Skip to main content

ชื่อบทความ: ‘เทงานแต่ง’: เงินตรา หน้าตา ความรัก และการแต่งงานช่วงทศวรรษ 2550-2560

ชื่อผู้เขียน: ธัญสุดา แสงทอง (สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.2566)

บทคัดย่อ

ปรากฏการณ์เจ้าบ่าวหนีงานแต่งงาน หรือ “เทงานแต่ง” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อไม่นานมานี้ การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวมีความจำเป็นมากกว่าจะอธิบายเพียงแค่หนีงานแต่งงานด้วยเหตุผลเพราะสินสอดไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ด้วย บทความนี้ต้องการสำรวจปรากฏการณ์ “การเทงานแต่ง” ซึ่งนำข้อมูลมาจากข่าวออนไลน์ในทศวรรษ 2550-2560 เป็นต้นมา โดยจะศึกษาเชื่อมโยงไปยังความเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดเรื่องการแต่งงานและระบอบอารมณ์ความรู้สึก บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า “พิธีการแต่งงาน” ได้กลายเป็นฐานการปฏิบัติทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สร้างความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายเจ้าสาวและฝ่ายเจ้าบ่าว เพราะถ้าหากไม่มีการจัดพิธีการแต่งงาน คู่แต่งงานจะรู้สึกที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนในสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับ อาจถูกตำหนินินทา เนื่องด้วยการแต่งงานในปัจจุบันนั้นสัมพันธ์กับฐานความคิดเรื่องชนชั้น สินสอดที่ใช้ในงานแต่ง ทั้งเงินตราและทองคำ ซึ่งเป็นสิ่งแสดงถึง “หน้าตาทางสังคม” การที่เจ้าบ่าวมีสินสอดไม่ครบตามกำหนดถูกตีความว่าเป็นการไม่ให้เกียรติครอบครัวฝ่ายหญิง ทั้งนี้วัฒนธรรมแต่งงานให้อำนาจการตัดสินใจของครอบครัวทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและการคุณค่าความกตัญญูยังดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างแน่นหนา การเทงานแต่งในหลายครั้งเกิดจากการการไม่กล้าเจรจาขอลดค่าสินสอดเมื่อมีสินสอดไม่ครบตามกำหนด การไม่สามารถพูดกันอย่างตรงไปตรงมานี้เองได้ส่งผลต่อปรากฏการณ์หนีงานแต่ง นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ที่เอื้อต่อความสัมพันธ์ทางเพศแบบใหม่ก็ได้เพิ่มโอกาสให้คนถูกหลอกลวงมากยิ่งขึ้นด้วย

คำสำคัญ: การเทงานแต่ง, การแต่งงาน, ระบอบอารมณ์ความรู้สึก, ความรัก

วิธีการอ้างอิง: ธัญสุดา แสงทอง. "‘เทงานแต่ง’: เงินตรา หน้าตา ความรัก  และการแต่งงานช่วงทศวรรษ 2550-2560." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 1, ฉ.2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 200-227.

เผยแพร่ออนไลน์: 9 กุมภาพันธ์ 2567 

Attachment Size
08_leaving-her-at-the-altar_f.pdf (278.99 KB) 278.99 KB