คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มีพันธกิจในสามด้านได้แก่ การเรียนการสอน การสร้างความรู้ใหม่ให้แก่สังคมวิชาการ และการสร้างความรู้ใหม่ "ประวัติศาสตร์สาธารณะ" พันธกิจทั้งสามด้านนี้เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้
ในความเป็นจริง พันธกิจทั้งสามด้านเป็นหัวใจของการเป็น "มหาวิทยาลัย" ที่จะต้องจรรโลงและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ปฏิบัติตามพันธกิจทั้งสามด้านมาโดยตลอด และได้ทำให้ได้รับการการยอมรับจากสังคมวิชาการและสังคมทั่วไปในระดับที่น่าพึงพอใจ
พันธกิจทั้งสามด้านของภาควิชาประวัติศาสตร์ (หรือสาขาวิชาอื่นๆ) จึงต้องมีความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ (relative autonomy) แตกต่างไปจากจากระบบการบริหารหน่วยราชการทางด้านปฏิบัติการทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้และปฏิบัติมาโดยตลอดในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
พันธกิจด้านแรก ได้แก่ การเรียนการสอน
การเรียนการสอนของภาควิชาประวัติศาสตร์มีสามหลักสูตร[1] ได้แก่ หลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต
หลักสูตรบัณฑิตประวัติศาสตร์ (ปริญญาตรี) มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญได้แก่การผลิตบัณฑิตที่สามารถครอบครอง "วิธีคิดทางประวัติศาสตร์" ที่มองเห็นพลวัตทุกๆ ด้านของสังคมอย่างเป็นระยะเวลายาว (Longue durée) เพื่อเอื้อให้แก่การพัฒนาความสนใจส่วนตัวของนักศึกษาในการอธิบายเรื่อง/ประเด็นในประวัติศาสตร์ได้อย่างมีพลัง พร้อมกันนั้นไป การเรียนการสอนจะเน้นวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการจัดการ/ตรวจสอบหลักฐานเพื่อประกอบสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์เฉพาะเรื่องเฉพาะสมัยที่นักศึกษาสนใจ การเรียนการสอนเช่นนี้ทำให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพของตนในการจัดการกับข้อมูล/ตั้งคำถามที่เหมาะสมและสามารถประมวลเชื่อมต่อข้อมูลหลากหลายมามายให้กลายเป็นชุดความรู้ขึ้นมาได้
หลักสูตรมหาบัณฑิตประวัติศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนักวิชาการที่มีความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่ต่อเนื่องต่อไปเพื่อเข้ารับหน้าที่ในการสอนประวัติศาสตร์ในการศึกษาระดับต่างๆ หลักสูตรจึงเน้นให้นักศึกษามีความสามารถในการตั้งคำถามเชิงประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ทฤษฏีทางสังคมศาสตร์ให้ละเอียดอ่อนและเหมาะสมกับปัญหาประวัติศาสตร์ของสังคมไทย การรับนักศึกษาจึงไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาที่จบประวัติศาสตร์มาเท่านั้นหากแต่เปิดกว้างให้แก่ผู้ที่มาจากทางด้านอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนจากหลากมุมมอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้จะทำให้บัณฑิตสามารถทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่องไปได้ โดยไม่ยุติการแสวงหาความรู้อยู่ที่วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเท่านั้น
หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นส่งเสริมให้นักศึกษาและนักวิชาการที่สนใจด้านประวัติศาสตร์สามารถพัฒนาการค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์ได้ลึกซึ้งมากขึ้นทั้งทางด้านหัวข้อการวิจัยและกระบวนการสร้างความรู้จากหลักฐานต่างๆ เพราะในสามทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์ในโลกมีความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ให้แก่สังคมวิชาการและสังคมไทย
การพัฒนาการเรียนการสอนทั้งสามระดับหรือสามหลักสูตรนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและเอกก็จะส่งผลกลับมาสู่การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพราะกระบวนการสร้าง "ความรู้ใหม่" ให้แก่สังคมวิชาการและสังคมสาธารณะไม่สามารถจะหยุดนิ่งได้
พันธกิจ ด้านที่สอง การสร้างความรู้ใหม่ให้แก่สังคมวิชาการ
“โลกและความรู้” ไม่เคยหยุดนิ่ง สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นแหล่งสำคัญให้การจรรโลงสังคมที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ประวัติศาสตร์จึงสำคัญมากในแง่ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของสังคม ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และช่วยให้เข้าใจสังคมในเชิงโครงสร้าง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคมกับมนุษย์ ขณะเดียวกัน ความรู้ใหม่ที่ถูกพิสูจน์ว่ามีคุณค่ามีความหมายต่อสังคมก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากสังคมวิชาการโดยรวมเสียก่อน จึงจะทำให้ความรู้ทางวิชาการใหม่นั้นมีผลต่อสติปัญญาของสังคม
ภาควิชาประวัติศาสตร์มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่วงวิชาการในสองด้านด้วยกัน[2] ด้านแรก ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากบัณฑิตของภาควิชาทั้งสามระดับ ด้านที่สอง ได้แก่ การสร้างความรู้ใหม่โดยคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์
ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากบัณฑิตของภาควิชาในระดับปริญญาโทและเอก เป็นที่ยอมรับในสังคมวิชาการอย่างมาก วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์จากหลายแหล่ง และที่สำคัญ ได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงสังคมวิชาการอย่างกว้างขวาง แม้ว่าการศึกษาระดับปริญญาเอกจะยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษา แต่ผลงานในระหว่างการค้นคว้าวิจัยได้รับพิมพ์ในวารสารและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากบัณฑิตระดับปริญญาตรีได้รับการยอมรับให้เสนอในวงวิชาการระดับปริญญาตรี และบางชิ้นได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในหลายแหล่ง รวมถึงบัณฑิตที่ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอื่นก็นำความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้นไปพัฒนาต่อเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ในหลายมหาวิทยาลัย
การสร้างความรู้ใหม่โดยคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการต่อเนื่องมาโดยตลอด การยอมรับผลงานของอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวงวิชาการในระดับชาติเท่านั้น หากแต่ในวงวิชาการต่างประเทศก็ยอมรับผลงานของคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
พันธกิจในการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่วงวิชาการไม่ว่าจะจากการเรียนการสอนสู่ผลงานบัณฑิต และจากคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกตระหนักอยู่ตลอดมา และกล่าวได้ว่าเป็นความปรารถนา (desire) ของนักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ เพราะทุกคนทราบดีว่าการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่สังคมวิชาการมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย
พันธกิจที่สาม การสร้างความรู้ใหม่ “ประวัติศาสตร์สาธารณะ “ (Public History)
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกวิชาการประวัติศาสตร์ ได้แก่ การเกิดขึ้นของ “ประวัติศาสตร์สาธารณะ” (Public History) การเปิดพื้นที่ให้สาธารณะได้ร่วมกันนิยามอดีตอันหลากหลายได้ขยายมากขึ้น รวมทั้งบางรัฐยังมีบทบาทเชิงรุกในการสนับสนุนพื้นที่เหล่านั้น เช่นประเทศอังกฤษให้งบประมาณมหาศาลกับองค์กรสาธารณะที่ทำงานด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ โดยที่สถิติชี้ว่ากระทรวงวัฒนธรรม สื่อและการกีฬาของอังกฤษได้รับงบประมาณราวพันล้านปอนด์หรือราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยจัดสรรงบจำนวนมากให้องค์กรสาธารณะดำเนินการและกระทรวงไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งเท่ากับสนับสนุนให้มีการนิยาม “วัฒนธรรม” อย่างเปิดกว้าง ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ[3]
กระบวนการขยายตัวของ “ ประวัติศาสตร์-สาธารณะ” จะทำให้ประวัติศาสตร์มีคุณค่าใกล้ชิดกับจิตใจของผู้คน กล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ยังดำรงชีวิตลมหายใจในชีวิตประจำวันของสาธารณะโดยทำหน้าที่เป็นความทรงจำของสาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็ได้เอื้อให้สาธารณะเข้าถึงประวัติศาสตร์ในทรรศนะ การรับรู้ ความรู้สึกและความเชื่อมโยงของผู้คนเองทั้งในระดับส่วนบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม
พันธกิจของภาควิชาประวัติศาสตร์ในที่นี้ คือ การสร้าง “ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต”
พันธกิจในการศึกษาและสร้าง “ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต” จึงจะเป็นประวัติศาสตร์อันหลากหลาย รวมทั้งใช้วิธีการศึกษาอันกว้างขวางที่เกี่ยวโยงกับศาสตร์ต่างๆ ในมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (รวมไปถึงวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต)โดยหลอมรวมกับประเด็นเกี่ยวกับสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับชีวิตของคนหมู่มาก ซึ่งจะมีความหมายที่สำคัญยิ่งทางการศึกษา ได้แก่ การสร้างการคืนความรู้และการตัดสินใจให้แก่ “สาธารณะ” (Public emancipation)
ภาควิชาประวัติศาสตร์มีเป้าหมายในการทำให้ประเด็นต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักสำหรับการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และการสื่อสารกับสาธารณะในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ได้แก่
- ประวัติศาสตร์ความคิดและกระบวนการสร้าง “ความยุติธรรม” ซึ่งรวมถึงการศึกษาความหมายและปฏิบัติการณ์ของการนิยามและการเข้าถึงอดีต พื้นที่ และทรัพยากรร่วมกัน
- นิเวศประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของโลก และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโลกดิจิตัล
- ประวัติศาสตร์ความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเข้าใจ “ มนุษย์” ในบริบทของสังคม
แม้ว่าจะสร้างประเด็นหลักสำหรับ “ประวัติศาสตร์สาธารณะ” ในอนาคต แต่ก็ยังคงดำเนินการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นความเชี่ยวชาญของภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ได้แก่ ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ความคิด ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์จากข้างล่าง ประวัติศาสตร์อาณานิคมฯลฯในเชิงพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ในโลกมากขึ้น lสำหรับ “พื้นที่” ภาคเหนือและกลุ่มประเทศอาเซียน อาจารย์รุ่นใหม่หลายคนก็จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ล้านนาและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ เช่น จีน พม่า จากมุมมองใหม่
พันธกิจทั้งสามด้านของภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และความหวังของภาควิชาในการมองและแสวงหาแนวทางเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นการปูทางไปสู่การสร้างสังคมที่งดงาม ที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี และมีความสุขสงบร่วมกัน ขณะเดียวกัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ก็เชื่อว่าการดำเนินการเรียนการสอนและการปฏิบัติตามพันธกิจนี้จะทำให้บัณฑิตของภาควิชาทุกระดับจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและมีพลังแห่งความศรัทธาในมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สังคมต่อไป
คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เชิงอรรถ
- [1] หากสนใจตัวเลขเชิงปริมาณของการเรียนการสอนให้ดูที่ภาคผนวก ๑
- [2] หากสนใจผลงานในเชิงปริมาณ ดูในภาคผนวก
- [3] นอกจากนี้ในสหภาพยุโรป โดยเฉลี่ยงบประมาณด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่ที่ร้อยละ 0-2 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2000-2005; ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เอสโตเนีย โปรตุเกส และเยอรมนีเน้นการให้ทุนด้านงานเขียน การพัฒนาห้องสมุดสาธารณะ หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์เป็นพิเศษ Policy Department Structural and Cohesion Policies