"ไส้ตะเกียงเสวนา" ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม
เสวนาชุด “สังคมศาสตร์เชิงวิพากษ์และการวิพากษ์สังคมศาสตร์: กรณีศึกษาสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"
ทุกวันพุธ ตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน - 20 ธันวาคม 2566
เวลา 16.00 - 18.30 น.
ณ ห้อง 7801 อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
22 พฤศจิกายน 2566
เศรษฐศาสตร์การเมือง - "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์" โดย วันพัฒน์ ยังมีวิทยา
"ปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากมูลค่าสู่ราคา" (the transformation problem) เป็นปมปัญหาที่เกิดขึ้นจาก บทที่ 9 ของหนังสือ "ทุน" (Capital) เล่มที่ 3 ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ที่ยังคงก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งในหมู่นักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์และที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์
เมื่อปี 2544 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีวิวาทะกับ ใจ อึ๊งภากรณ์ ในประเด็นดังกล่าว โดยถกเถียงว่าปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากมูลค่าสู่ราคาเป็นสิ่งที่ทำลายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นถึงทั้งความไม่คงเส้นคงวาและความล้มเหลวของมาร์กซ์ในการอธิบายระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นจริง ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามสำคัญว่า แล้วเราควรต่อต้านระบบทุนนิยมอยู่อีกหรือไม่?
การนำเสนอครั้งนี้เป็นการกลับไปทบทวนและร่วมถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากมูลค่าสู่ราคาซึ่งเป็นปมปัญหาสำคัญในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์อีกครั้ง รวมถึงการประเมินข้อถกเถียงของสมศักดิ์ต่อประเด็นดังกล่าว
บทความอ่านประกอบ
งานชั้นต้น:
- Karl Marx, Capital: A Critique of Political Economy, Volume III, Translated by David Fernbach (London: Penguin, 1991), Ch. 9.
งานชั้นรอง:
- Eugen von Bohm-Bawerk, Karl Marx and the Close of His System, Edited by Paul M. Sweezy (New York: Augustus M. Kelly, 1949).
- Rudolf Hilferding, "Bohm-Bawerk's Criticism of Marx," In Eugen von Bohm-Bawerk, Karl Marx and the Close of His System, Edited by Paul M. Sweezy (New York: Augustus M. Kelly, 1949).
- Paul A. Samuelson, "Understanding the Marxian Notion of Exploitation: A Summary of the So-Called Transformation Problem Between Marxian Values and Competitive Prices," Journal of Economic Literature, 9:2 (1971), 399-431.
- Michael C. Howard and John E. King, The Political Economy of Marx, 2nd Edition (New York: New York University Press, 1988).
งานภาษาไทย:
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, "ความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่ากับราคาในทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซ์ (1)," วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 12:2 (2537), 65-94.
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, "ความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่ากับราคาในทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซ์ (2)," วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 12:3 (2537), 75-102.
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546), บทที่ 6 และ 7.
การอภิปรายของสมศักดิ์:
- กองบรรณาธิการ, "วิพากษ์ 'การเมืองไทยกับลัทธิมาร์คซ์'," วารสารการเมืองใหม่, 2:3 (2544), 25-31.
29 พฤศจิกายน 2566
ประวัติศาสตร์ - "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยม" โดย ปราน จินตะเวช
จุดประสงค์หลักคือการกลับไปทบทวนบทความของสมศักดิ์ที่ชื่อ “สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม” เมื่อปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นงานสำรวจภูมิทัศน์งานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยม โดยสมศักดิ์ได้ทบทวนงานของ ฉัตรทิพย์ นาภสุภาและคณะ ชัยอนันต์ สมุทวณิช จิตร ภูมิศักดิ์ ทรงชัย ณ ยะลา และนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยเฉพาะข้อเสนอของฉัตรทิพย์และนิธิ ซึ่งสมศักดิ์มองว่าได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันแม้จะศึกษาสังคมไทยคนละช่วงเวลาและกรอบการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งได้เขียนข้อวิจารณ์ของตนเอาไว้ด้วย
การนำเสนอครั้งนี้จะกลับไปทบทวนบทความชิ้นนี้ของสมศักดิ์ โดยจะกล่าวถึงประเด็นถกเถียงสำคัญ ได้แก่ กรอบการมองสังคมไทย การใช้สนธิสัญญาเบาวริงเป็นตัวแบ่ง “กระฎุมพีอิสระ” ในไทย ซึ่งจะยกงานชิ้นเอกของกุลลดา เกษบุญชู มี๊ดมาร่วมพิจารณาด้วย รวมถึงประเมินข้อวิจารณ์ของสมศักดิ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าแม้บทความของสมศักดิ์ชิ้นนี้จะเขียนขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ยังมีประเด็นให้ถกเถียงและต่อยอดได้อยู่ เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของรัฐ รวมถึงการทำความเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันด้วย
บทความอ่านประกอบ:
ฉัตรทิพย์ นาภสุภา และคณะ. 2524. เศรษฐกิจกับประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2555. ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. 2525, "สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม" วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, น. 128-164.
Kullada Kesbooncho Mead. 2004. The Rise and Decline of Thai Absolutism. Abingdon, UK: RoutledgeCurzon.
6 ธันวาคม 2566
ปัญญาชน - "ประวัติศาสตร์ของปัญญาชนสาธารณะไทยและตำแหน่งแห่งที่ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" โดย ธิกานต์ ศรีนารา
ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าสังคมไทยมีปัญญาชน (สาธารณะ) มานานแล้ว ตัวอย่างที่เก่าที่สุดก็คือ เทียนวรรณ และ กศร.กุหลาบ เรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติ 2475 และจนถึงปัจจุบัน ปัญญาชนเหล่านี้มีความแตกต่างทางความคิดกันในหลายระดับ มีทั้งขวาและซ้าย สังคมนิยมไปจนถึงสาธารณรัฐ มีทั้งวิจารณ์เจ้าและสนับสนุนเจ้า ซึ่งในหลายวาระได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาผ่านข้อเขียนในสื่อสั่งพิมพ์ต่างๆ จนเรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยมีความเป็นเอกภาพในหมู่พวกเขาเลย
แต่ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ (ทศวรรษ 2540) ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในหมู่พวกเขา นั่นก็คือ ได้เกิด "ฉันทามติ" (consensus) หรือ ความเป็น "เอกภาพ" ทางความคิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบร้อยปีที่มานับตั้งแต่เทียนวรรณ แสดงออกในลักษณะที่นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา แทบที่จะไม่มีการ debate หรือการวิพากษ์วิจารณ์กันเองอย่างตรงไปตรงมาเกิดขึ้นในหมู่พวกเขาเลย นี่รวมไปถึงการที่พวกเขาแทบที่จะพร้อมใจกันนิ่งเฉยต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์ทั้งในทางการเมืองและในทางวิชาการด้วย
การเสวนาครั้งนี้ จะชวนแลกเปลี่ยนในเรื่องที่สมศัดดิ์เรียกว่า "การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่" ในหมู่ "ปัญญาชน 14 ตุลา" ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการตีความประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการวิเคราะห์สังคมการเมืองในปัจจุบัน รวมถึงการวางบทบาทท่าที และการจัดความสัมพันธ์ภายในหมู่พวกเขาเองของ "ปัญญาชนสาธารณะ" ไทยในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา
บทความอ่านประกอบ:
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ปัญญาชน 14 ตุลา พันธมิตรฯ และแอ๊กติวิสต์ '2 ไม่เอา'", รัฐประหาร 19 กันยา, กรุงเทพฯ: ฟ้าดียวกัน, 2550. หน้า 382-430.
13 ธันวาคม 2566
การเมือง - "18 ปีวิกฤติการเมืองไทยกับการเข้าสู่ 'ยุคใหม่' ในปัจจุบันในทัศนะของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" โดย ดิน บัวแดง
ราวเดือนกันยายน 2566 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เสนอว่าขณะนี้เราเข้าสู่ "ยุคใหม่" ของการเมืองไทย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในราว 18 ปีที่ผ่านมานั้น อิงอยู่กับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของทักษิณ ชินวัตรและของสถาบันกษัตริย์ ในเมื่อทักษิณได้กลับไทยและขอ "อภัยโทษ" แล้ว และเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลเศรษฐามีท่าทีประนีประนอมในเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราจึงอาจจะถือได้ว่าปัจจุบันการเมืองไทยได้ "เริ่มหน้าใหม่" แล้ว
แต่ทว่า "ยุคใหม่" นั้นจะเป็นอย่างไร? อนาคตของสถาบันกษัตริย์, ของพรรคการเมือง "ประชาธิปไตย", และของการเคลื่อนไหวในปีก "ประชาธิปไตย" จะเป็นอย่างไร - หรือควรจะเป็นอย่างไร - ใน "ยุคใหม่" นี้?
การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการทบทวนกรอบการวิเคราะห์การเมือง - โดยเฉพาะสภาวะ "Mass Monarchy" - รวมทั้งทบทวนข้อเสนอทางการเมืองของสมศักดิ์ โดยจะเน้นให้ผู้ฟังถกเถียงร่วมกันถึงประโยชน์และข้อจำกัดของกรอบการวิเคราะห์และข้อเสนอของสมศักดิ์ โดยเฉพาะในแง่ความเหมาะสมในการนำมาใช้อธิบายสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อจะนำไปสู่การร่วมหาทางออกให้กับการเมืองไทยไปด้วยกัน
บทความอ่านประกอบ:
คำนูณ สิทธิสมาน, "ข้อเสนอ 8 ข้อ ของ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ !", Manager Online, 21 กุมภาพันธ์ 2553, https://mgronline.com/daily/detail/9530000024868
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?", ประชาไท, 9 สิงหาคม 2553, https://prachatai.com/journal/2010/08/30639
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “Mass Monarchy” ใน ชัยธวัช ตุลาธน (บก.), ย้ำยุค รุกสมัย เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, นนทบุรี: มูลนิธิวีรชน ประชาธิปไตย และ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์, 2556, หน้า 107-118.
ประชาไท, " 'สมศักดิ์ เจียมฯ' เสนอ 7 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์", 29 กรกฎาคม 2562, https://prachatai.com/journal/2019/07/83630
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ทำไมคนไทยเชื้อสายจีนจึงไม่กล้าแตะต้องสถาบันกษัตริย์", ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2565.
20 ธันวาคม 2566
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ - "นอกปริบท: สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่" โดย ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล
ลักษณะเด่นในงานเขียนประวัติศาสตร์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่เพียงอยู่ที่การใช้หลักฐานเอกสารและการสัมภาษณ์อย่างรัดกุมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและความรับรู้ต่อเหตุการณ์ของคนร่วมสมัย แต่ยังรวมถึงการวิพากษ์ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ต่อความหมายของชุดเหตุการณ์และการกระทำของบุคคลในอดีต การวิพากษ์ดังกล่าวดำเนินผ่านการไต่สวนและการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้าใจของสังคมปัจจุบันที่ผันแปรไปจากห้วงเวลาที่เหตุการณ์อุบัติขึ้น
การบรรยายนี้มุ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากคำอธิบายเรื่องการสืบทอดวาทกรรมวิพากษ์ศักดินาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และความได้เปรียบด้านมโนทัศน์ในสายทฤษฎี Western Marxism ที่ปรากฏในกรอบการวิเคราะห์ของสมศักดิ์แล้ว ผู้อ่านยังสามารถเข้าใจลักษณะเฉพาะในการเขียนประวัติศาสตร์ของเขาได้มากขึ้นซึ่งแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ร่วมรุ่น หากพิจารณาจากบริบททางภูมิปัญญาบางประการ
บทอ่านประกอบ:
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544.
ลงทะเบียนเข้าร่วมได้ที่ https://forms.office.com/r/LZNYz33E8h *ปิดรับลงทะเบียนล่วงหน้า ก่อนวันที่จัดกิจกรรมฯ 1 วัน*
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ไส้ตะเกียงเสวนา