Skip to main content

ปราการ กลิ่นฟุ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หมายเหตุ: ถอดเทปการนำเสนอจากงานเสวนา "ประวัติศาสตร์ที่สร้างต่อ: สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์" ณ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 6 กันยายน 2566

 


 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับหลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ

 

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ สมศักดิ์ชอบพูดอยู่คำหนึ่ง differentia specifca เป็นภาษาลาติน มีคนแปลเป็นภาษาไทยว่าความแตกต่างอันมีลักษณะเฉพาะ สมศักดิ์พูดถึงในแง่ที่ว่ามันเป็นวิธีการในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ เราจะเข้าใจยุคสมัยนั้นๆ ได้ก็คือดูว่ามันมีความแตกต่างอันมีลักษณะเฉพาะต่างจากยุคอื่นๆ อย่างไร เป็นหลักสำคัญของสมศักดิ์ในการพิจารณาประวัติศาสตร์ มันก็เลยน่าสนใจว่าสมศักดิ์เคยพูดถึงบางยุคสมัยที่มันมีความเหมือนกันในบางลักษณะว่ามันมีลักษณะเดจาวู อาจจะพูดได้ว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ก็คือว่ามันเกิดในยุคสมัยหนึ่งแล้วแต่ว่ามันกลับมาเกิดในอีกยุคสมัยหนึ่งในเวลาที่ต่างกัน ด้วยวิธีคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับคุณลักษณะเฉพาะยุคสมัย พอสมศักดิ์เห็นว่ามันมีเดจาวูเกิดขึ้น มันก็เลยน่าสนใจว่าทำไมคนที่ให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะมากๆ อย่างนี้ถึงได้บอกว่ามันมีคล้ายคลึงกันในสองยุคสมัย

สำหรับสมศักดิ์ มีจุดร่วมกันบางอย่างของช่วงปลายทศวรรษ 2490 กับปลายทศวรรษ 2540 ปี สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันที่ทำให้สมศักดิ์เรียกว่าเดจาวู จริงๆ แล้วมันมีหลายประเด็น แต่ว่าสองช่วงเวลานี้นี้มีลักษณะคล้ายกันคือกระแสการโจมตีรัฐบาลที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูอำนาจของราชสำนัก ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เกิดบรรยากาศที่ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ฝ่ายต่อต้าน ออกมาโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วมันก็กลายเป็นกระแสสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500 กับในปี 2548-2549 ก็เกิดกรณีคล้ายกันคือการที่ปัญญาชนจำนวนมากในสังคมไทยโหมกระหน่ำโจมตีทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทยและเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกระแสที่นำมาสู่การยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 อันนี้แหละที่สมศักดิ์เรียกว่าเดจาวู ในช่วงปลายปี 2548 สมศักดิ์ผลิตข้อเขียนออกมาทางเว็บบอร์ดกระดานข่าวออนไลน์แล้วก็พูดถึงความเดจาวูว่ามันมีความคล้ายคลึงกันของสองช่วงนี้

ด้วยบทบาทในเชิงสาธารณะของสมศักดิ์ นอกจากสอนหนังสือแล้วก็พยายามที่จะมีข้อเสนอในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสังคม ถ้าเราดูข้อเสนอที่มีลักษณะรวบยอดความคิดของสมศักดิ์ที่พยายามจะแก้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ สมศักดิ์เสนอออกมาเป็นชุดข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันนี้เสนอออกมาในปี 2550 จะพูดถึงการยกเลิกมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่เนื้อหาคือองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฟ้องร้องมิได้ ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิกองคมนตรี ยกเลิก พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ซึ่งอันนี้ยกเลิกไปแล้วแต่เปลี่ยนเป็น พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินในสมัยรัชกาลที่ 10 ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ยกเลิกการมีพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ ยกเลิกโครงการหลวง ยกเลิกการรับบริจาค นี่เป็นข้อเสนอที่สมศักดิ์พยายามจะบอกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนพร้อมๆ กันไปทั้งชุด มันจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ถ้าพูดในลักษณะที่จำเพาะเจาะจงสักนิดหนึ่ง สมศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ยกเลิกหรือว่าแก้ไขมาตรา 112 แต่เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่พยายามแก้ไขด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน

จากข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในภายหลังสมศักดิ์ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจว่า พื้นฐานของข้อเสนอ 8 ข้อนี้มาจากหลักการอันหนึ่งที่เป็นหัวข้อของวันนี้ คือมาจากหลักการอำนาจและความรับผิดชอบ ซึ่งสมศักดิ์เอามาจากอาจารย์หยุด แสงอุทัย ที่เป็นนักกฎหมาย จบปริญญาเอกทางกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี ไปเรียนในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับมาปี 2479 อยู่ในเยอรมนีในช่วงทศวรรษ 1930 ที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีกำลังขึ้นสู่อำนาจ กลับมาทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจนได้เป็นเลขาธิการ เป็นมือกฎหมายอันดับหนึ่งของรัฐบาล อาจารย์หยุดมีชื่อเสียงในแวดวงกฎหมายมาก ทั้งร่างกฎหมาย ทั้งเขียนตำราไว้เยอะมาก เป็นคนที่ได้รับความเคารพในแวดวงนิติศาสตร์ของไทย

งานชิ้นที่สมศักดิ์หยิบมาใช้ปรับให้เป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในทศวรรษ 2540–2550 เป็นข้อเสนอที่อาจารย์หยุดเผยแพร่ในรูปแบบบทความวิทยุ เผยแพร่ในปี 2499 มีต้นฉบับอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยสรุปเนื้อหาของหลักการที่พูดถึงอำนาจและความรับผิดชอบคือ อาจารย์หยุดบอกว่าการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยมันมีแบบแผนสำคัญอันหนึ่งก็คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นคนที่ใช้อำนาจสาธารณะ อำนาจสาธารณะหมายถึงอำนาจที่จะกระทบต่อสาธารณะ หรือว่าอำนาจที่ได้มาด้วยงบประมาณของสาธารณะ จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้านหนึ่งก็จะต้องเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ สองคือรับผิดชอบต่อประชาชนในลักษณะที่มี accountability คือรับผิดชอบต่อสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน รูปธรรมก็คือรัฐบาลใช้อำนาจที่มาจากงบประมาณภาษีอากรของประชาชน แล้วนโยบายก็จะกระทบต่อประชาชน เพราะฉะนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีที่มาจากประชาชน ด้วยการตั้งกระทู้ ถาม อภิปรายทั่วไป อภิปรายไม่ไว้วางใจ การรับผิดชอบนี้มีลักษณะที่ทั้งต้องถูกตรวจสอบได้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมไปถึงต้องสามารถถูกเอาออกจากตำแหน่งได้

ในส่วนของสถาบันกษัตริย์ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแต่ยังคงรักษาประมุขของรัฐเป็นสถาบันกษัตริย์ เราไม่ต้องการให้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องการให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องการให้ถูกตรวจสอบ และไม่สามารถเอาพระมหากษัตริย์ออกจากตำแหน่งได้ เพราะว่าเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์เป็นกลางทางการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของประเทศชาติ ก็เลยมีกลไกในการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อพระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำ วิธีการนั้นก็คือต้องไม่ให้พระองค์มีพระราชอำนาจในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็จะใช้กระบวนการที่เรียกว่า การรับสนองพระบรมราชโองการ ให้คนที่เซ็นรับสนองมาจากองค์กรที่รับผิดชอบต่อประชาชน นั่นก็คือรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภา หรือว่าเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในความหมายนี้ ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในพระราชกรณียกิจนั้น ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ อันนี้เป็นที่มาของกระบวนการรับสนองพระบรมราชโองการ เป็นที่มาของ The King can do no Wrong ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ไม่ผิด แต่ที่ทำอะไรแล้วไม่ผิดก็เพราะว่าไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยพระองค์เอง นี่เป็นข้อเสนอที่อาจารย์หยุดพูดถึงในบทความนี้ จริงๆ ถ้าพูดในลักษณะที่จำเพาะเจาะจงมากๆ บทความนี้เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในช่วงต้นปี 2499 ก็คือการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสสดในวันกองทัพบกประจำปีนั้น เป็นพระราชดำรัสที่ไม่ได้ผ่านการรับสนองพระบรมราชโองการ อาจารย์หยุดก็เลยออกมาเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ตอนนั้น ทำให้อาจารย์หยุดเกือบโดนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เข้าใจว่าด้วยความช่วยเหลือของจอมพล ป. ทำให้เรื่องยุติไป

จริงๆ แล้วหลักการอำนาจและความรับผิดชอบไม่ได้เพิ่งปรากฏขึ้นมาในสังคมการเมืองไทยในปี 2499 แต่ว่ามันปรากฏมาในสองลักษณะก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการปฏิรูปราชสำนักในช่วงหลัง 2475 กับอีกด้านหนึ่ง ปรากฏขึ้นมาเป็นกระแสความคิดที่พยายามต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าการปฏิปักษ์ปฏิวัติที่มันเริ่มจะกลับมามีอิทธิพลมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือทศวรรษ 2490 ในด้านแรก หลังการปฏิวัติ 2475 มีสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ ก็คือการปฏิรูปราชสำนัก ในสมัยนั้นรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มต้นด้วยการมองว่ากิจการราชสำนักเป็นหนึ่งในกิจการสาธารณะ ไม่ใช่กิจการส่วนพระองค์ที่จะใช้พระราชอำนาจได้อย่างเต็มที่เหมือนสมัยก่อนการปฏิวัติ เพราะฉะนั้นทั้งการจัดการราชสำนัก การบริหาร การจัดการข้าราชบริพาร การจัดการงบประมาณ รวมถึงที่สำคัญก็คือการจัดการทรัพย์สินในพระคลังข้างที่ พวกนี้ถือว่าเป็นกิจการสาธารณะทั้งหมด ค่อยๆ มีกระบวนการเปลี่ยนกิจการเหล่านี้จากที่เคยเป็นพระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมวินิจฉัยในกิจการเหล่านี้ตามพระราชอัธยาศัย ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นอำนาจของรัฐบาล ตั้งแต่การปฏิรูปกระทรวงวัง เปลี่ยนกระทรวงวังให้เป็นสำนักพระราชวังขึ้นต่ออำนาจบังคับบัญชาโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ทั้งการบริหาร ทั้งการจัดการ ข้าราชการในราชสำนัก รวมถึงงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินในทุกๆ ปี ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากรัฐสภาเหมือนกับงบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ รวมไปถึงการออกกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2479 ทำให้ทรัพย์สินที่อยู่ในพระคลังข้างที่กลายมาเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง ก็คืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจ

แต่ว่าจริงๆ แล้วอันนี้มีข้อจำกัดบางอย่าง ก็คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอันนี้ คณะราษฎรสามารถแยกกิจการราชสำนักกับพระราชอำนาจออกจากกันได้ แล้วก็ให้รัฐบาลเป็นผู้เข้าไปควบคุมกิจการราชสำนัก รัฐบาลรับผิดชอบต่อสภา แต่ว่าประเด็นสำคัญคือในสมัยคณะราษฎรมีส.ส.สองประเภท มีส.ส.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย นี่เป็นข้อจำกัดของหลักการอำนาจและความรับผิดชอบในสมัยคณะราษฎร ทำให้ผู้ใช้อำนาจไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะว่าในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สมศักดิ์เคยพูดไว้ในบางบทความว่า เขาไม่เคยมองว่าสิ่งทีเกิดขึ้นหลัง 2475 เป็นประชาธิปไตย มันไม่สามารถเรียกว่าประชาธิปไตยได้ แม้ว่าตัวสมศักดิ์เองจะสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 แต่ว่าระบบของสถาบันการเมือง ความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองยังไม่เข้าลักษณะที่เป็น ประชาธิปไตย แล้วต่อมาก็กลายมาเป็นข้อโจมตีในทางการเมือง คนที่ต่อต้านคณะราษฎรก็ใช้ประเด็นนี้มาโจมตีในภายหลังอยู่เรื่อยๆ ว่ารัฐบาลก็ใช้คนของตัวเองแต่งตั้งเข้าไปแล้วก็ยกมือให้รัฐบาล อันนี้เป็นข้อจำกัดในช่วงนั้น

ในทศวรรษ 2490 หลักการอำนาจและความรับผิดชอบปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นการพยายามปะทะในทางความคิดกับกระแสการฟื้นฟูพระราชอำนาจในทศวรรษ 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การจับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองแบบใหม่ กรณีสวรรคต รัฐประหาร 2490 สิ่งสำคัญก็คือเกิดความพยายามในการอธิบายหลักการว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญที่พยายามจะบอกว่าสถาบันกษัตริย์สามารถมีอำนาจได้นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วยฝีมือของปัญญาชนและนักกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่ง อาจารย์หยุด แสงอุทัยเป็นหนึ่งในนักกฎหมายมหาชนที่พยายามจะโต้กระแสนี้ ผลิตตำราเกี่ยวกับคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมาหลายเล่ม มีงานที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนที่จะมีบทความทางวิทยุที่กล่าวถึงไป จะเห็นได้ว่าความคิดของอาจารย์หยุดไม่ได้เพิ่งมาเกิดในปี 2499 แต่ว่าปรากฏขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ประเด็นนี้สามารถหาอ่านได้ในงานของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง

อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วง 2490 ก็คือหลวงพิบูล ที่เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 มีความตระหนักดีว่าตอนนั้นมีกระแสการฟื้นฟูพระราชอำนาจ แต่ว่าตอนที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่ หลวงพิบูลไม่ใช่คนที่จะมาดูเรื่องราชสำนักโดยตรง คนที่รับผิดชอบความเปลี่ยนแปลงในราชสำนักเป็นพวกเทคโนแครตอย่างท่านวรรณ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กับท่านสกล หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พวกนี้ทำเรื่องปฏิรูประบบการจัดการทรัพย์สิน ปฏิรูปราชสำนัก แต่ว่าพอจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกครั้งที่สอง พวกนี้หลุดไปจากวงจรของรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่มีประเด็นอะไรที่มันจะเกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการกับราชสำนัก รัฐบาลก็จะไม่มีใครที่ออกมายืนยันเรื่องพวกนี้ได้ ในปี 2494 การเสด็จกลับมาของรัชกาลที่ 9 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราชสำนักเปลี่ยนไป ก็คือ ที่ก่อนหน้านั้นพยายามจะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดให้มีองคมนตรี มี ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง มีความพยายามเข้าไปเปลี่ยนกฎหมายการจัดการทรัพย์สินปี 2491 เริ่มมีลักษณะที่ราชสำนักเข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองวัฒนธรรมมากขึ้น ผ่านการเสด็จปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะ ในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2490 เราก็จะเห็นประเด็นที่มันเข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เวลามีประเด็นเกี่ยวกับราชสำนัก จอมพล ป. ก็จะต้องมีการสั่งให้ทบทวนว่าทำแบบนี้ได้มั้ย เป็นไปตามหลักการหรือเปล่า เราจะเห็นได้ว่าจอมพล ป. เองไม่ได้มีความแม่นยำในหลักการพวกนี้ เพราะสมัยก่อนไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบเรื่องพวกนี้เอง เป็นช่วงเวลาที่อาจจะเรียกได้ว่า การปฏิวัติที่อ่อนแรง หมายความว่าจอมพล ป. พยายามจะดึงหลักการพวกนี้มารับมือกับการเคลื่อนไหวฟื้นฟูพระราชอำนาจ แต่แกไม่แม่น และเทคโนแครตที่เคยทำเรื่องพวกนี้ก็หายไปหมดแล้ว

เราน่าจะได้ลองเปรียบเทียบกับตอนที่สมศักดิ์เอาหลักการนี้มาเสนอในช่วง 2540 – 2550 สมศักดิ์มองว่าในช่วงนี้ เป็นช่วงที่เรียกว่า mass monarchy คือสังคมการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เศรษฐกิจเปลี่ยนเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเต็มที่มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 ทำให้เกิดกลุ่มมวลชนของราชสำนัก ก็คือกระฎุมพีไทยที่โตขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปะทะกันของอำนาจคู่ (Dual Power) ที่ยืมมาจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย ก็คือสอง ร. ปะทะกันในช่วงทศวรรษ 2540 ร.รัฐสภา กับ ร.ราชสำนัก รัฐสภามีอำนาจขึ้นมาหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 กองทัพกลับเข้ากรมกอง อำนาจการเมืองรวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภา แต่ในขณะเดียวกันราชสำนักก็ขึ้นมาด้วย ผ่านความเปลี่ยนแปลงจากการที่คนไทยเคยเคารพจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่เป็นเชิงสถาบัน เปลี่ยนมาเป็นตัวบุคคล ไปรวมศูนย์อยู่ที่รัชกาลที่ 9 ที่งานหลายชิ้นเรียกว่าอำนาจนำ มีลักษณะที่รัชกาลที่ 9 มีสถานะเป็นผู้นำทางความคิดของกระฎุมพีไทย กรณีสำคัญก็คือพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมการณ์ของราชสำนัก และยังมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงกองกำลังด้วย สมศักดิ์บอกว่ากองทัพก่อนหน้านี้ถ้าจะยึดอำนาจจะมีผลประโยชน์ที่ทำไปเพื่อตัวเอง เพื่ออำนาจของกองทัพ เพื่ออำนาจของผู้นำ แต่ว่า 2549 เป็นการรัฐประหารที่กองทัพไม่ได้ทำไปเพื่ออำนาจของตัวเอง แต่ว่าอิงอยู่กับราชสำนักเป็นหลัก

นี่คือการปะทะกันที่สมศักดิ์หยิบเอาหลักการอำนาจและความรับผิดชอบมาเสนอในช่วงนี้ ด้านหนึ่งเพื่อจะปกป้องระบบรัฐสภาไม่ให้ถูกโค่นไปในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 สมศักดิ์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่บอกว่าทักษิณมีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พอเหตุการณ์มันคลี่คลายไปจะเห็นได้ว่าสมศักดิ์ไม่ได้ใช้หลักการอำนาจและความรับผิดชอบกับการพูดถึงบทบาทของราชสำนักเท่านั้น แต่ได้ปรับมาใช้กับบทบาทของแกนนำมวลชนและพรรคการเมืองด้วย เพราะสมศักดิ์มองว่าถึงที่สุดแล้วการเมืองไทยมันจะไปในทิศทางที่รัฐสภาขึ้นมามีอำนาจ ถ้ารัฐสภามีความรับผิดชอบต่อประชาชนก็จะเป็นระบบที่มันเวิร์ค สมศักดิ์เห็นว่าแกนนำมวลชนและรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย มีความรับผิด ชอบต่อประชาชนของตัวเองค่อนข้างน้อย จากหลายๆ กรณี การชุมนุม การล้อมปราบพฤษภา 53 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก กรณี พรบ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่พยายามจะปรับหลักการนี้มาใช้กับพรรคการเมืองด้วย ไม่ใช่ใช้กับบทบาทของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น

ประเด็นสุดท้าย ความแตกต่างของทศวรรษ 2490 กับ 2540-2550 ด้านหนึ่งก็คือในช่วง 2490 ยังไม่มีการเมืองในลักษณะ mass คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเป็นพวก elite และผู้นำ ในขณะที่พระราชอำนาจในช่วง 2490 ก็เป็นช่วงเริ่มต้นและยังมีความไม่มั่นคง ไม่แน่นอน แต่ผ่านมา 40 – 50 ปีก็เปลี่ยนไปเป็นครองอำนาจนำได้แล้ว ความแตกต่างนี้ส่งผลอย่างไรบ้าง ด้านหนึ่งคือ 2490 พออาจารย์หยุดเสนอบทความนั้น แล้วเกิดรัฐประหาร 2500 ข้อเสนอของอาจารย์หยุดจะตกหายไปเลย ไม่มีใครเอามาทำต่อจนกระทั่งสมศักดิ์รื้อฟื้นขึ้นมาอีกหลายสิบปีหลัง แต่ว่าข้อเสนอของสมศักดิ์นั้นแตกต่างออกไป เหมือนกับว่าตัวสมศักดิ์เองก็ mass ไม่แพ้อีกฝั่งหนึ่งที่ได้รับการติดตามและได้รับการยอมรับในทางความคิดในระดับค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อของการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์รังสิต 10 สิงหาคม 2563 ที่อ่านโดยคุณรุ้ง เราจะเห็นความเหมือนความคล้ายที่แทบจะเป็นอันเดียวกัน อันนี้น่าจะเป็นผลอันหนึ่งของ mass politics ที่ทำให้ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ

สรุปก็คือ หลักการอำนาจและความรับผิดชอบของอาจารย์สมศักดิ์ อาจจะมองได้ว่าเป็นทางออกจากสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม แม้ว่าสมศักดิ์จะไม่เคยพูดคำนี้เลย ไม่ใช่ว่าสมศักดิ์ไม่ยอมรับอาจารย์นิธิ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าอย่างนั้น สมศักดิ์อาจจะใช้คำว่าสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่บอกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตของตะวันตกมันจำกัดอำนาจไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ว่ายังมีอำนาจที่มันเป็นอำนาจในทางสังคมวัฒนธรรมอีกมากและอาจจะสำคัญกว่าอำนาจที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ อาจารย์สมศักดิ์ก็บอกว่าเราต้องจำกัดอำนาจนั้นด้วยหลักการอำนาจและความรับผิดชอบนี้