวอย่างและบริบทต่างๆ นี้มิได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลสั่นสะเทือนและมีนัยยะของการปฏิวัติสังคมทั้งสังคมทั้งสิ้น มันเป็นมิติที่การเมืองสมัยใหม่มักจะมองข้ามไป แต่จะขาดไปเสียไม่ได้เลยหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงมันอย่างถอนราก ในแง่นี้มาร์กซิสม์แทบจะรับอาญาสิทธิ์มาโดยตรงจากคริสตศาสนาในการสานต่อภารกิจที่จะนำพาผู้ทุกข์ยากไปยังดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า แม้ Eagleton พยายามชี้ว่าในโลกสมัยใหม่ พระผู้ไถ่นั้นก็ไม่ใช่วีรบุรุษสตรีขี่ม้าขาวมาจากไหน แต่เป็น “โมฆบุคคล” คลุกฝุ่นอยู่ท่ามกลางฝูงชน ณ ก้นบึ้งที่สังคมไม่แม้แต่จะชายตาเหลียวมองนั้นเอง


ด้วยภาษา สำนวน วิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานกับอารมณ์ขัน ทำให้หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นความเรียง (essay) มากกว่าหนังสือวิชาการ ซึ่งถ้าจะนอกเรื่องสักหน่อยนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าความเรียงขนาดยาวที่ศึกษาหัวข้อหนึ่งๆ อย่างลึกซึ้งนั้นเป็นรูปแบบที่หล่นหายหรือไม่เป็นที่นิยมในบรรณพิภพไทยมานมนาน มิพักต้องพูดถึงวงวิชาการที่ถูกครอบงำโดยรูปแบบที่กำหนดมาโดยกระทรวง ซึ่งส่งผลให้ “ศิลปะ” ของการเขียนนั้นนับวันจะสาบสูญ เหลือแต่ก็เพียง “บทความวิจัย” อันตายด้าน แห้งแล้ง จืดชืด ดาษดื่น และไร้พลัง


การยินยอมของนักมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ต่อการครอบงำของ format การเขียนแบบวิทย์ๆ (เช่นต้องมีคำถามการวิจัย, วัตถุประสงค์การวิจัย, ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ, ผลการวิจัย ฯลฯ ที่งานสายศิลป์ระดับสากลเขาก็ไม่เขียนกัน) ไปเรื่อยๆ เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการยื่นมีดให้เขาปาดคอสาขาวิชาตัวเอง ยิ่งนานวัน คมยิ่งเฉือนเข้าลึก


ในโลกตะวันตก essay ถือว่ามีคุณค่าไม่น้อยไปกว่ารูปแบบการเขียนประเภทอื่นๆ ใครๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือไม่ก็สามารถเขียนความเรียงได้ สามารถชิงรางวัลพูลิตเซอร์ได้ สามารถเป็นที่ยอมรับของหลากหลายวงการ (รวมวงวิชาการ) ขณะเดียวกันก็สื่อสารกับผู้อ่านโดยทั่วไปได้มากกว่าหนังสือวิชาการเสียอีก (โดยไม่จำเป็นต้องลดความเข้มข้นของประเด็นลงไป) หากมีโอกาสได้อ่านงานหลายชิ้นของ Eagleton ก็จะเห็นว่า กระทั่งในบทความของเขาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ ก็ยังเต็มไปด้วยอรรถรสและอารมณ์ขันในวิธีการนำเสนอและโต้แย้งอันเป็นลายเซ็น ซึ่งก็บอกเราว่านี่เป็นเรื่องปกติสามัญในโลกวิชาการตะวันตก ก็ไม่แน่ใจว่าความกันดารทุกหนแห่งเฉกเช่นทะเลทรายของตัวหนังสือวิชาการไทยเกิดขึ้นได้อย่างไรและผู้กำหนดนโยบายไปลอกเลียนเอาความเหือดแห้งทางจิตวิญญาณมาจากแห่งหนใด ราวกับได้เห็นกงจักรแห่ง mediocrity ก็ทึกทักไปเองว่าเป็นดอกบัวอันประเสริฐ


ในความเรียงเล่มนี้ Eagleton แจกแจงว่า sacrifice มีนัยยะซับซ้อนกว่าที่เรามักเข้าใจกัน โดยเฉพาะหากแยกแยะนัยยะในปัจจุบันออกจากความเข้าใจของคนโบราณ เขาเริ่มด้วยการแย้งความหมายโดยทั่วไปของคำนี้ที่เรามักผูกโยงเข้ากับการสูญเสียตนเองเพื่อคนอื่นหรือสิ่งอื่น ซึ่งในโลกสมัยใหม่มักจะเกี่ยวพันกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานัก เช่น ทหารตายเพื่อรัฐอำนาจนิยมหรือฟาสซิสต์ ภรรยาผู้ทุกข์ทนเสียสละตัวเองเพื่อสามีเห็นแก่ตัว หรือแรงงานที่ต้องเสียสละไม่ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นเพื่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ เป็นต้น


นัยยะแบบลบๆ นี้มักพบได้ในโลกเสรีนิยม (ในทางปรัชญาพบได้ตั้งแต่ Thomas Hobbes จนถึง John Rawls และกระทั่ง Jurgen Habermas) แต่มันไม่ใช่ความหมายทั้งหมดที่มโนทัศน์นี้มี โดยเฉพาะหากเราค้นที่ไปที่มาของมัน พิจารณามันให้พ้นไปจากกับดักของปัจจุบัน กล่าวคือหากเรามองมันอย่างเป็นประวัติศาสตร์ ยกระดับสายตาให้กว้างไกลกว่าเดิม เราก็จะสามารถพบแง่มุมอัน radical หรือก้าวล้ำอย่างลึกซึ้งถอนรากถอนโคนของการเสียสละ/บูชายัญได้

 
ประการแรกสุด Eagleton บอกว่าเราต้องไปให้พ้นจากนัยยะของการเหยียบย่ำและทำลายตัวเองที่แฝงฝังอยู่ในคำคำนี้ เราควรหันไปพิจารณาลักษณะที่มันสามารถเพิ่มพูน ขยับขยาย หลอมรวม มอบพลังอำนาจให้กับผู้ที่เสียสละด้วย Eagleton ยกตัวอย่างของความรัก ที่โครงสร้างภายในของมันล้วนแต่ต้องเกี่ยวพันกับการเสียสละตัวเอง การละทิ้งหรือลืมตัวเองเพื่อคนอื่นในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น กระนั้นก็ดีมันต้องเป็นไปโดยสองฝ่าย (และไม่ใช่ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งจำต้องกดตัวเองลงต่ำเพื่อให้อีกฝ่ายเหยียบย่ำ) Eagleton บอกว่าการ “ลืม” ตัวเองก็อาจจะเป็นคำที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะในความรัก ระหว่างที่เราละทิ้งการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้น ความรักก็พร้อมจะขยายขอบเขตตัวตนของเราออกไปด้วย


ในนัยยะหลังนี้เองที่สามารถพบได้ในพิธีกรรมบูชายัญเช่นกัน กล่าวคือ แม้ว่าจะต้องเสียสละส่วนสำคัญที่สุด เช่นของสัตว์ที่ล่าหามาได้ เพื่อเป็นเทวบูชา แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งสัตว์นั้นไปทั้งตัว การบูชายัญไม่จำเป็นต้องเท่ากับการปฏิเสธตนเองหรือทำให้ตนเองอดอยาก แท้จริงแล้วมันมีนัยยะความหมายอันหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ชุมชน วัฒนธรรม และเกี่ยวพันกับกิจกรรมหลากประเภท เช่น มันอาจจะเป็นทั้งของกำนัล บรรณาการ การสวดภาวนา การต่อรอง การขอบคุณ การสำนึกผิด การยกย่องสรรเสริญ การเยินยอเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง การเยียวยา การติดสินบน การก่อสัมพันธภาพ การใช้หนี้ การทำให้บริสุทธิ์ การขจัดปัดเป่าภัย การหลีกหนีจากความตาย มันอาจจะเป็นบทสนทนากับทวยเทพ หรือการสถาปนาระเบียบของจักรวาลขึ้นใหม่ก็ได้


นักปรัชญาหลายคนมองว่าการ sacrifice เป็นรากฐานสำหรับการก่อกำเนิด ทั้งในระดับตัวตนและสังคม สำหรับ G.W.F. Hegel ทุกตัวตนคือรูปแบบหนึ่งของการ sacrifice ทั้งสิ้น เพราะเราจะเข้าถึงโลกสัญญะความหมาย (สิ่งที่เราเรียกอย่างคุ้นปากว่า “โลกแห่งความเป็นจริง”) ได้นั้นเราต้องละทิ้งการดำรงอยู่อันเต็มเปี่ยมล้นเหลือทางผัสสะ (ที่ในทางจิตวิเคราะห์เรียกว่า jouissance) ไปเสียก่อน สิ่งที่ได้มาแทนก็คือ “ตัวเรา” มันทำให้มี “เรา” แยกออกจากคนอื่นและสิ่งรอบตัว แม้ว่ามันจะเป็นอิสรภาพอันแสนเปราะบาง (fragile autonomy) เนื่องเพราะมันดำรงอยู่ก็เพียงในนามและด้วยการเอ่ยนามเท่านั้นก็ตาม


แต่ Hegel ก็ปฏิเสธที่จะมองว่าการ sacrifice คือการลดทอน แต่มักจะมองมันในฐานะการกระทำด้วยความรักมากกว่า การ sacrifice ไม่ได้หมายถึงจุดจบของผู้ที่เสียสละ แต่มันคือการงอกเงยของตัวตนต่างหาก นักคิดหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีพิธีกรรมบูชายัญใดๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการไถ่ให้บริสุทธิ์ และแทบไม่มีการเสียสละใดๆ ที่ไม่เกี่ยวพันกับ (การได้มาซึ่ง) พลังอำนาจ มันคือการเปลี่ยนผ่าน (แม้แน่นอนว่าอย่างสับสนวุ่นวายและรุนแรง) จากความตายไปสู่ชีวิตใหม่ คือพิธีกรรมที่ปลดปล่อยพลังชีวิต แต่ก็ต้องเน้นย้ำว่าในแง่ที่ก้าวหน้าของคำนี้ สิ่งที่เกิดใหม่นั้นใหม่จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้กลับเข้าไปสู่ระบบระเบียบเก่าๆ [1] แต่คือการแตกหักจากสิ่งเก่าโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าในระดับชีวิตของแต่ละคนหรือระดับสังคม ทั้งนี้เนื่องจากในคำของ Eagleton ไม่มีสิ่งใดจะสามารถก้าวข้ามผ่านจากกาลเวลา (ปกติของมนุษย์) ไปสู่นิรันดร (หรือสัมผัสกับปริมณฑลพ้นมนุษย์) แล้วจะยังคงสภาพเดิมอยู่ได้


สำหรับ Giorgio Agamben มันคือการมอบฐานรากและจุดกำเนิดให้กับสังคมที่มิฉะนั้นก็จะดำรงอยู่อย่างสะเปะสะปะ ล่องลอย ปราศจากจุดยึดเหนี่ยว ในลักษณะเดียวกัน Eagleton บอกว่าชีวิตทางการเมืองที่เราเห็นรอบตัวเรา ไม่มีวันที่จะเสถียรและมีความยุติธรรมขึ้นมาได้โดยไม่เคยผ่านช่วงเวลาอันโกลาหล นักคิดตั้งแต่ Jean-Jacques Rousseau จนถึง Sigmund Freud เสนอว่าเพื่อที่จะให้มีอารยธรรม กฎเกณฑ์ เหตุผลขึ้นมานั้น ทุกสังคมต้องผ่านกระบวนการบูชายัญเพื่อ (นำพลังเหนือมนุษย์มา) ขจัดความป่าเถื่อนออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือในระดับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทุกสังคมล้วนตั้งพื้นฐานอยู่บนการกดทับไม่ให้ความดิบของสภาวะไร้ตัวตนและไร้เหตุผลขึ้นมาเห็นแสงเดือนแสงตะวัน [2] การจะมีตัวมีตนขึ้นมาได้ก็ต้องเหยียบอยู่บนหัวของการไม่มีตัวตน กฎและระเบียบดำรงอยู่ได้ก็บนรากเหง้าของความเจ็บปวดและความน่าสะพรึงกลัว กฎหมายในทรรศนะของ Slavoj Žižek จะธำรงความเป็นกฎหมายอยู่ได้ กล่าวคือจะมีคนทำตามมันนั้น ก็ล้วนแต่อาศัยความรุนแรงเพื่อสถาปนาและรักษามันไว้ทั้งสิ้น ความไร้เหตุผลไม่เคยไปอยู่ไหนไกล แต่ไหลวนว่ายเวียนอยู่รอบหรือบางครั้งก็ท่วมทับเหตุผล ซึ่งเท่ากับว่าระบบระเบียบใดๆ ของอารยธรรมมนุษย์ล้วนแต่แอบทำสัญญาลับๆ กับความวุ่นวายโกลาหลและความรุนแรงเสมอ และ “สัญญา” ที่จะคอยกดเก็บไม่ให้ความดิบเถื่อนออกมาเพ่นพ่านไปทั่วนั้นก็คือการ sacrifice เราล้วนต้องยอมสละอะไรออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งวัฒนธรรมร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มต้น


พูดอีกอย่างก็คือ ในนัยยะที่ลึกซึ้งขึ้นไปนั้น sacrifice คือการ “ลบเพื่อสร้าง” คือยาถอนพิษเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด แต่ตัวมันเองก็คือพิษชนิดหนึ่ง (pharmakos) มันคือการแตกหักอย่างรุนแรงเพื่อก่อเกิดชีวิตใหม่ มันคือความพ่ายแพ้ ยกธงขาว การยอมจำนนเสียสละ เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และไพศาลกว่า (a victorious defeat) มันอยู่ก้ำกึ่งระหว่างความรุนแรงกับระบบระเบียบ ระหว่างมรณกรรมกับชีวกรรม ระหว่างการติดลบกับการเพิ่มขยายออกไปอย่างเต็มเปี่ยมทวีคูณยิ่งกว่าเดิม


สถานะอันกำกวมของมันปรากฏในตัวบุคคลที่พบได้ในตำนาน เรื่องเล่าขาน และประวัติศาสตร์ เราคงจะยกได้เพียงบางตัวอย่างเท่านั้นในที่นี้ แน่นอนว่า Eagleton คิดออกจากพื้นเพและความเชี่ยวชาญของเขา นั่นคือประวัติศาสตร์และวรรณกรรมยุโรปเป็นหลัก ทำให้ตัวอย่างที่เขาใช้บ่อยนั้นมาจากกรีก-โรมันโบราณ ศาสนายูดายและคริสต์ จนถึงสังคมยุโรปสมัยใหม่ ในบทสุดท้ายที่ชื่อ “ราชากับยาจก” นั้น Eagleton เสนอว่าบทบาทหน้าที่ของ “แพะรับบาป” ในสังคมโบราณ คือการทำให้ชุมชนนั้นๆ บริสุทธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง การขับไล่ “แพะ” ออกจากเมืองให้ไปอยู่ในทะเลทรายนั้นมิใช่การขจัด “ของเสีย” ออกจากเมือง แต่คือการบีบให้ชุมชนชาวเมืองนั้นเผชิญหน้ากับบาปและอาชญากรรมของตนเอง และชุบชีวิตของตนเองขึ้นมาใหม่ มิใช่ในลักษณะที่ดำเนินมาแต่เดิม แต่เป็นสังคมที่ถูกสั่นคลอนไปจนถึงใจกลางและก่อร่างสร้างระบบระเบียบขึ้นมาใหม่จากศูนย์ บุคคลที่เป็น “แพะ” มีความกำกวมในตัวเอง เพราะยิ่งถูกรังเกียจหมิ่นหยามเท่าไร แพะก็ยิ่งเป็นเครื่องแสดงความเสียสละอย่างปราศจากอัตตาตัวตนมากขึ้นเท่านั้น “แพะ” ทั้งผิดบาปและบริสุทธิ์ในเวลาเดียวกัน ทั้งศักดิ์สิทธิ์และถูกสาปแช่ง ทั้งเป็นพิษและเป็นยารักษาไปพร้อมกัน “แพะ” ชำระล้างบาปให้ผู้อื่นด้วยการถูกทำให้แปดเปื้อนสกปรก ทั้งเหม็นสาบน่าขยะแขยงและสะอาดผุดผ่อง สิ่งมีชีวิตอันย้อนแย้งเช่นนี้เราอาจจะเข้าใจได้ยากหรือไม่ได้เลย แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนักหากเรามองด้วยสายตาอันจำกัด ในหลายกรณีเช่นพระเยซูเป็นต้น “แพะ” คล้ายคลึงกับที่ Arthur Schopenhauer เรียกว่า “บุคคลที่ไม่แยกแยะตนเองออกจากผู้อื่นและรับเอาความทุกข์ทุนทรมานของชีวิตผู้อื่นมาเป็นของตน รับเอาความเจ็บปวดของโลกมาแบกไว้เสียเอง” คือ “ผู้อ่อนโยนอย่างหาที่สุดมิได้ และผู้ที่ทุกข์ทนอย่างไม่รู้จบสิ้น” (ในคำของ T. S. Eliot)


“แพะ” คือคนนอกสังคม อย่างศิลปินหรืออาชญากร เพราะยากจนเกินไปที่จะได้ประโยชน์อะไรจากสังคม แต่ในความเป็นอิสระจากสังคมนี้เองที่ทำให้เขามีความชอบธรรมในการตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคม (ที่ตัดสินเขา) ที่สุด กลุ่มคนที่ไม่ถูกนับให้อยู่ในสังคมคือตัวแทนสะท้อน “ภาพทั้งหมด” ของสังคมอย่างไม่บิดเบี้ยว และเมื่อ “แพะ” ไม่มีอะไรเลยในตัวเอง เป็นเพียงแค่เศษเนื้อ เพียงเศษเสี้ยวของความเป็นมนุษย์ที่สามารถถูกโยนทิ้งเมื่อไรก็ได้ เขาจึงสามารถเป็น “อะไรก็ได้” การที่เขาไม่มีลักษณะอะไรของตนเองเลย เขาจึงสามารถดึงความเป็น “สากล” มาอยู่ในตัวได้มากที่สุด การไม่เป็นอะไรเลยคือไม่เป็นอะไร “บางอย่าง” แม้แต่อย่างเดียว และดังนั้นเขาจึงสามารถเป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ความย้อนแย้งเช่นนี้ Žižek เปรียบเทียบไว้กับภาวะแห่งความรักว่า “ในความรัก ฉันคือความว่างเปล่า... แต่ก็คือความว่างเปล่าที่ตระหนักถึงความเป็นศูนย์ของตนเอง และกลับเติมเต็มเปี่ยมล้นขึ้นก็เพราะการตระหนักถึงความพร่องของตนนั้นเอง”

 
ในยุคสมัยใหม่ เราพบลักษณะของ “แพะรับบาป” นี้ได้ในผู้ยากไร้ที่กำลัง sacrifice ตัวเองให้สังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นก็คือกลุ่มคนที่มาร์กซ์มองว่าเป็นตัวตนแห่งการปฏิวัติ (revolutionary subject) ทั้งนี้เนื่องจากเลือดเนื้อชีวิตของทั้ง “แพะรับบาป” และ “ผู้ยากไร้” นั้นคือประจักษ์พยานที่ดีที่สุดต่อด้านมืดของสังคม คือจุดที่การขูดรีดที่สังคมทุนนิยมพยายามซุกซ่อนเอาไว้นั้นปรากฏตัวออกมาอย่างเด่นชัดรุนแรงที่สุด และในความเป็นคนนอกโดยสิ้นเชิงของคนกลุ่มนี้เท่านั้น กลุ่มที่ความขัดแย้งไม่ลงรอยพื้นฐานของสังคมจารึกอยู่บนเนื้อตัวร่างกายของเขาอย่างโจ่งแจ้งมากกว่าใครๆ นั้นเอง ทำให้เขาเป็นกลุ่มที่มีความชอบธรรมที่สุด โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ในการสั่นคลอนสังคมเข้าไปถึงใจกลาง เปลี่ยนแปลงมันทั้งองคาพยพ และยังให้เกิดสังคมใหม่อันอุดมและยุติธรรม


ประเด็นของ Eagleton ยังสลับซับซ้อนกว่านี้อีกมากและยังมีอีกหลายแง่มุมให้พิจารณาในหนังสืออ่านสนุกเล่มนี้ หากจะต้องวิจารณ์ ข้อหลักก็คงเป็นการยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง การคิดออกจากกรีกโรมันและศาสนาคริสต์เป็นหลัก โลกอาณานิคมมิได้ sacrifice ตัวเองให้ยุโรปร่ำรวยจนกระทั่งปัจจุบันหรอกหรือ? นี่เป็นคำถามที่เขาแทบไม่ได้แตะเลยในหนังสือ แต่ Eagleton ก็ไม่ผิดแปลกจากนักคิดฝ่ายซ้ายอีกหลายคนในกระแสหลังฆราวาส (post-secular) ที่พยายามยกให้มาร์กซิสม์เป็นทายาทสืบทอดอุดมคติของคริสตศาสนา ในข้อนี้ก็ชวนให้เราคิดต่อว่า เราจะสามารถเชื่อมโยงศาสนา (โดยเฉพาะศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจากคริสต์) เข้ากับการต่อสู้ทางการเมืองได้อย่างไรโดยไม่ลดให้มันเหลือเพียงการนำรูปแบบของลัทธิพิธีมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเราจะดึงเอาเมล็ดพันธุ์แห่งศักยภาพของการปฏิวัติถอนรากถอนโคนอันเป็นเนื้อในของศาสนาและจิตวิญญาณ ไม่ว่าของศาสนาใด แยกออกจากกระพี้แห่งแบบแผนตายด้านที่มักถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและทุนได้อย่างไร หนังสือ Radical Sacrifice เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าเราทำเช่นนั้นได้และควรทำอย่างยิ่ง

 


 

[1] Eagleton ยอมรับว่าการเสียสละ/บูชายัญก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยมได้เช่นกัน แต่มันก็ซ่อนเอาไว้ด้วยศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนที่เราสามารถดึงออกมาได้
 

[2] และดังนั้นทุกๆ วัฒนธรรมจึงมีลักษณะของความเป็นโรคประสาท (neurotic) ที่ต้องกดทับอะไรบางอย่างไว้ไม่มากก็น้อย พึงสังเกตว่าจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะแบบ Jacques Lacan นั้นปฏิเสธที่จะมอง “โรค” เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่มักจะตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมทั้งองคาพยพมากกว่า