Skip to main content

พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ นักศึกษาปริญญาเอก สาขา Colonial and Global History, Institute for History, Leiden University กำลังทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "Emblematic Capital: The Elephant in the Making of the Dutch Overseas Empire, 1600-1800"

 


 

 

การหันไปสู่สัตว์ (animal turn) ในแวดวงประวัติศาสตร์: ชวนอ่าน Colonizing Animals ของ Jonathan Saha (2021)

 

สัตว์พูดได้หรือไม่? สัตว์มีสำนึกทางประวัติศาสตร์หรือไม่? สัตว์เป็นผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้และอีกมากมายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-humans) ถูกถามในห้วงจังหวะของการหันไปสู่สัตว์ (animal turn) ในแวดวงวิชาประวัติศาสตร์

การศึกษาสัตว์ในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ งาน คลาสสิกจำนวนมากใช้สัตว์ในฐานะแว่นทางประวัติศาสตร์เพื่อถอดรหัสสังคมมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น งานของ Robert Darnton ที่พูดถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่แมว (The Great Cat Massacre) ในปารีสช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18[1] งานชิ้นนี้เผยแพร่ในช่วงทศวรรษ 1980 และยังถูกจัดให้เป็นงานชิ้นสำคัญขึ้นหิ้งชิ้นหนึ่งในช่วงเวลาที่เรียกว่าการหันไปสู่วัฒนธรรม (cultural turn) ของวิชาประวัติศาสตร์ด้วย Darnton เองก็หยิบยืมเครื่องมือทางวิธีวิทยาจากนักมานุษยวิทยานามว่า Clifford Geertz ผู้ที่ศึกษาวัฒนธรรมไก่ชนในสังคมบาหลี[2]

ไก่และแมวกลายมาเป็นวัตถุทางการศึกษาสำหรับนักมนุษยศาสตร์เพื่อถอดรหัสสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่หนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ไก่ชนสำหรับ Geertz เผยให้เห็นความหมายอันลุ่มลึกของการพนันที่สัมพันธ์กับความเป็นชายและลำดับชั้นทางสถานะในสังคมบาหลี แมวสำหรับ Darnton คือหน้าต่างที่ทำให้เห็นความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกระฎุมพี Darnton กล้าหาญถึงขนาดที่เสนอว่าเหตุการณ์การสังหารหมู่แมวในปารีสครั้งนี้คือการซ้อมใหญ่ (dress rehearsal) ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสที่จะตามมา

คำถามต่าง ๆ ที่ยกขึ้นมาในตอนต้นบทความนี้ ไม่ใช่คำถามที่งาน คลาสสิกพยายามตอบ แต่กลุ่มงานหลังปี 2000 ต่างหากที่พยายามจะเข้าไปสนทนาอย่างจริง ๆ จัง ๆ กับคำถามเหล่านี้ งานประวัติศาสตร์สัตว์ในยุคหลังนี้จึงไม่ได้ใช้สัตว์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสัญลักษณ์อันสลับซับซ้อนของสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเพ่งมองสัตว์ในฐานะตัวแสดงทางประวัติศาสตร์ที่มีเลือดเนื้อ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กันยุ่งเหยิงกับตัวแสดงที่เรียกว่ามนุษย์ด้วย

งาน Colonizing Animals: Interspecies Empire in Myanmar[3] ของนักประวัติศาสตร์อังกฤษผู้เชี่ยวชาญพม่าในช่วงอาณานิคมนามว่า Jonathan Saha ก็เป็นหนึ่งในงานยุคหลังนี้ (ภาพ 1) งานชิ้นนี้ไม่ใช่งานชิ้นแรกของ Saha ที่นำสัตว์เข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ งานสำคัญของ Saha อย่าง  “Murder at London Zoo” (2016)[4] เราก็ได้เห็นบทบาทของช้างต่อประวัติศาสตร์อารมณ์ในช่วงปลายอาณานิคมมาแล้ว อารมณ์ที่ว่านี้คือความสงสารเห็นอกเห็นใจ (sympathy) ที่มีต่อ Said Ali ควาญช้างผู้ที่ถูกฆาตกรรมในสวนสัตว์กรุงลอนดอนและ San Dwe เพื่อนควาญช้างชาวกะเหรี่ยงที่กลายมาเป็นแพะรับบาป

Saha ยังมีงานชิ้นอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ ซึ่งนำสัตว์เข้ามาเป็นตัวแสดงหลักของงาน ยกตัวอย่างเช่น “Among the Beasts of Burma” (2015)[5], “Milk to Mandalay” (2016)[6], “Colonizing Elephants” (2017)[7] และ “Accumulations and Cascades” (2022)[8] งานต่าง ๆ เหล่านี้ของ Saha ก็ฝากรอยประทับไว้ในหนังสือ Colonizing Animals ด้วยเช่นกัน

 

A group of people riding an elephant

Description automatically generated

ภาพ 1 หน้าปกของหนังสือ Colonizing Animals (2021) ของ Jonathan Saha

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์

 

แว่นที่ Saha นำมาใช้เพ่งมองประวัติศาสตร์พม่าช่วงจักรวรรดิใน Colonizing Animals ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ (interspecies relationship) Saha เปิดหนังสือเล่มนี้ด้วยภาพ ๆ หนึ่งที่ Saha มองว่ารวบยอดแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ของจักรวรรดิอังกฤษในพม่าได้เป็นอย่างดี ภาพนี้คือภาพจากนิตยสาร "The Illustrated London News" ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาพนี้ถ่ายทอดให้เห็นการเคลื่อนตัวของเจ้าอาณานิคมแห่งยุควิคตอเรียเข้าสู่ดินแดนพม่า ผ่านการผสมผสานระหว่างเครื่องจักรไอน้ำและแรงงานของทั้งมนุษย์และสัตว์ (ภาพ 2) ช้างกับควาญชาวพม่าผสานแรงกันอย่างลงตัว ช่วยกันลากเจ้าอาณานิคมไปถึงจุดหมายปลายทาง โครงการของจักรวรรดิอังกฤษจึงไม่ได้พึ่งพาแต่เพียง ความเหนือกว่าของคนขาว แต่เป็นโครงการที่ต้องพึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถของคนพื้นเมือง และความสัมพันธ์ที่คนพื้นเมืองเหล่านี้มีต่อสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ

 

page17image49363584

ภาพ 2 ภาพจากนิตยสาร "The Illustrated London News" ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ระหว่างช้าง ชาวพื้นเมืองพม่า และชาวยุโรป รวมไปถึงความสัมพันธ์เหล่านี้กับธรรมชาติและเครื่องจักร

 

แนววิเคราะห์ด้วยแว่นความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์นี้เห็นได้ชัดสุดในบทที่ 4 “Imperial Differentiations“ ซึ่ง Saha นำแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์นี้ไปผสานกับวิธีวิทยาของประวัติศาสตร์อารมณ์ (history of emotions) และประวัติศาสตร์ผัสสะ (sensory history) Saha แสดงให้เห็นในบทนี้ว่า ผัสสะของมนุษย์กับสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ถูกรับรู้ผ่านกรอบคิดแบบจักรวรรดิ ผิวหนังของช้างสร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวให้กับผัสสะแบบอาณานิคมของคนขาว ในขณะที่ผิวหนังของชนพื้นเมืองพม่าถูกมองผ่านเจ้าอาณานิคมว่าไปกันได้กับผิวหนังของช้าง ผัสสะของชาวพื้นเมืองและช้างจึงลงรอยกันได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง

ความไม่สบายเนื้อสบายตัวของคนขาวยังเห็นได้จากการเผชิญหน้ากับหนู งู และแมลงกัดต่อย ผิวของคนขาวกลายเป็นเป้าของสัตว์เหล่านี้ คนขาวเจ้าอาณานิคมจึงมองว่าเนื้อหนังมังสาของตนนั้นต่างจากของคนพื้นเมือง ด้วยเหตุที่สัตว์ที่รบกวนเหล่านี้เป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ คนขาวจึงมักระแวดระวังการแพร่กระจายเชื้อโรคจากเหล่าคนพื้นเมืองที่เป็นคนรับใช้ภายในบ้านด้วย เพราะกายภาพของคนเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้กับกายภาพของสัตว์รบกวนต่าง ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับมนุษย์เป็นแง่มุมที่นักประวัติศาสตร์ก่อนหน้า Saha นำมาใช้เพื่อศึกษาภาวะอาณานิคมมาก่อน งานที่สำคัญก็คือ Empire of Dogs ของ Aaron Skabelund[9] นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นสมัยใหม่ กรอบคิดเรื่องเชื้อชาติ (race) ถูกนำมาแบ่งแยกสุนัขที่ศิวิไลซ์ (นำเข้าจากยุโรปหรือเพาะพันธุ์ขึ้นใหม่) ออกจากสุนัขที่ไม่ศิวิไลซ์ แน่นอนว่าสุนัขอย่างหลังส่วนมากจะเป็นสุนัขสายพันธุ์พื้นเมืองที่คนขาวมักจะเห็นว่าเป็นสุนัขจร - ในงานเขียนของแหม่มแอนนา (Anna Leonowens) ตอนช่วงบรรยายการเดินทางจากสิงคโปร์ด้วยเรือเข้ามายังกรุงเทพฯ ก็เทียบความต่างระหว่างสุนัขศิวิไลซ์และสุนัขพื้นเมืองไว้ด้วย

Saha หยิบประเด็นสุนัขมาพูดถึงในกรอบคิดความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาจากจดหมายของ Muriel Bowden ที่เขียนถึงแม่ในอังกฤษ Bowden นำสุนัขพื้นถิ่นตัวหนึ่งเข้ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านและตั้งชื่อให้ว่า Patch ด้วยพื้นเพของ Patch ที่น่าอัปยศอดสูในสายตาของคนขาว Bowden ก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะศิวิไลซ์ Patch ในทางกายภาพ เนื่องจากหางของ Patch อาจจะทำให้มนุษย์คนอื่น ๆ ระบุได้ว่าสุนัขตัวนี้ไม่ เจริญพอ Bowden และสามีจึงตัดสินใจตัดแต่งหางของ Patch เสียด้วยความช่วยเหลือจากคนรับใช้ชาวพื้นเมือง Saha แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์ผิวขาวและสุนัขพื้นเมืองยังถูกปรับให้เข้าที่เข้าทาง ไม่เฉพาะแต่ในด้านจิตใจหรือความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงรูปลักษณ์ภายนอกด้วย แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดของ Patch ก็ตามที

สภาวะบางอย่างก็ทำให้สัตว์กลายมาเป็นสหายใกล้ชิดกับเจ้าอาณานิคม ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่ George Younghusband นายทหารชาวอังกฤษ ต้องเดินทางจากพม่าไปยังสยามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สหายร่วมเดินทางของ Younghusband ก็คือม้าขนาดเล็กสายพันธุ์พื้นเมืองนามว่า Joe แม้ว่า Joe จะเป็นม้าที่ขี้โมโห ซุกซน เอะอะโวยวายยากที่จะควบคุม และชอบงับหมวกของ Younghusband แต่ด้วยสภาวะการเดินทางที่ยากลำบาก Joe กลับกลายมาเป็นสหายสนิทของ Younghusband ในบันทึก นายทหารชาวอังกฤษผู้นี้เห็นอกเห็นใจความเจ็บปวดที่ Joe ได้รับ ถึงแม้เขาจะรู้ว่า Joe แสร้งทำก็ตามที Younghusband ยังเขียนในบันทึกถึงวิธีการขี่และวางของลงบนหลัง Joe โดยที่ทำให้ Joe รู้สึกเจ็บน้อยที่สุด การเดินทางครั้งนี้ของ Younghusband ทำให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมระหว่างเจ้าอาณานิคมและสัตว์ที่ใช้ชีวิตและมีประสบการณ์ร่วมกันในสภาวะที่แตกต่างออกจากไปจากสภาวะความสะดวกสบายที่เห็นได้ในเมืองใหญ่เช่นย่างกุ้ง หรือเมืองแม่อย่างลอนดอน

 

ทุนผีดิบ (Undead capital)

 

หากอ่านชื่อหลักของหนังสือ คำถามที่ตามมาก็คือ การทำให้สัตว์ตกอยู่ภายใต้ภาวะอาณานิคมมีหน้าตาเป็นอย่างไร? Saha ใช้บทที่ 1 “Valuing Animals” ของหนังสือเพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้ในแง่มุมของการแปรเปลี่ยนคุณค่าของสัตว์ หลังจากที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่า อังกฤษมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ในพม่า บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมป่าไม้จึงเริ่มถูกสถาปนาขึ้นและแปรรูปเป็นเอกชน สัตว์สำคัญในอุตสาหกรรมนี้ก็คือช้าง เพราะนอกจากช้างจะมีพละกำลังที่มหาศาลในการลากจูงท่อนไม้แล้ว ช้างยังมีสติปัญญาอันแหลมคมในการฟังคำสัง ซึ่งแน่นอนว่าผ่านสื่อกลางโดยควาญช้างชาวพื้นเมือง

Saha มองว่าการที่ช้างถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ของจักวรรดิอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ของมนุษย์และช้างถูกแสดงผ่านแนวคิดเรื่องทุนที่ต่างไปจากทฤษฎีก่อนหน้า Saha ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่อง ทุนที่ต้องการความสม่ำเสมอ” (constant capital) จากสำนักคิดมาร์กซิสต์ กับ ทุนที่มีชีวิต” (lively capital) ของนักปรัชญาชื่อดังอย่าง Donna Haraway ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง “สหายต่างสายพันธุ์” (companion species - Saha ก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้แน่ ๆ) ที่มองว่ามนุษย์และสัตว์ (สุนัขในกรณีของ Haraway) ต่างก็มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก แยกขาดจากกันไม่ได้ แนวคิดนี้จึงค่อย ๆ สลายความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ และสลายขั้วตรงข้ามระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ

แนวคิด constant capital คือการมองว่าขั้นตอนของการทำให้วัตถุกลายเป็นทุนนั้นต้องผ่านการใส่คุณค่าลงไปอย่างสม่ำเสมอ (เช่น การดูแลปรับปรุงเครื่องจักร) Saha มองว่า constant capital นี้มีลักษณะ “ตาย” แล้ว มนุษย์จึงมีหน้าที่ใส่เติมเข้าไป ในขณะที่ทุนของ Haraway นั้นเป็นทุนที่มีชีวิต Haraway ยกตัวอย่างจากการที่มนุษย์ลงทุนอย่างมหาศาลกับสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขทั้งในทางโภชนาการและการแพทย์

ช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองแนวคิดนี้ กล่าวคือ ช้างเป็นสัตว์ที่มีชีวิต พละกำลังและสติปัญญาของช้างมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่ว่าคุณสมบัติเหล่านี้ยังไม่สามารถแปลงเป็นทุนได้ เพราะพละกำลังและสติปัญญาตามธรรมชาติของช้างนั้นต้องถูกเกลาเสียก่อนโดยควาญช้างผู้มีประสบการณ์ เพื่อให้เข้ารูปเข้ารอยกับแบบแผนของอุตสาหกรรมป่าไม้ และการขัดเกลาพละกำลังและสติปัญญาของช้างนี้เป็นงานที่ต้องทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการให้อาหาร หยูกยา และการรักษาความสะอาด Saha จึงมองว่าช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้ของอังกฤษมีลักษณะเป็นผีดิบ (undead) ช้างกึ่งตาย เพราะช้างยังไม่มีคุณสมบัติในการผลิตหากพลังทางกายภาพและสติปัญญายังไม่ถูกเกลา และกึ่งเป็น อันเนื่องมาจากพลังตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วก่อนการฝึกหัดของมนุษย์

 

สัตว์คือผู้อยู่ในสถานะรอง (subaltern)?

 

งานประวัติศาสตร์สัตว์มักถูกวิจารณ์โดยงานประวัติศาสตร์แนวทางอื่น ๆ เช่น งานที่ศึกษาผู้ที่อยู่ในสถานะรอง (subaltern) ว่าเป็นงานที่ลดทอนหรือมองข้ามความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่ยังตกอยู่ในสภาวะกดขี่และจำกัด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ทาส คนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ยุโรป ฯลฯ คนเหล่านี้ยังไม่มีพื้นที่หรือเสียงมากพอในงานประวัติศาสตร์ ไฉนนักประวัติศาสตร์ถึงหันไปหาสัตว์เสียแล้ว - น่าจะเป็นวิธีคิดคล้าย ๆ กันกับการกล่าวว่า คนก็ยังอดอยากกันอยู่ ไฉนไปพูดถึงเรื่องนามธรรมอย่างสิทธิเสรีภาพที่กินไม่ได้เสียแล้ว

ด้วยแว่นความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์นี้เองที่ทำให้ Saha ไม่ได้จัดความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ ในแนวดิ่ง เหมือนกับวิธีการจัดจำแนกธรรมชาติ (classification) ผ่านแนวคิดเรื่อง ห่วงโซ่แห่งชีวิต” (The Great Chain of Being) ในยุคกลางไปจนถึงเหล่านักคิดภูมิธรรม (Enlightenment) ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และวิธีคิดเรื่องเชื้อชาติของเจ้าอาณานิคมในยุคสมัยใหม่ กล่าวคือ มนุษย์อยู่บนยอดพีระมิด (ซึ่งในกรณีนี้ มนุษย์ก็ยังถูกแบ่งออกเป็นขั้น ๆ ด้วยเช่นกัน) ตามลงมาด้วยสัตว์ประเภทต่าง ๆ แต่ Saha มองความสัมพันธ์นี้ในแนวระนาบ การหันไปมองสัตว์ของ Saha จึงไม่ได้เป็นการมองข้ามสายพันธุ์หนึ่งไปยังอีกสายพันธุ์หนึ่ง ด้วยทัศนียภาพแนวระนาบนี้ การมองสัตว์ของ Saha ทำให้มองเห็นมนุษย์ (ทั้งมนุษย์ที่อยู่และไม่ได้อยู่ในสถานะรอง) ด้วยไปพร้อม ๆ กัน

เราจะเห็นได้จากที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ในเชิงผัสสะ การเพ่งมองไปที่สัตว์ทำให้เห็น ความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งที่คนผิวขาวมีต่อชนพื้นเมือง การวิเคราะห์ผัสสะระหว่างชนพื้นเมืองและสัตว์ประเภทต่าง ๆ ไปด้วยกันทำให้เห็นอำนาจกระทำการของเจ้าอาณานิคมต่อชนพื้นเมืองในแง่มุมที่ทั้งลึกและกว้าง การมองไปยังสัตว์จึงไม่ใช่การลดหรือเพิกเฉยต่อระดับ ความรุนแรงของภาวะอาณานิคมต่อผู้ที่อยู่ในสถานะรอง แต่ทำให้เห็นและเข้าใจ ความรุนแรงได้ชัดขึ้นต่างหาก

ใน Colonizing Animals เราเห็นร่องรอยของการใช้สัตว์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบสัญลักษณ์ในสังคมมนุษย์ด้วยเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ของการเข้ามาปกครองพม่าของจักรวรรดิอังกฤษ ช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของอธิปไตยในระบอบเก่าได้ถูกเคลื่อนย้ายจากมัณฑะเลย์มายังย่างกุ้ง เมืองหลวงของอาณานิคมพม่า เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นการเคลื่อนตัวของระบบสัญลักษณ์ที่เป็นภาพแทนของอำนาจอธิปไตยจากระบอบเก่าภายใต้กษัตริย์พม่ามาสู่ระบอบใหม่ภายใต้ภาวะอาณานิคมแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ในทางกลับกัน ในช่วงปลายของจักรวรรดิ เหตุการณ์เมืองย่างกุ้งแตกหลังจากการโจมตีของญี่ปุ่นก็เผยให้เห็นอำนาจอธิปไตยที่แตกสลายของจักรวรรดิอังกฤษผ่านภาวะยุ่งเหยิงและกระจายตัวของสัตว์ประเภทต่าง ๆ คำเล่าลือในช่วงเวลาดังกล่าวบอกว่าสัตว์ที่เคยอยู่ในสวนสัตว์ย่างกุ้งได้หนีออกมาและป้วนเปี้ยนไปทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นอุรังอุตัง เสือดำ ที่เพ่นพ่านไปทั่ว จระเข้ที่หลุดเข้าไปในลำคลอง หนู หมาจร และแร้งต่างก็ออกหากินอยู่ภายในเมือง

สัตว์กับระบบสัญลักษณ์ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านเจ้าอาณานิคมโดยกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานะรองด้วยเช่นกัน ในบทที่ 5 “Anti-Colonial Affinities” Saha หยิบยกตัวอย่างจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ The Sun ของพม่า หนังสือพิมพ์หัวนี้จริง ๆ แล้วก็เป็นงานเขียนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ของชาตินิยมพม่าในช่วงปลายอาณานิคมด้วย เนื้อหาในคอลัมน์ที่ว่ามีชื่อว่า “Town Gossip by Town Mouse” วิพากษ์วิจารณ์ภาวะอาณานิคมที่เข้าแทรกซึมวิถีชีวิตประจำวันของชนพื้นเมืองพม่าในทุกอณู โดยใช้ภาพสัตว์เป็นภาพแทน ชื่อของคอลัมน์ก็บ่งบอกได้ว่านักเขียนประจำคอลัมน์นี้เปรียบเสมือนหนูในเมืองใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษที่แฝงตัวเข้าไปตามหลืบซอกซอยต่าง ๆ ของเมือง รู้เห็นถึงความเสื่อมถอยและเสื่อมทรามทางศีลธรรมของชาวเมืองในระบอบอาณานิคมที่ค่อย ๆ ห่างไกลจากศีลธรรมในพุทธศาสนา

การมองสัตว์ในฐานะตัวแสดงทางประวัติศาสตร์ที่รบกวนหรือหยุดสภาวะอาณานิคมเห็นได้จากตำราสัตว์ (bestiary) สมัยใหม่อย่าง Animalia (2020)[10] หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความสั้น ๆ ของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาสัตว์ โดยเนื้อหาของหนังสือแบ่งตามลำดับตัวอักษรโรมันตั้งแต่ A ถึง Z แน่นอนว่า Saha ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนในหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน Saha เขียนบท “E is for Elephant”

จริง ๆ แล้ว แมวในงานของ Darnton ก็ช่วยพูดให้มนุษย์ผู้ที่อยู่ในสถานะรองในสังคมปารีส เพียงแต่ว่าแมวเหล่านี้ต้องสังเวยชีวิตเพื่อเป็นปากเสียงให้กับมนุษย์ แต่สัตว์หลายสายพันธุ์ใน Colonizing Animals ก็มีทั้งที่สังเวยชีวิตและใช้ชีวิตเคียงคู่กับมนุษย์ ทั้งในจินตนาการและความเป็นจริง

 


 

แม้ว่าชื่อหนังสือจะมีคำว่าจักรวรรดิ (empire) เป็นส่วนประกอบ แต่งานชิ้นนี้ไม่ได้เข้าไปแตะหรือรื้อค้นความเป็นจักรวรรดิของอังกฤษที่มีลักษณะเป็น “ระดับโลก” (globality) มากนัก น่าสนใจว่าถ้าเรานำวิธีวิทยาของ ประวัติศาสตร์โลก” (global history) เข้ามาจับเนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ เราจะมองเห็นความสัมพันธ์นี้ในลักษณะ “โลก” (global) ที่ข้ามชาติ ข้ามเขตแดน ข้ามภูมิภาค ข้ามทวีป ได้ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ Saha เผยให้เห็นบางช่วงบางตอนแล้วในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการปะทะทางผัสสะระหว่างชนผิวขาวชาวยุโรปกับชนพื้นเมือง หรือการหลั่งไหลเข้ามาของวัวจากอินเดียที่เข้ามา เจือปนกับวัวสายพันธุ์พื้นถิ่นโดยผ่านโครงข่ายของจักรวรรดิอังกฤษ ฯลฯ

สุดท้ายนี้ สัตว์พูดได้หรือไม่?” เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะมีงานทางสัตววิทยา (zoology) ที่กล่าวว่าสัตว์บางประเภท เช่น ช้าง มีความสามารถในการสื่อสารที่สลับซับซ้อน ซับซ้อนถึงขึ้นที่เรียกได้ว่ามีระบบไวยกรณ์ในการสื่อสาร[11] อย่างไรก็ตาม ในงานประวัติศาสตร์อย่าง Colonizing Animals สัตว์อาจจะพูดไม่ได้แบบมนุษย์ แต่สัตว์ก็เป็นสหายต่างสายพันธุ์ที่สามารถทำให้เสียงของมนุษย์เปล่งออกมาได้ท่ามกลางสภาวะกดขี่และจำกัดของจักรวรรดิอังกฤษ

 


[1] Robert Darnton, The Great Cat Massacre and Other Episodes in French Cultural History, New York: Basic Books, 1984.

[2] Clifford Geertz, “Deep Play: Notes on the Balinese Cockfight,” Daedalus, Vol. 101, No. 1, 1972, pp. 1-37.

[3] Jonathan Saha, Colonizing Animals: Interspecies Empire in Myanmar, Cambridge University Press, 2021.

[4] Jonathan Saha, "Murder at London Zoo: Late Colonial Sympathy in Interwar Britain," American Historical ReviewVol. 121, No. 5, 2016, pp. 1468-1491.

[5] Jonathan Saha, “Among the Beasts of Burma: Animals and the Politics of Colonial Sensibilities, c. 1840-1940,” Journal of Social History, vol. 48, no. 4, 2015, pp. 910–32.

[6] Jonathan Saha, Milk to Mandalay: dairy consumption, animal history and the political geography of colonial Burma,” Journal of Historical Geography, Volume 54, 2016, pp. 1-12.

[7] Jonathan Saha, “Colonizing Elephants: Animal Agency, Undead Capital and Imperial Science in British Burma,” BJHS Themes, vol. 2, 2017, pp. 169–189.

[8] Jonathan Saha, Accumulations and Cascades: Burmese Elephants and the Ecological Impact of British Imperialism,Transactions of the Royal Historical Society, Volume 32, April 2022, pp. 1-21.

[9] Aaron Herald Skabelund, Empire of Dogs: Canines, Japan, and the Making of the Modern Imperial World, Cornell University Press, 2011.

[10] Antoinette Burton, and Mawani Renisa, editors, Animalia: An Anti-Imperial Bestiary for Our Times, Duke University Press, 2020.

[11] Alex Gendler, “Why elephants never forget,” TED-Ed, https://www.ted.com/talks/alex_gendler_why_elephants_never_forget?language=en