Skip to main content

สุพลธัช เตชะบูรณะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเทศไทย

 


 

 

ปกติเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์เกาหลีสมัยจารีต หากสำรวจงานวิจัยต่างๆ แล้วจะพบว่า ส่วนมากจะเป็นงานที่ศึกษาโดยใช้หลักฐานเป็นตัวนำในการเล่าเรื่องตามขนบของการเขียนงานวิชาการทางสายประวัติศาสตร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นงานที่เน้นการเปิดหลักฐานหรือไม่ก็เป็นการตีความหลักฐานใหม่  ในขณะที่การใช้กรอบแนวคิดต่างๆ ในการเข้ามาอธิบายเหตุการณ์ในอดีตนั้นมีน้อยชิ้นมาก แต่ในความน้อยชิ้นดังกล่าวนี้ ปรากฏงานเขียนอยู่เล่มหนึ่งที่ใช้มุมมองหรือกรอบคิดทางด้านประวัติศาสตร์อารมณ์และความรู้สึกเข้ามาวิเคราะห์สภาพสังคมของเกาหลีก่อนสมัยใหม่ โดยยกตัวอย่างให้เห็นเฉพาะในสมัยราชวงศ์โชซ็อนซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่ปี 1392-1910 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้มากที่สุดกว่าทุกยุคในสมัยจารีตของเกาหลี นั่นคืองาน The Emotions of Justice : Gender, Status, and Legal Performance in Choson Korea ของคิม เอ็ม จีซูซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ Elliott School of International Affairs ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) โดยสอนทางด้านประวัติศาสตร์เกาหลีและเกาหลีศึกษา

หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมของสังคมเกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อน โดยจุดเด่นที่สุดของกระบวนการพิจารณาคดีในสมัยนั้นคือ การใส่อารมณ์และความรู้สึกของโจทก์และจำเลยในข้อเขียนฎีกาต่างๆ เพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีทั้งที่เป็นเจ้าเมืองท้องถิ่นและกษัตริย์ทำหน้าที่พิจารณาอรรถคดีต่างๆ อารมณ์และความรู้สึกที่ปรากฏในข้อเขียนฎีกาต่างๆ นี้มีจุดที่น่าสนใจคือ ข้อเขียนเหล่านี้จะสะท้อนสิ่งที่เรียกในภาษาเกาหลีว่า “ว็อน” (weon) ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญที่อาจหาคำแปลในภาษาอังกฤษได้ยากคือ เป็นความรู้สึกในทางลบที่จะถูกกระตุ้นได้ทุกเมื่อหากผู้นั้นมิได้รับความยุติธรรมในการตัดสินคดี เช่น โกรธแค้น เกลียดชัง เศร้าโศก สงสาร สำนึกผิด เป็นต้น ความรู้สึกอันเป็นองค์ประกอบของว็อนข้างต้นนี้จะผสานรวมกันแล้วไปปรากฏผ่านภาษาในฎีการ้องเรียนต่างๆ ของราษฎรอันเป็น “วัตถุดิบหลัก” ในการศึกษาของผู้เขียนนี้

หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้โดยตลอดแล้ว จะพบข้อความรู้ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ประการแรก การพิจารณาคดีความต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมของสังคมเกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อนนั้นจะแยกไม่ออกกับคติความเชื่อในลัทธิขงจื่อใหม่ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงต่อหน้าที่ของกษัตริย์ นั่นคือ การรักษาความสมดุลและความสงบสุขในสังคม โดยกษัตริย์จะเป็นด่านสุดท้ายในการพิจารณาคดีความหากราษฎรผู้นั้นถวายฎีกาขึ้นมา ส่วนการพิจารณาคดีความขั้นต้นนั้นจะเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับผิดชอบงานดังกล่าว หากการพิจารณาคดีความปราศจากความยุติธรรมแล้ว ตามความเชื่อของคนในสังคมสมัยนั้นจะมองว่า บ้านเมืองอาจเกิดอาเพศตามคำอธิบายในลัทธิขงจื่อใหม่ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ทุพภิกขภัย เป็นต้น แต่หากมองในเชิงประจักษ์ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดกบฏขึ้นได้ ดังเช่น กบฏฮงกย็องแน (Hong Gyeong-nae Rebellion) ในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อน ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ปกครองที่จะต้องผดุงความยุติธรรมในสังคมเพื่อป้องกันมิให้สังคมเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายหรือเกิดเหตุภัยธรรมชาติต่างๆ จนสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร ตัวอย่างที่สะท้อนหลักคิดดังกล่าวนี้คือ การตั้งกลองไว้ที่หน้าพระราชวังในสมัยพระเจ้าทันจงเมื่อปี 1402 เพื่อให้ราษฎรมา “ตีกลองร้องทุกข์” โดยตรงแก่กษัตริย์ได้ นับเป็นการฟังเสียงของราษฎรตามหน้าที่หนึ่งที่กษัตริย์พึงมีในลัทธิขงจื่อใหม่

ประการที่สอง กระบวนการตัดสินคดีความในสังคมเกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อนนั้น มีลักษณะเป็น “นาฏกรรม” โดยจะพิจารณาได้จากข้อความในฎีกาและการร้องเรียนด้วยวาจา กล่าวคือ สำหรับกรณีข้อความในฎีกานั้น จะเห็นถึงการใช้ภาษาของผู้ร้องเรียนที่จะต้องใช้ถ้อยคำที่สะท้อนความเป็น “ว็อน” ออกมาให้มากที่สุด บางกรณีอาจถึงขั้นใช้เลือดของตนเองเขียนฎีกาเพื่อตอกย้ำความรู้สึกคับแค้นใจและคับข้องใจออกมาให้มากที่สุดนอกเหนือจากวัจนภาษาในฎีกา ส่วนกรณีของการร้องเรียนด้วยวาจานั้นจะพบว่า หากราษฎรมีโอกาสร้องเรียนต่อกษัตริย์โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกษัตริย์เสด็จฯ ผ่านมานั้น ก็จะต้อง “แสดง” ให้กษัตริย์เห็นถึงความรู้สึก “ว็อน” นั้นๆ เช่น การตีอกชกหัว การร้องไห้ การตะโกนด้วยความคับแค้น การทำตัวให้แลดูน่าสงสาร เป็นต้น (ภาพเหล่านี้จะเห็นในซีรี่ส์บ่อยๆ เวลาราษฎรมาร้องเรียนต่อหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์) สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “อวัจนภาษา” ที่มีส่วนในการโน้มน้าวให้กษัตริย์รับฎีกานั้นไปพิจารณาเพื่อให้มีการตัดสินคดีความใหม่

ประการที่สาม การร้องเรียนหรือการถวายฎีกาในสังคมเกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อนนั้นค่อนข้างเปิดกว้าง กล่าวคือ บุคคลที่เป็น “คนชายขอบ” ในสังคมที่ปกคลุมด้วยลัทธิขงจื่อใหม่อย่างเข้มข้นอย่างเกาหลีนั้น สตรี สามัญชน และทาส สามารถร้องเรียนหรือถวายฎีกาต่อกษัตริย์ได้หากตนเองนั้นมิได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีความของเจ้าหน้าที่ โดยคนกลุ่มนี้มักจะร้องเรียนหรือถวายฎีกาต่อกษัตริย์ผ่านการใช้วาจามากกว่าการเขียนฎีกา เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนมากไม่รู้หนังสือ โดยเฉพาะการใช้ตัวฮันจา (ตัวจีน) ซึ่งเป็นตัวอักษรหลักที่ใช้กันในหมู่ชนชั้นสูงของโชซ็อน ดังนั้น ภาพที่เห็นส่วนใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฏคือ คนกลุ่มนี้มักจะมารอเข้าเฝ้ากษัตริย์เมื่อกษัตริย์เสด็จผ่านไปยังที่ต่างๆ โดยจะต้องเตรียมฆ้อง (gong) เพื่อใช้เคาะเป็นสัญญาณให้กษัตริย์มาฟังข้อร้องเรียนของตน

ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายในส่วนบทสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเกาหลีกระแสหลักมักจะอธิบายว่า สังคมเกาหลีเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า บทบาทของสตรีในสังคมเกาหลีสมัยใหม่กลับถูกจำกัดสิทธิ์ในทางกฎหมายเสียมากกว่าในสมัยจารีตเสียอีก นั่นคือ ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมาย Japanese Civil Code ในปี 1921 โดยจำกัดสิทธิ์ในการฟ้องร้องทางกฎหมายคดีบางประเภทสำหรับสตรีที่สมรสแล้วให้สามีมีส่วนในการดำเนินการทางกฎหมายด้วย นับเป็นการโต้กลับความรู้เดิมที่มักจะอธิบายสถานะของสตรีในสมัยราชวงศ์โชซ็อนแบบเหมารวมว่าสตรีมีสถานะด้อยกว่าบุรุษได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

 


 

รายการบรรณานุกรม
Kim M. Jisoo. The Emotions of Justice: Gender, Status, and Legal Performance in Choson Korea. Seattle: University of Washington Press, 2016.