Skip to main content

ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

*หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อก "นักเรียนไทยโพ้นทะเล" เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2018 เป็นการ "ชวนอ่าน" โดยอิงจากหนังสือฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก (Eugénie Mérieau, Idées reçues sur la Thaïlande, Le Cavalier Bleu, Juin 2018) ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาและตีพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่สองในวันที่ 30 มิถุนายน 2022 สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ได้ ที่นี่

 

เกริ่นนำ

ตั้งแต่ผมมาเรียนต่อที่ฝรั่งเศสเกือบ 5 ปีที่แล้ว [หมายถึงปี 2013] เรียกได้ว่าไม่มีหนังสือวิชาการและกึ่งวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยตีพิมพ์ในภาษาฝรั่งเศสเลย ในภาพรวม การไม่มีงานตีพิมพ์อย่างจริงจังในภาษาฝรั่งเศส สะท้อนสภาวะความไม่ใส่ใจประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดง่ายๆ ว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการศึกษาเรื่องนี้ในอดีตผูกติดกับอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสสูญเสียอาณานิคมดังกล่าวไป จึงไม่มีการส่งเสริมให้ศึกษาสาขานี้ต่อ หรืออย่างมากก็ศึกษาเพียงแต่ยุคที่อินโดจีนเคยเป็นอาณานิคม เพราะมีหลักฐานเก็บไว้ที่ฝรั่งเศสให้ศึกษาได้มาก นอกจากนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยในฝรั่งเศสส่วนมากเป็นของรัฐ ดังนั้นการลงทุนด้านการศึกษาในสาขาใดสาขาหนึ่ง ย่อมขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐด้วย เราจึงเห็นการศึกษาเรื่องอาฟริกาและตะวันออกกลาง รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการก่อการร้ายและการอพยพลี้ภัย ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษในช่วงนี้ หากเป็นเรื่องเอเชีย ส่วนมากก็จะมุ่งไปที่จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เสียมากกว่า

เพราะเหตุนี้ ในฝรั่งเศสจึงไม่มีหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แบบเดียวกับที่มีในสหรัฐอเมริกาหรือในอังกฤษ เท่าที่ผมทราบ แม้แต่สาขา “ประวัติศาสตร์เอเชีย” ก็มีแต่เพียงที่มหาวิทยาลัยปารีส 7 ส่วนในสาขาไทยศึกษา ฝรั่งเศสมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหยิบมือ จำนวนมากเป็นอาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีที่ INALCO ผู้เชี่ยวชาญประเทศไทยด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์สาขาอื่นนั้นมีน้อยมาก ในสาขาประวัติศาสตร์ ไม่มีนักวิชาการฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยแม้แต่คนเดียวที่สามารถคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้ เป็นเหตุให้ผมในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมจากต่างประเทศเพื่อมาคุมวิทยานิพนธ์ สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าในด้านไทยศึกษาในฝรั่งเศส คนที่โดดเด่นที่สุดคือ Jean Baffie (เร็วๆ นี้ วารสาร Moussons เพิ่งพิมพ์วาระพิเศษ อุทิศให้อาจารย์ Jean โดยเฉพาะ) อาจารย์ Jean ต้องเรียกว่าเป็นนัก “ไทยศึกษา” โดยแท้ เพราะไม่รู้จะนิยามว่าเป็นนักอะไร แม้ว่าจะจบมาทางสังคมวิทยาและจิตวิทยา แต่ก็เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเหลือเกินตามสไตล์ “ข้ามศาสตร์” (interdiscipline) แบบฝรั่งเศส

ปรากฎว่าปีนี้ มีสิ่งน่าตื่นเต้นคือ มีงานวิชาการและกึ่งวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทย ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วสองเล่ม ออกมาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทั้งคู่ เล่มแรกคือ Thaïlande, une royauté bouddhique au XXeme et XXIème siècle ของ Marie-Sybille De Vienne ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ INALCO หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยและเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในเร็วๆ นี้คงจะมีเรื่องกัมพูชาและมาเลเซียตีพิมพ์ต่อ งานชิ้นนี้เป็นงานวิชาการที่ซีเรียสและเต็มไปด้วยสถิติ ผู้เขียนเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนใจมิติด้านเศรษฐกิจและเคยเขียนเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาแล้ว งานชิ้นนี้ผมคงไม่มีเวลาเขียนรีวิว อาจต้องรอ “มิตรสหายท่านหนึ่ง” อ่านจบแล้วลุ้นให้เขาเขียนอะไรหน่อย

ส่วนงานอีกชิ้นหนึ่งคืองานที่ผมตั้งใจจะเขียนรีวิวในที่นี้ คือหนังสือที่ชื่อ Idées reçues sur la Thaïlande ของ Eugénie Mérieau ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Marie-Sybille De Vienne ขณะนี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Gottingen ในเยอรมัน หลายคน โดยเฉพาะที่คุ้นเคยกับแวดวงวิชาการ คงรู้จักเออเจนีอยู่แล้วในฐานะคนเขียนบทความเรื่อง “รัฐพันลึก” ที่ในประเทศไทยเอามาใช้และถกเถียงกันมากพอสมควร นอกจากบทความดังกล่าวนี้ เออเจนีได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับขบวนการเสื้อแดง (2013) และเป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง The politics of (No) elections in Thailand (2016) ส่วนปลายปีนี้ยังมีแผนจะพิมพ์หนังสืออีกสองเล่มเป็นภาษาฝรั่งเศส เล่มนึงชื่อ Les Thaïlandais และอีกเล่มนึงคือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอเอง ผมคิดว่าถ้าไม่นับ Jean Baffie ที่กล่าวถึงด้านบน ซึ่งก็เริ่มมีอายุแล้ว ต้องนับว่า Eugénie เป็นผู้เชี่ยวชาญประเทศไทย โดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่โดดเด่นที่สุดในฝรั่งเศส ณ ขณะนี้ (แม้ว่าจะไม่ได้ประจำอยู่ในฝรั่งเศสแล้วก็ตาม) นอกจากนี้ ถ้าหากไม่คุ้นเคยกับวงการวิชาการ เมื่อหลายปีก่อนอาจจะเคยเห็นเออเจนีที่เป็นสาวฝรั่งพูดไทยชัดในรายการ Divas Café ช่อง Voice TV อยู่บ่อยๆ หรือบางที ก็เดินสายเล่นดนตรี และทำมิวสิควีดิโอในฐานะ “Blue randôme”

หนังสือเรื่อง Idées reçues sur la Thaïlande[1] นี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรดี คำว่า Idées reçues นั้นหมายถึง ความคิดทั้งหลายที่เรารับมาโดยไม่ได้ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์มัน นอกจากเล่มนี้ของเออเจนีแล้ว สำนักพิมพ์ยังตีพิมพ์หนังสือ Idées reçues อีกหลายเล่ม ในหลากหลายหัวข้อไม่จำกัดว่าจะเป็นแค่ในหมวดประเทศ เช่น เรื่องทวีปอาฟริกา ศาสนาพุทธ ระบอบอาณานิคม เป็นต้น วัตถุประสงค์ของหนังสือชุดนี้ คือเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และแสดงให้เห็นความซับซ้อนของความคิดความเชื่อบางอย่างที่เรารับมาโดยไม่ได้ตั้งคำถาม

สำหรับหนังสือของเออเจนีเรื่องไทยนั้น ผู้เขียนเริ่มต้นโดยการนำเอาข้อคิดของ Ben Anderson ในบทความ The state of Thai studies มาอธิบายปรากฎการณ์ที่ฝรั่งเศสไม่สนใจไทยศึกษาในทางวิชาการ โดยแบ่งออกเป็นสี่ข้อด้วยกันดังต่อไปนี้

  1. การศึกษาเรื่องไทยส่วนมากแล้วมาจากชายผิวขาวชาวอเมริกัน
  2. ไม่มีเอกสารหอจดหมายเหตุในยุคอาณานิคม
  3. ไม่มีเอกสารในภาษาตะวันตก
  4. นักวิชาการตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สองมักจะศึกษาภูมิภาคนี้ด้วยแรงจูงใจเรื่องการต่อต้านอาณานิคม หากแต่ประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ในกรอบดังกล่าว

เหตุผลทั้งสี่ข้อเหล่านี้นำไปสู่การสรุปว่าประเทศไทยนั้นมีเอกลักษณ์ เอกลักษณ์ดังกล่าวมักจะได้รับการเชิดชู มากกว่าการศึกษาอย่างจริงจัง

หนังสือเล่มนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อให้ “ประเทศไทยเข้าถึงได้สำหรับทุกคน” โดยการ “ตอบโต้ความคิดหลายประการที่เรารับมา [โดยไม่ได้ตั้งคำถาม]” (P. 12) ผู้เขียนอธิบายว่าความความคิดทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากสาเหตุสองประการ

ประการแรกคือ ลัทธิบูรพาคดีศึกษา (Orientalism) ที่ทำให้ปรากฎการณ์ทุกอย่างในประเทศไทยอยู่ในกรอบ “ความเป็นอื่น” เมื่อเทียบกับตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันลัทธิบูรพาคดีศึกษาก็ถูกนำมาใช้โดยรัฐไทยเองอย่างสุดโต่งเหมือนกัน โดยการนำเสนอตนเองว่าแตกต่างจากตะวันตกสุดขั้ว ดังประโยคที่รัฐบาลทหารชอบใช้ คือ “ประชาธิปไตยนั้นไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมไทย”

ประการที่สองคือ บันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วเป็นชายผิวขาว ที่เดินทางมาใช้บริการทางเพศในประเทศไทย ซึ่งในหนังสือหลายเล่มที่ได้รับรางวัล ลดทอนความซับซ้อนของประเทศไทยไปอย่างมาก

ดังนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อตอบโต้ปรากฎการณ์ที่ประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศส ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นที่รู้จักน้อยมากในวงการวิชาการ หนังสือเล่มนี้จึงหวังว่าจะเติมเต็มและชี้ให้เห็นภาพประเทศไทยที่ซับซ้อนมากขึ้น ในมุมมองที่ “วิพากษ์วิจารณ์” แต่ขณะเดียวกันก็ “เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ”

หนังสือแบ่งออกเป็นสี่หมวด คือ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ แต่ละหมวดจะมี “ความคิดที่รับมา” หมวดละห้าข้อ แต่ละข้อนั้นผู้เขียนไม่ได้ตอบโต้ “ความคิด” ดังกล่าวว่าผิดทั้งหมดเสียทีเดียว แต่ชี้ให้เห็นว่ามันถูกเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ได้ถูกไปทั้งหมด และความเป็นจริงนั้นซับซ้อนกว่านั้นมาก ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น

หมวดประวัติศาสตร์ มีหัวข้อ “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงคือแมกนาร์ คาร์ตา ของสยาม” “ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม” “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ consititutional monarchy โดยพระราชประสงค์ของกษัตริย์”

หมวดการเมือง มีหัวข้อ “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ consititutional monarchy” “การเลือกตั้งในประเทศไทยไม่มีความหมายเพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียง” “กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย”

หมวดสังคม มีหัวข้อ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” “ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของเลสเบี้ยน เกย์ และคนข้ามเพศ” “ผู้หญิงไทยมีสถานะที่สูงส่งในสังคม”

หมวดเศรษฐกิจ มีหัวข้อ “ฐานเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ที่ชาวจีนโพ้นทะเล” “การทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยนั้นเป็นวัฒนธรรม” “ประเทศไทยหลุดจากวิกฤติเศรษฐกิจ 40 ได้ด้วยโมเดลเศรษฐกิจของในหลวงรัชการที่ 9” เป็นต้น

ในแต่ละหัวข้อเหล่านี้ บางทีมีหัวข้อย่อยๆ แถมอีก เช่น ในหัวข้อ “ระบอบเผด็จการไทยเป็นระบอบเผด็จการแบบอ่อน” มีหัวข้อแถมให้คือเรื่อง “คนเสื้อแดงเป็นพวกผู้ก่อการร้ายต่อต้านระบอบกษัตริย์” นอกจากนี้ เนื้อหาแต่ละหัวข้อจะขึ้นต้นด้วย quote ไม่ว่าจะเป็นของนักคิดอย่าง Montesquieu หรือเป็นเพลงอย่าง “สาวอีสานรอรัก” สำหรับหัวข้อ “ชาวอีสานเป็นพวกล้าหลัง”

ในที่นี้ ผมจะไม่ลงรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ แต่จะเขียนถึงข้อสังเกตกว้างๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็นสี่ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

 

1. มุมมองตะวันตก การเปรียบเทียบ และการนิยาม

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเขียนให้กับกลุ่มผู้อ่านชาวฝรั่งเศส ที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยหรือเอเชียมากนัก เราจึงพบการอ้างอึงเปรียบเทียบกับยุโรปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้อ่านที่เป็นคนไทย ในแง่หนึ่ง ทำให้ได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในบริบทของไทย ลดทอนความคิดว่าประเทศไทยนั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใดในโลก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการเปรียบเทียบเองด้วยว่า ในหลายกรณีเมื่อวิเคราะห์ไปอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าแท้จริงแล้วสองสิ่งนั้นเปรียบเทียบกันไม่ได้ เช่นเดียวกันกับการนิยาม ในหลายกรณีการนิยามโดยใช้ภาษาที่อิงต้นแบบจากตะวันตก ทำให้เข้าใจไปได้ว่ารูปแบบและเนื้อหานั้นต้องตรงกันกับต้นฉบับเสมอไป ซึ่งในความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เรื่องการเปรียบเทียบและการนิยาม จะช่วยสร้างความเข้าใจ และถึงที่สุดแล้วช่วยให้เข้าใกล้ “ความถูกต้อง” หรือ “ความเป็นจริง” ในทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

การอ้างอิงถึงกรณีตะวันตก จะเห็นได้สั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของหลายหัวข้อ เช่น ในหัวข้อ “การเลือกตั้งในประเทศไทยไม่มีความหมายเพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียง” เออเจนีพูดถึงกรณีของโรมช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ว่าก็มีคนศึกษาเรื่องนี้มามาก และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สากล ไม่เฉพาะกรณีไทย ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็มีการซื้อเสียง แต่ต่อมาก็พบว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะราคาแพงเกินไป และพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนไปโหวตให้จริงไหม รวมทั้งเมื่อระบบอุปถัมป์ลดน้อยลง การซื้อเสียงก็หายไปโดยปริยาย ส่วนในหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย” เออเจนีอธิบายว่าแท้จริงแล้วรัชกาลที่ 5 ลอกแบบมาจากเยอรมัน

นอกจากนี้ เรายังเห็นการเปรียบเทียบที่เป็นเนื้อหาหลักของหัวข้อหลายหัวข้อ ดังต่อไปนี้ ในหัวข้อแรกของหมวดประวัติศาสตร์ เราพบเรื่อง “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงคือแมกนาคาตาของสยาม” ความคิดเรื่องนี้นำเสนอโดยเสนีย์ ปราโมช ในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเสนีย์เสนอว่าศึลาจารึกพ่อขุนรามนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เช่นเดียวกับที่อังกฤษถือว่าแมกนาคาตาคือรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ศึลาจารึกพ่อขุนรามนั้นยิ่งใหญ่กว่าของอังกฤษเสียอีก เพราะเขียนเป็นภาษาไทย ในขณะที่ของอังกฤษเขียนเป็นภาษาละติน ในเรื่องนี้ เออเจนีนำเสนอข้อถกเถียงเรื่องการปลอมแปลงศึลาจารึกสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างคร่าวๆ ว่าถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้ แต่ที่แน่ๆ คือ แมกนาคาตาของอังกฤษนั้นนำไปสู่การกำเนิดของรัฐสภาอังกฤษ ในขณะที่ศิลาจารึกพ่อขุนราม ไม่ได้นำไปสู่สถาบันทางการเมืองแบบเดียวกันก่อนคริสศตวรรษที่ 20 เลย ดังนั้นคงจะพูดได้ยากว่าศิลาจารึกนั้นคือรัฐธรรมนูญในความหมายเดียวกันกับแมกนาคาตา

ในหัวข้อถัดไปเรื่อง “รัชกาลที่ 4 เป็นตัวแทนของทรราชแบบตะวันออก” เออเจนีเสนอว่าภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ถูกนำเสนอในหนังสือของแหม่มแอนนา ในละครเพลง และในภาพยนตร์เรื่อง The King and I นั้นมาจากความคิดเรื่อง “ทรราชแบบตะวันออก” (Despotisme oriental) ของมงเตสกิเออร์ ในคริสศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมานักปรัชญาอย่าง Hegel ในคริสตศตวรรษที่ 19 และ Karl Wittfogel ในคริสตศตวรรษที่ 20 ก็นำไปเผยแพร่ต่อ ในภาพแทนนี้ รัชกาลที่ 4 เป็นทรราชที่ผู้คนหวาดกลัว ห้ามสบตา ต้องหมอบกราบ นอกจากนี้ยังมีทาส และ “ฮาเร็ม” คือมีพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยนางห้ามจำนวนมากเอาไว้เป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว เออเจนีระบุว่า แม้จะจริง แต่เป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะต้องไม่ลืมว่ารัชกาลที่ 4 นั้นเป็นผู้ริเริ่มปฏิรูปให้ประเทศเป็นตะวันตก โดยการออกกฎหมายจำนวนมาก เช่น เริ่มให้พสกนิกรเรียกชื่อกษัตริย์ได้ ให้มองขบวนเสด็จของกษัตริย์ได้ และระบบทาสในสยาม ก็ไม่ได้มีลักษณะที่ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” (P. 27) แบบในยุโรป ดังนั้นแล้วรัชกาลที่ 4 นั้นเป็นกษัตริย์ที่เป็น “ตะวันตก” ที่สุด ในบรรดา “ทรราชแบบตะวันออก” ทั้งหลาย

สำหรับในหมวดการเมือง หัวข้อ “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy” เออเจนีวิเคราะห์ว่าอันที่จริงในภาษาไทย ที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น ไม่ได้ตรงกับนิยามที่นักวิชาการมักใช้ในภาษาอังกฤษคือ constitutional monarchy ซะทีเดียว แต่น่าจะเป็นระบอบ constitutional monarchy แบบผสม คือมีเนื้อแท้คล้ายระบอบกษัตริย์ของปรัสเซียปลายศตวรรษที่ 19 ผสมกับหน้าตาแบบระบอบกษัตริย์อังกฤษ ระบอบผสมที่ว่านี้ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างเป็นระบบผ่านการทิ้งร่องรอยกำกวมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญทุกยุคทุกสมัย บทบาทของกษัตริย์ในการระงับความขัดแย้ง สมัย 14 ตุลาฯ พฤษภา 35 (หรือไม่ระงับในพฤษภา 53) แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างธานินทร์ กรัยวิเชียร รวมถึงความใกล้ชิดกับกองทัพโดยการรับรอง (หรือไม่รับรอง) รัฐประหาร ทำให้เป็นการยากที่จะนิยามระบอบการปกครองของไทยว่าเป็นแบบ constitutional monarchy ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะผูกโยงกับระบอบประชาธิปไตย

ในส่วนที่เสริมของหัวข้อนี้ เรื่อง “ประชาธิปไตยไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมไทย” เออเจนีวิเคราะห์ว่าเราไม่ควรมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัว หากมองกรณีของฝรั่งเศสเมื่อปี 1802 ที่คนฝรั่งเศสกว่า 90% ลงคะแนนให้นโปเลียนเป็นกงสุลตลอดชีวิตแล้ว คงไม่มีใครสรุปว่า “ประชาธิปไตยไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมฝรั่งเศส” ดังนั้นแล้ว ในทางวิชาการ การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้มีความหมายอะไร หากแต่ในทางการเมือง มักถูกใช้เพื่อรองรับระบอบเผด็จการตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมาเสียมากกว่า

อีกหนึ่งหัวข้อในหมวดเดียวกัน มีชื่อว่า “ทักษิณคือเบอลุสโคนีเมืองไทย” หัวข้อนี้ผมต้องไปเปิด Wikipedia ดูว่าเบอลุสโคนีคือใคร ได้ความว่าซิลวีโอ เบอลุสโคนี คือนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลี ที่อยู่ในวาระยาวนานที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือทั้งหมด 9 ปี เขาร่ำรวยจากธุรกิจโทรคมนาคมและเล่นการเมืองแบบประชานิยม ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของตะวันตกหรือของฝรั่งเศส จึงมีภาพของทักษิณว่าคือเบอลุสโคนีเมืองไทย ในกรณีนี้ เออเจนีวิเคราะห์ว่า มีทั้งความต่างและความคล้าย ประชานิยมแบบทักษิณแตกต่างตรงที่เป็นประชานิยมแบบ “บังเอิญ” หรือ “ไม่ได้ตั้งใจ” (P. 64) เพราะตอนแรกเริ่ม ทักษิณมีฐานจากพวกชนชั้นนำทางการเงิน และใช้ภาษาแบบเทคโนแครตในการต่อต้าน IMF เพียงแต่ต่อมา เมื่อมีคดีกับศาลรัฐธรรมนูญ ทักษิณจึงเริ่มจัดตั้งมวลชนมาสนับสนุนตน และโดยเฉพาะเมื่อทักษิณใช้มาตรการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง ปราบปรามการจลาจลภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงพยายามใช้เงินซื้อสื่อมวลชนต่างๆ เหล่าชนชั้นนำและชนชั้นกลางจึงเริ่มถอยห่างจากทักษิณมากขึ้น เพราะเหตุนี้ ทักษิณจึงหันไปหาแรงสนับสนุนจากมวลชนในชนบท และถูกตราหน้าว่าเป็นประชานิยม

ความเหมือนของทักษิณ เบอลุสโคนี และทรัมพ์ คือเป็นนักธุรกิจ ที่ปกครองประเทศเหมือนปกครองบริษัท และยังเป็นพวก “มารยาททราม” (P. 66) เช่น การพูดว่า “UN ไม่ใช่พ่อผม” หรือการดูถูกนักวิชาการว่าจะไปรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิต เพราะพวกนี้อยู่แต่ในห้องสมุด แต่ความนิยมของทักษิณที่แท้จริง มาจากนโยบายที่เข้าถึงคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น นโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายก่อนๆ ที่เหมือนเป็นมาตรการแบบการกุศลมากกว่า

 

2. ความรู้ภาษาไทย

หนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้เขียน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญประเทศไทยจริง ไม่ใช่นักวิชาการที่จับหลายเรื่องแล้วมาจับเรื่องไทยเป็นครั้งเป็นคราว สำหรับผม ตัวชี้วัดมีอยู่สองประการ ประการแรกคือความรู้ภาษาไทย และประการที่สองคือการเข้าใจประเทศไทยในภาพกว้าง ที่ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่สถาบันต่างๆ ที่ศูนย์กลาง หรือแค่กรุงเทพฯ

ในด้านภาษาไทย เออเจนีรู้ภาษาไทยได้ดีอย่างไม่ต้องสงสัย ในบทสรุปของหนังสือ ผู้เขียนเสียดายที่นักเรียนภาษาไทยในสถาบัน INALCO ลดน้อยลง ทั้งๆ ที่ภาษาไทยนั้น “ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ” (P. 139) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาษาเอเชียอื่นๆ อย่างภาษาจีน เพราะภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่มีพยัญชนะและไม่มีการผันเวลา เอกพจน์-พหูพจน์ หรือเพศนอกจากนี้ เออเจนียังเห็นว่าภาษาไทยยังเป็นภาษาที่สนุก เพราะมักมีการผสมคำแปลกๆ เช่นคำว่า “รถ-ไฟ-ฟ้า” อีกทั้งคนไทยยังต้อนรับชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทยเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม สำหรับสาเหตุที่ภาษาไทยไม่ได้รับความนิยมนั้น ส่วนหนึ่งเออเจนีกล่าวโทษผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยในฝรั่งเศส ว่า “หวงความรู้ความสามารถ” (P. 140) เพราะในตำราเรียนนั้น เขียนไว้ยากเกินไป เช่น ศัพท์แรกๆ ที่ให้นักเรียนเรียน คือคำว่า “ศิลาจารึก”

ความรู้ภาษาไทย ทำให้เออเจนีสามารถอ้างงานภาษาไทย ซึ่งให้แง่มุมในเชิงลึกต่อหลายประเด็นในหนังสือ รวมถึงทำให้ทราบที่มาของการประกอบสร้างความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในหัวข้อ “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงคือแมกนาคาตาของสยาม” ผู้เขียนได้อ้างงานของเสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นที่มาของการนิยามศิลาจารึกดังกล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย, ส่วนในหัวข้อ “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy” เออเจนีวิเคราะห์ความหมายของ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในภาษาไทย ว่าไม่ตรงกันกับความหมายภาษาอังกฤษที่มักจะใช้กันคือ Constitutional monarchy, ในตอนต้นของหัวข้อ “การเลือกตั้งในประเทศไทยไม่มีความหมายเพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียง” ผู้เขียนแปลและอ้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3-4/2550 เรื่อง “การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต ย่อมถือได้ว่า เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”, ในหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย” แปลและอ้างงานของบวรศักดิ์เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งแปลและอ้างถึง “พระอัยการหลวง” อันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง, ตอนต้นของหัวข้อ “ชาวอีสานเป็นพวกล้าหลัง” แปลส่วนหนึ่งของเพลง “สาวอีสานรอรัก” เป็นต้น

 

3. ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

ในเรื่องของความหลากหลายของประเทศไทย ผู้เขียนเขียนเอาไว้ในช่วงต้นของหนังสือว่า ประเทศไทยเคยมีราชอาณาจักรและราชธานีหลายแห่งอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นล้านนา อันประกอบด้วยหลายเมือง เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน แพร่ หรือจะเป็นเมืองยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่เพิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ดังนั้นแล้ว สำหรับเออเจนี ประเทศไทยจึงเป็นผลผลิตของศตวรรษที่ 20 เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ ในหัวข้อ “ชาวอีสานเป็นพวกล้าหลัง” ผู้เขียนจึงเริ่มต้นว่า สี่ภูมิภาคของประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยสำเนียง ความเชื่อ อาหาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างมาก ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนเสนอว่า ภาพแทนของชาวนาภาคอีสานที่ยากจนและล้าหลังนั้น เป็นภาพที่ชาวกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความโหยหาระลึกถึงอดีตของตนเองในขณะที่ตนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่ ชาวอีสานถูกทำให้ “เป็นอื่น” โดยแตกต่างกับชาวกรุง “ลูกจีน” ผิวขาว ซึ่งส่วนหนึ่งตอกย้ำผ่านเพลงลูกทุ่ง ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าภาพล้าหลังของชาวอีสานนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ในปัจจุบันประชากรกว่า 50% อาศัยอยู่ในเมือง และประชากรในชนบทเองก็มีวิถีชีวิตที่ทันสมัยไม่แพ้ในเมือง พวกเขาใช้สมาร์ทโฟน บางครั้งก็มีไอโฟนและไอแพด หลังฤดูเก็บเกี่ยวพวกเขาย้ายเข้าไปรับจ้างในเมือง พอเข้าฤดูฝน พวกเขาก็กลับต่างจังหวัดไปทำนา

เออเจนีเห็นว่า ขณะนี้ชนชั้นกลางในต่างจังหวัดกำลังเติบโตขึ้น โดยมีฐานจากมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด เช่นที่ขอนแก่น นักศึกษาเหล่านี้สุดท้ายก็ทำงานในภูมิภาคแทนที่จะอพยพเข้ากรุงเทพฯกันหมด เราจึงเห็นว่าชาวเมืองรุ่นใหม่ในอีสานไม่มีลักษณะที่ล้าหลังอย่างที่คนกรุงเทพฯ จินตนาการ คนเหล่านี้บางครั้งก็ใช้เวลาว่างไปกับการกินกาแฟสตาร์บั๊ค

 

4. การเน้นมิติด้านกฎหมาย

ตลอดทั้งเล่ม ลักษณะอย่างหนึ่งของเออเจนีที่เห็นได้ชัด คือการอ้างอิงถึงกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เออเจนีเองก็จบปริญญาทางด้านกฎหมายมาใบหนึ่งเหมือนกัน และวิทยานาพนธ์ปริญญาเอก ก็อยู่ในกรอบของประวัติศาสตร์กฎหมาย ดังนั้นแล้ว เออเจนีไม่ใช่เพียงแต่เป็นนักรัฐศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วเธอก็เป็นผู้ที่สนใจและเชี่ยวชาญปรัชญาและประวัติศาสตร์กฎหมายไทยคนหนึ่ง

ในที่นี้ ขอนำเสนอตารางคร่าวๆ ที่สรุปให้เห็นถึงการอ้างถึงกฎหมาย อันเป็นฐานคิดของหลายบทความอย่างเห็นได้ชัด

หัวข้อการอ้างถึงกฎหมาย
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงคือแมกนาคาตาของสยามวิเคราะห์ว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามต่างจากแมกนาคาตาและไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เพราะไม่ได้นำไปสู่สถาบันทางการเมืองสมัยใหม่อย่างรัฐสภา
รัชกาลที่ 4 เป็นตัวแทนของทรราชแบบตะวันออกรัชกาลที่ 4 ออกกฎหมายแบบสมัยใหม่เป็นจำนวนมากทำให้เห็นว่ารัชกาลที่ 4 นั้นซับซ้อน อย่างน้อยก็เป็นทรราชที่เป็นตะวันตก ไม่ใช่แค่เป็นทรราชแบบตะวันออกอย่างที่สร้างภาพกันขึ้นมา
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ constitutional monarchy โดยพระราชประสงค์ของกษัตริย์อ้างถึงโครงการ “รัฐธรรมนูญ” ของรัชกาลที่ 5,6,7 ว่าไม่มีลักษณะที่เป็นรัฐธรรมนูญสมัยใหม่เลย รวมทั้งลงรายละเอียดเรื่องการต่อรองทางอำนาจระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาล ที่ 7 ผ่านมิติทางกฎหมายในช่วงพ.ศ. 2475-2476 อันท้ายที่สุดนำมาซึ่งการสละพระราชอำนาจ
ประเทศไทยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามออกมาช่วงหลังสงคราม มุ่งเป้าไปที่จอมพล ป. และพวก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ, รัฐธรรมนูญปี 1947 กำหนดให้กษัตริย์แต่งตั้งองคมนตรีและวุฒิสภา และจำนวนองคมนตรีก็เพิ่มขึ้นในฉบับต่อๆ มา, รัชกาลที่ 10 “วีโต้” แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังการลงประชามติมาแล้ว
กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยอ้างถึงบวรศักดิ์ ที่กล่าวถึงข้อความในรัฐธรรมนูญเรื่อง “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ว่าเป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย เพราะกษัตริย์นั้นทรงมีสถานะเป็นดั่งบิดา นอกจากนี้ กษัตริย์ทรงเป็น “พุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ” เออเจนีกล่าวว่าความจริงแล้ว กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้แรงบันดาลใจมาจากกฎหมายเยอรมันในสมัยจักรพรรดิวิลเฮมมากกว่า ต่อมากฎหมายหมิ่นก็ได้รับการเพิ่มโทษในปี 1976 และช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาก็ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อจนกระทั่งนอกตัวบทเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำราชอาณาจักรอ้างถึงการต่อสู้เพื่อบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่สร้างความขัดแย้งมากโดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้
ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของเลสเบี้ยน เกย์ และคนข้ามเพศระบุถึงกฎหมายที่ไม่เปิดให้มีการแก้ไขเพศ และไม่เปิดให้มีการแต่งงานสำหรับคนเพศเดียวกัน
หญิงไทยมีสถานะที่สูงส่งในสังคมการกำเนิดของชนชั้นกลาง (ผู้ชาย) ที่ร่ำรายมากขึ้นในค.ศ. 1910 – 1920 นำไปสู่การมีคู่ครองหลายคน จนเป็นเหตุให้ในปี 1935 ต้องออกกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว เพื่อสร้างภาพ “ศิวิไลซ์” อันนำไปสู่การต่อรองแก้กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต, อ้างถึงขั้นตอนการแต่งงานในกฎหมายตราสามดวงและการกำหนดลำดับขั้นของเมีย, การทำแท้งนั้นถือว่าผิดกฎหมาย
ประเทศไทยหลุดจากวิกฤติเศรษฐกิจ 40 ได้ด้วยโมเดลเศรษฐกิจของในหลวงรัชการที่ 9เศรษฐกิจพอเพียงถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นมา

ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าการใช้กฎหมายเป็นฐานคิด ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ บางเรื่องก็ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวนั้นออกมาในช่วงที่ชนชั้นกลางใหม่ของไทยเริ่มมีฐานะ และเริ่มไปมีเมียน้อย จนรัฐต้องออกกฎหมายดังกล่าวนี้เพื่อลดการกระทำดังกล่าวและเพื่อให้ตะวันตกยอมรับว่าประเทศไทยก็ศิวิไลซ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายนั้นสัมพันธ์กับวิถีปฏิบัติแค่ไหน เออเจนีเองเขียนในเรื่องการแต่งงานตามกฎหมายตราสามดวงว่า ข้อความในกฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสู่ขอ เรื่องสินสอด บางทีอาจไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ เพราะบางทีหากมีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้ว ฝ่ายชายเพียงแต่ไปขอโทษบิดามารดาฝ่ายหญิง ก็อาจจะยอมรับให้แต่งงานกันได้

การให้ความสำคัญกับกฎหมายมากเกินไป บางทีเป็นข้อจำกัด อย่างการยกกรณีเสนีย์ ปราโมชซึ่งเทียบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกับแมกนาคาตามานั้น ผมคิดว่าอาจจะเป็นความคิดเห็นแบบหนึ่งเท่านั้น ความจริงแล้วสำหรับคนไทย หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามเป็นที่มาของจินตนาการความเป็นไทยอีกมากมายหลายอย่างมาก โดยเฉพาะความเป็นราชธานีแห่งแรก รูปแบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือความสงบเรียบร้อยและอุดสมบูรณ์ คนไทยอาจไม่ได้มองศิลาจารึกเป็นรัฐธรรมนูญ มากเท่าเป็นหลักฐานว่าชาติไทยมีมาและเจริญมาแต่โบราณ ในบริบทร่วมสมัยที่รัฐธรรมนูญถูกลดทอนความสำคัญลงและถูกฉีกเป็นว่าเล่น การจะเทียบหลักศิลาจารึกที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญก็กระไรอยู่ ผมเข้าใจว่าในแง่หนึ่งเออเจนีคงตั้งเป้าให้ฝรั่งอ่าน ดังนั้นแล้วการอ้างเสนีย์และแมกนาคาตา คงจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนความสนใจเรื่องกฎหมายของเออเจนีเองเหมือนกัน เอาเข้าจริงหากจะตั้งเป้าให้ผู้อ่านคนไทยอ่าน อาจจะต้องเป็นหัวข้อประเภท “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ทำนองนี้มากกว่า

ผมคิดว่าในบางกรณีมีวิถีปฏิบัติทางสังคมหลายๆ เรื่องที่อยู่นอกตัวบทกฎหมาย และวิถีปฏิบัติเหล่านั้นอาจจะมีความสำคัญกว่าข้อเขียนในกฎหมายเสียอีก เมื่ออ่านหัวข้อ “ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของเลสเบี้ยน เกย์ และคนข้ามเพศ” ของเออเจนี ผมเองรู้สึกว่าแม้กฎหมายจะไม่เปิดให้มีการแก้ไขเพศและไม่เปิดให้มีการแต่งงานสำหรับคนเพศเดียวกัน แต่ในทางสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเปรียบเทียบแล้วบางเรื่องอาจจะดีกว่าประเทศตะวันตกและโดยเฉพาะหลายๆ ที่ในโลก ในหัวข้อนี้เออเจนียกเรื่องที่อาจารย์เคทโดนปฏิเสธไม่ให้รับตำแหน่ง แต่หากติดตามถึงทุกวันนี้ เราจะทราบว่าเธอต่อสู้จนชนะ และมหาวิทยาลัยก็รับเธอเข้าเป็นอาจารย์แล้ว

 

บทสรุป

ดังที่เขียนไปตอนต้น หนังสือนี้มุ่งเป้าไปที่ผู้อ่านทั่วไปชาวฝรั่งเศส ผมคิดว่าเล่มนี้เป็นงานกึ่งวิชาการ คือไม่ได้มีรูปแบบวิชาการมากเกินไป จำพวกอ้างอิงหรือบรรณานุกรม เนื้อหาตั้งใจให้สั้น กระชับ อ่านง่าย แล้วหนังสือนี้จะมีคุณค่าทางวิชาการบ้างหรือไม่? เอาเข้าจริงแล้ว หากผู้อ่านเป็นคนติดตามวงการวิชาการไทยศึกษาในรอบ 20-30 ปีมานี้ อาจจะพบว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เสนออะไรใหม่มากนัก เมื่อพลิกไปดูท้ายเล่ม ในส่วนของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เราจะพบหนังสือ “คลาสสิค” หลายเล่มที่คุ้นเคย เช่น A History of Thailand ของผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริสต์ เบเกอร์, Siam mapped ของธงชัย วินิจจะกูล, Subject Siam ของ Tamara Loos, Revolution Interrupted ของ Tyrell Haberkorn, The Rise and decline of Thai absolutism ของกุลลดา เป็นต้น

งานเหล่านี้เริ่มมีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และจัดอยู่ในกลุ่มทวนกระแสของไทยศึกษา กล่าวคือ เป็นงานที่ทบทวนโต้แย้งประวัติศาสตร์/รัฐศาสตร์/สังคมศาสตร์แบบทางการ งานเขียนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มงานวิชาการที่อ่านและศึกษากันในระดับมหาวิทยาลัย พูดให้ง่ายก็คือสำหรับคนไทยที่จบการศึกษาพื้นฐานจากโรงเรียนของรัฐ หรือสำหรับชาวฝรั่งเศสที่คุ้นเคยกับประเทศไทยผ่านโฆษณา Amazing Thailand ของ ททท. จะพบว่างานเขียนเหล่านี้ รวมทั้งงานของเออเจนีเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ขัดกับความรู้ความเชื่อแบบเดิม และช่วยให้มองเห็นประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมไทยได้อย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น

นอกจากด้านที่วิชาการทวนกระแสแล้ว งานชิ้นนี้ยังมีจุดเด่นหรือจุดอ่อนก็แล้วแต่ ตรงที่มีผู้เขียนไม่ปิดบังจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ผู้เขียนระบุเอาไว้เองในบทนำว่างานชิ้นนี้ แม้จะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทย แต่ก็เขียนด้วยความ “เห็นอกเห็นใจ” เราจะพบว่าผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ร่วมสมัยได้อย่างมีอารมณ์ร่วมและมีสีสันอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเมื่อกล่าวถึงการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงปีพฤษภา 53 เออเจนีเขียนว่าสื่อต่างชาติไม่ได้สนใจมากนัก แต่ “ในประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด การปราบปรามอันโหดเหี้ยมนำมาสู่ความสูญเสียของหลายครอบครัว และขบวนการเสื้อแดงในภาพรวมก็จำต้องปิดตัวลง หลายคนถูกจับกุมและกักตัว การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงก็เพียง 18 เดือนต่อมา ความเจ็บปวดครั้งนั้นร้าวลึกในระดับสังคมถึงขั้นที่ผี 6 ตุลาฯ ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ และผู้คนพากันตั้งคำถามว่าการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งจะมีประโยชน์อะไร หากสุดท้ายแล้วคำตอบก็เหมือนเดิมคือการนองเลือด?”(P. 60) เมื่อเขียนโต้แย้งข้อกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมเพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียง เออเจนีเขียนว่า “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเขาไปลงคะแนนด้วยจิตวิญญาณและจิตสำนึกของตน เพื่อจะเลือกพรรคที่เขาเห็นว่าดีที่สุดตามความคาดหวังของพวกเขา!” (P. 72) เมื่อกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนกรุงเทพฯ เออเจนีเขียนว่า “ในกรุงเทพฯ ความต่างระหว่างคนรวยสุดๆ กับคนจนสุดๆ นั้นช็อคสายตาและเขย่าหัวใจในทั่วทุกหัวมุมถนน ตามลำคลองเราจะเห็นบ้านไม้และสังกะสีอยู่คู่กันกับคอนโดหรู กรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์ของบริโภคนิยมแบบสุดขั้ว เต็มไปด้วยจอโฆษณายักษ์ที่โฆษณาคลินิคศัลยกรรมอยู่ทั่วทุกถนน สำหรับคนจนแล้ว ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์นั้นมีอยู่อย่างถาวรทั่วทุกหนแห่ง” (P. 88)

ข้อเด่นที่สุดอีกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการบรรจุเหตุการณ์ข่าวสารร่วมสมัยเข้าไป หากไม่ใช่ผู้ติดตามประเทศไทยอย่างใกล้ชิด คงไม่ทราบเรื่องและเขียนถึงเกร็ดเหล่านี้ เออเจนีกล่าวถึงสถิติการคอรัปชั่นว่าในประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด รัฐบาลทหารมีสถิติการคอรัปชั่นที่สูงกว่ารัฐบาลพลเรือน โดยยกกรณีสฤษดิ์ ถนอม และล่าสุดคือกรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตรอันมีมูลค่า 1.5 ล้านบาทมาเป็นตัวอย่าง (P. 131) เออเจนียังกล่าวถึงรัฐบาลทหารชุดนี้ว่า แม้จะไม่ได้ใช้อำนาจปราบปรามกดขี่ประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง แต่ความจริงแล้วการปราบปรามก็ไม่จำเป็นต้องนองเลือด รัฐบาลเลือกที่จะทำการปราบปรามด้วยกฎหมาย (P. 61) ดังกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สามารถลงโทษได้อย่างไม่จำกัด นอกจากนี้ เออเจนียังเขียนสั้นๆ ถึงผู้ลี้ภัยชาวไทยในฝรั่งเศสตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2014 ว่ามีทั้งหมด 5 คน (แต่เออเจนีเองเขียนประวัติพวกเขาสั้นๆ เพียงแค่ 4 คน) เธอเขียนว่าประวัติของผู้ลี้ภัยทั้งห้านี้ หลากหลายและไม่เหมือนกัน “แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความกล้าหาญ” (P. 132)

สุดท้ายผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็น “บทนำ” และเป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับคนฝรั่งเศสในการทำความเข้าใจประเทศไทยไปอีกนาน ส่วนสำหรับคนไทยเอง ผมคิดว่าหนังสือเช่นนี้ ที่สั้น สรุปการถกเถียงในวงการไทยศึกษาในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมาให้คนทั่วไปได้อ่าน ยังมีไม่มากนัก หากมีคงจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมาก เพราะหลายหัวข้อผ่านการถกเถียงในแวดวงจำกัด อาจจะเข้าไม่ถึงคนทั่วไป เช่น “พระเจ้าตากทรงวิปลาส?” “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย?” “ในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงประชนม์?” “พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถี?” “พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคฝ่ายซ้าย?” และอื่นๆ อีกมากมาย

[1] Eugénie Mérieau, Idées reçues sur la Thaïlande, Le Cavalier Bleu, Juin 2018, 147 p.