ชื่อบทความ: การล้อเลียนและการวิพากษ์งานเขียนทางประวัติศาสตร์นิพนธ์จากวรรณกรรมลาตินอเมริกา
ผู้เขียน: เอื้อกานต์ กันทะลือ (สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.2567)
บทคัดย่อ
บทความนี้มุ่งศึกษา “การล้อเลียนและการวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ของลาตินอเมริกาที่ปรากฏในวรรณกรรมลาตินอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จากการศึกษาพบว่า วรรณกรรมลาตินอเมริกาได้ใช้วิธีการนำเรื่องราวในอดีตมาเป็นวิธีการในการเล่าเรื่องเพื่อวิพากษ์วิธีการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในทศวรรษ 1960 และความเป็นเรื่องแต่งของวรรณกรรมได้ท้าทายการผูกขาดความจริงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ บทความนี้ได้วิเคราะห์วรรณกรรมที่โด่งดังจำนวนสามเรื่อง ได้แก่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา และมาทาดอร์ที่รัก สู้และฝันถึงวันเปลี่ยนแปลง วรรณกรรมเหล่านี้ได้นำเสนอประวัติศาสตร์แง่มุมใหม่นอกเหนือจากทัศนะของเจ้าอาณานิคมเดิมหรือชนชั้นปกครองใหม่หลังอาณานิคม มีการหยิบยกเรื่องของคนชายขอบและนำเสนอเรื่องเพศที่หลากหลายซึ่งเคยถูกกดทับโดยค่านิยมของสังคมปิตาธิปไตยของลาตินอเมริกาพร้อมกับทำหน้าที่การล้อเลียนและการประพันธ์การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในช่วงทศวรรษ 1960 สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองในช่วงทศวรรษ 1960 ของกลุ่มคนชายขอบผู้ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เขียนโดยชนชั้นนำ คนชายขอบจึงออกมาแสดงถึงตัวตนผ่านภาษาจากงานเขียนผ่านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยสร้างเรื่องเล่าที่อิงไปกับประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของคนชายขอบผ่านการเล่าเรื่องที่ทำหน้าที่การกระทำทางประวัติศาสตร์และการเมือง
คำสำคัญ: วรรณกรรมลาตินอเมริกา, วิพากษ์การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์, ความรู้เจ้าอาณานิคม
วิธีการอ้างอิง: เอื้อกานต์ กันทะลือ. "การล้อเลียนและการวิพากษ์งานเขียนทางประวัติศาสตร์นิพนธ์จากวรรณกรรมลาตินอเมริกา." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 2, ฉ.1 (มกราคม-กรกฎาคม 2567): 1-29.
เผยแพร่ออนไลน์: 16 กรกฎาคม 2567
Attachment | Size |
---|---|
01_latin_american_literature_0.pdf (379.17 KB) | 379.17 KB |