วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้ ปรับและเรียบเรียงขึ้นจากการบรรยาย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในหัวข้อ ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายและการเดินทางของกลุ่มคาราวาน การค้า แรงงาน และผู้คน ณ MAIIAM PAVILION ถ.ไตรรัตน์ อ.เมือง จ.เชียงราย ขอบคุณทีมผู้จัดงาน และเอื้อกานต์ กันทะลือ ผู้สรุปประเด็นจากเทปบันทึก ส่วนเนื้อหาและข้อเสนอในงานชิ้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เขียนเพียงผู้เดียว
คาราวานและการเดินทาง: เขียนประวัติศาสตร์จากการเดินทางและการเคลื่อนย้าย
~เกริ่น~
ข้อเขียนนี้เริ่มจากความคิดของผู้เขียนที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองต่อการศึกษาอาณาบริเวณที่รู้จักในชื่อ “ล้านนา”จากข้อจำกัดในเรื่องข้อมูล หลักฐาน มาสู่การสร้างประวัติศาสตร์ล้านนาที่มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ความเป็นศูนย์กลางที่มิได้สัมพันธ์กับอดีต ความเป็นราชธานี เท่ากับกระบวนการสร้างเมื่อไม่นานมานี้ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย การแสวงหาการเล่าเรื่องในแบบอื่น ข้อมูลชุดอื่น จนอาจนำไปสู่การท้าทายประวัติศาสตร์กระแสหลักได้บ้างไม่มากก็น้อย เป็นที่มาของงานที่เสนอต่อไปนี้ ซึ่งสนใจเป็นประเด็นการค้า เครือข่ายทางชาติพันธุ์ และเส้นทางในดินแดนของเอเชียตะวันออกตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การศึกษาล้านนาไม่อาจหยุดอยู่เฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากเครือข่ายของเส้นทาง การเชื่อมต่อ สามารถทำให้เข้าใจชีวิตของผู้คน และชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้ รวมถึงเมื่อพวกเขาเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นแรงงาน ตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ เนื้อหาในส่วนของการนำเสนอแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ 1) เส้นทาง 2) วัวต่าง 3) ของต่าง 4) และผู้หญิงในขบวน
~เส้นทาง~
เมื่อสำรวจเส้นทางและการเชื่อมต่อของผู้คน พบว่าการเคลื่อนไหวของชาติพันธุ์ต่างๆ มีลักษณะไปมาหาสู่กันตั้งแต่ก่อนสมัยใหม่ (Pre-Modern) ในงานศึกษาที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานั้น ก็พบว่า เราสามารถนำแนวคิดเรื่อง Connectivity มาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจการเชื่อมต่อพื้นที่ที่มีข้อจำกัดบางประการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ในเขตหุบเขา พื้นที่ที่มีความต้องการสินค้าต่างๆ เช่น เกลือ เนื่องจากความแตกต่างของความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนข้าว พืชอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค หากเป็นพื้นที่ที่ผลิตเกลือได้ ก็ไม่สามารถบริโภคเกลือได้ทั้งหมดจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทอื่น ส่วนพื้นที่ที่ผลิตเองไม่ได้แต่จำเป็นต้องใช้เกลือในการบริโภคและถนอมอาหารก็ต้องการการแลกเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้น ความพยายามในการเชื่อมต่อของผู้คนสามารถย้อนไปได้ไกลมากในประวัติศาสตร์
เมื่อมีสมมติฐานเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การถกเถียงกับงานศึกษาของสก็อตต์ นักมานุษยวิทยาผู้เสนอผลงานเลื่องชื่ออย่าง The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia[1] ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์ของผู้คนที่ทำทุกวิถีทางเพื่อหลบหลีกอำนาจของผู้ปกครอง งานชิ้นนี้แม้ต้องการนำเสนอและตั้งข้อสังเกตต่อดินแดนที่อำนาจรัฐเบาบางและไม่สามารถควบคุมตรวจสอบประชากรได้ ทว่าสก็อตต์กลับเสนอภาพอำนาจของรัฐก่อนสมัยใหม่ที่มากกว่าความเป็นจริง ข้อโต้แย้งหนึ่งในงานของวราภรณ์คือ การเชื่อมต่อกันของผู้คนนั้น เป็นได้ทั้งที่สัมพันธ์กับรัฐ และไม่สัมพันธ์กับรัฐ อีกทั้งลักษณะของการใช้อำนาจก็มิได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ดังที่ว่าไว้ใน กาดก่อเมือง[2]วราภรณ์เสนอว่ารัฐก่อนสมัยใหม่มีการตรวจสอบและควบคุมทางอ้อม ผ่านการสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างตลาดหรือ กาด เพื่อให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกัน หรือให้ผู้คนเดินทางมาจากที่ห่างไกลเพื่อมาปรากฏตัวอยู่ในสายตาของรัฐหรือผู้ปกครอง และด้วยวิธีเช่นนี้ รัฐก็ได้ประโยชน์ร่วมด้วย โดยสามารถอธิบายเรื่องนี้ผ่านความสัมพันธ์ในระบบส่วย อันเป็นหัวใจหลักสำคัญในเรื่องการควบคุมแรงงาน และการได้มาซึ่งสิ่งของ กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ รัฐก่อนสมัยใหม่ปล่อยให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันโดยสะดวกซึ่งเป็นหนทางที่จะสามารถควบคุมและตรวจสอบได้อย่างแนบเนียน
หากกล่าวเช่นนี้อาจนำไปสู่ความเข้าใจว่า พื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐทั้งหมด ทว่าในความเป็นจริง ผู้คนเชื่อมต่อกันในหลายระดับ ดังได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่เสมอไปที่ต้องสัมพันธ์และอยู่ภายใต้การสอดส่องควบคุมของรัฐ ขณะที่พื้นที่การแลกเปลี่ยนก็มีได้หลายรูปแบบ พวกพ่อค้าที่เดินทางต่างหากที่นำพาและรวบรวมสินค้าตลอดการเดินทาง ทำให้มิติของการแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม เคลื่อนออกจากหมู่บ้าน ชุมชน ไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขัดขวางหรือทำให้หยุดเคลื่อนย้ายได้ และหากพิจารณาในแง่นี้ การปิดเส้นทางการเชื่อมต่อ เป็นเหมือนการปิดประตูตายหรือหลายครั้งใช้ในฐานะที่เป็นกุศโลบายทางการเมืองได้ด้วย
เมื่อกลับมาพิจารณาตัวตนของกลุ่มคนกลุ่มนี้ พวกเขาคือใครกันแน่ ในเอกสารและบันทึกที่มีถึงกลุ่มพ่อค้า นักเดินทาง พบว่าพวกเขาล้วนมีอาวุธ ถ้าไปเป็นขบวนใหญ่ ก็เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ เส้นแบ่งระหว่างกองโจรกับกองคาราวานที่เดินทางค้าขายนั้นค่อนข้างพร่าเลือน และในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อเกิดสงคราม การสู้รบ สถานะของพวกเขาก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขได้เช่นกัน ในเอกสารพื้นเมืองการปิดหรือเปิดเส้นทาง การมาเยือนของพ่อค้า นักเดินทาง หรือการไม่ปรากฏตัวของคนกลุ่มนี้ เป็นเครื่องหมายที่บอกถึงสภาวการณ์ของบ้านเมืองในยามปกติหรือยามสงคราม ในยุครุ่งเรืองหรือยุคเสื่อมถอย
เมื่อขยับมาสู่ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ใกล้เข้ามาหน่อย เช่น ในพื้นที่เครือข่ายการค้าของชาวไทใหญ่ ชาวฉาน จากรัฐฉานลงมาถึงบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน เมืองแม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่ามีความโดดเด่นในฐานะที่กลายเป็นถิ่นฐานของชาวไทใหญ่ ต้องสู้ และชาติพันธุ์อื่นๆ ในปัจจุบัน ร่องรอยของความเป็นชุมชนพ่อค้าวัวต่างยังปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด จากการสำรวจและพูดคุยกับอดีตพ่อค้าวัวต่างในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าเส้นทางจากแม่สะเรียง ขุนยวม และแม่ฮ่องสอนมีความเชื่อมโยงกับเชียงใหม่ โดยสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางปาย หรือจากเมืองขุนยวมตัดเข้าปางอุ๋งมายังแม่แจ่ม หรือจากขุนยวม อาศัยแม่น้ำยวมโดยการต่อแพจากวัดต่อแพขนส่งข้าวไปถึงเมืองยวม (แม่สะเรียง) การเดินทางของกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้อาศัยเครือข่ายความเป็นชาติพันธุ์ เช่น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว พ่อค้าไทใหญ่จะขนข้าวไปให้กับญาติพี่น้องคนไตที่อยู่แม่สะเรียง เนื่องจากแม่สะเรียงขาดแคลนข้าวทุกปี พวกเขาเล่าว่าระหว่างทาง มักมีคนมาดักปล้นและขอซื้อข้าว แต่พวกเขาไม่ขายให้ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการค้าและการแลกเปลี่ยนในบริบทนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของกำไรและราคา เท่ากับการรักษาเครือข่ายความเป็นชาติพันธุ์ที่พวกเขายึดถือ กลุ่มพ่อค้าวัวต่างยังเล่าว่าเดิมทีการเดินทางจากแม่ฮ่องสอนมายังเชียงใหม่ อาศัยช้างในการขนต่างสินค้าและเดินทาง บางครั้งพวกเขาก็เดินทางไปยังฝั่งพม่าเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าบางรายการ เส้นทางดังกล่าวยังคงเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าและภาพจำเกี่ยวกับเมืองต่างๆ เมื่อเวลาล่วงผ่าน พวกเขาเก็บรักษาความทรงจำเอาไว้ บางครั้งอยู่ในรูปของสิ่งของ ของสะสม ของที่ส่งต่อกันมา
~วัวต่าง~
วัวต่าง เป็นมากกว่าสัตว์ต่างในความหมายของการใช้งาน หรือใช้เพื่อการขนต่างสิ่งของ ดังจะพบว่าวัวดำรงอยู่ในสังคมเกษตร และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้คน ดังสะท้อนมาจากบทเพลงกล่อมเด็กอย่าง “ปู๊คำน้อย ใส่ต่างเบาเบา ปู๊คำเหลา ใส่ต่างมั่นมั่น ปู๊คำฟั่น ใส่ต่างครัวกิน ปู๊คำนิน ใส่ต่างครัวหย่อง ปู๊คำว้อง เอาไว้นำทาง”[3]สะท้อนถึงการจำแนกหน้าที่ของวัวที่บรรทุกของเบา ของหนัก เสื้อผ้าและอาหาร ไม่เพียงเท่านั้นความใกล้ชิดผูกพันกับวัวยังสามารถย้อนไปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านกลองสำริดที่มักพบเจอลวดลายของวัวที่อยู่บนกลองที่ถูกใช้ในเชิงพิธีกรรมสะท้อนว่าผู้คนในพื้นที่นี้ผูกพันกับวัวเป็นเวลาช้านาน การใช้กลองได้สื่อถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า มูลค่าของกลองตามที่นักโบราณคดีประมาณมูลค่าคือต้องใช้วัวถึงเจ็ดร้อยถึงหนึ่งพันตัวในการแลกเปลี่ยน ผู้ที่ครอบครองกลองจึงเป็นผู้มีอำนาจของกลุ่ม หรือผู้นำในการประกอบพิธีกรรมในกลุ่มการเกษตร
ในชุมชนของคนฉาน หรือคนไทใหญ่มีความสัมพันธ์กับวัวเป็นเวลาช้านานทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อในทางศาสนา วัดไทใหญ่ให้ความสำคัญกับวัวจากการมีอยู่ของรูปปั้นวัวที่มีต่างอยู่ข้างหลังในเกือบของทุกวัดของคนไทใหญ่ เรื่องเล่าจากพระสงฆ์ที่วัดต่อแพ ย้อนให้ฟังถึงการบูรณะวัดร้างที่มีอายุเก่าแก่โดยพระที่เดินทางมาจากพม่า ภายหลังวัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนคนไตที่แม่ฮ่องสอน ภาพจิตรกรรมบนผนังวิหารไม้ ยังปรากฏเรื่องราวทศชาติชาดกของพระพุทธเจ้าที่ในชาติหนึ่งได้เกิดเป็นวัว วัวจึงมีความหมายมากกว่าสัตว์ การเรียกวัวในพื้นที่ชุมชนคนไทเปรียบเสมือนการที่ผู้คนเรียกเพื่อน “เปิ้น” คำที่ใช้เรียกคนและวัว สถานะของวัวจึงไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน นอกจากนั้น เมื่อมองไปยังส่วนยอดของเจดีย์ก็ยังปรากฏให้เห็นดิ่งหรือเดง ซึ่งเป็นอุปกรณ์เดียวกันกับที่ใช้ห้อยบนคอของวัว พ่อค้าวัวต่างเมื่อปลดระวางในหน้าที่ ยังคงให้ความหมายต่อดิ่ง/เดงโดยยกขึ้นสู่พื้นที่สูงและศักดิ์สิทธิ์ ในอีกเรื่องเล่าของวัดต่อแพเกี่ยวกับชุมชนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนั้นวัดได้ถูกยึดให้เป็นโรงพยายามสนามของทหารญี่ปุ่น มีแต่คนเจ็บคนป่วย เสียงของกระดิ่งกลับเงียบงันในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งที่ปกติเสียงกระดิ่งจะดังกังวานไปทั่ว[4]
~ของต่าง~
ในขบวนวัวต่าง สิ่งที่โดดเด่นในภาพเก่าๆ ที่เรายังได้เห็นคือ ผางลาง ที่อยู่บนหลังวัวนำ วัวคู่นำจะใส่ผางลางซึ่งมีตัวผู้และตัวเมีย พ่อค้าวัวต่างบอกเล่าถึงเสียงของผางลางที่แตกต่างกันระหว่างตัวผู้ ตัวเมีย และผางลางแต่ละตัวก็ให้เสียงที่ต่างกัน ทั้งวัวและเจ้าของจะจดจำเสียงผางลางของตัวเองได้ และมันเป็นที่ยึดโยงคนกับวัวเข้าหากัน เมื่อปลดต่างออกจากหลังวัว หมายถึงการปล่อยให้วัวเข้าป่าเล็มหญ้าและพักผ่อน ขณะที่ในยามเดินทางพวกเขามักจะครอบปากวัวไว้เพื่อไม่ให้แวะเล็มหญ้าหรือออกนอกเส้นทาง เมื่อถึงเวลาต้องกลับมาร่วมขบวนและเตรียมเดินทางอีกครั้ง วัวที่ปล่อยให้เล็มหญ้าไกลออกไปจะกลับมาโดยอาศัยการฟังเสียง พวกพ่อค้าวัวต่างจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสียงของผางลางที่บางครั้งสามารถบอกเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วยได้ พวกเขายังเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นว่าเสียงของผางลางยังสามารถบำบัดรักษาโรค ในบันทึกช่วงอาณานิคมระบุว่า วัวที่นำขบวนหรือวัวจ่าจะถูกตกแต่งเสมือนเครื่องรางที่ปกป้องผู้เดินทางเพื่อให้การเดินทางราบรื่น เนื่องจากการเดินเข้าไปในป่ามีความอันตรายสูงไม่ว่าจะเป็นการเจอกับสัตว์ป่า หรือเรื่องลี้ลับที่เหนือธรรมชาติ นอกจากผางลางแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นที่ใช้ในขบวนวัวต่าง อาทิ ฮอก บะดิ่ง ต่าง หมอน โก๋นหาง และกื๋อ อุปกรณ์เหล่านี้ปัจจุบันหากไม่เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนบุคคล ก็ปรากฏในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น[5]
ของต่างที่พ่อค้าเล่าให้ฟังมีตั้งแต่ ข้าว เมี่ยง พลู พริก ของอุปโภคบริโภคที่ต้องอาศัยการขนจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง เส้นทางส่วนใหญ่อาศัยแนวสันเขาและหุบห้วย วัวเป็นพาหนะที่มีความอดทนต่อสภาพอากาศและการเดินทาง รู้ภาษาและการสื่อสารกับผู้เลี้ยงหรือเจ้าของเป็นอย่างดี แม้ว่าวัวจะบรรทุกสินค้าได้น้อยกว่าม้าและล่อซึ่งเป็นพาหนะขนต่างของชาวยูนนานหรือพ่อค้าฮ่อ ทว่าในด้านสังคม วัฒนธรรม ก็ถือว่าวัวมีความหมายที่สัมพันธ์กับผู้คนในอาณาบริเวณที่กล่าวถึงมากกว่า และหากพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็ยังพบว่าเส้นทางไม่ยากลำบากเท่า ระยะทางไม่ไกลเท่า การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสม
~ผู้หญิงในขบวน~
การเดินทางรอนแรมในพื้นที่ป่าเขา มักเป็นเรื่องของผู้ชาย ส่วนใหญ่บทบาทของผู้หญิงจะสัมพันธ์กับการค้าขายในพื้นที่ตลาด แต่ก็ไม่เสมอไปที่ขบวนวัวต่างจะไม่มีผู้หญิง เช่น การบอกเล่าของทายาทอดีตพ่อค้าวัวต่าง ชาวต้องสู้ อ.แม่สะเรียง พบว่าผู้หญิงก็ไปขบวนวัวต่างได้ เธอเล่าว่าครอบครัวของเธอค้าขายวัวต่าง และไม่มีทายาทเป็นผู้ชาย ผู้หญิงจึงสืบทอดเป็นผู้นำในขบวนวัวต่าง พากองคาราวานเดินทางค้าขายตั้งแม่สะเรียงถึงเชียงใหม่ นอกจากผู้หญิงจะมีบทบาทในการนำสินค้าออกจำหน่ายในตลาดแล้ว ส่วนใหญ่ยังรู้ว่าสินค้าอันไหนที่จะได้รับความสนใจหรือเป็นที่นิยม ลูกสาวของทายาทพ่อค้าวัวต่างอีกคนหนึ่งเล่าว่า เธอจะได้สวมใส่กำไล และเสื้อผ้าก่อนคนอื่น เมื่อเธอเป็นตัวแบบของการใช้สินค้า ก็เริ่มมีคนถามถึง สนใจ ดังนั้นเธอเองจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดชนิด/ประเภทของสินค้าที่จะจดในรายการต้องซื้อจากเมืองกลับมาขายที่หมู่บ้าน เช่น กำไล กระจก เครื่องสำอาง เครื่องครัว และเครื่องมือในการเย็บ-ปัก ซึ่งก็ขายดี ขนมาเท่าไหร่ก็ขายหมดทุกครั้ง
พื้นที่ของการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้มองเห็นภาพความหลากหลายของผู้คน ที่สัมพันธ์กับชนิด/ประเภทของสินค้า นั่นหมายถึงความคาดหวัง การรอคอย การมาถึงของคนและสินค้าบางอย่างที่ไม่มีในพื้นถิ่น อย่างกลุ่มพ่อค้าจีนยูนนานจะนำชา เครื่องทองเหลือง หมวกสาน ของป่า และวอลนัท มาด้วยเมื่อพวกเขามาแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาด ขณะที่พ่อค้าฉาน/ไทใหญ่/ต้องสู้จะนำฝิ่น มีดดาบ หมวกสาน และของป่า มาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น พ่อค้าแม่ค้าพื้นถิ่นนำอาหารสด อาหารแห้งมาจำหน่าย โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน พวกเขามีความต้องการ และความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนมาพบกันในจุดนัดหมาย อาจเป็นกาดนัด ข่วง ลาน ที่ปรับเปลี่ยนเป็นกาดชั่วคราว ในบันทึกหลายชิ้นของชาวต่างชาติระบุเงื่อนไขที่พ่อค้ายูนนานต้องเดินทางลงมาค้าขายกับเมืองทางตอนใต้ เนื่องจากพวกเขามีความต้องการฝ้ายที่เป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดในแถบยูนนานค่อนข้างมาก แม้ว่ามีการปลูกฝ้ายในพื้นที่ ทว่ากลับมีคุณภาพด้อยกว่าฝ้ายทางตอนใต้ ดังนั้นแม้ว่าการเดินทางจะเต็มไปด้วยอันตราย และความเสี่ยงเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดขบวนคาราวานเอาไว้ได้ การแลกเปลี่ยนในบริบทดังกล่าวไม่ได้อาศัยเงินตราเป็นปัจจัยสำคัญ การต่อรองและความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการแลกเปลี่ยน ยังเป็นพื้นฐานสำคัญ พวกเขาสามารถใช้สินค้าที่มีมูลค่า หรือเป็นที่ต้องการแทนเงินได้ เช่น ผ้าไหม ฝิ่น ก็สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางแทนเงินตราได้เช่นกัน
~ส่งท้าย~
การแลกเปลี่ยนในพื้นที่ตลาด เป็นเหมือนพื้นที่ทางสังคมมากกว่าพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สำหรับบริบทสังคมก่อนสมัยใหม่ พื้นที่ที่ผู้คนจะมาชุมนุมกันและสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ นั้นมีอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ได้เป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนสินค้า แต่รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และชุดประสบการณ์ กลุ่มพ่อค้าจึงเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมต่อมิติทางสังคม และวัฒนธรรมผ่านภาษา พ่อค้าจึงเป็นกลุ่มที่สามารถพูดได้หลายภาษา อดีตพ่อค้าวัวต่างที่ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้สูงอายุ ที่ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวและชุดประสบการณ์อย่างภาคภูมิใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการนับเอาประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) ที่ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาสร้างสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์สามัญชน” เป็นเรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับวีรบุรุษ วีรกรรม ความงามความดี หรือสัมพันธ์กับชาติบ้านเมือง แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ในชีวิตของผู้คน เมื่อถูกเล่าครั้งใด กลับเผยให้เห็นชีวิตชีวาของผู้เล่าและความทรงจำที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มาถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า ความสำคัญของการเชื่อมต่อในบริบทก่อนสมัยใหม่ สามารถนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่แม้จะเกิดพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา ดังจะพบว่า ขณะที่รัฐพยายามควบคุมพื้นที่ชายแดนเพียงใด ทว่าผู้คนก็ยังคงพยายามทะลุทะลวงเพื่อเชื่อมโยงเข้าหากัน แลกเปลี่ยนสินค้ากัน และประเด็นนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเคลื่อนย้าย อันเป็นฐานของการทำความเข้าใจการปะทะสังสรรค์ทางสังคม วัฒนธรรม ความเป็นชาติพันธุ์ อันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยมิติทางประวัติศาสตร์เข้ามาพินิจร่วมด้วย
[1] Scott, James C., The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia (Singapore: NUS Press, 2010)
[2] วราภรณ์ เรืองศรี, กาดก่อเมือง: ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)
[3] พรรณเพ็ญ เครือไทย, เพลงกล่อมเด็กล้านนา: เอกสารข้อมูล (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2532)
[4] วราภรณ์ เรืองศรี, โครงการวิจัย เรื่อง ความเคลื่อนไหวของชุมชนพ่อค้าคาราวานเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2559.
[5] ขอบคุณ ทศพล กรรณิกา ผู้เก็บข้อมูลอุปกรณ์ที่ใช้กับวัวต่างในพื้นที่ อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่