Skip to main content

ชื่อบทความ: แนวเพลงร็อคหลอนประสาท ยาเสพติดแอลเอสดี และวัฒนธรรมปฏิปักษ์ในสหรัฐอเมริกา ช่วงค.ศ.1965-1970

ชื่อผู้เขียน: สรณัฐ สัมปัตตะวนิช (สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อพ.ศ.2566)

บทคัดย่อ

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาบริบทที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มศิลปินและกลุ่มวัยรุ่นที่หันเข้าหาการบริโภคยาเสพติดและแนวเพลงร็อคหลอนประสาทช่วงค.ศ.1965-1970 นอกจากนี้จะศึกษาความหมายในการต่อต้านของกลุ่มวัฒนธรรมปฏิปักษ์กลุ่มดังกล่าว ผ่านแนวเพลงร็อคหลอนประสาทซึ่งทำงานร่วมกับยาเสพติดแอลเอสดี ว่ามีความหมายต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างไร จากการศึกษาพบว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมสหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมบริโภคนิยมและเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชนชั้นกลางผิวขาว โดยพวกเขามีความเหมือนกันไปเสียหมดทุกอย่างในทั้งการปฏิบัติตัวและทางด้านความคิดในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งยังไม่เปิดรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังอยู่ภายใต้บริบทสงครามเย็น จึงส่งผลให้ความคิดหรือการแสดงออกที่แตกต่างไปจากสังคมกระแสหลักของสหรัฐอเมริกาเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดในทศวรรษ 1960 ดังนั้นวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงหาหนทางสู่วิถีชีวิต ทัศนคติ และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมปฏิปักษ์อันมีความหลากหลาย ซึ่งกลุ่มคนที่มีการใช้ยาเสพติดแอลเอสดีและแนวเพลงร็อคหลอนประสาทควบคู่กันก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมปฏิปักษ์รูปแบบหนึ่ง พวกเขามีการนำเสนอและแสดงออกสิ่งที่ต่างเวลา ต่างถิ่นเหมือนโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากโลกของวัฒนธรรมกระแสหลัก ในขณะเดียวกันยังแสดงออกถึงการได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ของสงครามเวียดนาม และความเกรงกลัวความตรึงเครียดของสงครามเย็นอย่างการใช้ขีปนาวุธ

คำสำคัญ: วัฒนธรรมปฏิปักษ์, แอลเอสดี, เพลงร็อคหลอนประสาท (Psychedelic Rock)

วิธีการอ้างอิง: สรณัฐ สัมปัตตะวนิช. "แนวเพลงร็อคหลอนประสาท ยาเสพติดแอลเอสดี และวัฒนธรรมปฏิปักษ์ในสหรัฐอเมริกา ช่วงค.ศ.1965-1970." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 1, ฉ.2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 62-97.

เผยแพร่ออนไลน์: 9 กุมภาพันธ์ 2567

Attachment Size
03_psychedelic_rock_f.pdf (777.87 KB) 777.87 KB