Skip to main content

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

กลิ่นอดีตกับจมูกของนักประวัติศาสตร์

 

ศุน :    อยู่ดีๆ ใช้ให้ตามหากลิ่น ใครจะไปหาพบ (นอนเหยียดลงกับพื้น)
นาค :    ทำไมจมูกแกไม่มีหรือ? (นั่งบนตอไม้)
ศุน :    ก็มีน่ะสิ! แต่เกิดมายังไม่เคยรับใช้เช่นนี้เลย

-มัทนะพาธา, หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ (2466)

ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง มัทนะพาธา, หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ (2466) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นางฟ้าชื่อมัทนาปฏิเสธรักเทวดาองค์หนึ่ง จึงถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นดอกกุหลาบบนโลกมนุษย์ และจะกลายเป็นมนุษย์ได้แต่เฉพาะวันเพ็ญเท่านั้น พระฤๅษีชื่อกาละทรรศินทราบเหตุการณ์ได้ด้วยญาณหยั่งรู้ จึงใช้ให้ศิษย์สองคนคือศุนกับนาคตามหาดอกไม้ดอกนั้นซึ่งส่งกลิ่นหอมอยู่กลางป่า ระหว่างทั้งสองออกดั้นด้นตามกลิ่น ศุนก็โอดครวญแก่นาคดังบทสนทนาข้างต้น

นักประวัติศาสตร์ซึ่งถือเอาการสอบสวนทบทวนอดีตเป็นอาชีพหรือเป็นพันธกิจนั้น อันที่จริงก็ตกที่นั่งทำนองเดียวกันกับศิษย์พระฤๅษีกาละทรรศินในแง่วิธีวิทยา คือมักไม่ได้ใช้จมูกเป็นอุปกรณ์ทำมาหากิน ยกเว้นแต่หายใจหรือสูดละอองฝุ่นจากเอกสารหลักฐานเข้าไปโดยมิได้ตั้งใจ (เกี่ยวกับเรื่องฝุ่นและ “ไข้จดหมายเหตุ” (archive fever)—ทั้งไข้จริงๆ แบบปวดหัวตัวร้อนจากการติดเชื้อโรคในเอกสาร และไข้แบบความคลั่งไคล้ใหลหลงจดหมายเหตุในฐานะพื้นที่ควบคุมสั่งการและก่อเกิดความรู้—ดู Derrida 1996; Steedman 2001) ฉะนั้นหากให้ใช้จมูก “ตามหากลิ่น” ของอดีต นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยคงสนเท่ห์ลังเลพลางนึกในใจเหมือนศุนว่า ทำฉันใดดีหนอ “เกิดมายังไม่เคยรับใช้เช่นนี้เลย” แต่ภารกิจศุนกับนาคดูจะง่ายกว่าของนักประวัติศาสตร์มากนักตรงที่กลิ่นกุหลาบนางมัทนานั้นเป็นกลิ่น ณ ปัจจุบัน ทว่ากลิ่นอดีตเล่า “ใครจะไปหาพบ”

กลิ่นและการได้กลิ่น/ดมกลิ่นเป็นประเด็นศึกษาของนักประวัติศาสตร์อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แล้ว ประวัติศาสตร์กลิ่น (smell history) เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ผัสสะ (sensory history) ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมและประสบการณ์การรับรู้ทางประสาทสัมผัส (รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-อุณหภูมิ ฯลฯ) หรืออาศัยประสาทสัมผัสเป็นวิธีคิดและวิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์ ความสนใจเรื่องกลิ่นก่อตัวขึ้นส่วนหนึ่งด้วยความพยายามที่จะโยกคลอนถ่ายถอนการยึดสายตาเป็นศูนย์กลาง (ocularcentrism) ซึ่งครอบงำการผลิตความรู้ทั้งในสาขาประวัติศาสตร์และวงวิชาการโดยรวมมาช้านาน อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์กลิ่นโดยมากยังคงศึกษาค้นคว้ากันแบบ “ไร้กลิ่น” นั่นคือเน้นที่เอกสารลายลักษณ์และคำบรรยายกลิ่นโดยมิได้อาศัยกลิ่นเป็นหลักฐาน พูดอีกอย่างก็คือ กลิ่นกลายเป็นวัตถุแห่งการวิจัยทางประวัติศาสตร์ แต่จมูกมักไม่ได้กลายเป็นเครื่องมือวิจัยตามไปด้วย ที่จริงออกจะเป็นข้อห้ามคำเตือนในหมู่นักประวัติศาสตร์ผัสสะเสียด้วยซ้ำว่า ผัสสะของเราถูกหล่อหลอมขึ้นมาต่างจากของคนในอดีต จึงพึ่งพาเชื่อถือไม่ได้เท่าใดนักในการใช้เพื่อเข้าใจประสบการณ์ในอดีต (ดู Smith 2007 เป็นต้น)

แต่ในระยะหลังมานี้ นักประวัติศาสตร์กลิ่นได้หันมาใช้จมูกในการผลิตและนำเสนอความรู้มากขึ้น โดยร่วมมือกับนักพิพิธภัณฑวิทยา นักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม นักวิทยาศาสตร์ สุคนธกรหรือนักปรุงน้ำหอม นักวิเคราะห์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อสืบสร้างกลิ่นในอดีตขึ้นมาใหม่และเผยแพร่ต่อจมูกของสาธารณชน ประวัติศาสตร์ที่ใช้จมูกในการศึกษาเรียนรู้เช่นนี้มีนักวิชาการเรียกว่า “whiffstory” ซึ่งอาจจะพอกล้อมแกล้มแปลเป็นไทยได้ว่า “ประวัติศาสตร์ฟุดฟิด” (Leemans et al. 2022) หนึ่งในนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นที่พึ่งพานาสิกประสาทและสนับสนุนการ “ฟุดฟิด” เพื่อสร้างและสื่อสารความรู้ประวัติศาสตร์ ได้แก่ วิลเลียม ทัลเลตต์ (William Tullett) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ

ผลงานล่าสุดของทัลเลตต์คือหนังสือ Smell and the Past: Noses, Archives, Narratives (2023) ซึ่งเสนอแนวคิดและวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์กลิ่นที่ขยับขยายกว้างขึ้นจากแนวทางแต่เดิม โดยปกติแล้วเรามักนึกถึงกลิ่นว่าเป็นสิ่งที่วูบไหวแปรปรวน-เร้นลับ-และชั่วคราว เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-และดับไปในปัจจุบันเหมือนเช่นน้ำหอมที่เราฉีดวันต่อวันหรือก้านไม้หอมที่กลิ่นอ่อนจางลงทุกเดือนๆ แต่ทัลเลตต์ชี้ว่ากลิ่นทั้งหลายที่รายล้อมเราอยู่นั้นล้วนแต่เป็นผลผลิตจากอดีตที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ในแง่หนึ่ง กระบวนการทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้ทิ้ง “กลิ่น” ไว้ให้เราได้รับรู้และศึกษา และในอีกแง่หนึ่ง การดมกลิ่นของเราในปัจจุบันก็เป็นพฤติกรรมที่ได้รับการหล่อหลอมจากอดีตเช่นกัน เราได้รับมรดกเรือนร่างและจมูกที่เป็น “จดหมายเหตุ” บันทึกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของกลิ่นไว้ด้วย

ปกหนังสือ Smell and the Past: Noses, Archives, Narratives (2023)

ทัลเลตต์เริ่มต้นด้วยด้วยข้อวิจารณ์ว่า ประวัติศาสตร์กลิ่นเท่าที่เขียนกันมานั้นมีความย้อนแย้งอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ นักประวัติศาสตร์เน้นย้ำความสำคัญของกลิ่นในวิถีชีวิตของมนุษย์ แต่กลับปฏิเสธการใช้จมูกดมกลิ่นเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เพราะเกรงจะเป็นการยัดเยียดปัจจุบันใส่อดีตอย่างผิดฝาผิดตัว ข้อเสนอสำคัญของทัลเลตต์มีอยู่ว่า เราอาจใช้จมูกและการดมกลิ่นในการศึกษาอดีตและเสนอผลการศึกษาได้ ทั้งนี้โดยตระหนักในตำแหน่งแห่งที่ เงื่อนไข และพฤติกรรมการดมกลิ่นทั้งของตัวเราเองและคนในอดีตว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรเพราะเหตุใด (เช่นต่างเพราะตัววัตถุส่งกลิ่นนั้นเอง เพราะความรู้ความเข้าใจและความหมายของกลิ่น หรือเพราะบริบทในการดมกลิ่น ฯลฯ) แนวทางเช่นนี้จะยิ่งช่วยพัฒนา “ฆานทักษะ” หรือความรู้ความชำนาญของเราในการดมกลิ่น แกะรอยกลิ่น จับกลิ่นที่ซุกซ่อนอยู่ในหลักฐานลายลักษณ์ (ผมอยากจะเรียกว่า “ดมระหว่างบรรทัด”) ตีความข้อมูลด้านกลิ่น บรรยายกลิ่นผ่านภาษา และสืบสร้างกลิ่นขึ้นมาใหม่ ส่วนการนำเสนอผลการศึกษาด้วยกลิ่นนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยดึงดูดความสนใจผู้คนนอกวงวิชาการเท่านั้น ทว่ายังมีศักยภาพที่จะกระตุกเตือนสาธารณชนและผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบให้เอาใจใส่ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ด้วย

การผลิตความรู้ด้านกลิ่นและการใช้จมูกดมกลิ่นในการศึกษาวิจัยยังอาจเป็นหนทางหนึ่งในการ “ปลดแอก” อิทธิพลครอบงำของญาณวิทยาแบบตะวันตก ซึ่งชูสายตาขึ้นเหนือจมูกและลิ้นในทางภูมิปัญญา ตัวอย่างหนึ่งของการยึดสายตาเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ การแปลคำว่า “representation” ในวงวิชาการไทย ซึ่งเรามักใช้กันว่า ภาพตัวแทน ภาพแทน หรือภาพเสนอ แต่หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตระหนักว่า “representation” นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่ปรากฏแก่ตาก็ได้ ดังที่ทัลเลตต์และนักวิจัยกลิ่นคนอื่นๆ ใช้คำว่า “olfactory representation” เพื่อหมายถึงตัวแทนกลิ่น ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของกลิ่น ภาพ หรือตัวหนังสือก็ได้ — การวาดภาพมูตรคูถแมลงวันตอมหึ่ง การบรรยายกลิ่นอาหารในกาพย์เห่เรือ หรือการปรุงกลิ่นขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของฉากใดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ เช่นเรือขนทาสชาวแอฟริกันข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก สิ่งเหล่านี้ต่างก็จัดเป็น “olfactory representation” ได้

นอกจากนี้ กลิ่นยังนำพาให้เราสนใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ และชวนให้ขบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมด้วย ทัลเลตต์ชี้ว่ากลิ่นเป็นโมเลกุลส่วนกลาง (molecular commons) ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเป็น “ภาษากลาง” ข้ามสปีชีส์ที่สิ่งมีชีวิตใช้สื่อสารทางเคมีระหว่างกัน ดังจะเห็นได้ว่า มนุษย์พึ่งพาความสามารถด้านการดมกลิ่นของสัตว์โดยสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของมนุษย์ (เช่นใช้สุนัขดมกลิ่นยาเสพติดหรือดมกลิ่นทาสหนีนาย หรือใช้หมูตัวเมียหาเห็ดทรัฟเฟิลซึ่งปล่อยสารประกอบกลิ่นอย่างเดียวกับที่อยู่ในสารคัดหลั่งของหมูตัวผู้) แต่กิจกรรมของมนุษย์เองโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษหลังๆ มานี้ได้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและ “โมเลกุลส่วนกลาง” ดังกล่าว ทัลเลตต์เสนอว่าการใช้จมูกดมกลิ่นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เราใช้ในการศึกษา “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเคมีระหว่างสปีชีส์” (histories of inter-species chemical relationality) ที่ว่านี้ได้ด้วย

หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นกับอดีต ทัลเลตต์ได้ชี้ให้เห็นความหลากหลายของประเด็นศึกษาเรื่องกลิ่นกับอดีตด้วยการจำแนกแนวพินิจในการศึกษาประวัติศาสตร์กลิ่นออกเป็น 3 แนวทาง คือ กลิ่นในอดีต (smell in the past), กลิ่นกับอดีต (smell and the past), และกลิ่นของอดีต (smell of the past)

แนวการศึกษา (1) “กลิ่นในอดีต” นั้นเป็นแนวทางของนักประวัติศาสตร์กลิ่นส่วนใหญ่ นั่นคือ ศึกษาว่าผู้คนในยุคสมัยหนึ่งๆ สังคมหนึ่งๆ รับรู้ เข้าใจ และจัดจำแนกกลิ่นอย่างไร กลิ่นมีบทบาทอย่างไรในทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม ทั้งนี้โดยอาศัยการอ่านตีความเอกสารหลักฐานเป็นสำคัญ พูดอีกอย่างได้ว่านักประวัติศาสตร์ที่สนใจกลิ่นในอดีตก็คือสนใจคันธภูมิ (smellscape) ของอดีตนั่นเอง แต่ทัลเลตต์ชี้ว่ายังมีอีกอย่างน้อยสองแนวทางที่นักประวัติศาสตร์ศึกษากลิ่นได้ นั่นคือ (2) “กลิ่นกับอดีต” สนใจว่ากลิ่นทำให้เราเข้าใจและจดจำอดีตอย่างไร (เช่นเพราะเหตุใดเราจึงมักคิดว่าอดีตนั้น “เหม็น” กว่าปัจจุบัน) และสนใจเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างประสบการณ์การดมกลิ่นของคนในอดีตกับปัจจุบัน แนวทางนี้จึงเป็นเรื่องของความทรงจำและการศึกษามรดกทางวัฒนธรรม ส่วนแนวทางสุดท้าย (3) “กลิ่นของอดีต” นั้นสนใจกลิ่นที่เคยดำรงอยู่ในเวลาใดเวลาหนึ่งในอดีต และยังมีร่องรอยหลงเหลือให้เราได้ค้นพบหรือจินตนาการอยู่ทุกวันนี้โดยอาศัยเอกสารลายลักษณ์และวัสดุอุปกรณ์ แนวทางนี้จึงเป็นการศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compound) และโมเลกุลที่ประกอบกันขึ้นเป็นกลิ่น — ทัลเลตต์เสนอว่า การประมวลสามแนวทางนี้เข้าด้วยกันในการศึกษาประวัติศาสตร์กลิ่นไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเข้าใจนัยความหมายของกลิ่นเท่านั้น แต่เข้าใจปรากฏการณ์และคุณลักษณะในทางวัตถุของกลิ่นนั้นๆ ซึ่งรองรับการก่อเกิดนัยความหมายด้วย

ในส่วนต่อมาของหนังสือ ทัลเลตต์พิจารณาคลัง “จดหมายเหตุ” (archive) ของกลิ่นและชี้ว่า อันที่จริงเรามีจดหมายเหตุกลิ่นอยู่แล้วในอดีตและปัจจุบันทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่นตำรวจลับในเยอรมนีตะวันออกช่วงทศวรรษ 1970 เก็บกลิ่นจากร่างกายหรือทรัพย์สินสิ่งของของอาชญากรหรือนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอมมิวนิสต์ใส่ไว้ในขวด สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตามรอยคนเหล่านั้น หรือออสโมเทคที่กรุงปารีสก็เป็นคลังจัดเก็บน้ำหอมจากยุคสมัยต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปัจจุบันนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาก็ยังหาทางจัดเก็บกลิ่นเคลือบด้วยโพลิเมอร์เรซิน พร้อมทั้งเก็บแม่แบบหรือสูตรทางเคมีสำหรับสร้างสารประกอบกลิ่นนั้นๆ ขึ้นใหม่ คลังของกลิ่นในทำนองนี้อาจจัดเก็บควบคู่ไปกับข้อมูลความรู้ด้านกลิ่นและการดมกลิ่นในอดีตได้ด้วย นอกจากนี้ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ก็ยังใช้เป็นคลังของกลิ่นได้ ทั้งโดยการสกัดกลิ่นจากที่นั้นๆ และการคืนกลิ่นให้แก่ที่นั้นๆ ดังเช่นที่นักโบราณคดีทดลองสร้างอุปกรณ์สวมคอให้ผู้เข้าชมฟาร์มอูกูมงต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการวอเตอร์ลู ค.ศ. 1815 เมื่อผู้เข้าชมเดินผ่านจุดต่างๆ อุปกรณ์นั้นก็จะปล่อยกลิ่นที่เกี่ยวข้องกับจุดนั้นๆ ออกมา ตัวอย่างทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจ “จดหมายเหตุ” ได้ใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในรูปของกระดาษในหอเอกสารของรัฐหรือข้อมูลดิจิทัลในคอมพิวเตอร์เท่านั้น จดหมายเหตุกลิ่นนั้นเสื่อมสูญได้ เปลี่ยนแปลงไปได้ และค้นคว้าสืบสร้างขึ้นมาใหม่ได้โดยอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือจากหลากหลายสาขาวิชา (ดูเพิ่มเติมใน Leemans et al. 2022)

ทัลเลตต์เสนอวิธีวิทยาในการสร้างและใช้คลังจดหมายเหตุกลิ่นว่าประกอบด้วยสองวิธีหลัก คือการดมระยะใกล้ (close smelling) กับการดมระยะไกล (distant smelling) การดมระยะใกล้คือการใช้จมูกดม ในขณะที่การดมระยะไกลคือการวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อจับและจำแนกกลิ่นที่ลำพังจมูกอาจทำได้ยาก ทั้งสองวิธีอาจใช้ควบคู่กันไปกับการอ่านระยะใกล้ด้วยตาและระยะไกลโดยใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล นอกจากนี้ กลิ่นยังใช้เป็นเครื่องมือหรือวิธีการในการวิจัยประวัติศาสตร์มุขปาฐะหรือประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ได้ด้วย เช่นเราอาจให้บุคคลดมกลิ่นๆ หนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นที่เราศึกษา แล้วสัมภาษณ์ว่ากลิ่นนั้นปลุกความทรงจำใดของผู้นั้นขึ้นมาบ้าง

ทัลเลตต์ยังได้เชิญชวนให้เรานำเสนอผลการศึกษาประวัติศาสตร์กลิ่นโดยให้มีกลิ่นที่ดมได้ด้วย นักประวัติศาสตร์อาจเรียนรู้หรือร่วมมือกับสุคนธกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นแขนงอื่นๆ และนำเสนอกลิ่นควบคู่ไปกับเรื่องเล่าและคำอธิบายกลิ่นนั้นในบริบททางประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวัตถุกระตุ้นผัสสะด้านอื่นๆ เช่นภาพหรือเสียงที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นนั้น ทั้งนี้โดยสร้างความตระหนักว่า กลิ่นที่ได้ดมนั้นเป็นตัวแทนของอดีตอันเกิดจากการสืบสร้างจัดปรุงขึ้นใหม่ (ในทำนองเดียวกันกับที่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เป็นตัวแทนของอดีตอันเกิดจากการตีความหลักฐานและร้อยเรียงเรื่อง) จึงมิใช่สิ่งที่จะเทียบทับแทนอดีตได้อย่างพอดิบพอดี แต่อาศัยร่องรอยหรือองค์ประกอบของอดีตที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันให้เราได้ข้องแวะด้วยจมูกและปัญญา 
        
ประเด็นสุดท้ายที่ทัลเลตต์ชวนเราคิดเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการศึกษากลิ่นคือ เวลาและการเล่าเรื่อง ทัลเลตต์ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นกับเวลานั้นมีลักษณะแบบพหุสหกาละ (polysynchronicity) หรือมีภาวะเวลาหลายแบบเกาะเกี่ยวทับซ้อนกัน (multiple temporalities) เช่นเรามักนึกถึงกลิ่นว่าเป็นตัวปลุกความทรงจำ คือนำอดีตกลับมายังปัจจุบันหรือพาเราย้อนกลับไปหาอดีต แต่การดมในอดีตยังตีกรอบหรือวางแนวทางให้แก่การดมในอนาคตด้วย การดมจึงเป็นการกระทำที่โยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกันในประสบการณ์ครั้งเดียว ตัวอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนพหุสหกาละของกลิ่นคือน้ำหอม ซึ่งมีท็อปโน้ต-ฮาร์ตโน้ต-และเบสโน้ตผสมรวมกัน แต่จางหายไปในเวลาช้าเร็วต่างกัน เวลา (ในแบบพหูพจน์) จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลิ่นน้ำหอมด้วย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการศึกษาประวัติศาสตร์กลิ่นมักมิได้พิจารณาภาวะเวลาของกลิ่นในแบบข้างต้น แต่จัดแบ่งยุคสมัยตามขนบและเล่าเรื่องแบบเวลาก้าวหน้าเป็นเส้นตรง เช่น นักประวัติศาสตร์บางส่วนแบ่งประวัติศาสตร์เป็นยุคก่อนสมัยใหม่กับสมัยใหม่ และโยงการเข้าสู่สมัยใหม่/สร้างความทันสมัย (modernization) กับการกำจัดกลิ่น (deodorization) สังคมสมัยใหม่ในคำอธิบายแบบนี้จึงเป็นสังคมไร้กลิ่น(เหม็น) แต่นักประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การกำจัดกลิ่นนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยในลักษณะต่างๆ กัน และสมัยใหม่ก็มิใช่ยุคที่ปลอดกลิ่นแต่กลับยิ่งมีมลภาวะทางกลิ่นแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น วิธีคิดแบบพหุสหกาละทำให้เรามองได้ใหม่ว่า การกำจัดกลิ่นเป็นการมุ่งเป้าที่ไม่มีวันบรรลุถึง ณ ปัจจุบัน เป็นอนาคตที่เหินห่างรางเลือนออกไปเรื่อยๆ

นอกจากในแง่เวลาข้างต้นแล้ว ทัลเลตต์ยังอธิบายการกำจัดกลิ่นในแง่พื้นที่ด้วยว่า การกำจัดกลิ่นอันที่จริงคือการจัดการภูมิศาสตร์ของกลิ่นขึ้นใหม่ ทำให้กลิ่นใหม่เข้าแทนที่กลิ่นเดิม (เช่นกลิ่นน้ำยาทำความสะอาดแทนที่กลิ่นปฏิกูล) และทำให้กลิ่นเดิมย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ในประเด็นนี้ ทัลเลตต์ได้หยิบยืมแนวคิดเรื่องการกำจัดกลิ่นโดยลดหลั่นหรือโดยแตกต่าง (differential deodorization) ของเสวียนสวี (Hsuan Hsu) นักวิชาการด้านกลิ่นศึกษา (smell studies) ซึ่งเสนอว่า การขจัดกลิ่นมิได้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงเท่าเทียมในสังคม ส่งผลให้คนต่างชุมชนมีสภาพแวดล้อมทางกลิ่นต่างกัน และรับผลกระทบของกลิ่นต่อสุขภาวะต่างกัน เช่นขยะและกลิ่นขยะอาจถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่หนึ่งและกลายไปเป็นมลภาวะแก่คนในอีกพื้นที่หนึ่ง หรือโรงงานผลิตน้ำหอมสำหรับขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในอาคารบ้านเรือนหรือในยานพาหนะ กลับสร้างไอพิษให้แก่ชุมชนใกล้เคียงโรงงาน เป็นต้น การกำจัดกลิ่นจึงมักเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจในการกำหนดเส้นแบ่งระหว่างตัวเองกับคนอื่นโดยอาศัยอัตลักษณ์หรือสถานะทางสังคม เช่น ชนชั้น เชื้อชาติ เพศ ฯลฯ ฉะนั้นหากเราต้องการเปิดโปงความเหลื่อมล้ำและความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอันแฝงอยู่ในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ เราอาจจะต้องย้อนขั้นตอนกลับไปหาต้นทางก่อนการกำจัดกลิ่นหรือสร้างความคุ้นชิน/ชาชินทางประสาทสัมผัส ที่บดบังกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำหรือความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไว้

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่ทัลเลตต์แทบไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือคือจริยธรรมของการนำเสนอกลิ่นอดีต ผมทราบจากหนังสือเล่มนี้ว่าพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษเคยจัดจำลองกลิ่นของสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้ด้วย อ่านแล้วก็เกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าเรานำกลิ่นยางรถยนต์ไหม้มาผสมกับกลิ่นน้ำมันก๊าด กลิ่นปฏิกูลห้องน้ำน็อคดาวน์ และกลิ่นดินปืนกระสุน หรือกลิ่นใดๆ ที่ได้จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เราจะสามารถสื่อสารประสบการณ์ด้านกลิ่นของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้หรือไม่ การผสมกลิ่นของฉากทางประวัติศาสตร์ (historical smell scene composition) เช่นนี้มีข้อควรคำนึงในทางจริยธรรมอย่างไร (ต่างจากเวลาที่เราถกเถียงถึงจริยธรรมของการสร้างภาพตัวแทนด้วยกล้องถ่ายรูปหรือไม่) จะเป็นคุณหรือโทษต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และความทรงจำหรือไม่อย่างไร และเมื่อนึกถึงกิจกรรม “บิ๊กคลีนนิ่ง” ที่ชาวกรุงเข้ากวาดชำระชะล้างพื้นที่ชุมนุมด้วยแล้ว การสืบสร้างกลิ่นเช่นนี้จะเป็นการย้อนกระบวนการ “กำจัดกลิ่น/ซาก/หลักฐาน” และช่วยจดจำรำลึกถึงความรุนแรงและความสูญเสียในครั้งนั้นได้ด้วยหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้คงต้องการการอภิปรายถกเถียงต่อไปอีกมาก แต่อย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้ได้มอบแนวทางเบื้องต้นสำหรับคิดใคร่ครวญถึงกลิ่น ซึ่งตลบอบอวลอยู่ในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต และสำคัญต่อความเป็นอยู่ทั้งของเราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลก

 

รายการอ้างอิง
Derrida, Jacques. Archive Fever: A Freudian Impression. Translated by Eric Prenowitz. Chicago:     University of Chicago Press, 1996.

Leemans, Inger, William Tullett, Cecilia Bembibre, and Lizzie Marx. “Whiffstory: Using Multidisciplinary Methods to Represent the Olfactory Past.” The American Historical Review 127, no. 2 (2022): 849-879.

Smith, Mark M. “Producing Sense, Consuming Sense, Making Sense: Perils and Prospects for     Sensory History." Journal of Social History (2007): 841-858.

Steedman, Carolyn. Dust: The Archive and Cultural History. Manchester: Manchester University Press, 2001.

Tullett, William. Smell and the Past: Noses, Archives, Narratives. London: Bloomsbury Academic, 2023.