Skip to main content

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 


 

จดหมายถึง "ลูกชายเล็ก" และประวัติศาสตร์พ่อ

 

พ่อรู้ว่าเล็กรับมรฎกบ้าอันนี้ของพ่ออยู่แต่คนเดียวเท่านั้น [...] อยากจะว่าไปว่าพระพุทธยอดฟ้าก็เพราะฤทธิบ้าไม่ท้อถอยอันนี้ จึงจะเหนว่าเล็กดื้อในที่ไม่ควรไม่ได้เพราะรู้อยู่ว่าใจอยากกลับ[เมืองไทย]ยิ่งใด ยังขืนใจได้ ไม่ย่อท้อกระป้อกระแป้ตื่นตะกายเช่นนี้ พ่อรักใจ แต่พูดเช่นนี้แล้วอย่าเหว ทำให้ฟู้มากไป


ข้างต้นคือความตอนหนึ่งในจดหมายจาก “พ่อที่รัก” (พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ถึง “ลูกชายเล็ก” (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) ที่ออกไปศึกษายังรัสเซีย ลงวันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ในเวลาที่ผู้เป็นลูกตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศนั้นต่อไปเพื่อแสดงความจริงใจต่อซาร์นิโคลัสที่ 2 เมื่อรัสเซียประสบวิกฤตการณ์จากการจราจลและแพ้สงครามแก่ญี่ปุ่น ในจดหมาย ผู้เป็นพ่อเห็นชอบด้วยกับการตัดสินใจของลูกทั้งที่ “คิดถึงเล็กเตมที” พร้อมทั้งสำทับว่า การตัดสินใจอย่างกล้าหาญของลูกนั้นเป็นมรดกที่รับไปจากพ่อและมีอยู่ในพระพุทธยอดฟ้าฯ ผู้เป็นต้นตระกูลด้วย ขณะที่ “เสด็จแม่” (พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) “เสด็จลุง” (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ–พี่ชายของแม่) และ “โต” (เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ–พี่ชาย) ต่างเห็นว่า “เล็ก” ควรกลับเมืองไทยและทำ “หน้ามึนๆ เอาพ่อเสมอ” จดหมายฉบับนี้จึงเป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “พ่อที่รัก” เลือกยืนเคียงข้างการตัดสินใจของลูกด้วยความเข้าอกเข้าใจเสมอ แม้ว่าจะทำให้ “ใครเขาไม่คบ” ก็ตาม และประการสำคัญคือแสดงให้เห็นว่า พระจุลจอมเกล้าฯ ในฐานะพ่อพยายามแสดงบทบาทที่สำคัญกว่าและแตกต่างจากแม่และญาติสนิทคนอื่นๆ ในครอบครัว

 

ภาพปกหนังสือ ถึงลูกชายเล็ก ตีพิมพ์ปี 2560 โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์


นอกจากฉบับข้างต้น ระหว่าง พ.ศ. 2439-2453 พระจุลจอมเกล้าฯ และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ยังมีจดหมายติดต่อกันไปมาอีกมากร่วม 300 ฉบับ ส่วนมากเป็นจดหมายติดต่อกันในระหว่างที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ศึกษาอยู่ในรัสเซีย ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องราชการ จดหมายเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานทางเลือก (alternative sources) ที่มีคุณค่าอย่างมากในการศึกษาประวัติศาสตร์ของความเป็นพ่อซึ่งเป็นหนึ่งในมิติที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดของความเป็นชาย ทว่าความเป็นพ่อกลับเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์ไทยมากนัก จดหมายเหล่านี้จึงยังรอผู้ศึกษาอยู่
 



งานศึกษาประวัติศาสตร์เพศสภาพของไทยที่ผ่านมามักให้ความสนใจแก่บทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในฐานะที่เป็นแง่มุมหนึ่งของสังคมไทยในอดีตเป็นสำคัญ ตัวอย่างหนึ่งคือบทความของสุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา นักประวัติศาสตร์ผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงไทย ซึ่งมุ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่อสังคมไทยเข้าสู่การปฏิรูปในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ ผู้หญิงโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและกลางถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่อย่างใหม่ในบ้านที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเมืองและความก้าวหน้าของประเทศ กล่าวคือให้เป็นเมียในฐานะเพื่อนคู่คิด แม่ในฐานะครูคนแรก และแม่เรือนผู้รอบรู้ ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของผู้ชายและความเป็นชายเป็นคำถามที่ถูกละเลยไป ราวกับว่าการปฏิรูปนั้นกระทบต่อผู้หญิงและความเป็นหญิงแต่เพียงถ่ายเดียว


ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แม้งานศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในแง่วิธีการศึกษาและหลักฐานที่ใช้ แต่จำนวนหนึ่งยังคงให้ความสนใจแก่บทบาทของผู้หญิงเป็นสำคัญ เช่น บทความแนะนำการศึกษาแบบจุลประวัติศาสตร์ (microhistory) ของชาติชาย มุกสงเลือกใช้ครอบครัวในรุ่นยายและแม่ของตัวเองเป็นกรณีศึกษา บทความด้านประวัติศาสตร์ธุรกิจวัฒนธรรมของวิลลา วิลัยทองมุ่งความสนใจไปที่ผู้หญิงนักออกแบบเสื้อผ้าในสมัยพัฒนาที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตไปในทางที่เป็นทุนนิยมอุตสาหกรรม และในกรณีประวัติศาสตร์อารมณ์ซึ่งเริ่มเป็นที่สนใจกันมากขึ้นในเวลานี้ บทความของสายชล สัตยานุรักษ์เลือกศึกษาการเผชิญความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก (emotional suffering) ของผู้หญิงเมื่อชุดคุณค่านอกบ้านและในบ้านกำลังขัดแย้งกัน


ในทางตรงกันข้าม งานศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ชายและความเป็นชายโดยเฉพาะในโลกอังกฤษ-อเมริกานั้นตั้งต้นขึ้นแล้วหลายทศวรรษและมีงานศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน วารสารนานาชาติอย่าง Gender & History ตีพิมพ์บทความว่าด้วยประวัติศาสตร์ผู้ชายและความเป็นชายแทบทุกฉบับ จอห์น ทอช (John Tosh) นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาความเป็นชายคนสำคัญ ชี้ว่า ความสนใจประวัติศาสตร์ผู้ชายในโลกอังกฤษ-อเมริกาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และแม้จะมีกรอบคิดที่ล้าสมัยไปบ้างแล้ว แต่การสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ประสบการณ์ของผู้ชายในอดีตก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องทำต่อไป


ในบทความชื่อ “The History of Masculinity: An Outdated Concept?” ทอชระบุว่า ความสนใจประวัติศาสตร์ผู้ชายในโลกอังกฤษ-อเมริกาเริ่มต้นขึ้นโดยเกี่ยวพันกับความต้องการรื้อถอนตัวแบบความเป็นชายที่เคยเป็นมาในอดีตและปลดเปลื้องภาระอันหนักหน่วงของผู้ชายที่ถูกกำหนดไว้โดยสังคมแบบปิตาธิปไตยลง พร้อมกับการอธิบายให้เห็นว่าปิตาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ขณะที่ประวัติศาสตร์ผู้หญิง ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นในเวลาเดียวกันและดูจะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ผู้ชายอยู่ไม่น้อย ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจส่วนได้เสียที่ผู้ชายมีต่อการกดขี่ผู้หญิง และคิดถึงปิตาธิปไตยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ผู้ชายด้วย


เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ประวัติศาสตร์ความเป็นชายก็หันเหไปสู่แง่มุมทางวัฒนธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติและปทัสฐานทางสังคมที่มีส่วนกำหนดชีวิตของผู้ชายในอดีต ในความเห็นของทอช ประวัติศาสตร์ความเป็นชายที่หันเหไปในทางวัฒนธรรมนี้มักมีแนวโน้มที่จะเน้นศึกษาในแง่ภาพแทน (representation) เป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ด้านของประสบการณ์จริงขาดหายไป ทอชยังมีความเห็นอีกว่า ความหมายของความเป็นชายมีความซับซ้อนและมีขึ้นได้โดยสัมพันธ์กับอัตลักษณ์อื่นๆ ในการศึกษาจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงความเป็นชายเข้ากับอัตลักษณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศวิถี ชนชั้น อายุ หรือแม้แต่ศาสนา รวมถึงพิจารณาด้วยว่าอำนาจซึ่งเป็นแกนกลางของเพศสภาพเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ตามจริงในสังคมอย่างไร แน่นอนว่าสำหรับประวัติศาสตร์ความเป็นพ่อ ทอชก็เห็นว่า เราควรที่จะประกอบเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของพ่อกับลูกขึ้นมา มากกว่าพ่อในแง่วาทกรรมเพียงด้านเดียว ดังที่ทอชเคยสาธิตไว้แล้วในงานชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง A Man's Place: Masculinity and the Middle-Class Home in Victorian England ที่พยายามสืบสร้างประสบการณ์ในบ้านของพ่อที่สำคัญต่อการประกอบสร้างความเป็นชายของชนชั้นกลางอังกฤษยุควิกตอเรียนขึ้นมา

 



จดหมายของ “พ่อที่รัก” ถึง “ลูกชายเล็ก” ข้างต้นน่าจะเป็นหลักฐานหนึ่งที่เราใช้ศึกษาประสบการณ์การเป็นพ่อตามข้อเสนอของทอชได้ โดยเฉพาะในยามที่พ่อต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางไกล (long-distance relationship) กับลูกเอาไว้ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ถือเป็นสถานการณ์อย่างใหม่สำหรับครอบครัวชนชั้นนำไทยที่เริ่มนิยมส่งลูกไปเรียนต่อในยุโรปตั้งแต่ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ขณะที่ความเป็นพ่อในหมู่ชนชั้นนำก็ดูจะเริ่มบ่ายหน้าออกจากพ่อผู้ทรงอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือลูกไปสู่พ่อผู้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในจดหมายของพระจุลจอมเกล้าฯ นอกจากแสดงความคิดถึงและความเข้าอกเข้าใจ “ลูกชายเล็ก” แล้ว พระองค์ยังแสดงบทบาทเพื่อบรรลุความเป็นพ่อในทางต่างๆ อีก


ประการหนึ่งคือการแสดงความรอบรู้และทรงภูมิ ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติสำคัญลำดับแรกๆ ของการเป็นพ่อในสายตาของชนชั้นนำที่สมมติตัวว่ามีภารกิจในการสร้างความเป็นสมัยใหม่ให้แก่ประเทศ และคาดหมายให้ลูกชายรับภาระต่อ ดังในจดหมายฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) พระองค์เล่าเรื่องอย่างละเอียดเกี่ยวกับการประพาสชวาหลังส่งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ขึ้นเรือที่สิงคโปร์ไปศึกษาต่อยังยุโรป พร้อมกับประมวลความรู้และแสดงสารพัดความเห็นเกี่ยวกับชวาด้วยเหตุผลสมัยใหม่อย่างยืดยาว ทั้งในแง่สังคมและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ภูมิประเทศ อุปนิสัยและบุคลิกลักษณะของผู้คน และการปกครองของเจ้าอาณานิคมดัตช์ เป็นต้น เนื่องจากชวาเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม (colonial modernity) ที่พระองค์รู้จักดีและเคยประพาสมาแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2414 อีกทั้งยังเป็นดินแดนต้นกำเนิดของวรรณกรรมเรื่องสำคัญอย่าง อิเหนา ที่ชนชั้นนำไทยชื่นชอบและคุ้นเคยมานานนับศตวรรษ


ในขณะเดียวกัน เพื่อให้ลูกในฐานะเจ้าฟ้าเติบโตขึ้นมาอย่างเพียบพร้อมด้วยการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติอันจำเป็นที่สุดของสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงในเวลาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังก่อรูปขึ้นและต้องการเจ้านายที่มีความรู้สมัยใหม่ พระจุลจอมเกล้าฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่การทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศึกษาของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของการแสดงความเป็นพ่อออกมา พระองค์มีจดหมายส่วนตัวไปหารือกับซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งรับเป็นผู้อุปถัมภ์เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในรัสเซีย “เพื่อจะถามให้รู้เค้าเงื่อนว่า จะจัดการเล่าเรียนของเล็กอย่างไร” เมื่อ “ลูกชายเล็ก” ต้องเริ่มต้นเรียนภาษารัสเซีย พระองค์ก็เอาใจใส่ด้วยการแสดงความเป็นห่วงที่ต้องเรียนภาษาใหม่ เนื่องจาก “ดูช่างยากเย็นเสียจริงๆ” ในทางตรงกันข้าม ในจดหมายฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2441) พระองค์แสดงความ “ดีใจ” เมื่อได้รับรายงานจากครูว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มีความอุตสาหะอย่างมากในการเรียนภาษารัสเซีย


เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์เติบโตขึ้นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยและสุ่มเสี่ยงจะประพฤติตัวนอกลู่นอกทาง โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ทางเพศ พระจุลจอมเกล้าฯ เริ่มแสดงบทบาทเป็นพ่อผู้คอยตักเตือนและควบคุมความประพฤติมากขึ้น ในจดหมายฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) หลังได้รับข่าวว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่ง “เดี๋ยวนี้ไม่เปนเด็กนักแล้ว” กำลัง “ชอบพอ” นักแสดงบัลเลต์หญิงในรัสเซียนามมทิลดา คเชสซินสกา (Mathilde Kschessinska) พระองค์แสดงความวิตก พร้อมทั้งขอให้ “ลูกชายเล็ก” ระมัดระวังไม่ “เพลิดเพลินถลำตัวเข้าไป โดยความเหวว่า ตัวสวยเก๋ มีผู้หญิงติด” เนื้อความในจดหมายยังมีน้ำเสียงค่อนไปในทางประชดประชันด้วยว่า หากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ หลวมตัว “เอาฝรั่งเข้ามา” ก็เท่ากับ “แกล้งฆ่าพ่อแม่ให้ตรอมใจตาย” ทว่าพระจุลจอมเกล้าฯ ก็แสดงความเชื่อมั่นในตัวเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ไปพร้อมกันด้วยว่า “เล็กจะยับยั้งได้” ในตอนท้ายของจดหมาย พระองค์เน้นย้ำว่า “ให้ใช้ความคิดให้ถูกต้อง อย่าเหวว่าสวยเกินไป อย่าเหวว่าฉลาดเกินไป ถ้าเหวเข้าครอบงำได้แล้ว ถึงฉลาดเท่าใด ก็ไม่พ้นหลง”


นอกจากนี้ เพื่อรักษาบทบาทพ่อผู้เป็นประมุขในครอบครัวเอาไว้ พระจุลจอมเกล้าฯ พยายามไม่น้อยที่จะยืนยันว่าสถานะของตัวเองเหนือกว่า “แม่เล็ก” (พระนางเจ้าเสาวภาฯ) ในจดหมายฉบับวันที่ 9 เมษายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) พระองค์บ่นถึงความสัมพันธ์กับ “แม่เล็ก” ที่กำลัง “เปนอินดิเปนเดนห่างพ่อไป” โดยกล่าวโทษ “แม่เล็ก” ว่า “โอเวอคอนฟิเดนซตัวเองไป” และถือตัวว่า “มีสติปัญญาปรากฏจนใครๆ ก็รู้ทั่วกัน ได้เปนผู้สำเร็จราชการต่างๆ” ในจดหมาย พระจุลจอมเกล้าฯ ยังบอก “ลูกชายเล็ก” ด้วยว่า อาการ “ไม่สบาย” ของพระนางเจ้าเสาวภาฯ ที่เป็นมาแต่เดิมกำลังกำเริบขึ้น เนื่องจาก “ความเกียจคร้าน ชอบนั่งคุยอยู่กับที่ [ตั้ง]แต่ตื่นจนหลับ” จนส่งผลให้มีอาการโกรธเกินเหตุและเศร้าเกินเหตุ “เกือบจะหาเวลาปรกติไม่ได้” ซ้ำร้ายยังไม่มีใครช่วยคิดอ่านหาทางแก้ไข ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการตำหนิแม่ลงในจดหมายที่เขียนถึงลูกเช่นนี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสัมพันธ์แบบปิตาธิปไตยในครอบครัวที่พ่อต้องอยู่ในลำดับชั้นสูงสุดและอยู่เหนือแม่เอาไว้นั่นเอง


อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากความเป็นพ่อจะถึงพร้อมได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่ยอมรับของลูก เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ฝ่าฝืนคำสั่งสอนของผู้เป็นพ่อและกฎเกณฑ์ของบ้าน (ราชสำนัก) ด้วยการสมรสกับหญิงต่างชาติต่างศาสนานามคัทริน เดสนิตสกี (Kateryna Desnitski) พระจุลจอมเกล้าฯ จึงตัดพ้อออกมาด้วยความน้อยใจอย่างที่สุด เพราะการกระทำของผู้เป็นลูกหมายถึงการปฏิเสธความรักและความเชื่อมั่นที่พ่อเคยมีให้อย่างสิ้นเชิง ในจดหมายลงวันที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) พระองค์กล่าวว่าถึงกับ “ใจคอซึมไป ไม่รื่นเริงได้” พร้อมทั้งแสดงความเสียใจที่ “เล็ก” ไม่เห็นแก่ “ความรักของพ่อ” ที่มีแต่ความปรารถนาดี แต่กลับเอาแต่ใจตนเอง ไม่คิดถึงคุณและโทษให้รอบคอบ ขาดความอดทน และไม่ข่มใจปรารถนา วันรุ่งขึ้น พระจุลจอมเกล้าฯ ยังมีจดหมายสำทับไปอีกฉบับหนึ่งขอให้ผู้เป็นลูก “พิจารณาคำที่พ่อพูดไปครั้งก่อนแลครั้งนี้ด้วยกันให้ละเอียด ล้วนแต่เป็นความจริงแลความตรงๆ ทั้งนั้นให้เข้าใจ” การยอมรับของลูกจึงมีส่วนอย่างสำคัญต่อการประกอบสร้างความเป็นพ่อ และส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของพ่อ
 



เราคงเห็นได้ไม่ยากเลยว่า จดหมายถึง “ลูกชายเล็ก” ของพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่เพียงเป็นสื่อกลางที่ใช้ติดต่อพูดคุยตามประสาพ่อกับลูกตามสามัญสำนึกอย่างไร้ความหมาย หากยังบรรจุความหมายทางวัฒนธรรมด้วยการทำหน้าที่ส่งผ่านความคาดหวังจากพ่อไปถึงลูก แสดงตัวตนที่พึงใจให้ลูกเห็น และต่อรองให้ลูกประพฤติตามในสิ่งที่ผู้เป็นพ่อปรารถนา ในแง่นี้ การทำหน้าที่พ่ออันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตทางเพศสภาพของพระจุลจอมเกล้าฯ จึงเป็นสิ่งที่เราสามารถอ่านได้จากจดหมายเหล่านี้ อย่างไรก็ดี เราคงต้องศึกษากันต่อไปด้วยว่า การแสดงบทบาทพ่อและความสำเร็จในฐานะพ่อมีผลต่อสถานภาพทางสังคมของพระจุลจอมเกล้าฯ หรือความเป็นกษัตริย์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ความเป็นพ่อมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดบทบาท หน้าที่ อารมณ์ความรู้สึก และตัวตนที่แสดงออกของผู้ชายอย่างไร เพราะผู้ชายและความเป็นชายก็ต้องการประวัติศาสตร์ของตัวมันเองเช่นกัน ไม่ต่างจากผู้หญิง ชาติ ชนชั้น อารมณ์ สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งอื่นๆ ที่นักประวัติศาสตร์ต่างให้ความสนใจ

 


 

รายการอ้างอิง

 

  • ชาติชาย มุกสง. “ประวัติศาสตร์ที่หายไป: คนเล็กๆ ที่ถูกลืมกับวิธีการศึกษาแนวจุลประวัติศาสตร์ (Microhistory).” วารสารประวัติศาสตร์ (2553-4): 48-75.
  • นริศรา จักรพงษ์, หม่อมราชวงศ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ (บก.). ถึงลูกชายเล็ก: พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2560.
  • วิลลา วิลัยทอง. “แต่งตัวให้ผู้หญิงชั้นกลางไทย: ‘นักดีไซน์แบบ’ และวัฒนธรรมความงามในสมัย ‘พัฒนา’.” รัฐศาสตร์สาร 38, 1 (มกราคม-เมษายน 2560): 109-161.
  • สุวดี ธนประสิทธิพัฒนา. “สถานภาพทางสังคมของสตรีไทยในสมัยปฏิรูปประเทศ.” วารสารอักษรศาสตร์ 23, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2534): 1-19.
  • สายชล สัตยานุรักษ์. “ชีวิตและครอบครัวของผู้หญิงชนชั้นกลางไทย กับ ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ และการก่อตัวของระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่.” มนุษยศาสตร์สาร 22, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2564): 188-212.
  • Tosh, John. A Man’s Place: Masculinity and the Middle-Class Home in Victorian England. New Haven and London: Yale University Press, 2007.
  • Tosh, John. “The History of Masculinity: An Outdate Concept?” in John H. Arnold and Sean Brady (ed.), What is Masculinity? Historical Dynamics from Antiquity to the Contemporary World. pp. 17-34. Basingstoke: Palgrave Macmillan.