Skip to main content

ชื่อบทความ: ยุคทองของลำไยในประวัติศาสตร์ผลไม้ส่งออกของไทยตั้งแต่พ.ศ.2530 ถึง 2550

ผู้เขียน: มานิตา ปุกแก้ว

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับลำไยในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลำไยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับลำไย การเพาะปลูกลำไยในไทย การพัฒนาพันธุ์ลำไย การตลาดและการค้าลำไยทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมและการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำไยจากภาครัฐในช่วงปีพ.ศ.2530-2550 โดยแบ่งช่วงระยะเวลาการศึกษาเป็นสองระยะ ระยะแรกคือพ.ศ.2530-2539 ถือเป็นช่วงปีที่ลำไยได้เป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญ อันเห็นได้จากปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยที่เพิ่มขึ้นทุกปี และยังได้รับความสนใจจากเกษตรกรและภาครัฐ ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต และการวิจัยเกี่ยวกับลำไยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะนำมาพัฒนาลำไย ส่วนระยะที่สองคือพ.ศ.2540-2550 ถือเป็นช่วงเข้าสู่ “ยุคทอง” ของลำไยเพราะนอกจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นช่วงที่ภาครัฐได้ส่งเสริมการแปรรูปลำไย ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขายที่หลากหลาย นอกจากนี้ ภาครัฐยังสนับสนุนการวิจัยการเกษตรด้านการพัฒนาไม้ผลเพื่อการส่งออกของไทยมากขึ้น ผ่านกรมวิชาเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสนับสนุนเช่นนี้ส่งผลให้งานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับผลไม้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และ “ลำไย” คือหนึ่งในผลไม้นั้น อีกทั้งแผนงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเองก็มีส่วนต่อการพัฒนาศักยภาพภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรและผู้ประกอบการลำไยยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการค้าขายและด้านคุณภาพผลผลิต

คำสำคัญ: ลำไย, ไม้ผลเศรษฐกิจ, ประวัติศาสตร์ลำไย, ประวัติศาสตร์ผลไม้ส่งออก

วิธีอ้างอิง: มานิตา ปุกแก้ว. "ยุคทองของลำไยในประวัติศาสตร์ผลไม้ส่งออกของไทยตั้งแต่พ.ศ.2530 ถึง 2550." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 1, ฉ.1 (มกราคม-มิถุนายน 2566): 54-90.

เผยแพร่ออนไลน์: 1 กันยายน 2566

 

Attachment Size
03_longan_0.pdf (359.16 KB) 359.16 KB