วันพัฒน์ ยังมีวิทยา อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: ถอดเทปการนำเสนอจากงานเสวนา "ประวัติศาสตร์ที่สร้างต่อ: สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์" ณ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 6 กันยายน 2566
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์แบบค้านท์เทียน
วันนี้จะมานำเสนอในหัวข้อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์แบบค้านท์เทียน (Kantian) ซึ่งจะอธิบายต่อไปว่าค้านท์เทียนคืออะไร แต่อยากจะเริ่มด้วยการชวนพวกเราคุยกันนิดหนึ่งก่อน เนื่องจากวันนี้หัวข้อที่ผมจะพูดเป็นปรัชญาการเมืองซึ่งก็อาจจะค่อนข้างยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย โดยสิ่งที่ผมจะทำในวันนี้คืออธิบายความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์ โดยเฉพาะวิธีการวิพากษ์ประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยจะดูว่าความคิดในทางปรัชญาของสมศักดิ์ที่นำมาใช้วิพากษ์นั้นเอามาจากใคร ซึ่งผมเสนอว่าเอามาจากนักปรัชญาที่ชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน (หรือปรัสเซียในสมัยก่อน) ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 18 ก่อนอื่นผมอยากให้ดูรูปนี้ของสมศักดิ์
จะเห็นจากในรูปว่ามีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งซึ่งอาจจะดูไม่ออกว่าคือหนังสืออะไร แต่เนื่องจากผมเองก็มีหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Kant and the Critique of Pure Reason เขียนโดย Sebastian Gardner[1] ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสมศักดิ์ให้ความสนใจกับความคิดทางปรัชญาของค้านท์[2] และเนื่องจากวันนี้ผมมีเวลาในการนำเสนอที่จำกัด ดังนั้น จะขอโอกาสโฆษณางานของตัวเอง เป็นบทความที่ผมเขียนอยู่ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับสุดท้าย ชื่อว่า "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลา"[3] มีหลายประเด็นที่อยากจะพูดวันนี้แต่คงไม่ได้พูด ก็ขอให้ไปอ่านในบทความนี้เอาแทน ซึ่งผมเขียนไว้ค่อนข้างละเอียดว่าความคิดของสมศักดิ์แตกต่างจากพวกปัญญาชนคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันกับเขาอย่างไรบ้าง รวมถึงปรัชญาของค้านท์ด้วย
เพื่อเป็นการทำให้เห็นว่าหัวข้อของผมสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องพูดเรื่องนี้ ผมจะลองชวนพวกเราคุยดู ผมคิดว่าถ้าเป็นสักประมาณ 10 กว่าปีก่อน เราแทบจะไม่ต้องมีคำถามเลยว่าคนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร ตรงกันข้าม เราอาจจะต้องถามด้วยซ้ำว่าใครบ้างที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต่างจากทุกวันนี้ ทีนี้การที่หลายคนเริ่มมาตั้งคำถามในปัจจุบันนี้ผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ เพราะมันเห็นจากอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างชัดคนจึงเริ่มเห็นความไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าหากย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนี้เลย คนไทยส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมเจ้าทั้งหมด มีแค่คนจำนวนน้อยมากๆ เท่านั้นที่วิพากษ์สถาบันฯ คุณต้องนึกให้ออกว่านี่เรากำลังย้อนกลับไปพูดถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับความนิยมยกย่องอย่างมากจากคนทุกชนชั้น แม้แต่พวกอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นพวก "สลิ่ม" ทั้งหมดถ้าใช้ภาษาแบบทุกวันนี้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ตรงนี้ ผมกล้าพูดได้เลยว่าสมศักดิ์เป็นคนแรกๆ เลยในประเทศไทยที่เริ่มวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ตั้งแต่สมัย 30-40 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน คำถามคือเป็นไปได้อย่างไรที่ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมเจ้าแต่สมศักดิ์กลับไม่ใช่ จึงเป็นโจทย์ขึ้นมาว่าเราจะทำความเข้าใจอย่างไรว่าทำไมสมศักดิ์จึงเป็นแบบนั้น แสดงว่าต้องมีชุดความคิดอะไรบางอย่างของสมศักดิ์ที่ไม่เหมือนกับของปัญญาชนคนอื่นๆ
ผมจะเริ่มอภิปรายด้วยประโยคที่สมศักดิ์เคยพูดเอาไว้ในงานเสวนาเรื่อง "สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย" ในวันที่ 10 ธันวาคม 2553[4] ซึ่งผมถือว่าเป็นการอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ของสมศักดิ์อยู่เหมือนกัน สมศักดิ์พูดไว้ตอนหนึ่งว่า “รู้ได้อย่างไร? พิสูจน์ได้อย่างไร? "ว่าในหลวงทรงงานหนัก" ... ในที่สุดแล้วมันรู้ไม่ได้หรอก เพราะตราบใดที่คุณไม่มีเสรีภาพให้วิพากษ์วิจารณ์ ให้ตรวจสอบได้” ผมจะอภิปรายประโยคนี้และทำให้เห็นว่าวิธีวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์จริงๆ แล้วอาจจะแตกต่างและซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนเข้าใจก็ได้ โดยผมจะอภิปรายในเชิงปรัชญาซึ่งมีความยากพอสมควร แต่จะช่วยให้เห็นได้ว่ากว่าที่สมศักดิ์จะผลิตข้อถกเถียงแบบนี้ออกมาได้เขาได้ผ่านการคิดอะไรมาบ้าง ซึ่งประโยคข้างต้นนี้ถ้าฟังทุกวันนี้อาจจะรู้สึกว่าก็เป็นเรื่องปกตินี่ แต่ผมจะบอกว่าในเวลานั้น (2553) ข้อถกเถียงของประโยคนี้ทรงพลังมากๆ
ประเด็นของสมศักดิ์คือ ประโยคที่กล่าวว่า "ในหลวงทรงงานหนัก" จะถือว่าเป็นความจริงได้หรือไม่? (ต้องยำ้ว่านี่เรากำลังพูดถึงรัชกาลที่ 9) พวกเราโตขึ้นมาพร้อมกับการมีข่าวสองทุ่ม จะเห็นว่ามีการโฆษณาตลอดเวลาว่าในหลวงทรงงานหนัก ทั้งเห็นภาพที่ท่านทรงไปช่วยเหลือชาวบ้าน เรื่องนำ้ท่วมและอื่นๆ ทุกคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในหลวงท่านทรงงานหนักมาก แต่แล้วอยู่ๆ สมศักดิ์กลับมาตั้งคำถามว่าคุณรู้และพิสูจน์ได้อย่างไรว่าในหลวงทรงงานหนัก ซึ่งสำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้วนี่เป็นคำถามที่ประหลาดมากในเวลานั้น คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่าก็ต้องรู้สิว่าท่านทรงงานหนัก ก็ดูได้จากทีวี ข่าวต่างๆ ก็พูดบอกอยู่ตลอด แต่ประเด็นไม่ใช่ว่าสมศักดิ์ไม่เคยเปิดทีวีดู (จริงๆ แล้วสมศักดิ์เป็นแฟนตัวยงข่าวพระราชสำนัก) แต่การที่สมศักดิ์ตอบว่าเราไม่สามารถรู้และพิสูจน์ได้ว่าในหลวงทรงทำงานนั้น ไม่ได้หมายความว่าสมศักดิ์บอกว่าในหลวงไม่ได้ทรงทำงานหนัก แต่คือเราไม่สามารถอ้างว่าในหลวงทรงทำงานหนักได้ ไม่ว่าคุณจะเชื่อว่าท่านทรงงานหนักจริงหรือไม่จริง คุณก็ไม่สามารถอ้างอย่างหนึ่งอย่างใดได้ทั้งนั้น
ตรงนี้ผมคิดว่าสมศักดิ์ไปเอาปรัชญาของค้านท์มา ในหนังสือเล่มสำคัญของค้านท์คือ Critique of Pure Reason[5] ซึ่งค้านท์พูดเรื่องเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ (epistemology) ค้านท์พูดถึงแนวคิดหนึ่งเรียกว่า เงื่อนไขของความเป็นไปได้ (the condition of possibility) ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือเป็นแนวคิดที่ดูว่าอะไรคือเงื่อนไขที่จะทำให้อะไรอย่างอื่นมันเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ อย่างถ้าคุณเปิดทีวีและดูข่าวพระราชสำนักแล้วเชื่อจากสิ่งที่ตาคุณเห็นและสิ่งที่หูคุณได้ฟังมาว่า นี่ไง ท่านทรงทำงานหนักจริงๆ ผมก็อาจจะถามคุณว่าแล้วคุณรู้ได้อย่างไร? หรือว่าคุณจะสามารถเชื่อจากสิ่งที่ตาคุณเห็นและสิ่งที่หูคุณได้ฟังมาว่าเป็นความจริงได้อย่างไร? สมศักดิ์ตอบว่าถึงที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถอ้างว่าตัวเองเข้าถึงความจริงหรือความรู้ในเรื่องนี้ได้ ท่านอาจจะทรงงานหนักจริงหรือไม่จริงก็ได้ เราไม่อาจล่วงรู้ได้ ซึ่งสาเหตุที่เราไม่อาจล่วงรู้ได้เพราะความจริงมันอาจไม่ใช่สิ่งที่ตาคุณเห็นหรือสิ่งที่หูคุณได้ฟังมาเสมอไปก็ได้ คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านั้นที่เห็นทางตาหรือหูเป็นความจริง? เราก็ต้องกลับไปดูที่เงื่อนไขของความเป็นไปได้ ซึ่งในกรณีนี้สมศักดิ์ก็ตอบว่าเงื่อนไขดังกล่าวคือ เสรีภาพในการพูด (freedom of speech) นั่นคือจะต้องมีเงื่อนไขว่าทุกคนต้องมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ก่อน
แต่การที่มี ม.112 ที่ห้ามคนวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าใครวิจารณ์ก็อาจถูกจับติดคุกหรือไม่ก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ฉะนั้น คนจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ข่าวที่เหลืออยู่ที่เราเห็นมันจึงเป็นข่าวที่ถูกกรองเอาด้านที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ออกไปหมดแล้ว เราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่าสิ่งที่เราเห็นและได้ยินมันเป็นความจริงจริงๆ สมศักดิ์จึงเสนอให้ยกเลิก ม.112 เพื่อสร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้ของความรู้ชนิดนี้ คือเพื่อนำไปสู่การสามารถรู้และพิสูจน์ได้ว่าความจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ เป็นอย่างไร แน่นอนว่านี่ก็ไม่ใช่เท่ากับการบอกว่าข้อวิพากษ์เหล่านั้นย่อมเป็นความจริงเสมอเช่นกัน ถึงที่สุดแล้ว ความจริงคืออะไรจะต้องผ่านกระบวนการการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นคือเงื่อนไข (condition) ที่จะทำให้เกิดกระบวนการการถกเถียงและแลกเปลี่ยนซึ่งจะนำไปสู่ความรู้หรือความจริงดังกล่าวได้ถูกทำลายไปโดย ม. 112 ตั้งแต่ต้น (in the first place) ดังนั้น สมศักดิ์จึงเสนอให้ยกเลิก ทีนี้การเสนอให้ยกเลิก ม. 112 เพื่อให้คนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์นี้อาจจะฟังดูธรรมดาว่าเราก็ควรต้องยกเลิกกฎหมายนี้เพื่อให้คนมีเสรีภาพอยู่แล้ว แต่ผมจะเปรียบเทียบให้คุณดูในแง่ภูมิปัญญาว่าวิธีวิพากษ์ของสมศักดิ์ตรงนี้แตกต่างจากปัญญาชนคนอื่นๆ อย่างไร
ในแง่ท่าทีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยจะมีอยู่ประมาณ 2-3 แบบ จริงๆ มันมีเยอะกว่านี้ แต่อันนี้ผมเอามาแค่จำนวนหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นในประเด็นสมศักดิ์ ท่าทีแบบแรก เป็นท่าทีแบบฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยม คือพวกนี้ได้ตัดสินแล้วว่าสถาบันกษัตริย์ดี ดังนั้น จึงควรปกป้อง ม.112 เพื่อไม่ให้สถาบันกษัตริย์ถูกวิจารณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ได้ ตัวอย่างรูปประโยคของข้อถกเถียงนี้ เช่น เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ทำความดี ดังนั้น จึงควรปกป้องสถาบันกษัตริย์ และดังนั้น การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์จึงผิด เป็นต้น ข้อถกเถียงนี้สะท้อนว่าผู้พูดสามารถรู้ได้ว่าความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์คืออะไร เพราะอ้างไปแล้วว่าสถาบันกษัตริย์ทำความดีจริง ส่วนท่าทีแบบที่สอง เป็นท่าทีแบบฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายทวนกระแสซึ่งวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ แม้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายจะมีท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์แตกต่างกัน (ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน อีกฝ่ายวิพากษ์) แต่ทั้งสองฝ่ายกลับมีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือทั้งสองฝ่ายต่างตัดสินไปแล้วว่าความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์คืออะไร ถ้าสรุปเป็นรูปประโยคการให้เหตุผลก็อาจได้เป็นว่า สำหรับฝ่ายขวาคือ เนื่องจาก xxx ได้ทำให้เกิดนโยบาย yyy ซึ่งถูกตัดสินว่าดี และเนื่องจากกฎหมาย zzz ที่ห้ามวิจารณ์ xxx ถือเป็นการช่วยปกป้องนโยบาย yyy ดังนั้น กฎหมาย zzz จึงเป็นสิ่งที่ดี เป็นต้น ส่วนฝ่ายซ้ายอาจได้เป็นว่า เนื่องจาก xxx เป็นอุปสรรคในการสร้างนโยบาย yyy และเนื่องจากกฎหมาย zzz ที่ห้ามวิจารณ์ xxx ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการสร้างนโยบาย yyy ดังนั้น กฎหมาย zzz จึงผิด เป็นต้น
ส่วนท่าทีแบบที่สาม ซึ่งผมคิดว่าสมศักดิ์เป็นคนนำเข้ามาคือแบบที่ผมเรียกว่าแบบค้านท์เทียน รูปประโยคของข้อถกเถียงแบบค้านท์เทียนก็คือ เราต้องยกเลิก ม. 112 ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าเพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าเราไม่สามารถอ้างได้จริงๆ ว่าสถาบันกษัตริย์ดีหรือไม่ดี ฉะนั้น จึงต้องยกเลิก ม. 112 ก่อนเพื่อสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เราสามารถตอบคำถามนี้ได้จริงๆ จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างข้อถกเถียงของสมศักดิ์กับแบบของฝ่ายซ้ายข้างต้นก็คือ ในขณะที่ฝ่ายซ้ายเริ่มด้วยการตัดสินนำไปก่อนแล้วว่าความจริงคืออะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วจึงค่อยนำไปสู่ข้อสรุปว่าต้องยกเลิก ม. 112 แต่สมศักดิ์เริ่มด้วยการให้ยกเลิก ม. 112 ก่อนเลย แล้วจึงค่อยไปสู่การถกเถียงข้อสรุปว่าความจริงคืออะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร
ในส่วนสุดท้ายนี้ ผมจะพูดในส่วนที่ค่อนข้างยาก คือปรัชญาศีลธรรมของค้านท์[6] ซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างข้อถกเถียงของสมศักดิ์เช่นกัน อย่างที่ก่อนหน้านี้อาจารย์ปรานได้พูดไปแล้วว่า ในมุมมองของสมศักดิ์สถาบันกษัตริย์ไทยในปัจจุบันไม่ใช่สถาบันศักดินา แต่เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐแต่อาจจะมีคุณลักษณะบางอย่างที่แตกต่างออกไป คำถามทางปรัชญาของสมศักดิ์คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับพลเมืองควรจะเป็นอย่างไร? ผมเสนอว่าความคิดของสมศักดิ์มีความเป็นปรัชญาสูงมาก อย่างอันนี้สมศักดิ์ก็เริ่มการตอบด้วยการพิจารณาที่ตัวตนของมนุษย์ (conception of the person) คือการหาว่ามนุษย์ในทางนามธรรมจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร สมศักดิ์มองแบบค้านท์ คือมนุษย์มีอัตลักษณ์ 2 แบบในร่างเดียวกัน แบบหนึ่งคือตัวตนที่อยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ (the phenomenal world) ก็คือโลกทั่วๆ ไปแบบที่เราเข้าใจกัน มีความอยาก ความชอบไม่ชอบ ตามประสบการณ์ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ซึ่งพวกเราทุกคนจะมีอัตลักษณ์ในด้านนี้แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ เช่น บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นนักศึกษา บางคนเป็นผู้ชาย บางคนเป็นผู้หญิง ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันเราทุกคนก็มีอัตลักษณ์บางอย่างที่เหมือนกันในอีกโลกหนึ่ง คือโลกแห่งเหตุผล (the intelligible world) ในโลกนี้ถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นปัจเจกชนเหมือนกัน มีธรรมชาติเหมือนกัน ไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นใครก็ตามในโลกแห่งประสบการณ์
ทีนี้ คำถามต่อมาคือการจะกำหนดว่าอะไรคือความยุติธรรม ค้านท์ถือว่าความยุติธรรมคือสิ่งที่ชอบธรรมต่อมนุษย์ในโลกแห่งเหตุผลทุกคนหรือก็คือมนุษย์นามธรรมที่เป็นอิสระจากโลกแห่งประสบการณ์ทั้งปวง สมศักดิ์ก็นำแนวคิดแบบนี้มาใช้ โดยเริ่มจากการมองมนุษย์ในฐานะมนุษย์นามธรรมซึ่งทุกคนมีธรรมชาติบางอย่างร่วมกัน (universal) เนื่องจากเป้าหมายในชีวิต (หรือแนวคิดชีวิตที่ดี) ของแต่ละคน (ในฐานะมนุษย์รูปธรรม) แตกต่างกัน (particular) ดังนั้น โครงสร้างอำนาจรัฐที่ยุติธรรมไม่ควรนำเป้าหมายเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ มิเช่นนั้นจะเป็นความไม่ยุติธรรมต่อคนอื่นๆ ได้ ตรงกันข้าม อำนาจรัฐต้องมีความเป็นกลางต่อเป้าหมายเหล่านั้น รัฐจะต้องปกป้องคุ้มครองเฉพาะมนุษย์นามธรรมเท่านั้น และปล่อยให้แต่ละคนเลือกว่าจะกำหนดอัตลักษณะรูปธรรมของตนเองอย่างไรต่อไป นี่คือแนวคิดความเป็นกลางของรัฐที่สมศักดิ์ยึดถือ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนที่สมศักดิ์แตกต่างจากฝ่ายซ้ายคนอื่นๆ เพราะฝ่ายซ้ายสนับสนุนให้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์เป็นพิเศษกับชนชั้นล่างมากกว่าชนชั้นนายทุน แต่สมศักดิ์เห็นว่าเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจพวกนี้ควรต้องปล่อยให้เป็น public debate มากกว่าเป็นสิ่งที่ต้องใส่ไว้ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ตรงนี้จะคล้ายๆ กับที่อาจารย์ปราการเพิ่งพูดไปเรื่องหลักการอำนาจและความรับผิดชอบ สมศักดิ์เห็นว่าสถาบันกษัตริย์สามารถมีได้และไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยเสมอไป แต่ต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ข้อ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่มีอำนาจทางการเมืองเลย สอง ประมุขอาจสืบทอดทางสายเลือดได้แต่ประชาชนต้องให้การยินยอมในขั้นสุดท้าย
ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าคุณจะเข้าใจเรื่องปรัชญาพวกนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ผมจะสรุปว่าข้อเสนอของสมศักดิ์จริงๆ แล้วไม่ได้รุนแรง (radical) ข้อถกเถียงและข้อเสนอทุกอย่างของสมศักดิ์วางอยู่บนหลักการสากล (universal) คือมองทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ สมศักดิ์ไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เลย แม้แต่การเสนอให้ยกเลิก ม. 112 ก็ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ดีด้วย ข้อถกเถียงแบบค้านท์เทียนที่สมศักดิ์ใช้นี้ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบเลย แต่กลับกลายเป็นว่าสมศักดิ์ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศด้วยข้อหาล้มเจ้า ผมอยากทิ้งทายไว้ว่าการที่สังคมไทยไม่ยอมรับฟังข้อเสนอของสมศักดิ์อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะถ้าไม่ยอมรับฟังสายปฏิรูปแบบสมศักดิ์ และถ้าคนไม่มีทางออกในเรื่องนี้ สุดท้ายคนอาจจะหันไปหาข้อเสนอที่มัน radical กว่าของสมศักดิ์ก็ได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น
[1] Sebastian Gardner, Kant and the Critique of Pure Reason (London: Routledge, 1999).
[2] อย่างไรก็ตาม การที่ผมเสนอว่าสมศักดิ์ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของค้านท์ไม่ใช่เพียงเพราะเห็นว่าสมศักดิ์อ่านงานที่เกี่ยวกับค้านท์เท่านั้น แต่เป็นเพราะข้อเสนอและข้อถกเถียงทางการเมืองของสมศักดิ์ที่แสดงออกมาสะท้อนปรัชญาของค้านท์
[3] วันพัฒน์ ยังมีวิทยา, "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลา,”ฟ้าเดียวกัน, 20:2 (2565), 151-198.
[4] "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อภิปราย “สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย” 10 ธันวาคม 2553,” [https://www.youtube.com/watch?v=OagPmA-GC70]
[5] Immanuel Kant, Critique of Pure Reason, translated and edited by Paul Guyer and Allen Wood (Cambridge: Cambridge University Press, 1998).
[6] Immanuel Kant, Groundwork for the Metaphysics of Morals, Translated by Christopher Bennett et al (Oxford: Oxford University Press, 2019).