Skip to main content

ชนาวุธ บริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากหนังสือของผู้เขียน โดยหยิบขึ้นมาปรับปรุงและต่อยอดใหม่เพื่อใช้ในการมองปรากฎการณ์ทางการเมืองไทยและวันชาติ 24 มิถุนายน หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 โปรดดู ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ :รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

 


 

วันชาติ วันประชาธิปไตย และการต่อต้านสำนึกการเมืองมวลชน

 

วันชาติของเราก็เป็นวันเดิมก็ดีอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีความเชื่อในระบบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันนี้ปัญหาคือเราจะมาพูดเรื่องเปลี่ยนวันชาติหรือเปลี่ยนวันที่กันทำไม มันไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น เขาเลือกเรามาไม่ได้เลือกเรามาเพื่อให้มาทำเรื่องที่มันก่อให้เกิดการ “ขัดแย้ง” ใช้คำนี้ดีกว่า นะครับ เรามีจิตใจเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เรายึดโยงกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว วันนี้เอาเวลาไปทำงานเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนดีกว่านะครับจะได้อยู่เย็นเป็นสุขดี

- เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น (และนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในขณะนี้)

VOICE TV, “LIVE! #เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ ย้ำ 3 ก.ค.นี้ ปมประธานสภาฯจบ ขอสื่อเน้นปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีกว่า,” YouTube, https://www.youtube.com/watch?v=MUtG-ApE1Eo (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองไทยที่สำคัญในห้วงเวลาช่วงทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา น่าสังเกตว่าเมื่อปฏิทินได้หมุนเวียนมาบรรจบครบรอบในวันที่ 24 มิถุนายนเราจะเห็นถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ได้มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายในวันดังกล่าวนี้ คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนักหากจะกล่าวว่าภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ได้มาประกอบกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายนแทบจะกลายเป็นความคุ้นชินของผู้คนและยิ่งในปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ได้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่และสามารถเข้าถึงได้ง่ายก็ยิ่งทำให้การรับรู้ถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวภายในวันนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในปี พ.ศ. 2566 นี้ก็ได้มีการเคลื่อนไหวในการจัดกิจกรรมภายในวันที่ 24 มิถุนายนเช่นเดิม แต่ความพิเศษของปีนี้ก็คือเป็นปีมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยผลของการเลือกตั้งเป็นพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภามากที่สุด 151 ที่นั่ง (แม้ว่าในท้ายที่สุดจะกลายมาเป็นฝ่ายค้าน) และหลังการเลือกตั้งได้ประมาณเพียง 1 เดือน วันที่ 24 มิถุนายนก็ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งโดยกิจกรรมที่มีประเด็นมากที่สุดมาจากงานการอภิปราย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ" ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปรายนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องวันชาติ โดยเข้าใจว่าประโยคที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาก็คือ “ก็หวังว่าวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากนี้ไปจะกลายเป็นวันชาติที่เรามาร่วมเฉลิมฉลอง และเราจะสัญญาว่าเราจะไม่กลับถอยหลังไปสู่ยุคเผด็จการยุคที่ประชาชนไม่เป็นผู้อำนาจสูงสุดอีกต่อไป”[1] จากคำกล่าวนี้ได้นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมดังเช่นสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวว่า

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับนิตยสาร "ฟ้าเดียวกัน" ได้ปั่นประเด็นเปลี่ยนวันชาติมาตั้งแต่ปี 2547 หรือ 19 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่วางแผนกันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ยังละอ่อนอยู่ จนกระทั่งเริ่มเจริญเติบโต ไปขายข้อมูลเท็จให้ประชาชนที่หลงเชื่อ[2]

นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลงวันชาติอีกด้วย[3]และในช่วงเวลาเดียวกันนี้คำกล่าวที่ดูได้รับการให้ความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมเป็นอย่างมากก็คือคำกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นดังที่ผู้เขียนได้ยกมากล่าวไว้ในตอนต้นของบทความ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นพรรคเพื่อไทยยังคงอยู่ร่วมเป็นหนึ่งใน 8 พรรคการเมืองที่ทำ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ทำให้เกิดการมองว่าภายในพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาลกันต่อไปในอนาคตมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน

ความน่าหลงใหลประการหนึ่งของ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ไม่ใช่เพียงแค่เป็นวันที่รัฐไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญแต่เพียงเท่านั้น แต่คือการที่ (อดีต) วันสำคัญแห่งชาติดังกล่าวนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นและเน้นย้ำมาอยู่บ่อยครั้งในสังคมและการเมืองไทยทั้ง ๆ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือตายไปแล้วตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 คำถามประการสำคัญที่ตามมาก็คือทำไมกระแสของวันชาติ 24 มิถุนายนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศววรษ 2550 เป็นต้นมาที่มีการจัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวภายในวันสำคัญนี้อย่างเข้มข้น จนแทบจะไม่เป็นการเกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า “วันชาติ 24 มิถุนายน” เป็นเสมือน “ผี” ที่คอยหลอกหลอนหน้าปฏิทินของรัฐไทย

สำหรับการรื้อฟื้นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน งานที่ฉายภาพการรื้อฟื้นเรื่องราวนี้ได้เป็นอย่างดีคือบทความของชาตรี ประกิตนนทการ เรื่อง คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยา ชาตรีได้เสนอว่าหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาได้เกิดการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสังเกตว่าก่อนการรัฐประหารแม้คณะราษฎรจะมีตัวตนอยู่ในความทรงจำของสังคมไทยพอสมควรก็ตาม แต่ก็เป็นการดำรงอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น กลุ่มลูกหลานคณะราษฎร กลุ่มงานวิชาการ หรือกลุ่มงานเขียนประเภทย้อนวันวานโหยหาอดีตภาพวัฒนธรรมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งทำให้ความทรงจำเหล่านี้แทบจะไร้ซึ่งพลังทางการเมือง ชาตรียังได้ยกคำอธิบายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมาอธิบายภาพความทรงจำอันจำกัดนี้ด้วยว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในช่วงทศวรรษ 2520-2549 ยังอยู่ในกระบวนการตีความที่ “เชียร์เจ้าและปรีดี (ในฐานะตัวบุคคล)” ซึ่งทำให้ภาพจำของคณะราษฎรไม่ได้ถูกรื้อฟื้นหรือให้ความสำคัญแต่อย่างใด[4]แต่หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายนเป็นต้นมาพบว่าการตีความเกี่ยวกับคณะราษฎรเป็นไปในทางบวกมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่งานวิชาการรวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ยึดโยงตนเองเข้ากับคณะราษฎรและเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “คนเสื้อแดง” หลายกลุ่มที่ก่อตัวขึ้นมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และความเคลื่อนไหวนี้เองยังนำมาสู่การให้ความสำคัญกับวันที่ “24 มิถุนายน” ขึ้นมาด้วย ซึ่งพบว่ามีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและรำลึกต่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างคักคัก ซึ่งไม่เพียงแต่วันที่ 24 มิถุนายนเท่านั้นแต่ยังวันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอย่างวันที่ 14 ตุลาคม ที่เคยเป็น “วันปราบกบฏ” จากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชก็ได้รับการให้ความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน การรื้อฟื้นต่อความทรงจำทั้งหมดทั้งมวลนี้ชาตรีได้เสนอว่าเป็นผลมาจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ที่ถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อพิทักษ์พระราชอำนาจของกษัตริย์ ดังนั้นการต่อต้านการรัฐประหารจึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์คณะราษฎรขึ้นมาเนื่องจากยุคสมัยคณะราษฎรเป็นยุคสมัยเดียวที่มีรูปธรรมชัดเจนในการเอาชนะอุดมการณ์กษัตริย์นิยมได้เป็นผลสำเร็จ[5]แม้ว่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาชนและประชาธิปไตยจะยังมีเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา แต่ชาตรีก็มองว่าประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์นั้นเพดานของคู่ขัดแย้งถูกจำกัดไว้ที่เผด็จการทหารแต่เพียงเท่านั้น อีกทั้งบรรดานิสิตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าหลาย ๆ คนในปัจจุบันยังได้เปลี่ยนไปเป็น “กลุ่มคอมมิวนิสต์รักษาพระองค์” จึงทำให้เหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา ไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะถูกผลิตเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549[6]

จากข้อเสนอของชาตรี ประกิตนนทการที่กล่าวว่าหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นผลให้เกิดการหยิบยกความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรขึ้นมาเพื่อใช้ต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ต้องการจะเสริมมิติต่อมุมมองการรื้อฟื้นวันที่ 24 มิถุนายน ไปให้ไกลกว่าเรื่องของความขัดแย้งของอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมาเป็นการมองว่าความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวันสำคัญดังกล่าวนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบใหม่นั่นก็คือ “สำนึกการเมืองแบบมวลชน” อันเป็นกระแสสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ที่เริ่มขยายตัวขึ้นในช่วง พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาและเริ่มจะมีอิสระและทิศทางของตนเองและเมื่อเรามองการรื้อฟื้นวันสำคัญดังกล่าวผ่านกรอบคิดนี้ เราจะเห็นภาพของการพยายามของสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ที่จะหยิบใช้ประวัติศาสตร์ด้วยตนเองและเป็นประโยชน์เพื่อตนเอง ซึ่งในทางหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของสังคมไทยที่เคยหลับไหลกับประวัติศาสตร์กระแสหลักมาเป็นเวลานาน เมื่อตื่นขึ้นจึงนำมาสู่การแสวงหาประวัติศาสตร์ที่จะมาใช้เป็นประวัติศาสตร์ของตนเองและเพื่อตนเอง แต่ก่อนอื่นเราจะต้องอธิบายถึงความเป็นมาของวันที่ 24 มิถุนายนเสียก่อน

 

สืบสาวรากเหง้า (ที่ไม่ลึก) ของ “วันชาติ 24 มิถุนายน ”

 

เรื่องราวของ “วันชาติ 24 มิถุนายน” แม้ในปัจจุบันเราจะรับทราบกันดีว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่มีสายธารมาจากคณะราษฎรจากการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ดีควรตระหนักด้วยว่าวันชาติดังกล่าวไม่ได้เป็นประดิษฐกรรมบนหน้าปฏิทินชิ้นแรกที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ แต่ยังมีวันสำคัญแห่งชาติอื่น ๆ เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ด้วย รวมทั้งยังมีกระบวนการจัดการอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับหน้าปฏิทินของรัฐดังเช่น การพยายามลดทอนพิธีกรรมที่สืบทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่เพียงแต่ถูกมองว่าพิธีกรรมเหล่านั้นอิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นขั้วอำนาจเก่าเท่านั้น แต่เป็นการมองภายใต้กรอบคิดเรื่องประโยชน์ของชาติ ซึ่งพิธีกรรมเหล่านั้นได้ถูกมองว่าเกินความจำเป็นไม่เฉพาะสำหรับพลเมืองเท่านั้นแต่เกินความจำเป็นในระดับของชาติ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลหลังการปฏิวัติจึงมุ่งมาสู่การให้ความสำคัญกับพิธีกรรมที่สร้าง “ประโยชน์” ให้กับชาติ และมีความสอดคล้องกับ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ดังนั้นการจะทำความเข้าใจรากเหง้าของการเกิดขึ้นของ “วันชาติ 24 มิถุนายน” จึงไม่อาจจะทำได้อย่างแยกขาดจากประดิษฐกรรมบนหน้าปฏิทินชิ้นอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ

จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือความต้องการที่จะให้สยามมีรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครอง การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรัฐและสังคมดังกล่าวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการกลไกสำคัญเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่อุดมการณ์รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์ของชาติและมีความศักดิ์สิทธิ์แทนที่พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามเมื่อเราพิจารณาร่องรอยจากหน้าปฏิทินวันสำคัญแห่งชาติกลับพบว่าการสร้างอุดมการณ์หลักของรัฐไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีร่องรอยของอุดมการณ์ร่วมอยู่ 2 กระแสด้วยกัน โดยกระแสแรกคือการสร้างอุดมการณ์รัฐธรรมนูญซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงแรก และต่อมาคือการสร้างอุดมการณ์ความเป็นชาติที่จะขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา และจากคำอธิบายดังกล่าวนี้ก็พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ ในสิ่งที่ผู้เขียนได้เกริ่นมาตอนต้นแล้วว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอุดมการณ์สำคัญที่รัฐบาลใหม่มุ่งเน้นก็คืออุดมการณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้วันสำคัญแห่งชาติที่เกิดขึ้นมาในช่วงแรกหลังการปฏิวัตินั่นก็คือวันที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ โดยพบว่าประกาศวันหยุดราชการ ในปี พ.ศ. 2480 ที่ถูกประกาศมาเป็นฉบับแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีกำหนดวันหยุดราชการประจำปีไว้ดังนี้[7]

 

1. วันตรุษสงกรานต์ (New year)วันที่ 31 มีนาคมและวันที่ 1-2 เมษายน3 วัน
2. วันจักรี (Chakri Day)วันที่ 6 เมษายน1 วัน
3. วันวิสาขะบูชา (Visakha Buja) วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 2 วัน
4. วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (Constitution Petition Day)วันที่ 24 มิถุนายน1 วัน
5. วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว (Provisional Constitution Day)วันที่ 27 มิถุนายน1 วัน
6. วันเข้าพรรษา (Buddhist Lent)วันขึ้น 15 ค่ำ และ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 2 วัน
7. วันเฉลิมพระชนม์พรรษา (the King’s Birthday)          วันที่ 20 กันยายน3 วัน
8. วันรัฐธรรมนูญ (Constitution Dayวันที่ 9 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม      1 วัน
9. วันมาฆะบูชา (Nagha Buja)เพ็ญเดือน 3 หรือ เดือน 4 แล้วแต่กรณี 1 วัน

 

จากรายชื่อวันหยุดราชการข้างต้นจะพบว่าวันสำคัญแห่งชาติที่สัมพันธ์อยู่กับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเพียงแค่ “วันรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น แต่ยังคงมีวันอื่น ๆ ด้วยคือ “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” กับ “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว” และในปีเดียวกันนี้เองก็ได้มีการเพิ่มวันชักธงในพิธีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 2 วัน ได้แก่ วันที่ 24 และวันที่ 27 มิถุนายน[8]ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับวันที่มีเรื่องราวสัมพันธ์กับคณะราษฎรและการสถาปนาให้วันดังกล่าวเป็น “วันหยุดราชการ” ได้สะท้อนถึงการใช้กลไกของปฏิทินในการช่วยยืนยันของการมีอยู่ของพิธีกรรมดังกล่าวในแต่ละรอบปีทำให้ไม่ต้องคอยกำหนดพิธีกรรมดังกล่าวเป็นปี ๆ ไป[9]อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าประกาศวันหยุดราชการฉบับนี้ยังไม่มี “วันชาติ” เกิดขึ้น โดยวันที่ 24 มิถุนายน ยังเป็นวันที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญนั่นก็คือ “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ”

แม้ว่า “วันชาติ” จะยังไม่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าอุดมการณ์ดังกล่าวนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเมื่อเราพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็จะเห็นได้ว่าสำนึกเรื่องชาตินั้นมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2475 แล้ว แต่เมื่อมองผ่าน “วันสำคัญ” ที่เกิดขึ้นของรัฐไทยนั้นก็นับว่าเกิดขึ้นภายหลังจากวันรัฐธรรมนูญ โดยเกิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเวลาถึง 6 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงแรกนั้นแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ให้น้ำหนักมากกว่า โดยนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ว่า 

...ภายในบริบทของ ปี พ.ศ. 2475 มีแนวคิดเรื่องชาติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ย้ำเน้นมากนัก เนื่องด้วยแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญและการจัดวางนโยบายเศรษฐกิจมีความสำคัญมากกว่า...ซึ่งทุก ๆ ฝ่ายหวังรัฐธรรมนูญก็ดี การวางนโยบายเศรษฐกิจก็ดี จะทำให้ “ประเทศ” มีความเจริญรุ่งเรืองและมีเสถียรภาพความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2475 ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2476 และในปลายปี พ.ศ. 2477 ก็มีวิกฤติครั้งใหญ่นั่นคือการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในกระบวนการของความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงนี้ กลุ่มผู้นำใหม่ ปัญญาชน ข้าราชการและกลุ่มทหารได้ค้นพบว่า การคิดถึงเรื่องชาติและอธิบายทุกอย่างด้วยแนวคิดเรื่องชาตินั้นมีความหมายมากกว่า...นี่เป็นสถานการณ์สำคัญที่ส่งผลให้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกลไกของประเทศแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เช่นเดียวกับเรื่องการเศรษฐกิจ ก็มิใช่เป็นเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นเศรษฐกิจของชาติ เอกราชก็มิใช่เป็นเอกราชของประเทศ แต่เป็นเอกราชของชาติ...[10]

จากคำอธิบายข้างต้นพอที่จะทำให้เราเห็นได้ว่าแนวคิดที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีลักษณะของการคลี่คลายจากแนวคิดรัฐธรรมนูญมาสู่แนวคิดของความเป็นชาติ ดังสะท้อนให้เห็นจากประกาศ “วันหยุดราชการ” ฉบับแรกหลังการปฏิวัติที่ได้แสดงให้เห็นว่ามีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นจำนวนถึง 3 วันด้วยกัน แต่ถึงแม้ว่าความคิดเรื่องชาติจะถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญและนำไปสู่การสถาปนา “วันชาติ” ขึ้นมาในภายหลัง แต่การขยายตัวของอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและขยายตัวโดยแยกออกจากอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแต่อย่างใดแต่จะพบว่าความเปลี่ยนแปลงในการมุ่งเน้นอุดมการณ์ชาติของรัฐยังเกิดขึ้นผ่านวันและสำนึกอุดมการณ์รัฐธรรมนูญอีกด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองราษฎรในท้องที่ต่าง ๆ ได้หวังกันว่าอุดมการณ์รัฐธรรมนูญจะสามารถสร้างความเสมอภาคกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ชาติกำเนิด” และ “ชาติพันธุ์” แม้ว่ารัฐไทย (สยาม) จะได้ผนวกเอาบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เข้าสู่อำนาจของศูนย์กลางมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็ตาม แต่ประเด็นในเรื่องของความแตกต่างในเรื่องของเชื้อชาติหรือความแตกต่างของราษฎรในแต่ละพื้นที่ก็ยังคงอยู่และเป็นประเด็นที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง โดยปัญหาดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นในปี พ.ศ. 2476 ในสมัยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยมีหนังสือจากนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถึงคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเหยียดชาติกำเนิดของข้าราชการต่อคนพื้นเมืองในท้องถิ่นดังนี้

...ข้าพเจ้าเป็นคนกำเนิดในจังหวัดอุบลฯ เมื่อเป็นนักเรียนที่จังหวัดอุบลฯนั้นก็ดี เมื่อได้รับราชการที่จังหวัดอุบล ฯ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และนครพนม ก็ดี ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นข้าราชการบางท่านที่คนไทยกลางที่ไปรับราชการในถิ่นนั้น ๆ  มักดูถูกเหยียดชาติกำเนิดของบุคคล เช่นมีคำพูด “ไอ้ลาวตาขาว” “ลาวปลาร้า” “ไอ้ลาว” ลาวอย่างนั้นลาวอย่างนี้อีกจิปาถะ บางทีโกรธให้ราษฎร แทนที่จะว่ากล่าวตามธรรมเนียมที่อารยชนเขาปฏิบัติต่อกัน ก็มักดุด่าและสาวความถึงชาติกำเนิด...พฤติการณ์เช่นที่กล่าวนี้ย่อมกะทบกะเทือนใจชนชาวพื้นเมืองอยู่มากโดยทั่ว ๆ ไป ทำให้การสมาคมสนิทสนมกลมกลืนกันได้ยากเต็มที และบางรายถึงแตกความสามัคคีอย่างร้ายแรงก็มี แม้ชาวจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกและภาคเหนือ ก็คงได้รับความกะทบกระเทือนเหมือนกัน และหนังสือพิมพ์บางฉะบับก็ลงข้อความพาดหัว หรือมีข้อความลาว ๆ ไทย ๆ อยู่ ส่วนคนโบราณที่หย่อนทางประวัติศาสตร์และคร่ำครึถือทิฏธิมานะ ก็มีอุปทานยึดมั่นอยู่ ในสมัยรัฐธรรมนูญนี้ดูค่อนข้างเพลาลงไปมาก แต่ก็เป็นฉะเพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น แม้กะนี้ก็ดีอาศัยความในมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรสยาม ข้าพเจ้าเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะออกคำแถลงการณ์ ประกาศชักชวนในเรื่องความสามัคคี ในเรื่องการถือหมู่ถือคณะ ในการใช้คำพูดระบุชาติกำเนิด ซึ่งจะนำมาแห่งความแตกสามัคคี และฉะเพาะอย่างยิ่ง ควรกำชับข้าราชการโดยทั่วไปให้สำเหนียกในเรื่องนี้ไว้ ถือเป็นคตินิยมในหมู่ชาวไทยโดยทั่วไป...[11]

ความรู้สึกถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ถือเป็นภาระสำคัญของคณะราษฎรที่จะต้องจัดการกับสำนึกของพลเมืองให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน การมี “ลาวอย่างนั้นลาวอย่างนี้” จะทำให้ไม่เกิดผลดีต่อรัฐ โดยเฉพาะการที่บรรดาข้าราชการซึ่งเป็นกลไกในการเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐได้ไปขัดแย้งกับคนในพื้นที่ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงต่อรัฐบาลคณะราษฎรและอุดมการณ์ใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวได้ และผลจากหนังสือร้องเรียนดังกล่าวก็ได้มีการชี้แจงจาก พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าได้มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยถึงคณะกรรมการจังหวัดไปแล้วและได้สั่งกำชับให้บรรดาข้าราชการให้สังวรกิริยาวาจาแล้ว [12]

อย่างไรก็ตามการดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวจากทางภาครัฐ (ที่ดูเหมือนจะไม่เป็นรูปธรรมและจริงจังมากนัก) แต่เมื่อย้อนกลับไปที่หนังสือของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่กล่าวไปอีกครั้งหนึ่ง เราจะสังเกตเห็นว่าตอนหนึ่งนายทองอินทร์ได้อ้างถึงมาตราที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “...ประชาชนชาวสยามไม่ว่าแหล่งกำเนิดหรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน” ซึ่งในส่วนนี้มันได้สะท้อนให้เห็นภาพปรากฎการณ์ของช่วงเวลานั้นว่าอุดมการณ์รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสิ่งที่กลุ่มคนต่าง ๆ เชื่อว่าจะได้รับผลแห่งประโยชน์ของการมีอยู่ของสิ่งนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คือความเท่าเทียมกันระหว่างคนที่มี “เชื้อชาติ” หรือภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และเมื่ออุดมการณ์รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นตัวกลางที่สำคัญในการรวบรวมสำนึกของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ของสำนึกของความ “เสมอกัน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในอีกด้านหนึ่งรัฐเองก็ได้เล็งเห็นถึงการใช้พื้นที่พิธีกรรมของงานฉลองรัฐธรรมนูญเพื่อสร้าง “สำนึกความเป็นชาติ” ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกันเพื่อที่จะนำไปสู่การผนวกพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจและอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนหลังการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงครามในปี พ.ศ. 2481 ที่มีการเน้นย้ำอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้นโดยการเน้นย้ำนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่าน “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ประกอบกับการที่งานฉลองรัฐธรรมนูญได้ถูกยกระดับไปสู่ “วันสำคัญแห่งชาติ” ในฐานะของการเป็นวันหยุดราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วยังได้ส่งผลที่เอื้อต่อรัฐหลายประการในการเข้าไปจัดการกับพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 

ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีหนังสือจากหลวงวิจิตรวาทการถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอความเห็นให้ยกงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีดังกล่าวขึ้นไปทำที่เชียงใหม่ โดยเนื้อความของหนังสือดังกล่าวสามารถที่จะวิเคราะห์นัยยะสำคัญของการพยายามที่จะนำสำนึกในอุดมการณ์รัฐธรรมนูญไปเผยแพร่แล้ว ยังได้เห็นถึงการพยายามที่จะใช้ประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการในการเชื่อมโยงเชียงใหม่หรือ “ลานนาไทย” เข้ากับประเทศสยามและผนวกพื้นที่ดังกล่าวผ่านงานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวันหยุดราชการอีกด้วยดังนี้

...ด้วยในการค้นคว้าประวัติศาสตร์เพื่อประกอบการแต่งบทละครเรื่อง พระมหาเทวี ที่จะแสดงต่อจากเรื่อง เจ้าหญิงแสนหวี นี้ ข้าพเจ้าได้พบสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าดีใจเป็นอันมากที่เผอิญไปพบเข้า คือเชียงใหม่หรือลานนาไทยนั้นได้เข้ารวมกับประเทศสยามเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีจอจุลศักราช 900 ตรงกับพุทธศักราช 2081 ซึ่งนับถึงเวลานี้ก็บรรจบครบรอบ 400 ปี พอดี ส่วนวันเดือนที่แน่นอนนั้นค้นหาไม่ได้ ปรากฏแต่เพียงว่าเป็นตอนปลายปี

เมื่อถึงวาระอันสำคัญเช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีงานพิเศษที่เชียงใหม่สำหรับเปนที่ระลึกงานหนึ่ง และทางที่ดีที่สุดควรยกเอางานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดว่าจะทำในกรุงเทพ ฯ ปีนี้ ขึ้นไปทำที่เชียงใหม่ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า

  1. กันความหมดเปลืองที่จะต้องทำงานใหญ่ถึง 2 งาน

  2. งานฉลองรัฐธรรมนูญถ้ามีในกรุงเทพ ฯ ไปทุก ๆ ปีก็น่ากลัวจะจืดลง การยกไปทำในต่างจังหวัดในโอกาศที่สำคัญจริง ๆ เช่นนี้ดูเป็นของสำคัญใหญ่หลวง และหน้าตื่นเต้นยิ่งขึ้น และอาจทำโครงงานให้ย่อมกว่าที่ทำในกรุงเทพ ฯ ได้โดยไม่ถูกตำหนิ

  3. จังหวัดอื่นจะเรียกร้องเอาเป็นตัวอย่างได้ยาก เพราะโอกาศสำคัญเช่นนี้สำหรับจังหวัดอื่น ๆ หายากนัก...[13] 

ความพยายามย้ายการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญไปจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ของหลวงวิจิตรวาทการนั้น ได้เป็นการเน้นย้ำถึงการที่จะให้เกิดพื้นที่พิธีกรรมขึ้นภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อที่รัฐจะได้เผยแพร่อุดมการณ์หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการเอง แต่มากไปกว่านั้นความพยายามของหลวงวิจิตรวาทการยังสะท้อนถึงนัยยะแอบแฝงที่เป็นมากกว่าการเผยแพร่อุดมการณ์รัฐธรรมนูญ นั่นก็คือคือการสร้าง “สำนึกความเป็นชาติ” ลงบนพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับรัฐส่วนกลางอย่างชัดเจน ซึ่งความคิดของหลวงวิจิตรวาทการเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะให้เป็นจังหวัดอื่นอยู่แล้วอีกด้วย โดยเขาบอกเองว่าเป็นโอกาสที่หายากสำหรับจังหวัดอื่นด้วยเหตุผลที่จากการที่เขานั้นไปพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างพอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่ “วันชาติ” ได้มีการกำหนดอย่างเป็นทางการก่อนหน้าหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ 1 วัน และที่สำคัญหลวงวิจิตรวาทการเองก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงและริเริ่มในการเห็นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะ “วันชาติ” และเป็นผู้มีบทบาทในการนำเรื่องการกำหนดวันชาติ เข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในปีดังกล่าวนี้เองอีกด้วย[14]

ดังนั้นการพยายามย้ายงานของหลวงวิจิตรวาทการจึงมีนัยยะสำคัญของการผนวกรวมบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้รัฐสยามด้วยอุดมการณ์รัฐธรรมนูญ ภายใต้บริบทที่ “วันชาติ” ได้เกิดขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของอุดมการณ์ของรัฐที่จะยกระดับความหมายจากอุดมการณ์รัฐธรรมนูญมาสู่แนวคิดเรื่องชาติไปพร้อมกัน และการเกิดขึ้นของ “วันชาติ” ยังได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญอีกด้วย ดังจะเห็นได้หลังจากที่ได้มีการประกาศวันหยุดราชการฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2482 โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิถุนายนจากเดิมที่เป็น “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ให้เป็น “วันชาติ” และได้มีการตัด “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว” ออกไป โดยมีวันหยุดราชการที่ประกาศใหม่ดังนี้[15]

 

1. วันตรุษสงกรานต์และขึ้นปีใหม่ (New Year)วันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 1 เมษายน2 วัน
2. วันจักรี (Chakri Dayวันที่ 6 เมษายน            1 วัน
3. วันวิสาขะบูชา (Visakha Buja)วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 7 แล้วแต่กรณี2 วัน
4. วันชาติ (National Day)วันที่ 23,24 และ 25 มิถุนายน  3 วัน
5. วันเข้าพรรษา (Bhuddhist Lent)วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 2 วัน
6. วันเฉลิมพระชนมพรรษา (The King’s Birthday)วันที่ 20,21 กันยายน   2 วัน
7. วันรัฐธรรมนูญ (Constitution Day)วันที่ 9,10 และ 11 ธันวาคม     3 วัน
8. วันมาฆะบูชา (Magha Buja)เพ็ญเดือน 3 หรือเดือน 4 แล้วแต่กรณี1 วัน

 

ประกาศวันหยุดราชการข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการที่เกี่ยวกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญถึง 2 วันด้วยกัน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้น่าจะมาจากการที่จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องการให้ความสำคัญกับ “วันชาติ” ให้มากยิ่งขึ้น จึงนำไปสู่การลดทอน “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว” ออกไปและนำจำนวนวันหยุดมาเพิ่มเติมให้วันที่ 24 มิถุนายน จากเดิมในช่วงที่เป็น “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ที่มีการหยุดราชการเพียงวันเดียวมาสู่การหยุดราชการเป็นจำนวนถึง 3 วัน ซึ่งทำให้ “วันชาติ 24 มิถุนายน” กับ “วันรัฐธรรมนูญ” มีวันหยุดราชการเป็นจำนวนมากที่สุดในประกาศวันหยุดราชการฉบับดังกล่าวนี้ แต่ถึงแม้วันสำคัญแห่งชาติที่สะท้อนอุดมการณ์รัฐธรรมนูญจะถูกลดจำนวนลงไปแต่ก็มิใช่ว่าแนวคิดเรื่องอุดมการณ์รัฐธรรมนูญของรัฐจะถูกลดทอนลงไปด้วยแต่อย่างใดเพียงแต่ปรับเปลี่ยนสำนึกความทรงจำให้มาสู่การสร้างความเป็นชาติมากยิ่งขึ้น

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนี้เป็นการพยายามจะชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวันสำคัญแห่งชาติและกระแสอุดมการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ได้ก่อให้เกิดวันชาติ 24 มิถุนายนขึ้นมา ซึ่งสำหรับรายละเอียดเฉพาะและข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “วันชาติ 24 มิถุนายน”สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วซึ่งผู้เขียนไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้ แต่จะขอวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับวันชาติ 24 มิถุนายนที่เพิ่งเกิดขึ้นมาภายหลังนี้ ไว้ 3 ประการด้วยกัน ดังนี้

ประการแรก “วันชาติ 24 มิถุนายน” เป็นการสร้างพิธีกรรมของรัฐเพื่อใช้ในการสร้างสำนึกของพลเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมด้วยการสร้างสำนึกถึงความเป็นชาติ ซึ่งรัฐได้ยกระดับและเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวโดยให้มี “วัน” เป็นของตนเอง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องอิงกับ “วันสำคัญแห่งชาติ” อื่น ๆ อีกต่อไป (ดังที่เคยทำในวันรัฐธรรมนูญ) ดังนั้นเมื่อ “สำนึกความเป็นชาติ” ถูกแยกออกมามี “วันสำคัญแห่งชาติ” ของตนเอง รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างลักษณะเด่นของสำนึกใหม่นี้อย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะวันชาติมีรากเหง้าที่ไม่ลึก โดยลักษณะเด่นแรกที่รัฐได้สร้างขึ้นเกี่ยวกับ “วันชาติ” คือการทำให้เป็น “วันหยุดราชการ” โดยในปี พ.ศ. 2482 เราจะเห็นได้ว่าได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน จากเดิมที่เป็น “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” กลายมาเป็น “วันชาติ” แต่อย่างไรก็ตามการยกระดับของ “วันชาติ” นั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อหาของวันรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก “งานรัฐธรรมนูญ” มาสู่ “วันรัฐธรรมนูญ” แน่นอนว่าเนื้อหาของงานจะเน้นความสำคัญของรัฐธรรมนูญว่ามีผลสำคัญต่อ “ประเทศ” หรือ “ชาติ” แต่ก็ยังเน้นไปที่รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ แต่ “วันชาติ” นั้นเดิมคือ “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเนื้อหาเดิมก็ยังคงอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น “วันชาติ 24 มิถุนายน” ก็ยังมีรากที่ไม่ลึกเท่ากับ “วันรัฐธรรมนูญ” และค่อนข้างที่จะเป็นของใหม่ในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น จึงง่ายต่อการที่จะถอดถอนวันชาติ 24 มิถุนายนออกไปในทศวรรษ 2500 ซึ่งผิดกับ “วันรัฐธรรมนูญ” ที่มีรากหยั่งลึกและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแต่กลับตายแบบยืนต้น

ประการถัดมาเมื่อ “วันชาติ” กลายเป็นสิ่งใหม่ของสังคม รัฐจึงพยายามอย่างมากที่จะผลักดันให้วันสำคัญดังกล่าวนี้ให้มีความสำคัญและให้กลายเป็นสำนึกของจุดเริ่มต้นต่าง ๆ ของพลเมือง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อธิบายว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำการรณรงค์เรื่องชาติอย่างเต็มที่ โดยมี “วันชาติ” เป็นจุดเริ่มต้นให้กับเรื่องอื่น ๆ ตั้งแต่การฉลองผลสำเร็จของการแก้สนธิสัญญากับต่างประเทศ หรือการเปลี่ยนชื่อประเทศ และที่สำคัญคือการใช้ “วันชาติ” ในการเป็นพิธีเปิดสถานที่และสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นวิธีการที่สำคัญของจอมพล ป.พิบูลสงครามในการผลักดันให้ “วันชาติ” มีความสำคัญ[16]ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเองก็ได้ใช้แนวคิดเรื่องฤกษ์อันเป็นแนวคิดดั้งเดิมของสังคมไทยมาปรับใช้โดยทำให้ “วันชาติ” กลายเป็นฤกษ์ที่ดีในการเริ่มต้นกระทำสิ่งใหม่ ๆ ของพลเมือง อีกทั้งรัฐยังได้พยายามเข้าไปจัดการกับพิธีกรรมของวันสำคัญแห่งชาติอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องไปกับการสร้างสำนึกความเป็นชาติอีกด้วย ดังเช่น การจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติที่ต้องการจะส่งเสริมและเพิ่มประชากรทั้งปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ต่างถูกคาดหวังที่จะเป็นหน่วยการผลิตพลเมืองไทยหรือ “แม่พันธุ์แห่งชาติ” [17] ที่มีคุณภาพเพื่อตอบรับนโยบายการสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจ เป็นต้น

ประการสุดท้ายการที่อุดมการณ์เรื่องชาติเป็นสิ่งที่ได้ถูกเน้นย้ำรองลงมาจากรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก จึงทำให้รัฐต้องสร้าง “ความเป็นอื่น” และ “ความเป็นเรา” โดยการใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์กระแสหลักที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะสร้างสำนึกความเป็นชาติให้กับพลเมือง การใช้แนวคิดเรื่องชาตินี้ผู้มีบทบาทสำคัญได้แก่หลวงวิจิตรวาทการ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันวันชาติเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวได้ว่าบทบาทของหลวงวิจิตรวาทการเกี่ยวกับการนิยามและสร้างความหมายเกี่ยวกับความเป็นชาตินั้นเริ่มมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2476 หลวงวิจิตรวาทการได้ตีพิมพ์งานเรื่อง “ลัทธิชูชาติ” ขึ้นซึ่งเป็นแนวคิดที่ปลุกระดมความรู้สึกเรื่องชาตินิยม โดยสายชล สัตยานุรักษ์ ได้วิเคราะห์ว่า คำดังกล่าวเป็นคำที่หลวงวิจิตรวาทการแปลมาจากคำว่า “Nationalism” ซึ่งจะส่งผลให้มีการปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นความพยายามที่จะเบียดขับคำนิยามของคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมไปพร้อม ๆ กัน[18]

จากที่ได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ “วันชาติ 24 มิถุนายน” จะเห็นได้ว่าแม้วันสำคัญดังกล่าวนี้เพิ่งจะมาถูกขับเน้นในช่วง 6 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองรวมถึงมีสิริรวมอายุทั้งสิ้นเพียง 22 ปี (2481-2503) จึงทำให้เห็นว่าสำนึกเกี่ยวกับวันดังกล่าวมีรากเหง้าที่ไม่ลึกมากนัก แม้ว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจะพยายามทำให้วันที่ 24 มิถุนายนฝังรากลึกลงในสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งเรื่องฤกษ์ยามดังที่ได้กล่าวไป อีกทั้งยังมีการให้วันที่ 24 มิถุนายนได้มี“วันปลูกต้นไม้” ร่วมอยู่ด้วย แต่ท้ายที่สุดเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ก็ได้มีการเข้ามาจัดการกับวันที่ 24 มิถุนายนด้วยการ เปลี่ยนให้ “วันพระราชสมภพ” กลายเป็นวันชาติ (โดยพฤตินัย)[19] และยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายนออกไปจากปฏิทิน[20]และการที่มี “วันปลูกต้นไม้” ร่วมอยู่ในนั้นก็ได้มีการย้ายวันปลูกต้นไม้ไปไว้ในวันเข้าพรรษาแทน[21]โดยเชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะทำใช้ช่องปฏิทิน 24 มิถุนายนกลายเป็นความว่างเปล่าให้มากที่สุด 

การพยายามทำให้ช่องปฏิทิน 24 มิถุนายน ว่างเปล่าไม่ได้เพียงแค่ทำการยกเลิกโยกย้ายวันสำคัญออกไปเท่านั้น แต่จากที่ได้กล่าวไปว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำให้วันที่ 24 มิถุนายนกลายเป็นฤกษ์ยามที่ดี รัฐบาลหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ก็ได้เข้ามาจัดการในเรื่องนี้อีกด้วย โดยหลังจากที่มีการยกเลิก “วันชาติ 24 มิถุนายน” ในปี พ.ศ. 2503 และสถาปนาให้วันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 เป็น “วันชาติ” แทนเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าสถานที่ราชการต่าง ๆ ก็ยังคงยึดถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันเปิดสถานที่ราชการหรือกระทำพิธีการต่าง ๆ อยู่เช่นเดิม ซึ่งทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีคำสั่งว่า การจะเปิดสถานที่ราชการหรือกระทำพิธีการต่าง ๆ ควรจะพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องกระทำในวันที่ 24 มิถุนายน เสมอไป และมีหนังสือสั่งการจากปลัดกระทรวงมหาดไทยส่งถึงสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดรวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จึงทำให้สำนึกความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายนได้ถูกล้มล้างออกจากหน้าปฏิทินของรัฐไทยจนถึงปัจจุบันและถือเป็นวันสำคัญที่ตายไปแล้วในทางประวัติศาสตร์

เนื่องจากทางการไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีความรู้สึกเกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน จึงได้แจ้งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ตลอดถึงเทศบาลและสุขาภิบาลว่า ถ้ามีกำหนดการจะทำการพัฒนาหรือพิธีการอันใด เนื่องจากในวันที่ 24 มิถุนายน ไว้แล้ว ก็ขอให้เลื่อนไปทำในวันอื่นเสียทั้งสิ้น...[22]

 

“ดั่งเป็นยักษ์ที่เพิ่งตื่น”: การเกิดขึ้นและขยายตัวของสำนึกการเมืองมวลชน

 

จากที่ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วก็พอจะเห็นได้แล้วว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมากล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้ว ซึ่งชาตรี ประกิตนนทการยังได้อธิบายด้วยว่ากลุ่มคณะราษฎรถือเป็นกลุ่มบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ถือกำเนิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกคือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่หลังจากนั้นเพียง 15 ปี ความทรงจำอันเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรได้ทำให้ถูกลืมและถูกตีความใหม่ให้เป็นไปในแง่ลบ จนกล่าวได้ว่าคณะราษฎรได้ตายไปอย่างสิ้นเชิงในความทรงจำทางประวัติศาสตร์ แต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาความทรงจำอันเกี่ยวกับคณะราษฎรได้ถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในฐานะวีรชนและสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำสังคมไทย[23]อย่างไรก็ดีการเกิดขึ้นใหม่ของวันสำคัญดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่าเป็นภาพสะท้อนของการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนที่ขยายตัวตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ดังนั้นในหัวข้อนี้จึงเป็นการอธิบายที่มาและการขยายตัวของสำนึกการเมืองแบบใหม่ก่อนที่จะไปอธิบายการเกิดขึ้นใหม่ของวันที่ 24 มิถุนายนในหัวข้อต่อไป 

สำหรับกรอบแนวคิดเรื่อง “การเมืองมวลชน”ที่ผู้เขียนได้นำมาใช้ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้รับแนวคิดมาจากบทความเรื่อง การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี ของนิธิ เอียวศรีวงศ์[24]โดยบทความชิ้นนี้ได้เสนอว่าการเมืองของรัฐไทยนั้นเป็นการเมืองมวลชนที่ไม่มีมวลชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการเมืองมวลชนภายใต้การครอบงำของกระฎุมพี กล่าวคือเป็นระบบการเมืองที่ดำเนินไปบนการเมืองมวลชนที่มีแค่เพียงรูปแบบแต่มวลชนไม่สามารถขึ้นไปมีผลกำกับนโยบายหรือการแบ่งสรรผลประโยชน์ของกลุ่มกระฎุมพีแต่อย่างใด[25]ซึ่งหากจะกล่าวให้ง่ายก็คือระบบการเมืองไทยเป็นระบบการเมืองที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มโดยที่ประชาชนไม่สามารถที่จะขึ้นไปก้าวก่ายได้แต่อย่างใด

ในงานชิ้นนี้นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ใช้การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างการเมืองมวลชนกับกระฎุมพี รวมไปถึงการอธิบายลักษณะเฉพาะและการเกิดขึ้นของกระฎุมพีของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เพื่อหาลักษณะร่วมและความแตกต่างกัน โดยลักษณะของตะวันตกนั้นกระฎุมพีได้เลือกการเมืองมวลชนเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของหลักการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเอาไว้จากเจ้าศักดินา แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะขัดขวางและควบคุมระบบการเมืองมวลชนเพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้กระทบต่อประโยชน์ของกลุ่มกระฎุมพี ด้วยการพัฒนาอภิสิทธิ์ของตนให้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง อีกทั้งยังสร้างสถาบันและประเพณีพิธีกรรมหลายอย่างขึ้นเป็นของตนเองเพื่อแยกกลุ่มตนเองออกจากผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่มกระฎุมพีเพื่อรักษาระเบียบทางสังคมที่ครอบงำโดยกระฎุมพีเอาไว้

สำหรับประเทศไทยความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองมวลชนกับกระฎุมพีนั้นมีจุดร่วมที่เหมือนกับในฝั่งตะวันตกนั่นก็คือการพยายามขัดขวางและควบคุมการเมืองมวลชนเพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย แต่ความแตกต่างนั้นคือกลุ่มกระฎุมพีของไทยไม่ได้เลื่อมใสในเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม อีกทั้งความเชื่อในเสรีนิยมทางการเมืองที่กระฎุมพีตะวันตกได้ใช้ในการเปิดการเมืองมวลชนก็ไม่ได้รับการให้ความสำคัญจากกระฎุมพีของไทยเช่นเดียวกัน โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายว่าเป็นผลมาจากการที่กลุ่มกระฎุมพีไทยเติบโตขึ้นมาภายใต้ระบบศักดินา ซึ่งแตกต่างจากกระฎุมพีตะวันตกที่เติบโตขึ้นภายนอกระบบศักดินา ส่งผลให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจของกระฎุมพีไทยมุ่งไปที่การแสวงหาเส้นสายกับรัฐเพื่อให้รัฐใช้อำนาจในการแทรกแซงตลาดเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มกระฎุมพีซึ่งนี่เป็นอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่กลุ่มกระฎุมพีได้ยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับกระบวนการในการควบคุมและกีดกันมวลชนของกลุ่มกระฎุมพีไทยนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าการเข้ามาของการเมืองมวลชนแบบฉับพลันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นได้มีความพยายามที่สกัดกั้นการเมืองมวลชนไม่ให้ดำเนินไปสู่การเป็นประชาธิปไตยเนื่องจากอาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ของกระฎุมพีได้ แต่การที่กลุ่มกระฎุมพีของไทยเกิดขึ้นภายใต้ระบบศักดินากลับทำให้กลุ่มกระฎุมพีไทยมีความแตกต่างจากตะวันตกนั่นก็คือไม่มีแบบแผนทางวัฒนธรรมของชนชั้นตนที่จะนำมาใช้ในการขัดขวางการเมืองมวลชน จึงทำให้กลุ่มกระฎุมพีของไทยหันไปหาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมของชนชั้นสูงในการกีดกันการเมืองมวลชนและเพื่อดำรงผลประโยชน์ในสถานะของตนไว้ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามเข้ามาแทรกแซงในการกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านการตั้งสถาบันต่าง ๆ ของกลุ่มตน ซึ่งทำให้พรรคการเมืองที่อิงอยู่กับการเมืองมวลชนแทบจะถูกกีดกันออกไปจากการกำหนดนโยบายสาธารณะหรือต้องทำตามแนวทางที่ถูกกลุ่มกระฎุมพีได้วางไว้

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในระบอบการเมืองดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่มาปะทะต่อการเมืองของกลุ่มกระฎุมพีคือการ “ตื่นตัวของการเมืองมวลชน” โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มาจากการขยายตัวของการเมืองมวลชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา พร้อมทั้งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ยังส่งผลให้กระฎุมพีบางกลุ่มได้เห็นช่องทางในการเข้าสู่อำนาจและดำรงอำนาจไปบนกระแสการเมืองมวลชน ดังจะเห็นได้จากการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้จัดให้เป็นหนึ่งในบรรดากระฎุมพีด้วยเช่นกันที่ได้ใช้การเข้าสู่อำนาจและครองอำนาจผ่านคะแนนเสียงเลือกตั้งจากมวลชน อีกทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทักษิณยังเปลี่ยนรูปความสัมพันธ์จากที่เคยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ มาเป็นความนิยมยกย่องผู้นำผ่านนโยบายประชานิยมที่จะค่อย ๆ เข้ามาเปลี่ยนอุดมการณ์ทางสังคมที่อยู่ภายใต้ “อุดมการณ์สังคมสงเคราะห์” ให้กลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งทำให้ความคิดต่อสวัสดิการจากนโยบายเหล่านี้ได้กลายเป็นสิทธิที่ควรจะได้จากการเป็นพลเมือง แม้ว่าทักษิณ ชินวัตรจะกระทำการต่อสิ่งเหล่านี้ไปในแนวทางของกระฎุมพีที่ต้องการกีดกันมวลชนออกไปจากการตัดสินใจทางการเมืองและไม่ได้ต้องการที่จะทำให้การขยายตัวของการเมืองมวลชนพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็มองว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้การเมืองมวลชนของไทย เริ่มมีทิศทางที่เป็นอิสระของตนเอง ก้าวข้ามอุดมการณ์สังคมสงเคราะห์และระเบียบทางสังคมช่วงชั้นที่ต้องมีหัวมีก้อยของกระฎุมพี มองเห็นการเลือกตั้งเป็นบันไดสำคัญในการไต่เต้าทางสังคม และมองเห็นรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตัวเอง[26]

จากคำอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์จะเห็นได้ว่าในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาระบบการเมืองไทยกำลังก้าวมาสู่การเปลี่ยนแปลงจากที่เคยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มคนในส่วนบนของพีระมิดมาสู่กลุ่มคนในฐานล่างลงมาเป็นวงกว้าง จากการตื่นตัวของ “สำนึกการเมืองมวลชน”[27]อันเป็นสำนึกที่ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยและมองการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความก้าวหน้าในชีวิต ส่งผลให้นับจากนี้การตัดสินใจในผลประโยชน์ทางการเมืองจะไม่ใช่เรื่องและไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของชนชั้นนำแต่เพียงเท่านั้นอีกต่อไป

แม้ว่าผู้เขียนจะอธิบายการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ไปแล้วในข้างต้น อย่างไรก็ตามการจะทำความเข้าใจต่อสำนึกดังกล่าวนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่อธิบายถึงบริบทที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของสำนึกดังกล่าวนี้ ยังคงมีอีก 2 ประเด็นที่จะต้องนำมาอธิบายในที่นี้ด้วยก็คือเงื่อนไขทางการเมืองที่ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวของสำนึกการเมืองมวลชน สำหรับเงื่อนไขทางการเมืองที่ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องมาจากการที่ดุลยภาพทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 2520 (หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ”) ได้เดินมาถึงจุดเปลี่ยนหลังการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี พ.ศ. 2531 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล พร้อมกับการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณซึ่งเป็นตัวแทนคนสำคัญของฝ่ายอำนาจธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างทางการเมืองดังกล่าวนี้ได้ส่งผลให้ฝ่ายธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่ และมุ่งปรับโครงสร้างของระบบราชการและเศรษฐกิจเพื่อเกื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ[28]ซึ่งในท้ายที่สุดได้นำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะกับกองทัพ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์นอกจากความขัดแย้งภายในรัฐบาลแล้ว ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือกลุ่มทางสังคมนอกระบบราชการที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพเนื่องมาจากการแตกแยกภายในรัฐบาล โดยในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งเป็นรัฐบาลระบบพรรคร่วมว่ามุ่งแต่จะคำนึงถึงแต่การพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพในลักษณะของการประนีประนอมที่คำนึงแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐบาล[29]และยังวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอีกด้วยที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้ง ๆ ที่ภัยของคอมมิวนิสต์ได้จบไปแล้ว ขณะเดียวกันด้วยท่าทีของกองทัพต่อการสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นการย้ำให้เห็นด้วยว่าระบบการเมืองของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นเป็นการยากที่จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน โดยวิทยากร เชียงกูล ได้อธิบายถึงปัญหาของสังคมไทยในช่วงเวลานั้นว่าเป็นปัญหามาจากการฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำมากเกินไป โดยมีความเชื่อว่าผู้นำจะต้องเป็นทหารหรือได้รับความเห็นชอบจากกองทัพรัฐบาลจึงจะมั่นคง[30] นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ด้วยว่าระบบการเมืองดังกล่าวนี้ได้ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเมืองที่คล้ายกับละครซึ่งจะจบฉากเหมือนทุกครั้งคือการที่พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอย่างไรก็ตาม[31]

ความเบื่อหน่ายต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ปะทุออกมาเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษานำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้นัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531 โดยมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเรียกร้องให้กองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง หากไม่ทำตามข้อเสนอจะมีการชุมนุมใหญ่กว่าเดิม[32]และต่อมาในปีเดียวกันนี้เองพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ได้ตัดสินใจลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกชาติ ชายชุณหะวัณ ซึ่งทำให้ฝ่ายนายทุนนักการเมืองสามารถเข้ายึดกุมอำนาจทางการเมืองในรัฐสภา แต่ก็กล่าวได้ว่าการก้าวขึ้นมายึดกุมอำนาจรัฐของฝ่ายธุรกิจในรัฐสภาก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบนักและมักจะมีความขัดแย้งกับกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะกับกลุ่มของกองทัพที่ยังคงมีอำนาจอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้นำไปสู่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และตามมาด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวของประชาชนในการพยายามที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การยุติบทบาททางการเมืองของกองทัพและนำไปสู่ความเคลื่อนไหวในภาคสังคมที่ต้องการปฏิรูประบบการเมืองให้มีเสถียรภาพและเป็นประชาธิปไตยเต็มใบจึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้รับคำกล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถือเป็นผลสะท้อนของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 และแรงกดดันของกลุ่มพลังทางสังคมที่ต้องการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองด้วยการให้อำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ฝ่ายบริหารทำให้ฝ่ายบริหารได้แก่นายกรัฐมนตรีเป็นเอกเทศและมีอำนาจต่อรองที่เป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและรวมศูนย์เด็ดขาดขึ้นเหนือกลไกระบบราชการ ดังเช่นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาราชการแผ่นดิน เป็นต้น มีการจำกัดเงื่อนไขการย้ายพรรคของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรวมศูนย์อำนาจให้เด็ดขาดขึ้นเหนือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดร่วมรัฐบาล[33]อีกทั้งยังส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาจากการต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยการใช้ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (Party list) ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองระดับใหญ่โดยจะตัดสิทธิพรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้ได้ส่วนแบ่ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ แต่จะยกคะแนนเหล่านี้ไปให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้สัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อมากกว่าที่พรรคควรจะได้รับจากคะแนนเสียงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง[34]

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมืองด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ถูกคาดหวังว่าจะส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีอำนาจในการบริหารประเทศ ทำให้เห็นได้ว่ารัฐไทยในช่วงทศวรรษ 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งนี่เองได้เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่จะใช้ในการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็เป็นเพียงปีกหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ แต่ยังมีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้นที่ส่งผลให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสามารถครองอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งยังทำให้สำนึกการเมืองมวลชนได้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วด้วย

จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจและสังคมที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของสำนึกการเมืองมวลชนไปอย่างกว้างขวางคือการเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล อัตราการว่างงานในช่วงเวลานั้นอยู่ในระดับที่สูง มีสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ล้มละลายและปิดตัวไปถึง 56 แห่ง การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศเกิดการชะลอตัว[35]และวิกฤติทางเศรษฐกิจนี้ยังส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและการบริการอื่น ๆ ได้เข้าไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนข้ามชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องพึ่งเงินทุนจากหุ้นส่วนต่างชาติและรัฐบาลเองยังได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติอีกด้วยเนื่องจากเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)[36] 

ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจยังส่งผลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่” ที่ได้เคลื่อนย้ายตัวเองมาเป็นผู้ขายทักษะและความสามารถในเขตเมืองและเริ่มหลุดออกจากภาคการเกษตรมาสู่การผลิตที่ไม่เป็นทางการมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา[37]การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบอาชีพของกลุ่มคนเหล่านี้ ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายได้ส่งผลกระทบให้โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ นั้นต้องหยุดตัวลง เป็นผลให้คนงานนับพันคนต้องกลายเป็นคนตกงานและส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับไปสู่ท้องถิ่นของตน[38]การหวนคืนสู่ท้องถิ่นของกลุ่มคนเหล่านี้ต่อมาได้ส่งผลให้การผลิตที่ไม่เป็นทางการในท้องถิ่นได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ว่าภาวะเศรษฐกิจล่มสลายในปี พ.ศ. 2540 นักวิชาการมักจะลงความเห็นว่าทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ แต่วิกฤตการณ์นี้กลับเป็นโอกาสให้กับชาวชนบท เนื่องจากการที่กลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังประสบปัญหาอยู่นี้ ในทางหนึ่งได้เปิดช่องทางให้แก่บริษัทการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้เข้ามาเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาก่อน ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นรวมไปถึงคนที่ตกงานก็สามารถกลับมาสร้างงานในชุมชนของตน และกลุ่มคนในชนบทที่กำลังทำงานนอกระบบอยู่แล้วก็ได้ใช้โอกาสนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย[39]และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ยังได้ส่งผลให้ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เปลี่ยนตนเองมาสู่การทำการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกที่มุ่งไปสู่การเพาะปลูกขนาดใหญ่ หรือการผันตนเองไปเป็นผู้ใช้แรงงานหรือทำงานในภาคบริการ ทั้งหมดนี้ได้ทำให้แบบแผนการดำเนินชีวิตและระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยอยู่ในรูปแบบของสังคมชาวนามาสู่แบบแผนการดำเนินชีวิตผ่านการบริโภคและสัมพันธ์กันในรูปแบบที่คล้ายกับชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ[40]

จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤติเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ได้ใช้เงื่อนไขดังกล่าวนี้เพื่อสร้างฐานอำนาจของตนเองด้วยการดำเนินนโยบายในลักษณะประชานิยมยังส่งผลให้เกิดการตอบรับจากประชาชนและกลุ่มชนชั้นกลางใหม่เป็นอย่างมากและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนขึ้น จากแต่เดิมที่แบบแผนดังกล่าวนี้จะเป็นไปในรูปแบบของการสังคมสงเคราะห์ก็ได้เปลี่ยนมาสู่การบริการประชาชนในฐานะของการเป็นพลเมืองมากยิ่งขึ้นในรูปแบบของสวัสดิการที่ได้รับจากรัฐ[41]ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค) การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท หรือการจัดตั้งธนาคาร SMEs Bank เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการดำเนินการแก้ปัญหาทางสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานดังเช่นปัญหายาเสพติดหรือปัญหาผู้มีอิทธิพล ดังจะเห็นได้จากการประกาศสงครามกับยาเสพติดและการปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างเข้มข้น โดยการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ยังได้รับการศึกษาและอธิบายด้วยว่าเป็นการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำของรัฐบาล[42]และความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ได้ทำให้สำนึกในการตื่นตัวทางการเมืองได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นและทำให้พลเมืองส่วนใหญ่ได้มองว่ารัฐบาลแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ในท่วงทำนองชีวิตของพวกเขา

 

เมื่อสำนึกใหม่สร้างความทรงจำ

 

แม้ว่านิธิ เอียวศรีวงศ์จะอธิบายว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้เล็งเห็นวิธีเข้าสู่อำนาจและครองอำนาจได้จากคะแนนเสียงเลือกตั้งจากมวลชน จึงอาจจะทำให้มองได้ว่าทักษิณ ชินวัตรเป็นเสมือนผู้ถือครองหรือเจ้าของของสำนึกการเมืองแบบใหม่ อีกทั้งยังอธิบายว่าทักษิณ ชินวัตรได้ทำให้การเมืองมวลชนของไทยเริ่มมีทิศทางที่เป็นอิสระของตนเอง แต่เราก็ไม่ควรจะเข้าใจว่าสำนึกทางการเมืองดังกล่าวนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับของทักษิณ ชินวัตรอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าทักษิณ ชินวัตรจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ทางอำนาจผ่านสำนึกการเมืองมวลชน แต่เขาเองก็พยายามจะควบคุมสำนึกดังกล่าวนี้ไม่ให้เคลื่อนไหวเติบโตไปเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคำอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ว่าระบบการเมืองที่ถูกควบคุมไว้โดยกลุ่มกระฎุมพีจะมีความพยายามที่จะควบคุมการเมืองมวลชนไม่ให้เข้ามามีผลในการพัฒนาระบบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย จากคำอธิบายนี้ในทางกลับกันเรากลับเห็นว่าสำนึกการเมืองมวลชนของไทยกลับมีชีวิตและมีพลวัตรในตัวเองที่จะพัฒนาระบบการเมืองไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตย โดยปรากฎการณ์เหล่านี้ได้สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวสร้างสำนึกความทรงจำเกี่ยวกับ “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของสำนึกใหม่ที่มีการเติบโตมากยิ่งขึ้นและพยายามจะสร้างสำนึกความทรงจำของตนเองขึ้นมา

นับตั้งแต่การล้มล้างวันที่ 24 มิถุนายนออกไปจากหน้าปฏิทินของรัฐไทย ความทรงจำบนหน้าปฏิทินเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่พอจะเหลืออยู่ในช่วงเวลานั้นก็คือวันที่ 10 ธันวาคมหรือ “วันรัฐธรรมนูญ” ซึ่งความทรงจำเกี่ยวกับวันดังกล่าวนี้ก็ถูกทำให้กลายเป็นการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ของรัชกาลที่ 7 ซึ่งทำให้สำนึกเกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการพระราชทานมาจากกษัตริย์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเรายังเห็นถึงการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในช่วงทศวรรษ 2540 จากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรนั่นก็คือการผนวกสำนึกความทรงจำเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากพระราชวงศ์จักรี จากการเกิดขึ้นของ “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” (30 พฤษภาคม) ในปี พ.ศ. 2545[43] และ “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” (25 พฤศจิกายน) ในปี พ.ศ. 2546[44] การเกิดขึ้นของทั้งสองวันสำคัญนี้แน่นอนว่าต้องการที่จะเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 แต่จากรายละเอียดในการเสนอให้สร้างวันสำคัญของทั้งสองได้สะท้อนให้เห็นถึงการเน้นย้ำในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ สำหรับ “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” แม้ว่าสถาบันพระปกเกล้าผู้เสนอจะพยายามหยิบยกความสำคัญของรัชกาลที่ 7 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเป็นนักประชาธิปไตย นักการทหาร นักปกครอง นักการศึกษา ศิลปินและนักกีฬา ก็ตาม แต่สำนึกความทรงจำที่มีต่อรัชกาลที่ 7 นั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าถูกครอบงำด้วยเรื่องการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” อันเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยของไทย โดยมีการชี้แจงเหตุผลถึงการสร้างวันสำคัญดังกล่าวนี้โดยสถาบันพระปกเกล้าไว้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า

...เพื่อให้ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน โดยถือเป็นวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยประการอื่นเป็นประจำทุกปี...”[45]

สำหรับ “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เนื่องจากการเชื่อมโยงพระองค์เข้ากับสำนึกในระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ดีวันสำคัญดังกล่าวนี้ยังได้กลายเป็นความพยายามที่จะสร้างและผลิตซ้ำสำนึกความทรงจำเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยให้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากพระราชวงศ์จักรีอีกด้วย โดยเห็นได้จากหนังสือที่แนบมาด้วยกับข้อเสนอในการสร้างวันสำคัญดังกล่าวนี้คือหนังสือสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นการรวบรวมขึ้นเองของกรมแพทย์ทหารบก จะเห็นได้ว่าสำนึกความทรงจำอันเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 6 ที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุดก็คือเรื่องของ “ประชาธิปไตย”[46]ไม่ว่าจะเป็นสำนึกความทรงจำในการจัดระบอบการปกครอง “ดุสิตธานี” เพื่อส่งเสริมและทดลองวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างที่มาของพระราชกรณียกิจดังกล่าวว่า “...เรื่องการเดินทางไปสู่ประชาธิปไตยนั้น ไม่มีกระทรวงใดจะทรงมอบหมายให้จัดได้ จึงได้ทรงรับพระราชภาระเอง...”[47] หรือการอ้างว่าพระองค์ส่งเสริมและให้เสรีภาพในเรื่องของหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นการพยายามจะสะท้อนให้เห็นโดยนัยว่ารัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญกับในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าการสร้างสำนึกความทรงจำนี้ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะขยับหมุดของสำนึกความทรงจำในระบอบประชาธิปไตยที่ปักอยู่บนรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ให้เคลื่อนถอยลงมาสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งแทบจะเป็นการลบบทบาทของคณะราษฎรที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ออกไปและเป็นการย้ำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันเป็นมรดกไทยที่สำคัญที่ได้รับพระราชทานมาจากพระราชวงศ์จักรีและกลายเป็นสำนึกความทรงจำกระแสหลักของระบอบประชาธิปไตยของรัฐไทย

การเกิดขึ้นของวันสำคัญทั้ง 2 วันนี้ ยังเป็นผลสะท้อนต่อการพยายามที่จะสร้างสำนึกความทรงจำของสังคมไทยต่อระบอบประชาธิปไตยที่กำลังขยายตัวในสังคม ดังนั้นการเกิดขึ้นของวันสำคัญดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการสะท้อนถึงการสร้างสำนึกความทรงจำเพื่อระลึกถึงพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์แล้ว ยังเป็นการผนวกสำนึกความทรงจำของระบอบประชาธิปไตยเข้ากับสำนึกประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์จักรี ส่งผลให้สำนึกความทรงจำของสังคมไทยในเรื่องของประชาธิปไตยนั้นได้ถูกครอบงำไว้ด้วยการรับพระราชทานมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น แต่อีกนัยหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยได้มีความสำคัญที่มากขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องยกย่องบทบาทนักประชาธิปไตยให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ว่าความทรงจำอันเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยจะถูกผนวกเข้ากับพระราชวงศ์จักรีแล้วในสมัยของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ตามกลับพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2546 หลังการสร้างวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในสังคมเพื่อที่จะสร้าง “วันประชาธิปไตย” โดยใช้วันที่ 14 ตุลาคมมาเป็นวันสำคัญ เนื่องจากในปี พ.ศ. 2546 จะเป็นการครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ได้เสนอญัตติให้วันดังกล่าวนี้เป็น “วันประชาธิปไตย” และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและดำเนินการบรรจุเหตุการณ์ 14 ตุลา ไว้ในตำราเรียนด้วย[48]

จากการเสนอข้างต้นได้นำมาสู่การประชุมเพื่อพิจารณาต่อการสร้างวันสำคัญนี้ขึ้น โดยมีผู้เชียวชาญที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วยดังเช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี นายนรนิติ เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการสถาบันพระปกเกล้า นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ประชุมได้เห็นชอบกับการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็น “วันประชาธิปไตย” แต่ในทางกลับกันก็มีความเห็นตามมาด้วยว่าการเกิดขึ้นของวันสำคัญดังกล่าวนี้ต้องไม่เป็นผลให้ลบเลือนวันสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย เช่น วันที่ 24 มิถุนายน (ที่ถูกยกเลิกไปนานแล้ว) อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “วันรัฐธรรมนูญ” เป็นต้น[49]ซึ่งทำให้ในช่วงเวลานี้วันที่ 24 มิถุนายนได้ถูกนำกลับมาพูดในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะลงมติให้มีการใช้ชื่อ “วันประชาธิปไตย” ก็ตาม และดูเหมือนว่าวันสำคัญดังกล่าวนี้จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ภายในคณะรัฐมนตรีกลับไม่เป็นไปตามนั้นเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อ “วันประชาธิปไตย” โดยอ้างเหตุผลว่าระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยก็มีหลายวัน การใช้ชื่อ “วันประชาธิปไตย” อาจจะไม่เหมาะสมเพราะจะทำให้เกิดความสับสนและคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย[50](ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวนี้น่าสังเกตด้วยว่าวันสำคัญแห่งชาติที่มีอยู่ในเวลานั้นที่พอจะกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยได้มีเพียงแค่ “วันรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น) โดยคณะรัฐมนตรีก็ได้มีการเสนอชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมมาให้พิจารณาเป็นชื่อวันด้วย ดังเช่น “วันพลังประชาธิปไตย” “วันวิถีประชาธิปไตย” “วันรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย” “วันเจตนารมณ์เพื่อประชาธิปไตย” “วันสืบทอดประชาธิปไตย” “วันวีรชนประชาธิปไตย” “วันเหตุการณ์ประชาธิปไตย” “วันสิทธิเสรีภาพ” เป็นต้น เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันต่อกรณีชื่อวันประชาธิปไตยด้วยว่า

...หากรัฐสภาจะยืน โดยไม่สนใจว่าคนทั้งโลกจะคิดว่าประเทศไทยเริ่มมีประชาธิปไตยวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่ว่ากันแต่มติของรัฐสภาจะมาบังคับรัฐบาลไม่ได้เพราะเป็นคนละอำนาจอธิปไตย แต่ก็พูดกันด้วยดีได้ โดยคิดถึงประเทศในภาพรวม แต่ไม่ใช่เพราะว่า เป็นเพราะได้ต่อสู้เรียกร้องในขณะนั้นมาจึงเอาวันนี้เป็นวันที่ดีที่สุด ไม่ใช่ อยากถามว่า ของเก่าอย่างอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ตรงสี่แยกคอกวัว ที่เราเรียกกันว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถ้าเราไปดูประตูมี 6 ด้านหมายถึงเดือน 6 บันได 24 ชั้น หมายถึง วันที่ 24 ท้ายปืนใหญ่มีหมุด 75 อัน นั่นคือ วันที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นประชาธิปไตยโดยมอบอำนาจให้แก่คณะราษฎรถ้าตรงนั้นเราไม่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย ผมขอถามว่า ตกลงเราจะเรียกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่ จะเปลี่ยนชื่อรึเปล่า หรือจะเป็นอนุสาวรีย์ไว้เรียกร้องประชาธิปไตยจะได้เปลี่ยนชื่อถูกว่า เป็นอนุสาวรีย์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เวลาใครเดินขบวนก็ไปอยู่ที่นั่น มันขัดแย้งกันอยู่ แต่ถ้าพูดว่า ผมเชียร์ 14 ตุลาแล้วจะเอาวันที่ 14 ตุลา เป็นประชาธิปไตย แล้ววันอื่นที่มีความหมายทางประชาธิปไตยเราจะทิ้งไว้ไหน...[51] 

น่าสังเกตว่าถึงแม้ทักษิณ ชินวัตรจะอ้างถึงวันที่ 24 มิถุนายน แต่ก็เป็นการพูดถึงว่าเป็นการพระราชทานประชาธิปไตยมาจากรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ดีการปฏิเสธที่จะใช้ชื่อ “วันประชาธิปไตย” ของคณะรัฐมนตรีได้นำไปสู่ความขัดแย้งทั้งต่อคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภาและวุฒิสภา และนำไปสู่การถกเถียงภายในสังคมเป็นวงกว้างและมีการรื้อฟื้น “วันที่ 24 มิถุนายน” ขึ้นมาในสังคมไทยอีกครั้งดังเช่นจากความเห็นของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยความคิดดังกล่าวยังได้สอดคล้องไปกับความเห็นของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ออกมาให้ความเห็นในก่อนหน้านี้ว่า “...แล้วพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 อยู่หน้าสภาจะมีความหมายอะไร ท่านจะคิดอย่างไร และคณะราษฎรเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจะเอาไปไว้ที่ไหน...”[52] ซึ่งก็ทำให้นายกรัฐมนตรีได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามไปอีกด้วย[53]โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้วิจารณ์เรื่องดังกล่าวนี้ไว้ด้วยว่า

 ...คำถามที่ควรถามกลับไปยัง พ.อ.ณรงค์ คือเหตุใดในสมัยที่ พ.อ.ณรงค์ เป็นใหญ่เป็นโตในยุคที่พ่อตน จอมพลถนอม และพ่อตาจอมพลประภาส ครองอำนาจแบบเชิงเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดินอยู่ถึง 10 ปี และที่จริงแล้วก็ควบคุมอำนาจของประเทศนี้มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วรวมเป็นเวลาถึง 16 ปี เหตุใดพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เคยสนใจคำว่า 24 มิถุนายน และคณะราษฎรเลย กลับเป็นตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านี้ทั้งกิตติขจรและจารุเสถียร ต่างก็กลัวชื่อของ 24 มิถุนายน ด้วยซ้ำไป กลัวถึงขนาดถึงขั้นที่ว่าพวกเขาคือกลุ่มที่ทำการลบล้างวันชาติ 24 มิถุนายนลงไป พวกเขาคือกลุ่มที่ทำให้ชื่อคณะราษฎร เป็นชื่อที่ไม่มีใครกล้าเอ่ยอ้างถึง...[54]

นอกจากนี้ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ยังได้วิจารณ์ต่อไปอีกว่าการ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกมาคัดค้านการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็น “วันประชาธิปไตย” นั้น เนื่องจากจะเป็นการขุดหลุมฝังความเป็นตัวแทนของระบบเผด็จการ อีกทั้งธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ยังได้แสดงความเห็นด้วยที่จะให้ชื่อวันดังกล่าวนี้เป็น “วันประชาธิปไตย” โดยให้เหตุผลว่า

...ในฐานะผู้สอนวิชาวิวัฒนาการทางการเมืองไทยในระดับมหาวิทยาลัย วันที่ 24 มิถุนายน ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎรนั้นมีความสำคัญในลำดับชั้นของวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยก็จริงอยู่ แต่สถานะทางประวัติศาสตร์ของวันเดือนปีนี้ก็คือการเปลี่ยนระบอบการปกครองที่ประสงค์ให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ในระยะต่อมา 24 มิถุนายน และคณะราษฎร ก็ถูกกำจัดออกไปจากเวทีประวัติศาสตร์โดยกลุ่มสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส-ณรงค์...ดังนั้นวันที่ 24 มิถุนายน และคณะราษฎร จึงเป็นความสำคัญของอดีตกาลที่ได้ถูกผลักตกเวทีประวัติศาสตร์ของคนรุ่นปัจจุบันโดยกลุ่มเผด็จการข้างต้นไปแล้ว การให้การศึกษาที่แท้จริงถึงเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำและถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของปัจจุบันสมัยที่จะไปรื้อฟื้นในแง่มุมทางสังคมการเมืองยุคนี้...ดังนั้นต่อคำถามว่าหาก 14 ตุลา เป็นวันประชาธิปไตยแล้ว 24 มิถุนายน จะเป็นวันอะไร คำตอบ 24 มิถุนายน ก็เป็นวันเปลี่ยนระบอบการปกครอง เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ แต่แล้ววันดังกล่าวก็ถูกล้มเลิกไป เพื่อยืนยันอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม บิดา พ.อ.ณรงค์ ด้วยวิธีการทั้งมีและไม่มีรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญของกลุ่มอำนาจนี้จึงหมายถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ ด้วยเหตุนี้พลังของคลื่นมหาประชาชน 14 ตุลา จึงล้มอำนาจรัฐบาลเผด็จการเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย 14 ตุลา คือวันประชาธิปไตย...นายกฯ ทักษิณจะเต้นไปตามเพลงของทรราช หรือร่วมบรรเลงกับเพลงประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญต่อสถานะทางการเมืองและประวัติศาสตร์ในฉากปัจจุบันนี้ทีเดียว[55]

จากความคิดเห็นของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ในช่วงเวลานั้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามจะจัดการกับสำนึกความทรงจำอันเกี่ยวกับวันที่ 14 ตุลาคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการกับความทรงจำที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดอีกด้วยและความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งทำให้การพยายามในการกำหนดวันประชาธิปไตยได้เป็นชนวนที่ส่งผลให้เกิดการแสวงหาวันสำคัญที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยอื่น ๆ ดังเช่นวันที่ 24 มิถุนายนตามมาอันเป็นการสะท้อนให้เห็น แรงผลักดันของการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนที่กำลังพยายามจะก้าวขึ้นมาพัฒนาระบบการเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตยและพยายามจะก้าวไปมีผลในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้ก็คือวันสำคัญแห่งชาติ โดยจะเห็นได้ว่าแม้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในทางหนึ่งจะสามารถเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากสำนึกทางการเมืองดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการที่จะให้สำนึกทางการเมืองดังกล่าวนี้ดำเนินไปอย่างมีอิสระที่รัฐบาลไม่สามารถที่จะควบคุมได้ดังจะเห็นได้ว่าการกำหนดวันสำคัญนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของวันที่ 14 ตุลาคมเท่านั้น แต่ในการถกเถียงในสังคมยังสะท้อนให้เห็นเค้าลางว่าวันที่ 24 มิถุนายนกำลังจะกลับมาอีกด้วย และการคัดค้านของรัฐบาลต่อการกำหนดชื่อวันสำคัญดังกล่าวนี้ในทางหนึ่งได้ส่งผลให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีได้รับการกล่าวหาในช่วงเวลานั้นว่าไม่มีจิตสำนึกทางประชาธิปไตยและมีการเคลื่อนไหวจากเหล่าบรรดา “คนเดือนตุลา” ดังเช่นนายวิทยา แก้วภราดัย ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ได้เสนอชื่อวันดังกล่าวนี้ใหม่เพื่อประชดรัฐบาลว่า “วันโค่นล้มเผด็จการ”[56]นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีแนวคิดทางประชาธิปไตยที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ของชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองในขณะนั้นว่า

...นายกทักษิณมีแนวคิดประชาธิปไตยระดับอนุบาล คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ล้าหลังย้อนยุคไปกว่า 30 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540...[57] 

กระแสการเรียกร้องให้มี “วันประชาธิปไตย” ที่ได้กล่าวไปนี้ได้สะท้อนให้เห็นการขยายตัวของสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนที่มีความพยายามที่จะสร้างสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินของตนเองเกี่ยวกับระบบการปกครองขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการพยายามที่จะกำหนดให้สำนึกความทรงจำในระบอบประชาธิปไตยได้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยใช้ชื่อ “วันประชาธิปไตย” ยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสำนึกความทรงจำที่พยายามจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นสำนึกประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์จักรีอีกด้วย ดังนั้นการที่รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีต่อการกำหนดชื่อ “วันประชาธิปไตย” ทั้ง ๆ ที่มีมติสภาเห็นชอบในทางหนึ่งนั้นอาจจะสะท้อนให้เห็นได้อีกด้วยว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตรไม่ได้ต้องการที่จะขัดแย้งกับสำนึกความทรงจำเก่าแต่อย่างใด จึงพยายามทำให้วันสำคัญดังกล่าวนี้เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์เท่านั้นไม่ใช่เป็นการระลึกถึง “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งในส่วนนี้ความคิดเห็นของสุรชัย จันธิมาทร ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะดังกล่าวของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ดังนี้

...เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมนายกรัฐมนตรี ถึงขอให้เปลี่ยนชื่อทั้งที่ผ่านมติรัฐสภามานานแล้ว และปกตินายกรัฐมนตรีก็เป็นตัวของตัวเองสูง เชื่อว่าน่าจะเกิดจากเสียงทักท้วงจากคนบางกลุ่ม และผู้ใหญ่บางคน เพราะต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา มีพวกระบบเก่าเข้ามาเกี่ยวข้อง นายกฯจึงเกิดความลำบากใจคำว่าประชาธิปไตย...[58] 

กล่าวได้ว่าความเคลื่อนไหวของสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนในการผลักดันสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินดังกล่าวนี้ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนที่กำลังเติบโตขยายตัว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งที่จะผนวก “วันประชาธิปไตย” ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลผ่านการเป็น “วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย” และเชื่อว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นของวันสำคัญดังกล่าวนี้ยังส่งผลให้รัฐบาลต้องพยายามที่จะหาวิธีในการที่จะควบคุมและยับยั้งสำนึกต่าง ๆ ภายในรัฐเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่ท้าทายรัฐบาลเช่นนี้อีก จากปรากฎการณ์เหล่านี้จะทำให้เห็นว่าการพยายามจะหยุดยั้งกระแสสำนึกการเมืองมวลชนของทักษิณ ชินวัตรในท้ายที่สุดจะกลายมาเป็นดาบสองคมที่ใช้ล้มรัฐบาลของเขาในเวลาต่อมา โดยในความพยายามที่จะหยุดยั้งการท้าทายของสำนึกใหม่บนหน้าปฏิทินพบว่าในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีมติมอบให้รองนายกรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองาม รับไปกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณากำหนดให้วันใดเป็น “วันแห่งชาติ” โดยให้เหตุผลว่า

...เพื่อให้สะท้อนถึงคุณค่าของวันดังกล่าวอย่างแท้จริง และไม่เกิดความซ้ำซ้อนกัน โดยพิจารณารวมถึงความเหมาะสมในการยกเลิกหรือคงไว้สำหรับวันสำคัญแห่งชาติที่ได้กำหนดไปแล้วด้วย...[59] 

การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากมีการพยายามที่จะให้ “พิจารณารวมถึงความเหมาะสมในการยกเลิกหรือคงไว้สำหรับวันสำคัญแห่งชาติที่ได้กำหนดไปแล้วด้วย” ซึ่งทำให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นการเข้าไปจัดการเฉพาะกับรูปแบบของวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพิจารณาถึงความหมายเพื่อจะยกเลิกหรือคงไว้ต่อวันสำคัญเหล่านั้นได้อีกด้วย แม้จะเชื่อได้ว่าการกำหนดดังกล่าวนี้ก็เพื่อที่จะให้รัฐบาลสามารถที่จะยับยั้งสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนเพื่อไม่ให้เกิดการสร้างสำนึกความทรงจำที่อาจจะกระทบกับสำนึกความทรงจำกระแสหลักก็ตาม แต่ในทางกลับกันมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้กลับเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กำลังจะเข้าไปจัดการควบคุมสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินของรัฐไทยอย่างเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองามรับไปกำหนดแนวทางของวันสำคัญและถึงแม้จะไม่พบว่าได้มีการวางหลักเกณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมไว้อย่างไร แต่มติคณะรัฐมนตรีนี้ก็ได้เริ่มทำหน้าที่ในการควบคุมหน้าปฏิทินทันทีและการควบคุมนี้ยังส่งผลให้ “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” (6 พฤษภาคม) ที่ถูกเสนอมาจากกองทัพบกได้ “ถูกตัด” คำว่า “แห่งชาติ” ออกโดยให้เหลือแค่ “วันกำลังสำรอง” แม้ว่าทางกองทัพบกจะอธิบายว่าการสร้างวันสำคัญนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกำลังสำรองและกำลังสำรองทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติและระลึกถึงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงจัดตั้งกองเสือป่า และถึงแม้ว่ากองทัพบกจะอ้างต่อไปด้วยว่าได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6) แล้ว[60]แต่ผลจากมติคณะรัฐมนตรีนี้ก็ทำให้วันสำคัญนี้ไม่ได้รับให้มีคำว่า “แห่งชาติ” โดยมีการอภิปรายและมีข้อสรุปดังนี้

...ในระยะหลังมีส่วนราชการขอกำหนดวันสำคัญเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและไม่เป็นวันหยุดราชการ...คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ว่า วันสำคัญแห่งชาติควรมีหลักเกณฑ์และแนวทางพิจารณากำหนดให้สะท้อนถึงคุณค่าของวันดังกล่าวอย่างแท้จริงและไม่ซ้ำซ้อนกัน การมีวันสำคัญแห่งชาติมากเกินไปและซ้ำซ้อนกันอาจทำให้เกิดการทำกิจกรรมหรือพิธีการที่ขัดแย้งกันได้...การขออนุมัติให้วันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันกำลังสำรองแห่งชาติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอตรงกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งภาครัฐจะจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น การจัดกิจกรรมของกระทรวงกลาโหมในวันนี้ จึงควรเป็นการวางพานพุ่มสักการะและบำเพ็ญกุศล นอกจากนี้ ในการกำหนดวันใดเป็นวันสำคัญหน่วยงานต่าง ๆ ก็อาจพิจารณากำหนดและจัดให้มีกิจกรรมภายในได้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว เช่น วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี กระทรวงยุติธรรมกำหนดให้เป็นวันรพี ซึ่งก็นับว่าเป็นวันสำคัญและมีการจัดกิจกรรมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้วันดังกล่าว เป็นวันสำคัญของกระทรวงกลาโหมโดยยังไม่ต้องกำหนดให้เป็นวันแห่งชาติ...[61]

จากการพิจารณาดังกล่าวนี้ได้เป็นผลให้ “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” ได้ถูกอนุมัติให้เป็น “วันกำลังสำรอง” แทน แม้ว่าสำนึกความทรงจำดังกล่าวนี้จะเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็มักจะได้รับการอนุมัติเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่ารัฐบาลก็ยังพยายามที่จะเข้าไปควบคุมและจัดการกับรูปแบบและความหมายของวันสำคัญ เชื่อว่าท่าทีการละเมิดสำนึกความทรงจำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมารวมและใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างต่อการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นของการละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์

จากที่กล่าวไปนี้จะเห็นได้ว่าสำนึกการเมืองแบบใหม่ที่ได้รับการกระตุ้นและขยายตัวจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และถึงแม้จะเหมือนอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าสำนึกทางการเมืองดังกล่าวนี้ก็มีอิสระและทิศทางของตนเองจนสามารถที่จะสร้างสำนึกความทรงจำเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา แม้ว่าในท้ายที่สุดจะถูกควบคุมไว้ได้โดยรัฐบาลก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสำนึกการเมืองดังกล่าวนี้จะถูกโค่นล้มไปอย่างใดแต่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งผลจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566 และกระแสการเสนอให้วันที่ 24 มิถุนายนกลับมาเป็นวันชาติก็เป็นผลที่สืบเนื่องจากกระแสการเมืองมวลชนที่เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลานี้ด้วย

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือการหยิบใช้ประวัติศาสตร์ในการอ้างอิงประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีวันสำคัญที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาถึงสองวันและเชื่อมโยงกับกษัตริย์ถึงสองพระองค์ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกลับเกิดการแสวงหาสำนึกความทรงจำที่พ้นไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคมขึ้นมา แม้จะกล่าวได้ไม่เต็มปากว่าความทรงจำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นถึงการเริ่มตื่นขึ้นจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมพร้อมทั้งริเริ่มหยิบใช้สำนึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของสำนึกการเมืองมวลชนที่พ้นไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐ และด้วยในช่วงเวลานั้นความขัดแย้งกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมยังไม่เกิดขึ้นเข้มข้นเท่ากับหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ก็ทำให้รูปแบบของสำนึกความทรงจำที่ถูกหยิบใช้จึงยังไม่ได้ขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อภายหลังการรัฐประหารแล้วสำนึกการเมืองมวลชนกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมได้มีทิศทางที่แยกจากกันอย่างชัดเจนจึงส่งผลให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบใช้มีความเป็นปรปักษ์ต่อกันมากยิ่งขึ้นไปด้วยดังเช่นกระแสของวันที่ 24 มิถุนายน รวมทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคมก็ถูกหยิบนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวของการเมืองมวลชนอย่างกว้างขวาง

 

บทสรุปและพิจารณาการเกิดใหม่ของ “วันชาติ 24 มิถุนายน”

 

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่ากระแสธารของ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของสำนึกการเมืองมวลชนที่ขยายตัวอย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาโดยเริ่มจากการพยายามผลักดัน “วันประชาธิปไตย” และต่อมาจากปรากฎการณ์ทางสังคมการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 สำนึกการเมืองดังกล่าวนี้ก็มีพลวัตรภายในตนเองจนก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ให้ความสำคัญกับ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ขึ้นมา และเมื่อเรามองกระแสวันชาติ 24 มิถุนายนผ่านแว่นตาดังกล่าวนี้จะทำให้เห็นได้ว่า “วันชาติ 24 มิถุนายน” ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันไม่ใช่ของคณะราษฎรอีกต่อไป แต่เป็นวันสำคัญของกระแสสำนึกการเมืองแบบใหม่ที่ผลักดันให้เกิดขึ้น 

น่าสนใจที่จะวิเคราะห์ต่อไปว่าสำนึกการเมืองมวลชนที่กำลังขยายตัวอยู่ในสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการพยายามที่จะพัฒนาระบอบการเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตย เพื่อให้มวลชนเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งครั้งหนึ่ง “พรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน, พรรคเพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร” ได้เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ของสำนึกการเมืองดังกล่าวนี้ในระดับหนึ่งเป็นอย่างดี แต่เมื่อภายหลังไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อการขยายตัวของสำนึกการเมืองแบบใหม่นี้ได้แล้ว สำนึกการเมืองมวลชนก็หันไปหาพรรคการเมืองอื่นเพื่อใช้ตอบสนองต่อตนเองต่อไปดังปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งของปีพ.ศ. 2566 ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่พรรคอันดับ 1 อีกต่อไปแล้ว ควรจะย้ำไว้ในที่นี้ด้วยเช่นกันว่าแม้จะมีพรรคการเมืองใหม่ได้เข้ามาเล่นกับกระแสธารของสำนึกการเมืองมวลชนก็ตาม แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าพรรคก้าวไกลก็ไม่ใช่ผู้ถือครองหรือเจ้าของสำนึกการเมืองแบบใหม่นี้เฉกเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร เพราะเมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสำนึกการเมืองมวลชนได้แล้ว สำนึกทางการเมืองแบบใหม่นี้ก็จะแสวงหาพรรคการเมืองที่จะมาเป็นตัวแทนต่อไป 

ในท้ายที่สุดนี้แม้ว่า “วันชาติ 24 มิถุนายน” จะยังคงไม่ได้ถูกกำหนดให้กลับมาเป็นวันชาติ (และคงไม่มีทางเป็นไปได้ภายในสี่ปีนับจากนี้) เพราะเหตุผลอย่างไรผู้อ่านคงทราบแล้ว แต่ก็คงต้องกล่าวด้วยว่าปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้องคงจะบรรเทาเบาบางลงไป เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจและใส่ใจในประเด็นนี้อยู่แล้วซึ่งคงเป็นเรื่องไร้เหตุผลเต็มทีที่จะมาปลุกประเด็นทางสังคมให้เกิดความขัดแย้ง เฉกเช่นเดียวกับฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เคยกล่าวไว้ในช่วงของการใกล้จะล้มเลิก “วันชาติ 24 มิถุนายน” ไว้ว่า

...ได้มีผู้เสนอเรื่อง (วันชาติ) นี้เป็น 3 ข้อด้วยกัน คือวันชาติของไทยควรจะอยู่ในเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ 3 สมัย...แต่ผมก็รับฟังไว้เท่านั้น ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นรีบด่วนอะไร ผมต้องคิดเรื่องทำไมยุงจะไม่กัดพวกคุณ บ้านเมืองสะอาดน้ำไหลไฟสว่างเสียก่อน เรื่องวันชาติค่อยคิดกันทีหลัง...

- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ในขณะนั้น)[62]

 

บรรณานุกรม

 

เอกสารจากทางรัฐบาล

กระทรวงกลาโหม เรื่อง ขออนุมัติให้วันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ กห. 0201/1339 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2548.

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันหยุดราชการ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (10 มกราคม 2480): 2338-2339.

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2503, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 49ง (9 มิถุนายน 2503): 1.

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (4 มีนาคม 2482): 3551-3553.

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (12 กรกฎาคม 2480): 667.

พบ. (กองยุทธการและการข่าว) เรื่อง วันสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) เรียน ผบ.ทบ. (ผ่าน สลก.ทบ.) ที่ กห. 0446/7652 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545.

สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ พป. 0006/1357 ลงวันที่ 3 เมษายน 2545.

สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันประชาธิปไตย เรียน รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ที่ นร. 0105/840 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546.

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน เป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ นร. 0504/3315 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2548.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ นร. 0205/5673 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอกำหนดวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นวันสำคัญของรัฐไทย เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ นร. 0504/12745 ลงวันที่ 3 กันยายน 2546.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขออนุมัติให้วันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ นร. 0504/14197 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2548.

สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามมติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สผ. 0001/5509 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546.

 

เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร.0201.5/12 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ราษฎรภาคเหนือและภาคใต้ไม่สามัคคีกันด้วยเรื่องชาติและกำเนิด (17 ม.ค. 2476- 9 เม.ย 2477) น.2-4

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (3) สร.0201.66.1/4 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง เบ็ดเตล็ดงานฉลองรัฐธรรมนูญ (9 ธ.ค. 2475-1 ธ.ค. 2496) น. 78

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.0201.2.1/1074 เอกสารกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พิธีเปิดสถานที่ราชการ (ไม่จำต้องกระทำในวันที่ 24 มิย.) (พ.ศ. 2504) น. 1-8

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.0201.2.1/938 เอกสารกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วันต้นไม้ประจำปีของชาติ (พ.ศ. 2503) น. 1

 

บทความและหนังสืองานวิจัย

ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ :รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. โมงยามไม่ผันแปร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.

ปฤณ เทพนรินทร์. “ราชากับชาติในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม : ที่สถิตของอำนาจอธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2546.

วัชรพล พุทธรักษา. “รัฐบาลทักษิณกับความพยายามสร้างภาวการณ์ครองอำนาจนำ” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย”จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา. ฟ้าเดียวกัน 2, ฉ. 2 (เมษายน – มิถุนายน 2547): 70-128.

สายชล สัตยานุรักษ์. 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: โอเพ่นโซไซตี้, 2557.

สายชล สัตยานุรักษ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่: ประวัติศาสตร์สังคมไทย. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2558.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. “ประชาธิปไตย” คนไทยไม่เท่ากัน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

 

เอกสารหนังสือพิมพ์

กรณีไม่เอาวันประชาธิปไตยสะท้อนอะไร,” กรุงเทพธุรกิจ, 23 สิงหาคม 2546, 8.

14 ตุลา “วันประชาธิปไตย” ชื่อนั้นสำคัญไฉน,” คม ชัด ลึก, 18 สิงหาคม 2546, 4.

14 ตุลา ไม่ใช่วันประชาธิปไตย ?,” ข่าวสด,16 สิงหาคม 2546, 2.

14 ตุลาร้าวทักษิณเปิดศึกอุทัย เมินมติสภา,” กรุงเทพธุรกิจ, 16 สิงหาคม 2546, 16,12.

“ขอต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่,” สยามรัฐ,1 พฤษภาคม 2526, 3.

“ต้นตอ 14 ตุลาค้านวันประชาธิปไตยอ้างไม่เหมาะสม,” ไทยโพสต์, 12 สิงหาคม 2546, 1,9.

“ถูกต้อง : 14 ตุลา วันประชาธิปไตย,” กรุงเทพธุรกิจ, 26 สิงหาคม 2546, 12.

“ทำไมประชาชนจึงเบื่อหน่ายการเมือง ?,” สยามรัฐ, 16 กุมภาพันธ์ 2530, 3.

“นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง นศ.ชุมนุมกลางสนามหลวง,” สยามรัฐ, 18 มิถุนายน 2531, 1.

“ประชดแม้ว 14 ต.ค. โค่นล้มเผด็จการ,” กรุงเทพธุรกิจ, 15 สิงหาคม 2546, 16.

“หลากมุมมอง 14 ตุลาฯวันประชาธิปไตย,” กรุงเทพธุรกิจ, 15 สิงหาคม 2546, 2.

วิทยากร เชียงกูล, “ผู้นำของเราอยู่ที่ไหน,” มติชน, 10 เมษายน 2527, 5.

 

สื่ออิเลคทรอนิกส์

MGR ONLINE, “เปลี่ยนวันชาติ วาระเร่งด่วนรัฐบาลก้าวไกล? แฉ “ธนาธร” ปั่นมานาน ชู 24 มิถุนาฯ กลบ 5 ธันวาฯ,” ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000059743 (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

THE STANDARD TEAM, “ศปปส. บุกก้าวไกลยื่นหนังสือถึงพิธา ปมรังสิมันต์ออกแนวคิดเปลี่ยนวันชาติ,” The Standard, https://thestandard.co/anon-mfp-pita-rangsiman-national-day/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

VOICE TV, “LIVE! #เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ ย้ำ 3 ก.ค.นี้ ปมประธานสภาฯจบ ขอสื่อเน้นปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีกว่า,” YouTube, https://www.youtube.com/watch?v=MUtG-ApE1Eo (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “วันแม่ในทศวรรษ 2480:เซ็กส์ ความรักกับความเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ,” ประชาไท, http://prachatai.com/journal/2009/08/25415 (สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560).

มติชนสุดสัปดาห์, “‘ก้าวไกล’ ผนึก 8 พรรคตั้งรัฐบาล ฝ่าข้ามพรรค ส.ว.-รัฐทหาร ‘นิธิ’ ชี้ สำนึกใหม่เกิดแล้ว,” มติชน, https://www.matichonweekly.com/column/article_676919 (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566).

สํานักข่าวราษฎร Ratsadon News, “‘รังสิมันต์ โรม’ เสวนารำลึก 2475 ลั่นถึงเวลาฟ้าใหม่ เตรียมฉลอง ‘วันชาติ’ ในรัฐบาลก้าวไกล,” YouTube, https://www.youtube.com/watch?v=Fp9GyMXlERg (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “ชนชั้นกลางแต่ละระลอกในสังคมไทย.” ประชาไท, http://prachatai.com/journal/2015/04/58895 (สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560).

 


[1] สํานักข่าวราษฎร Ratsadon News, “‘รังสิมันต์ โรม’ เสวนารำลึก 2475 ลั่นถึงเวลาฟ้าใหม่ เตรียมฉลอง ‘วันชาติ’ ในรัฐบาลก้าวไกล,” YouTube, https://www.youtube.com/watch?v=Fp9GyMXlERg (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

[2] MGR ONLINE, “เปลี่ยนวันชาติ วาระเร่งด่วนรัฐบาลก้าวไกล? แฉ “ธนาธร” ปั่นมานาน ชู 24 มิถุนาฯ กลบ 5 ธันวาฯ,” ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000059743 (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

[3] THE STANDARD TEAM, “ศปปส. บุกก้าวไกลยื่นหนังสือถึงพิธา ปมรังสิมันต์ออกแนวคิดเปลี่ยนวันชาติ,” The Standard, https://thestandard.co/anon-mfp-pita-rangsiman-national-day/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566).

[4] ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558), 378-379.

[5] เรื่องเดียวกัน, 402.

[6] เรื่องเดียวกัน, 403-404.

[7] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันหยุดราชการ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (10 มกราคม 2480): 2338-2339.

[8] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (12 กรกฎาคม 2480): 667.

[9] การกำหนดให้วันรัฐธรรมนูญกลายเป็นวันหยุดราชการหลังจากที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วเป็นเวลา 5 ปียังสัมพันธ์กับประเด็นในเรื่องของความขัดแย้งการเมืองจากเหตุการณ์กบฎบวรเดขจึงนำมาสู่การทำให้ “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นพิธีกรรมนอกปฏิทินวันสำคัญแห่งชาติได้กลายเป็นวันหยุดราชการอย่างเป็นทางการ รวมถึงประเด็นการกำหนดวันอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญขึ้นมานอกเหนือวันที่ 10 ธันวาคมยังเป็นการสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงในสำนึกความทรงจำจากวันดังกล่าวนี้ด้วยในสายตาคณะราษฎร ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วในหนังสือจึงขอยกไว้ไม่กล่าวในที่นี้เนื่องจากจะทำให้ยืดยาวจนเกินไป โปรดดู ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ :รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), 415-416.

[11] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร.0201.5/12 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ราษฎรภาคเหนือและภาคใต้ไม่สามัคคีกันด้วยเรื่องชาติและกำเนิด (17 ม.ค. 2476- 9 เม.ย 2477) น.2-4

[12] เรื่องเดียวกัน, 10-11.

[13] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (3) สร.0201.66.1/4 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง เบ็ดเตล็ดงานฉลองรัฐธรรมนูญ (9 ธ.ค. 2475-1 ธ.ค. 2496) น. 78

[14] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา. ฟ้าเดียวกัน 2, ฉ. 2 (เมษายน มิถุนายน 2547): 85.

[15] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ 0ง (4 มีนาคม 2482): 3551-3553.

[16] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา, 97-113.

[17] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “วันแม่ในทศวรรษ 2480:เซ็กส์ ความรักกับความเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ,” ประชาไท, http://prachatai.com/journal/2009/08/25415 (สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560).

[18] สายชล สัตยานุรักษ์, 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: โอเพ่นโซไซตี้, 2557), 44.

[19] วันสำคัญดังกล่าวนี้ได้ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอยู่ตลอดมาจนสิ้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ว่าเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา

[20] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2503, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 49ง (9 มิถุนายน 2503): 1.

[21] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.0201.2.1/938 เอกสารกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วันต้นไม้ประจำปีของชาติ (พ.ศ. 2503) น. 1

[22] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.0201.2.1/1074 เอกสารกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พิธีเปิดสถานที่ราชการ (ไม่จำต้องกระทำในวันที่ 24 มิย.) (พ.ศ. 2504) น. 1-8

[23] ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 405.

[24] บทความดังกล่าวนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19, 20-26 มิถุนายน, 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม, 4-10, 18-24, 25-31 กรกฎาคม และ 1-7 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยได้นำมาร่วมเล่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, โมงยามไม่ผันแปร (กรุงเทพฯ : มติชน,2558), 123-182.

[25] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้นิยามคำว่า “กระฎุมพี” ไว้ในบทความชิ้นดังกล่าวนี้ว่าคือ “กลุ่มคนชั้นกลางระดับบน” มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง จนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างไปจากชนชั้นสูงที่สัมพันธ์กับเจ้าศักดินา โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้กล่าวถึงกลุ่มคนในลักษณะนี้ว่ากระฎุมพีเพื่อให้ไม่ให้เกิดความสับสนกับคนชั้นกลางอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่มั่งคั่งแบบนั้น แม้จะถือวิถีชีวิตที่เริดหรูเป็นอุดมคติของตนก็ตาม. เรื่องเดียวกัน, 124. 

[26] เรื่องเดียวกัน, 167-168.

[27] อย่างไรก็ตามในภายหลังการเลือกตั้ง 2566 พบว่ามีคำที่ใช้เรียกสำนึกดังกล่าวนี้ในลักษณะที่คล้ายกันคือคำว่า "สำนึกใหม่" อันเป็นแนวคิดของสังคมที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมโดยรวมทั้งหมด

โปรดดู มติชนสุดสัปดาห์, “‘ก้าวไกล’ ผนึก 8 พรรคตั้งรัฐบาล ฝ่าข้ามพรรค ส.ว.-รัฐทหาร ‘นิธิ’ ชี้ สำนึกใหม่เกิดแล้ว,” มติชน, https://www.matichonweekly.com/column/article_676919 (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566).

[28] ผาสุก พงษ์ไพรจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (เชียงใหม่ :ซิลค์เวอร์ม, 2546), 434-435.

[29] “ขอต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่,” สยามรัฐ, 1 พฤษภาคม 2526, 3.

[30] วิทยากร เชียงกูล, “ผู้นำของเราอยู่ที่ไหน,” มติชน, 10 เมษายน 2527, 5.

[31] “ทำไมประชาชนจึงเบื่อหน่ายการเมือง ?,” สยามรัฐ, 16 กุมภาพันธ์ 2530, 3.

[32] “นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง นศ.ชุมนุมกลางสนามหลวง,” สยามรัฐ, 18 มิถุนายน 2531, 1.

[33] ปฤณ เทพนรินทร์, “ราชากับชาติในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม: ที่สถิตของอำนาจอธิปไตยในช่วงวิกฤตเปลี่ยนผ่านทางการเมือง,”(วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2555), 158-159.

[34] เรื่องเดียวกัน, 159-160.

[35] วัชรพล พุทธรักษา, “รัฐบาลทักษิณกับความพยายามสร้างภาวการณ์ครองอำนาจนำ,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), 45.

[36] สายชล สัตยานุรักษ์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่: ประวัติศาสตร์สังคมไทย,”( สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2558), 945-946.

[37] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “ชนชั้นกลางแต่ละระลอกในสังคมไทย.” ประชาไท,  http://prachatai.com/journal/2015/04/58895 (สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560).

[38] สายชล สัตยานุรักษ์, โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ : ประวัติศาสตร์สังคมไทย, 949-950.

[39] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “ประชาธิปไตย” คนไทยไม่เท่ากัน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), 60,79.  

[40] สายชล สัตยานุรักษ์, โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ : ประวัติศาสตร์สังคมไทย, 954.

[41] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “ประชาธิปไตย” คนไทยไม่เท่ากัน, 63.

[42] โปรดดู วัชรพล พุทธรักษา. “รัฐบาลทักษิณกับความพยายามสร้างภาวการณ์ครองอำนาจนำ” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

[43] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ นร. 0205/5673 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545.

[44] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอกำหนดวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นวันสำคัญของรัฐไทย เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ นร. 0504/12745 ลงวันที่ 3 กันยายน 2546.

[45] สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ พป. 0006/1357 ลงวันที่ 3 เมษายน 2545.

[46] หนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 6 ไว้ 8 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา 2.ด้านการศาสนา 3.ด้านคมนาคม 4.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 5.ด้านกฎหมายและการศาล 6.ด้านส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย 7.ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ 8.ด้านการป้องกันประเทศ โดยทั้ง 8 ด้านนี้ มีอยู่ 2 ด้านที่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยคือด้านส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยกับด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังได้แนบบทความ “การปกครองในดุสิตธานี” (โดยรองศาสตราจารย์ นันทนา กบิลกาญจน์) เข้ามาร่วมไว้อีกด้วย

[47] พบ. (กองยุทธการและการข่าว) เรื่อง วันสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) เรียน ผบ.ทบ. (ผ่าน สลก.ทบ.) ที่ กห. 0446/7652 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545.

[48] สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามมติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สผ. 0001/5509 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546.

[49] สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันประชาธิปไตย เรียน รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ที่ นร. 0105/840 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546.

[50] 14 ตุลา ไม่ใช่วันประชาธิปไตย ?,” ข่าวสด, 16 สิงหาคม 2546, 2.

[51] 14 ตุลาร้าวทักษิณเปิดศึกอุทัย เมินมติสภา,” กรุงเทพธุรกิจ, 16 สิงหาคม 2546, 16,12.

[52] “ต้นตอ 14 ตุลาค้านวันประชาธิปไตยอ้างไม่เหมาะสม,” ไทยโพสต์, 12 สิงหาคม 2546, 1,9.

[53] 14 ตุลา “วันประชาธิปไตย” ชื่อนั้นสำคัญไฉน,” คม ชัด ลึก, 18 สิงหาคม 2546, 4.

[54] “ถูกต้อง : 14 ตุลา วันประชาธิปไตย,” กรุงเทพธุรกิจ, 26 สิงหาคม 2546, 12.

[55] เรื่องเดียวกัน.

[56] “ประชดแม้ว 14 ต.ค. โค่นล้มเผด็จการ,” กรุงเทพธุรกิจ, 15 สิงหาคม 2546, 16.

[57] กรณีไม่เอาวันประชาธิปไตยสะท้อนอะไร,” กรุงเทพธุรกิจ, 23 สิงหาคม 2546, 8.

[58] “หลากมุมมอง 14 ตุลาฯวันประชาธิปไตย,” กรุงเทพธุรกิจ, 15 สิงหาคม 2546, 2.

[59] สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน เป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ นร. 0504/3315 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2548.

[60] กระทรวงกลาโหม เรื่อง ขออนุมัติให้วันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ กห. 0201/1339 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2548.

[61] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขออนุมัติให้วันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกำลังสำรองแห่งชาติ” เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ นร. 0504/14197 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2548.

[62] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย” จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา, 116.