Skip to main content

ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: เนื่องจากบทความนี้มีขนาดยาว (ต้นฉบับยาว 51 หน้า) การอ่านในเว็บไซต์นี้อาจจะไม่สะดวก โดยเฉพาะในแง่ของเชิงอรรถ ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดเอกสารต้นฉบับในรูปแบบ pdf สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่นี่

แก้ไขล่าสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยปรับแก้สำนวน การสะกด และปีที่ผิดบางจุด

 


 

ว่าด้วย "เอกสารปรีดี" ที่ชานกรุงปารีส: การลี้ภัยของปรีดีจากจีนสู่ฝรั่งเศส

 

           เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2018 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟสบุ๊คในหัวข้อ “มีเอกสาร ของ หรือ เกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ ในหอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่เปิดให้ดู จนกว่าจะถึงปี 2024”[1] ในโพสต์ดังกล่าว สมศักดิ์ได้สันนิษฐานว่า เอกสารชุดดังกล่าวนั้น “มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง” คือ

“- นี่เป็นเอกสารส่วนตัว ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่บริจาคให้หอจดหมายเหตุ โดยระบุไว้ว่า ห้ามเปิดให้คนดูจนกว่าจะถึงปี 2024

- นี่เป็นเอกสาร เกี่ยวกับ ปรีดี อาจจะเป็นเอกสารข้อมูลที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส มีเกี่ยวกับปรีดีในช่วงปี 1968-1972

โพสต์ดังกล่าวนี้ เป็นที่นิยมมากถึงขั้นว่าทุกปีจะมีคนแวะเวียนมาแสดงความเห็น เฝ้ารอนับถอยหลังแต่ละปีเพื่อจะรอวันเปิด “เอกสารปรีดี” ยิ่งเมื่อเวลาใกล้เข้ามาเท่าไหร่ กระแสก็ยิ่งแรงขึ้น ผนวกกับการเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวถึงจุดสูงสุดในปี 2020 โดยมีประเด็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นแกนหลักสำคัญ เอกสารชุดดังกล่าวจึงเริ่มมีสถานะที่เป็นตำนาน” มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะท่ามกลางการเมืองที่เลวร้าย ผู้คนต่างเฝ้ารอนับถอยหลังการเปิด “เอกสารปรีดี” ด้วยความหวังว่าความลับของประวัติศาสตร์ไทยจะถูกเปิดเผยและจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันใหญ่หลวง เกิดเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” และการแสดงความคิดเห็น ตีความเนื้อหาของเอกสารกันอย่างหลากหลาย[2] รวมถึงเกิดเป็น “มุกตลก” หรือ “มีม” เช่น เรื่อง “สูตรข้าวมันไก่” ของปรีดีด้วย[3]

 

ปี 2020 ผู้ใช้ชื่อ “ลูกสาวอบต” โพสต์ในเว็บบอร์ดของ Postjung ในหัวข้อ "มีจริงหรือไม่??เอกสารลับ "ของ" หรือ "เกี่ยวกับ" ปรีดี พนมยงค์ ตั้งเวลาให้ถูกเปิดในปี 2024" โดยคัดลอกข้อความของสมศักดิ์มาบางส่วน และใช้ภาพหน้าปกว่า "เอกสารลับ ที่ถูกตั้งเวลาให้เปิดในปี 2024"[4]

 

ภาพประกอบบทความ “สูตรอาหารปรีดี พนมยงค์” ในเว็บไซต์ matichonacademy

 

ปรากฎการณ์นี้ กระจายไปกระทั่งในแวดวง “ปัญญาชน” อย่างสื่อมวลชน ในเดือนสิงหาคมปี 2021 อิทธิพล โคตะมี กองบรรณาธิการนิตยสาร WAY เขียนบทความ “คาดการณ์” ว่าเอกสารปรีดีจะมีการเปิดเผย “10 ประเด็นที่น่าสนใจติดตาม” เช่น กรณีสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, การเปลี่ยนย้ายฐานอำนาจของสังคมไทยอย่างไร ทั้งในกรณี 14 ตุลาคม 2516 และความรุนแรงในกรณี 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้น[5] โดยโพสต์ดังกล่าวในเฟสบุ๊คมีคนกด like ถึง 13,000 คน (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2023)[6]  ต่อมาในเดือนตุลาคม ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้โพสต์ใน     เฟสบุ๊คส่วนตัว เชื่อมโยงการเปิดเผย "เอกสารปรีดี" ว่าเป็นวันสำคัญของปี 2567 เพราะ “ครบกำหนดเผยแพร่เอกสารกรณีสวรรคต ร.8 โดยปรีดี พนมยงค์” เทียบเท่ากับการครบรอบวันสำคัญทางการเมืองไทยในสองปีก่อนหน้า คือ "ครบ 90 ปี 2475" ในปี 2565, และ "ครบ 50 ปี 14 ตุลา 2516" ในปี 2566[7]

 

ภาพจาก Facebook “Way” โพสต์เมื่อ 10 สิงหาคม 2020

 

ดูเหมือนว่ายิ่งเข้าใกล้เวลาเปิดเผยเอกสารมากขึ้นเท่าใด “ตำนาน” เรื่อง “เอกสารปรีดี 2024” จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ผู้คนจำนวนมาก รวมถึงสื่อและปัญญาชน ต่างเชื่อกันไปแล้วว่าเอกสารชุดดังกล่าวจะต้องมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2023 มีผู้โพสต์กระทู้ในเว็บไซต์ Pantip ว่าปี 2024 จดหมายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะเปิดแล้วและโพสต์ถามในกระทู้ว่า “อยากทราบว่าจะเปิดตอนไหน เปิดวันเกิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์หรือเปิดวันไหน” ข้อความแรกที่เข้าไปแสดงความคิดเห็น โพสต์ว่า "มีหลายเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ อย่างเรื่องของนักโทษ 3 คน ที่ปลูกต้นโพธิ์ ก่อนถูกประหารที่บางขวาง"[8]

เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้คนลืมไปแล้วหรือไม่ก็อาจจะไม่ทราบเลยว่า “ต้นทาง” ของเรื่องนี้ คือโพสต์เฟสบุ๊คของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลนั้น ได้ “คาดการณ์” เอาไว้ “สองอย่าง” แต่ผู้คนกลับหลงลืม “อย่างสอง” ไปเสียแล้ว อาจจะเป็นเพราะ “อย่างแรก” เข้ากันกับความหวังและอุดมการณ์ของตนเอง (และอาจจะของสังคม) มากกว่า[9]

บทความนี้ต้องการจะยืนยันว่า “เอกสารปรีดีที่จะเข้าถึงได้ในปี 2024 นั้น เป็น “อย่างที่สอง” ที่สมศักดิ์ได้เขียนไว้ คือ “เป็นเอกสาร เกี่ยวกับ ปรีดี อาจจะเป็นเอกสารข้อมูลที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส มีเกี่ยวกับปรีดีในช่วงปี 1968-1972 ด้วยเหตุผลสองประการ คือ

1) ธรรมชาติของเอกสารที่จัดเก็บที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศสและการแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุโดยตรง

2) เนื้อหาเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ จากเอกสารชุดก่อนหน้า คือเอกสาร “ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์, 1965-1967 (หรืออาจจะเรียกว่า “เอกสารปรีดี 2017”)

บทความนี้แบ่งออกเป็นสี่ตอน

ตอนแรก จะเป็นส่วนที่อธิบายเกี่ยวกับหอจดหมายเหตุการทูตของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โดยจะกล่าวถึงประวัติโดยคร่าว, ประเภทเอกสารที่จัดเก็บ, ระยะเวลาในการเผยแพร่, การจำแนกหมวดเอกสารและเอกสารเกี่ยวกับไทย, หมวดหมู่เอกสารของ “เอกสารปรีดี 2017” และ เอกสารปรีดี 2024”

ตอนที่สอง จะปูพื้นฐานบริบทการเมืองไทยเพื่อช่วยให้เข้าใจเนื้อหาของเอกสารปรีดีได้ดียิ่งขึ้น โดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งการขึ้นมาของสฤษดิ์และถนอม โดยสัมพันธ์กับการลี้ภัยและการเคลื่อนไหวของปรีดีในจีน

ตอนที่สาม จะกล่าวถึงประเด็นปัญหาบางประการเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องปรีดีในจีน และจะเจาะลงไปพิจารณาเนื้อหาของ เอกสาร “ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์, 1965-1967” ซึ่งการศึกษาเอกสารชุดนี้ พร้อมกับตีความข้อมูลที่มีอยู่ในบัญชีเอกสาร จะช่วยให้อนุมานได้ว่า “เอกสารปรีดี 2024” คืออะไร

บทสรุป จะนำเสนอการแบ่งช่วงเวลาของปรีดีในจีนออกเป็นสามช่วงโดยสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของปรีดี บริบททางการเมืองจีน และการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าเอกสารของฝรั่งเศสมีความสำคัญอย่างไรในการศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ในช่วงสงครามเย็น

เมื่อผู้เขียนเริ่มเขียนบทความนี้ ผู้เขียนนึกถึงกลุ่มผู้อ่านคือนักศึกษาประวัติศาสตร์ระดับปริญญาตรีเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่ของบทความนี้จึงมีลักษณะที่ปูพื้นฐานและให้ภูมิหลังหรือบริบทมากสักหน่อย โดยเฉพาะในตอนที่ 1 และ 2 ดังนั้น สำหรับผู้อ่านทั่วไปที่สนใจจะอ่านเกี่ยวกับ “เอกสารปรีดีโดยตรง อาจจะสามารถข้ามไปอ่านตอนที่ 3 และบทสรุปได้เลย ในส่วนผู้อ่านที่สนใจ “เอกสารปรีดี 2024” ที่จะเผยแพร่เร็วๆ นี้ ผู้เขียนก็หวังว่าเมื่ออ่านบทความนี้โดยรวมแล้วจะมีประโยชน์ในฐานะ“บทนำเพราะบทความนี้จะช่วยอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องหอจดหมายเหตุการทูตของฝรั่งเศส บริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย บริบทการลี้ภัยของปรีดีในจีนและความพยายามในช่วงปี 1965-1967 ที่จะขอไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส (“เอกสารปรีดี 2017”)

ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่ “เอกสารปรีดี 2024” จะเปิดให้เข้าใช้นี้ (และอีกไม่นานคงมีผู้เผยแพร่) ผู้ที่ได้อ่านบทความนี้บางคนอาจจะรู้สึก “ฝันสลาย” อยู่บ้าง เพราะ “เอกสารปรีดี 2024” ไม่เป็นดังที่หวัง แต่กระนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเอกสารชุดดังกล่าวน่าจะยังมีคุณค่า (เช่นเดียวกับ “เอกสารปรีดี 2017”) โดยน่าจะมีประโยชน์ช่วยเติมเต็มบางประเด็นในประวัติศาสตร์กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องปรีดี พนมยงค์ เช่น ความสัมพันธ์ของปรีดีกับทางการ ไทย จีนและฝรั่งเศส, ขั้นตอนการลี้ภัยของปรีดีจากจีนมายังฝรั่งเศส, ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฝรั่งเศส ไทย และจีน, ชีวิตความเป็นอยู่ของปรีดีในฝรั่งเศส, ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับครอบครัวในช่วงลี้ภัย, การเคลื่อนไหวทางการเมืองของปรีดีก่อนจะลี้ภัยไปฝรั่งเศส เป็นต้น

 


 

ตอนที่ 1

ว่าด้วยหอจดหมายการทูต กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส

 

ประวัติหอจดหมายเหตุการทูต กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส

หอจดหมายเหตุการทูต (Les archives diplomatiques) สังกัดกระทรวงต่างประเทศ เป็นหอจดหมายเหตุที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ก่อตั้งในปี 1680 โดย Charles Colbert de Croissy (1625-1696) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (secrétaire d’État aux Affaires étrangères) ซึ่งเป็นน้องชายของ Jean-Baptiste Colbert ผู้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป้าหมายของการจัดเก็บเอกสารคือการให้นักการทูตได้เข้าถึงเป็นหลัก โดยในช่วงแรกจะจัดเก็บไว้ในพระราชวัง เช่น Louvre และ Versailles ต่อมาก็เคลื่อนย้ายไปยังอาคารต่าง ๆ ในเมืองปารีส

จนกระทั่งในปี 1830 มีการผลักดันโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ Auguste Mignet ทำให้เอกสารจดหมายเหตุสามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป ต่อมาเมื่อปี 1845 มีมติให้ก่อสร้างตึกกระทรวงการต่างประเทศที่เรียกว่า “Quai d’Orsay” ในกรุงปารีส เอกสารจดหมายเหตุจึงเริ่มทยอยย้ายไปจัดเก็บไว้ที่นั่นในปี 1863

เอกสารจดหมายเหตุจัดเก็บไว้ที่กระทรวงอยู่ราว 145 ปี พบว่าตึกของกระทรวงนั้นไม่เหมาะในการจัดเก็บเอกสารตามมาตรฐานของหอจดหมายเหตุสมัยใหม่ ประการแรก ตึกที่สร้างในขณะนั้นมีความชื้นและอุณหภูมิที่ไม่เหมาะกับการจัดเก็บเอกสารเก่า นอกจากนี้ พื้นที่ของการจัดเก็บที่ไม่เพียงพอ ทำให้เอกสารบางส่วนต้องนำไปเก็บไว้ในห้องใต้ดินหรือในชั้น 1 ซึ่งเกิดความเสียหายบ่อยครั้งในช่วงที่มีน้ำท่วม (กระทรวงอยู่ติดกับแม่น้ำ Seine) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อเอกสารจากประเทศตะวันออกกลางและจากรัฐในอารักขาเข้ามาจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้ปัญหาทวีคูณยิ่งขึ้น เมื่อเอกสารล้นเกินจึงทำให้กระทรวงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำเอกสารทั้งหลายไป “ฝาก” ไว้ตามห้องใต้ดินของกระทรวงอื่น ๆ และตามห้องเก็บของที่เช่าไว้ในจุดต่าง ๆ ทั่วปารีส 12 จุด การที่เอกสารกระจายอยู่ไปทั่วก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากสำหรับผู้ใช้ เพราะเมื่อจะเรียกใช้เอกสารก็ต้องใช้เวลานานกว่าเอกสารจะมาถึง

ในปี 1986 จึงมีความพยายามแก้ปัญหาโดยการสร้างหอจดหมายเหตุใหม่ที่เมือง Nantes (Centre des archives diplomatiques de Nantes, CADN) หอจดหมายเหตุดังกล่าวนี้เน้นเก็บเอกสารที่กงสุลและนักการทูตฝรั่งเศสส่งกลับมา อย่างไรก็ตาม เอกสารของหน่วยบริหารส่วนกลาง (administration centrale) ของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ยังคงอยู่ที่ปารีส และดังนั้นปัญหาการจัดเก็บก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

เพื่อแก้ปัญหาหลายประการที่ระบุไว้ข้างต้น ในปี 1999 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงตัดสินใจให้มีการก่อสร้างหอจดหมายเหตุใหม่ที่เมือง La Courneuve ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก (พื้นที่ในกรุงปารีส ราคาแพงเกินไป) หอจดหมายเหตุที่ La Courneuve นี้เปิดให้ใช้ตั้งแต่ปี 2009 และเป็นสถานที่หลักที่เก็บเอกสารจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีพื้นที่จัดเก็บเอกสารทั้งสิ้นถึง 130 กิโลเมตร[10] (แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่า 150 กิโลเมตร)[11]

 

ประเภทเอกสารที่จัดเก็บและระยะเวลาในการเผยแพร่

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเป้าหมายแต่เดิมของหอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส คือการจัดเก็บเอกสารให้นักการทูตได้ใช้งานเป็นหลัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการเก็บเอกสารเพื่อรับใช้ “การเมือง” โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้นักบริหารและนักการทูตนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของฝรั่งเศส ในทางประวัติศาสตร์ ลักษณะที่ว่านี้เป็นลักษณะที่โดดเด่นของฝรั่งเศส เพราะทำให้หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศมีอิสระในตนเอง แยกออกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (อีกหอจดหมายเหตุหนึ่งที่มีอิสระคือหอจดหมายเหตุกระทรวงกลาโหม) แตกต่างจากกรณีของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษ[12]

เอกสารส่วนใหญ่ในหอจดหมายเหตุ จะเป็นเอกสารราชการ ส่วนที่สำคัญที่สุดอาจแบ่งได้เป็นกลุ่มต่อไปนี้

1) เอกสารตอบโต้กันระหว่างกระทรวงกับสถานทูตและกงสุลต่าง ๆ

2) สนธิสัญญาต่าง ๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

3) เอกสารของรัฐมนตรีและทูต 

เอกสารในส่วนที่ 3 จำนวนมากได้มาจากการซื้อและการรับบริจาค ประกอบด้วยกลุ่มเอกสารที่โด่งดัง เช่น เอกสารของรัฐบุรุษอย่าง Richelieu, Chavigny, Saint-Simon, Bonaparte, Briand เป็นต้น เอกสารบางส่วนได้มาจากครอบครัวและทายาทของนักการทูต เอกสารเหล่านี้จะจัดให้อยู่ในหมวดเอกสารเฉพาะบุคคลต่างหาก

สำหรับระยะเวลาในการเผยแพร่เอกสารสู่สาธารณะนั้น ในปี 1970 ได้มีระเบียบระบุไว้ว่าโดยทั่วไปแล้วให้กำหนดไว้ที่ 30 ปี[13] ยกเว้นกรณีเฉพาะซึ่งจะยืดระยะเวลาออกไป เช่น ยืดเป็น 60 ปี ต่อมาในปี 2008 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบ ลดระยะเวลาสำหรับการเผยแพร่เอกสารเหลือเพียง 25 ปี หรือในบางกรณียืดออกไปเป็น 50 ปี หากเอกสารชุดดังกล่าว เกี่ยวกับ “ความลับเรื่องความมั่นคงของชาติ, ผลประโยชน์พื้นฐานของรัฐในการเมืองระหว่างประเทศ, การปกป้องชีวิตส่วนตัว”[14] เนื่องจาก 25 ปีเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เอกสารจึงเกี่ยวข้องกับคนที่มีชีวิตอยู่ แม้กระทั่งนักการทูตบางท่านก็ยังปฏิบัติงานอยู่โดยที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ถึงแม้เอกสารเหล่านี้อาจไม่ระบุชื่อพวกเขาโดยตรง (เอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวจะต้องยืดออกไปเป็น 50 ปี) แต่คนที่ค้นคว้าก็อาจจะตีความเอาเองได้ว่าเหตุการณ์ในเอกสารนั้นเกี่ยวข้องกับใครบ้าง อย่างไรก็ดี เกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

การจำแแนกหมวดเอกสารและเอกสารเกี่ยวกับไทย

           เอกสารหอจดหมายเหตุ มีเกณฑ์จำแนก 3 แบบซึ่งสัมพันธ์กัน คือ 1) ตามหน่วยงาน 2) ตามระยะเวลา 3) ตามภูมิภาคและ/หรือประเทศ

           ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสยาม/ไทย ส่วนที่สำคัญที่สุดจะอยู่ในส่วน “หน่วยบริหารกลางของกระทรวงว่าการต่างประเทศ” (Administration centrale des Affaires étrangères) มีหน่วยย่อยลงมาคือ “กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจ” (Affaires politiques et économiques) ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งระยะเวลาออกเป็นสองส่วน คือ 1) กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจก่อน 1944 2) กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจหลัง 1944

           “กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจก่อน 1944[15] ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสยามจะแบ่งย่อยออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1) กิจการทางการเมืองตั้งแต่เริ่มตั้งหอจดหมายเหตุจนถึงปี 1896 (Correspondance politique): Siam (120CP)

2) กิจการทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี 1907 (ไม่ทราบหมายเลขแฟ้ม)

3) กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจปี 1897-1918 (Correspondance politique et commerciale, CPCOM): Nouvelle série / Siam (199CPCOM)

4) กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจปี 1918-1940 (Correspondance politique et commerciale, CPCOM): Série E-Asie / Siam-Thaïlande (44CPCOM)

 

ในส่วน “กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจหลัง 1944” เอกสารที่สำคัญจะแบ่งตาม “ภูมิศาสตร์” ส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย (Thaïlande)  อยู่ในกลุ่ม “เอเชีย-โอเชียเนีย” แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนตามระยะเวลา ดังนี้

1) 1944-1972 (147QO)

2) 1973-มิถุนายน 1980 (221INVA)

3) 1980-1986 (2882TOPO – 3437)

4) 1981-1991 (2883TOPO – 4112) [16]

ในส่วนเหล่านี้ก็อาจจะแบ่งยิบย่อยได้อีก เช่น เอกสารชุด 147QO ซึ่งครอบคลุมปี 1944-1972 แบ่งย่อยเป็น 1944-1955, 1956-1967, 1968-1972 เป็นต้น

นอกเหนือจากเอกสารในหมวด “หน่วยบริหารกลางของกระทรวงว่าการต่างประเทศ” (Administration centrale des Affaires étrangères) ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องกับไทยอยู่บ้าง คือหมวด “เอกสารที่รับเข้ามาโดยรูปแบบพิเศษและเอกสารส่วนบุคคล” (Entrées exceptionnelles et collections) ส่วนสำคัญที่สุดของหมวดนี้ คือส่วน “เอกสารนักการทูต-จดหมายเหตุส่วนตัว” (Papiers d'agents - Archives privées, PAAP) ซึ่งเรียงลำดับตามนามสกุลของบุคคลที่เราต้องการจะค้น ในส่วนของสยามเราจะพบเอกสารของทูต เช่น Auguste Pavie (1863-1925) (136PAAP), Pierre Margerie (1856-1938) (113PAAP) เป็นต้น

 

"เอกสารปรีดี 2024" คืออะไร

เอกสารที่เรียกกันว่า “เอกสารปรีดี” (Dossier de Pridi) ที่จะเปิดให้ใช้ในปี 2024 คือเอกสารในหมวด “กิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจหลัง 1944” ชุด 147QO/215 ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 1968 ถึงพฤษภาคม 1972

เอกสารชุดนี้ ไม่ใช่เอกสารส่วนตัวของปรีดีอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้อยู่ในหมวด “เอกสารนักการทูต-จดหมายเหตุส่วนตัว” (PAAP) ซึ่งจะเก็บเฉพาะเอกสารบุคคลสำคัญหรือนักการทูตของฝรั่งเศส หอจดหมายเหตุไม่ได้มีนโยบายเก็บเอกสารส่วนตัวของชาวต่างชาติแต่อย่างใด ดังนั้นแล้ว “เอกสารปรีดี” ซึ่งอยู่ในชุด 147QO คือเอกสารที่เขียนและรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในไทย แล้วส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศที่ปารีสในปี 1977 เอกสารชุดนี้มาพร้อมกับเอกสารชุดอื่น ๆ ทั้งหมดที่ครอบคลุมปี 1968-1972 (บัญชีเอกสารเพิ่งทำเสร็จปี 2007)

แต่เอกสารชุดนี้ ก็มีความแปลกอยู่บ้าง เมื่อลองพิจารณาบัญชีเอกสารชุด 147QO เฉพาะช่วง 1968-1972 อย่างละเอียด จะพบว่าเอกสารชุดดังกล่าวแบ่งออกเป็นหลายหัวข้อย่อย เช่น คณะทูต (Corps diplomatique), รัฐและการเมืองภายใน (Etat et politique intérieure), สื่อและวิทยุ (Presse-radio), การทหาร (Defénse nationale), ศาสนา, วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม, ประชากรและประเด็นทางสังคม (Démographie et question sociale), การทำงาน, เศรษฐกิจ, การเงิน, การสื่อสารคมนาคม, การเมืองภายนอก เป็นต้น “เอกสารปรีดี” ไม่ได้อยู่ในหมวดใดเลย แต่อยู่ในตอนสุดท้ายของเอกสารที่ระบุว่า “เอกสารให้ใช้ได้ในอีก 60 ปี” (Volumes réservés à soixante ans)

สาเหตุที่บัญชีเอกสารระบุเอาไว้ว่า “เอกสารปรีดี” กำหนดให้เข้าถึงได้ในอีก 60 ปีก็เพราะบัญชีเอกสารนี้เขียนขึ้นในปี 2007 ซึ่งยังคงใช้กฎหมายเกี่ยวกับจดหมายเหตุชุดเดิมอยู่ (กฎหมายปี 1979) ตามกฎหมายเดิมได้ระบุเอาไว้ว่าสามารถยืดเวลาการเข้าใช้เอกสารได้จาก 30 ปี เป็น 60 ปี หากเอกสารชุดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ “ชีวิตส่วนตัว” และ/หรือ “ความมั่นคงของรัฐ”[17] ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ในปี 2008 เกณฑ์ดังกล่าวก็ลดลงมาจาก 60 ปีเหลือ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม เกิดปัญหาอยู่ว่าโดยปกติแล้ว การกำหนดปีที่ให้ใช้เอกสารจะต้องพิจารณาจากปีของเอกสารที่ใหม่ที่สุดในชุด ในกรณีของ “เอกสารปรีดี” ซึ่งอยู่ในช่วง 1968-1972 หากเป็นไปตามเกณฑ์ที่ระบุแล้ว จะต้องให้เข้าใช้ได้ในปี 2022 ไม่ใช่ปี 2024 ในเรื่องนี้ จากการแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุผู้รับผิดชอบในส่วนของเอเชีย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีความเป็นไปได้ว่ามีการเพิ่มเอกสารเข้าไปในชุดดังกล่าว และเอกสารนั้นเป็นเอกสารของปี 1974 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เอกสารทั้งชุดเข้าถึงได้ในปี 2024 แทนที่จะใช้ได้ตั้งแต่ปี 2022 การชี้แจงของเจ้าหน้าที่นี้มีความน่าสงสัยอยู่บ้าง เพราะโดยทั่วไปแล้วหอจดหมายเหตุเก็บเอกสารโดยแบ่งปีค่อนข้างจะเป็นระบบ ดังนั้นเอกสารหลังปี 1973 จะต้องไปอยู่ในชุด 221INVA ซึ่งครอบคลุมปี 1973-มิถุนายน 1980 ไม่ใช่อยู่ในชุด 147QO

ท่ามกลางความสงสัยหลายประการ ถึงตอนนี้ เหตุผลที่เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุให้ คงจะเป็นเหตุผลที่น่าเชื่อถือที่สุด

 

"เอกสารปรีดี 2017"

           ถึงจุดนี้ แม้เราจะไม่ทราบเนื้อหาของ “เอกสารปรีดี 2024” เพราะไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีเอกสาร แต่เราอาจจะ “คาดเดา” เนื้อหาของ “เอกสารปรีดี” ได้บ้าง ว่า 1) เกี่ยวกับปรีดีโดยเฉพาะ มิเช่นนั้นก็คงจะบรรจุเอกสารชุดนี้กระจายไปยังหมวดอื่น ๆ ซึ่งแบ่งไว้อย่างละเอียดแล้ว และ 2) เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตส่วนตัว” และ/หรือ “ความมั่นคงของรัฐ” ทำให้ต้องยืดเวลาการเข้าใช้เอกสารจาก 25 ปี เป็น 50 ปี

           นอกจากเหตุผลสองประการข้างต้นแล้ว ยังมี “คำใบ้” เกี่ยวกับเอกสารชุดนี้อยู่ในบัญชีเอกสารชุดก่อนหน้า คือชุดที่ครอบคลุมปี 1956-1967 ท่ามกลางการแบ่งหัวข้ออย่างละเอียดเช่นเดียวกันกับช่วง 1968-1972 ที่กล่าวถึงข้างต้น ในช่วงท้ายเราพบแฟ้ม 158 หัวข้อ “คนไทยในฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์” (Thaïlandais en France - question du réfuge en France de l'ancien premier ministre libéral Pridi Panomyong) เอกสารชุดนี้ครอบคลุมเวลาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 1958 ถึงธันวาคม 1967 ดังนั้นจึงเปิดให้เข้าใช้ได้ในปี 2017

เราอาจอนุมานได้ว่า “เอกสารปรีดี 2024” น่าจะเป็นเอกสารที่ต่อเนื่องกับเอกสาร “ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์” ชุดก่อนหน้าที่เข้าถึงได้แล้ว การพิจารณาเอกสารชุดนี้อย่างละเอียด น่าจะช่วยให้เห็นภาพคร่าว ๆ ของ “เอกสารปรีดี 2024” อยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นพื้นฐานหรือ “ภาคแรก” ที่ทำให้เข้าใจ “ภาคต่อไป” ที่จะเปิดให้ใช้ในปี 2024

เอกสารชุด “คนไทยในฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์” อยู่ภายใต้หัวข้อ “ราชการและการฟ้องร้องดำเนินคดี” (Questions administratives et contentieuses) ซึ่งอยู่ในแฟ้มที่ 152-154 เอกสารที่สำคัญในหมวดนี้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในชุดที่เข้าถึงได้ในระยะเวลาปกติ โดยจะเกี่ยวพันกับการสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน คนไทยในต่างประเทศ (ผู้ลี้ภัยสยามในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย) คนต่างประเทศในไทย (ผู้ลี้ภัยเวียดนาม นักชาตินิยมจีนและมลายู ปัญหาโรงเรียนจีนในไทย) นอกจากนี้ ก็มีแฟ้มเอกสารที่เจาะลึกข้อมูลบุคคล เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นต้น แฟ้มเอกสารที่เกี่ยวกับปรีดี คือ 147QO/158 นั้นแยกออกมาจากชุดปกติที่เข้าถึงได้ภายใน 25 ปี เพราะระบุเอาไว้ว่าเกี่ยวพันกับ “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ชีวิตส่วนตัว”[18]

           เมื่อพิจารณาแฟ้มเอกสาร “คนไทยในฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์” โดยละเอียดแล้ว พบว่าแม้แฟ้มจะระบุช่วงเวลาคือ 1958-1967 แต่ความจริงแล้วเอกสารของปี 1958 มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น อีกทั้งดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะเกี่ยวข้องกับปรีดีแต่อย่างใด (อาจเป็นความผิดพลาดของการจัดเรียงเอกสาร?) นอกจากนั้นทั้งหมดเป็นเอกสารที่ครอบคลุมเพียงแค่สามปีคือ 1965-1967

ในตอนต่อไป ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญของเอกสารชุดนี้ อาจจำเป็นต้องกล่าวถึงภูมิหลังบางประการของปรีดีและบริบทก่อนและในช่วงปี 1965-1967 เสียก่อน

 


 

ตอนที่ 2

บริบทของการลี้ภัยทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์

 

การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับบริบทการลี้ภัยของปรีดี: จาก "การเมืองสามเส้า" สู่ "การเมืองสองขั้ว"

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามหมดอำนาจลง ปรีดีและกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือน รวมถึงเสรีไทยบางส่วน กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งพร้อมกับการฟื้นขึ้นมาของกลุ่มกษัตริย์นิยม จุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเวลานี้คือกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน 1946 หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ปรีดีถูกกลุ่มกษัตริย์นิยมกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันด้วย ผนวกกับความรู้สึกของกองทัพที่รู้สึกว่าไม่ได้รับเกียรติเท่าที่ควรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารของ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 1947 (พ.ศ. 2490) เพื่อโค่นล้มกลุ่มปรีดีลง รัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากการเมืองที่อยู่ในมือของคณะราษฎร (แม้ปรีดีจะพยายามสู้หลาย “ยก” แต่ก็ไม่สำเร็จ) และเป็นจุดเริ่มของ “ชีวิตผันผวน” ของปรีดีที่ต้องไปลี้ภัยในต่างประเทศ

เมื่อเกิดรัฐประหาร ปรีดีหนีไปอยู่สิงคโปร์ ในขณะนั้นมีแผนจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและเฝ้ารอเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับไทย ตามเอกสารของสหรัฐอเมริกา ปรีดีคาดหวังความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในแง่กำลังอาวุธ โดยมีแผน “ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นทางตอนเหนือของไทย”[19] แต่สหรัฐก็ปฏิเสธเพราะเห็นว่ากลุ่มปรีดีนั้นมีนโยบายการต่างประเทศที่ไม่สอดคล้องกับตน (จะกล่าวต่อไป) เมื่อผ่านไปเจ็ดเดือนจึงได้ข่าวจากเพื่อนฝูงในไทยว่ามีแผนการจะลุกฮือแต่ต้องใช้เวลาเตรียมการ ระหว่างที่รอ ปรีดีเดินทางไปฮ่องกงและต่อไปเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤษภาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยจีนคณะชาติ จากเซี่ยงไฮ้ปรีดีหวังจะไป “ลี้ภัย” ที่เม็กซิโก[20] โดยเดินทางผ่านซานฟรานซิสโก แต่สหรัฐก็ทำการขัดขวางเขาอีกทำให้ไม่สามารถเดินทางได้

           ในปี 1949 (พ.ศ. 2492) พรรคพวกของปรีดีพร้อมจะโค่นล้มรัฐบาลและชิงอำนาจกลับคืนมา ปรีดีจึงเดินทางกลับมาที่ไทย แต่การก่อการก็พ่ายแพ้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” หลังจากเหตุการณ์นั้นปรีดีก็ยังหลบหนีในไทยเพื่อวางแผนก่อการอีกครั้ง แต่เมื่อผ่านไปห้าเดือนก็พบว่าการเคลื่อนไหวเป็นไปไม่ได้ เขาจึงเดินทางผ่านสิงคโปร์ ฮ่องกง และตัดสินใจลี้ภัยไปกรุงปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพปลดแอกราษฎรจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถือเป็นจุดเริ่มชีวิตลี้ภัยการเมืองอันยาวนานในต่างแดน[21]

 

ปรีดีในวันประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, 1 ตุลาคม 1949 (ภาพจากหนังสือ Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire)

 

หลังจากสลายอำนาจของกลุ่มปรีดีสำเร็จแล้ว กลุ่มกษัตริย์นิยมซึ่งมีตัวแทนคือพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดฉากแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มทหาร ในปี 1949 (พ.ศ. 2492) พรรคประชาธิปัตย์เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับกษัตริย์อย่างมากและพยายามจำกัดอำนาจของคณะรัฐประหารออกไปจากการเมือง (เช่น ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกสภา) สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มทหาร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1951 (พ.ศ. 2494) กลุ่มทหารจึงทำรัฐประหารอีกครั้งที่เรียกว่า “รัฐประหารเงียบ” หรือ “รัฐประหารทางวิทยุ” ทำให้พวกกษัตริย์นิยมถูกบีบออกจากอำนาจและกองทัพกลายเป็นหัวขบวนของการเมืองไทยต่อมาอีกสองทศวรรษ[22]

กระนั้น กองทัพก็ไม่ได้มีเอกภาพ ในช่วงดังกล่าวอาจจะเรียกว่า “การเมืองสามเส้า” หรือ “ยุคการเมืองของผู้มีอำนาจทั้งสาม” (the Triumvirate) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มของเผ่า ศรียานนท์, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, และจอมพล ป. แต่นอกจากสามกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ช่วงนั้นก็ยังมีผู้เล่นทางการเมืองอีกสองกลุ่มครึ่ง คือ กลุ่มกษัตริย์นิยม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และครึ่งกลุ่มของปรีดี (มีกำลังและบทบาทน้อยกว่ากลุ่มอื่น)[23]

การหมดอำนาจของปรีดี มาพร้อมกับการขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกาเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเหมาเจ๋อตุงปฏิวัติจีนสำเร็จในปี 1949 สหรัฐอเมริกาก็เพิ่มงบสนับสนุนการทหารให้กับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคอย่างมากมายเพื่อการสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งยุทธศาสตร์สำคัญ แม้ว่าจอมพล ป. จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของตะวันตกเพราะเป็นผู้นำในการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ด้วยท่าทีที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐอเมริกายอมสนับสนุนให้กลุ่มนี้ขึ้นมามีอำนาจแทนกลุ่มปรีดี[24] เมื่อเกิดสงครามเกาหลี ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกที่ส่งกองทัพและเสบียงไปช่วยเหลือสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 1950

ในปี 1955 จอมพล ป. ขณะนั้นเริ่มพยายามรื้อฟื้นประชาธิปไตยเพื่อคานอำนาจกับสฤษดิ์และเผ่า มีการเปิดพื้นที่ให้ “ไฮด์ปาร์ค” มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกและเตรียมให้มีเลือกตั้งในปี 1957 นอกจากนี้ก็มีความพยายามถอยห่างออกจากสหรัฐเพื่อให้นโยบายการต่างประเทศของไทยมีลักษณะเป็นกลางมากขึ้น โดยการส่งผู้แทนเข้าประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่บันดุง อินโดนีเซีย และมีการส่งคณะทูตอย่างลับๆ ไปพบเหมาเจ๋อตุงที่ปักกิ่ง[25] อีกทั้งยังอนุญาตให้ฝ่ายซ้ายและผู้นำของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพเดินทางไปปักกิ่งด้วย

ในปี 1956 จอมพล ป. และเผ่า เริ่มตระหนักว่า ไม่สามารถรับมือกับพันธมิตรสฤษดิ์-ศักดินา โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางการเมืองที่มากขึ้นของกลุ่มศักดินา เขาจึงกลับไปแสวงหาพันธมิตรกับกลุ่มปรีดี มีการติดต่อกับปรีดีหลายครั้งโดยวางแผนว่าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตมาพิจารณาใหม่และให้ปรีดีได้เดินทางกลับมาไทย[26] ในปีนั้นเอง จอมพล ป. ฝากข้อเสนอเรื่องร่วมมือกันสู้ศักดินา (ด้วยคดีสวรรคต) ไปกับ ชิต เวชประสิทธิ์ ผู้เป็น "ลูกศิษย์ปรีดี" คนหนึ่ง และเป็นอดีตหนึ่งในคณะทนายจำเลยคดีสวรรคต พร้อมกับ "ลูกศิษย์อาจารย์" อีกคนหนึ่งคือ ลิ่วละล่อง บุนนาค นำไปปรึกษาปรีดีที่จีน[27] นอกจากนี้ ยังมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งเป็นการปลดปล่อยแกนนำและนักโทษที่อยู่ในกลุ่มฝ่ายซ้าย รวมถึงปาล พนมยงค์ บุตรของปรีดีที่ถูกขังอยู่ 4 ปี 6 เดือน[28] ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้ทำให้กลุ่มปรีดีและฝ่ายซ้ายบางส่วนหันมาสนับสนุนจอมพล ป. มากขึ้นซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งในปี 1957

การเมืองไทยในช่วงนี้จึงเรียกได้ว่าเปลี่ยนจาก “การเมืองสามเส้า” ในช่วง 1951 (พ.ศ. 2494) อันประกอบด้วยเผ่า สฤษดิ์ และจอมพล ป. สู่ “การเมืองสองขั้ว” คือ สถาบันกษัตริย์ กลุ่มกษัตริย์นิยม และกลุ่มทหาร (สฤษดิ์) ขั้วหนึ่ง กับ รัฐบาลจอมพล ป. กลุ่มตำรวจ (เผ่า) และกลุ่มปรีดี อีกขั้วหนึ่ง

แม้กลุ่มของจอมพล ป. และเผ่า ศรียานนท์จะได้เสียงส่วนมากในการเลือกตั้งปี 1957 แต่ด้วยการเคลื่อนไหวปลุกปั่นของพวกกษัตริย์นิยม กระแสสังคมก็เป็นไปในทิศทางที่เห็นใจสถาบันกษัตริย์ (โดยเฉพาะตั้งแต่ 1951 (พ.ศ. 2494) เป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศอย่างถาวรในรอบ 20 ปี) สฤษดิ์จึงตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 18 กันยายน 1957 โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการเลือกตั้งสกปรก ทั้งที่เบื้องลึกแล้วการรัฐประหารเป็นการวางแผนร่วมกันกับกลุ่มกษัตริย์นิยมซึ่งหวาดกลัวการรื้อฟื้นคดีสวรรคตและการกลับมาของกลุ่มปรีดี สิ่งไม่คาดคิดคือการรัฐประหารนั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และขบวนการนักศึกษาด้วยเพราะเชื่อว่าสฤษดิ์จะนำประเทศไทยถอยห่างออกจากการครอบงำของสหรัฐอเมริกา[29]

อย่างไรก็ตาม ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม หลังจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก่อการรัฐประหารในปี 1957 การปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น พร้อมกับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศไทยกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการสกัดกั้นการกระจายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคในบริบทของสงครามเวียดนาม กองทัพไทยเข้าร่วมปฏิบัติการกับสหรัฐอย่างใกล้ชิด เช่น ร่วมมือกับสหรัฐส่งทหารเข้าไปรบในลาวแม้ว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงแล้วในปี 1962 ก็ตาม ในขณะที่สหรัฐก็สนับสนุนงบการทหารให้กับไทย และได้เข้ามาปรับปรุง ขยาย และยกระดับฐานทัพในไทยอย่างมาก เช่น ปรับปรุงสนามบินดอนเมืองและสร้างสนามบินตาคลี นครสวรรค์ (1961), ตั้งฐานทัพแห่งที่สามที่โคราช (1962), ตั้งฐานทัพอากาศที่นครพนม (1963) กระทั่งสฤษดิ์เสียชีวิตในปี 1963 ถนอม กิตติขจรซึ่งสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯต่อ ก็ดำเนินนโยบายร่วมมือกับสหรัฐต่อไป เช่น ตั้งฐานทัพอากาศและกองบัญชาการของกองทัพอากาศสหรัฐฯที่อุดรธานี (1964), ตั้งฐานทัพอู่ตะเภา (1965) [30]

           ในส่วนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เป็นระบบที่สุดในขณะนั้นคงจะหนีไม่พ้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังจากสฤษดิ์รัฐประหาร พคท. ปฏิบัติการเข้มข้นขึ้น ในปี 1961 (พ.ศ. 2504) สมัชชาพรรคครั้งที่ 3 มีมติภายในให้วางยุทธศาสตร์การสะสมกำลังในชนบท เตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ, จัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหารที่สร้างผู้ปฏิบัติงาน, จัดตั้งแนวร่วมรักชาติรักประชาธิปไตย และจัดตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ในปีถัดมาจึงมีการจัดตั้งสปท. ขึ้นที่ฮานอย โดยร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม จีน และลาว (หลังจากนั้นจึงย้ายไปคุนหมิงในปี 1966 (พ.ศ. 2509))[31] ในขณะนั้นฐานกำลังของพรรคที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่สำคัญคือกลุ่ม “สามัคคีธรรม” หรือ “ขบวนการพัฒนาสังคม” นำโดยครอง จันดาวงศ์[32] โดยสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทยที่ลี้ภัยการเมืองในลาวและได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ลาว[33] การปะทะกันครั้งใหญ่กับกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในจังหวัดนครพนมในวันที่ 8 สิงหาคม 1965 (พ.ศ. 2508) ซึ่งต่อมาเรียกว่าวัน “เสียงปืนแตก”

พคท. เองมีจำนวนคนไม่มากนัก นอกจากถูกปราบปรามอย่างหนักแล้วก็ยังมีภาพลักษณ์ที่เป็น “จีน” มากทำให้ไม่ได้รับความนิยม การขยายฐานมวลชนเป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก ดังนั้น พคท. จึงใช้นโยบายจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือ “ขบวนการเอกราชแห่งประเทศไทย” นำโดยมงคล ณ นคร ซึ่งไปประจำอยู่ที่ปักกิ่งเมื่อปี 1964 ทำหน้าที่ประสานงานกับคอมมิวนิสต์ต่างประเทศและเผยแพร่นโยบายขององค์กร ต่อมาองค์กรนี้เข้าไปรวมกับ “แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดตั้งขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 1965 โดยมีพันโทพโยม จุลานนท์ เป็นตัวแทนอยู่ที่ปักกิ่งเช่นกัน[34]  องค์กรนี้โดดเด่นมากในการเคลื่อนไหวต่างประเทศ ขยายแนวร่วมได้อย่างกว้างขวาง กระทั่งแหล่งข่าวบางแหล่ง (ซึ่งข้อมูลน่าจะผิด) ระบุว่าบุคคลสำคัญอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ และปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมนี้ด้วย[35] จนปลายปี 1967 พคท. ประกาศเป็นผู้นำการปฏิวัติแทนองค์การแนวร่วม ตามคำบอกเล่าของอุดม สีสุวรรณ สาเหตุนั้นเกิดจาก “กลัวว่าแนวร่วมของลุง [คำตัน หรือพโยม จุลานนท์] จะนำพรรค กลัวว่าบทบาทของลุงจะเด่นดังกว่า สหายนำ[36]

 

การพบปะระหว่างตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อ 1963 (พ.ศ. 2504) (ซ้ายไปขวา) แถวหน้า-ประเสริฐ เอี้ยวฉาย, เจริญ วรรณงาม, เติ้งเสี่ยวผิง, ทรง นพคุณ, ปังเจิน แถวหลัง-จวงเทา, อู่ซิวฉวน, หลี่ฉี่ซิน (ภาพจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม)

           

ครอบครัวของปรีดี

           เมื่อปรีดีออกจากประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1949 ครอบครัวของปรีดียังอยู่ที่ไทย[37] แต่ทางครอบครัวน่าจะเริ่มมองเห็นภัยการเมืองที่กำลังคืบคลานเข้ามา เมื่อสุดาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม พูนศุขจึงส่งให้ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ต่อมาจุดเปลี่ยนสำหรับครอบครัวของปรีดี คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” ในช่วงปี 1952 (พ.ศ. 2495) บรรดาปัญญาชนจำนวนมากร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” เพื่อต่อต้านสงครามเกาหลีและการใช้ระเบิดปรมาณู กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่งเพื่อกดดันให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากจีนและเกาหลี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1952 รัฐบาลทำการกวาดล้างเพราะเห็นว่าเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ มีการจับกุมนักโทษกว่า 1,000 คน[38] รวมถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ปาล พนมยงค์ ลูกชายคนโต ของปรีดี ซึ่งติดคุกอยู่ราว 4 ปี 6 เดือน[39] หลังจากนั้นพูนศุข ภรรยาของปรีดี ก็ถูกจับด้วยแต่หลังจากติดคุกได้ 84 วัน อัยการก็ยกฟ้อง

 

ปาล พนมยงค์ ขณะขึ้นศาลในข้อหาเป็นขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2495 (ภาพจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์)

 

หลังการจับกุมครั้งนั้น รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์และทำการกวาดล้างครั้งใหญ่ มีการสังหาร “รัฐมนตรี 4 คน” ซึ่งเป็น “คนของปรีดี” อย่างโหดเหี้ยมโดยตำรวจของเผ่า ศรียานนท์ ดังนั้นเมื่อพูนศุขออกจากคุก ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ในช่วงเวลานั้นสุดา บุตรคนที่สาม ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส พูนศุขจึงพาดุษฎีและวาณี เดินทางไปฝรั่งเศสในปี 1953 (พ.ศ. 2496) จากนั้นพยายามติดต่อปรีดีจนสำเร็จ จึงเดินทางผ่านสวีเดน ฟินแลนด์ รัสเซีย แล้วไปถึงเมืองจีนในปีเดียวกัน ในสองปีต่อมา ช่วงปลายปี 1955 (พ.ศ. 2498) ศุขปรีดาบินจากมอสโคมาสมทบที่ปักกิ่ง สำหรับชีวิตในจีนนั้น พูนศุขเคยกล่าวว่า “ทางการจีนจัดคนมาดูแล อำนวยความสะดวก มีปัจจัยสี่ให้เราตลอด”[40] ในช่วงแรกอยู่ที่ปักกิ่งแต่อากาศหนาวมาก ในกลางปี 1956 จึงได้ย้ายมาที่กวางโจว ในแง่ความเป็นอยู่ที่กวางโจว ดุษฎีเล่าว่า “พ่อได้รับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี ได้รับสิทธิพิเศษในระดับเดียวกับรัฐมนตรีของจีน คือมีรถยนต์ มีคนขับ มีคนครัว มีคนทำงานบ้าน มี รปภ. คอยติดตาม มีบ้านเดี่ยวหลายห้องนอนอยู่สบาย อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนที่อยู่บนเนินเขา”

 

ปรีดี พนมยงค์ กับนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล (น่าจะ 1963) ผู้มีบทบาทช่วยเหลือให้ครอบครัวของปรีดีตามมาที่จีน (ภาพจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์)

 

ก่อนหน้าสฤษดิ์จะรัฐประหาร ดังที่กล่าวไป จอมพล ป. ผ่อนปรนมากขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามสร้างพันธมิตรกับกลุ่มของปรีดี โดยมีแผนจะรื้อฟื้นกรณีสวรรคตและนำปรีดีกลับมาที่ไทย ในวันที่ 3 เมษายน 1957 (พ.ศ. 2500) พูนศุขเดินทางกลับไทยเพื่อมางานศพของมารดาและให้สัมภาษณ์ว่า “ความสัมพันธ์กับจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เราไม่มีอะไรกัน ท่านอยากให้ทุกคนร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศชาติ” และปรีดีต้องการกลับมาอุปสมบทในโอกาส 25 พุทธศตวรรษ[41] ในปีเดียวกัน หลังจากพูนศุขเดินทางกลับจีนได้ไม่นานก็เกิดการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สุดาแวะมาเยี่ยมครอบครัวที่กวางโจวหลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส อันที่จริงสุดาตั้งใจจะเดินทางกลับไทยเพื่อประกอบอาชีพสอนดนตรี แต่มีข่าวลือว่าใครเดินทางมาจากจีนจะถูกจับ จึงเป็นเหตุให้สุดาต้องมาอยู่ที่จีนด้วยอีกคนหนึ่ง

ในช่วงเวลานั้นจีนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คืออยู่ในช่วงที่เรียกว่าการ “ก้าวกระโดดไกล” ในปี 1958 (พ.ศ. 2501) ในช่วงนั้นจีนตั้งใจพัฒนาให้ทันอังกฤษภายใน 20 ปี ต้องพัฒนาอุตสาหกรรม มีการถลุงเหล็กกล้า ดุษฎีกล่าวถึงช่วงเวลานี้ว่า "สมัยนั้นทางการจีนอาจจะดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้มีคนจนมากยิ่งขึ้น คนไม่มีจะกิน ทุกคนต้องปันส่วนอาหาร...คนจีนมีแต่คนผอม ๆ หน้าซีด ๆ" แต่กระนั้นชีวิตของครอบครัวปรีดีก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าคนจีนทั่วไป ดังที่วาณีกล่าวเสริมว่า “ตอนนั้นเราอยู่ในฐานะชาวต่างประเทศ เขาให้สิทธิพิเศษ มีร้านค้าสำหรับคนต่างชาติ ชื่อร้านมิตรภาพ เราสามารถจับจ่ายข้าวของได้โดยไม่ต้องปันส่วน”[42]

 

ปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวช่วงลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากซ้ายไปขวาประกอบด้วย (แถวหน้า) ปาล พูนศุข ปรีดี (แถวหลัง) วาณี สุดา ดุษฎี ศุขปรีดา (ภาพจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์)

 

           โดยสรุปแล้ว ปรีดีลี้ภัยไปอยู่ที่ปักกิ่งตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ. 2492) ต่อมาในปี 1953 (พ.ศ. 2496) พูนศุข ดุษฎี และวาณี ตามมาสมทบ หลังจากนั้นธันวาคมปี 1955 (พ.ศ. 2498) ศุขปรีดาได้ตามมาสมทบ และมิถุนายนปี 1956 (พ.ศ. 2499) ก็ย้ายกันไปอยู่ที่เมืองกวางโจว[43] ต่อมาในปี 1957 (พ.ศ. 2500) สุดาก็ตามมาอยู่ด้วยจากฝรั่งเศส (อาจจะไม่จำเป็นต้องนับปาล ซึ่งมาเยี่ยมเพียงสั้นๆ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส) นี่คือ “ครอบครัวปรีดี” ที่ลี้ภัยอยู่ในกวางโจว อันประกอบด้วยปรีดี พูนศุข และลูกทั้งสี่คน ที่จะอยู่ในเอกสาร “คนไทยในฝรั่งเศส ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งครอบคลุมช่วงปี 1965-1967

 


 

ตอนที่ 3

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับปรีดีในจีน และเอกสาร "ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์, 1965-1967" (เอกสารปรีดี 2017)

 

ในช่วงปี 1956 เมื่อจอมพล ป. พยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับปรีดี[44] ทูตทหารของฝรั่งเศสในไทยได้รวบรวมรายชื่อ “ผู้ลี้ภัยชาวสยามในจีน” โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มคอมมิวนิสต์

2. น่าจะเป็นคอมมิวนิสต์

3. กลุ่มหลากหลายที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์

ปรีดีและกลุ่มของปรีดี เช่น วัชรชัย ชัยสิทธิเวช (“เลขานุการ” ของปรีดี) ถูกระบุไว้ว่าอยู่ในกลุ่มที่ 3 ในขณะที่กุหลาบและ ชนิด สายประดิษฐ์ อยู่ในกลุ่มที่ 2[45]

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทั้งสามกลุ่มจะมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ซับซ้อน ไม่ได้แยกขาดกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็น “แนวร่วมระดับสูง” มีบทบาทสำคัญในองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มก่อตั้งที่ฮานอยในปี 1962 กุหลาบและชนิด สายประดิษฐ์ ก็ไปอยู่ที่นั่นในฐานะ “ที่ปรึกษา” เขียนบทความ บทวิจารณ์ และกลอนส่งให้สปท. ออกอากาศเป็นระยะ อีกทั้งช่วยตรวจงานเขียน แนะนำวิธีเขียนให้กับสหายที่เพิ่งหัดเขียนบทความ “นับว่าท่านได้มีส่วนสร้างนักเขียนใหม่ ๆ ให้กับสปท. ด้วย”[46] ภายหลังเมื่อสปท.ย้ายไปอยู่ที่คุนหมิงในปี 1966 แล้ว กุหลาบก็ย้ายไปด้วย แต่ไม่แน่ชัดว่าอยู่ที่นั่นนานเพียงใด มีความเป็นไปได้ ว่ากุหลาบจะอยู่ประจำที่นั่น หรืออย่างน้อยก็ไปเยี่ยมเยียนที่นั่นอยู่ประจำก่อนที่จะเสียชีวิตที่ปักกิ่งในปี 1974[47] นอกจากนี้ ในปี 1967 ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีการแปลสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงเป็นภาษาไทย โดยทางพคท. ให้อัศนี พลจันทร, เชาวน์ พงศ์พิชิต และเริง เมฆไพบูลย์ รับผิดชอบการแปลนี้ เอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารสำคัญที่จะเผยแพร่ความคิดคอมมิวนิสต์แบบเหมาออกไปและมีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหว ต่อมามีหลักฐานปรากฎว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ก็มีส่วนร่วมในการตรวจแก้เอกสารชุดนี้เช่นกัน[48]

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น งานศึกษาของกนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ ระบุว่า “สปท. กำเนิดขึ้นภายใต้การนำงานแบบรวมหมู่ของฝ่ายซ้ายระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และกลุ่มปรีดี พนมยงค์” โดยเริ่มกระจายเสียงจากฮานอยในปี 1962 (พ.ศ. 2505) บทบาทของปรีดีสูงมากถึงขั้นเป็นคน “เลือก” ว่าใครจะมารับผิดชอบหน้าที่ดูแลสปท. โดยปรีดีได้เลือก “นายผี” (อัศนี พลจันทร) ในขณะที่ พคท. ได้เลือกอีกคนหนึ่ง สุดท้ายโฮจิมินห์ซึ่งร่วมจัดตั้ง สปท. ก็ได้ตัดสินใจให้ “นายผี” มารับผิดชอบ สปท. ตามข้อเสนอของปรีดี[49] 

สองกรณีที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาบางประการในประวัติศาสตร์ที่ยังหาคำตอบอย่างเป็นที่น่าพอใจไม่ได้ เพราะเหตุใด “แนวร่วม” หรือที่เอกสารฝรั่งเศสใช้คำว่า “น่าจะเป็นคอมมิวนิสต์” ในบางกรณีใกล้ชิดกับพรรคมาก ถึงขั้นอาจมีข้อสงสัยได้ว่าแตกต่างอย่างไรกับคนของพรรค? ความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้ - โดยเฉพาะพโยมและกุหลาบ - กับพรรคคืออะไรแน่? หรือแท้จริงแล้วจะเข้าใจได้ง่ายกว่าหากพิจารณาคนเหล่านี้ในฐานะกลไกหนึ่งของพรรค แม้คนเหล่านี้ - โดยเฉพาะกุหลาบ - จะปฏิเสธในเรื่องนี้? แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพโยมกับกุหลาบเองคือความสัมพันธ์แบบไหน?

ในกรณีของพโยมและกุหลาบ เป็นกรณีของกลุ่มที่ใกล้ชิดกับพรรคอย่างไม่ต้องสงสัย ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อเราพิจารณากรณีของปรีดี ซึ่งเอกสารฝรั่งเศสมองว่า “ไม่เป็นคอมมิวนิสต์” เพราะเมื่อเราพิจารณาหลักฐานประกอบอีกหลายชิ้น เราก็จะพบปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างปรีดีและพคท. ในบางช่วง[50] คำถามที่ว่าปรีดีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพคท. แค่ไหน ในลักษณะใด เปลี่ยนแปลงอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา ยังคงเป็นคำถามที่นักประวัติศาสตร์ต้องการคำตอบ หากเราตีความว่าปรีดีและกลุ่มของปรีดีเป็น “แนวร่วม” ของพคท. ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกและดูจะช่วยทำให้การอธิบายในหลายเรื่องกระจ่างขึ้น อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับกรณีของกุหลาบและพโยม “แนวร่วม” นั้นมีลักษณะอย่างไรแน่? งานของกนกวรรณชี้ให้เห็นว่าปรีดีมีอำนาจถึงขั้น “เลือก” ว่าใครจะรับผิดชอบ สปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของ พคท. คำถามคือปรีดีสามารถแทรกแซงการทำงานของสปท. ในลักษณะที่มีอำนาจ “เหนือ” กลุ่มที่นำพคท. เช่นนี้ได้จริงหรือ? ปรีดีสามารถเสนอแต่งตั้งโยกย้ายคนที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางของพคท. อย่างอัศนี พลจันทร ให้มาทำงานที่ฮานอยได้หรือ?[51]

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับ “แนวร่วม” นั้นเป็นอย่างไร? ปรีดีมักจะถูก “โจมตี” ว่าร่วมมือกับพโยมในเรื่องกองกำลัง ซึ่งปรีดีปฏิเสธโดยตลอด แต่เรื่องนี้มี “มูล” หรือมีที่มาจากไหน? ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีและกุหลาบเป็นอย่างไร สุดท้ายลูกของทั้งสองคน (คือวาณีกับสุรพันธ์) แต่งงานกัน สิ่งนี้ในตัวเองอาจชี้ให้เราเห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดบางประการซึ่งแทบไม่มีการพูดถึง ความสัมพันธ์ของปรีดีและกุหลาบเป็นเช่นไร?[52] วาณีและสุรพันธ์พบกันในสถานการณ์เช่นไร? การเข้าใจประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลาสำคัญนั้นได้ดีขึ้นหรือไม่? เรื่องเหล่านี้คงจะต้องมีการศึกษาต่อไปในอนาคตหากมีข้อมูลและหลักฐานเพิ่มขึ้น[53]

 

ภาพจากหนังสือ ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น จากศรีบูรพาถึงสุรพันธ์ สายประดิษฐ์

 

ในที่นี้ เอกสาร “ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์, 1965-1967ไม่ได้ตอบคำถามมากมายเหล่านี้โดยตรง แต่อาจช่วยเติมเต็มช่องว่างในเรื่องบทบาทและสถานะของปรีดีในช่วงเวลาที่ลี้ภัยมากขึ้น ช่วงเวลานี้เป็นระยะที่ปรีดีแสดงตนชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แต่อย่างใดและต้องการลี้ภัยมายังฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี เราควรถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่จำเพาะ กล่าวคือ ความคิดและแนวทางการเคลื่อนไหวของปรีดีในช่วงนี้ อาจจะไม่ตรงกันกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็ได้ ปัญหาคือคนมักจะนำเอาปรีดีในลักษณะนี้ ที่ “ไม่เอาคอมมิวนิสต์” ไปอธิบายปรีดีช่วงก่อนหน้าทั้งหมดตั้งแต่มาถึงจีน (คือ 1949 เป็นต้นมา) ทั้งที่ความจริงแล้วปรีดีอาจจะ “เปลี่ยน” ก็ได้ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการแบ่งช่วงเวลาในขณะที่ปรีดีอยู่ในจีนออกเป็นส่วนต่าง ๆ จะกล่าวถึงในบทสรุป ในส่วนต่อไปนี้จะเน้นกล่าวถึงเนื้อหาจากเอกสาร “ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยม ปรีดี พนมยงค์, 1965-1967เป็นหลัก ส่วนการวิเคราะห์หรือการวิพากษ์วิจารณ์เอกสารจะระบุไว้ในเชิงอรรถ

 

ปรีดีเริ่มขอลี้ภัย

ในเดือนตุลาคมปี 1965 Achille Clarac เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยส่งจดหมายส่วนตัวไปยัง E.M. Manac’h ผู้อำนวยการหน่วยเอเชีย-โอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศ[54] ในจดหมายระบุว่า ศุขปรีดา พนมยงค์ เดินทางกลับเข้าไทยด้วยพาสปอร์ตลาวและใช้ชื่อลาว ในขณะนั้นไม่มีใครจำได้เพราะตอนออกจากไทยนั้นยังเด็กมาก[55] สาเหตุที่เดินทางเข้าไทยก็เพราะปรีดีต้องการจะแจ้งให้เพื่อนฝูงของตนทราบว่าหากคดีหมดอายุความแล้ว เขาจะออกจากจีนและไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส ในขณะนั้นปาล พนมยงค์ ศึกษาต่ออยู่ที่ฝรั่งเศสอยู่แล้ว ปรีดีจึงส่งศุขปรีดาไปที่ลาวโดยหวังว่าเขาจะได้ตามพี่ชายไปที่ฝรั่งเศสเพื่อตระเตรียมการเดินทางไปลี้ภัยของตน ทั้งนี้ ก่อนจะเข้าไทย ศุขปรีดาได้คุยกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่ลาวโดยตรงแล้ว  ในเรื่องนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยมีความเห็นว่า น่าจะให้ปรีดีไปตั้งหลักอยู่ที่เจนีวา แล้วค่อยเดินทางเข้าออกฝรั่งเศสตามสะดวกเพื่อป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสมีปัญหากับทางการไทย ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรจะสนับสนุนปรีดีให้ออกจากจีนและแยกตัวออกจากภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์ ปรีดีคือทางเลือกที่สามอย่างแท้จริงในสถานการณ์ที่การเมืองมีแค่สองขั้ว คือขั้วอเมริกา กับขั้วคอมมิวนิสต์[56]

ในจดหมายตอบกลับ E.M. Manac’h แสดงความเห็นส่วนตัวว่าต้องแยกเป็นสองส่วน ระหว่างให้ศุขปรีดาเดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อเจอพี่ชายและเพื่อศึกษาต่อ กับอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องช่วยเหลือปรีดีลี้ภัย ในส่วนแรกนั้นไม่มีปัญหา แต่ในส่วนหลังจะต้องพิจารณากันโดยละเอียด เขาเห็นว่าถึงอย่างไรมาฝรั่งเศสก็ปลอดภัยแน่นอนเพราะฝรั่งเศสไม่มีนโยบายการส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับ[57] ที่น่ากังวลก็คือการมาลี้ภัยของปรีดีจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย เขาอยากจะให้ Clarac ลองไปปล่อยข่าวลือเรื่องปรีดีจะมาลี้ภัยในฝรั่งเศสดู แล้วลองดูกระแสตอบรับ ปรีดีอยู่ที่จีนกับปรีดีอยู่ที่ฝรั่งเศส คนไทยจะมองว่าแบบไหนดีกว่ากัน? คนไทยอาจจะคิดว่าฝรั่งเศสร่วมมือกับจีน ส่งปรีดีจากกวางโจวมายังปารีสโดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ในขณะนั้นก็มีข่าวลือในไทยอยู่แล้วว่าฝรั่งเศสจะกลับมายึดครองอินโดจีนอีก[58] ผู้อำนวยการหน่วยเอเชีย-โอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศ ปิดท้ายจดหมายว่าจะปรึกษาเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างนี้เห็นด้วยว่าปรีดีควรจะไปปักหลักอยู่สวิสเซอร์แลนด์มากกว่า จากนั้นฝรั่งเศสค่อยออกวีซ่าและหนังสือรับรองให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงในแง่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย อย่างไรเสีย ด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม สิ่งสำคัญคือควรจะช่วยปรีดีให้ออกจากจีน[59]

หลังจากนั้นดูเหมือนว่าเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส จะไปทดลอง “ปล่อยข่าว” เรื่องปรีดีไปลี้ภัยที่ปารีสจริง ๆ เพราะในวันที่ 8 พฤศจิกายน 1965 สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ ได้สอบถามมายังสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส โดยต้องการคำยืนยันว่าปรีดีขณะนั้นอยู่ที่ปารีสจริงหรือไม่ เนื่องจากว่าได้ยินข่าวจากคนไทยว่าอย่างนั้น[60]

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1965 E.M. Manac’h ได้ส่งจดหมายหารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือเรื่องปรีดี นอกจากแนบประวัติของปรีดีแล้ว ในจดหมายได้กล่าวถึงความ (ไม่) สัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับขบวนการคอมมิวนิสต์ด้วย กล่าวคือ ในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จอมพลประภาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปล่อยข่าวว่าปรีดีเป็นแกนนำของกลุ่ม “แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี[61] ในเรื่องนี้ ปรีดีไม่ได้ออกมายืนยันหรือตอบโต้แต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจจะมองได้ว่าการที่ปรีดีต้องการจะออกจากจีน เป็นความพยายามในการหลีกหนีการบีบคั้นจากปักกิ่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการยืนยันว่าปรีดียังไม่ถูกปักกิ่งครอบงำเหมือนกัน นอกจากนี้ ศุขปรีดาก็กล่าวกับทูตฝรั่งเศสทั้งในลาวและในไทยโดยตรงว่าปรีดีมีลักษณะต่อต้านคอมมิวนิสต์ (l’opposition de [Pridi] au communism)

ถึงกระนั้น การช่วยเหลือปรีดีให้ลี้ภัยยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในเมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมและองค์กษัตริย์ยังคงกล่าวโทษปรีดีในเรื่องกรณีสวรรคตอยู่ ปรีดีเองก็อ้างเรื่องคดีที่ติดค้างอยู่ว่าเป็นเหตุทำให้เขาต้องอยู่จีน อย่างไรก็ตาม คดีจะหมดอายุความในปีถัดไป (1966) ปรีดีจึงประสงค์จะมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส E.M. Manac’h ปิดท้ายจดหมายด้วยการพูดถึงข้อเสนอที่ได้คุยกับ Achille Clarac ก่อนหน้านี้ก็คือ 1) ให้ศุขปรีดาเดินทางมาพบครอบครัวและมาศึกษาต่อได้ แต่ 2) เห็นว่าควรจะให้ปรีดีเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์แล้วค่อยเดินทางเข้าฝรั่งเศส เพื่อลดผลกระทบทางการเมืองที่จะมีต่อฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ทั้งหมดที่แลกเปลี่ยนกันนี้ยังไม่เคยมีการพูดคุยกับปรีดีโดยตรง แต่ผ่านทางศุขปรีดา E.M. Manac’h จึงขอให้ Guillaume Georges-Picot[62] ซึ่งเพิ่งพบกับปรีดีไม่กี่เดือนก่อน[63] ไปพบกับปรีดีอีกครั้ง โดยให้สืบว่าความต้องการจริง ๆ ของปรีดีคืออะไรแน่ และ “หลังจากอยู่จีนเป็นระยะเวลายาวนาน จุดยืนทางการเมืองของปรีดีเป็นอย่างไร”

 

ปรีดีกับ Georges-Picot เซ็นแก้ไขสนธิสัญญาในปี 1937 (ภาพ  (บน) จากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์และ (ล่าง) จากหนังสือ Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire)

 

ในวันที่ 7 ธันวาคม Guillaume Georges-Picot และภรรยา ได้พบปรีดีที่กวางโจว และรับประทานอาหารร่วมกันกับปรีดี พูนศุข และลูกสาวหนึ่งคน ปรีดียืนยันว่าเขาต้องการจะเดินทางไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศสตามที่ได้แจ้งไปกับศุขปรีดาแล้ว เมื่อ Georges-Picot แนะนำให้ปรีดีเดินทางเข้าสู่สวิสเซอร์แลนด์ก่อนแล้วค่อยเดินทางไปฝรั่งเศส ปรีดีตอบว่าเขาไม่มีหนังสือเดินทางที่ใช้ได้ และไม่มีเหตุผลที่จะเข้าสวิสเซอร์แลนด์ ในเมื่อลูกของเขาสองหรือสามคนอยู่ที่ฝรั่งเศสในขณะนี้และตัวเขาเองก็เรียนจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส เขาก็ควรจะได้ไปฝรั่งเศส

ในเรื่องจุดยืนทางการเมือง ปรีดีเน้นย้ำว่าเขาเป็นสังคมนิยม แต่ไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อราว 30 กว่าปีก่อนรัฐบาลสยามก็เคยตั้งกรรมการสอบสวนเขาเรื่องจุดยืนทางการเมือง แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าเขาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์[64] ปรีดีกล่าวว่าเขาไม่เคยเปลี่ยน ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นทางการไทยและโฆษณาชวนเชื่อของพวกอเมริกันต่างหากที่สร้างภาพลักษณ์นี้ให้แก่เขา ปรีดียืนยันว่าเขาไม่ “เล่นการเมือง” (ne fait pas de politique) ไม่ชี้นำ และไม่เป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มการเมืองใดๆ ของคนไทยที่ลี้ภัย นี่คือสิ่งที่เขาพูดกับเหมาเจ๋อตุงเมื่อพบกันในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การโฆษณาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์และมีกองกำลังเตรียมจะบุกไทย ในทัศนะของปรีดีนั้น มีไว้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล โดยใช้วิธีกล่าวหาว่ามีปรีดีและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่เบื้องหลัง การกล่าวหาเช่นนี้ยังมีประโยชน์ต่อรัฐบาลในการใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขอเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้วย

 

ปรีดีพบกับเหมาเจ๋อตุง วันที่ 6 ตุลาคม 1965 เท่าที่มีการเผยแพร่นั้นจะเป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวโดยทั่วไป[65] อย่างไรก็ตาม จากเอกสารของฝรั่งเศสและข้อเขียนของปรีดีเราจะเห็นได้ว่าคงมีการพูดคุยเรื่องการที่ตนไม่เกี่ยวข้อง (หรือไม่ต้องการเกี่ยวข้อง) กับกลุ่ม “แนวร่วม” ของพคท. และกล่าวถึงความประสงค์ที่จะออกจากจีน (ภาพจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์)

 

Georges-Picot บันทึกว่าหากปรีดีมาลี้ภัยในฝรั่งเศส ภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์ของปรีดีก็จะลดลง และก็จะทำให้ข้ออ้างในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ อ่อนแอลงไปด้วย ฝรั่งเศสจะต้องถูกสหรัฐฯและไทยวิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากให้ความช่วยเหลือปรีดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยอยู่เหมือนกัน เพราะหากปรีดีมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส ตามเงื่อนไขของการลี้ภัยนั้น ผู้ลี้ภัยจะต้องละเว้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง การเอาปรีดีออกจากชายแดนไทยและให้งดเคลื่อนไหว ก็น่าจะเป็นที่พึงพอใจของรัฐบาลไทย

ในตอนท้ายจดหมาย Georges-Picot ได้ระบุว่าปรีดีต้องการจะย้ายทั้งครอบครัวไปอยู่รวมกันที่ฝรั่งเศสเพื่อเป็นการประหยัดรายจ่าย ขณะนี้ครอบครัวมีรายจ่ายสูง เพราะมีลูกสาวพิการที่อยู่ที่กรุงเทพฯซึ่งต้องมีค่าดูแลรักษาค่อนข้างแพง[66] เป้าหมายของปรีดีเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ คือการได้รับอนุญาตให้กลับไทยไปบวช เขาไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง[67]

 

อุปสรรคและความเข้าใจผิดในการประสานงาน

ดูเหมือนว่าหลังจากนั้น ประเด็นเรื่องการลี้ภัยของปรีดีจะไม่คืบหน้า ฝรั่งเศสยืนยันว่าไม่ต้องการจะให้ปรีดีเดินทางมาฝรั่งเศสโดยตรงแต่จะให้ผ่านเข้าทางสวิสเซอร์แลนด์ ปรีดีซึ่งไม่มีหนังสือเดินทาง ได้ปฏิเสธทางเลือกนี้เมื่อได้คุยกับ Georges-Picot อย่างไรก็ตาม E.M. Manac’h ก็ยังอยากจะให้ปรีดียอมรับข้อเสนอนี้ ในวันที่ 20 ธันวาคม 1965 เขาได้ส่งจดหมายหา Lucien Paye เอกอัครราชทูตคนแรกของฝรั่งเศสในจีนหลังมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1964 โดยระบุว่า ขอให้ส่งคนของสถานเอกอัครราชทูตไปหาปรีดีเพื่อชี้แจงว่าสถานเอกอัครราชทูตมีเจตนาดี แต่ขอให้เข้าใจความยากลำบากในเรื่องนี้เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อรัฐบาลไทย หากปรีดีมาถึงสวิสเซอร์แลนด์ได้แล้ว ฝรั่งเศสจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อให้ได้พบปะครอบครัวที่ฝรั่งเศสและจะออกเอกสารพำนักระยะยาวให้หากสถานการณ์มีความเหมาะสม[68]

เมื่อ Lucien Paye ได้รับข้อความแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1966 ก็ตัดสินใจส่ง Menguy เลขานุการของสถานเอกอัครราชทูต ไปหาปรีดี แต่ก่อนอื่นจะต้องสืบให้ได้ก่อนว่าปรีดีพักอยู่ที่ใด สุดท้ายทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็ไปถามจาก Georges-Picot ซึ่งก็ไปถามจากปาล พนมยงค์ (ขณะนั้นอยู่ที่ปารีส) อีกที จนได้ความว่าปรีดีพักอยู่ที่อาคารกงสุลเก่าของฝรั่งเศสในกวางโจว เมื่อทราบที่อยู่แล้ว Menguy จึงเดินทางไปในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1966

เมื่อ Menguy เดินทางไปถึงสถานกงสุลเก่าของฝรั่งเศสที่เกาะซาเมี่ยน เขาก็ได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่าต้องการพบปรีดี พนมยงค์ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้จัก เขาจึงเดินไปสอบถามที่หน่วยวิเทศสัมพันธ์ของเมืองกวางโจว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารดังกล่าว เมื่อไปถึงก็แจ้งว่าต้องการขอความช่วยเหลือตามหาปรีดี พนมยงค์ การขอพบไม่น่าจะมีปัญหา เพราะอย่างไรเสีย Georges-Picot ก็ได้พบในเดือนพฤศจิกายน และปรีดีเองก็มีครอบครัวอยู่ในฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่หน่วยวิเทศน์สัมพันธ์รับเรื่องแล้วแจ้งว่าให้กลับมาใหม่ใน 2-3 ชั่วโมง ในเวลาราวบ่าย 3 โมงเขาก็กลับไปใหม่ คราวนี้ Menguy ลองใช้ข้ออ้างว่า ในฐานะตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต เขาได้รับมอบหมายจาก Georges-Picot ซึ่งได้พบปรีดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ให้มาพบปรีดีเพื่อพูดคุยเรื่องส่วนตัว และสถานเอกอัครราชทูตจะผิดหวังหากไม่ได้พบกับปรีดี

หลังจากผ่านไป 1 ชั่วโมง เขาก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า ปรีดีไม่อยู่ในกวางโจว แต่สุดา พนมยงค์ ลูกสาวของปรีดี ต้องการจะมาพบ โดยนัดหมายกันในวันรุ่งขึ้น คือ 20 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมที่เขาพัก สุดาแจ้งทางโทรศัพท์ว่าปรีดีอยู่บริเวณชานเมืองของกวางโจวและไม่สะดวกพบ เมื่อถึงเวลานัดหมาย สุดามาพร้อมกับดุษฎี สุดาขณะนั้นอายุ 32 ปี ได้เรียนที่ฝรั่งเศสเป็นเวลาทั้งหมด 7 ปี ขณะนั้นกำลังศึกษาด้านดนตรีที่กวางโจวและอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่วนดุษฎีอายุราว 25-26 ปี กำลังศึกษาภาษาจีนที่กวางโจว ดูเหมือนว่าดุษฎีจะลืมภาษาฝรั่งเศสไปแล้วเลยได้แต่นั่งฟัง

สุดากล่าวว่าปรีดีไม่อยู่ที่กวางโจว แต่ไปอยู่บนเขาเพื่อรับการรักษาโรคไขข้ออักเสบ ปรีดีค่อนข้างป่วยและอายุมากแล้ว (ขณะนั้นอายุ 66 ปี) ดังนั้นหากมีอะไรจะฝากแจ้งไปยังปรีดี ให้ฝากผ่านเธอได้

Menguy โต้แย้งว่า Georges-Picot มาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็ยังได้พบปรีดี อีกทั้งสุดาก็ร่วมโต๊ะอาหารด้วย สุดาตอบว่าตอนคุยกันบนโต๊ะอาหาร เธอไม่ได้ใส่ใจว่าคุยเรื่องอะไรกัน และการพบกันครั้งนั้น เป็นหน่วยวิเทศสัมพันธ์ของจีนที่จัดการนัดหมาย ส่วนเรื่องที่พักนั้นปรีดีไม่ได้พักที่อดีตสถานกงสุลของฝรั่งเศสนานแล้ว[69]

เมื่อถามว่าสุดาทราบที่อยู่ของบิดาหรือไม่ หรือสามารถโทรศัพท์หาบิดาได้หรือไม่ สุดาตอบว่าไม่ทราบ ปกติถ้าจะติดต่อบิดาต้องติดต่อผ่านหน่วยวิเทศสัมพันธ์

เมื่อสุดาไม่ยินยอมจะให้ที่อยู่ Menguy จึงออกอุบายว่าสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสมีหน่วยงานเผยแพร่วัฒนธรรม จึงต้องการจะส่งหนังสือฝรั่งเศสให้ ปรากฏสุดาตอบว่าให้ส่งมายังกล่องไปรษณีย์หมายเลข 228 ของที่ทำการไปรษณีย์เมืองกวางโจว

ก่อนที่จะแยกกัน สุดาแจ้งว่าจะติดต่อปรีดีให้ โดยจะต้องติดต่อผ่านคนกลาง ซึ่งเธอบอกว่าในบางครั้งต้องทำแบบนั้น เธอจะโทรศัพท์แจ้งอีกครั้งว่าผลการคุยกับบิดาเป็นอย่างไร

ในวันต่อมา สุดาโทรศัพท์มาแจ้งว่า บิดาเสียใจที่ไม่สามารถมาพบได้ เพราะกำลังเข้ารับการรักษาซึ่งจะต้องทำอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถปลีกตัวออกมาได้ บิดาแจ้งว่าหากมีข้อความอะไรขอให้แจ้งผ่านเธอโดยตรง ส่วนในอนาคตหากต้องการติดต่อ ก็สามารถเขียนมาทางไปรษณีย์ได้ เธอจะเป็นคนนำจดหมายไปให้บิดาด้วยตัวเอง ก่อนจะวางสาย Menguy ถืออากาศชวนไปทานอาหารกลางวันอีกครั้ง ซึ่งสุดาตอบตกลง

ระหว่างทานอาหารกลางวัน Menguy ย้ำกับสุดาว่าได้รับมอบหมายจาก Georges-Picot และเอกอัครราชทูตให้มาพบปรีดี เพื่อสอบถามเรื่องสุขภาพ และจะได้รายงานความคืบหน้าให้กับพวกเขาโดยตรง ดังนั้นเขาจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่า การเข้ารับการรักษาของปรีดีนั้นจะใช้เวลานานเพียงใด หากรักษาเสร็จแล้วเขาจะกลับมาพบปรีดีได้หรือไม่ แต่สุดท้ายสุดาก็ไม่ตอบคำถามเหล่านี้

ก่อนจากกัน Menguy ถามสุดาว่า มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศไหม เช่น ฝรั่งเศส เพราะมีพี่ชายที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายอยู่ที่นั่น สุดาตอบว่าหนังสือเดินทางของเธอหมดอายุนานแล้ว ในประเด็นนี้ Menguy ให้คำตอบว่าถึงกระนั้นทางการฝรั่งเศสสามารถพิจารณาเป็นกรณีพิเศษและออกวีซ่าให้ได้[70]

 


แผนที่เกาะซาเมี่ยนในทศวรรษ 1920 หากบ้านเลขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านที่ปรีดีพักคือที่อยู่ในกรอบสีน้ำเงิน ครอบครัวปรีดีย้ายจากอดีตสถานกุงสุลฝรั่งเศส (เลขที่ 7) ไปยังบ้านที่อยู่ในอดีตสถานกงสุลอังกฤษ (เลขที่ 35) ในปี 1960  http://nla.gov.au/nla.map-brsc67)

 

จากการบันทึกของ Menguy ทางสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงปักกิ่งจึงตีความว่า จะได้พบปรีดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางการจีนมากกว่า การส่งเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตออกไปปฏิบัติการนอกพื้นที่เช่นนี้มักจะถูกจับตามอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อ Menguy เดินทางไปทางไปกวางโจวนั้น สถานเอกอัครราชทูตจึงแจงหตุผลกับทางการจีนว่าไปท่องเที่ยว ทางเอกอัครราชทูต Lucien Paye เห็นว่าในอนาคตหากทำแบบนี้ต่อไปก็คงไม่เป็นผลอะไร คงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบปรีดี ทางออกมีอยู่ไม่กี่อย่างคือให้สุดาถือจดหมายปรีดีมาปักกิ่ง หรือประสานผ่าน Georges-Picot หรือประสานผ่านลูกชายของปรีดี[71]

ทางกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสตอบกลับมาว่า เป็นที่ประจักษ์ว่าทางการจีนไม่ต้องการให้ติดต่อกับปรีดี[72] มีความเป็นไปได้ว่าปรีดีไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริงในการจะออกจากกวางโจว รวมถึงไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ในการติดต่อลูกของเขาที่อยู่ในฝรั่งเศสด้วย[73] ดังนั้น หากทางฝรั่งเศสยังพยายามดำเนินการต่อไป ก็อาจส่งผลร้ายต่อปรีดีเองหรือต่อครอบครัวของเขา อีกทั้งฝรั่งเศสก็จะไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการแต่แรกด้วย ทางกระทรวงจึงขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตและขอให้หยุดปฏิบัติการณ์เรื่องนี้ไปก่อน[74]

 

เมื่อข้อเสนอของทางฝรั่งเศสไม่ได้รับการตอบรับจากปรีดี อีกทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบปรีดีก็ไม่สำเร็จ จึงดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องการลี้ภัยนี้จะถูกพับไว้ก่อนสำหรับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหลังจากผ่านไป 6 เดือน ในเดือนกันยายน 1966 สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้รับจดหมายจากสุดา ในจดหมายที่สุดาเขียนถึง Menguy ลงวันที่ 31 สิงหาคม สุดาระบุว่า “ครอบครัวของเราขอขอบคุณและขอยอมรับข้อเสนอของคุณ” และครอบครัวจะส่งเธอมาปักกิ่งเพื่อพูดคุยและดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็น สุดาต้องการจะทราบวันที่แน่นอนที่จะนัดหมายพบปะกับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ในเรื่องนี้เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงปักกิ่งบันทึกว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดของสุดาที่ “ตีความ” ว่า Menguy ได้มอบข้อเสนอให้เธอและครอบครัวเดินทางไปฝรั่งเศส สาเหตุที่เธอเพิ่งติดต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนน่าจะเป็นเพราะขณะนั้นการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ทางครอบครัวพนมยงค์มีความรีบร้อนที่จะออกจากจีน เป็นไปได้ด้วยว่าทางครอบครัวมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น[75]

ถึงแม้จดหมายจะกล่าวถึงครอบครัวพนมยงค์โดยรวม ๆ แต่ก็ตีความได้ว่าคงจะหมายรวมถึงปรีดีด้วย ในหนึ่งสัปดาห์ต่อมาเมื่อไม่ได้รับคำตอบ สุดาได้โทรศัพท์หาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเพื่อสอบถามความคืบหน้า ทางเอกอัครราชทูตจึงแจ้งไปว่าจะติดต่อกลับภายในไม่กี่วันนี้เพื่อกำหนดวันที่จะนัดหมายกัน ทางเอกอัครราชทูตตีความว่าในขณะนี้ ปรีดีน่าจะกำลังอยู่ในสถานะที่ลำบากมาก” (éprouve actuellement de grandes difficultés) ทางกระทรวงจะมีมติอย่างไรในเรื่องนี้ควรจะต้องเร่งตัดสินใจ ควรจะยืนยันนโยบายเดิม คือให้ปรีดีเดินทางเข้าสวิสเซอร์แลนด์ก่อนหรือไม่?[76]

กระทรวงการต่างประเทศตัดสินใจให้สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในไทย ลองประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่ากระแสตอบรับในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากทางฝรั่งเศสช่วยเหลือให้ปรีดีได้ลี้ภัย ในวันที่ 27 กันยายน André Ross ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต[77] ส่งโทรเลขชี้แจงว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือยืนยันนโยบายเดิม กล่าวคือ ให้ปรีดีเดินทางไปพักที่สวิสเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นค่อยให้เดินทางเข้าออกฝรั่งเศสเป็นระยะ ปัญหาใหญ่ที่สุดของปรีดีคือการถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับกรณีสวรรคต ซึ่งถึงแม้จะเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ยังถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มทหารไทย การที่ปรีดีอยู่ที่จีนต่อไปจะเป็นประโยชน์กับพวกเขา เพราะจะได้กล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงทำให้ภาพลักษณ์ของปรีดีแย่สำหรับสาธารณะ และดังนั้นจึงเป็นการการตัดขาดปรีดีจากเครือข่ายเสรีนิยมในประเทศ[78]

สุดท้ายกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยืนยันนโยบายเดิม คือให้ปรีดีหาวิธีเดินทางมาประเทศในยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ หรือสวีเดนก่อน จากนั้นค่อยช่วยให้ปรีดีเข้าฝรั่งเศส วิธีการนี้น่าจะลดปัญหาที่จะเกิดกับทางการไทยได้ เพราะหากชี้แจงว่าเป้าหมายของปรีดีในการมาฝรั่งเศสเป็นครั้งคราวคือการมาเยี่ยมครอบครัว ทางการไทยคงจะไม่ว่าอะไร

เมื่อเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำปักกิ่งได้พบกับสุดา จึงแจ้งเงื่อนไขดังกล่าว สุดายอมรับเงื่อนไข โดยระบุเพิ่มเติมว่า ต้องการจะเดินทางออกจากจีนทั้งหมด 6 คน คือ ปรีดี พูนศุข สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี แต่มีปัญหาว่าขณะนี้หนังสือเดินทางทุกคนหมดอายุแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะขอต่ออายุจากทางการไทย เอกอัครราชทูตจึงเสนอว่าให้ปรีดีไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของจีนเพื่อให้ออก “หนังสือเดินทางจีนสำหรับชาวต่างชาติ” ทั้งนี้ เขามีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่จีนดูจะไม่มีปัญหากับการปล่อยครอบครัวนี้ออกไปจากจีน แต่หากจะให้ออกหนังสือเดินทางนั้นดูจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก[79] หากทางการจีนไม่ออกหนังสือเดินทางให้ ฝรั่งเศสก็จำเป็นต้องเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยที่เรียกว่า Laissez-passer ในตอนท้ายจดหมายที่ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตระบุว่า ปรีดีมีอาการเหนื่อยล้ามาก และดูจะมีความประสงค์ที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป[80] 

หลังจากนั้น สุดาก็ไปเดินเรื่องกับทางสถานเอกอัครราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ แต่ด้วยความที่ไม่มีหนังสือเดินทาง ความเป็นไปได้ที่จะได้วีซ่าจึงน้อย Lucien Paye เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจึงมีความเห็นว่า หากออก Laissez-passer ให้ทุกคน โดยเฉพาะปรีดี เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก การออกเอกสารให้สักสองคน คือ พูนศุขกับสุดา น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ การให้พูนศุขกับสุดาเดินทางไปฝรั่งเศสก่อน แล้วไปเดินเรื่องกับสถานเอกอัครราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ที่นั่นเพื่อขอให้ช่วยเหลือปรีดีและครอบครัวที่เหลือในจีนออกมา ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า กระทรวงการต่างประเทศมีมติคล้อยตามความเห็นนี้ ดังนั้น Paye จึงออกเอกสารเดินทางให้กับพูนศุขและสุดา ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 1966 เอกสารมีอายุ 3 เดือน ทั้งสองคนมีแผนจะเดินทางในเดือนมกราคมปี 1967[81]

 

ครอบครัวปรีดีไปฝรั่งเศส

ในเมื่อฝรั่งเศสออกเอกสารเดินทางให้เพียงสองคน คนที่เหลือหากต้องการเร่งออกจากจีน ก็จำเป็นต้องใช้ช่องทางอื่น ปรากฏว่าในวันที่ 23 ธันวาคม 1966 ศุขปรีดาได้เดินทางเข้าสู่ฝรั่งเศสด้วยหนังสือเดินทางปลอม ซึ่งออกให้โดยทางการฮ่องกง โดยใช้ชื่อ YAU Shui-kun เขาใช้หนังสือเดินทางดังกล่าวขอวีซ่าจากสถานกงสุลฝรั่งเศสในฮ่องกงได้สำเร็จ เมื่อไปถึงฝรั่งเศสก็ได้ไปพบกับ Georges-Picot เพื่อขอความช่วยเหลือให้ได้รับบัตรพำนักในฝรั่งเศส ในจดหมายที่ Georges-Picot เขียนถึงกระทรวงการต่างประเทศนั้นระบุว่า ศุขปรีดาพำนักอาศัยอยู่ที่ลาว[82] เอกสารของกระทรวงระบุว่า ศุขปรีดาไม่ทราบข่าวคราวของน้องสาวหรือพี่สาวที่กวางโจว และไม่ทราบว่าพวกเขาจะเดินทางมาฝรั่งเศสในวันที่เท่าไหร่

 

จดหมายลายมือของศุขปรีดา พนมยงค์ ลงวันที่ 13 มกราคม 1967 ระบุว่าเดินทางมาถึงฝรั่งเศสวันที่ 23 ธันวาคม 1966 โดยใช้ชื่อจีนและใช้หนังสือเดินทางที่ออกให้โดยทางการฮ่องกง

 

หลังจากศุขปรีดามาถึงปารีส ราวหนึ่งเดือนต่อมาพูนศุขและสุดาก็เดินทางมาถึงในวันที่ 29 มกราคม 1967 การออกจากจีนเป็นไปด้วยความสะดวก โดยบินกับสายการบิน Pakistan Airlines จากกวางโจวไปเปลี่ยนเครื่องที่ปากีสถาน จากนั้นก็บินตรงมายังฝรั่งเศส เมื่อไปถึงก็ได้พบปาลและศุขปรีดา พูนศุขแจ้งว่ามีเรื่องต้องจัดการ คือเรื่องเงินบำนาญของปรีดีที่ตกค้างอยู่ และเรื่องการขายบ้านในประเทศไทย โดยพูนศุขหวังพึ่งความช่วยเหลือจากบุณย์ เจริญไชย เอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมิตรเก่าของปรีดี ส่วนปรีดีขณะนี้อยู่กวางโจวกับดุษฎีและวาณี เขายังมีความต้องการจะออกจากจีน แต่ด้วยปัญหาสุขภาพจึงอยากจะไปอยู่ประเทศร้อนที่มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับประเทศไทย[83]

ในวันที่ 15 มีนาคม พูนศุขและสุดา เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย เมื่อไปถึงปรากฏว่าเอกอัครราชทูตไม่อยู่เพราะไม่สบาย แต่เมื่อทราบข่าวว่าพูนศุขเดินทางมา ก็รีบมาที่สถานเอกอัครราชทูตทันที และ “ให้การต้อนรับในรูปแบบเดียวกันกับการต้อนรับบุคคลระดับสูง” การพูดคุยทั้งหมดใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง 30 นาที[84] หลังจากนั้นก็มีการพบกันเป็นประจำระหว่างพูนศุขกับเอกอัครราชทูต โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

 

รัฐบาลไทยกับข่าวเรื่องการลี้ภัยของปรีดี

ความเคลื่อนไหวของปรีดีในจีนนั้นเป็นที่จับตามองของทางการไทยอยู่แล้ว และโดยส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะเป็นข้อมูลที่ผิด ประกอบกับในช่วงปลายปี 1965 ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้ทดลองปล่อยข่าวว่าปรีดีจะมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือหลายกระแสซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น กรณีสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษสอบถามมาขอคำยืนยันว่าปรีดีอยู่ที่ปารีสแล้วหรือไม่ ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ข้อมูล “ที่น่าเชื่อถืออย่างมาก” ว่าเมื่อ André Malraux รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศส เดินทางเยือนจีนระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม 1965 นั้น เขาได้ชวนปรีดีไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส เรื่องนี้ Achille Clarac ได้สอบถามไปทาง Lucien Paye ซึ่งก็ได้ปฏิเสธว่า Malraux ไม่เคยพูดเช่นนั้น[85] ต่อมา Malraux แจ้งกับกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสโดยตรงว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องปรีดี และเมื่อเขาไปกวางโจวนั้นเขาไม่ได้พบกับใครเลยนอกจากคนจีน[86]

ในเดือนมีนาคม 1966 ระหว่างที่ Lucien Paye เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในไทย ขณะที่เขากำลังทานอาหารเย็นในงานเลี้ยง ไพโรจน์ ชัยนาม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้ามาพูดคุยอย่างยาวนานเกี่ยวกับเรื่องปรีดี ไพโรจน์ถามถึงสุขภาพของปรีดีและกล่าวว่าเสียดายที่ปรีดีไปลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนคอมมิวนิสต์เพราะทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ความเห็นส่วนตัวของเขาคือปรีดีไปลี้ภัยในยุโรปหรือในฝรั่งเศสจะดีกว่า จากนั้นไพโรจน์ก็ถาม Paye โดยตรงว่า “เป็นไปได้ไหมที่ฝรั่งเศสจะช่วยให้ปรีดีไปลี้ภัย?” ทางการฝรั่งเศสวิเคราะห์ว่า จุดยืนของไพโรจน์และกลุ่มของเขา คือการแสวงหาทางเลือกที่สามในห้วงเวลาที่การเมืองมีเพียงสองขั้วคือระหว่างอยู่ใต้รองเท้าบูทสหรัฐฯกับอยู่ใต้คอมมิวนิสต์ การที่ปรีดีได้ไปอยู่ในประเทศที่เขาสามารถแสดงออกซึ่งจุดยืนและความต้องการที่แท้จริงของเขาได้นั้น จะช่วยสร้างทางเลือกตรงกลางให้กับประเทศไทย กลุ่มของไพโรจน์นี้ “ไม่ชอบ” ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น แต่ถนัดก็ทำอะไรพวกเขาไม่ได้ เขาสามารถคุยเรื่องล่อแหลมอย่างเรื่องปรีดีอย่างตรงไปตรงมาได้ก็เพราะกลุ่มของเขามีอิทธิพลในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น ดิเรก ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบ็อน ก็เป็นผู้ใกล้ชิดและสนิทสนมกับปรีดี เป็นต้น[87]

ในช่วงเดือนมกราคม 1967 ก่อนที่พูนศุขและสุดาจะเดินทางไปถึงฝรั่งเศส เริ่มมีข่าวเรื่องการขายบ้านและที่ดินของปรีดีเพื่อเป็นทุนสำหรับการไปลี้ภัยที่ยุโรป โดยเฉพาะสำหรับการไปตั้งหลักที่สวิสเซอร์แลนด์[88] กระแสเรื่องการออกจากจีนของปรีดี เข้าถึงคนในหมู่รัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่มีท่าทีอะไร พลเอกแสวง เสนาณรงค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้มีการคุยกันเรื่องนี้ แต่ตัวเขาเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ปรีดีจะย้ายจากจีนไปฝรั่งเศสเพราะครอบครัวเขาอยู่ที่นั่น ทั้งนี้ ท่าทีของราชสำนักต่อเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่อาจจะทราบได้[89] อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะตีความได้จากเหตุการณ์ในไม่กี่เดือนต่อมาเมื่อท่าทีของแสวง เสนาณรงค์ เปลี่ยนไป ที่ผ่านมาแสวงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศสมาโดยตลอด แต่ในเดือนมีนาคม 1967 แสวงกล่าวว่ารัฐบาลไทยไม่เห็นด้วยกับการที่ปรีดีจะย้ายไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส หากปรีดีไปลี้ภัยที่สวิสเซอร์แลนด์จะยังพอรับได้ ในเรื่องท่าทีที่เปลี่ยนไปนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลจากทางราชสำนัก[90]

 

สาเหตุที่ปรีดีต้องการออกจากจีน

ที่ผ่านมานั้น ทางการฝรั่งเศสเชื่อว่าสาเหตุที่ปรีดีต้องการออกจากจีนนั้น เป็นเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวของปรีดีบางส่วนอยู่ที่ฝรั่งเศส และการไปฝรั่งเศสจะช่วยให้ปรีดีมีอิสระในการเสนอแนวทางทางการเมือง - ที่ฝรั่งเศสเรียกว่า “เสรีนิยม” ของตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนเมษายน 1967 มีข้อมูลใหม่ว่าสาเหตุที่ปรีดีต้องการออกจากจีนนั้น เพราะปรีดีถูกบีบให้ร่วมมือกับพวก “องค์กรแนวร่วม” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ในวันที่ 5 เมษายน 1967 Lucien Paye ส่งโทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสว่าได้คุยกับอุปทูตลาวประจำประเทศจีน นักการทูตคนดังกล่าวสอบถามว่าปรีดีมีแผนจะลี้ภัยหรือไม่ โดยเขาให้ข้อมูลว่าขณะนี้ปรีดีกำลังอยู่ในสถานะลำบาก สาเหตุมาจากทางการจีนนั้นต้องการจะให้ปรีดีร่วมเคลื่อนไหวกับพโยม ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำ “แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย” ผู้ลี้ภัยคนอื่น เช่น สะอิ้ง มารังกูร และอัมพร สุวรรณบล ก็ถูกบีบคั้นในลักษณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ สังข์ พัธโนทัย ซึ่งสังกัดแนวร่วมดังกล่าวนี้ ได้เดินทางมาจากกรุงเทพฯเพื่อหวังจะประสานงาน แต่สุดท้ายก็ได้พบกับพโยม จุลานนท์ เพียงคนเดียว ดังนั้นจึงเดินทางกลับไป[91] ต่อมา Paye ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก Donald Hopson อุปทูตอังกฤษประจำประเทศจีนว่าอัมพร สุวรรณบล ได้ยื่นขอวีซ่าอังกฤษเพื่อจะเดินทางไปฮ่องกง สาเหตุของการยื่นวีซ่าเพราะอัมพรอ้างว่าหลังจากที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมกับ “แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย” ทางการจีนก็ได้แจ้งว่าเขา “ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในจีนอีกต่อไป”[92]

 


 

สรุป

สถานะการศึกษาเรื่องปรีดีในจีนและความสำคัญของเอกสารฝรั่งเศส

 

จุดเริ่มต้นของบทความนี้คือการชี้ให้เห็นเนื้อหาของ เอกสารปรีดี 2017” ซึ่งจะนำมาสู่ความเข้าใจเอกสารปรีดี 2024” ที่จะให้เข้าใช้เร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ศึกษาก็พบว่าเราไม่อาจเข้าใจเอกสารเหล่านี้ในตัวมันเองได้เลยหากไม่พิจารณาร่วมไปกับเอกสารอื่น ๆ และบริบทที่แวดล้อม สุดท้ายแล้วบทความนี้จึงมีขนาดยาวขึ้นเรื่อย ๆ และยาวกว่าที่ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้มาก จนถึงจุดหนึ่งผู้เขียนจำเป็นจะต้องหยุด และเน้นเพียงบางประเด็น มิเช่นนั้นบทความอาจจะไม่มีวันแล้วเสร็จ

ในบรรดางานศึกษาทั้งหมดที่เกี่ยวกับปรีดี อาจจะพูดได้ว่าช่วงชีวิตของปรีดีที่ยาวนานถึง 21 ปีในจีน เป็นช่วงเวลาที่มีการศึกษาน้อยที่สุด อาจด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น ในเชิงหลักฐาน, ในเชิงจุดยืนทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจึงไม่อยากพูดถึง, ในเชิงความเป็นส่วนตัวจึงไม่อยากกล่าวกระทบผู้อื่น, หรือในเชิงคุณธรรมบางประการ ดังคำพูดของพูนศุขที่กล่าวว่า “ฉันไม่ลืมบุญคุณรัฐบาลจีนและราษฎรจีน ฉันเป็นคนไม่ลืมบุญคุณคน”[93] ด้วยเหตุนี้ งานที่เกี่ยวกับปรีดีในจีนจึงมักจะให้ภาพของปรีดีที่หยุดนิ่ง ตายตัว โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าปรีดีไม่เป็นคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ งานเหล่านี้หลายชิ้นก็ให้ข้อมูลที่ผิดในเชิงข้อเท็จจริง เช่น รูปที่ปรีดีพบกับโฮจิมินห์มักจะระบุว่าคือปี พ.ศ. 2509 ทั้งที่ความจริงแล้วคือปี พ.ศ. 2504 เป็นต้น ในขณะที่ข้อมูลบางประเภทแม้จะถูกต้องแต่ก็อาจจะถูกแค่บางส่วน โดยไม่ช่วยให้เราเข้าใจปรีดีหรือสถานการณ์ในขณะนั้นมากนัก เช่น การกล่าวว่าปรีดีไม่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นก็อาจจะเป็นการกล่าวที่ถูกต้อง แต่การที่ปรีดีไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็จำเป็นจะต้องขยายความต่อด้วยว่า แล้วความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร หรือการกล่าวว่าปรีดีเป็นผู้รักสันติภาพ ต่อต้านสงคราม ก็อาจจะเป็นข้อกล่าวอ้างที่ถูกต้อง แต่อาจจะถูกเฉพาะบางช่วงเท่านั้น เพราะปรีดีเองในช่วงแรกที่ไปจีนก็มีแนวทางสนับสนุนการใช้กองกำลังอยู่เหมือนกัน เป็นต้น

โดยพื้นฐานแล้ว งานศึกษาที่ผ่านมามีข้อจำกัดง่าย ๆ คือ ระยะเวลา 21 ปีถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่งสำหรับชีวิตคน ๆ หนึ่ง ในส่วนของปรีดีนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่มีความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กล่าวคือ ปรีดีผ่านช่วงสงครามเกาหลี การรัฐประหารของสฤษดิ์ สงครามเวียดนาม การเริ่มต้นต่อสู้โดยอาวุธของพคท. การ “ก้าวกระโดดไกล” และการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะอยู่ในจีน สิ่งเหล่านี้จะส่งอิทธิพลต่อปรีดีอย่างไร? ปรีดีสัมพันธ์และผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาอย่างไร? ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นช่องว่างทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่จำเป็นจะต้องมีการเติมเต็ม

บทความชิ้นนี้เริ่มด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับหอจดหมายเหตุการทูตและลักษณะของเอกสารทางการทูตของฝรั่งเศสที่จะนำมาใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับปรีดีในจีน จากนั้นได้กล่าวถึงบริบทการเมืองในไทยที่เป็นเหตุให้ปรีดีลี้ภัยตั้งแต่รัฐประหารในปี 1947 จนกระทั่งครอบครัวของปรีดีตามมาอยู่ด้วยหลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ในปี 1957 ในตอนที่สามได้พิจารณาแฟ้มเอกสารที่ฝรั่งเศสรวบรวมเกี่ยวกับปรีดี ซึ่งครอบคลุมช่วง 1965-1967 โดยละเอียด โดยชี้ให้เห็นว่าปรีดีเริ่มมีความพยายามขอลี้ภัยมายังฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าว หากมองในภาพรวมแล้ว บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นความซับซ้อนของปรีดีในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนช่วง 1948-1970 โดยสัมพันธ์กับสถานการณ์ในไทย ในจีนและสถานการณ์ระหว่างประเทศ

สุดท้ายนี้ จากเนื้อหาทั้งหมดของบทความ จะขอเสนอว่าเราสามารถแบ่งช่วงเวลาที่ปรีดีอยู่ในจีนออกเป็นสามช่วง โดยสัมพันธ์กับคำถามพื้นฐานสามประการ คือ ทำไมปรีดีถึงเลือกไปลี้ภัยที่จีนหลังรัฐประหาร 1947, ทำไมปรีดีถึงย้ายจากปักกิ่งมาอยู่กวางโจวปี 1956, ทำไมปรีดีถึงย้ายไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศสปี 1970

 

เวลาสามช่วงของปรีดีในจีน

ในที่นี้ขอเสนอว่า เราอาจจะสามารถเติมเต็มคำถามทั้งสามข้อข้างต้น โดยการตีความให้สัมพันธ์กับแนวทางการเคลื่อนไหวของปรีดีที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง ดังนี้

 
1. แนวทางการแสวงหากองกำลัง (1948-1955)

เหตุผลทางการที่ปรีดีและทายาทอธิบายเรื่องการไปจีน คือเพราะเครือข่ายทางการเมืองบางส่วนอยู่ที่นั่น (เช่น สงวน ตุลารักษ์) และจีนไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทยและกับสหรัฐฯ จึงไม่มีข้อกังวลเรื่องการส่งตัวกลับ นอกจากนี้ ยังกล่าวกันว่าปรีดีไม่ได้ตั้งใจไปลี้ภัยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเพราะขณะไปลี้ภัยยังเป็นจีนคณะชาติอยู่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่เพียงพอ เหตุผลหลักของการเลือกไปจีนน่าจะเป็นเพราะปรีดีต้องการจะต่อสู้ด้วยกองกำลังเพื่อโค่นล้มรัฐบาลมากกว่า

จริงอยู่ที่ปรีดีเลือกลี้ภัยในช่วงปี 1948 ภายใต้รัฐบาลคณะชาติของเจียงไคเชก แต่การลี้ภัยในรอบนั้นปรีดีคงจะไม่ได้วางแผนอยู่ยาว เพราะในระยะเวลาไม่นานในปี 1949 ปรีดีก็กลับเข้าไทยเพื่อนำกองกำลังในเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” ต่อมาหลังความความพ่ายแพ้ในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรีดีซ่อนตัวในไทยอยู่หลายเดือน ปรากฏว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่พคจ. เพิ่งปลดปล่อยจีนสำเร็จ ปรีดีจึงตัดสินใจเดินทางไปลี้ภัยที่ปักกิ่ง สาเหตุที่ปรีดีเลือกไปลี้ภัยที่ประเทศจีนคอมมิวนิสต์ นอกจากเหตุผลเรื่องการไม่ถูกส่งตัว “ผู้ร้ายข้ามแดน” ที่มักจะอ้างกันแล้ว น่าจะเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนเอื้อต่อแนวทางการต่อสู้ของปรีดีด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ

ประการแรกคือเรื่องนโยบายการต่างประเทศ ปรีดีอาจจะมองจีนว่าอยู่ในเงื่อนไขเดียวกับไทย คือถูกจักรวรรดินิยมรังแก ปรีดีมีแนวคิดเรื่องการสร้างแนวร่วมของชาติเล็ก ๆ ในเอเชียเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยม ดังนั้น จีนถึงแม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่ แต่เกียรติภูมิระหว่างประเทศถือว่าเล็ก จีนไม่มีที่นั่งในสหประชาชาติซึ่งมีตัวแทนเป็นไต้หวันภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ความคิดของปรีดีเช่นนี้ตรงกันกับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ต้องการสนับสนุนการปลดแอกของชาติเล็กต่าง ๆ ในเอเชียจากจักรวรรดินิยม สร้างแนวร่วมทั้งในหมู่ประเทศเป็นกลางและประเทศคอมมิวนิสต์ เพื่อให้ตนมีที่ทางในการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น

ประการที่สอง ปรีดีก็เช่นเดียวกันกับนักชาตินิยมหลายคนยุคนั้น คือเชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมืองต้องมาพร้อมกันกับการต่อสู้ด้วยกองกำลัง[94] แม้ปรีดีจะพ่ายแพ้ในกบฏวังหลวงแต่ก็ดูจะยังเชื่อมั่นในแนวทางนี้ เหตุผลหนึ่งที่ปรีดีเลือกไปจีนก็คือระยะทางระหว่างจีนกับไทยก็ถือว่าไม่ห่างไกลกันมาก หากไปลี้ภัยยุโรป - ดังเช่นที่ปรีดีเคยไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 1933 ซึ่งขณะนั้นไม่ได้คิดเรื่องการใช้กองกำลัง - ก็จะเคลื่อนไหวในแนวทางกองกำลังลำบาก นอกจากนี้ เรื่องกองกำลังนี้สัมพันธ์กับเหตุผลที่ยกมาประการแรกคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือ หลังจากปรีดีไปลี้ภัยในจีนครั้งแรกในปี 1948 ปรีดีเคยขอความช่วยเหลือจากสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตกแต่กลับถูกปฏิเสธ (ดูเชิงอรรถที่ 99) ปรีดีจึงมองว่ารัฐบาลตะวันตกเข้าข้างรัฐบาลไทยและทำตามนโยบายของสหรัฐอเมริกา จีนซึ่งกำลังหาที่ทางในการเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นประเทศที่ปรีดีเชื่อว่าน่าจะให้การสนับสนุนตนได้ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจีนจะไม่สนับสนุนแนวทางกองกำลังอิสระอันมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อการรัฐประหารเพื่อปรีดี[95] เป็นเหตุให้เริ่มเกิดความขัดแย้งกับปรีดีและพรรคคอมมิวนิสต์จีน คำถามที่ว่าทำไมจีนถึงไม่ช่วยเหลือปรีดีด้านกำลังอาวุธยังคงต้องการคำอธิบาย มีความเป็นไปได้ว่าในมุมมองของจีน การต่อสู้ด้วยกองกำลังนั้นมีกลุ่มที่ทำอยู่แล้ว คือ พคท. ซึ่งพคจ. ก็สนับสนุนอยู่แล้ว หากปรีดีจะมีส่วนในด้านนี้ก็จะต้องเป็นในลักษณะ “แนวร่วม” ซึ่งการนำ การออกนโยบาย และการวางยุทธศาสตร์จะต้องขึ้นกับพคจ. และ พคท. และจะต้องด้วยลักษณะนี้เท่านั้นการเคลื่อนไหวของปรีดีจึงจะไม่ขัดกับ “ผลประโยชน์” ของจีน

ปัญหาคือนี่ไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ปรีดียอมรับได้ เมื่อปรีดีปฏิเสธจึงเกิดความตึงเครียดขึ้น เฉียบ อัมพุนันทน์ (นามสกุลเดิมคือ ชัยสงค์) ผู้ติดตามปรีดีในขณะนั้น กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ในราวปี 1950-1953 ว่า พวกเขาแทบจะเป็น “นักโทษ” ของรัฐบาลจีน กล่าวคือ มีการลดงบประมาณที่เคยให้ “ไม่ได้รับจดหมายหรือหนังสือพิมพ์จากไทยเลย เป็นอันว่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอกสิ้นเชิง...ประตูบ้านถูกใส่กุญแจ ด้านในมีทหารเฝ้า 6 คน เราออกนอกบ้านไปไหนก็ไปด้วย”[96] ผู้ติดตามของปรีดีเองหลายคนในขณะนั้นก็หันไปร่วมกับทางพคท. มากขึ้น ทำให้ปรีดีขัดแย้งกับกลุ่มแนวร่วมด้วยเพราะมองว่าเป็นการ “แย่งมวลชน”

ต่อมาในปี 1953 หลังพูนศุขและสุดาเดินทางมาถึงปักกิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีและพคจ. ผ่อนคลายขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าปรีดีจะยอมรับเงื่อนไขการเป็น “แนวร่วม” ของพคท. ดังกล่าว โดยมีหลักฐานว่าเริ่มมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกของกลุ่มปรีดีที่จีน ภายหลังมีการตั้งฐานที่มั่นทางตอนเหนือของประเทศไทยที่จังหวัดน่านโดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มของปรีดีและพคท.[97] อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติแล้วก็ต้องถือว่าปรีดีได้ “สูญเสียการนำ” ในด้านกองกำลังให้กับพคท. แล้ว แม้ตลอดทศวรรษ 1960 จะมีหลักฐานเรื่อง “คนของปรีดี” หรือ “อดีตคนของปรีดี” ตามฐานที่มั่นต่าง ๆ ของพคท. แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการใช้ชื่อของปรีดีเพียงเท่านั้น บทบาทของปรีดีในการวางแผน ออกนโยบาย ออกคำสั่ง หรือชี้นำคนเหล่านั้น น่าจะไม่มี เพราะคนเหล่านั้นได้ขึ้นต่อพคท. และพคจ. หมดแล้ว[98]

ถึงจุดนี้เรียกได้ว่าแม้ปรีดีจะได้ชื่อว่าเป็น “แนวร่วม” แต่ก็ดูจะเป็น “แนวร่วม” ในความหมายที่ยอมให้พคจ. และพคท. ชี้นำและจัดตั้งคนของตัวเองมากกว่า ในสภาพเช่นนี้คนของปรีดีจึงถูกดูดกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของพคท. โดยธรรมชาติ ปรีดีจึงเรียกได้ว่าทั้ง “สูญเสียการนำ” และถูก “แย่งมวลชน” เมื่อปรีดีไม่ได้มีมวลชนหรืออำนาจควบคุมมวลชนของตนเองแล้ว ปรีดีจึงเป็น “แนวร่วม” ที่ค่อนข้างพิเศษ กล่าวคือ ปรีดีกลายเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของการเคลื่อนไหว โดยมีสถานะเป็นแขกของรัฐบาลที่รัฐบาลจีนดูแลไว้ รัฐบาลจีน “ใช้” ปรีดีในลักษณะตัวแทนของรัฐบาลไทย (ปรีดีเองช่วงหนึ่งก็มีความตั้งใจจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น[99]) เช่น เป็นตัวแทนร่วมงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ โดยเฉพาะวันชาติจีน จีนให้ปรีดี “ขึ้นไปยืนอยู่บนปะรำพิธีเทียนอันเหมิน เคียงข้างผู้นำจีนและผู้นำต่างประเทศ”[100] อย่างไรก็ตาม ต่อมาพคจ. จะกดดันให้ปรีดีมีบทบาททางตรงกับ “แนวร่วม” มากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปรีดีต้องการจะเดินทางออกจากจีน (จะกล่าวต่อไปใน ช่วงที่ 3 "ความพยายามออกจากจีน (1964-1970)")

 

2. แนวทาง "การเมือง" และความพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพคจ. (1956-1963)

ในข้อเขียนของปรีดีและบทสัมภาษณ์ของทายาท มักจะอธิบายว่าปรีดีย้ายจากปักกิ่งไปกวางโจวในปี 1956 เพราะอากาศหนาว อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาและตีความเอกสาร สาเหตุหลักน่าจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า

ปักกิ่งเป็นศูนย์กลางของพคจ. และเป็นศูนย์กลางของกลุ่มแนวร่วมในภายหลัง โดยเฉพาะกลุ่มพโยม ในส่วนของพคท. นิตย์ พงษ์ดาบเพชร สมาชิกคณะกรรมการกลางของพคท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ “สร้างสัมพันธ์กับแนวร่วมระดับสูงเช่นคุณพูนศุข พนมยงค์” ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางเข้ามาทำงานในสถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศของจีน (สถานีวิทยุปักกิ่ง) ในปี 1952[101] นอกจากนี้ ก็คงมีชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนอยู่จำนวนหนึ่งในปักกิ่ง เช่น มีโรงเรียนเป่ยจิงหัวเฉียวผู่เสี้ยว ที่รับเฉพาะลูกหลานของชาวจีนโพ้นทะเล และห่างออกไปจากปักกิ่งก็มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งมาศึกษาในสถาบันลัทธิมาร์กซ 

ปรีดีซึ่งพยายามสร้างภาพลักษณ์อยู่เสมอว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ยิ่งเมื่อขัดแย้งกับ พคจ. รวมทั้งสูญเสียการนำมวลชนของตนเองแล้วก็คงอึดอัด ในช่วง 1955-1956 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตทวีคูณขึ้น และประกอบกับมีคำสั่งให้ทำลายบ้านที่ปรีดีอยู่เพื่อเวนคืนที่ดินไปสร้างถนน[102] ปรีดีจึงน่าจะถือโอกาสนี้ขอย้ายไปกวางโจว

ความขัดแย้งระหว่างปรีดีกับ พคจ. และการย้ายไปกวางโจว อาจจะถือเป็นจุดสิ้นสุดในเรื่องการต่อสู้ด้วยแนวทางกองกำลังที่เป็นอิสระของปรีดี (คนของปรีดีกลายเป็น พคท. ไปหมดแล้ว) หลังจากนั้นปรีดีจึงหันไปสู้ด้วยแนวทาง “การเมือง” ที่พยายามจะเป็นอิสระจากพคท. และพคจ. มากขึ้น จอมพล ป. ก็เริ่มติดต่อมาเพื่อรื้อฟื้นกรณีสวรรคตในช่วงนี้ และเป็นช่วง 1955-1956 นี้เองที่ปรีดีส่งเฉียบ อัมพุนันทน์กลับเข้าไทยเพื่อตั้ง “พรรคศรีอารยเมตไตรย” ขึ้นสำหรับแข่งขันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 1957[103]

ในแง่นี้ เมืองกวางโจวเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต่อสู้ ในอดีตเป็นเมืองแรกที่ “เปิด” การค้ากับตะวันตกในยุคอาณานิคม มีสถานทูตตะวันตกตั้งอยู่มากมายในเกาะซาเมี่ยน เป็นแหล่งเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมทั่วเอเชีย และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติจีนในปี 1911 โดยซุนยัตเซ็น[104] นอกจากนี้ กวางโจวก็ยังอยู่ใกล้ฮ่องกง ไต้หวัน และใกล้ไทยเข้ามาอีก ทำให้การติดต่อ รับข่าวสาร จากทั้งโลกตะวันตกและจากไทยเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น

ในช่วงแรกที่ปรีดีมาถึงปักกิ่งนั้น เป็นองค์การแนวร่วมที่ให้การต้อนรับแขกชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ปรีดีย้ายไปกวางโจวในปี 1956 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ทางการจีนจัดตั้งองค์การวิเทศสัมพันธ์ขึ้น[105] หมายความว่าช่วงที่ปรีดีพยายามออกห่างจากพคจ. และออกห่างจากศูนย์กลางของพคจ. ที่ปักกิ่งนั้น พคจ. เข้าทำหน้าที่ดูแลและให้ความสะดวกแขกชาวต่างชาติโดยตรง[106] การออกจากปักกิ่งของปรีดีในปีเดียวกันนั้น อาจจะเป็นความพยายามหลุดจากการครอบงำของพคจ. ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากสฤษดิ์ทำการรัฐประหารในปี 1957 และจอมพล ป. ต้องลี้ภัย การเคลื่อนไหวของปรีดีก็ลำบากขึ้น แผนการรื้อฟื้นกรณีสวรรคตและต่อสู้ด้วยแนวทาง “การเมือง” ล้มเหลว แนวร่วมในประเทศไทยถูกจับกุม ปราบปราม แทบไม่มีเหลือ ส่วนกลุ่มที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในไทยคือ พคท. นั้น ปรีดีก็แยกตัวออกห่าง ทำให้ปรีดีในช่วงนี้แทบไม่มีบทบาททางการเมือง งานเขียนของปรีดีในช่วงนี้ก็มีน้อยชิ้น เช่น ความเป็นอนิจจังของสังคม และบทความเกี่ยวกับคอคอดกระ[107]

 

3. ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับความพยายามออกจากจีน (1964-1970)

ช่วงเวลานี้มีจุดเปลี่ยนสามประการที่ทำให้ปรีดีตัดสินใจจะออกจากประเทศจีน

ประการแรก หลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟูในปี 1954 และต่อมาในทศวรรษ 1960 ก็พ่ายแพ้ในอัลจีเรีย นโยบายการต่างประเทศของฝรั่งเศสก็เปลี่ยนไป ฝรั่งเศสถอยห่างจากความเป็นจักรวรรดินิยมมากขึ้นและพยายามหาความเป็นอิสระของตนเองในด้านนโยบายการต่างประเทศ ในปี 1964 ฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน สร้างความไม่พอใจให้สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก[108] แต่คนหนึ่งที่น่าจะประทับใจ คือปรีดี ผู้ซึ่งพยายามสร้างแนวทางทางการเมืองที่เป็นอิสระ อยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐและ พคจ. มาตลอด แนวทางชาตินิยมของปรีดีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวทางของการประชุมที่บันดุงในปี 1955 หรือแนวทาง “โลกที่ 3” คือรณรงค์ให้ไทยเป็นประเทศที่เป็นกลาง ถอยตัวออกห่างจากสหรัฐ ซึ่งปรีดีทำไม่สำเร็จ แต่ช่วงนี้เองฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐได้ทำให้เห็นแล้วว่าเป็นไปได้ ปรีดีซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับฝรั่งเศสอยู่แล้ว น่าจะมองฝรั่งเศสในแง่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ดังที่เห็นในตอนที่ 3 ของบทความนี้ ฝรั่งเศสก็มีความลังเลที่จะช่วยเหลือปรีดีโดยตรง เนื่องด้วยเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับไทย ซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยสหรัฐฯ ฝรั่งเศสที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่ค่อยดีและกำลังแสวงหาที่ทางของตนในการเมืองระหว่างประเทศ จึงต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงเลือกให้ความช่วยเหลือเพียงแค่พูนศุขและสุดาในการเดินทางมาฝรั่งเศสก่อน แต่ผลของความช่วยเหลือนี้ ซึ่งทำให้ภรรยาและบุตรสาวไปถึงปารีสเมื่อปี 1967 โดยเรียบร้อย ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ผลักดันให้ปรีดีเร่งหาทางไปฝรั่งเศสตามไปด้วย

ประการที่สอง ในปี 1965 สหรัฐอเมริกาเริ่มทิ้งระเบิดในเวียดนามโดยมีไทยเป็นพันธมิตรสำคัญ ปรีดีน่าจะเชื่อว่าการกลับไทยของตนเป็นไปได้ยากขึ้น แนวร่วมก็ร่อยหรอและรัฐบาลเต็มไปด้วยศัตรูทางการเมืองของตน นอกจากนี้ ผลกระทบด้านกลับของการเริ่มต้นสงครามเวียดนาม คือทำให้รัฐบาลจีนเริ่มหันมาหนุน พคท. มากขึ้น เอกสารบางชิ้นระบุว่า ปรีดีถูกบีบคั้นในช่วงนี้มากขึ้นให้ร่วมมือกับ “แนวร่วม” ของพคท. คือกลุ่มของพโยม[109] หลังจากนั้นไม่นาน พคท. ก็ประกาศเป็นผู้นำการปฏิวัติแทนองค์การแนวร่วม กล่าวคือ ยุบองค์การแนวร่วมในทางปฏิบัติ โดยพคท. เข้ามาคุมองค์การแนวร่วมโดยตรง บรรยากาศเช่นนี้น่าจะทำให้ปรีดีอึดอัดและแสวงหาความเป็นอิสระจากพคจ. มากขึ้น

 

ภาพเมื่อปรีดีได้รับเชิญให้ไปเยี่ยม ประธานโฮจิมินห์ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี 1961 (พ.ศ. 2504)[110] (ภาพจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์)

 

ปรีดีและครอบครัวไปพบโฮจิมินห์อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1964 (พ.ศ. 2506) ก่อนสหรัฐจะเริ่มทิ้งระเบิดในปีถัดมา[111] (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์) 

 

ประการที่สาม ตั้งแต่ปรีดีย้ายมากวางโจวได้ไม่นาน ใน 1958 เกิดการ “ก้าวกระโดดไกล” ซึ่งส่งผลร้ายที่เห็นได้ชัด ผู้คนอยู่ในภาวะอดอยากมากขึ้น หลังจากนั้นในปี 1966 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นช่วงเวลาที่สังคมจีนเต็มไปด้วยความรุนแรง รัฐบาลจีนมีการเพิ่มกำลังทหารรักษาความปลอดภัยจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือบริเวณหน้าบ้านพัก แม้ปรีดีจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สถานการณ์วุ่นวายและตึงเครียดมาก ยกตัวอย่างในกรณีของกุหลาบ “ผู้นำจีนที่เคยไปมาหาสู่ ถูกเล่นงาน หายหน้าหายตาไปหลายคน[112] แม้ข้อเขียนของปรีดีในภายหลังจะชี้ไปในแนวทางที่เห็นด้วยกับปฏิวัติวัฒนธรรม[113] แต่เมื่อพิจารณาบรรยากาศในจีนที่ไม่สงบในขณะนั้น ประกอบกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป เราก็น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมปรีดีถึงเริ่มติดต่อขอลี้ภัยในฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นเอง

 

ปรีดีเยี่ยมชมคอมมูนกับกุหลาบ ปี 1958 หรือ 1965[114] (ภาพจากหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน)

 

จากหลักฐานเท่าที่มี เราสามารถไล่เรียงเหตุการณ์ได้เป็นลำดับ คือ พบโฮจิมินห์รอบแรก (1961) พบเจ้าสุภานุวงศ์ (1963)[115] พบโฮจิมินห์รอบสอง (1964) พบเหมาเจ๋อตุง (1965) ส่งศุขปรีดามาไทยด้วยพาสปอร์ตลาวเพื่อเดินเรื่องให้ปรีดีลี้ภัยไปฝรั่งเศส (1965) เป็นไปได้ว่าการที่ปรีดีพบผู้นำสำคัญในจีนและเวียดนามในระยะนั้น ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการหารือ คือการออกจากจีนไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส เท่าที่มีหลักฐานเรื่องการพูดคุย เราพบจากข้อเขียนของปรีดีเอง ซึ่งเล่าว่าเมื่อพบเหมาในปี 1965 เหมาเห็นใจเรื่องคิดถึงบ้าน ส่วนที่ปรีดีพูดตรง ๆ ว่าต้องการจะเดินทางไปฝรั่งเศสก็เมื่อพบกับโจวเอินไหลในปี 1969[116] ในส่วนที่พบเจ้าสุภานุวงศ์ในปี 1963 ก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการออกพาสปอร์ตให้ศุขปรีดาเดินทางกลับไทยได้ในปี 1965

 

เหมาเจ๋อตุงกับปรีดี, 1 ตุลาคม 1965 (ภาพจากหนังสือ Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire)

 

ความสำคัญของหลักฐานฝรั่งเศส

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะข้อปิดท้ายด้วยการชี้ให้เห็นความสำคัญของเอกสารฝรั่งเศสในยุคสงครามเย็น ในขณะที่โลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือโลกเสรี และโลกคอมมิวนิสต์นั้น เอกสารทางการของประเทศต่าง ๆ มักจะมีมุมมองที่คล้อยไปตามนโยบายทางการของตน ในกรณีของทางการไทย เอกสารจะเต็มไปด้วยมุมมองของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ รวมถึง “ข่าวลือ” ต่างๆ ที่บางครั้งเป็นการจับแพะชนแกะ ไม่มีมูล เช่น มีข่าวเรื่องปรีดีสั่งสมกองกำลังที่ยูนนานจะมายึดไทย เรื่องนี้ก่อให้เกิดกระแสวิตกในรัฐบาลไทยพอสมควร[117] ในขณะที่เมื่อเราพิจารณาเอกสารของคอมมิวนิสต์ เช่น พคท. เราก็จะพบว่ามีลักษณะการอวดอ้างเกินจริงอยู่หลายประการ เช่น บอกว่า พคท. มีบทบาทในกบฏวังหลวงในปี 1949[118] หรือเป็นผู้นำของการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย[119] เราจะมีความรู้สึกว่าพคท. และแนวร่วมมีบทบาทและอยู่ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ไปหมด ซึ่งในหลายครั้งก็เกินจริง

การศึกษาที่ผ่านมาของช่วงเวลานี้ มักใช้เอกสารของสหรัฐอเมริกา ของไทย และเอกสารของพคท. ซึ่งต่างก็มีข้อจำกัด ผู้เขียนขอเสนอว่าเอกสารฝรั่งเศสน่าจะช่วยสร้างความสมดุลในการมองยุคสงครามเย็นได้ โดยเฉพาะหลังปี 1964 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสเริ่มมีอิสระมากขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศและถอยห่างออกมาจากการเป็นผู้เล่นในการเมืองของภูมิภาค ดังนั้นอาจจะถือได้ว่ามองความขัดแย้งในไทยอย่างห่างๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมองอย่าง “เป็นกลาง” มากขึ้น นอกจากนี้ จุดแข็งอีกประการหนึ่งของเอกสารฝรั่งเศส คือถึงแม้จะถอยห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง แต่ฝรั่งเศสยังมีสถาบัน บุคลากร และความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคนี้อยู่มาก ด้วยประวัติของฝรั่งเศสเองที่เคยมีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างยาวนาน ดังนั้นแล้วการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และรายงานต่าง ๆ ที่ฝรั่งเศสเขียนขึ้นในช่วงนี้ จึงเป็นมุมมองที่ลึกซึ้ง และอาจจะให้แง่มุมที่แปลกใหม่กว่าเอกสารของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอินโดจีนกับไทย การเคลื่อนย้ายผู้คน การลี้ภัย ประเด็นเหล่านี้มีอยู่ในแฟ้มหน่วยสืบราชการลับของฝรั่งเศส (Service de documentation extérieure et de contre-espionnage, SDECE) ซึ่งบันทึกเอาไว้อย่างละเอียด ในอนาคตคงเป็นประเด็นที่จะต้องมีผู้ศึกษาต่อไป

 

สุดท้าย เอกสารปรีดี 2024 จะกล่าวถึงอะไรบ้าง? สันนิษฐานได้ว่าจะกล่าวถึงการต่อรองระหว่างปรีดีและกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในช่วงปี 1968-1970 เรื่องการจะออกวีซ่าให้ปรีดี ต่อมาน่าจะรวมถึงชีวิตช่วงแรกที่ปรีดีมาถึงฝรั่งเศส ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการฟ้องร้องกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสถานเอกอัครราชทูตไทยเพื่อทวงคืนสิทธิในการได้เงินบำนาญ, ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่กล่าวหาเรื่องการมีส่วนในกรณีสวรรคต, และเรื่องเดินทางไปอังกฤษพบ Lord Mountbatten ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 1970[120] คงจะไม่มีเรื่อง “กรณีสวรรคต” ดังที่หลายคนเฝ้ารอจะอ่าน ส่วนผู้ที่สนใจประเด็นคำถามที่ว่าปรีดีคิดอย่างไรกับกรณีสวรรคตนั้น อันที่จริงมีการเผยแพร่บันทึกส่วนตัวของปรีดี พนมยงค์ แล้ว ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บล็อกของ “นักเรียนไทยโพ้นทะเล”[121]


 


 

[1] Somsak Jeamteerasakul, "มีเอกสาร 'ของ' หรือ 'เกี่ยวกับ' ปรีดี พนมยงค์ ในหอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่เปิดให้ดู จนกว่าจะถึงปี 2024," Facebook, 14 มกราคม 2561, https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1530170347036239

[2] เช่น ความเห็นหนึ่งที่โพสต์ในเพจ Facebook “มหาวิทยาลัยประชาชน” เมื่อปี 2022 (เพจนี้แชร์และ copy ข้อความของสมศักดิ์ในเรื่องเอกสารปรีดีมาโพสต์ซ้ำ) ในที่นี้ขอคัดมาเฉพาะบางส่วนโดยไม่ได้แก้ตัวสะกด

ในปี2024ประชาชนจะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด...นักการเมืองเค่าจะเชื่อเรื่องโหรศาสตร์ การคำนวนดวงดาว เหตุการณ์ล่วงหน้าเสมอ ดังนั่นเหตุผลที่ต้อง 2024 เพราะ จดหมายลับอ.ปรีดี เล่มนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต ของร.8 แน่นอน อ.ปรีดีแกโดนใส่ร้ายในเรื่องนี้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการฆ่า แล้วสังคมไทยยุคนั้นจนถึงตอนนี้ มีความรู้สึกละเอียดอ่อนกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ เปิดเผยก่อนการเปลี่ยนการปกครองในปี 2024 เป็นผลเสียกับลูกหลาน /คนใช้นามสกุล พนมยงค์

อ.ปรีดี แกน่าจะคำนวนปี 2024 ว่าเป็นปีที่เร็วที่สุดที่เปิดจดหมายนี้ แล้วไม่มีผลเสียอะไรตามมา เพราะคนไทยรับได้ถ้ารับทราบข้อเท็จจริงของคดีสวรรคต ร 8 ที่ถ้สรับทราบแล้ว จะไม่ทำให้เสียความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องละเอียดอ่อน คนไทยจะรักแล้วเข้าใจอ.ปรีดีมากๆ รวมถึงคนรุ่นก่อน คนอายุมาก ครับ

ความลำยากขแงประชาชน ที่ทำมาหากินไม่ได้ รัฐไม่ช่วยเหลือเลย เลือกตั้งใหม่ได้คนเดิมกลับมาบริหาร มีการโกงเลือกตั้ง คนออกมาประท้วง และก็ทหารออกมาปราบปรามประชาชนรุนแรง แต่ทหารในนั้น ส่วนนึงที่เข้าข่างประชาชน จะไม่ทำ แล้วจะรวมตัวกัน ไปก่อการรัฐประหารครับสำเร็จในปี 2024 และเป็นปีที่ จดหมายลับออกมา เพราะผูัมีแำนาจสูงสุดในประเทศ ไม่มีอำนาจแล้ว

มาดูว่าจะจริงตามนี้ 100 เปอร์เซ้นมั้ย

[3] มีที่มาจากการที่ “โกหย่วน” เจ้าของร้านอาหาร “มิตรโกหย่วน” เล่าว่า “ตอนนั้นคุณปรีดีกลับจากฝรั่งเศส เขาก็รู้จักอาหารฝรั่งดี เขาก็มาแนะนำเรื่องอาหารฝรั่งให้เตี่ยผมฟัง คนสมัยก่อนเขาไม่หวงวิชา แนะให้ทำเป็นขั้นเป็นตอน” (ดู “สูตรอาหารปรีดี,” ม.ป.ป., ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy), สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม, 2566, https://www.matichonacademy.com/content/food-story/article_37633) ในปี 2021 เพจต่าง ๆ นำเรื่องนี้ไปเล่นเป็น "มุกตลก" เชื่อมโยงว่า "เอกสารปรีดี" คงจะเผยแพร่สูตรข้าวมันไก่ เช่น เพจ ศาสดา (@IamSasdha), "ทำเป็นเล่นไป อ.ปรีดี นี่มีความรู้ความชอบเรื่องทำอาหารอยู่นะ มีร้านอาหารร้านนึงแถวเสาชิงช้า เคลมว่าบางเมนูเป็นสูตร อ.ปรีดี ถ่ายทอดไว้ให้รุ่นพ่อเค้า" Twitter 1 เมษายน 2564 4:54 p.m., https://twitter.com/IamSasdha/status/1377559964005269508 ในช่อง Youtube ชื่อดังของ Farose ซึ่งจัดรายการเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์สยาม" (PYMK EP23) เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2021 (มีผู้ชมขณะนี้ วันที่ 7 ธันวาคม 2023 ถึง 617,327 คน) มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นว่า "พอรุ้ว่า อ.ปรีดี ชอบเรื่องอาหาร ก็เริ่มหวั่นๆละว่าหนังสือที่ฝากไว้จะเป็นสูตรข้าวมันไก่" (มีคนกด like 3,200 คน) มีผู้ “เล่นมุก” ต่อ เช่น “ไม่ใช่จ้ะ เกร็งหวย” “เปิดมา เจอข้อความว่า ขอบคุณที่อ่าน” “ก๋วยเตี๋ยวเรือปารีส” เป็นต้น ดู Farose, "PYMK EP23 ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์สยาม," เผยแพร่เมื่อ 6 ตุลาคม 2564, video, 57:56, https://www.youtube.com/watch?v=awoMHpR3pRI

[4] ลูกสาวอบต, "มีจริงหรือไม่??เอกสารลับ 'ของ' หรือ 'เกี่ยวกับ' ปรีดี พนมยงค์ ตั้งเวลาให้ถูกเปิดในปี 2024," 2563, Postjung, สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2566, https://board.postjung.com/1345192

[5] อิทธิพล โคตะมี, "10 ปริศนาในซองจดหมาย ปรีดี 2024," 10 สิงหาคม 2564, Way, สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2566, https://waymagazine.org/pridi-banomyong-2024/

[6] Way," ในปี 2024 สิ่งที่น่าติดตามนอกจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งถัดไปที่มหานครปารีสแล้ว หนึ่งในนั้นคือ การเปิดเผย ‘จดหมาย’ ของ ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ผู้ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’," Facebook, 10 สิงหาคม 2564, https://www.facebook.com/waymagazine/posts/pfbid027Hovq6vjc62aSeZ6R6p2Cp2QmFXG3B4pEVHFw6S5WkAco4ngTyMnfs4xe5ejkcfLl

[7] Thanapol Eawsakul, "2565. ครบ 90 ปี 2475, 2566   ครบ  50 ปี 14 ตุลา 2516, 2567   ครบกำหนดเผยแพร่เอกสารกรณีสวรรคต ร.8  โดยปรีดี พนมยงค์," Facebook, 1 ตุลาคม 2564, https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/pfbid02TN6z8ZqF2i1oL3pgKbUc9AA11hGxrwgQqhnJhRD3i3x1Fj5mrzXV1W6xVmLwfoHLl

[8] สมาชิกหมายเลข 7358073, "ปี 2024 จดหมายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะเปิดแล้ว," 13 พฤษภาคม 2566, Pantip, สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2566, https://pantip.com/topic/42014680

[9] ผู้เขียนเห็นว่าเรื่อง “ความเชื่อ” เกี่ยวกับ “เอกสารปรีดี 2024” ในตัวเองเป็นประเด็นที่น่าสนใจและบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยได้มาก เรื่องนี้ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความนี้ แต่เป็นประเด็นที่น่าศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

[10] « Archives », Vingtième Siècle. Revue d'histoire, 107 no. 3. 2010 : 157-164. สำหรับประวัติของหอจดหมายเหตุการทูต สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ France Diplomatie ของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เข้าถึงได้ที่  https://www.diplomatie.gouv.fr/fr/archives-diplomatiques/a-propos-des-archives-diplomatiques/cinq-siecles-d-histoire/

[11] Bertrand Gallicher, "Les archives diplomatiques, une mine d’or à la Courneuve," 12 janvier 2020, Radio France, Accessed December 10, 2023. https://www.radiofrance.fr/franceculture/les-archives-diplomatiques-une-mine-d-or-a-la-courneuve-1510584

[12] Maurice Vaïsse, “Les documents diplomatiques français : outil pour la recherche?,” La revue pour l’histoire du CNRS, 14 (2006), Accessed December 10, 2023. http://journals.openedition.org/histoire-cnrs/1836

[13] ดู « De la reconstruction à nos jours » ใน https://www.diplomatie.gouv.fr/fr/archives-diplomatiques/a-propos-des-archives-diplomatiques/cinq-siecles-d-histoire/article/les-origines

[14] ระยะเวลา 25 ปี และ 50 ปี เป็นระยะเวลาที่พบเห็นมากที่สุด แต่ก็มีรายละเอียดที่ซับซ้อน และสามารถมีกรณีเพิ่มเติมคือ 60 ปี และ 100 ปีได้ด้วย เช่น อาจยืดเป็น 100 ปีได้หากเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ เป็นต้น ดู l’article L.213-2 du code du patrimoine ใน https://www.legifrance.gouv.fr/jorf/id/JORFTEXT000019198529 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "Le droit d'accès aux archives publiques" ใน https://francearchives.gouv.fr/fr/article/26287583

[15] ในระยะแรก แบ่งเป็นประเทศ ส่วนช่วง 1918-1940 จะแบ่งเป็นภูมิภาคและเป็นประเทศ ในส่วนหลังนี้สยามจะอยู่ใน Série E-Asie

[16]ในส่วนเอกสารชุดที่ 2-4 เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จัดเรียงเอกสารอย่างเป็นระบบดังนั้นจึงไม่สามารถใช้งานได้ตามขั้นตอนปกติ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เปิดช่องทางให้ขอใช้ได้โดยต้องทำเรื่องชี้แจงตามขั้นตอนที่เรียกว่า Cellule Visas ดู https://www.diplomatie.gouv.fr/fr/archives-diplomatiques/s-orienter-dans-les-fonds-et-collections/etat-general-des-fonds-inventaires-en-ligne/article/fonds-soumis-a-verification-avant-communication-250083

[17] ดู “Article de la loi n° 79-18 du janvier 1979 sur les archives” ใน https://www.legifrance.gouv.fr/loda/id/LEGIARTI000006528358/1979-01-05/#LEGIARTI000006528358

[18] อย่างไรก็ตาม พบว่าเอกสารในแฟ้มนี้บางส่วนก็ซ้ำกับที่อยู่ในแฟ้ม 147QO/100 ซึ่งเป็นแฟ้มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในการเมืองไทย เช่น กษัตริย์ ราชินี ป. พิบูลสงคราม สฤษดิ์ ถนอม รัฐมนตรีต่าง ๆ เช่น ถนัด ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรีดีแม้จะซ้ำบ้างแต่ก็มีเพียงไม่กี่ชิ้น

[19] ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), หน้า 68-69.

[20] ดูบทสัมภาษณ์ของพูนศุข “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182 ปี 2543 เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/poonsuks-interview-in-sarakadee/ แต่ในข้อเขียนของปรีดีเองระบุว่าต้องการจะเดินทางไประหว่างที่รอการลุกฮือเท่านั้น ดู Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, (Paris: Varap, 1972), 87.

[21] บทสัมภาษณ์ นายปรีดีในต่างแดน ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182  ปี 2543 เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-a-displaced/ หลังจากนั้นจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1983 (พ.ศ. 2526) ณ ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปรีดีมิได้กลับไทยอีกเลย อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้กลับไทยหลัง “กบฏวังหลวง” แต่ปรีดียังพยายามชิงอำนาจคืนด้วยกำลังทหารอีกหนึ่งครั้ง คือในเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1951 (พ.ศ. 2494) ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้กองทัพเรือสูญสิ้นอำนาจ ถือเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังครั้งสุดท้ายที่ปรีดีมีบทบาทนำ ในภายหลังปรีดีจะใช้วิธีการทาง “การเมือง” ดังเช่นความพยายามรื้อฟื้นกรณีสวรรคตเพื่อหวังจะได้กลับไทย (ดูเชิงอรรถที่ 26)

[22] Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand, 3rd ed. (Singapore: Cambridge University Press, 2014), 142.

[23] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544), 32.

[24] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรูแมนเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนให้ฝรั่งเศสกลับมาครอบครองอินโดจีน ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของปรีดีและรัฐบาลไทย ปรีดีเคยนำอาวุธของเสรีไทยที่ได้มาจากสหรัฐไปให้พวกเวียดมินห์ปลดแอกจากฝรั่งเศส และปรีดีก็หนุนการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือบางแหล่งเรียกว่า "สมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์") ตามข้อเสนอของเวียดมินห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจในภูมิภาคโดยมีไทยเป็นแกนนำ อีกทั้งกลุ่มปรีดีมองโฮจิมินห์เป็นพวกรักชาติบ้านเมือง สหรัฐอเมริกาจึงมองว่าปรีดีมีนโยบายโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐ ดู ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 59-61.

[25] เช่น กลุ่มสะอิ้ง มารังกูรและอัมพร สุวรรณบล สมาชิกสภาผู้แทนฯ กลุ่มเทพ โชตินุชิต หัวหน้าพรรคเศรษฐกรกับคณะคนไทย จำนวน 10 คน เข้าพบเหมาเจ๋อตง และติดต่อชักชวนปรีดีและผู้ลี้ภัยทางการเมืองเดินทางกลับไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยจะนิรโทษกรรมให้ ดูณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 184.

[26] ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นความลับ ในเดือนเมษายน 1957 คณะกรรมกรไทยในสังกัดของรัฐบาลนำโดยสังข์ พัธโนทัย ผู้ใกล้ชิดจอมพล ป. ได้เดินทางมายังจีน พร้อมกับกรุณา กุศลาศัย แม้ไม่ได้เข้าพบแต่ก็ได้ฝากข้อความไว้ (ศุขปรีดา พนมยงค์บันทึกไว้ว่า “เนื่องด้วยความเหมาะสมหลายประการจากหลายฝ่ายไม่เปิดโอกาส” ดู ศุขปรีดา พนมยงค์, "เจ้านโรดม สีหนุ กับปรีดี พนมยงค์," ปรีดีสาร, (พฤษภาคม 2546) : 5-7.) ในช่วงนั้นจอมพล ป. กล่าวอนุญาตให้ปรีดีเดินทางกลับมาสู้คดีในไทยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ต่อมาช่วงกลางปีปรีดีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์จีน (ต้ากงเผ่า) ยอมรับว่าติดต่อกับบุคคลสำคัญยิ่งในไทยเพื่อการเดินทางกลับมาต่อสู้คดีสวรรคตในไทย ในเดือนกรกฎาคม คณะวัฒนธรรมไทยจำนวน 40 คนได้เดินทางกลับมาจากจีน สุวัฒน์ วรดิลก หัวหน้าคณะแถลงข่าวว่าได้พบกับปรีดีซึ่งมีความต้องการจะกลับไทย (ดู ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 214-220.) ต่อมาในปี 1973 ปรีดีเขียนในหนังสือ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ว่า “จอมพล ป. ได้ข้อเท็จจริงหลายประการที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเหล่านั้น [หมายถึงผู้ต้องหากรณีสวรรคต คือเฉลียว ชิต บุศย์] จึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับข้าพเจ้าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนว่า จะดำเนินการยุติธรรมโดยให้มีการพิจารณาคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่” 

[27] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500,” 22 ตุลาคม 2553, ประชาไท, สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2566, https://prachatai.com/journal/2010/10/31599 ศุขปรีดา พนมยงค์ ระบุว่าคือเดือนสิงหาคม 1957 ราวหนึ่งเดือนก่อนสฤษดิ์จะรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายนปีเดียวกัน ดู สถาบันปรีดี พนมยงค์, "สัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์ (บทสัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์ ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ดำเนินรายการโดย คำนูณ สิทธิสมาน และ ขุนทอง ลอเสรีวานิช)," 13 พฤษภาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2566, https://pridi.or.th/th/content/2020/05/265

[28] ตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 1952 (พ.ศ. 2495) ถึง 13 พฤษภาคม 1957 (พ.ศ. 2500) ดู รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, " 'ใครๆ ก็รักปาล' ชีวิตทางการเมืองของปาล พนมยงค์ ในทศวรรษ 2490," 9 กันยายน 2565, สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม, 2566https://pridi.or.th/th/content/2022/09/1238 และดูเพิ่มเติมในเชิงอรรถที่ 39

[29] สฤษดิ์สนับสนุนหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายโจมตีสหรัฐและจอมพล ป. ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจากหมู่ปัญญาชน ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง38-39และหัวข้อ “การเมืองสองหน้าของจอมพลสฤษดิ์” ใน ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 225-227.

[30] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), 168-174.

[31] ประจักษ์ ก้องกีรติ ใน เรื่องเดียวกัน, 209. ระบุว่าตั้งสปท. ที่คุนหมิงในปี 1962 (พ.ศ. 2505) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด แท้จริงแล้วสปท. ตั้งอยู่ที่ฮานอยก่อนโดยเปิดสถานีในวันที่ 1 มีนาคม 1962 (พ.ศ. 2505) แต่หลังจากสถานการณ์สู้รบรุนแรงขึ้น จนเป็นเหตุให้ย้ายที่ตั้งถึง 4 ครั้ง จึงย้ายไปที่คุนหมิงในปี 1966 (พ.ศ. 2509) และอยู่ที่นั่นจนยุติการกระจายเสียงในวันที่ 11 กรกฎาคม 1979 (พ.ศ. 2522) ดู กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565), 84-93.

[32] อดีตเสรีไทยสายอีสานและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร  ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด ก่อนถูกยิงเป้าในวันที่ 31 พฤษภาคม 1963 เขาได้กล่าวว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ดู กฤษณะ โสภี, " 'ครอง จันดาวงศ์' นักต่อสู้ ปชต. เจ้าของวาทะ 'เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ' ," 31 พฤษภาคม 2566, ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_7479

[33] หลักฐานตำรวจของไทยระบุว่า “สมาคมไทยพลัดถิ่น” มีแผนจะชวนปรีดีตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ดู Alexandre Barthel, “The Thais in Exile: Repression, exile and emergence of the guerilla in the North East of Thailand (1960-1965),” Asian Review, 34 no. 2 (2021) : 56.

[34] การขยายตัวของพคท. สัมพันธ์กับนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ที่มีต่อไทย ในบทความปี 1974 เขียน ธีรวิทย์ ได้แบ่งนโยบายของพคจ. ออกเป็นสามช่วง คือ 1. ระยะเรียกร้องให้ไทยเป็นกลาง (1950-1964) ในช่วงก่อนสหรัฐขยายสงครามในอินโดจีน 2. ระยะสร้างแนวร่วมโค่นล้มรัฐบาล (1964-1969) ในระหว่างสหรัฐทำสงครามในอินโดจีน 3. ระยะหาทางอยู่ร่วมกัน (1969-ปัจจุบัน [ขณะเผยแพร่บทความคือ 1974]) หลังสหรัฐถอนตัวออกจากอินโดจีน ในบทความนี้ระบุด้วยว่าการก่อตั้ง “ขบวนการไทยอิสระ” ของมงคล ณ นคร ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1964 และ “ขบวนการแนวไทยรักชาติ” ของ พ.อ. พโยม จุฬานนท์ (สะกดตามบทความของเขียน ธีระวิทย์ - ผู้เขียน) ในวันที่ 1 มกราคม 1965 ที่กรุงปักกิ่ง เป็นการสนับสนุนของทางการจีน นอกจากนั้นก็มีกลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น สหพันธ์กรรมกรผู้รักชาติ (1 พฤษภาคม 1965) เยาวชนไทยผู้รักชาติ (15 กุมภาพันธ์ 1966) เป็นต้น ดู เขียน ธีระวิทย์, “จีนกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย,” วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 ฉบับที่ 4, (ตุลาคม 2517) : 18-36.

[35] Archives diplomatiques du ministère des Affaires étrangères (MAE), 147QO/155, « Nouvel aspect de l'action communiste en Thaïlande », S. D. E. C. E., Destinataire n° G12, Référence : D 44584/IV, 12 octobre 1965.

[36] มุทิตา เจริญสุข, "แนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2515-2525," (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2562), หน้า 104-108.

[37] ปรีดีกับพูนศุข พนมยงค์ มีบุตร 6 คน คือ 1. ลลิตา พนมยงค์ (1929-2015) พิการทางสมองมาตั้งแต่เล็ก  2. ปาล พนมยงค์ (1931-1981) จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. สุดา พนมยงค์ (1934-) จบปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยปารีส ซอร์บอนน์ 4. ศุขปรีดา พนมยงค์ (1935-2010) จบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น นครกวางโจว 5. ดุษฎี พนมยงค์ (บุญทัศนกุล) (1939-) จบปริญญาโทด้านดนตรีศาสตร์ (ขับร้องและเปียโน) สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง 6. วาณี พนมยงค์ (สายประดิษฐ์) (1941-2018) จบปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีจีน มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ กรุงปักกิ่ง ดู“ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เข้าถึงได้ที่  https://www.pridi-phoonsuk.org/daughters-interview-in-sarakadee/

[38] Chris Baker, Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand, 144.

[39] หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมในปี 1957 (พ.ศ. 2500) ปาลก็ลาบวชกับจอมพล ป. ในวันที่ 24 มิถุนายน จอมพล ป. กล่าวกับปาลว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักกดินาไม่ไหวแล้ว” ดู ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 220.

[40] “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/poonsuks-interview-in-sarakadee/

[41] ดู ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 214. ในส่วนฝรั่งเศสซึ่งส่งตัวแทนเข้าไปเยี่ยมพูนศุขนั้น เอกสารการทูตระบุไว้ว่าปรีดีจะไม่กลับไทยหาก “เงื่อนไข” ยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ ความสัมพันธ์กับรัฐบาลก็ดูจะไม่ดีขึ้นเห็นได้จากการที่ลูกชายของปรีดีก็ยังอยู่ในคุก กระนั้นจากการที่ทางการฝรั่งเศสได้คุยกับพูนศุข ก็ดูเหมือนว่าเธอจะมองโลกในแง่ดีและมีความหวังว่าครอบครัวจะได้กลับไทย MAE, 147QO/100, “Visite à Madame PRIDI”, Note n° 494-AS de Raymond OFFROY, Ambassadeur de France en Thaïlande à Son Excellence Monsieur le Ministre des affaires étrangères, Direction d'Asie-Oceanie, Bangkok le 31 Mai 1957.

[42] “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/daughters-interview-in-sarakadee/

[43] ศุขปรีดา พนมยงค์, "ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513,” ใน หนังสือที่ระลึก วันปรีดี พนมยงค์, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 11 พฤษภาคม 2534), 49.

[44] ดูเชิงอรรถที่ 26

[45] MAE, 147QO/152, « Refugiés Siamois en Chine Populaire », Note n° 272-AM du Lieutenant-Colonel GUILLERMAZ, Attaché Militaire près l'Ambassade de France en Thaïlande, à l'Etat-Major des Forces Armées, 2ème division, Bangkok le 18 avril 1956.

[46] สหายสุ, “บทที่ 2 อันเสียงที่มีพลังดังจากไหน,” ใน กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565), 56-57. คนที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนสนิทของกุหลาบ คือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในบทสัมภาษณ์ “สหายลิน คนไทยในจีนคนแรกที่ถูกคัดเลือกให้มาทำงานประจำสปท.” สหายลินระบุว่าในปี 1962 ทำงานอยู่กระทรวงวิเทศสัมพันธ์ ที่ปักกิ่ง ได้รับคำสั่งจากสหายเซี่ยกวง ผู้ประสานงานจากพคจ. ให้เดินทางไปฮานอยพร้อมนิตย์ พงษ์ดาบเพชร และสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ส่วน “คุณลุง” และ “คุณป้า” (หมายถึงกุหลาบและชนิด สายประดิษฐ์) มาทีหลัง “ไม่ได้รับผิดชอบดูแลข้อเขียนทั้งหมด ทำเพียงงานเขียนและตรวจแก้ให้บ้าง” ดู กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 333-334, 337. จากหลักฐานเท่าที่มีตอนนี้ อาจจะตีความได้ว่ากุหลาบและชนิด น่าจะเดินทางมาที่สปท. พร้อมกันราวกลางปี 1962 หลังจากสปท. เปิดกระจายเสียงแล้วในวันที่ 1 มีนาคมของปีเดียวกัน ชนิดเดินทางออกจากไทยไปจีนในวันที่ 6 พฤษภาคม 1962 หลังจากงานแต่งงานของสุรภิน สายประดิษฐ์ (ลูกสาว) หลังจากนั้นไม่นานน่าจะเดินทางไปฮานอยพร้อมกับกุหลาบ เป็นไปได้ว่ากุหลาบจะให้สุชาติซึ่งเป็นคนสนิทเดินทางไปก่อนระหว่างที่ตนรอเดินทางไปพร้อมกับภรรยา ดู สุรพันธ์ สายประดิษฐ์, “แม่ทำอะไรบ้างหนอ? รำลึกถึงแม่ที่รักยิ่ง,” ใน ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น จากศรีบูรพาถึงสุรพันธ์ สายประดิษฐ์, 54.

[47] เรื่องบทบาทของกุหลาบใน สปท. ดูจะเป็นเรื่องที่กุหลาบและครอบครัวพยายามจะปิดลับ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้กันพอสมควรในแวดวงผู้ที่สนใจการเมือง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “นักเดินทางไทยที่กลับจากจีนไร้ข่าวคราวของนายกุหลาบ กิจกรรมอย่างเดียวของเขาที่เห็นได้นับจากปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาก็คือ บทวิทยุที่กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” ดู ชามา (สุธาทิพย์ โมราลาย), "รำลึกความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีนจากมิตรร่วมหลังคาเรือน “ศรีบูรพา” : สุชาติ ภูมิบริรักษ์," 1 มกราคม 2548, กองทุนศรีบูรพา, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2566, https://www.sriburapha.net/2021/03/28/ช่วงชีวิตในจีนของ-ศรีบ/

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับระยะเวลาที่กุหลาบอยู่ที่สปท. สหายสุ ระบุว่า “คุณลุงคุณป้าได้ใช้ชีวิตร่วมกับสหายสปท.ประมาณ 4-5 ปี เมื่อสปท. ย้ายมาเปิดสถานีในจีนที่เมืองคุนหมิงได้ไม่นาน ท่านทั้งสองก็ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง และพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)” ดู กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 57. อย่างไรก็ตาม สหายขวัญระบุว่า “ปี 2515 คุณลุงยังอยู่ ยังเขียนข่าวเขียนอะไรอยู่ที่ห้องสหายเซินน่ะ คุณลุง คุณป้ากับลูกชาย” ดู เรื่องเดียวกัน, 369.

[48] ดู ชามา (สุธาทิพย์ โมราลาย), "รำลึกความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีนจากมิตรร่วมหลังคาเรือน “ศรีบูรพา” : สุชาติ ภูมิบริรักษ์," 1 มกราคม 2548, กองทุนศรีบูรพา, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2566, https://www.sriburapha.net/2021/03/28/ช่วงชีวิตในจีนของ-ศรีบ/ 

“ ‘ลู่เผยจง นักแปลและนักเขียนชาวจีนเจ้าของผลงานแปลทั้งจากภาษาไทยเป็นจีนและจากจีนเป็นไทยหลายเรื่อง ระบุว่า ตอนนั้นผมจำได้ว่า ในจีนมีคนไทยคนหนึ่งที่ชื่อว่า อาจารย์ หมายความว่าใครๆ ก็เรียกกันว่า อาจารย์ แต่ไม่เปิดเผยชื่อ คอยทำหน้าที่ตรวจทานงานแปลของพวกเราอยู่เบื้องหลัง และเล่ากันว่า หากผ่านการตรวจสอบของ อาจารย์ แล้ว ก็หมายความว่า ใครจะแตะต้องอีกไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผลงานนั้นผ่านแล้วเรียบร้อย ต่อมาภายหลังผมจึงทราบว่า อาจารย์ที่ถูกกล่าวก็คือ ศรีบูรพา นั่นเองนอกจากนั้นก็ยังมีคนไทยบางคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังในสำนักงานองค์การการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนในเวลานั้น แต่ก็ปิดเป็นความลับเหมือนกัน เพราะบางคนเมื่อเปิดเผยออกมาแล้ว ปรากฏว่าเป็น คอมมิวนิสต์ แต่เท่าที่ผมทราบ ศรีบูรพาไม่ใช่คอมมิวนิสต์

หนึ่งในผลงานการ ตรวจสอบ ดังกล่าวนั้นยังรวมถึงผลงานสรรนิพนธ์อันลือลั่นทรงพลังของอดีตผู้นำจีนเหมาเจ๋อตงอีกด้วย เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากหัวหน้าคณะปฏิคมฝ่ายจีนคนสำคัญที่ให้การต้อนรับคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนำโดย ศรีบูรพา คือ นาย อู๋ตง นั่นเอง ศรีบูรพาบางครั้งก็ไปช่วยทำหนังสือ สรรนิพนธ์ ของเหมาเจ๋อตง เป็นคนตรวจแก้ภาษานะ ทำหนักมากในตอนนั้น แต่ตอนนั้นยังแข็งแรง ทำอย่างจริงจัง

สำหรับเรื่องนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ กล่าวเสริมว่าหนังสือ สรรนิพนธ์ ของประธานเหมาเจ๋อตงนั้น การตรวจแก้ผ่านมาหลายคนแล้ว กว่าจะมาถึงมือของอาจารย์ (หมายถึง ศรีบูรพา) ท่านแก้เฉพาะคำที่มีปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่ตรวจแก้ทั้งหมด

[49] กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ, “กำเนิดและการก่อตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยในฐานะเวทีสถาปนาความเป็นไทยทวนกระแสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2504-2508," รัฐศาสตร์สาร, 44 ฉบับที่ 3 (2566) : 1-66.

[50] ดูความสัมพันธ์ระหว่างเสรีไทยกับพคท. ใน Somsak Jeamteerasakul, "The communist movement in Thailand", (PhD diss, School of Social Sciences, Monash University, 1993), p. 156-161.

[51] งานของ “กลุ่มเพื่อนสปท.” ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อมูลกับผู้ปฏิบัติงาน สปท. รุ่นแรก ๆ ไม่ปรากฏข้อมูลว่าอาจารย์ปรีดี หรือคนในคณะของอาจารย์ปรีดี มีส่วนร่วมในการเปิด สปท. แต่อย่างใด...แนวคิดการเปิด สปท. กำเนิดเป็นรูปชัดเจนในช่วงปี 2503-2504 โดยคุณประเสริฐ เอี้ยวฉาย (สหายเอิบ) ได้ไปเจรจาขอเปิดสถานีวิทยา สปท. กับสหายเวียดนาม...หลังจากได้รับการสนับสนุนจากพรรคเวียดแล้ว จึงได้นำเสนอเข้าที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ของ พคท. ในเดือนกันยายน 2504...การเปิดสปท. จึงเป็นการร่วมมือกันอย่างแข็งขันของพรรคคอมมิวนิสต์พี่น้อง ทั้งพรรคจีน, พรรคเวียด และพรรคคอมมิวนิสต์ลาว...หนุนช่วยพรรคไทยอย่างแข็งขันดู กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 7, 11, 14.

[52] สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บันทึกว่า “ระหว่างอยู่ในจีน ป๋า [กุหลาบ] กับแม่ [ชนิด] ได้เยี่ยมคารวะและสนทนากับท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทั้งที่กวางตุ้งและปักกิ่ง” ดูสุรพันธ์ สายประดิษฐ์, “แม่ทำอะไรบ้างหนอ? รำลึกถึงแม่ที่รักยิ่ง,” ใน ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น จากศรีบูรพาถึงสุรพันธ์ สายประดิษฐ์, (ที่ระลึกงานปลงศพนายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ วันที่ 3 สิงหาคม 2554 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส),  56-57.

[53] เช่นเดียวกับปรีดี มีช่องโหว่ทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ใหญ่ในช่วงเวลาที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ อยู่ที่จีนในช่วง 1958-1974 อย่างไรก็ตาม ในเร็ว ๆ นี้น่าจะมีการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ เรื่อง "กุหลาบแดงบนบนผืนแผ่นดินจีน: โครงการสร้างความเป็นไทยที่ปฏิวัติของกุหลาบ สายประดิษฐ์ พ.ศ. 2501-2517" ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์นี้ใช้เอกสารส่วนบุคคลของกุหลาบ ดังนั้นน่าจะมีข้อมูลที่น่าสนใจและช่วยเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ในช่วงนั้นได้พอสมควร

[54] E.M. Manac’h เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ประเมิน และตัดสินใจในเรื่องการลี้ภัยของปรีดี ต่อมาในช่วงปี 1969-1975 จะมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงปักกิ่ง ประวัติของ Manac’h เองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสระหว่างปี 1934-1939 ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 1959-1969 เขาเป็นสมาชิกขององค์กร Section française de l'Internationale ouvrière (SFIO) ซึ่งจะกลายเป็นพรรคสังคมนิยมของฝรั่งเศสในปัจจุบัน ในช่วงสงครามเย็นเขามีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก กระทั่งมีการเปิดเผยในภายหลังว่าระหว่างปี 1942-1971 เขาติดต่อและส่งข้อมูลให้กับหน่วยสืบราชการลับของสหภาพโซเวียต (KGB) โดยข้อมูลเหล่านั้น KGB ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญ ดู Christopher Andrew and Vassili Mitrokhine, The Sword and the Shield: The Mitrokhin Archive and the Secret History of the KGB, (New York, Basic Books, 2001) : p. 152.

[55] “คือตอนที่ผมไปประเทศจีน คือตั้งแต่รัฐประหารผมอายุ 12 พอ 8 ปีให้หลังผมไปพบท่านอายุ 20 เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกไม่ค่อยมีนะครับ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะผู้ร่วมงาน หรือร่วมความคิด มีแนวความคิดที่มองไปในทิศทางเดียวกันทำนองนั้น” (ดูสถาบันปรีดี พนมยงค์, "สัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์ (บทสัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์ ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ดำเนินรายการโดย คำนูณ สิทธิสมาน และ ขุนทอง ลอเสรีวานิช)," 13 พฤษภาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2566https://pridi.or.th/th/content/2020/05/265

[56] MAE, 147QO/158, « Lettre de M. Clarac à M. Manac'h », Bangkok le 12 octobre 1965.

[57] ประเด็นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมปรีดีถึงไม่ดำเนินการขอลี้ภัยไปฝรั่งเศสตั้งแต่ไม่กี่ปีแรกที่อยู่ที่จีน ปรีดีกลัวเรื่องการส่งตัวกลับถึงเพียงนั้น? เหตุผลที่พอจะอนุมานได้ น่าจะเพราะก่อนหน้านี้ปรีดีมีแนวทางการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับการอยู่ที่จีนมากกว่า (ดูบทสรุป)

[58] ฝรั่งเศสถอนตัวจาก SEATO เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือในหมู่ทางการไทยว่าฝรั่งเศสกำลังร่วมมือกับจีนเพื่อกลับมามีอิทธิพลในอินโดจีนอีกครั้ง

[59] MAE, 147QO/158, E.M. Manac'h à Monsieur Achille CLARAC, Ambassadeur de France en Thaïlande, Bangkok, Paris le 3 novembre 1965.

[60] Ibid., "Pridi Panomyong," Fiche du Secteur III/C à l'attention de Monsieur le Conseiller Diplomatique, Référence III/C/N 32.039, le 9 novembre 1965.

[61] ดูเชิงอรรถที่ 34

[62] ข้อเขียนของปรีดีระบุว่า "นายกีโยม จอร์จ-ปิโกต์ (M. Guillaume GEORGES-PICOT) เป็นเพื่อนเก่าที่ข้าพเจ้ารู้จักตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นเลขานุการและต่อมาเป็นอุปทูตฝรั่งเศส นายจอร์จ-ปิโกต์ เป็นผู้แทนของประเทศฝรั่งเศสในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ในครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การเจรจาประสบผล และได้มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพระหว่าง 2 ฝ่ายตามหลักการที่เสมอภาค และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอภิสิทธิ์อื่น ๆ ทุกประการ" ดูเชิงอรรถ ใน Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 20.

[63] ข้อเขียนของปรีดีระบุว่า “จวบจนกระทั่งปีพ.ศ. 2508 เพื่อนเก่าของข้าพเจ้าคนหนึ่งคือท่านเอกอัครรัฐทูต กีโยม จอร์จ-ปิโกต์ ได้แวะมาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายพลเดอโกล มิได้มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้าเลย” (Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 20.) มีความเป็นไปได้ว่าข้อความนี้หมายถึงการพบกัน “ไม่กี่เดือนก่อน” ข้างต้นนี้ (นับจาก 10 พฤศจิกายน) มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันที่กีโยม จอร์จ-ปิโกต์จะหารือกับปรีดีอย่างไม่เป็นทางการเรื่องการมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ปรีดีเริ่มหาช่องทางประสานกับสถานเอกอัครราชทูตทูตฝรั่งเศสผ่านทางศุขปรีดาในเดือนตุลาคม

[64] น่าจะหมายถึงวันที่ 10 มีนาคม 1934 (พ.ศ. 2477) เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าปรีดีไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา

[65] ดุษฎี พนมยงค์ น่าจะเป็นผู้เผยแพร่ข้อความบางส่วนเป็นครั้งแรก ใน ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), 122. โดยระบุว่า “ถอดความจากบทสนทนาระหว่างประธานเหมาเจ๋อตุงกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ต่อมามีการเผยแพร่ข้อความฉบับเต็มในกษิดิศ อันทนาธร, "จดหมายจากผู้นำประเทศจีน," จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, ฉบับที่ 24 (มิถุนายน 2563-พฤษภาคม 2564) : 108-109.

[66] หมายถึง ลลิตา พนมยงค์

[67] MAE, 147QO/158, "PRIDI PHANOMYONG, ancien Régent de Thaïlande," Note de Monsieur GEORGES-PICOT, Paris, le 7 Décembre 1965.

[68] Ibid., "M. Pridi Panomyong," N° 172 /AS, Le ministre des affaires étrangères à Monsieur l'ambassadeur de France à Pékin, 20 décembre 1965.

[69] เมื่อเดินทางไปถึงกวางโจวช่วงมิถุนายน 1956 ครอบครัวปรีดีพักอยู่ที่บ้านรับรองผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศบริเวณตะวันออกของเมือง หลังจากนั้นราวปลายปี 1957 ครอบครัวปรีดีก็ย้ายเข้าอยู่บ้านพักที่เป็นอดีตสถานกงสุลฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ราวปี 1960 ครอบครัวปรีดีก็ย้ายบ้านอีกครั้ง (เป็นครั้งสุดท้ายจนกระทั่งไปฝรั่งเศส) คือย้ายไปอยู่ในกลุ่มอาคารที่ตั้งอดีตสถานกงสุลอังกฤษ ความจริงแล้วเมื่อ Menguy เดินทางไปที่เกาะซาเมี่ยนในเดือนกุมภาพันธ์ 1966 บ้านของปรีดีก็อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่ Menguy ตามหา คือบริเวณกงสุลฝรั่งเศสและหน่วยวิเทศสัมพันธ์ ดู ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, 67-71. 

[70] MAE, 147QO/158, M. Menguy, “Compte rendu,” Pékin, le 26 février 1966. ในเอกสารนี้ Menguy ระบุว่า Georges-Picot ได้พบปรีดีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งน่าจะคลาดเคลื่อน เพราะในบันทึกของ Georges-Picot เองระบุว่าพบกับปรีดีในวันที่ 7 ธันวาคม

[71] Ibid., “M. PRIDI BANOMYONG”, N° 311, Lucien PAYE, Ambassadeur de France en Chine à Son Excellence M. COUVE DE MURVILLE, Ministre des affaires étrangères, Direction d'Asie-Océanie, Pékin le 26 février 1966.

[72] วาณี พนมยงค์ เมื่อย้ายไปกวางโจวใหม่ ๆ ในปี 1956 บันทึกไว้ว่าที่นี่ สถานภาพของฉันไม่ใช่ชาวต่างประเทศ แต่เป็นสถานภาพกึ่งบุตรธิดาของก้านปู้ (ผู้ปฏิบัติงาน) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทางการจีนระแวงจารชนต่างประเทศจะรู้ระแคะระคายความเป็นมาของพ่อฉัน ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรอันที่จริงก็ไม่น่าจะปกปิดเป็นความลับ เพราะพ่อของฉันมิได้มีการเคลื่อนไหว ทางการเมืองใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศจีนหรือประเทศไทยดู วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, "ตอนที่ 5 วันวานในโลกกว้าง," ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 16 สิงหาคม 2562), 291.

[73] MAE, 147QO/158, Lettre d’E.M. Manac’h à Achille Clarac, Paris le 29 mars 1966.

[74] Ibid., “M. Pridi Panomyong”, N° 65/AS, Le ministre des affaires étrangères à Monsieur l'ambassadeur de France à Pékin, 11 mars 1966.

[75] Ibid., Télégramme N° 2968-71 de Lucien Paye au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 10 septembre 1966, Reçu le 12 septembre 1966.

[76] Ibid., Télégramme N° 3043 de Lucien Paye au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 17 septembre 1966.

[77] ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในลาว ปี 1968-1972

[78] MAE, 147QO/158, Télégramme N° 599-601 de ROSS au Ministère des affaires étrangères, Bangkok le 27 septembre 1966.

[79] เรื่องขั้นตอนยุ่งยากนี้น่าจะเป็นความจริง เข้าใจว่าจีนไม่น่าจะมีนโยบายการออกหนังสือเดินทางเช่นนี้ เห็นได้จากการที่ปรีดีต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะขอหนังสือเดินทางได้สำเร็จ ข้อเขียนของปรีดีระบุว่าเขาได้รับเอกสารเดินทางหลังจากขอเรื่องนี้โดยตรงเมื่อได้พบกับโจวเอินไหลในปี 1969 หลังจากนั้นปรีดีจึงได้ออกจากจีนในปีถัดมา ดู Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 21.

[80] MAE, 147QO/158, Télégramme N° 3267-70 de Lucien Paye au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 7 octobre 1966.

[81] Ibid., Télégramme N° 3870 de Pierre Cerles au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 30 novembre 1966.

[82] Ibid., Lettre de G. Georges-Picot à M. Manac’h.

[83] Ibid., “Affaire Pridi Banomyong,” Note de la Direction d’Asie-Océanie, 3 février 1967.

[84] Ibid., "Activités de la famille PRIDIT PHANOMYONG en France," Fiche N° 849 I/P de Direction de la Recherche à l'attention de M. Le Conseiller Diplomatique, le 21 mars 1967.

[85] Ibid., Télégramme N° 3338 de Lucien Paye au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 29 novembre 1965.

[86] Ibid., Télégramme N° 844 de E.M. Manac’h à Achille Clarac, Paris le 7 décembre 1965.

[87] Ibid., Lettre d’Achille Clarac à E.M. Manac’h, Bangkok le 19 mars 1966.

[88] พูนศุขเคยให้สัมภาษณ์ว่า ฉันต้องขายบ้านขายที่ดิน คนเขาถามขายทำไม ไม่ขายแล้วจะเอาอะไรกิน มีอะไรก็ขายหมด แล้วฉันก็มีรายได้จากค่าเช่าบ้าน แล้วก็ขายบ้าน...นาดฉันจะขายที่ดิน คนจะซื้อพอรู้ว่าเป็นชื่อของนายปรีดีก็กลัวแล้ว ที่ดินของนายปรีดีที่ทุ่งมหาเมฆ ซื้อไว้ถูก ๆ ไร่ละ 3.50 บาท ตั้งแต่เป็นทุ่งนา คนซื้อบอกว่าต้องไปถามรัฐบาลก่อน แล้วรัฐบาลมาเกี่ยวอะไรด้วย จะขายของตัวเองยังยาก ต้องไปถามรัฐบาล...ให้พรรคพวกช่วยกันซื้อ เพื่อว่าให้เราได้มีกินมีใช้ ถ้าฉันไม่ขายจะเอาเงินที่ไหน บำนาญก็ไม่ได้ บ้านที่สีลมและสาทรก็ต้องขาย เพราะเราไม่ได้ค้าขาย ดู บทสัมภาษณ์ของพูนศุข “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182 ปี 2543 เข้าถึงได้ที่ https://www.pridi-phoonsuk.org/poonsuks-interview-in-sarakadee/

[89] MAE, 147QO/158, Télégramme N° 51/53 d’Achille Clarac au Ministère des affaires étrangères, Bangkok le 18 janvier 1967.

[90] Ibid., Télégramme N° 128, Bangkok le 8 mars 1967.

[91] Ibid., Télégramme N° 1224-25 de Lucien Paye au Ministère des affaires étrangères, Pékin le 5 avril 1967.

[92] Ibid., Télégramme N° 1256, le 10 avril 1967.

[93] พูนศุข พนมยงค์, ไม่ขอรับเกียรติใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : สายส่งสุขภาพใจ, 2551), 369.

[94] มีนักชาตินิยมสำคัญในเอเชียคนใดบ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองกำลังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง? แม้แต่คานธีซึ่งขึ้นชื่อว่าต่อสู้ด้วยแนวทางอหิงสา ก็ยังเคยสนับสนุนการส่งทหารอินเดียไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อหวังจะแลกกับความเป็นอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น (ที่เรียกว่า Home Rule) ความสำเร็จและล้มเหลวทางการเมืองของปรีดีเองที่ผ่านมาก็อาจจะเรียกได้ว่าสัมพันธ์กับเรื่องกองกำลังตลอด เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ถ้าไม่มีกองทัพ น่าจะไม่มีทางสำเร็จ), เสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, หรือ “กบฏ” ในระยะหลังอีกหลายครั้ง อย่างกบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง (ปรีดีเข้ามามีส่วนร่วมเอง) และกบฏแมนฮัตตัน

[95] Anusorn Chinvanno, Thailand’s Policies towards China, 1949-54, (London: Palgrave Macmillan, 1992), 104. อนุสนธิ์อ้างอิงการสัมภาษณ์ร.ต.ต. สุจิตร สุพรรณวัฒน์ เลขานุการของปรีดีในช่วง 1949-1955 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1986 ในตอนที่กล่าวถึงการขอความช่วยเหลือด้านกำลังอาวุธนั้น ผู้เขียนระบุว่า โจวเอินไหลกล่าวกับสุจิตรในการพูดคุยส่วนตัวเมื่อปลายทศวรรษ 1950 ว่า รัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการทำรัฐประหารโดยกลุ่มของปรีดี ทำให้ปรีดีโกรธมาก” ("Chou En-lai told Sujit in a private conversation some time in the late 1950s that the Chinese government did not like the idea of a coup d’état by Pridi, which caused Pridi to become very angry.”) อนุสนธิ์ตีความว่าสาเหตุที่จีนต้องกักตัวปรีดีก็เพราะไม่อยากจะให้ปรีดีทำอะไรที่ขัดกับผลประโยชน์จีน

[96] ดูไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), 707-807. ไสว สุทธิพิทักษ์ระบุว่าเรื่องปรีดีในจีนที่อ้างถึงนี้ ได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากเฉียบ อัมพุนันท์ เมื่อเจ้าตัวเดินทางกลับมาถึงไทยแล้วในมีนาคม 2501 โดยรวมแล้วเราอาจจะสรุปแกนกลางของความขัดแย้งในมุมมองของเฉียบว่าคือ การที่จีนพยายามแทรกแซงการเมืองภายในของไทย โดยจะแลกกับการมอบอาวุธให้ปรีดี แต่ปรีดีไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้ปรีดีกลายเป็น “นักโทษ” การแทรกแซงที่ว่า มีประเด็นเรื่องสิทธิของคนจีนในไทย เช่น ให้สิทธิเป็นชนชาติส่วนน้อย ห้ามบังคับเรียนหนังสือไทย ให้ทำป้ายบอกทางเป็นภาษาจีนคู่กับไทย เป็นต้น และมีประเด็นเรื่องการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของไทย ซึ่งปรีดีกล่าวหาว่า “เป็นการแทรกแซงการเมืองระหว่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูทั้งสองประเด็นนี้แล้ว ก็มีความน่าสงสัยอยู่ บางข้อไม่น่าจะเป็นไปได้หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะใช่แกนกลางของความขัดแย้งระหว่างปรีดีกับพคจ. ประการแรก นโยบายเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลในลักษณะที่ตัวแทนเจรจาจีนเรียกร้องกับปรีดีจากข้อเขียนของเฉียบนั้นไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง ดูแล้วไม่มีที่ไหนที่จีนบังคับใช้มาตรการเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นที่จีนแสวงหาพันธมิตรในการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ นโยบายทางการของจีนชี้ไปในทางตรงกันข้าม เช่น ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ให้บุตรธิดามีสัญชาติตามสัญชาติของพ่อแม่ จูงใจให้ชาวจีนโพ้นทะเลปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตนพำนักอยู่ เรียนรู้ภาษาท้องถิ่น และสมรสกับคนท้องถิ่น (ดู เชาวน์ พงษ์พิชิต, โจวเอินไหล รัฐบุรุษจีน, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558), 122.) ประการที่สอง เป็นไปได้น้อยที่ปรีดีจะนำเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพคจ. กับ พคท. มาเป็นประเด็น เพราะอันที่จริงแล้วปรีดีก็ยึดแนวทางขออาวุธจากต่างชาติมาปลดปล่อยประเทศไทยเหมือนกันตั้งแต่กรณีเสรีไทย (ซึ่งส่งต่อไปให้ประเทศอื่นด้วยคือเวียดนาม) จนถึงที่กำลังขออยู่ในขณะนั้นคือขอจากจีน ดังนั้นหากปรีดีวิจารณ์จีนไปในแนวทางนี้ก็ดูจะเป็นการเข้าตัวเอง

โดยสรุป รากฐานความขัดแย้งระหว่างพคจ. กับจีน ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เฉียบ อัมพุนันท์กล่าวมาทั้งหมดซึ่งแวดล้อมเรื่อง “ชาตินิยมจีน” (คำของปรีดี) ที่พยายามแทรกแซงไทย แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ปรีดีรู้สึกว่ากำลังสูญเสียการนำและกำลังถูกแย่ง “มวลชน” ซึ่งปรีดีถือว่าเป็นของตนเองมากกว่า

[97] Somsak Jeamteerasakul, "The communist movement in Thailand", p. 40-41.

[98] เช่น ข้อเขียนของสหายเมยซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ทำงานที่สปท. ระบุว่าในช่วงที่สปท. ยังอยู่ที่เวียดนามนั้น (1962-1966) พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีแค่สถานีวิทยุแต่มีโรงเรียนการเมืองการทหารด้วย กลุ่มที่มาทำงานกลุ่มแรกคือกลุ่มที่เรียนหนังสือจากจีนแล้วได้รับคำสั่งให้ย้ายเข้ามา ในส่วนที่เป็นกองทัพ “มีส่วนหนึ่งเข้ามาสมัยอาจารย์ปรีดี...พวกเขาก็เหมือนกับพวกเราที่ถูกย้ายมาอย่างนี้ เท่าที่รู้คือทางพรรคฯจีนเป็นคนจัดการ เพราะว่าตอนนั้นอาจารย์ปรีดีกับพรรคเราร่วมมือกัน ที่ถูกคัดเข้ากองทัพส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเป็นของฝ่ายอาจารย์ปรีดี ผ่านโรงเรียนการเมืองการทหารในจีน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นของพรรคเรา แต่พอไปแนวหน้าก็กลมกลืนกันไป” ดู สหายเมย, “สหายเมย ประจำงานธุรการ: นักเรียนไทยในจีนคนแรกที่เข้าทำงาน สปท.,” ใน กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 317-318.

จากข้อความนี้เราอาจตีความได้ปรีดีถูก “แย่งชิงมวลชน” เพราะสุดท้ายแล้ว “ความร่วมมือ” ในลักษณะเช่นนี้ ที่ “คนของปรีดี” นั้นถูก “พรรคฯจีนเป็นคนจัดการ” ให้ต้องไป “ผ่านโรงเรียนการเมืองการทหารในจีน” และที่สำคัญสุดท้ายก็ “กลมกลืนกันไป” (กับคนของพคจ.) ปรีดีจะเหลืออำนาจอะไรในการควบคุมคนของตนเอง? ดังนั้นแล้วในช่วงเวลานั้น มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ “คนของปรีดี” จะหมายถึงคนที่มีประวัติเคยร่วมกับปรีดี กระทั่งบางคนอาจจะผูกพันนับถือปรีดีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าปรีดีมีอำนาจควบคุมอะไรพวกเขา อุดมการณ์ของพวกเขากับของปรีดีอาจจะเป็นคนละชุดกันแล้ว เป็นช่วงเวลานี้เองที่ปรีดีเริ่มแยกทางกับพคจ. และแสวงหาหนทางไปลี้ภัยที่ฝรั่งเศส

[99] “สำหรับแผนการของปรีดี พนมยงค์ในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนั้น เขาคาดหวังความช่วยเหลือจากสหรัฐฯพันธมิตรเก่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปรากฎว่า สหรัฐฯไม่รับการตอบรับความคาดหวังของเขา โดยในเดือนธันวาคม 2490 ปรีดีประสานให้อรรถกิตติ์ พนมยงค์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นน้องชายของปรีดีขณะนั้นอยู่ในต่างประเทศเข้าพบวิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) อดีตหัวหน้าโอเอสเอสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อขอให้สหรัฐฯสนับสนุนอาวุธให้ปรีดีกลับสู่อำนาจอีกครั้ง ปรีดีมีแผนตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นทางตอนเหนือของไทย แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯตัดสินใจไม่สนับสนุนปรีดีให้กลับสู่อำนาจอีกตามคำขอ สหรัฐฯได้แต่แสดงความเสียใจกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นและมีความต้องการส่งเสริมให้ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป” ดู ดูณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500),” หน้า 68-69. 

[100] ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, 87.

[101] กลุ่มเพื่อนสปท., ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย, 59-60.

[102] เรื่องเดียวกัน, 67.

[103] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลตีความว่าพรรคศรีอารยเมตไตรยตั้งขึ้นเพื่อให้เป็น “พรรคคอมมิวนิสต์ใหม่” และแข่งขันกับ พคท. อย่างไรก็ตาม การตีความนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อเสนอของบทความนี้ในประเด็นที่ว่า ปรีดีพยายามแยกตัวออกมาจากพคท. และแสวงหาแนวทางทาง “การเมือง” ที่ไม่ใช่การใช้กองกำลัง ดู Somsak Jeamteerasakul, "The communist movement in Thailand", p. 40.

[104] Tim Harper, Underground Asia: Global Revolutionaries and the Assault on Empire, (UK: Penguin Random House, 2020), 3-20.

[105] หลังการประชุมที่บันดุง ในปี 1956 รัฐบาลจีนให้ตั้งทีมงานผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ มลายู อินโดนีเซีย ทางด้านปฏิบัติคือ “จากภาคประชาชนไปสู่ภาครัฐบาล” เพื่อบรรลุความสัมพันธ์ทางการทูตในที่สุด ต่อมาในปี 1957 ได้ขยายเป็นสำนักนายกฯ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ คนที่รับผิดชอบงานด้านประเทศไทยคนแรกชื่อนายหยุนชางหนง นอกจากเชื่อมความสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นมิตรกับจีนแล้วยังดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศจีนด้วย ดู ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, 106-107.

[106] Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 112 ใช้คำว่า l'Organisation du Front uni ในภาษาไทยแปลว่า “องค์การแนวร่วม”

[107] ดู "งานเขียนของปรีดี (บรรณานุกรม)," สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2566, https://pridi.or.th/th/libraries/writing หากเทียบปริมาณงานเขียนที่ได้รับการเผยแพร่ของปรีดีในขณะที่อยู่ในจีน 21 ปี (1949-1970) กับงานเขียนในช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส 13 ปี (1970-1983) เราจะพบข้อแตกต่างที่น่าทึ่ง กล่าวคือ หากนับเฉพาะที่รวบรวมโดยสถาบัน ปรีดีพนมยงค์นั้น ในช่วงที่อยู่ที่จีนมีผลงานเพียง 3 ชิ้น ในขณะที่เมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศส งานเขียน จดหมาย บทสัมภาษณ์ ก็ได้รับการเผยแพร่ในปริมาณมาก เพียงแค่ในปีแรกที่มาถึง ก็มีข้อเขียนของปรีดีเผยแพร่ 3 ชิ้น (เท่ากับที่อยู่ในจีน 21 ปี!) หากรวมทั้งหมดตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศสจนถึงเสียชีวิตเป็นเวลา 13 ปี ปรีดีเผยแพร่งานในช่วงนี้ถึง 81 ชิ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบาย ถ้าหากปรีดีไม่ได้เป็น “นักโทษ” ของรัฐบาลจีน (ดูการปฏิเสธเรื่องนี้ของปรีดี ใน Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 20.) เพราะเหตุใดปรีดีผู้ซึ่งเป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎรและมีความสามารถในการเขียนงานจำนวนมากดังที่แสดงให้เห็นแล้วเมื่อไปอยู่ที่ฝรั่งเศส จึงไม่เขียนและเผยแพร่ผลงานขณะอยู่ที่จีน (อีกคนที่เราอาจจะเปรียบเทียบได้ คือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งปริมาณงานเขียนที่เผยแพร่ก่อนลี้ภัย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับช่วงที่ไปจีนจนกระทั่งเสียชีวิต ในช่วงหลังนั้นแทบไม่มีผลงานเลย แม้สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้ใกล้ชิดจะเคยแจ้งว่า "ศรีบูรพาเขียนหนังสือตลอดเวลาที่อยู่ในจีน" ก็ตาม)

[108] Dominique Bari, « 1964 : Quand la France reconnaissait la Chine populaire », Recherches Internationales, no. 99 (avril-juin 2014) : 139-153.

[109] ดูเชิงอรรถที่ 91 และ 92

[110] ศุขปรีดาระบุว่าคณะที่เดินทางไปในปี 1961 มีทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, นายอัมพร สุวรรณบล (ส.ส.ร้อยเอ็ด), นายสอิ้ง มารังกุล (ส.ส.บุรีรัมย์), นายศุขปรีดา พนมยงค์, นายหลินอิ๊งกวง (ชาวจีนเชื้อสายไทย ล่ามและเลขาส่วนตัว) ดู ศุขปรีดา พนมยงค์, "ประธานโฮจิมินห์-รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์," ปรีดีสาร, (พฤษภาคม 2545) : 4-12.

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี (รวมถึงศุขปรีดา) และเวียดนาม เป็นประเด็นที่สมควรมีการศึกษาต่อ เราทราบว่าความสัมพันธ์นั้นดีเพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสรีไทยซึ่งนำโดยปรีดีได้มอบอาวุธของสัมพันธมิตรให้กับโฮจิมินห์ ขณะนั้นโฮจิมินห์ตอบจดหมายกลับว่า “กระผมขอขอบคุณอย่างสูงในการที่ ฯพณฯ ท่านได้สนับสนุนส่งมอบอาวุธให้กองกำลังกู้ชาติ อาวุธเหล่านี้สามารถประกอบให้กับทหารได้สองกองพัน กระผมจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้ ขออนุญาตจากท่านเพื่อเป็นเกียรติ โดยให้นามว่า ‘กองทัพแห่งสยาม’” (ดู ศุขปรีดา พนมยงค์, "ไทยสมัยสงครามกู้ชาติเวียดนาม," ใน โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), 119 – 135.) อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีความสัมพันธ์กันในลักษณะใด โดยเฉพาะหลังจากปรีดีลี้ภัย? ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะความสัมพันธ์กับอินโดจีนนั้นสุดท้ายแล้วเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์กับจีนด้วย

[111] วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, "บทที่ 30 ลุงโฮ," ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, 356-361.

[112] สุทธิชัย หยุ่น, "บทสนทนาที่ปักกิ่งวันนั้น กับ 'สุชาติ ภูมิบริรักษ์'," 13 กุมภาพันธ์ 2563, ภายใต้ "กาแฟดำ," มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2566, https://www.matichonweekly.com/column/article_274978

[113] ดูบทที่ 21 และ 22 ใน Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 207-232. อย่างไรก็ตาม ดุษฎี พนมยงค์ ระบุว่า “นายปรีดีคงรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งกับขบวนการ ซ้ายจัดหรือการปฏิวัติวัฒนธรรมในครั้งนี้” ดู ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, 88.

[114] ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, 81. ในช่วงที่กุหลาบไปถึงจีนเป็นช่วงแรกของการ “ก้าวกระโดดไกล” ซึ่งมีหลักฐานว่ากุหลาบให้ความสนใจมาก สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้ใกล้ชิดกุหลาบกล่าวว่า “ตอนเราเข้ามาในประเทศจีนนั้น พอดีเป็นเวลาที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังนำประชาชนทั่วประเทศก้าวกระโดดใหญ่ในด้านการผลิต ทำให้แนวงานด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ เต็มไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะการผลิตด้านการเกษตร ถูกผลักดันให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดคอมมูนประชาชนขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดตั้งทางการเกษตรกรรมแบบใหม่  ในสถานการณ์เช่นนั้น เราก็อยากได้รู้ได้เห็นการเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างสรรค์สังคมนิยมของเขาบ้าง จึงได้แสดงเจตจำนงต่อทางฝ่ายรับรอง เราไม่รู้หรอกว่านโยบายและกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างนี้ถูกหรือผิด เพราะระดับความรู้ความเข้าใจของเราในตอนนั้นไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยสถานการณ์ของจีนได้อย่างชัดแจ้ง เขาก็จัดให้เราได้ไปเยี่ยมคอมมูนประชาชน โรงงาน วิสาหกิจ ตลอดทั้งองค์การจัดตั้งทางวัฒนธรรมและการศึกษาวิทยาศาสตร์ ฝ่ายจีนไม่เพียงแต่จัดให้เราได้เยี่ยมชมในปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังจัดให้เราได้ไปทัศนศึกษาตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศด้วย ศรีบูรพาได้ศึกษาสภาพสังคมจีนด้วยความสนใจอย่างมาก” ดู ชามา (สุธาทิพย์ โมราลาย), "รำลึกความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีนจากมิตรร่วมหลังคาเรือน “ศรีบูรพา” : สุชาติ ภูมิบริรักษ์," 1 มกราคม 2548, กองทุนศรีบูรพา, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2566, https://www.sriburapha.net/2021/03/28/ช่วงชีวิตในจีนของ-ศรีบ/

ในภาพข้างต้นนี้ ดุษฎีระบุปีคือ 1965 (พ.ศ. 2508) ซึ่งหมดช่วง “ก้าวกระโดดไกล” แล้ว กำลังจะเข้าสู่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ผลอันเลวร้ายของแนวทางนั้นทำให้ผู้คนอดอยากและเสียชีวิตมาก การไป “เยี่ยมชมคอมมูน” ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นเรื่องที่แปลก แต่หากมีการไปเยี่ยมชมคอมมูนในช่วงนั้นจริง ก็คงไม่ได้ขัดกับข้อเสนอของบทความนี้ที่ว่าในช่วงเวลานั้นปรีดีเริ่มถอยตัวเองห่างจากพคจ. ส่วนหนึ่งก็เพราะความวุ่นวายทางการเมืองในจีน การไปชมคอมมูนและเห็นความเลวร้ายของนโยบายของจีนในช่วงนั้นคงจะตอกย้ำความต้องการลี้ภัยของปรีดีมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันที่รูปนี้จะระบุปีผิด โดยที่จริงแล้วถ่ายเมื่อกุหลาบไปถึงจีนใหม่ ๆ คือช่วงปี 1958 ซึ่งขณะนั้นปรีดีอยู่กวางโจวแล้ว และตามคำบอกเล่าของสุชาติ เขาและกุหลาบก็ได้ไป “ทัศนศึกษาตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ” จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะไปเยี่ยมชมคอมมูนกับปรีดีในช่วงนั้นที่กวางโจว

[115] ปรีดา ข้าวบ่อ, “ศุขปรีดา พนมยงค์ กับงานเขียนถึงผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน,” ใน มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2553), 36.

[116] Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 21.

[117] สาเหตุหลักเพราะทางการไทยไม่เข้าใจนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของจีน ดู Anusorn Chinvanno, Thailand’s Policies towards China, 1949-54, (London: Palgrave Macmillan, 1992), 96-101.

[118] ปรีดีปฏิเสธเรื่องนี้ด้วยตัวเองในปี 1980 และจากการดูหลักฐานเทียบเคียง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่านโยบายของพคท. ในขณะนั้นมุ่งเน้นไปที่ชนบทแล้ว อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการวางแผนร่วมมือกันก่อการลุกฮือก่อนปี 1949 เพื่อรื้อฟื้นปรีดีคืนสู่อำนาจแต่สุดท้ายแล้วไม่ได้เกิดขึ้น และปรีดีก็ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยเพราะลี้ภัยอยู่ ดู Somsak Jeamteerasakul, "The communist movement in Thailand", p. 243-246.

[119] ศุขปรีดาและน้อง ๆ ในขณะอยู่ที่จีน พบหนังสือสารานุกรมฉบับภาษาจีน ชื่อ "ความรู้ของโลก" มีข้อความว่า "ในระยะสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้เป็นผู้นำราษฎรไทยต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น" เมื่อแจ้งปรีดี ปรีดีได้เรียกเจ้าหน้าที่จีนผู้รับผิดชอบมาพบ แล้วได้อธิบายถึงบทบาทของเสรีไทย ดู ศุขปรีดา พนมยงค์, "ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513,” ใน หนังสือที่ระลึก วันปรีดี พนมยงค์, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 11 พฤษภาคม 2534), 54.

[120] Pridi Banomyong, Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire, 22.

[121] นักเรียนไทยโพ้นทะเล, "เอกสารลายมือปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับกรณีสวรรคต," 11 มิถุนายน 2565, นักเรียนไทยโพ้นทะเล, สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566, https://thaistudentsoverseas.com/2022/06/11/pridi_note_on_rama8demise/