Skip to main content

ชื่อบทความ: การก่อตัวและล่มสลายของ ‘เสือ’ และ ‘ชุมเสือ’ ในฐานะ  ‘ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐโดยอ้อม’ ตั้งแต่พ.ศ.2398 ถึงทศวรรษ 2500

ชื่อผู้เขียน: อรรถวิทย์ เพชรรัตน์ (นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

บทคัดย่อ 

ปรากฏการณ์ “ชุมโจร” หรือ “เสือ” เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่แรกเริ่มเป็นมุขปาฐะและประวัติศาสตร์บอกเล่า ได้รับการผลิตซ้ำผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นวนิยาย ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมไปถึงเพลงพื้นบ้าน และอยู่ในความทรงจำและความนิยมของคนไทยจนถึงปัจจุบัน บทความนี้จึงหยิบยกปรากฏการณ์ชุมโจรดังกล่าวมาวิเคราะห์ในแง่ประวัติศาสตร์สังคม เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ชุมโจรในบริบทเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ จนถึงล่มสลายของชุมโจร อีกทั้งทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวในแง่ประวัติศาสตร์การก่อการร้ายเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า (1) ปรากฏการณ์ชุมโจรเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ทำให้การผลิตเพื่อส่งออกขยายตัว (2) โจร หรือ นักเลงสามารถดำรงอยู่ในท้องถิ่นของตนผ่านระบบอุปถัมภ์ในฐานะ “ผู้นำตามธรรมชาติ” ของชุมชนและแนบแน่นขึ้นเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจ จนรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อทศวรรษ 2480 ที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอันมาก (3) รัฐไทยหลังการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.2435 ทำให้อำนาจส่วนกลางเริ่มขยายสู่ชนบท และมองเห็นถึงความเป็นภัยของโจรผู้ร้าย จนเกิดการปราบปรามอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (4) เสือ หรือ นักเลงมีลักษณะเฉพาะ เป็นตัวแสดงที่เชื่อมระหว่างอำนาจรัฐและท้องถิ่น มีค่านิยมสะท้อนถึงความเป็นชายแบบไทย และดำรงตนเป็น “ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐโดยอ้อม” หากแต่ไม่ทรงพลังเพียงพอที่จะไปสู่การเป็นผู้ก่อการร้าย และ (5) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2500 หรือช่วงสงครามเย็นทำให้ทุนนิยมขยายตัวเข้าสู่ชนบทมากขึ้น นำไปสู่การล่มสลายของชุมโจรในที่สุด

คำสำคัญ: ชุมโจร, เสือ, นักเลง, ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐโดยอ้อม

วิธีการอ้างอิง: อรรถวิทย์ เพชรรัตน์. "การก่อตัวและล่มสลายของ ‘เสือ’ และ ‘ชุมเสือ’ ในฐานะ  ‘ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐโดยอ้อม’ ตั้งแต่พ.ศ.2398 ถึงทศวรรษ 2500." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 1, ฉ.2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 37-61.

เผยแพร่ออนไลน์: 9 กุมภาพันธ์ 2567

 

Attachment Size
02_bandit_f.pdf (263.46 KB) 263.46 KB