ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: ผู้เขียนต้องการเผยแพร่บทความนี้เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่เอมมานูเอล เลอรัว ลาดูรี (Emmanuel Le Roy Ladurie) นักประวัติศาสตร์สำนักอันนาลส์ (Annales) คนสำคัญของฝรั่งเศสซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566
บทความนี้เคยใช้ประกอบการบรรยาย “ความคิดทางประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20” ในหัวข้อ Emmanuel Le Roy Ladurie เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร และใช้ประกอบวิชา 004351 แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ ของภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565
ด้วยความที่บทความต้นฉบับไม่ได้ตั้งใจเขียนเผยแพร่ในวงกว้าง จึงมีข้อบกพร่องที่สังเกตเห็นได้หลายประการ เช่น ชื่อเฉพาะเป็นการถอดเสียงโดยตัวผู้เขียนเอง อาจไม่ถูกหลักภาษาศาสตร์เท่าไหร่นัก, การเขียนชื่อเฉพาะอย่างไม่เสมอต้นเสมอปลาย บางตอนพิมพ์เป็นภาษาไทย บางตอนพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส, การอ้างอิงที่อาจจะน้อยเกินไป, การไม่ได้อัพเดตข้อมูลตั้งปี 2018 ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบทความได้ ถึงกระนั้นผู้เขียนก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจไม่มากก็น้อย
ชีวิตและผลงานของเอ็มมานูเอล เลอรัว ลาดูรี (Emmanuel Le Roy Ladurie, 1929-2023)
Emmanuel Le Roy Ladurie has not only a good claim to be the most wide-ranging and prolific of the Annales historians, but the development of his career is also paradigmatic of the triumph and subsequent atrophy of the Annales school. [1]
ประวัติครอบครัว การศึกษา การเมืองและการเริ่มต้นทางวิชาการ
เอมมานูเอล เลอรัว ลาดูรี เกิด 19 กรกฎาคม 1929 ในแคว้น Normandie ทางเหนือของฝรั่งเศส ครอบครัวเป็นอนุรักษ์นิยมและเป็นคาทอลิก เป็นเจ้าที่ดินในชนบท แต่บิดาก็เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเป็นธรรมของชาวนา เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ทำให้สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของชาวนาเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน Jacques Le Roy Ladurie ผู้เป็นพ่อ จึงทำงานเพื่อ “ปลดปล่อยชาวนา” (peasant emancipation) โดยการตั้งสหภาพการเกษตร เขาเป็นบรรณาธิการวารสาร “สหภาพชาวนา” ต่อมาเป็นเลขาธิการของสหภาพ หลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมันนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเกษตรในรัฐบาล Vichy ของจอมพลเปแตงในปี 1942 แต่ก็ได้ลาออกในปีเดียวกันเพื่อเข้าร่วมขบวนการต่อต้านนาซีเยอรมัน เขาถูกจับในปี 1945 แล้วสุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากนาซีพ่ายแพ้
การที่เลอรัว ลาดูรี[2] เติบโตในครอบครัวเช่นนี้ ทำให้เขาสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมทางวัตถุและทางการเมืองของชาวนา หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นจากเมือง Caen ในปี 1945 ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมปลายที่ Lycée Henri IV ในกรุงปารีส อยู่ได้สองปีปรากฎว่าถูกไล่ออก จึงย้ายไป Lycée Lakanal ที่ค่อนข้าง “ซ้าย” กว่าที่เมือง Sceaux ชานกรุงปารีส หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ Ecole normale supérieure (ENS) ในปี 1949 โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ในปี 1951 และในปี 1953 ได้สอบผ่าน agrégation สาขาประวัติศาสตร์ อันเป็นเกียรติบัตรที่จำเป็นต้องมีสำหรับวิชาชีพสอนหนังสือ
ในช่วงสำคัญระหว่างเรียนหนังสือนี้และในช่วงแรกๆ ของการทำงาน คือในปี 1949-1956 ลาดูรีได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (PCF) และสนับสนุนสตาลิน บทบาทนำของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสในการต่อต้านเยอรมันและผู้ร่วมมือกับเยอรมัน รวมทั้งภาพลักษณ์ของสหภาพโซเวียตในฐานะผู้นำในการเอาชนะนาซี ดึงดูดเยาวชนให้เข้าไปร่วมจำนวนมาก ในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่เกิดปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในจีนด้วย ลาดูรีได้เริ่มอ่านหนังสือฝ่ายซ้ายตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย ต่อมาจึงตัดสินใจเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในระหว่างที่เรียนที่ ENS เขาอธิบายว่าในปี 1949 นั้น กว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษา ENS เป็นสมาชิกพรรค หลังจากนั้นเขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสหภาพนักศึกษา (UNEF) ของ ENS และได้ออกวารสาร Clarté ร่วมกับนักศึกษาคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ เช่น François Furet มีเนื้อหาต่อต้านลัทธิอาณานิคมและสงครามเกาหลี
ระหว่างเคลื่อนไหวในฐานะตัวแทนสหภาพนักศึกษา ได้พบรักกับ Madeleine Pupponi ลูกสาวนักกิจกรรมคอมมิวนิสต์จากคอร์ซิกา ลาดูรีจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านของ Madeleine ทางใต้ของฝรั่งเศสในปี 1953 จากนั้นไปเกณฑ์ทหารอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงเริ่มต้นอาชีพนักวิชาการในปี 1955 ด้วยการเป็นอาจารย์ระดับมัธยมปลายที่เมืองมงเปอลีเย ระหว่างนั้นก็เตรียมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไปด้วย ในทางการเมือง ลาดูรีเริ่มออกห่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงต้นปี 1956 มีรายงานของ Nikita Khrushchev หลุดออกมาประณามลัทธิเชิดชูบูชาสตาลิน รวมทั้งความเป็นเผด็จการของสตาลินที่ขัดกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นมีอีกชนวนสำคัญ คือสหภาพโซเวียตได้บุกฮังการีและปราบปรามการประท้วงอยู่รุนแรง ทำให้ปัญญาชนจำนวนมาก รวมทั้งลาดูรี ลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส[3]
หลังจากสอนในโรงเรียนมัธยมได้สองปี ในปี 1957 ก็เริ่มย้ายเข้าสู่การทำงานวิจัยและการศึกษาระดับสูง โดยเข้าไปเป็นนักวิจัยสังกัดสถาบันวิจัยแห่งชาติของฝรั่งเศส (CNRS) ต่อมาในปี 1960 เข้าไปเป็นผู้ช่วยสอนที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมงเปอลีเย ในช่วงนี้เอง แม้ลาดูรีจะออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายโดยสิ้นเชิง ในช่วงปี 1957-1958 เมื่อฝ่ายซ้ายรณรงค์ต่อต้านสงครามอัลจีเรีย ลาดูรีได้ไปสังกัดพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายสังคมนิยมและในปี 1958 ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการในเขตท้องถิ่นของ Montpellier ในปีถัดมาได้ส่งตัวแทนเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ก็มีผู้มากาบัตรให้เพียง 3.6% ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
ความล้มเหลวในเส้นทางการเมือง รวมทั้งความขัดแย้งรุนแรงภายในพรรค ทำให้ลาดูรีลาออกจากพรรคแนวร่วมสังคมนิยมในปี 1963 และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ถอยห่างจากอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ[4] ประจวบเหมาะกับในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขาได้รับเชิญจากแฟร์น็อง โบรเดล (Fernand Braudel) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ Section ที่ 6 “เศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์” ของสถาบัน Ecole pratique des hautes etudes (EPHE) ที่กรุงปารีส[5] ให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยสอนที่นั่น (ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้สอนประจำในปี 1965) ปีนั้นจึงเป็นโอกาสให้ออกจาก Montpellier ออกจากพรรคแนวร่วมสังคมนิยม เข้าสู่ปารีส และเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นทศวรรษทางวิชาการของลาดูรี (1963-1973)
ยุคเริ่มต้นภายใต้อิทธิพลของ Annales รุ่นก่อน (1963-1973)
ในปี 1964 ลาดูรีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย Sorbonne ในกรุงปารีส โดยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ชาวนาแห่งล็องก์ด็อก (Languedoc)” ภายใต้การควบคุมของแอร์เนส ลาบรูส (Ernest Labrousse) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจและผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากมาร์ค บล็อค (Marc Bloch) ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2[6] ก่อนสำเร็จการศึกษา ลาดูรีก็ได้ตีพิมพ์บทความแล้วหลายชิ้น รวมถึงในวารสาร Annales ด้วย แต่การตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาในปี 1966 ทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือในฐานะผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชนบทของฝรั่งเศส
Les paysans de Languedoc (1966)
วิทยานิพนธ์และหนังสือเรื่อง ชาวนาแห่งล็องก์ด็อก (Les paysans de Languedoc) นั้น เป็นความพยายามจะเขียน “ประวัติศาสตร์องค์รวม” (histoire totale) ของชาวนาในแคว้นทางใต้ของฝรั่งเศส โดยการใช้ศาสตร์ต่างๆ เช่น ประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ โครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรม หลักฐานที่ใช้คือ บันทึกการจ่ายภาษีที่ดินและภาษีหรือเงินบริจาคที่จ่ายให้กับโบสถ์[7] จากการวิเคราะห์หลักฐานจำนวนมหาศาลนี้ ลาดูรีจึงพบร่องรอยการเคลื่อนย้ายของประชากรในชนบท การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการถือครองที่ดิน
ลาดูรีเสนอว่า หลังจากจำนวนประชากรและเศรษฐกิจถดถอยในศตวรรษที่ 14 นั้น ช่วงระหว่างปี 1490-1570 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต แต่ชาวนากลับยากจนลง ในช่วงนั้นการเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดการขยายที่ทำกินใหม่ๆ ด้วยการถางป่า และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตร หันไปปลูกพืชที่ปลูกยากขึ้น เช่น องุ่นและมะกอก แต่การลงทุนสูงเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์ที่ประชากรมีมากเกินกว่าการผลิต ผลคือค่าแรงตกต่ำและสินค้ามีราคาสูง ความเป็นอยู่ในแง่อาหารการกินของชาวนาก็แย่ลง หันมากินขนมปังที่ราคาถูกกว่าอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันมะกอกและเนื้อ นอกจากนี้ ช่วงปี 1526-1535 สภาพภูมิอากาศย่ำแย่ทำให้การเกษตรตกต่ำ ชาวนาจึงยิ่งลำบากเข้าไปอีก แต่ก็ปรากฎว่าในสภาวะที่ลำบากนี้ มีกลุ่มนายทุนและเจ้าที่ดินที่กอบโกยผลประโยชน์จนร่ำรวย ความยากลำบากของชาวนานี้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกทางศาสนาและทางสังคม ชาวนาเริ่มโกรธแค้นการจ่ายภาษีให้โบสถ์ เกิดการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ในช่วง 1560-1594 มีการรวมกลุ่มกับคนในเมืองเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายหลายแห่งก็มีการปะทะกันรุนแรง
หลังจากนั้น ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ก็เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำอีก ราคาสินค้าตกต่ำ การผลิตลดลง การจับจองพื้นที่ทำกินก็ลดลง ประชากรลดลง สภาวะนี้ยาวนานไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 17 จากการต่อต้านภาษีของโบสถ์ นำไปสู่การต่อต้านภาษีของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใช้เงินมากในการทำสงคราม ภาระยิ่งตกไปสู่ชาวนาที่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ความยากลำบากต่างๆ นาๆ ของชาวนา อันมีที่มาจากปัญหาเชิงประชากรศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ส่งผลต่อความคิดความเชื่อของชาวนา เมื่อเกิดการประท้วงต่อต้านการเก็บภาษีในปี 1700 ชาวนาเชื่อมโยงการกดขี่ของผู้เก็บภาษีกับภาวะสิ้นโลกตามความเชื่อของโปรเตสแตนต์
“พระเอก” ในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ของลาดูรี คือวัฏจักรทางการเกษตร ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 เขาเสนอเรื่องราวของสังคมชนบทที่ดิ้นรนพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตกับจำนวนประชากร[8] แม้ว่าในช่วงเวลาที่เขาเสนอ จะมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องรายรับ ราคา ฯลฯ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้กระทบเนื้อหาหลักที่เขาต้องการจะนำเสนอแต่อย่างใด นอกจากนี้ ลาดูรียังกล่าวว่า ถึงแม้ว่างานชิ้นนี้เขาจะศึกษาเรื่องชาวนาในแคว้นล็องก์ด็อกเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วข้อเสนอของเขา สามารถนำไปทำความเข้าใจฝรั่งเศสทั้งประเทศ เพราะจากการประมวลงานของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนอื่นๆ แล้ว เขาเห็นว่าชาวนาในแคว้นอื่นๆ ก็ประสบกับปัญหาประเภทเดียวกัน[9]
หนึ่งปีถัดมา ในปี 1967 ลาดูรีตีพิมพ์ ประวัติศาสตร์ภูมิอากาศตั้งแต่ปี 1000 (Histoire du Climat depuis l’An Mil) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ คือกาลานุกรมต้นไม้ (dendrochronology - การหาอายุโดยวิเคราะห์วงเติบโตของต้นไม้) และชีวภูมิอากาศวิทยา (phenology – การศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างพืช สัตว์ และฤดูกาล) ลาดูรีถือว่าวงเติบโตของต้นไม้สามารถบ่งบอกความแห้ง ชื้น ร้อน หนาว ของช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้แม่นยำ ส่วนการขยายตัวของธารน้ำแข็งแถบเทือกเขาแอลป์ในต้นศตวรรษที่ 17 สะท้อนว่าหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น มีอากาศหนาวมาก กระทั่งในปี 1644 บาทหลวง Charles de Sales ต้องพาชาวบ้านสามร้อยคนไปสวดมนต์ไล่ธารน้ำแข็ง
Histoire du climat depuis l’An Mil (1967)
นอกจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ลาดูรีก็ใช้บันทึกเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่มีตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 บันทึกเหล่านี้มีอยู่สม่ำเสมอเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมให้ได้ผลดีขึ้น ซึ่งการสังเกตสภาพภูมิอากาศก็เป็นส่วนสำคัญในนั้น เหตุการณ์เช่นฤดูใบไม้ผลิที่หนาวผิดปกติอันส่งผลให้ผลิตผลเสียหายจะได้รับการบันทึกไว้ ในขณะที่บันทึกเกี่ยวกับคุณภาพของไวน์นั้นมีก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 โดยระบุชัดว่าสภาพอากาศในปีนั้นๆ ส่งผลต่อคุณภาพไวน์อย่างไร นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่มีการเก็บองุ่นในแต่ละปี ก็บ่งบอกสภาพภูมิอากาศในปีนั้นๆ ได้ เพราะหากเก็บเกี่ยวเร็ว แสดงว่าปีนั้นอากาศร้อน ในส่วนบันทึกที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือระบุอุณหภูมิเป็นองศาชัดเจนในแต่ละเดือน ในอังกฤษเริ่มบันทึกในปี 1659 ส่วนในฝรั่งเศสเริ่มปี 1676
จากหลักฐานเหล่านี้ ลาดูรีเสนอว่าประมาณปี 1000 อากาศโดยทั่วไปอุ่น ส่งผลให้พวกไวกิ้งเดินทางบุกยึดเมืองต่างๆ ทางเหนือและชาวนาเริ่มถางป่าขยายพื้นที่ทำกิน ต่อมาในปี 1200-1300 และ 1580-1850 เรียกว่าเป็นยุคน้ำแข็งย่อยๆ เพราะอากาศเย็นขึ้นและธารน้ำแข็งขยายตัวมาก หลังจากนั้นโลกก็ค่อยๆ ร้อนขึ้น ในหนังสือนี้ลาดูรีเน้นยุค 1580-1850 เป็นหลัก เขาเห็นว่าช่วงปี 1510-1560 นั้นอากาศร้อนกว่าปกติ (ซึ่งหมายความว่าชาวนาล็องก์ด็อกในวิทยานิพนธ์ของเขาต้องเผชิญกับแสงแดดที่รุนแรง) ในปลายศตวรรษที่ 16 อากาศค่อยๆ หนาวขึ้น และหนาวอยู่อย่างนั้นยาวนานนับศตวรรษ สภาพอากาศที่หนาวและชื้นเช่นนี้ส่งผลให้ช่วงเวลาในการทำการเกษตรสั้นลงและการเก็บเกี่ยวนั้นช้าลง และทำให้เศรษฐกิจชลอตัว
แม้ลาดูรีจะเชื่อมโยงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อสังคมและเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่เขาเน้นว่า “พระเอก” ในเรื่องนี้ คือสภาพภูมิอากาศ เขาต้องการ “เขียนประวัติศาสตร์สภาพภูมิอากาศในตัวมันเอง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับมนุษย์ หากมนุษย์มาเกี่ยวข้องบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องรอง[10] เขาต้องการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างช้าๆ และเน้นความสืบเนื่อง รวมถึงการเชื่อมโยงศาสตร์สองศาสตร์ คือประวัติศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน
การตีพิมพ์สองผลงานชิ้นสำคัญข้างต้นนี้ รวมถึงบทความย่อยๆ อีกจำนวนมากในวารสารที่โด่งดังอย่างอันนาลส์ (Annales) ทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือในฐานะนักประวัติศาสตร์ “รุ่นใหม่” ในวัย 30 ปลายๆ 40 ต้นๆ ในปี 1969 เขาได้เป็นกรรมการบริหารของวารสารอันนาลส์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากรุ่นก่อนหน้าที่มีแฟร์น็อง โบรเดลเป็นบรรณาธิการบริหารเพียงคนเดียว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสำนักอันนาลส์รุ่นที่สาม[11] ในปีเดียวกันนั้นเขาเข้าไปเป็นอาจารย์ที่ซอร์บอน หลังจากที่ซอร์บอนถูกแบ่งเป็น 13 มหาวิทยาลัยในปี 1970 ลาดูรีจึงย้ายไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปารีส 7
ในเดือนพฤษภาคม 1973 เขาตีพิมพ์หนังสือรวมบทความชื่อ อาณาบริเวณของนักประวัติศาสตร์ (Le territoire de l’historien)[12] ประกอบด้วย 29 บทความ แบ่งเป็นสี่หัวข้อหลัก คือ การปฏิวัติเชิงปริมาณในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ชนบทแนวใหม่ การวิจัยประชากรศาสตร์ในเชิงประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ภูมิอากาศในฐานะประวัติศาสตร์ที่ไร้มนุษย์ ถือว่าเป็นข้อเสนอวิธีการเขียนประวัติศาสตร์โดยเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ และใช้หลักฐานใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์แบบระยะยาว (longue durée) ตามแนวทางของสำนักอันนาลส์
Le territoire de l’historien (1973)
ในปี 1973 ลาดูรีได้ไปถึงจุดสูงสุดของนักวิจัยในฝรั่งเศส คือ Collège de France โดยได้รับเลือกให้รับตำแหน่งต่อจากโบรเดลให้เป็น Chair ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมสมัยใหม่[13] โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใน Collège de France นั้น จะต้องมีผลงานโดดเด่นและ “สุกงอม” (Mature) ทางความคิด นักวิชาการคนนั้นๆ จะนำเสนอความเป็นตัวตนและแก่นหลักทางวิชาการของตนในการปาฐกถาครั้งแรก เรียกว่า leçon inaugurale
ลาดูรี “เปิดตัว” ที่ Collège de France ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1973 โดนเสนอเรื่อง “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคลื่อนไหว” (histoire immobile) กล่าวคือ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 จนถึงราว 1720 ซึ่งเป็นเวลาราว 400 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเชิงประชากร ถือเป็นช่วงที่มีความสมดุลกันระหว่างทรัพยากรและอัตราการบริโภค ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและรูปแบบกสิกรรมมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก ความคงที่ของประชากรและเศรษฐกิจแบบนี้ ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมก็หยุดนิ่งเช่นกัน สถาบันหลักๆ ในหมู่บ้านและในครอบครัว รวมถึงความเชื่อ ความคิดของผู้คนไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแต่อย่างใด
หนังสือถอดความปาฐกถาของ Le Roy Ladurie
ข้อเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งนี้ รวมถึงงานสำคัญสำคัญสามชิ้นที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลาดูรีเป็นผู้สืบทอดทางความคิดของสำนักอันนาลส์อย่างลูเซียง แฟบวร์ (Lucien Febvre), มาร์ค บล็อค (Marc Bloch), และแฟร์น็อง โบรเดล (Fernand Braudel) ในแง่การเน้นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีระยะเวลาที่สืบเนื่องยาวนานกว่าประวัติศาสตร์เชิงเหตุการณ์และประวัติศาสตร์การเมือง การเน้นความสืบเนื่องนี้ทำให้ก้าวข้ามการกำหนดยุคสมัย (periodization) แบบประวัติศาสตร์กระแสหลัก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ลาดูรีแตกต่างจากอันนาลส์รุ่นก่อน คือการศึกษาสามัญชนคนธรรมดา เช่นกลุ่มชาวนา[14] ส่วนหากจะสนใจปัจเจกชนในทางประวัติศาสตร์ ก็จะเลือกคนที่เป็นคนตัวเล็กๆ ไม่มีใครรู้จัก เพื่อเป็นตัวแทนที่ฉายให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นในเชิงสังคม ลาดูรีเน้นศึกษาปลายยุคกลางถึงกลางศตวรรษที่ 18 และเสนอว่า หากมองแบบระยะยาวแล้ว จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์มักจะเน้น เช่น สงครามร้อยปี การกำเนิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และการปฏิรูปศาสนานั้น มีผลต่อชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งคือชาวนาในชนบท น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือการหดตัวของธารน้ำแข็ง ที่มีลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
พูดอีกอย่างก็คือ หากศูนย์กลางความสนใจของลาดูรีอยู่ที่ชนบทและการมองประวัติศาสตร์ระยะยาวแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็เป็นเรื่องรอง เป็นต้นว่าการเติบโตของเมืองก็เป็นเพียงภาพสะท้อนของการขยายตัวของประชากรในชนบท การเกิดสงครามในตัวมันเองไม่ได้มีความสำคัญอะไรในทางประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่มาพร้อมสงครามอย่างโรคระบาดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่า วันสำคัญต่างๆ เช่น ปีขึ้นครองราชย์ หรือการเซ็นสนธิสัญญา ก็ไม่มีความสำคัญอะไร วันสำคัญสำหรับลาดูรีมีลักษณะเป็นวัฏจักรตามฤดูกาล เช่น ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวองุ่น หรือการเคลื่อนย้ายฝูงแกะจากทุ่งหญ้าในช่วงฤดูร้อนไปอีกทุ่งหนึ่งในช่วงฤดูหนาว
ตัวแสดงที่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง จึงไม่ใช่กษัตริย์ นายพล พระ หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่คือป่า ทุ่งหญ้า ทุ่งนา และที่สำคัญคือชาวนาที่ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในความสัมพันธ์นี้
การเขียนประวัติศาสตร์แบบจุลภาค (Micro-history, 1975-1979)
ที่ผ่านมา แม้ว่าลาดูรีจะได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในหมู่นักวิชาการในฐานะผู้สืบทอดความคิดสกุล Annales และไปสู่จุดสูงสุดที่ Collège de France แต่ดูเหมือนว่านั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในชีวิตทางวิชาการของลาดูรี หลังจากรับตำแหน่งที่ Collège de France แล้ว ลาดูรีพยายามแสวงหาแนวทางอื่นในการเขียนประวัติศาสตร์ โดยได้เขียนงานออกมาจำนวนหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าพัฒนาทิศทางการเขียนประวัติศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากอันนาลส์รุ่นก่อนๆ รวมถึงต่างจากที่ตัวเขาเองเคยเขียนมา
ผลงานที่ทำให้เขาโด่งดังอย่างแท้จริงในฐานะปัญญาชนสาธารณะ คือการพิมพ์หนังสือเรื่อง มงไตยู (Montaillou: village Occitan de 1294 à 1324) ในปี 1975 หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดีและเป็นหนังสือเกี่ยวชีวิตชาวนาในยุคกลางที่มีคนทั่วไปอ่านมากที่สุด[15] สาเหตุหนึ่งก็เพราะหลุดออกจากแนวทางของอันนาลส์ที่เน้นข้อมูลสถิติและหลักฐานมหาศาลซึ่งผู้อ่านต้องมีความเชี่ยวชาญถึงจะเข้าถึงได้ อีกทั้งระยะเวลาในหนังสือเล่มนี้ ก็ครอบคลุมเพียงแค่ 30 ปี แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประวัติศาสตร์ระยะยาว (Longue durée) แบบอันนาลส์ที่มองภาพรวมหลายศตวรรษ[16]
ดูเหมือนว่าลาดูรีตั้งใจจะสื่อสารกับผู้อ่านทั่วไป ในตอนแรก ลาดูรีอยากจะเขียนเป็นนิยาย และเมื่อปี 1971 เขาลงพื้นที่เพื่อทำเป็นสารคดีเผยแพร่ในโทรทัศน์ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเขียนเป็นงานประวัติศาสตร์ ในงานชิ้นนี้ ลาดูรีซึ่งได้รับอิทธิพลจากชาติพันธุ์วิทยา (Ethnologie) ใช้หลักฐานบันทึกของฌาค ฟูนีเย่ (Jacques Fournier) ตำรวจศาสนาที่เข้ามาสอบสวนพวกนอกรีตในเมืองมงไตยู (Montaillou) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสประมาณ 200 คน ประกอบสร้างขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตประจำวันของหมู่บ้านในช่วงปี 1318-1325[17]
สิ่งที่ลาดูรีต้องการเสนอ คือ “ประวัติศาสตร์องค์รวม” (histoire totale) แต่แทนที่จะเน้นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใหญ่ๆ แบบโบรเดล เขาเน้นที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อมงไตยู (Montaillou) โดยเริ่มต้นด้วยการเสนอสังคมวิทยาของหมู่บ้าน โดยเน้นว่าบ้านของตระกูลสำคัญในหมู่บ้าน เช่น ตระกูลแคลร์ก (Clergues) เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญสำหรับชาวบ้าน ไม่ใช่วังของพวกขุนนางหรือพระ ตระกูลพวกนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับอำนาจที่สูงขึ้นไป ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงแกะ ฤดูกาลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ในส่วนที่สองของหนังสือ ลาดูรีลงลึกไปที่ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ อาหารการกิน การเลี้ยงเด็ก ความตาย งาน มโนทัศน์เรื่องเวลา เวทมนต์คาถา ฯลฯ ในทางความเชื่อ เขาเสนอว่าชาวบ้านนั้นมีความเข้าใจเรื่องศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนาในแบบของเขา เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของแคทาร์ (Cathar) กับคาทอลิก ที่แตกต่างจากพระหรือผู้มีการศึกษาในยุคนั้น โดยสรุปงานชิ้นนี้เรียกได้ว่าเป็น “ชีวประวัติ” ที่สมบูรณ์ของชาวบ้านและหมู่บ้าน อันเป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยสนใจ
ความโด่งดังของหนังสือ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโปรโมทที่แตกต่างจากยุคก่อน กล่าวคือ โทรทัศน์เริ่มเข้ามามีอิทธิพล ปลายปี 1975 ลาดูรีได้รับเชิญไปออกรายการ "Apostrophes" ของแบร์นาร์ด พีโว (Bernard Pivot) ซึ่งเป็นรายการที่พูดคุยเกี่ยวกับหนังสือและเชิญนักวิชาการมีถกเถียงกันที่ได้รับความนิยมมาก ในปีเดียวกันนั้นฟร็องซัว มีแตร็อง (Francois Mitterrand) ผู้นำฝ่ายซ้ายและฝ่ายค้าน (เพิ่งแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีปีก่อนหน้านั้นด้วยคะแนนไม่ถึง 1%) กล่าวว่า “อ่านมงไตยู (Montaillou) แล้วรู้สึกจิตใจติดอยู่ที่หมู่บ้านนั้นมาหลายสัปดาห์แล้ว” ต่อมาในปี 1978 เมื่อฟร็องซัว มีแตร็องได้รับเชิญไปออกรายการ ผู้จัดได้ให้สิทธิเชิญนักเขียนโปรดมาร่วมด้วย เขาจึงได้เชิญลาดูรี นอกจากนี้ ระหว่างปี 1975-1976 ยังมีรีวิวที่เขียนถึงหนังสือนี้ รวมถึงบทสัมภาษณ์ลาดูรีอย่างน้อย 50 ชิ้น ลาดูรีเองอธิบายเหตุผลของความนิยมในหนังสือเล่มนี้ ว่าเรื่องมงไตยู (Montaillou) สะท้อนภาพชนบท ในยุคที่ฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 1970 หวนหาความเรียบง่ายในอดีต
หลังประสบความสำเร็จจากมงไตยู (Montaillou) ลาดูรีเขียนประวัติศาสตร์ในแนวทางเดียวกัน โดยตีพิมพ์เรื่อง Le Carnaval de Romans ในปี 1979[18] โดยคราวนี้ กรอบเวลาในการศึกษายิ่งสั้นไปกว่ามงไตยู (Montaillou) อีก คือศึกษาความขัดแย้งระหว่างปี 1579-1580 นอกจากนี้ จุดสนใจของลาดูรีคราวนี้ ออกมาจากชาวนา หมู่บ้าน และชนบท ไปสู่เมืองและชนชั้นกลาง ในช่วงก่อน 1580 ชนชั้นกลางในเมือง Romans ต้องถูกเก็บภาษีอย่างมหาศาล พวกเขาเห็นว่าภาระต้องตกอยู่ที่พวกเขาเพราะการจัดการที่ย่ำแย่ของผู้ปกครอง ที่สำคัญคือพวกขุนนางได้รับการงดเว้นภาษีหลายประการ ในภาวะที่ยากลำบากนี้ พวกขุนนางกลับสบายขึ้น ครอบครองที่ดินมากขึ้น ตรงกันข้ามกับชนชั้นกลางหรือผู้ถือครองที่ดินขนาดย่อยที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น สุดท้ายแล้วความขัดแย้งที่สั่งสมนี้ก็จบลงด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยกลุ่มชนชั้นนำในเมืองได้ลอบสังหารผู้นำการประท้วงในช่วงเทศกาลในปี 1580
เช่นเดียวกับมงไตยู (Montaillou) ลาดูรีพยายามแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์เล็กๆ ดังเช่น การเข้ามาของฌาค ฟูนีเย่ (Jacques Fournier) เพื่อสอบสวนพวกนอกรีต หรือความรุนแรงทางการเมืองในเทศกาลเมืองโรม็อง (Romans) ในปี 1580 หากนักประวัติศาสตร์เข้าไปศึกษาผ่านการตีความหลักฐานใหม่ๆ ดังเช่นในเรื่อง Carnival de Romans นั้น ลาดูรีใช้ฎีกาหลายฉบับของคนขายเนื้อและพ่อค้าผ้าที่เขียนขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1570 ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ของฐานันดรที่สามเกี่ยวกับรัฐบาลและการเก็บภาษี เหตุการณ์เล็กๆ อย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 1580 ก็สามารถเผยให้เห็นถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ใหญ่และมีลักษณะสืบเนื่องยาวนานกว่าได้
กล่าวได้ว่าตั้งแต่ตีพิมพ์มงไตยู (Montaillou) ลาดูรีพยายามจะเชื่อมสองอย่างเข้าด้วยกัน คือเชื่อมประวัติศาสตร์เหตุการณ์และลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เล็กลงอย่างหมู่บ้าน กับประวัติศาสตร์แบบอันนาลส์เดิมที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างสืบเนื่องยาวนาน ซึ่งคราวนี้ไม่ได้แสดงออกผ่านประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสถิติแบบที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่แสดงออกผ่านโลกทัศน์ ภูมิปัญญา และความคิดความเชื่อบางอย่าง
การแสวงหาหลักฐานใหม่ๆ: วรรณกรรมและนิทานพื้นบ้าน (1982-1983)
หลังจากงานสองชิ้นนี้ ลาดูรีหันมาสนใจวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในปี 1982 เขาตีพิมพ์ L’Argent, l’amour et la mort en pays d’oc (Love, Death, and Money in the Pays d’Oc) เช่นเดียวกับงานสองชิ้นก่อนหน้า เขาเริ่มต้นจากเรื่องราวเล็กๆ คือเริ่มจากเรื่องสั้นที่บาทหลวงฟาบร์ (Fabre) ตีพิมพ์ใน 1765 ชื่อ Jean-l’ont-pris ลาดูรีกล่าวว่าอันที่จริงแล้วเรื่องสั้นที่ว่านี้ มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านซึ่งมีโครงเรื่องเดียวกันตลอดช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ในนิทานดังกล่าว พระเอกต้องดิ้นรนเพื่อแต่งงานกับหญิงอันเป็นที่รัก แต่มีอุปสรรคสำคัญคือบิดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง รวมถึงคู่แข่งคนอื่นๆ แต่สุดท้าย พระเอกก็ข้ามพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยเงิน ลาดูรีกล่าวว่า นิทานพื้นบ้านนี้ สะท้อนความต่อเนื่องทางความคิดความเชื่อของชาวชนบทในภาคใต้ที่มีความกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างยาวนาน แสดงให้เห็นว่าผู้ชายที่ไม่มีเงินดิ้นรนอย่างไรเพื่อจะได้แต่งงาน รวมทั้งผู้หญิงเลือกคู่แต่งงานอย่างไร และปกป้องมรดกสินสอดของตัวเองอย่างไร
L’Argent, l’amour et la mort en pays d’oc (1982)
ในปี 1983 ลาดูรีพิมพ์ La sorcière de Jasmin (Jasmin’s witch) ซึ่งใช้หลักฐานจากวรรณกรรม อันมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเช่นเดียวกับงานชิ้นก่อนหน้า ในปี 1840 กวีจากเมือง Agen ชื่อ Jasmin ตีพิมพ์บทกลอนชื่อ Françouneto ในกลอนดังกล่าวเล่าถึงชาวนาสาวชื่อ Françouneto ที่มาหนุ่มๆ มาตามจีบเพราะหน้าตาดีและเต้นเก่ง แต่แล้วหนุ่มๆ แต่ละคนที่มาจีบก็ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ก็ลืมทำงานสำคัญทางการเกษตรอย่างถางหญ้า ตัวอย่างก็เช่น Pascal เคยไปเต้นด้วยครั้งนึงปรากฎว่าบาดเจ็บแขนหักจนทำงานช่างตีเหล็กต่อไม่ได้ ในขณะที่ Laurent เคยไปเต้นด้วยในวันปีใหม่ก็ลื่นล้มแขนหักเหมือนกัน สุดท้ายก็เริ่มมีข่าวลือว่าสิ่งร้ายๆ ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะ Françouneto เป็นแม่มด ในขณะที่มีการสอบสวน ก็เริ่มมีชาวบ้านรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต เช่นมีคนจำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่ง ไร่ของ Françouneto นั้นไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เลวร้าย ในขณะที่ผลิตผลการเกษตรของคนอื่นต้องสูญเสียเพราะลูกเห็บ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ Françouneto ก็จำต้องไปแสวงบุญที่โบสถ์ แต่ระหว่างเดินทางไปโบสถ์ก็เกิดพายุขึ้นทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้านอีก ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลาย Pascal ช่างตีเหล็กได้เข้ามาช่วยไว้ด้วยการขอแต่งงาน หลังแต่งงานแล้วปรากฎไม่มีเหตุรายใดๆ เกิดขึ้นเอง ข่าวลือเรื่องแม่มดเลยเลือนหายไป
La sorcière de Jasmin (1983)
ลาดูรีกล่าวว่า บทกลอนเรื่องนี้มีส่วนจริงในทางประวัติศาสตร์ เพราะตรงกับหลักฐานในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 และเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้อีกในปลายศตวรรษที่ 18 ถือเป็นความสืบเนื่องทางความเชื่อเรื่องแม่มด โดยแม่มดนั้นมักจะทำร้ายชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ทำให้ไม่เกิดการผลิต ทำให้สภาพอากาศย่ำแย่โดยเฉพาะลูกเห็บตก แม้กระทั่งเมื่อลาดูรีลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านในปี 1982 ก็พบว่ายังมีการเล่านิทานพื้นบ้านนี้กันโดยทั่วไป
การกลับมาของประวัติศาสตร์การเมือง (1987-1993)
หลังจากเขียนเรื่องชาวนาและคนสามัญมาหลายสิบปี ในปี 1987 ลาดูรีตีพิมพ์ผลงานที่ไม่มีใครคาดคิด คือ L’Etat royal, de Louis XI à Henri IV, 1460 – 1610 (The French Royal State) และต่อมาในปี 1993 ตีพิมพ์ภาคสองชื่อ L’Ancien regime, 1610-1774 เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาเขียนประวัติศาสตร์การเมืองที่มีตัวละครเป็นกษัตริย์ อันเป็นแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์ที่สำนัก Annales ประณามมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แต่ในมุมมองของลาดูรีนั้น เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ทั้งสองกระแส ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องไปด้วยกันไม่ได้ เพราะจากการศึกษาชนบทในช่วงเวลา 1300-1720 ซึ่งลาดูรีถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งนั้น ในทางตรงข้าม ในแง่ของรัฐเขาเห็นว่าอำนาจนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้น ผ่านการเก็บภาษีชาวนาและชนชั้นกลางในเมือง
L’Etat royal, de Louis XI à Henri IV, 1460 – 1610 (1987)
ประวัติศาสตร์แบบชีวประวัติ (1995-1997)
หลังจากถูกวิจารณ์เรื่องการเขียนประวัติศาสตร์การเมือง ในปี 1995 ลาดูรีตีพิมพ์ Le siècle des Platters (1499-1628) เป็นการกลับไปเขียนประวัติศาสตร์แบบชีวประวัติบุคคลหรือตระกูล ซึ่งในขณะนั้นต้องเรียกว่า “ตกยุค” ไปแล้ว หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากการเอาเรื่องเล็กๆ ในวิทยานิพนธ์มาขยายความเช่นเดียวกับหนังสือ Le carnival de Romans
Le siècle des Platters, 1499-1628 (1995)
ลาดูรีเล่าถึงชีวประวัติของครอบครัว Platter ซึ่งสะท้อนชีวิตของคนในศตวรรษที่ 16 เรื่องเล่าที่ Thomas Platter ผู้ประกอบอาชีพคนเลี้ยงแพะและขอทาน แต่ดิ้นรนพยายามศึกษาภาษาละติน กรีก และฮิบรู ด้วยตัวเองจนได้เป็นครูที่เมือง Basel ในสวิสเซอร์แลนด์ราวปี 1540 หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มประกอบกิจการการพิมพ์ และเริ่มเป็นที่ยอมรับนับถือในเมือง อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ด้วยการเดินทางไปพักผ่อนในชนบทและไปเยี่ยมบ้านเกิดของตัวเองเป็นประจำ
Felix ลูกชายของเขาเติบโตขึ้นในสถานะที่ดี และก็คือบันทึกอย่างละเอียดของ Felix นี่เองที่ลาดูรีนำมาใช้เป็นหลักฐานในการเขียนหนังสือเล่มนี้ Felix เล่าถึงขนมหวานที่เขาชอบกินและของเล่นรูปทหารที่เล่นสมัยเด็กๆ พอโตขึ้นได้ไปเรียนหมอที่ Montpellier ก็ได้เล่าถึงการไปว่ายน้ำในทะเลเมดิเตอเรเนียนและชกต่อยกับพวกพูดภาษาเยอรมันและคนท้องถิ่นใน Languedoc หลังจากเรียนจบก็ได้ไปเดินทางเที่ยวในฝรั่งเศส ได้ไปเยี่ยมโรงเรียน เมืองต่างๆ พบปะเพื่อนฝูง และท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ แม้ว่าทั้งหมดนี้จะดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ลาดูรีต้องการชี้ให้เห็นว่า ตระกูล Platter เป็นตัวอย่างของการไต่เต้าทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่ง อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรในศตวรรษที่ 16
หลังจากเขียนชีวประวัติของสามัญชนแล้ว ในปี 1997 ลาดูรีตีพิมพ์ Saint-Simon ou le système de la Cour (Saint-Simon and the Court of Louis XIV) ซึ่งเอามาจากบันทึกของ Duc de Saint-Simon ขุนนางในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยในบันทึกนี้เล่าถึงขั้วการเมืองต่างๆ ในราชสำนักที่ชิงดีชิงเด่นกัน แม้ว่าบันทึกนี้จะเขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แต่ลาดูรีเห็นว่า จุดยืนและโลกทัศน์ของผู้เขียน เป็นแบบสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 คือการเน้นความชอบธรรมโดยการกีดกันพวกบุตรนอกสมรสของกษัตริย์ และเน้นย้ำความสำคัญของชนชั้นทางสังคม เช่นเดียวกับงานเขียนเกี่ยวกับตระกูล Platter บันทึกของ Saint-Simon แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางความคิดที่ใหญ่กว่าตัว Saint-Simon เอง กล่าวคือ เป็นภาพแทนของโลกทัศน์ของชนชั้นนำฝรั่งเศสในยุคสมัยที่ยาวนานกว่านั้น
Saint-Simon ou le système de la Cour (1997)
กลับมาเขียนประวัติศาสตร์สภาพภูมิอากาศ (2004-2011)
ท่ามกลางกระแสตื่นตัวเรื่องสภาวะโลกร้อน ลาดูรีในวัย 75 เริ่มตีพิมพ์ประวัติศาสตร์สภาพภูมิอากาศอีกครั้งในชื่อ Histoire humaine et comparée du climat โดยแบ่งเป็นสามภาค (พิมพ์ปี 2004, 2006, 2009 ตามลำดับ) แต่ในคราวนี้ ลาดูรีไม่ได้เน้นความสำคัญของสภาพภูมิอากาศในตัวมันเอง ดังเช่นที่เขาได้พิมพ์เมื่อปี 1967 แต่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศและมนุษย์ โดยแบ่งเป็นสามภาค รวมระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่ปี 1000 ถึงปัจจุบัน เนื้อหาเริ่มต้นที่การเกษตรและการปลูกองุ่น สิ้นสุดลงที่สุขภาพ ความตาย (จาก heatwave) และการท่องเที่ยว
Histoire humaine et comparée du climat (2004, 2006, 2009)
สิ่งที่น่าสนใจคือภาคที่ 3 ตีพิมพ์ในปี 2009 เรื่อง “สภาวะโลกร้อนจากปี 1860 ถึงปัจจุบัน” งานชิ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตต่อเนื่องจากงานที่พิมพ์ครั้งแรกในปี 1967 โดยลาดูรีกล่าวว่า ปี 1860 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งย่อย หลังจากนั้นธารน้ำแข็งจะเริ่มหดตัวลดเรื่อยๆ ต่อมาในปี 1911-1920 อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ในปี 1911 นั้นมีคลื่นความร้อนที่ยาวนาน ทำให้คนตายกว่า 40,000 คน หมูตาย 181,000 ตัว แกะตาย 685,000 ตัว ตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นไป อุณหภูมิเฉลี่ยในฝรั่งเศสมีแต่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 หลักฐานทางภูมิอากาศที่เรามีนั้น แสดงให้เห็นว่าโลกร้อนที่สุดในรอบพันปี ในปี 2003 มีคนตายจากคลื่นความร้อน เฉพาะในฝรั่งเศส 30,000 คน
บทสรุป: ความคิดทางประวัติศาสตร์ของเอมมานูเอล เลอรัว ลาดูรี
The research of dozens of prominent historians reflects their [Lucien Febvre, Marc Bloch, and Fernand Braudel] legacy, but none has been more productive and influential than Le Roy Ladurie. He promoted the Annales principles ... but in his own research he also pushed their ideas in new directions.[19]
ลาดูรีนั้น โดยเฉพาะในยุคเริ่มต้น (1963-1973) เป็นผู้สืบทอดประวัติศาสตร์สำนัก Annales อย่างไม่ต้องสงสัย งานของเขาเน้นโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง สืบเนื่องยาวนาน ซึ่งแสดงออกผ่านวิถีชีวิตในชนบท ในด้านหลักฐาน เขาเน้นการศึกษาเชิงสถิติจากภาษีที่จ่ายให้รัฐและโบสถ์ วงเติบโตของต้นไม้ มากกว่าจะใช้หลักฐานพวกพงศาวดาร จดหมาย หรือบันทึก ลาดูรีเสนอ “วัฏจักรการเกษตร” ที่ยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งให้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกชนบท ในขณะเดียวกันก็ก้าวข้ามการกำหนดยุคสมัยแบบเดิมที่มีฐานจากประวัติศาสตร์การเมืองและภูมิปัญญา ในมุมมองของลาดูรี ช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักแบ่งออกระหว่างปลายยุคกลางกับต้นสมัยใหม่นั้น[20] ไม่ได้มีความแตกต่างสำคัญแต่ประการใด เพราะสุดท้ายแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ชาวนาก็ดิ้นรนจากการทำการเกษตรเหมือนเดิม อุปสรรคของชาวนานั้นค่อยๆ แก้ไขไปได้อย่างช้าๆ เพราะเกี่ยวพันกับโครงสร้างที่ใหญ่กว่าคือเรื่องนิเวศวิทยา ประชากรศาสตร์ และเศรษฐกิจ อันเป็นสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์และภูมิปัญญาของมนุษย์
ภาพลาดูรีในวัยหนุ่ม
ทั้งนี้ สิ่งที่ลาดูรีให้ความสำคัญมากกว่านักวิชาการคนอื่น คือความสำคัญด้านความคิดภูมิปัญญา ในระยะแรก เขาเห็นว่าโครงสร้างส่วนบน อันประกอบด้วยความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมนั้น ได้รับอิทธิพลและถูกกำหนดจากโครงสร้างส่วนล่าง ซึ่งซ่อนอยู่ลึกกว่า เปลี่ยนแปลงยากกว่าและยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม ในงานเขียนชิ้นหลังๆ เขาก็เริ่มให้ความสำคัญกับความคิดภูมิปัญญาในฐานะโครงสร้างหนึ่งโดยตัวมันเอง
สิ่งที่โดดเด่นอีกประการของลาดูรี โดยเฉพาะเมื่อหลังจากตีพิมพ์ Montaillou ในปี 1975 คือความสร้างสรรค์ในการแสวงหาและตีความหลักฐาน นอกจากหลักฐานเรื่องภาษีแล้วและวงเติบโตของต้นไม้แล้ว เขายังใช้บันทึก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม และเอกสารของตำรวจศาสนา แน่นอนว่าเขาถูกวิจารณ์มากถึงความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านี้ ซึ่งไม่มีนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ไหนขณะนั้นเห็นว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ความสร้างสรรค์และความพยายามในการทดลองเสนอสิ่งใหม่ๆ คือคุณลักษณะที่ทำให้ลาดูรีต่างจากนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ กระทั่งสามารถตั้งคำถามและนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ได้ การใช้หลักฐานที่หลากหลายนี้ ก็สะท้อนว่าลาดูรีให้ความสำคัญกับศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมานุษยวิทยา ซึ่งพัฒนาเป็นชาติพรรณวรรณาเชิงประวัติศาสตร์ (historical ethnography) ในแง่นี้ การอ่านหนังสือเรื่อง Montaillou ก็ราวกับอ่านบันทึกของนักมานุษยวิทยาที่ไปลงพื้นที่หมู่บ้านในอดีต ในขณะที่การศึกษาความหมายเชิงสัญลักษณ์ของพิธีกรรมต่างๆ ในเมือง เช่น กรณี Carnival ของเมือง Romans นั้น ลาดูรีก็ใช้ทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาอย่าง Victor Turner, Arnold van Gennep และ Edmund Leach มาวิเคราะห์
การที่หนังสือของลาดูรีขายดีจนเรียกได้ว่าเขากลายเป็นปัญญาชนสาธารณะนั้น ในแง่หนึ่งมาจากการที่เขาทำให้ประวัติศาสตร์แบบ Annales ซึ่งแห้งแล้งและเต็มไปด้วยตัวเลข มีชีวิตขึ้นมา ผ่านการบรรยายถึงชีวิตประจำวันรวมถึงอุปสรรคต่างๆ นาๆ ของผู้คนตัวเป็นๆ ในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์แบบลาดูรีจึงเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การออกรายการโทรทัศน์และเขียนบทความจำนวนมากในหนังสือพิมพ์และวารสารอย่าง Le Monde, Le Nouvel Observateur, L’Express, และ Le Figaro littéraire ก็ทำให้เขาและผลงานของเขาเป็นที่รู้จัก มีคนอ่านมากขึ้น การเขียนงานที่หลากหลาย รวมถึงงานที่เป็นกระแสหลัก ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ก็ทำให้ผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะสนใจชาวนา กษัตริย์ ชนบทหรือเมือง ก็สามารถเลือกอ่านงานเขาได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
ลาดูรีนั้นได้รับยกย่องจากประธานาธิบดีทุกยุกสมัย ตั้งแต่ Valéry Giscard d’Estaing ได้มอบตรา Légion d’honneur ชั้น Chevalier ให้เขาในปี 1979 ต่อมาในปี 1996 Jacques Chirac ได้ยกระดับให้เป็น Commandeur ถัดไปในปี 2010 Nicolas Sarkozy ได้ยกระดับให้เป็น grand officier ล่าสุด Emmanuel Macron ได้มอบเหรียญ Grand croix de l’ordre national du mérite ในปี 2018 โดยกล่าวยกย่องว่า “ด้วยความที่คุณเขียนประวัติศาสตร์อย่างดีต่อเนื่องสม่ำเสมอ คุณจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”
หนังสือชีวประวัติของลาดูรี ตีพิมพ์เมื่อปี 2018
ภาคผนวก
ปีสำคัญในประวัติของเอมมานูเอล เลอรัว ลาดูรี
- 1929 - เกิดที่ Calvados แคว้น Normandie
- 1945 - เข้าศึกษาที่ Lycée Henri IV กรุงปารีส
- 1947 - เข้าศึกษาที่ Lycée Lakanal
- 1949 - เข้า ENS และเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
- 1953 - สอบผ่าน Agrégation
- 1955 - ย้ายไปทางใต้ เริ่มสอนที่โรงเรียนมัธยมปลาย Montpellier
- 1956 - ลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์
- 1957 - เป็นนักวิจัยสังกัด CNRS
- 1960 - เป็นผู้ช่วยสอนที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Montpellier
- 1963 - เป็นผู้ช่วยสอนที่ Section ที่ 6 ของ EPHE
- 1964 - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย Sorbonne ในหัวข้อ “ชาวนาแห่ง Languedoc”
- 1966 - ตีพิมพ์ Les paysans de Languedoc
- 1967 – ตีพิมพ์ L’histoire du climat depuis l’An Mil
- 1969 – เป็นกรรมการบริหารวารสาร Annales และเข้าเป็นอาจารย์ที่ Sorbonne
- 1971 - เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยปารีส VII
- 1973 - เป็น Chair ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมสมัยใหม่ที่ Collège de France
- 1975 – ตีพิมพ์ Montaillou, village occitan
- 1980 – ตีพิมพ์ Le carnaval de Romans, 1579-1580
- 1982 – ตีพิมพ์ Paris-Montpellier: P.C. – P.S.U., 1945-1963 เป็นประวัติส่วนตัวสมัยเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย
- 1995 – ตีพิมพ์ Le siècle des Platters (1499-1628)
- 1997 - ตีพิมพ์ Saint-Simon, le système de la Cour
- 1987-1994 รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ (Directeur General de la BNF)
- 1993 - ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก Institut de France
- 1999 - ปลดเกษียณจาก Collège de France
- 2001 – ตีพิมพ์ Histoire de la France des regions
- 2002 - ตีพิมพ์ Histoire des paysans français, de la peste noire à la Révolution
- 2004/2006/2009 - ตีพิมพ์ Histoire humaine et comparée du climat ภาค 1 “คลื่นความร้อนและธารน้ำแข็ง ศตวรรษที่ 13-18”, ภาค 2 “สภาวะอดอยากและการปฏิวัติ”, ภาค 3 “สภาวะโลกร้อนจากปี 1860 ถึงปัจจุบัน”
- 2011 - ตีพิมพ์ Les fluctuations du climat de l'an mil à aujourd'hui
- 2015 - ตีพิมพ์ Paysans français d’Ancien Régime, du XIVe au XVIIIe siècle
- 2016 - ตีพิมพ์ Huits leçons d’histoire
- 2018 – Stefan Lemny ตีพิมพ์ Emmanuel Le Roy Ladurie: Une vie face à l’histoire จากบันทึกส่วนตัวของลาดูรี
อ่านเพิ่มเติม
Bowman, Jeffrey A. ‘Emmanuel Le Roy Ladurie’. In French Historians 1900-2000: New Historical Writing in Twentieth Century France , edited by Philip Daileader and Philip Whalen, 394-416. Blackwell publishing, 2010.
Carroll, Stuart. ‘Emmanuel Le Roy Ladurie’. In Encyclopedia of Historians and Historical Writing, edited by Kelly Boyd, 711-713. Routledge, 1999.
Swain, Harriet. “The Paratrooping truffler.” The Times Higher Education. October 1998. Retrieved from https://www.timeshighereducation.com/features/the-paratrooping-truffler/109400.article.
เชิงอรรถ
[1] Stuart Carroll, ‘Emmanuel Le Roy Ladurie’, in Encyclopedia of Historians and Historical Writing, ed. Kelly Boyd (Routledge, 1999), 711.
[2] เพื่อความสะดวก ต่อไปนี้จะเรียนลาดูรีเฉยๆ แม้ว่าตามหลักสากล จะต้องเรียก เลอรัว ลาดูรี
[3] เขาเอาบัตรสมาชิกพรรคไปคืนในวันนั้นเลย แต่ภรรยาของเขายังเป็นสมาชิกอยู่จนถึงปี 1963
[4] ในปี 1968 เมื่อมีการประท้วงใหญ่ของนักศึกษา ลาดูรีค่อนข้างไม่เห็นด้วยเพราะนักศึกษาที่ได้รับอิทธิพลเหมาอิสต์โจมตีมหาวิทยาลัยมาก แต่เขากลับเห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีคุณค่า ในทางการเมืองเขาเริ่มหันมาสนับสนุนฝ่ายขวากลางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 1978 ลาดูรีเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม “นักวิชาการเพื่อยุโรปเสรี” (Comité des Intellectuels pour l’Europe des Libertés - C.I.E.L) เพื่อประณามความเป็นเผด็จการของสหภาพโซเวียต กลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการชื่อดังจำนวนมาก ถือเป็นการกลับมาของเสรีนิยมในทางการเมืองในฝรั่งเศส ต่อมาในปี 1982 ลาดูรีเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งของ Saint-Simon Foundation ซึ่งเป็น Think tank ที่สนับสนุนเสรีนิยม ต่อต้านอำนาจนิยม
[5] Section ที่ 6 ตั้งขึ้นปี 1947 Braudel รับตำแหน่งต่อจาก Lucien Febvre ตั้งแต่ปี 1956 ต่อมาในปี 1975 แยกตัวจาก EPHE ตั้งเป็น EHESS
[6] นักศึกษาปริญญาเอกที่สำคัญของ Labrousse นอกจากลาดูรีแล้ว ก็มีเช่น Michelle Perrot และ Alain Corbin
[7] ภาษีที่ว่านี้ (Tithes) คิดเป็นเปอร์เซ็นจากรายได้จากการผลิตทั้งหมดต่อปี ดังนั้นแล้ว จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าผลผลิตทางการเกษตรแต่ละปีเป็นอย่างไร
[8] ลาดูรี ได้รับอิทธิพลจาก Thomas Robert Malthus ในประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจดีและการผลิตที่มากขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นเสมอไป เพราะจะมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากร ความยากลำบากของชนชั้นล่าง และสุดท้ายการผลิตก็ไม่ทันหรือไม่เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น
[9] ในปี 1977 ลาดูรีตีพิมพ์ "Les masses profondes: la paysannerie" เป็นบทหนึ่งในหนังสือ Histoire économique et sociale de la France ซึ่งมี Fernand Braudel และ Ernest Labrousse เป็นบรรณาธิการ ในบทดังกล่าวเป็นการขยายกลุ่มตัวอย่างไปยังชาวนาภาคอื่นๆ แม้บริบทแต่ละท้องถิ่นจะต่างกันเล็กน้อย แต่สุดท้ายเมื่อมองในภาพรวมแล้วสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากชาวนาใน Languedoc และไม่ได้มีข้อสรุปที่แตกต่างจากวิทยานิพนธ์
[10] ในเรื่องนี้ ลาดูรีอ้าง Michel Foucault ที่กล่าวว่า มนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศูนย์กลางความสนใจของนักประวัติศาสตร์เสมอไป แต่อาจจะเป็นเพียงผลผลิตทางอ้อมที่โผล่ออกมาหลังจากการวิเคราะห์ในภาพรวม
[11] วารสาร Annales ตั้งขึ้นในปีที่ลาดูรีเกิด คือปี 1929 รุ่นแรกประกอบด้วยผู้ก่อตั้งคือ Lucien Febvre และ Marc Bloch รุ่นที่สองคือรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วย Fernand Braudel, Ernest Labrousse, George Duby ส่วนรุ่นที่สาม ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 นอกจากลาดูรีแล้วที่สำคัญ เช่น Jacques Le Goff, Marc Ferro, André Burguière, Pierre Nora ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 กระแส Nouvelle histoire (New History) เริ่มโด่งดัง โดยเฉพาะจากการตีพิมพ์ Faire l’histoire โดย Jaques Le Goff และ Pierre Nora ในปี 1974 ประวัติศาสตร์แนวใหม่นี้ เสนอการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญา อย่างไรก็ดี ในปี 1984 ลาดูรีให้สัมภาษณ์ว่า Nouvelle histoire ไม่มีจริง ความจริงก็คือประวัติศาสตร์แบบ Annales ที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แล้ว แต่เพิ่งมาดังตอน 1970
[12] บทความตีพิมพ์ที่เก่าที่สุดที่เอามารวมเล่ม คือบทความเรื่องประวัติภูมิอากาศ ตีพิมพ์ปี 1959
[13] ลาดูรีอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งปลดเกษียณในปี 1999 เมื่ออายุครบ 70 ปี
[14] บทที่สำคัญที่สุดในหนังสือ Le territoire de l’historien บทหนึ่ง ชื่อ “อารยธรรมชนบท”
[15] ในฝรั่งเศสปี 1976 มียอดขาย 112,000 เล่ม ในปี 1998 ยอดขายฉบับภาษาฝรั่งเศสรวมเป็น 203,540 เล่ม ในปี 1975 แปลเป็นภาษาโปรตุเกส ปี 1977 ภาษาอิตาเลียน ปี 1978 เป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นมีการแปลรวมทั้งหมดเป็น 21 ภาษา ยอดขายทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน น่าจะราว 1 ล้านเล่ม ถือเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก
[16] แม้จะไม่ได้ระบุชัดเจน แต่งานชิ้นนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลจาก Microhistory ที่กำลังเป็นที่นิยมในอิตาลี (งานคลาสสิค เรื่อง The Cheese and the Worms: The cosmos of a Sixteenth Century Miller ของ Carlo Ginzburg ตีพิมพ์หลัง Montaillou หนึ่งปี) ในฝรั่งเศส ถือว่าลาดูรีเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเขียนงานแนวนี้ นอกจากนี้ ในปี 1998 ลาดูรีให้สัมภาษณ์ว่าพอเริ่มแก่แล้ว ก็รับมือกับข้อมูลเยอะๆ แบบงานที่ทำช่วงแรกๆ ไม่ไหว เขาเห็นว่านักประวัติศาสตร์มีสองแบบ คือแบบนักกระโดดร่ม ที่มองภาพกว้างๆ ข้อมูลเยอะๆ กับแบบนักหาเห็ดทรัฟเฟิล ที่เดินทางแสวงหาของมีค่าในพื้นที่ที่เล็กลง เขาเป็นทั้งสองอย่าง แต่พออายุมากแล้วเป็นอย่างหลังมากกว่า
[17] ลาดูรีกล่าวว่า ศตวรรษที่ 13 เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะมีการรับเทคโนโลยีการผลิตกระดาษมาจากจีน ทำให้มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรเหลือไว้สำหรับนักประวัติศาสตร์ในภายหลังจำนวนมาก อย่างไรก็ดี หลักฐานสำคัญอย่างบันทึกของ Jacques Fournier นี้ ก็มีเอกลักษณ์มาก สะท้อนให้เห็นถึงความคิดความเชื่อของผู้คนในยุคสมัยที่ห่างไกล เอกสารที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ หาไม่ได้ง่ายๆ
[18] ความจริงเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ในวิทยานิพนธ์ของเขา เพื่ออธิบายถึงความรุนแรงในเมือง Romans ในช่วงเทศกาลหลังจากมีการลอบสังหารผู้นำการประท้วง ในหนังสือเล่มนี้ ลาดูรีนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาขยายความเพิ่มเติม
[19] Jeffrey A. Bowman, ‘Emmanuel Le Roy Ladurie’, in French Historians 1900-2000: New Historical Writing in Twentieth Century France , ed. Philip Daileader and Philip Whalen (Blackwell publishing, 2010), 412.
[20] โดยทั่วไป กำหนดปลายยุคกลางประมาณ 1250-1500 ต้นสมัยใหม่ประมาณ 1500-1800