Skip to main content

หมายเหตุ: เนื้อหาสรุปและเรียบเรียงจากการบรรยายของพัชรวิรัล เจริญพัชรพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ ‘Circumventing the Cold War Divisions: A Glimpse from the Indo-Thai Relations, c. 1946-1957เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 อันเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายสาธารณะในชุดสัมมนาบัณฑิตศึกษา เรื่อง ไฟยมดับเย็นบง- กชงอก ผานา? หลากมิติสังคมการเมืองไทยในห้วงสงครามเย็น ณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 


 

การเสวนาในครั้งนี้มีผู้นำเสนอคือ พัชรวิรัล เจริญพัชรพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ประเด็นหลักของการเสวนาคือการศึกษานโยบายการต่างประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการข้ามขั้วข้ามฝ่ายอำนาจในสงครามเย็น โดยได้ใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและอินเดียหลังได้รับเอกราชในช่วงต้นสงครามเย็น คือ ตั้งแต่ปี 1946 จนถึง 1957 เป็นกรณีศึกษา

งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความสนใจส่วนตัวของพัชรวิรัลในช่วงเวลาสงครามเย็น ทั้งในเชิงการเมืองโลก อุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังรวมไปถึงด้านวัฒนธรรม พัชรวิรัลได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของประเทศไทยในช่วงเวลาสงครามเย็นในฐานะพันธมิตรที่มั่นคงของสหรัฐอเมริกาอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นทางการเมืองและการทหารนี้เป็นคำอธิบายทั้งหมดหรือไม่

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงมีภาพของ ฯพณฯ เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียที่มาพร้อมกันกับ ฯพณฯ อู นุ นายกรัฐมนตรีพม่า มาเยือนกรุงเทพในเดือนธันวาคม 1954 ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยเพิ่งจะเข้าร่วมสนธิสัญญามะนิลา และกำลังเตรียมจัดประชุมองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ. Southeast Asian Treaty Organisation: SEATO) ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา ภาพถ่ายชุดนี้ปรากฏตีพิมพ์คู่กับการเตรียมการจัดประชุมสปอ. ในวารสารภาพข่าว Thailand Illustrated ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลไทย แต่ทว่าภาพเนห์รูและอูนุในกรุงเทพนี้ได้ถูกตีความมาก่อนหน้าว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่มาประชุมสปอ.นั่นเอง (ดูภาพที่ 1)

 

ภาพที่ 1 The Chronicle of Thailand, (Singapore, 2009), pp. 78-79.

 

สิ่งนี้เองพัชรวิรัลได้ศึกษาโดยละเอียดแล้วสรุปว่าเป็นไปได้ยาก เพราะทั้งสองนายกรัฐมนตรีนี้เป็นผู้นำนโยบายแนวคิดการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Alignment) ในโลกสงครามเย็น และทั้งคู่ก็ได้ต่อต้านสนธิสัญญาการทหารอย่าง สปอ. ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุสองประการนี้จึงเป็นไปได้ยากที่เนห์รูและอูนุจะเป็นผู้นำที่มาประชุมสปอ.

 

ภาพที่ 2 เนื้อหาข่าวต้นฉบับพูดถึงการเยือนของเนห์รู และอูนุ ในเดือนธันวาคม 2497  (Thailand Illustrated, December 1954).

 

ภาพที่ 3 หน้าปก Thailand Illustrated ฉบับธันวาคม 2497 ซึ่งเน้นประเด็นเรื่องการที่ไทยเข้าร่วมสปอ. ธงชาติทั้งแปดประเทศที่เรียงกันอยู่ต่างเป็นชาติสมาชิก สปอ. ทั้งสิ้น

 

เมื่อได้ศึกษาให้ลึกขึ้นไปพัชรวิรัลก็ได้พบว่า การมาเยือนและพบปะพูดคุยของเนห์รูและอูนุในครั้งนี้  แท้จริงแล้วเป็นการค้างคืนเพื่อหยุดพักเครื่องบินระหว่างทางไปประชุมกลุ่มผู้นำโคลัมโบที่ประเทศอินโดนีเซีย หากแต่รัฐบาลจอมพล ป. ได้ให้การต้อนรับเนห์รูและอูนุประหนึ่งว่าเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ นั่นคือ มีการเดินตรวจพลเกียรติยศ มีการเซ็นสมุด ยังไม่รวมไปถึงงานเลี้ยงรับรองผู้นำทั้งสอง ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเราเปรียบเทียบการต้อนรับเนห์รูและอูนุนี้กับการต้อนรับ ฯพณฯ โมฮัมมัด อาลี โบกรา ประธานาธิบดีปากีสถาน ผู้ซึ่งได้หยุดพักเครื่องบินที่กรุงเทพระหว่างทางไปประชุมผู้นำโคลัมโบในวันเดียวกันเป็นเวลาสองชั่วโมง ผู้ซึ่งไม่ได้ออกจากห้องรับรองพิเศษสนามบินดอนเมืองแต่อย่างใด

หนึ่งในข้อเสนอหลักของพัชรวิรัลในงานวิจัยนี้ คือ การเข้ามาค้างคืน เพื่อพบปะพูดคุยกับรัฐบาลจอมพล ป. นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอินเดียและพม่าที่จะดึงประเทศไทยให้มาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ใช้นโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในภาวการณ์ที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียถูกกดดันให้เลือกข้างในสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทั้งสองได้ปรึกษาหารือกับจอมพล ป. พิบูลสงครามเรื่องการส่งคณะผู้แทนจากไทยไปร่วมการประชุมแอฟริกา-เอเชียที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน ปี 1955 อันเป็นหลักหมุดที่สำคัญของกลุ่มประเทศที่กำลังพ้นสภาพความเป็นอาณานิคม เรียกรวมๆ ว่าเป็นประเทศโลกที่สาม และการรับรองเป็นพิเศษของรัฐบาลจอมพล ป. ก็เป็นสัญญาณว่าประเทศไทยได้เริ่มให้ความสนใจกับนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างที่อินเดียและพม่าได้ใช้มาก่อนแล้ว ซึ่งในท้ายที่สุดรัฐบาลไทยก็ได้ส่งคณะผู้แทนไปงานประชุมที่บันดุง คณะผู้แทนนี้นำโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และระหว่างการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ นายกฯ เนห์รูก็ได้จัดแจงให้กรมพระนราธิปได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกฯโจว เอิน ไหล ของสาธารณะรัฐประชาชนจีน นำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ทางทูตใต้ดินกับจีนในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา

นอกจากนี้ในช่วงเวลาสองปี นั่นคือ ตั้งแต่งานประชุมบันดุงปี 1955 จนถึงการปฏิวัติล้มรัฐบาลจอมพล ป. โดยจอมพลสฤษดิ์ในเดือนกันยายน 1957 รัฐบาลไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศรอบข้างซึ่งในเวลานั้นได้รับรองนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ได้แก่อินเดีย พม่า กัมพูชา และลาว อย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านการทูตตามขนบ และทางด้านการทูตทางวัฒนธรรม เช่น การจัดงานฉลอง 2,500 ปีพระพุทธศาสนาที่อินเดีย และพม่า และงานฉลองในวาระเดียวกันที่ประเทศไทยจัดในชื่อ 25 พุทธศตวรรษ เป็นต้น งานฉลองวันสำคัญทางพุทธศาสนานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ในเอเชียที่มีความเกี่ยวข้องกันทางพุทธศาสนาทั้งในอดีตและปัจจุบัน และที่อาจจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน หรืออยู่ขั้วตรงข้าม แต่ทั้งหมดก็สามารถมารวมตัวกันในงานนี้ได้ นับเป็นนัยยะทางการเมืองโลกที่สำคัญ ดังที่ข้อความจากบันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ ผู้ร่วมคณะเดินทางไปอินเดียพร้อมกับพระองค์เจ้าธานีนิวัติและพระยาอนุมานราชธน ในวาระงานฉลอง 2,500 ปีพุทธศาสนาที่รัฐบาลอินเดียจัดขึ้น:

เหตุใดรัฐบาลอินเดียจึ่งกุลีกุจอจัดงานฉลองอายุพุทธศาสนา เพราะถ้าจะว่าโดยพลเมืองเขาก็ไม่มีพุทธศาสนิกเท่าไรนัก...เขาอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดีย เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจในข้อนี้ นอกจากเหตุนี้แล้ว รัฐบาลอินเดียประกาศอยู่เนืองๆ ว่าตนเป็นนักปกครองที่ไม่ยกย่องศาสนาใดเป็นศาสนาของชาติ และไม่ช่วยศาสนาใดๆ ยิ่งไปกว่าอื่น ทั้งไม่รับรู้เรื่องความดียิ่งหย่อนของศาสนาใดๆ ในอินเดีย แต่เพราะเขาอยากจะสนับสนุนวัฒนธรรมทั่วไป เขาจึงสนับสนุนพุทธศาสนา ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีเลิศของวัฒนธรรมทั้งหมดนั้น และการที่มีงานชุมนุมระหว่างนานาชาติย่อมเป็นทางให้โลกเห็นว่าเขาเป็น หัวเรือใหญ่ในเอเชีย แม้แต่ผู้ที่มีความเห็นต่างกันไกลๆ เช่นคอมมูนิสต์กับพวกการเมืองฝ่ายอื่นๆ ก็ยังมาร่วมสโมสรกันได้ภายใต้ความริเริ่มของอินเดียนั้น งานพุทธชยันตีจะเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายอันใดก็ตามเขาก็สามารถรวบรวมคนต่างความเห็นต่างความนิยมมาได้ถึงเพียงนี้ [พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพิทยากร, เที่ยวอินเดีย ปีพ.ศ. 2499, หน้า 42]

 

พัชรวิรัลได้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก โดยใช้เอกสารราชการหลักฐานจากหอจดหมายเหตุประเทศอินเดีย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุสหราชอาณาจักรเป็นหลัก และได้ใช้แหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น The Cold War International History Project, Wilson Center (https://www.wilsoncenter.org/program/cold-war-international-history-project) ซึ่งเป็นแหล่งเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับสงครามเย็นที่ถูกรวบรวมมาจากหลากหลายประเทศ และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษให้สะดวกต่อการใช้งาน และ Wat Bowonniwet Vihara Cremation and Rare Books (https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Search/index/collection:2) อันเป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รวบรวมหนังสืออนุสรณ์งานศพที่มีคุณค่ามาเป็นจำนวนมาก เอื้อให้ศึกษาชีวประวัติและข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ท้ายที่สุด พัชรวิรัลได้จบการบรรยายด้วยข้อสรุป คือ จุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐเป็นเพียงด้านหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น และการตั้งคำถามต่อจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทยและรัฐบาลอินเดียในช่วงเวลาที่ศึกษา ได้ทำให้เราได้เห็นภาพที่ซับซ้อนขึ้นมา นั่นคือ ช่วงเวลาที่รัฐไทยมีความโอนเอียงไปใช้นโนบายไม่ใฝ่ฝ่ายใด โดยที่อินเดียเป็นผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง