Skip to main content

นพพล แก่งจำปา นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

ชวนอ่าน For a Dollar and a Dream: State Lotteries in Modern America

 

Cohen, Jonathan D.(2022). For a Dollar and a Dream: State Lotteries in Modern America
New York: Oxford University Press. (ภาพปกจาก: https://www.amazon.com/Dollar-Dream-Lotteries-Modern-America/dp/0197604889)
 

ไม่มีวันใดเลยที่ฉันไม่คิดถึงการใช้ชีวิตแบบเศรษฐีว่าเป็นเช่นไร วางแผนว่าจะทำอะไรถ้าเลขหกตัวของฉันปรากฏบนลอตโต้ และฉันกลายเป็นเศรษฐีในวินาทีนั้น

ลีโอ แมกคอร์ด (Leo Mccord) ชายผิวสี อายุ 70 ปี ผู้อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของชิคาโกซื้อลอตเตอรี่อิลลินอยส์ทุกวันเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เริ่มแรกเขาใช้เงินประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อวัน แต่เมื่อเขาตกงานในช่วงทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลอตเตอรี่ก็เปลี่ยนไป แมกคอร์ดมองว่าแจ็กพอตคือโอกาสสุดท้ายที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ดังนั้นจึงใช้เงินเท่าที่หาได้ซึ่งมากถึง 15 ดอลลาร์ต่อวันเพื่อซื้อสลาก แม้จะรู้ตัวดีถึงความสูญเสีย แต่เขาก็ยังซื้อลอตเตอรี่เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะร่ำรวยต่อไป โดยมั่นใจว่า“แจ็กพอต”ที่ไล่ตามมาตลอด 50 ปี สักวันหนึ่งจะมาถึง

ในทุกสัปดาห์ ชาวอเมริกันจำนวน 33 ล้านคนเช่นเดียวกับแมกคอร์ดใช้จ่ายเงินสองถึงสามดอลลาร์สำหรับความฝันในการถูกรางวัลแจ็กพอตเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ที่ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน และซูเปอร์มาร์เก็ต นักพนันจะซื้อสลากขูด กรอกสลิปหมายเลข หรือไม่ก็เสี่ยงโชคในเกมแจ็กพอต เมื่อเทียบกับสินค้าและบริการประเภทอื่นๆ ชาวอเมริกันจ่ายเงินให้ลอตเตอรี่ในหนึ่งปีมากกว่าบุหรี่ กาแฟ หรือสมาร์ตโฟน และมากกว่าบริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ตั๋วคอนเสิร์ต หนังสือ และตั๋วภาพยนตร์รวมกัน ในปี 1964 ที่ลอตเตอรี่ยุคใหม่ในอเมริกาเริ่มต้น นิวแฮมป์เชียร์รัฐเดียวที่อนุมัติให้ลอตเตอรี่ถูกกฎหมายจำหน่ายสลากได้ 5.7 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อมาถึงปี 2020 ลอตเตอรี่ในอเมริกาขยายเป็น 45 รัฐ และมีมูลค่ารวมกันมากถึง 91.4 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกากลายเป็น“ประเทศแห่งแจ็กพอต”

ความนิยมลอตเตอรี่ในหมู่ชนอเมริกันอย่างมากล้นดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเหตุใดลอตเตอรี่ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงหวนกลับคืนสู่อเมริกาอีกครั้ง “ความฝันอเมริกัน” (American Dreams) ซึ่งเคยเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ทุ่มเททำงานหนักแปรเปลี่ยนไปฝากไว้กับการเดิมพันลอตเตอรี่ได้อย่างไร ลอตเตอรี่นั้นดีหรือไม่ดีและควรมีอยู่ในอเมริกาในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ทั้งหมดอาจหาคำตอบได้ใน “For a Dollar and a Dream: State Lotteries in Modern America” วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์ของโจนาธาน ดี โคเฮน (Jonathan D. Cohen) ที่เสนอต่อ the University of Virginia ซึ่งภายหลังได้ปรับปรุงและตีพิมพ์เป็นหนังสือภายใต้ Oxford University Press

For a Dollar and a Dream บอกเล่าเรื่องราวความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ของสหรัฐอเมริกาใน“ยุคลอตเตอรี่” (State Lotteries Era) ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 (ค.ศ.1964-2020) โดยชี้ให้เห็นถึงมูลเหตุปัจจัยอันนำมาซึ่งการถือกำเนิดขึ้นของลอตเตอรี่ยุคใหม่ การแพร่กระจายตัว และความสัมพันธ์ของลอตเตอรี่ที่มีต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและโอกาสในการขยับสถานะทางสังคมของหมู่ชนอเมริกันที่ลดน้อยถอยลง

โคเฮนเริ่มต้นบทแรก “An Astronomical Source of Income: The Return of State Lotteries” ด้วยการอธิบายถึงปรากฏการณ์ความพยายามในการผลักดันลอตเตอรี่ให้ถูกกฎหมายในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งเขามองว่าไม่ได้ต่างไปจากความคิดเกี่ยวกับลอตเตอรี่ในยุคดั้งเดิมเท่าใดนัก คือทั้งผู้กำหนดนโยบายรัฐและพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างก็มองว่าลอตเตอรี่เป็น“ยาวิเศษ”(Panacea) ที่สามารถสร้างรายได้และรักษาสมดุลงบประมาณของรัฐโดยที่ไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม ดังนั้น เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดวิกฤตที่ความต้องการใช้บริการของรัฐเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่รัฐไม่มีงบประมาณจะตอบสนองความต้องการดังกล่าวนั้นได้ ลอตเตอรี่จึงถูกอนุญาตให้กลับคืนแผ่นดินอเมริกาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวเจอร์ซีย์ที่ผลของการประกอบการมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายของลอตเตอรี่ออกไปทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในแถบรัสต์เบลต์ (Rust Belt) ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรม โดยมีคนผิวขาวในย่านชานเมืองที่ประสงค์ใช้บริการสาธารณะ แต่ไม่ปรารถนาจ่ายภาษีเป็นกลุ่มผู้เล่นสำคัญ ทว่าในท้ายที่สุดนั้น รายได้จากลอตเตอรี่มีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับความต้องการด้านงบประมาณของรัฐ ที่สำคัญก็คือไม่มากพอที่จะขัดขวางการขึ้นภาษีดังที่คนผิวขาวในย่านชานเมืองคาดหวัง

ในบทถัดมา “Not Luck, but the Work of God: Merit And Miracles In The 1970s” โคเฮนให้ความสนใจไปที่กลุ่มผู้เล่นลอตเตอรี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่กระจายตัวของลอตเตอรี่ยุคเริ่มแรก เขาพบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยและกระแสความคิดปัจเจกนิยมในช่วงทศวรรษ 1970 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลอตเตอรี่ได้รับความนิยมในภูมิภาคแห่งนี้ก่อนที่จะทะลักล้นไปสู่ภูมิภาคอื่นๆในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นแรงงานชายผิวขาวและชาวคาทอลิกที่โคเฮนมองว่าคือประชากรซึ่งลอตเตอรี่สร้างแรงดึงดูดได้มากที่สุด โดยในกรณีชนชั้นแรงงานชายผิวขาวนั้น อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน วิกฤตน้ำมัน ฯลฯ ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเงินและแนวโน้มการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ลดลง สภาพการณ์เช่นนี้เพิ่มความสำคัญให้กับลอตเตอรี่ในฐานะโอกาสทางการเงินและกลไกสำหรับขยับสถานะทางสังคม ดังนั้น เหล่าชนชั้นแรงงานชายผิวขาวจึงพร้อมจะเสี่ยงเพื่อแจ็กพอตและสถิติก็บ่งบอกว่าพวกเขาคือกลุ่มลูกค้าหลัก ซึ่งสาเหตุที่ลอตเตอรี่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โคเฮนอธิบายว่ามาจากอุดมคติความชายและกระแสความคิดปัจเจกนิยมที่ผู้ชายมีความเชื่อว่าตนคือคนหาเลี้ยงและรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ยากลำบากในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ในเชิงอุดมคติ ลอตเตอรี่จึงเป็นทางเลือกให้ชนชั้นแรงงานชายผิวขาวชาวตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องการธำรงรักษาความเป็นชายของตนเอาไว้ ขณะที่แรงงานแอฟริกันอเมริกันและลาตินซึ่งประสบกับสภาวการณ์อันเลวร้ายไม่ต่างกันหรืออาจจะมากกว่ายังคงนิยมในเกมตัวเลขที่ผิดกฎหมายต่อมาอีกทศวรรษ

สำหรับชาวคาทอลิกซึ่งเป็นประชากรผู้เล่นลอตเตอรี่ที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งนั้น กล่าวได้ว่าพวกเขาคือนักพนันตัวยง ทั้งยังเป็นผู้กระตือรือร้นที่สุดในการผลักดันการพนันให้ถูกกฎหมาย เหตุที่เป็นเช่นนี้ โคเฮนชี้ว่าอาจอธิบายได้ด้วยจุดยืนทางหลักคำสอนของคริสตจักรคาทอลิกที่ไม่ถือว่าการเดิมพันเสี่ยงโชคนั้นเป็นบาป ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายโปรเตสแตนต์ที่ประณามลอตเตอรี่และการพนันว่าเป็นการต่อต้านพระคัมภีร์ ผิดศีลธรรม และผิดจริยธรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับความชั่วร้ายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการละทิ้งความรับผิดชอบทางครอบครัว

อนึ่ง นอกจากประเด็นกลุ่มผู้เล่นหลัก ในบทนี้โคเฮนยังแสดงให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่าความนิยมลอตเตอรี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความก้าวหน้าในชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน (The American meritocracy) ด้วย ซึ่งเดิมทีนั้นความคิดดังกล่าวสัมพันธ์อยู่กับ“วัฒนธรรมแห่งการควบคุม”(Culture of Control) ที่เชื่อว่าการทุ่มเททำงานหนักจะรับประกันความสำเร็จและความร่ำรวย แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ความคิดที่ว่านี้จึงสั่นคลอนและถูกแทนที่โดยลอตเตอรี่ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับ“วัฒนธรรมแห่งโอกาส”(Culture of Chance) ที่ทุกคนสามารถประสบกับความมั่งคั่งด้วยตัวเองได้ในทันทีทันใด อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นไปโดยสิ้นเชิง ภายใต้บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมในทศวรรษ 1970 ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงมองผู้ถูกรางวัลลอตเตอรี่ว่าได้ความมั่งคั่งมาด้วยความไม่สุจริตและเป็นผู้อ่อนแอทางศีลธรรม ขณะเดียวกันทางฝ่ายผู้ถูกรางวัลเองก็โต้กลับเพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในรางวัลที่ตนได้รับว่าเกิดขึ้นจากการกระทำของพระเจ้า (Not Luck, but the Work of God) ซึ่งในมุมมองของโคเฮนนี่คือสงครามวัฒนธรรม

จากกลุ่มผู้เล่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงทศวรรษ 1970 บทต่อมา “Rivers of Gold: The Lottery Industry and the Tax Revolt” โคเฮนข้ามฝั่งไปที่รัฐทางด้านตะวันตกในช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของ “ไซเอินทิฟิก เกมส์” (Scientific Games) บริษัทการพนันที่ก่อตั้งขึ้นนอกเมืองแอตแลนตาเมื่อปี 1973 โดยนักการตลาด แดเนียล โบเวอร์ (Daniel Bower) และดอกเตอร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จอห์น โคซา (John Koza) ว่าเป็นปัจจัยในการแพร่กระจายลอตเตอรี่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่แห่งนี้และทั่วทั้งอเมริกา เขากล่าวว่าการขยายตัวของลอตเตอรี่ในทศวรรษ 1980 นั้นแตกต่างไปจากทศวรรษก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่สนับสนุนโดยผู้กำหนดนโยบายรัฐและพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่คาดหวังว่าลอตเตอรี่จะเป็นปาฏิหาริย์ด้านงบประมาณของรัฐ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปได้พิสูจน์สรรพคุณของลอตเตอรี่ดังกล่าวนั้นเกินความจริง “ไซเอินทิฟิก เกมส์” จึงปรับเปลี่ยนคำมั่นสัญญาทางการเงินของลอตเตอรี่ให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เป็นโครงการสำหรับการศึกษา เป็นต้น พร้อมกับใช้ทุกวิถีทางเพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายให้เชื่อตามคำมั่นสัญญาอย่างใหม่นี้

ด้วยการรณรงค์ทางการเมืองที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในเวลาเพียงสี่ปี คือระหว่าง ค.ศ.1980 ถึง 1984 ไซเอินทิฟิก เกมส์สามารถผลักดันให้เกิดการจำหน่ายลอตเตอรี่ในแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา ออริกอน โคโลราโด มิสซูรี ไอโอวา และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ซึ่งนอกจากการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติ เสนอร่างกฎหมายที่เข้าข้างบริษัท รวบรวมรายชื่อเพื่อให้ลอตเตอรี่ถูกกฎหมาย โฆษณาสรรพคุณลอตเตอรี่ สร้างกลุ่มพลเมืองเพื่อผลิตภาพลวงตาว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนลอตเตอรี่ ฯลฯ แล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ไซเอินทิฟิก เกมส์สามารถแพร่กระจายของลอตเตอรี่ได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วก็คือการคิดค้นลอตเตอรี่แบบขูดหรือ “เกมทันใจ” (Instant games) โดยอาศัยหลักการง่ายๆ ที่ว่าผู้เล่นสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองในทันทีว่าพวกเขาชนะเกมหรือไม่ ซึ่งแดเนียล โบเวอร์หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งไซเอินทิฟิก เกมส์เรียกเกมดังกล่าวนี้ว่า“ผู้หยุดหัวใจ” (Heart Stoppers) โดยเป้าหมายของเกมคือการทำให้ผู้เล่นรู้สึกถึงชัยชนะทันทีก่อนที่จะรู้ตัวว่าพวกเขาพ่ายแพ้ อันเป็นความรู้สึกที่จะดึงดูดให้พวกเขาซื้อสลากเพิ่มเพื่อตามหาชัยชนะ ซึ่งความนิยมในเกมทันใจยืนยันด้วยการเป็นสลากที่เป็นแกนหลักของอุตสาหกรรมลอตเตอรี่ในอเมริกา โดยมีมูลค่าประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายลอตเตอรี่ทั้งหมดในปี 2020 และไซเอินทิฟิก เกมส์ขึ้นชื่อว่าเป็น“แม็คโดนัลแห่งบริษัทลอตเตอรี่”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของไซเอินทิฟิกเกมส์ใช่ว่าจะปราศจากซึ่งการต่อต้าน โดยประเด็นสำคัญที่บริษัทถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามประกอบไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ว่าลอตเตอรี่เป็นหนทางให้กลุ่มอาชญากรหลั่งไหลเข้ามาในรัฐ ผลกระทบทางสังคมที่เป็นอันตรายของการพนันโดยเฉพาะต่อเด็ก และ การมองว่าไซเอินทิฟิกเกมส์มีอิทธิพลครอบงำทางการเมืองทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรปฏิเสธได้ยากว่าการดำเนินการของไซเอินทิฟฟิคเกมส์มีผลทำให้ลอตเตอรี่ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกต่อไป

จากประเด็นทางกฎหมาย ผู้ซื้อ ผู้ขาย สู่ การให้ความสำคัญกับตัวสินค้าอย่าง “ลอตโต้” (Lotto) ในบทต่อมา “Somebody’s Gotta Win, Might as Well be Me: Lottomania in the 1980s” ลอตโต้เป็นลอตเตอรี่แบบใหม่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษ1980 โดยมีเงินรางวัลก้อนโตและจะทบยอดต่อไปเรื่อยๆเมื่อไม่มีผู้ชนะรางวัลจนกลายเป็นแจ็กพอตที่มีมูลค่ามหาศาลซึ่งดึงดูดผู้เล่นทุกคนให้เข้าหาลอตเตอรี่ด้วยความฝันที่คล้ายคลึงกันนั่นคือการเป็นเศรษฐีในทันทีทันใดโดยไม่เลือกละเว้นชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว อายุ เพศสภาพ ความสามารถหรือระดับการศึกษา กระทั่งสร้างปรากฏการณ์ความคลั่งไคล้ลอตโต้ (Lottomania) หรือไข้ลอตโต้ (Lotto Fever) ในหมู่ชนชาวอเมริกาทั่วทั้งประเทศ

โคเฮนกล่าวว่าการถือกำเนิดขึ้นของลอตโต้ และความคลั่งไคล้ลอตโต้นั้นสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในทศวรรษ1980 และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนทางความคิดของคนอเมริกันที่มีต่อความมั่งคั่ง เขาชี้ว่าทศวรรษนี้ชีวิตอันหรูหราฟุ้งเฟ้อของมหาเศรษฐีและคนดังชาวอเมริกันถูกโอ้อวดสู่สาธารณะผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์อย่างแพร่หลาย ความมั่งคั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติภายใต้การนำของประธานาธิบดีผู้ซึ่งเป็นอดีตนักแสดงฮอลลีวูดอย่างโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) การบริหารภายใต้ชุดทักซิโด้ พิธีเปิดงานกาลา ไปจนถึงแผนการด้านภาษีที่เอื้อประโยชน์สำหรับคนรวยของเขาตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์ความสุภาพเรียบร้อยและเสื้อสเวตเตอร์ของจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า นอกจากนี้ ทศวรรษ1980 ยังเป็นยุคที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีตเปิดโอกาสให้นักลงทุนทางการเงินที่กล้าได้กล้าเสียไขว่คว้าความสำเร็จมาด้วยตนเอง อันเป็นการแสดงให้สาธารณะชนเห็นว่าความเสี่ยงนำมาซึ่งโอกาส ซึ่งถ้าไม่สามารถเข้าถึงตลาดที่วอลล์สตรีตได้ ตลาดลอตเตอรี่พร้อมอ้าแขนรับทุกคนเสมอ

อย่างไรก็ตาม กระแสวัฒนธรรมที่ว่านี้แตกต่างกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง ถึงแม้ว่าในทศวรรษ1980 อเมริกาจะมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากถึง 15 เท่า ในทศวรรษดังกล่าวชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีรายได้แค่พอประทังชีวิต มิพักต้องพูดถึงการขยับสถานทางสังคมที่ลดลงสวนทางกับอัตราความยากจนขยายตัวขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนคนผิวสีเขตอุตสาหกรรมอย่างรัสต์เบลต์ที่แทบจะไม่สามารถเข้าถึงเสถียรภาพทางการเงินตามบรรทัดฐานชนชั้นกลางได้เลย แต่แทนที่จะโกรธเคือง โคเฮนพบว่าการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย เมื่อประกอบเข้ากับวัฒนธรรมแห่งความมั่งคั่งในทศวรรษ1980 แล้ว กลับทำให้ชาวอเมริกันหลงใหลได้ปลื้มไปกับพวกเศรษฐีและคนดัง อีกทั้งไม่ได้หยุดความฝันแห่งการมีชีวิตสุขสบายไว้แค่เพียงการมีบ้านสี่ห้องนอนในเขตชานเมืองที่ล้อมรั้วสีขาว ซึ่งเป็นแบบแผน“ความฝันอเมริกัน”ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น แต่ฝันถึงสิ่งที่ใหญ่โตกว่า เช่น คฤหาสน์ รถยนต์หรู และความฟุ่มเฟือยอื่นๆ พร้อมกันนั้นก็ปรารถนาที่จะมีชีวิตตามอย่างคนรวยและคนดังในรายการโทรทัศน์ “Lifestyles of the Rich and Famous” ซึ่งออกอากาศทุกคืนวันเสาร์ในปี 1984 หรือขึ้นปกนิตยสาร “Forbes”ในฐานะมหาเศรษฐีไม่ก็ผู้ทรงอิทธิพล

สภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเช่นนี้ ลอตโต้จึงเป็นเกมที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่สามารถเสนอโอกาสในการเป็นมหาเศรษฐีได้ในทันทีทันใด แน่นอนว่าแนวโน้มที่จะเป็นความจริงนั้นมีน้อยนิด แต่โคเฮนชี้ว่าผู้เล่นลอตโต้ไม่เพียงเพื่อลุ้นแจ็กพอตเท่านั้น แต่ยังเพื่อ“จินตนาการ” (Fantasize) ถึงชีวิตของตนเองในฐานะเศรษฐีคนต่อไปด้วย ซึ่งความสุขของจินตนาการที่ว่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจินตนาการนั้นจะกลายเป็นความจริงหรือไม่ แต่อยู่ในจินตนาการเอง ฉะนั้นในมุมคนซื้อลอตเตอรี่เงินหนึ่งหรือสองดอลลาร์ที่ลงทุนไปอาจคุ้มค่าเมื่อได้นึกฝันว่าจะทำอะไรบ้างหากชนะแจ็กพอต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลอตโต้จะได้รับความนิยมอย่างบ้าคลั่ง แต่ในระยะยาวลอตโต้ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ “ความเหนื่อยล้าของแจ็กพอต” (Jackpot Fatigue) ที่ผู้เล่นคาดหวังเงินรางวัลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บริษัทลอตเตอรี่ในแต่ละรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ไร้ขีดจำกัดนั้นได้แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาโดยการร่วมมือระหว่างรัฐให้แจ็กพอตมีขนาดใหญ่ขึ้น ท้ายที่สุดก็ไม่ยั่งยืน เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1990 และ 2000 เกมดังกล่าวก็ได้สูญเสียความแปลกใหม่ไป ถึงแม้ลอตโต้และความคลั่งไคล้ลอตโต้จะยังมีอยู่แต่ห่างไกลจากจุดเดิมที่มันเคยเป็น

นอกจากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความนิยมลอตเตอรี่ในหมู่ชนอเมริกันอีกประการหนึ่งก็คือการโฆษณา ซึ่งโคเฮนจัดวางเนื้อหาไว้เป็นอีกบทหนึ่งของหนังสือ “This Could be Your Ticket Out: The Paradox of Lottery Advertising” เขาแสดงให้เห็นว่าการโฆษณามีความสำคัญต่อความสำเร็จของลอตเตอรี่มาโดยตลอด“ทุกครั้งที่ยอดขายทรงตัว คุณต้องดูโฆษณา” โฆษณาลอตเตอรี่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากข้อความที่กระตุ้นให้ผู้เล่นเชื่อในโชค โอกาส และความเป็นไปได้ที่จะท้าทายโอกาส โดยพยายามออกแบบมาเพื่อชักชวนให้ผู้เล่นว่าพวกเขาจะพลาดโอกาสในชีวิตไปหากไม่ซื้อสลาก

โคเฮนชี้ว่าในช่วงเริ่มแรก การส่งเสริมการพนันถูกจำกัดโดยกฎระเบียบของรัฐบาลกลางหลายชุด แต่เมื่อเผชิญกับแรงกดดันด้านงบประมาณจากพลเมืองที่ไม่ต้องการจ่ายภาษี ฝ่ายนิติบัญญัติจึงล้มล้างข้อจำกัดต่างๆ ลงในปี 1970 โดยอ้างว่าการห้ามโฆษณาคือการขัดขวางกำไรจากลอตเตอรี่ และแม้ว่าในระหว่างทางจะมีความพยายามในการควบคุมและวิพากษ์วิจารณ์การส่งเสริมการขายลอตเตอรี่จากฝ่ายต่อต้านโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการโฆษณาลอตเตอรี่ต่อคนยากจน เช่น การมองว่าการเล่นลอตเตอรี่ “เป็นเหมือนงานอดิเรกประจำชาติสำหรับคนยากจน”หรือ ลอตเตอรี่เสมือน“เหยื่อล่อ”สำหรับคนจนและคนผิวสีที่เล่นการพนันเพราะพวกเขามีตัวเลือกน้อยมากสำหรับอนาคต แต่ความพยายามและคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

โฆษณาลอตเตอรี่ยุคแรกส่วนใหญ่เป็นการแนะนำและเชิญชวนให้ซื้อลอตเตอรี่ผ่านทางหนังสือพิมพ์ การขนส่งสาธารณะ และป้ายโฆษณา ซึ่งไม่ได้กระจายออกไปทั่วทั้งรัฐแต่จำเพาะเจาะจงไปที่พื้นที่ซึ่งมีประชากรผิวสีอาศัยอยู่หนาแน่น โดยมีสมมตฐานเบื้องต้นว่าลอตเตอรี่จะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในหมู่นักพนันผิวสี ซึ่งความคิดดังกล่าวมีรากฐานจากการที่ชาวอเมริกันแอฟริกันนิยมในเกมตัวเลขที่ผิดกฎหมายอย่างแพร่หลายมาก่อน อย่างไรก็ตามการโฆษณาในช่วงเริ่มต้นไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดหรือขยายฐานผู้เล่นหน้าใหม่ได้ในระยะยาว ดังนั้นเมื่อก้าวสู่ทศวรรษ 1980 บริษัทลอตเตอรี่ก็หันไปใช้ข้อความประเภทอื่นเพื่อโน้มน้าวผู้เล่นให้เข้ามาเสี่ยงโชคแทน

โคเฮนกล่าวว่าลอตเตอรี่นั้นแตกต่างจากสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีประโยชน์ซึ่งพิสูจน์ได้บางประการ แต่ลอตเตอรี่เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ มูลค่าของมันอยู่ที่ความเป็นไปได้ที่เงินที่ใช้ไปกับสลากจะเปลี่ยนเป็นจำนวนเงินที่มากขึ้น สิ่งเดียวที่รับประกันมูลค่าลอตเตอรี่คือความบันเทิง หรือโอกาสที่จะฝันเกี่ยวกับชีวิตที่ร่ำรวยเพียงชั่วครู่หรือสองสามวัน แม้ว่าหลายคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินสำหรับช่วงเวลาแห่งจินตนาการนี้ แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ก็ประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งการสูญเสียฐานลูกค้าไป โคเฮนยกคำพูดของชารอน ชาร์ป (Sharon Sharp) ผู้อำนวยการลอตเตอรี่อิลลินอยส์ที่กล่าวไว้ในปี 1991ว่า “ลอตเตอรี่ไม่ใช่แค่สบู่เท่านั้น มันไม่เป็นรูปธรรม คุณกำลังขายความฝัน”พร้อมกันนั้นก็อธิบายถึงการโฆษณาลอตเตอรี่อิลลินอยส์ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญในการทำความเข้าใจการโฆษณาลอตเตอรี่ในอเมริกา

ในทศวรรษที่ 1980 ลอตเตอรี่อิลลินอยส์มุ่งโฆษณาลอตเตอรี่ในลักษณะการขายความฝันในการถูกรางวัลลอตเตอรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นย้ำว่าแจ็กพอตจะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ในทันที ไม่มีสินค้าประเภทใดที่เสนอคำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมหัศจรรย์มากไปกว่าสลากลอตเตอรี่ โฆษณาลักษณะนี้เล่นกับช่องว่างระหว่างชีวิตจริงกับชีวิตที่ปรารถนาของผู้คน กล่าวคือ โฆษณาลอตเตอรี่ไม่ได้สื่อถึงแค่เงินแต่เป็น“สิ่งที่เงินซื้อได้” เช่น วันหยุดพักผ่อน เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถยนต์คันใหม่ ความมั่นคงทางการเงิน ฯลฯ การเล่นลอตเตอรี่ถือเป็นเรื่องฉลาด ลอตเตอรี่ไม่ใช่การพนัน แต่เป็นเส้นทางสู่ชีวิตใหม่สำหรับใครก็ตามที่ยินดีเดิมพันเงินสองสามดอลลาร์กับความฝันของพวกเขา

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ลอตเตอรี่อิลลินอยส์นำข้อความใหม่มาใช้ในการโฆษณา โดยเน้นย้ำถึงความสนุกสนาน ความสุขในการเล่น แต่ไม่ว่าคำมั่นสัญญาจากการได้รับแจ็กพอตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร โคเฮนพบว่าประเด็นสำคัญที่ยังคงยืนหยัดมาอย่างยาวนานและยังคงดำรงอยู่ก็คือการวาดภาพลอตเตอรี่ว่าเป็น“วิธีการที่เป็นประชาธิปไตย และมีความยุติธรรมในการเลื่อนสถานะทางสังคมสำหรับทุกคน” โฆษณาลอตเตอรี่ได้รับการออกแบบเพื่อปลูกฝังความเชื่อในความเป็นไปได้ การโฆษณาทำให้ผู้เล่นต้องไขว่คว้ารางวัลที่ยากจะเข้าใจ ทำให้พวกเขาประเมินโอกาสในการชนะสูง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าการชนะรางวัลนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด

นอกเหนือจากการโฆษณาแล้ว บริษัทลอตเตอรี่ยังใช้กลยุทธ์การแพร่กระจายลอตเตอรี่ไปยังร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของร้านสะดวกซื้อในสหรัฐอเมริกา โคเฮนกล่าวว่าร้านค้าปลีกนั้นมีฐานลูกค้าร่วมกับลอตเตอรี่ เช่น ในช่วงทศวรรษ 1970และ1980 ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเล่นลอตเตอรี่มากกว่าผู้หญิง พร้อมกับเป็นกลุ่มลูกค้าในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ด้วยช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างฐานผู้เล่นลอตเตอรี่และปลูกฝังการพนันให้เป็นกิจวัตรประจำวัน โปรโมชันในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะเชื้อเชิญให้ลูกค้าให้คว้าลอตเตอรี่สองสามใบพร้อมกับนม เบียร์ บุหรี่ หรือหนังสือพิมพ์เพื่อลุ้นแจ็กพอต สลากลอตเตอรี่จึงหาซื้อได้ง่ายพอๆ กับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆที่มีขายอยู่ตามร้านค้าในทุกหัวมุมถนน

เนื้อหาหลักในบทสุดท้ายก่อนที่จะถึงบทสรุป “Selling Hope: Lottery Politics in the South” โคเฮน พยายามตอบคำถามในบทนี้ว่าลอตเตอรี่แพร่กระจายไปยังภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990 ได้อย่างไร ทั้งนี้ เขาให้ความสำคัญไปที่ความพยายามในการสนับสนุนลอตเตอรี่ของเซลล์ มิลเลอร์ (Zell Miller) อดีตครูสอนประวัติศาสตร์และนักการเมืองพรรคเดโมแครตปีกอนุรักษ์นิยมซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในช่วงปี1990-1998 ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจอร์เจียและทั่วภาคใต้ออกกฎหมายลอตเตอรี่ของรัฐในช่วงทศวรรษ 1990 และต้นปี 2000

ณ ตอนแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจอร์เจียและนักการเมืองอย่างมิลเลอร์ต่างก็มองว่าลอตเตอรี่เป็น “ยาวิเศษ”ที่สามารถสร้างรายได้ให้รัฐโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับในรัฐอื่นๆ อย่างไรก็ตามมิลเลอร์ได้ปรับปรุงคำมั่นสัญญาทางการเงินของการพนันที่ถูกกฎหมายว่ารัฐจะมอบผลประกอบการจากลอตเตอรี่เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและโครงการสำหรับเด็กก่อนอนุบาล ซึ่งต่างจากชาวนิวเจอร์ซีย์ในทศวรรษ 1960 ที่เชื่อว่าลอตเตอรี่จะทำให้งบประมาณของรัฐสมดุล หรือชาวแคลิฟอร์เนียในทศวรรษ 1980 ที่หวังว่ามันจะสนับสนุนระบบการศึกษาโดยรวม

การรณรงค์ซึ่งประสานความสัมพันธ์ระหว่างลอตเตอรี่กับการศึกษาของมิลเลอร์มีชื่อว่า “HOPE” (Helping Outstanding Pupils Educationally) ออกแบบมาได้อย่างลงตัวกับบริบททางการเมืองในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตการศึกษา และกังขาในประสิทธิภาพของนโยบายสวัสดิการอื่นๆ พวกเขาจึงรู้สึกสบายใจกับการใช้จ่ายของรัฐบาลในการปรับปรุงการศึกษาและหันมาสนับสนุนลอตเตอรี่ที่เชื่อว่าจะเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณ ดังนั้น เมื่อ HOPE ประกาศใช้ในปี 1990 จอร์เจียจึงกลายเป็นต้นแบบสำหรับการสนับสนุนลอตเตอรี่ออกไปทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รัฐแห่งแรกที่ผ่านกฎหมายลอตเตอรี่ในรัฐทางใต้ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้มิลเลอร์ชนะการเลือกตั้งในการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในปี 1990 และ 1994 ที่สำคัญมากไปกว่านั้นยังมีผลต่อความนิยมในนักการเมืองของพรรคเดโมแครตคนอื่นๆ ในรัฐทางตอนใต้ที่สนับสนุนนโยบายลอตเตอรี่เพื่อการศึกษาเช่นเดียวกับมิลเลอร์ด้วย อย่างไรก็ดี ถึงแม้ HOPE จะได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและเป็นพาหนะนำพาเซลล์ มิลเลอร์สู่เก้าอี้ผู้ว่าการรัฐถึงสองสมัย แต่โคเฮนชี้ว่าในความเป็นจริงนั้น HOPE เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนผิวขาวที่ร่ำรวยเป็นหลัก ในขณะที่เงินทุนทางการศึกษาที่ได้รับได้มาจากพฤติกรรมการเดิมพันของนักพนันที่ยากจน มีการศึกษาน้อย และไม่ใช่คนผิวขาว

จากการเปิดประเด็นในบทนำด้วยเรื่องราวของลีโอ แมกคอร์ดผู้เล่นลอตเตอรี่ชายผิวสี อายุ 70 ปี โคเฮน ปิดท้ายในบทสรุปด้วยเรื่องราวของอาชานิ อคัววิวา (Ashani Acquaviva) หญิงสาวผู้เริ่มให้ความสนใจลอตเตอรี่เมื่อเธออายุ 19 ปี อาชานิเป็นพนักงานปั๊มน้ำมันใกล้บ้านเกิดในจอร์เจียตอนกลาง เธอจำได้ว่าลูกค้าประจำที่เข้ามาซื้อบุหรี่ เบียร์ และน้ำมัน จะซื้อลอตเตอรี่หนึ่งหรือสองใบเสมอ และไม่นานอาชานิก็เริ่มมีความฝันเรื่องลอตเตอรี่เป็นของตัวเอง ในช่วงเวลาพักจากการทำงาน เธอมักจะก้าวออกไปข้างนอกร้านและจ้องมองป้ายโฆษณาเกมแจ็กพอตที่มีเงินรางวัลหลายร้อยล้านดอลลาร์และจินตนาการว่าถ้ามีเงินแบบนั้นจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเธอก็ลองซื้อลอตเตอรี่ โดยให้เหตุผลว่า“คุณไม่สามารถฝันได้ถ้าคุณไม่เล่น” และหลังจากนั้นเป็นเวลา 20 ปีแล้วที่ลอตเตอรี่อยู่คู่ชีวิตของอาชานิ ณ ตอนนี้เธอเป็นผู้เล่นที่มีความมุ่งมั่นโดยใช้จ่ายเงินประมาณ 400 ดอลลาร์สำหรับการซื้อสลากทุกเดือนซึ่งเธอไม่ได้รู้สึกแย่กับเงินที่เสียไปนั้น เพราะถ้าเธอแพ้ เธอรู้ว่าเงินนั้นจะช่วยเป็นทุนการศึกษาในโครงการ HOPE ได้ หลังจากผ่านไปหลายปีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาชานิลาออกจากงานและดำรงชีวิตด้วยเงินออมและรายได้ของสามี เมื่อใดก็ตามที่เธอขับรถผ่านป้ายโฆษณาแจ็กพอตลอตเตอรี่ เธอจะโบกมือ ยิ้ม และบอกกับตัวเองว่าเธอจะเห็นมันในบัญชีธนาคารของเธอเร็วๆ นี้

โคเฮน กล่าวว่า สำหรับผู้เล่นอย่างอาชานิ ลอตเตอรี่ไม่ใช่เพียงความบันเทิงแต่ก็ยังเป็นการลงทุนที่จริงจังเพื่อชีวิตใหม่ การพนันโดยเฉพาะอย่างยิ่งลอตเตอรี่เป็นกลไกของการเลื่อนชั้นทางสังคมในสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ลอตเตอรี่เป็นมากกว่าเกมการพนัน เมื่ออุตสาหกรรมแบบเก่าพังทลายลง และรัฐบาลไม่สามารถปกป้องความมั่นคงและสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ฉะนั้น สำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานลอตเตอรี่จึงกลายเป็นเส้นทางที่เร็วที่สุดสู่ “ความฝันอเมริกันสมัยใหม่”แม้กระทั่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐต่างๆ คาดการณ์ว่ายอดขายจะลดลงแต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ท่ามกลางการชะงักงันทางเศรษฐกิจ ชาวอเมริกันยังคงเสี่ยงโชคในแจ็กพอตต่อไป

ท้ายที่สุด ในฐานะคนเขียนหนังสือและค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับลอตเตอรี่ โคเฮนกล่าวว่าได้รับคำถามจากผู้คนแวดล้อมมากมายว่าจริงๆแล้ว ลอตเตอรี่นั้นดีหรือไม่ดีและยังคงเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลอเมริกันในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ซึ่งคำตอบของเขาคือ “ลอตเตอรี่ไม่ควรมีอยู่ในสหรัฐอเมริกายุคใหม่” แม้อาจแย้งได้ว่าการยกเลิกลอตเตอรี่จะนำไปสู่การกลับมาของระบอบลอตเตอรี่ที่ผิดกฎหมาย แต่เขามองว่า ลอตเตอรี่นั้นต่างจากยาเสพติด ความนิยมของลอตเตอรี่ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของมวลชน ยิ่งมีคนเล่นมากขึ้นเท่าไหร่ รางวัลก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปราศจากซึ่งการสนับสนุนโดยรัฐบาล ลอตเตอรี่ที่ผิดกฎหมายก็ไม่สามารถเข้าใกล้ขนาดรางวัลอันมหาศาลดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ สิ่งนี้จะทำให้เงินอยู่ในมือของประชาชนมากกว่า และจะช่วยปรับทัศนคติของชาวอเมริกันเกี่ยวกับความมั่งคั่ง โชค และความสำเร็จใหม่แทนที่จะนำไปฝากไว้กับลอตเตอรี่

อย่างไรก็ดี เขาไม่คิดว่าจะมีรัฐใดจะพิจารณายกเลิกลอตเตอรี่อย่างจริงจัง เขาเพียงแค่หวังให้มีการปฏิรูปการดำเนินการลอตเตอรี่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของลอตเตอรี่ในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยการปฏิรูปที่ว่านี้อาจดำเนินการผ่าน การกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดในการขายสลากลอตเตอรี่ออนไลน์ การจำกัดราคาของเกมทันใจ และการจำกัดเพดานของแจ็กพอต แต่สิ่งที่เขาคิดว่าอาจมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ การจำกัดการโฆษณาลอตเตอรี่ เขาย้ำว่าในเวลานี้เป็นเวลาที่จะพิจารณาผลที่ตามมาของลอตเตอรี่อย่างจริงจัง ก่อนที่ชาวอเมริกันรุ่นใหม่จะเชื่อว่าแจ็กพอตเป็นโอกาสสุดท้าย ดีที่สุด หรือโอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา

For a Dollar and a Dream พาเราติดตามทุกความสัมพันธ์ที่ลอตเตอรี่เข้าไปเกี่ยวข้อง พร้อมกับเป็นกระจกส่องสะท้อนมายังประเทศไทย เรื่องราวของลีโอ แมกคอร์ดและ อาชานิ อคัววิวาที่มั่นคงในการไล่ตามความฝันซึ่งผูกติดอยู่กับสลากลอตเตอรี่กับนักเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1และ16 ของเดือนคนไทยซึ่งเฝ้าถวิลหาว่า“พรุ่งนี้(จะ)รวย” คล้ายกันจนไม่นึกว่าแท้จริงนั้นพวกเขาดำรงอยู่กันคนละซีกโลก ความนิยมในลอตเตอรี่คืออาการของปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำซึ่งสูงลิบลิ่วในสังคมอเมริกา สังคมไทยก็เช่นกันหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำเพราะอย่างน้อยลอตเตอรี่ในอเมริกายังสามารถอ้างได้ว่าเป็น“ประชาธิปไตย”ซึ่งในประเทศไทยไม่แน่ใจว่ายังมีสิ่งนี้อยู่หรือไม่ โจนาธาน ดี โคเฮนกระตุกเตือนให้ “คิด”เกี่ยวกับลอตเตอรี่เพื่ออนาคตของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของคนในวัยหนุ่มสาว สังคมไทยควรรับฟัง