แถลงการณ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรื่องไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศ “หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ” และ
ขอให้เลื่อนการประกาศใช้ออกไปก่อนเป็นเวลา 1 ปีเพื่อเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและเปิดเผย
ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกร่างประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ” หรือที่เรียกกันว่า “ค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง” โดยกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นการเพิ่มภาระจากเดิม โดยคณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี หากไม่สามารถทำได้ก็จะมีบทลงโทษในอัตราต่างๆ ไปจนถึงขั้นหัก “ค่าตอบแทนขาสอง” ทั้งหมดนั้น
คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว ทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหา โดยที่
(1) ในเชิงกระบวนการ มหาวิทยาลัยแจ้งคณาจารย์อย่างเร่งรีบ มีลักษณะไปในทางปิดลับ มิได้ให้เวลาอย่างเพียงพอในการคิดพิจารณา รวมถึงเปิดช่องทางในการแสดงความคิดเห็นอย่างจำกัด
(2) ในเชิงเนื้อหา มหาวิทยาลัยไม่ได้แสดงเหตุผลที่มาที่ไปให้กระจ่างแจ้งอย่างเพียงพอว่าเหตุใดจึงต้องออกเกณฑ์นี้ทั้งๆ ที่เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการที่ผ่านมาก็มีความซับซ้อนยุ่งยากและมีบทลงโทษแก่คณาจารย์ที่ไม่สามารถทำตามเกณฑ์ได้อย่างเพียงพออยู่แล้ว (ตั้งแต่ไม่ขึ้นเงินเดือน ไปจนถึงขั้นไม่ต่อสัญญาจ้าง) หรือมหาวิทยาลัยติดขัดด้วยระเบียบใดหรือต้องการบรรลุสิ่งใดจากการออกเกณฑ์ใหม่นี้ (ในจดหมายที่คณาจารย์ได้รับมีแต่รายละเอียดของลักษณะผลงานวิชาการที่ต้องทำเพิ่มและบทลงโทษหากทำไม่ได้ตามนั้นเท่านั้น) หากมหาวิทยาลัยแสดงความชัดเจนในข้อนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เกิดความชัดเจนที่สามารถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่เป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่ายได้
คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์จึงขอเรียกร้องให้
(1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชะลอการประกาศใช้ร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
(2) มหาวิทยาลัยเปิดการเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องให้กับคณาจารย์อย่างกว้างขวางเพื่อความโปร่งใสและความเข้าใจอย่างรอบด้าน ชี้แจงสาเหตุที่มาที่ไป ระเบียบและแนวนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลเชิงสถิติและตัวเลขต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบคอบ
(3) มหาวิทยาลัยเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เปิดเผย และให้เวลาอย่างเพียงพอกับกระบวนการรับฟังนี้เพื่อการคิดพิจารณาแสวงหาทางออกร่วมกันในชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของคนทำงานซึ่งหากได้รับการรับฟัง การสนับสนุน และมีแรงจูงใจ (มากกว่าสร้างแรงกดดันผ่านการออกเกณฑ์บีบบังคับ เป็นต้น) ก็จะสะท้อนกลับไปส่งผลดีต่อความเข้มแข็งทางวิชาการและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยต่อไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30 สิงหาคม 2567