Skip to main content

พสพล เจริญพร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ณ SOAS University of London กำลังเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “Geographical Political Economy of deindustrialisation in the Global South

 


 

เหตุใดประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจึงไม่สามารถไล่กวดเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกกันว่าประเทศพัฒนาแล้วได้ทัน? ปัจจัยใดเป็นเพดานกั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไว้? ปัญหากับดักรายได้ปานกลางที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตให้ไปไม่ถึงฝั่งฝันมีเหตุปัจจัยใดอยู่เบื้องหลังปัญหานี้? คำถามข้างต้น นับเป็นคำถามสุดคลาสสิกในสายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ตลอดจนเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งศึกษาปัจจัยยังผลให้ระดับการพัฒนาหรือระดับการกินดีอยู่ดีที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และในแต่ละช่วงเวลา

หนังสือเรื่อง Value Chains: The New Economic Imperialism โดย อินตัน ซูวันดี (Intan Suwandi) เล่มนี้ เป็นอีกหนึ่งงานที่เริ่มต้นจากการขบคิดถึงปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าเหตุใดอินโดนีเซียอันเป็นบ้านเกิดและถิ่นอาศัยอยู่แต่เด็กของเธอ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซูวันดีมองผ่านมุมมองเศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซิสต์ (Marxist political economy) โดยใช้กรอบห่วงโซ่มูลค่าแรงงาน (labour value chain) ในการวิเคราะห์ พบว่าคำตอบที่แท้จริง คือ จักรวรรดินิยม (Imperialism) ที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในปัจจุบันและกระตุ้นในเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ รุนแรงขึ้นผ่านการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศโลกเหนือ (Global North) ฉวยประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนา หรือ กลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) 

งานชิ้นนี้ปฏิเสธความคิดที่ว่าจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงแล้ว และไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้อีกต่อไป ประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงแม้แต่ในวงวิชาการฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง เป็นต้นว่า ความเห็นของเดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักภูมิศาสตร์เศรษฐกิจมาร์กซิสต์ ที่เชื่อว่า จักรวรรดินิยมหมดพลังลงแล้วและมีทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ในช่วงจักรวรรดิแผ่ขยายทั่วโลกในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกสะสมความมั่งคั่งที่ได้มาจากกลุ่มประเทศทางตะวันออกอันเป็นดินแดนอาณานิคมของตัวเอง แต่ไม่กี่ทศวรรษให้หลังมานี้ความมั่งคั่งกลับมีทิศทางการไหลย้อนกลับไปยังประเทศทางตะวันออก หลายแห่งได้ขยับฐานะจากรายได้ต่ำและปานกลางขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง พัฒนาก้าวกระโดด อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน บ้างก็เรียกว่าเป็นมหัศจรรย์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (The East Asian Miracle) นอกจากนี้ในทางการเมือง ประเทศต่าง ๆ ล้วนปลดแอกอาณานิคมจากเจ้าอาณานิคมจนแทบหมดสิ้น เช่นนี้แล้วจึงเชื่อได้ว่าจักรวรรดินิยมหมดบทบาทและกำลังมลายหายสิ้นไป

ผู้เขียนยืนยันว่าจักรวรรดินิยมยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนรูปแบบตามยุคสมัยที่ผันแปร สอดรับกับระบบการผลิตระดับโลกในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลง จักรวรรดินิยมสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่าเทียมและมีลำดับศักดิ์ ถือบังเหียนโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่และประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าไม่กี่แห่ง แม้ปัจจุบันนานาประเทศล้วนปลอดแอกอาณานิคมจนแทบหมดสิ้น แต่ในทางเศรษฐกิจ โครงสร้างอำนาจดังกล่าวยังคงเข้มแข็งในรูปแบบการขยายตัวของทุนผ่านบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations) และฐานการผลิตที่โยกย้ายกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์หลักคือการสะสมทุนในประเทศมหาอำนาจในกลุ่มประเทศโลกเหนือ

ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นถึงจักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่ ผ่านกลไกการทำกำไรจากส่วนต่างของค่าจ้างแรงงาน (labour arbitrage) เมื่อเปรียบเทียบสถิติระหว่างปี 1995 ถึง 2014 พบว่า ผลิตภาพ (productivity) ของประเทศกำลังพัฒนาน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วไม่มาก แต่ระดับค่าจ้างต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น รองเท้ากีฬาชื่อดังอย่างไนกี้ (Nike) ที่มีโรงงานผลิตที่เวียดนาม ราคาขายอยู่ที่ 149.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าค่าแรงต่อหนึ่งคู่คิดเป็นเพียงร้อยละ 1 หรือ 1.5 ดอลลาร์ ชี้ให้เห็นว่าค่าแรงไม่คุ้มความสามารถในการผลิต การแลกเปลี่ยนอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนานี้เองส่งผลให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านการตั้งค่าแรงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เงินที่ได้จากการรับจ้างผลิตแลกมากับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ท้ายที่สุดผลกำไรตกไปอยู่กับบรรษัทข้ามชาติและมักจะถูกนับรวมไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) ของประเทศต้นทางของบรรษัทเหล่านั้น

กลไกนี้ขับเคลื่อนผ่าน การผลิตแบบยืดหยุ่น (flexible production) และ การจัดให้เข้าหลักเหตุผลอย่างเป็นระบบ (systematic rationalization) อันมีจุดหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต ลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดการกระจายศูนย์การผลิต (decentralization of production) การผลิตถูกแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ กระจายออกไปในหลายโรงงาน ในขณะเดียวกัน การแบ่งโซ่การผลิตให้เป็นขั้นตอนย่อยนี้ทำให้โรงงานดำเนินการผลิตเฉพาะทาง ด้วยวิธีและขั้นตอนเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังผลให้แรงงานมีชุดทักษะที่ลดลง (deskilling) ยิ่งเป็นผลเสียต่อแรงงานเพราะจะเพิ่มความเปราะบาง ไม่มั่นคง (vulnerable) ให้แก่แรงงานเอง

บรรษัทข้ามชาติจึงเลือกตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีแรงงานจำนวนมากและมีค่าแรงถูก โดยใช้วิธีการจัดจ้างคนภายนอก (outsource) ซึ่งเป็นการจ้างโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาผลิตและส่งกลับมาจัดจำหน่ายและโฆษณาโดยบริษัทต้นทาง หรือ การขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยไม่ถือหุ้นโดยตรง (non-equity modes) เช่น การจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าตามคุณภาพและมาตรฐานที่บรรษัทต้นทางกำหนด รูปแบบธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่รับบทเพียงโรงงานรับจ้างผลิต ในห่วงโซ่มูลค่าแรงงาน (labour value chain) ที่เน้นการเสนอแรงงานราคาถูก ในขณะที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงยังคงอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติ บริษัทรับจ้างผลิตในประเทศปลายทางรับนวัตกรรมและเรียนรู้ได้อย่างจำกัด

ซูวันดีอธิบายประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นได้อย่างชัดเจนด้วยการยกเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามถีบตัวจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ทั้งยังสนับสนุนข้อเสนอหลักผ่านการสัมภาษณ์บริษัทในอุตสาหกรรมพลาสติก ทั้งสองบริษัทนี้มีลูกค้าเป็นบรรษัทต่างชาติและยังส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศในทวีปยุโรป เจ้าอาณานิคมเดิม นับว่าหนึ่งในไม่กี่งานที่ใช้ข้อมูลจากระดับบริษัทท้องถิ่นสนับสนุนข้อเสนอซึ่งเป็นกลไกระดับโลกได้อย่างน่าสนใจและเห็นเป็นรูปธรรม

ผู้เขียนยังกระตุ้นให้ฉุกคิดว่า จริงอยู่ที่การดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันต่างแสวงหากำไรและความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness)  แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้วคำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” นี้อาจเป็นเพียงคำสุภาพของสภาวะยอมให้ขูดรีดได้ (exploitable) ก็เป็นได้ การมองการผลิตผ่านกรอบการมองแบบห่วงโซ่มูลค่าแรงงาน labour value chain นี้ จึงช่วยให้เห็นการเอาเปรียบแรงงานในประเทศโลกที่สามชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ยังพยายามกดดันประเทศกำลังพัฒนาให้คงความสามารถในการแข่งขัน อันต้องแลกมากับคุณภาพชีวิตของแรงงานในประเทศ ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามยามดังกล่าว คือ นโยบายปรับโครงสร้าง (Structural adjustment programs) โดยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่เสนอสูตรสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สมาทานความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ มีข้อเสนอหลักให้ประเทศเหล่านี้ที่กู้เงินจาก IMF รัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ (austerity) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) อันเป็นการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการรัฐ และเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (liberalisation) พร้อม ๆ กับการบังคับให้ลดและผ่อนปรนข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้า (deregulation) เช่น การลดภาษีการค้าและการเปิดตลาดให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาแข่งในประเทศมากขึ้น นโยบายนี้เป็นตัวเร่งให้ประเทศกลุ่มนี้ผนวกรวมกับเศรษฐกิจโลกทุนนิยมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ซึ่งเอื้อให้กลไกข้างต้นขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่น ข้อเสนอทางนโยบายที่ให้ประเทศดังกล่าวเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพ ประสิทธิผล ตลอดจนความยืดหยุ่นในการผลิต แท้จริงจึงเป็นเพียงวาทกรรมทางเศรษฐกิจที่สวยหรู หากแต่ซ่อนความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานที่ไม่เท่าเทียมไว้

งานชิ้นนี้มิเพียงชี้ให้เห็นว่าจักรวรรดินิยมยังคงปรากฏอยู่ในโลกปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่เป็นการเข้ายึดดินแดนด้วยกำลังทหาร มาเป็นอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านบรรษัทข้ามชาติที่ในแง่หนึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากกองกำลังที่เข้าไปตั้งฐานในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจนี้ผ่านห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ครอบงำตลาด กลไกควบคุมแรงงาน และมีบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศปลายทาง ตอกย้ำให้เห็นถึงรูปแบบการพัฒนาแบบพึ่งพิง (dependent development) กับชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กระแสโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน คงไม่ต่างกับกระแสจักรวรรดินิยมใหม่ ที่กลุ่มประเทศที่แกนกลาง (core) พยายามควบคุมประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศชายขอบ (periphery) ของระบอบทุนนิยมโลกผ่านกระจายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติจากไปยังประเทศเหล่านี้ 

อย่างไรก็ดี หากมองตามมุมของซูวันดี ที่ว่าจักรวรรดินิยมยังคงเข้มแข็งอยู่ถึงปัจจุบันเพียงแต่เปลี่ยนลักษณะนั้น คำถามหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ โครงสร้างอำนาจดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นอย่างไรในยุคปัจจุบันที่แรงงานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีล้ำหน้าต่าง ๆ  แรงงานทั้งที่เป็นแรงงานในโรงงานการผลิตรวมถึงแรงงานในภาคบริการอื่น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีแทนที่ทักษะคน นอกจากนี้ แม้การมองโลกแบ่งเป็นสองขั้วอาจช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจชัดเจน ทว่าปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองก็มีลำดับศักดิ์และมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มโลกเหนือและโลกใต้ เช่น การผงาดขึ้นของเศรษฐกิจจีนพร้อม ๆ กับการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาอื่น เช่น ในเวียดนาม กัมพูชา หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบแอฟริกา

หนังสือเล่มนี้ช่วยจุดประกายให้มองมุมต่าง เสนออีกมุมของการพัฒนาเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นโครงสร้างอำนาจของจักรวรรดินิยมที่ยังคงอยู่ในรูปแบบทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษานี้มิได้เกิดแต่เพียงในอินโดนีเซียเท่านั้น หากเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน จึงนับเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากอ่านเล่มนี้แล้วหันกลับมามองพัฒนาการ ปัญหา และความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ข้อสรุปที่ได้จากงานนี้ยังชี้ชวนให้ผู้มีส่วนร่วมในการออกนโยบายทางเศรษฐกิจ ตระหนักถึงบทบาทของประเทศที่มิอาจนำเสนอตัวตนเป็นเพียงแค่โรงงานรับจ้างผลิตดังที่ได้เคยเป็นตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อนมิได้แล้ว แต่ควรคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เพิ่มมูลค่าสินค้าจากการพัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมในประเทศ รู้เท่าทันกลไกที่เอารัดเอาเปรียบและเห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิตแรงงานอันเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบขับเคลื่อนไปได้