Skip to main content

อาวุธ ธีระเอก อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 


 

วัดคนที่ความสามารถ: ปราการด่านสุดท้ายของตลาดเสรี

 

สำหรับเรื่องการศึกษาแล้ว ข้อถกเถียงที่ยั่งยืนยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งคือการจัดการศึกษาควรเป็นหน้าที่ของใคร ของรัฐหรือปล่อยตามกลไกตลาด (state vs. market) ขณะที่โลกทุนนิยมเสรีครอบงำแทบทุกภาคส่วนของกิจกรรมมนุษย์ การปล่อยให้ปัจเจกดิ้นรนต่อสู้ในโลกธุรกิจการศึกษาดูจะมีแต้มต่อ เพียงแต่ว่ารัฐต้องเปิดโอกาสให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม ใครออกเหงื่อเสียแรงมาก ก็ควรได้รับผลลัพธ์ตามกำลังของตนมากตามไปด้วยประเภท “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

หนังสือ เผด็จการความคู่ควร ของไมเคิล เจ. แเซนเดล นักปรัชญาชาวอเมริกันเริ่มต้นด้วยคำถามเรื่องระบบวัดคนที่ความสามารถของโลกทุนนิยมตลาดเสรี ว่าที่จริงแล้วปัจเจกบุคคลประสบความสำเร็จได้เองหรือ “มีลมใต้ปีก” ประคองพยุงเกื้อหนุนให้คนเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายได้เข้าเรียนสถาบันที่ดี หรือได้งานการที่ดีทำ ภาพ “การต่อสู้ด้วยลำแข้ง” อาบเหงื่อต่างน้ำ อำพรางการสนับสนุนจากครอบครัวญาติมิตรโดยเฉพาะต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เป็นฐานหลักสำคัญของความสำเร็จ ไม่ต้องพูดถึงโชคดวงว่าวิชาความรู้หรือความสามารถที่ตนเชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการ หรือสิ่งที่โลกให้ความสำคัญพอดี เช่น โอลิมปิควิชาการที่จำกัดเฉพาะวิชาบางอย่าง หรือความถนัดในกีฬาบางประเภทที่เป็นโควตาให้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาได้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากคนทั่วไปเคยชินกับโลกทุนนิยมตลาดเสรี แซนเดลจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ทีละบท ๆ เพื่อคลี่คลายเผยโฉมหน้าให้ผู้อ่านเห็นว่าระบบดังกล่าวแยกคนออกจากสังคม ให้ “ผู้ชนะ” อหังการไร้น้ำใจต่อคนรอบข้าง ส่วน “ผู้แพ้” ก็ได้แต่โทษตนเองว่ายังทำดีไม่พอ กลายเป็นปมเงื่อนในใจที่ได้แต่ยอมรับอย่างโศกสลด สังคมจึงแตกแยก ผู้ชนะอหังการและดูหมิ่นดูแคลนผู้พ่ายแพ้ ส่วนผู้พ่ายแพ้ก็ได้แต่เจ็บปวดฝังใจซึ่งจำนวนหนึ่งก็ระบายความโกรธแค้นออกมาให้เห็น

ข้างต้นนี้คือคำอธิบายว่าทำไมโดนัล ทรัมป์ถึงได้ใจคนอเมริกันจำนวนมากจนได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีผู้มาก่อจลาจลต่อสู้เพื่อทรัมป์เมื่อเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง “กองเชียร์” ทรัมป์ที่จำนวนมากเป็นชายผิวขาวชนชั้นแรงงานคือกลุ่มคนผู้คั่งแค้นที่ถูกชนชั้นนำและเทคโนแครตผู้บริหารประเทศละเลย ปล่อยให้พวกเขาว่างงานและไร้ศักดิ์ศรี ซึ่งแม้แต่พรรคเดโมแครตที่เคยเป็นมิตรที่ดีของคนกลุ่มนี้มาตลอด ก็ยังหันเหนโยบายมาเกื้อกูลทุนนิยมตลาดเสรี “คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตนเอง” ตั้งแต่บิล คลินตัน ถึงบารัค โอบามา (ถึงแม้จะมีโอบามาแคร์ก็ตาม)

แม้หนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยโฉมหน้าของระบบวัดคนที่ความสามารถ และทำให้เข้าใจปัญหาในสังคมการเมืองอเมริกันได้ดียิ่งขึ้น แต่กระนั้นหนทางแก้ปัญหาประเภทรื้อระบบเปลี่ยนระเบียบทุนนิยมตลาดเสรีที่หยั่งรากลึกก็ดูเหมือนจะยากมาก แซนเดลยกตัวอย่างในตอนท้ายได้เพียงเรื่องเดียวคือห้องสมุดรัฐสภาอเมริกันที่อาจนับได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการแบบทั่วหน้า ต้อนรับให้โอกาสการหาความรู้ของทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่การติดอาวุธแห่งความรู้อย่างเดียวคงไม่พอ ผู้วิจารณ์จึงหวังจะเห็นแนวทางแก้ปัญหาแบบรูปธรรมจากหนังสือเล่มต่อไปของแซนเดล หรือของนักวิชาการท่านอื่น ๆ บ้าง

ปกหนังสือ เผด็จการความคู่ควร : เกิดอะไรขึ้นกับประโยชน์ส่วนรวม? = The tyranny of merit / Michael J. Sandel, เขียน ; สฤณี อาชวานันทกุล, แปล กรุงเทพฯ : ซอลท์, 2565.