Skip to main content

ธนกร การิสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนต้องขอขอบคุณ รศ. ดร.วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ชวนคุยเรื่องต่าง ๆ หลังผู้เขียนกลับมาจากการเดินทางไปเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม จนทำให้งานเขียนนี้ก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ทั้งยังรับเป็น Peer Reviewer ให้จนงานเขียนนี้สำเร็จลุล่วงมาได้

 


 

เรื่องเล่าจากการฉลองครบรอบ 70 ปี สมรภูมิเดียนเบียนฟู: สงคราม เพศ บทบาท ชาติพันธ์ และประวัติศาสตร์ประชาชาติเวียดนาม

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองเดียนเบียนฟู (Điện Biên Phủ) ประเทศเวียดนาม ในระหว่างวันที่ 21  24 พฤษภาคม 2024 ท่ามกลางกลิ่นอายของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี ชัยชนะของกองทัพเวียดมินห์ในสงครามสมรภูมิเดียนเบียนฟู (7 พฤษภาคม 1954  7 พฤษภาคม 2024) ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ โปสเตอร์และป้ายข้อความคำขวัญสดุดีวีรชนผู้กล้าจากสงครามปี 1954 ที่ร่วมปลดปล่อยเวียดนามจากอำนาจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสถูกประดับประดาอยู่ทั่วเมืองเดียนเบียนฟูแห่งนี้ ชวนให้ผู้ที่ได้พบเห็นได้หวนรำลึกถึงช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาติเวียดนามดังปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ปรากฏผ่านตาผู้เขียนและเห็นว่าน่าสนใจคือ แม้การเฉลิมฉลองในครั้งนี้จะเกี่ยวพันกับสงครามและการทหาร แต่สัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในการรำลึกถึงสงครามครั้งประวัติศาสตร์นั้นกลับมีมากกว่าภาพของทหาร ยุทโธปกรณ์ หรือจอมทัพผู้เป็นวีรบุรุษ ดังเช่นการรำลึกถึงสงครามครั้งประวัติศาสตร์ในที่อื่น ๆ เพราะที่เดียนเบียนฟู พวกเขาใช้ภาพของกลุ่มคนที่ไม่น่าจะอยู่ในสรภูมิรบตามความเข้าใจโดยทั่วไป อย่างผู้หญิงและเด็กเข้ามาประกอบด้วย รวมไปถึงผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์และบทบาทอาชีพที่ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นเช่นกัน

 

ตัวอย่างโปสเตอร์ที่ระลึกครบรอบ 70 ปี ชัยชนะของชาวเวียดนามในสมรภูมิเดียนเบียนฟู

         

 ไม่เฉพาะแค่ตามตึกรามบ้านช่องหรือริมถนนเท่านั้นที่มีการแสดงภาพของกลุ่มบุคคลที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม เพราะเมื่อผู้เขียนได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Bảo tàng Chiến thắng lịch sử Điện Biên Phủ (แปลเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า “พิพิธภัณฑ์ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์แห่งเดียนเบียนฟู”) ที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามสมรภูมิเดียนเบียนฟู นิทรรศการทั้ง 2 ส่วน คือ 1) ส่วนภาพวาดเล่าเรื่อง และ 2) ส่วนจัดแสดงวัตถุสิ่งของประกอบการเล่าเรื่อง ก็มีการเล่าเรื่องโดยขับเน้นบทบาทอาชีพ เพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หลากหลายมาประกอบอยู่ด้วยทั้งสองส่วน ในแง่นี้ผู้เขียนในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์จึงมีความสนใจที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์เหล่านี้ ในฐานะภาพแทนสำหรับทำความเข้าใจลักษณะการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ของ“ชาติ”เวียดนาม และนำมาแบ่งปันสำหรับผู้อ่านที่สนใจผ่านความเรียงชิ้นนี้

 

พิพิธภัณฑ์ Bảo tàng Chiến thắng lịch sử Điện Biên Phủ ที่เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม

 

เพศ บทบาท และสงคราม

 

เรื่องเล่าจากสมรภูมิเดียนเบียนฟูปี 1945 ที่ถูกถ่ายทอดอยู่ทั่วเมืองเดียนเบียนฟู ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางเพศระหว่างหญิงและชาย (ตามเพศสรีระ) อย่างมีนัยสำคัญ หากแต่ให้ความสำคัญต่อทุกเพศอย่างเท่าเทียม ภาพกิจกรรมของผู้คนที่ทำร่วมกันด้วยความสามัคคีระหว่างสงครามแสดงให้เห็นว่า เรื่องเล่านี้ให้ความสำคัญกับ “บทบาทหน้าที่” ซึ่งมีส่วนช่วยให้กองทัพเวียดมินห์ได้รับชัยชนะในสงครามมากกว่าข้อแตกต่างทางเพศ ซึ่งบทบาทสำคัญเหล่าผู้หญิงในสมรภูมิเดียนเบียนฟูปี 1954 มีตั้งแต่ช่วยสนับสนุนการรบ ช่วยขนอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารข้ามภูเขาสูง เป็นหมอและผู้ช่วยรักษาพยาบาล (เช่นเดียวกับหมอผู้ชายที่ถูกเชิดชูเช่นกัน) ไปจนถึงการเป็นขวัญกำลังใจและมอบความบันเทิงให้กับทหารผู้ชายที่เหน็ดเหนื่อยจากการสู้รบ (ดูภาพประกอบ) จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเธอจะถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในวีรชนคนสำคัญ

การเข้าร่วมกับกองทัพเวียดมินห์ของผู้หญิงในเวียดนาม อาจช่วยให้สามารถทำความเข้าใจสภาพสังคมเวียดนามระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสได้ในอีกทางหนึ่ง มีงานศึกษาที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในอินโดจีนหลายชิ้น แต่ที่น่าสนใจที่สุดคืองานของ Sarah Ochoa ที่ชื่อ "The legacy of Vietnamese women in the national resistance struggle"[1] ซึ่งศึกษาขบวนการของผู้หญิงในเวียดนามเพื่อต่อต้านอำนาจฝรั่งเศส Sarah ชี้ให้เห็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามที่ผู้หญิงมีความบทบาทในการต่อสู้กับความอยุติธรรมไม่ต่างจากผู้ชาย การเข้าร่วมกับกองทัพเวียดมินห์ซึ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงเวียดนามลุกขึ้นมาต่อสู้ (ดังเช่นการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพสตรีเวียดนามในปี 1930) ก็กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของสตรีเวียดนามเพื่อต่อต้านอำนาจอันอยุติธรรมของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งกดขี่ผู้หญิงชาวเวียดนามไว้ด้วยกฏหมายแรงงานที่อนุญาตให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายได้ รวมไปถึงการไม่ให้สิทธิ์ลาคลอดแก่พวกเธอตามที่ควรจะเป็น 

 

(บน) ประติมากรรมนูนต่ำแสดงภาพกลุ่มผู้หญิงยืนข้างทหารผู้ชายภายใต้ธงชาติเวียดนาม

(ล่าง) ภาพวาดสีน้ำมันแสดงภาพผู้หญิงกำลังเต้นรำให้ทหารผู้ชายชมขณะพักจากการรบ

 

นานาชาติพันธุ์ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นความแตกต่างที่กลมกลืนในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นจากการได้พบเห็นการนำเสนออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสมรภูมิรบ ไม่ว่าจะเป็นภาพทหารฝรั่งเศสที่ดูเหมือนจะมีตำแหน่งแห่งที่ในเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นี้ในฐานะศัตรูของชาวเวียดนาม ก็กลับไม่ได้ถูกวางบทบาทให้ชาวเวียดนามเกิดความเกลียดชังทหารต่างชาติเหล่านั้นอย่างมีนัยสำคัญ ซ้ำยังถูกนำมาใช้ขับเน้นความสำคัญของวีรชนชาวเวียดนามที่ต่อสู้ในสมรภูมิเดียนเบียนฟูอีกด้วย ภาพแพทย์สนามชาวเวียดนามที่ช่วยรักษาพยาบาลทหารฝรั่งเศสสะท้อนให้เห็นว่าแพทย์สนามชาวเวียดนามเป็นผู้มีมนุษยธรรมและมีจรรยาบรรณยิ่ง เพราะพวกเขามีความเต็มใจที่จะช่วยศัตรูซึ่งมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน

ในขณะเดียวกันที่ฝั่งของกองทัพเวียดนามเอง พวกเขาก็พยายามเชิดชูความหลากหลายของชาติพันธุ์ซึ่งร่วมกันต่อสู้ในสมรภูมิเดียนเบียนฟูนี้ด้วย เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ถูกสงวนพื้นที่ไว้ให้แต่เพียงชาวกิญ (Người Kinh) กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น “คนเวียดนามที่แท้จริง” เพราะพวกเขาได้ยกย่องกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในฐานะวีรชนของสงครามด้วย ภาพของชาวไท (Thái : ไทดำ ไทแดง รวมไปถึงไทขาวซึ่งเคยต่อต้านเวียดมินห์มาก่อน) ม้ง (Mông) ขมุ (Khơ Mú) ฯลฯ ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นของเดียนเบียนฟู (เมืองแถงเดิม) ที่ช่วยเหลือกองทัพเวียดมินห์ขณะทำสงคราม คนพื้นถิ่นเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ นำทาง และหาเสบียง เนื่องจากเป็นผู้ที่ชำนาญพื้นที่มากกว่าทหารเวียดมินห์หลายคนซึ่งมาจากภายนอก ภาพของพวกเขาจึงไม่ถูกเบียดขับออกจากเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของ“ชาติ” และยังถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างชัดเจน ภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ Bảo tàng Chiến thắng lịch sử Điện Biên Phủ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีสำหรับภาพของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของเวียดนาม (ดูภาพประติมากรรมนูนต่ำที่อ้างไปแล้วประกอบด้วย)

 

ภาพวาดนานาชาติพันธุ์ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู

 

นี่คือ...ประวัติศาสตร์ "ประชาชาติ" ของชาวเวียดนาม

 

ผู้เขียนพยายามหาคำตอบให้กับปรากฏการณ์ที่ได้ประสบด้วยตนเองขณะอยู่ในเดียนเบียนฟู และพบว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนเฉพาะกาลเท่านั้น เพราะนี่เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่จะสร้างชาติเวียดนามขึ้นด้วยความหลากหลาย เรื่องเล่าจากสมรภูมิเดียนเบียนฟูที่ยกย่องคนจากนานาชาติพันธุ์ (โดยเฉพาะคนไท) ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้กลุ่มคนเหล่านั้นรู้สึกว่า ตนได้รับความเท่าเทียมในความเป็นชาติ และสร้างความเข้าใจต่อคนภายนอกเดียนเบียนฟู (อย่างคนกิญที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่นของเมืองนี้) ว่า คนในเมืองนี้ก็ได้ต่อสู้ร่วมกับกองทัพของชาติอย่างกล้าหาญ ทำให้คำนิยามคำว่า “ชาติ” และ “ชาวเวียดนาม” ไม่ได้หมายถึงคนเฉพาะกลุ่มอย่างคนกิญที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่เท่านั้น หากแต่หมายถึงคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่รวมกันอย่างแตกต่างแต่ไม่แปลกแยกภายใต้ความเป็น “เวียดนาม”

หากมองปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสร้าง การให้คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ สิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของชาวเวียดนามในการหยิบใช้พลวัตที่หลากหลายเข้ามาประกอบการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ และเท่าที่ผู้เขียนได้สังเกตตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่เดียนเบียนฟู สิ่งนี้ก็อาจจะช่วยทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่อง “ทุกคน” และทุกคนก็สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นจากการที่ทุกคนสามารถถูกจดจำในประวัติศาสตร์ได้ กลุ่มชาวเวียดนามตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวันชราที่ผู้เขียนได้พบเห็นในพิพิธภัณฑ์ที่เดียนเบียนฟู ล้วนแสดงท่าทีให้ความสนใจต่อสิ่งของที่จัดวางและเรื่องเล่าที่ส่งผ่านสิ่งของต่าง ๆ  เหล่านั้น ประวัติศาสตร์ของทุกคนที่ทุกคนต่างให้ความสนใจเช่นนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของประวัติศาสตร์ “ประชาชาติ” ที่แท้จริง 

 

มองประวัติศาสตร์เวียดนาม สะท้อนประวัติศาสตร์ไทย

 

คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาหลังจากที่ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แปลกใหม่จากเวียดนามคือ เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ประชาชาติอย่างที่เวียดนามมีอยู่ได้ เมื่อผู้เขียนพยายามมองหาบริบทความแตกต่างระหว่างการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและเวียดนาม และได้พบสิ่งที่พอจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ข้อหนึ่ง คือ ความแตกต่างในบริบทการเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์นิพนธ์ กล่าวคือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (กระแสหลัก) เกิดขึ้นจากทัศนะของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรับแนวคิดการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ด้านการปกครองมาจากเจ้าอาณานิคม ทำให้มุมมองประวัติศาสตร์จึงมีลักษณะที่มองคนจากบนลงล่าง โดยให้ความสำคัญกับคนด้านบนซึ่งมีอำนาจการปกครองมากกว่าคนด้านล่างซึ่งเป็นผู้ถูกปกครอง

ในขณะที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์เวียดนามนั้น กลับเกิดขึ้นจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายของนักประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นนักปฏิวัติมาก่อน (แม้แต่วีรบุรุษสงครามสมรภูมิเดียนเบียนฟูอย่าง หวอ เงวียน ซ้าป : Võ Nguyên Giáp ก็เป็นนักประวัติศาสตร์) ทั้งประสบการณ์ที่ได้ร่วมรบในสงคราม การทำงานมวลชนขณะเคลื่อนไหวปลดปล่อย นอกจากนี้นโยบายที่พยายามสร้างชาติจากความหลากหลาย ก็เป็นสาเหตุสำคัญให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์เวียดนามถูกออกแบบมาเพื่อผูกร้อยผู้คนในชาติเข้าด้วยกัน จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์เวียดนามใหม่ล้วนมีรากฐานมาจากคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งมาร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แทนประวัติศาสตร์เดิมของเจ้าผู้ปกครองอาณานิคมที่กดขี่และเบียดขับพวกเขาออกจากพลวัตทางประวัติศาสตร์

 


 

[1] อ่านบทความของ Sarah Ochoa ชิ้นนี้ได้ที่; https://www.breakingthechainsmag.org/the-legacy-of-vietnamese-women-in-the-national-resistance-struggle/