ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำเสนอในงานประชุมวิชาการประวัติศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ประวัติศาสตร์วิพากษ์: วิพากษ์ประวัติศาสตร์”
***วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้อง HB7801 (เปลี่ยนสถานที่เป็นห้องนี้)
ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 7 คน ดังนี้
1.การเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง: กรณีศึกษาหมู่บ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่
บรรณสรณ์ เสยกระโทก
2.วิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในความเปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษา ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ช่วงพ.ศ.2545-2567
สโรชา ตันตุ้ย
3.สภาวะความขัดแย้งในอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นล่างชาวจีนกับการเผชิญนโยบายผสมกลมกลืนจีน-ไทย ระหว่างปีพ.ศ.2481-2500
อารีย์ญา ไชยคำปัน
4.อัตลักษณ์เจ้านายฝ่ายเหนือกับการรื้อฟื้นภาพลักษณ์ในช่วงปี พ.ศ.2500-2540
สหราช ปาระมี
5.กบฏพญาปราบสงคราม (หนานเตชะ): ความเคลื่อนไหวของการต่อต้านสยามและเครือข่ายการเมืองในพื้นที่ชายแดน
นับเก้า เกียรติฉวีพรรณ
6.ดนตรีกบฏไอริชและแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในยุคการปฏิวัติไอร์แลนด์
ณัฐกาญจน์ พรมจันทร์ตา
7.ประวัติศาสตร์แห่งท่วงทำนองกับบทบาทความเป็นหญิงที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงของกองทัพเยอรมันตั้งแต่ยุคการรวมชาติปรัสเซียสู่เยอรมนียุคใหม่
ศรุตานนท์ ปราบุตร
การเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง: กรณีศึกษาหมู่บ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่
บรรณสรณ์ เสยกระโทก
บทความนี้มุ่งศึกษาการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในประเทศไทย ระหว่างค.ศ.1964-1977 โดยเน้นศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง หมู่บ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวม้งที่เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก ที่ได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับการเกษตรกรรมและเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับผู้คนภายนอก อันจะสะท้อนให้เห็นการเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาของมิชชันนารีภายหลังการสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ส่งผลให้การเผยแผ่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ในประเทศไทยดำเนินการได้ง่ายมากขึ้น บทความนี้เลือกศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาในเขตศาสนปกครองเชียงใหม่เนื่องจากเป็นเครือข่ายทางศาสนาของกลุ่มผู้อพยพชาวม้งคาทอลิกจากพื้นที่สงครามระหว่างรัฐไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีคณะพระมหาไถ่ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้งในเชียงใหม่ที่เปลี่ยนมานับถือคาทอลิกกลายเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งทางชุมชนมากกว่าชาวม้งในเขตศาสนปกครองอื่น โดยศาสนจักรคาทอลิกมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงชาวม้งที่หันมานับถือคริสต์ศาสนาให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเฉกเช่นเดียวกับผู้คนในพื้นที่ราบ ได้แก่ การเชื่อมโยงเข้ากับสังคมและเศรษฐกิจที่สร้างเครือข่ายสู่โลกภายนอก รวมทั้งการรับสิทธิขึ้นทะเบียนสัญชาติไทย การเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาล อีกทั้งศาสนจักรยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางสร้างความเป็นเอกภาพให้กับชาวม้งในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
วิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในความเปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษา ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ช่วงพ.ศ.2545-2567
สโรชา ตันตุ้ย
บทความนี้ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนต่างๆ ผ่านสิ่งทอของวิสาหกิจชุมชนพื้นที่ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ในช่วง พ.ศ. 2545-2567 เพื่อมุ่งเน้นอธิบายความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของชุมชน การศึกษานี้นอกจากจะใช้เอกสารบันทึกการประชุมของวิสาหกิจชุมชนแล้ว ยังใช้วิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่าโดยลงพื้นที่สัมภาษณ์กลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ผลการศึกษาพบว่า การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศและกระแสความคิดการศึกษาพื้นที่ชนบทก่อให้เกิดนโยบายที่มุ่งพัฒนาและกระจายเศรษฐกิจไปยังชนบท นอกจากนี้บทบาทผู้หญิงภาคเหนือกับการทอผ้าที่ถือเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาได้ถูกส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้า โครงการส่งเสริมต่างๆ ได้เปิดพื้นที่ให้ลูกค้าหลากหลายกลุ่มทั้งในประเทศและนอกประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน การศึกษานี้พบว่าความสัมพันธ์ของคนในชุมชนยังมีการหลงเหลือของความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบเดิมของชนบทที่อาศัยความคุ้นเคย สร้างความเชื่อใจ ซึ่งได้ส่งผลต่อสัญญาการค้าในรูปแบบของสัญญาใจ ผลจากการศึกษาทำให้ทราบถึงการปรับตัว การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละกลุ่มในชุมชน และการเข้ามาของโครงการจากทั้งทางภาครัฐ หรือภาคของการศึกษา ล้วนแล้วนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ในชุมชน
คำสำคัญ: การเปลี่ยนแปลง, ความสัมพันธ์, วิสาหกิจชุมชน, การพัฒนา, สิ่งทอ
สภาวะความขัดแย้งในอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นล่างชาวจีนกับการเผชิญนโยบายผสมกลมกลืนจีน-ไทย ระหว่างปีพ.ศ.2481-2500
อารีย์ญา ไชยคำปัน
บทความนี้ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึกของชาวจีนโพ้นทะเลชนชั้นล่างในสังคมไทยโดยเฉพาะในช่วงของการสร้างความเป็นเอกภาพของไทยผ่านการก่อตัวนโยบายผสมกลมกลืนจีนและไทยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วงพ.ศ. 2481-2500 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้แนวปฏิบัติทางสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในสังคมไทยได้ถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพ รวมไปถึงภาพของอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนที่ต้องสูญเสียผ่านการใช้วิธีการจัดการของชนชั้นนำไทย บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐได้นำระบอบอารมณ์ความรู้สึกเข้ามากำกับและสร้างบรรยากาศการผสานความสำนึกของคนในชาติเข้าด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีน จึงส่งผลทำให้ชาวจีนต้องเผชิญกับความรู้สึกที่รัฐไทยได้กำหนดอย่างไม่สามารถปฏิเสธและหลีกหนีได้ บทความนี้ศึกษาผ่านวิธีการทางจุลประวัติศาสตร์ (microhistory) ที่มุ่งความสนใจไปที่ประวัติศาสตร์ระดับจุลภาค อันเป็นการศึกษาเรื่องราวผ่านมุมมองขององค์ประกอบส่วนเล็กในสังคม ซึ่งทำให้เรื่องราวของผู้คนสามัญชนธรรมดากลายเป็นองค์ประธานของประวัติศาสตร์ บทความนี้จะนำเสนอเรื่องเล่าของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลชาวแต้จิ๋วที่ได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินไทยที่สามารถทำให้ทราบถึงบทบาทของวิถีชีวิตสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนทำให้เข้าใจในสำนึกของชาวจีนโพ้นทะเลที่มีต่อแผ่นดินบ้านเกิดอย่างประเทศจีนและห้วงอารมณ์ความรู้สึกของบุคคล การศึกษากรณีชาวจีนโพ้นทะเลในสังคมไทยผ่านแนวพินิจจุลประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึกจึงเป็นการขยายพื้นที่ของพรมแดนทางองค์ความรู้ให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้นและแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของมโนทัศน์ในทางประวัติศาสตร์ด้วย
คำสำคัญ: ชาวจีนโพ้นทะเล, ประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก, จุลประวัติศาสตร์
อัตลักษณ์เจ้านายฝ่ายเหนือกับการรื้อฟื้นภาพลักษณ์ในช่วงปี พ.ศ.2500-2540
สหราช ปาระมี
บทความนี้มุ่งศึกษาการรื้อฟื้นบทบาทเจ้านายฝ่ายเหนือในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2500-2540การปฏิรูปการปกครองพ.ศ. 2430 สยามได้ผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทและสถานะลงอย่างมากจนกระทั่งสลายตัวลงไปในท้ายที่สุด ทว่าสถานะที่เสื่อมสลายนี้ได้กลับฟื้นคืนอีกครั้งเมื่อทศวรรษ 2500 การศึกษานี้พบว่าเงื่อนไขสำคัญในการฟื้นฟูบทบาทของเจ้านายฝ่ายเหนือสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เจ้านายฝ่ายเหนือสร้างขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายแต่งงานที่สัมพันธ์กันตั้งแต่เจ้านายระดับสูงจนถึงข้าราชการในราชสำนักกรุงเทพฯ นอกจากนี้เจ้านายฝ่ายเหนือระดับสูงที่มีประสบการณ์และร่วมสมัยได้สืบทอดขนบธรรมเนียมทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือต่อเนื่องโดยไม่ขาดสาย กระทั่งเมื่อมีการฟื้นคืนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งแผ่ขยายพระราชอำนาจนำทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมไปยังระดับภูมิภาคอย่างลึกซึ้ง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเจ้านายฝ่ายเหนือได้ส่งผลให้กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันในด้านการให้ความศักดิ์สิทธิ์ในระยะที่สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังฟื้นฟูภาพลักษณ์ทางจิตวิญญาณการในแสวงหารากเหง้าของเทวราชา ทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของพิธีกรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับราชวงศ์จักรี โดยที่กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือเหล่านี้มีอยู่ในสถานะการเป็น “เจ้า” สืบสายโลหิตเจ้าประเทศราชที่มีความจงรักภักดีมาพร้อมๆกัน นอกจากนี้แล้ว การรื้อฟื้นสถานะเจ้านายฝ่ายเหนือยังส่งผลต่อการเติบโตกระแสท้องถิ่นนิยม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค ซึ่งทำให้อัตลักษณ์ของชาวเหนือที่อยู่ในทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับการเผยแพร่
คำสำคัญ: เจ้านายฝ่ายเหนือ, การรื้อฟื้นบทบาทและสถานะ, สถาบันกษัตริย์
กบฏพญาปราบสงคราม (หนานเตชะ): ความเคลื่อนไหวของการต่อต้านสยามและเครือข่ายการเมืองในพื้นที่ชายแดน
นับเก้า เกียรติฉวีพรรณ
บทความนี้มุ่งศึกษาความเคลื่อนไหวของการต่อต้านและเครือข่ายการเมืองในพื้นที่ชายแดนของกลุ่มกบฏพญาปราบสงคราม (หนานเตชะ) อันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์กบฏพญาปราบสงครามในช่วง พ.ศ.2432-2433 ที่นับเป็นการต่อต้านสยามครั้งแรกของล้านนา การต่อต้านมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในการปฏิรูประบบภาษีอากรแบบใหม่โดยข้าหลวงสยามในเชียงใหม่ จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ปรับตัวให้เข้ากับระบบภาษีอากรไม่ทัน รวมทั้งความไม่พอใจของเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการเก็บภาษี จนปะทุเป็นการกบฏต่อต้านสยามขึ้น นำโดยพญาปราบสงคราม (หนานเตชะ) ผู้นำชุมชนบ้านสันป่าสักและมีอิทธิพลในเขตสันทราย เหตุการณ์กบฏพญาปราบฯ นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกของการก่อการในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ และช่วงหลังที่ก่อการในเขตพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณเมืองฝาง-เมืองพร้าว บทความนี้จะมุ่งเน้นศึกษาเหตุการณ์ในช่วงหลังเป็นหลัก เนื่องมาจากกบฏพญาปราบฯ ในช่วงหลังที่ชายแดนแถบเมืองฝางถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนสยาม-พม่าของอังกฤษในหลายๆ ด้าน ทั้งความขัดแย้งพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศราชของสยามกับกลุ่มรัฐต่างๆ ในอารักขาของอังกฤษ เช่น เชียงตุง เมืองปั่น การปักปันเขตแดนบนแผนที่สมัยใหม่ระหว่างสยามกับพม่าของอังกฤษ การก่อความไม่สงบบริเวณชายแดนสยาม การอพยพเคลื่อนไหวของผู้คนในแถบชายแดน ความพยายามในการขยายอำนาจและการปะทะกันระหว่างสยามและอังกฤษบริเวณเมืองชายแดน ความเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาของกลุ่มอำนาจและกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนต่างๆ ต่อฝ่ายสยามและอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงเขตชายแดนไทย-พม่าในปัจจุบัน
คำสำคัญ: พญาปราบสงคราม (หนานเตชะ), เมืองฝาง, เมืองเชียงตุง, เมืองเชียงใหม่, ชายแดนไทย-พม่า
ดนตรีกบฏไอริชและแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในยุคการปฏิวัติไอร์แลนด์
ณัฐกาญจน์ พรมจันทร์ตา
บทความนี้ต้องการศึกษาแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในไอร์แลนด์ (Irish republicanism) ผ่านดนตรีไอริชในปี 1916-1923 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดสาธารณรัฐนิยมเบ่งบานในหมู่ผู้เรียกร้องเอกราช แนวคิดสาธารณรัฐนิยมไอริชคือแนวคิดทางการเมืองที่เรียกร้องให้ประเทศไอร์แลนด์ทั้งแผ่นดินเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ ปราศจากอำนาจใต้การบังคับและปกครองของอังกฤษ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ดำเนินไปตลอดศตวรรษโดยเน้นการเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำเชื้อชาติที่ได้รับการสนับสนุนและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางต่อชาวไอริชผู้เรียกร้องเอกราช ทั้งยังดำเนินกิจกรรมโดยวิธีการต่างๆ ทั้งแบบสันติวิธีและใช้ความรุนแรงเพื่อเข้าต่อต้านอำนาจในเวลาเดียวกัน แนวคิดนี้ได้แสดงออกผ่านดนตรี (โดยเฉพาะดนตรีกบฏไอริช) ซึ่งได้รับความนิยมและแพร่กระจายในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ตัวอย่างเช่น เพลง Foggy Dew, Come out ye black and tans, Oró Sé do Bheatha 'Bhaile และอื่นๆ บทเพลงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับแนวคิดสาธารณรับนิยมในไอร์แลนด์ บทความนี้พบว่าดนตรีกบฏไอริชในช่วงปี 1916-1923 ได้นำเสนอถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชและการสรรเสริญต่อผู้วายชนนท์ชาวไอริช ซึ่งกลุ่มเพลงดังกล่าวยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในหมู่นักชาตินิยมหลังสงครามกลางเมืองจนถึงการได้รับความนิยมต่อดนตรีในกระแสวัฒนธรรมประชานิยมของโลกปัจจุบัน
คำสำคัญ: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการเมือง, ดนตรีกบฏไอริช, สาธารณรัฐนิยมไอริช, ยุคการปฏิวัติไอร์แลนด์
ประวัติศาสตร์แห่งท่วงทำนองกับบทบาทความเป็นหญิงที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงของกองทัพเยอรมันตั้งแต่ยุคการรวมชาติปรัสเซียสู่เยอรมนียุคใหม่
ศรุตานนท์ ปราบุตร
บทความนี้มุ่งเน้นศึกษาพื้นที่ของผู้หญิงชาวเยอรมันบนหน้าประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลงที่เป็นของกองทัพเยอรมัน นับตั้งแต่การรวมอาณาจักรต่างๆ ที่พูดภาษาเยอรมันให้เป็นหนึ่งเดียวกันในปี 1871 ช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การรวมชาติเยอรมนีจากทั้งเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกหลังจากที่สงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี 1990 และยุคของเยอรมนีสมัยใหม่ โดยศึกษาจากหลักฐานชั้นต้นอย่าง เอกสารต้นฉบับการเขียนเพลงของกองทัพเยอรมัน และหลักฐานชั้นรองอย่างเพลงบนแอพสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Youtube การศึกษาค้นพบว่า บทบาทและพื้นที่ของผู้หญิงบนหน้าประวัติศาสตร์ของเยอรมนีนั้นแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของบริบททางสังคม อาทิ ในช่วงการรวมชาติเป็นจักรวรรดิเยอรมนีนั้น ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ต้องการการปกป้องจากเหล่าผู้ชาย จนนำไปสู่การถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลงที่เหล่าทหารหรือประชาชนชาวเยอรมันใช้ร้องกันอย่างแพร่หลาย แต่ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากสาธารณรัฐไวมาร์เป็นอาณาจักรไรช์ที่สามก็กดขี่พวกเธอแบบทางอ้อมให้ถูกจำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่ในบ้านและกลายเป็นค่านิยมที่ถูกเชิดชูโดยพรรคนาซี และมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายที่กระทำโดยรัฐนาซี ตลอดจนในยุคสมัยช่วงสงครามเย็นที่มีการใช้ผู้หญิงเป็นดั่งความเข้มแข็งของประเทศ แม้กระทั่งในช่วงที่เยอรมนีรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ในปี 1990 ผู้หญิงก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ และอุดมคติของเยอรมนี อาจจะกล่าวได้ว่า พวกเธอคือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่คอยขับเคลื่อนสังคมเยอรมนีให้ก้าวไปข้างหน้าตลอด 153 ปีที่ผ่านมา
คำสำคัญ: เพลง, ผู้หญิง, กองทัพเยอรมัน, ประเทศเยอรมนี
Attachment | Size |
---|---|
abstract-cmu_history_seminar_2.pdf (109.29 KB) | 109.29 KB |