ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชวนพิจารณานิธิ เอียวศรีวงศ์ใน "บริบท" ของวิกฤติปัจจุบัน
ในวันที่ 20 กันยายน 2566 ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดงานรำลึกนิธิ เอียวศรีวงศ์ในชื่อ “ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ: นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับภาควิชาประวัติศาสตร์ มช.” ภายในงานแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกประกอบด้วยอาจารย์อาวุโส คือ เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช สายชล สัตยานุรักษ์ และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในขณะที่ช่วงที่สองเป็นช่วงที่ให้คณาจารย์ของภาควิชาในปัจจุบันได้อภิปราย
โปสเตอร์งาน "ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ" ผู้สนใจสามารถดูภาพบรรยากาศของงานและรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://hist.human.cmu.ac.th/node/194
ภายในงานนี้ได้พูดถึงคุณูปการมากมายของนิธิ ซึ่งช่วยให้เข้าใจตัวตน วิธีคิด และวิธีวิทยาของเขามากขึ้น ในความเห็นส่วนตัวนั้น สิ่งที่สายชลเสนอเรื่อง “ตาข่ายแห่งความทรงจำ” เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียนงานประวัติศาสตร์ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบางประเด็นที่มีการเสนอในเวทีเสวนา ซึ่งผู้เขียนจะได้นำไปขยายต่อ ดังต่อไปนี้
- อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์พูดถึงการนิยามประวัติศาสตร์ของนิธิว่าประกอบด้วยสองความคิดหลัก คือ “การเปลี่ยนแปลง” และ “บริบท”
- ธิกานต์ ศรีนารา เสนอว่านิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นผู้บุกเบิกกระแส Cultural turn ในเมืองไทย เทียบได้กับกลุ่มนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ในอังกฤษ
- สิงห์ สุวรรณกิจเสนอว่าจิตวิญญาณของนิธิคือการวิพากษ์วิจารณ์ นิธิเขียนในคำนำหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ไว้ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเป็น “หนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลว” สาเหตุที่ล้มเหลวก็เพราะไม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นสิ่งที่นิธิท้าทายให้ทำคือการ “ยืนอยู่บนบ่าของยักษ์”
- พลอยใจ ปิ่นตบแต่งกล่าวว่า นิธิมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นสมัยใหม่โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งความรู้ความเชี่ยวชาญออกเป็นส่วนๆ วิธีคิดเช่นนี้เป็นวิธีคิดของมหาวิทยาลัยไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อตลาด อย่างไรก็ตาม วิธีคิดดังกล่าวถือว่าขัดแย้งกับความเป็นมนุษยศาสตร์โดยตรง
การเสวนาในส่วนอาจารย์อาวุโส ประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา) เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช (ถือไมโครโฟน), สายชล สัตยานุรักษ์, และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
การเสวนาของคณาจารย์ปัจจุบันบางส่วน ประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา) วราภรณ์ เรืองศรี, สิงห์ สุวรรณกิจ, พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง (ถือไมโครโฟน), ผู้เขียน, และวิลลา วิลัยทอง
ในส่วนที่ผู้เขียนต้องการจะเสนอ คือการนำเอาตัวตนความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มาสนทนากับบริบทร่วมสมัย โดยจะสะท้อนให้เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขของประวัติศาสตร์ นิธิมีข้อจำกัดเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป และบางเรื่องนิธิก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ผู้เขียนได้อภิปรายเนื้อหาบางส่วนบนเวที แต่เนื่องด้วยเวลาจำกัดทำให้ตกหล่นไปหลายประเด็น ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงใช้โอกาสปรับแก้และขยายความเนื้อหาที่อภิปรายไป นำมาเรียบเรียงใหม่และนำเสนอในที่นี้[1] โดยจะสนทนากับสิ่งที่อาจารย์ทั้ง 4 ท่านได้พูดไว้ข้างต้น และจะขอนำเสนอ 3 ประเด็นซึ่งสัมพันธ์กัน ดังนี้
1. Cultural Turn ของนิธิ: ข้อจำกัดในยุค Political Turn
ตั้งแต่วิกฤติการเมืองไทยราวปี 2549 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ผู้เขียนขอเสนอว่าวงวิชาการไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ได้หันกลับไปสนใจการเมืองในความหมายแคบ ในที่นี้ขอเรียกว่าเกิด Political (Re)Turn หรือ The return to politics การหันกลับมาสนใจการเมืองนี้ ในตัวมันเองเป็น “ประวัติศาสตร์” อย่างยิ่ง เพราะเกิดจากการ “เปลี่ยนแปลง” ทางสังคมครั้งใหญ่อันเนื่องมาจาก “บริบท” ของวิกฤติทางการเมือง (รัฐประหาร 49, สลายการชุมนุมเสื้อแดง, รัฐประหาร 57, การเปลี่ยนรัชกาล, ฯลฯ)
ความสนใจด้านการเมืองในความหมายแคบ คือการตั้งคำถามและศึกษาสถาบันทางการเมือง, อุดมการณ์ (เช่น “ประชาธิปไตย”) และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่ออธิบายและหาคำตอบให้กับวิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบัน งานที่สะท้อน Political Turn ได้ดี คืองานกลุ่มกษัตริย์ศึกษา เช่น ผลงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, งานกลุ่ม “คณะราษฎรศึกษา” โดยเฉพาะของสำนักพิมพ์มติชน เช่น ณัฐพล ใจจริง, ผลงานและการเคลื่อนไหวของนักวิชาการบางคน เช่น ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ปิยบุตร แสงกนกกุลและคณะนิติราษฎร์ เป็นต้น งานวิชาการทั้งหมดนี้ศึกษาครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 2475 เป็นต้นไป เพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการเมืองตั้งแต่ราว 2549 จนถึงปัจจุบัน
ขอยกตัวอย่างว่าหากต้องการพิสูจน์ว่า Political Turn มีอิทธิพลเพียงใด ให้ลองดูงานเขียนของนักศึกษาประวัติศาสตร์ระดับปริญญาตรีในระยะหลัง เมื่อให้โจทย์ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทย คำที่พบเห็นได้บ่อยคือ “ราชาชาตินิยม” คำนี้กลายเป็นคำที่นักศึกษาท่องจำขึ้นใจ ใช้ตอบได้ทุกคำถาม หวังว่านำมาใช้วิพากษ์สังคมไทยเมื่อไหร่ ก็ถูกเมื่อนั้น เป็นคำตอบตายตัว ไม่ต้องขยายความ (แบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า catchword)
เมื่อหันมาพิจารณานิธิ จะพบว่านิธิตกผลึกทางความคิดหันสู่ Cultural Turn[2] ในราวทศวรรษ 2520 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรอบการอธิบายสังคมแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและกระแสมารก์ซิสต์ เช่น กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง นิธิเริ่มถอยห่างออกจากคำอธิบายเชิงเศรษฐกิจและเชิงการเมืองแบบแข็งทื่อไปสู่คำอธิบายเชิงวัฒนธรรม ในงานหลายชิ้น นิธิชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อนกว่าที่กลุ่มมาร์กซิสต์เคยทำ ในแง่กรอบเวลาที่ศึกษา นิธิชี้ให้เห็นความสำคัญของช่วงต้นรัตนโกสินทร์ผ่านหนังสือ ปากไก่และใบเรือ (2527) (ต่างกับ Political Turn ยุคหลังที่สนใจช่วงเวลารัชกาลที่ 5 เป็นต้นไป) ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 Cultural Turn ของนิธิเด่นชัดขึ้นเมื่อเริ่มเขียนคอลัมน์เป็นประจำในมติชน นิธิไม่ได้สนใจบุคคลสำคัญทางการเมือง สถาบันทางการเมือง การเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ เป็นพิเศษแบบที่นักประวัติศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่สนใจ แต่หันไปสนใจประเด็นที่ผู้คนมักจะมองว่าเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” จำพวกหนังน้ำเน่า ผ้าขาวม้า อนุสาวรีย์ รองเท้าแตะ ฯลฯ โดยชี้ให้เห็นว่าเรื่องพวกนี้เป็น “การเมือง” อย่างยิ่งและเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ช่วยอธิบายสังคมการเมืองในภาพใหญ่ได้เสมอ
นิธิใส่ใจกับการ “ตั้งคำถาม” เป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความที่มุ่งเน้นความสนใจไปที่ประเด็นวัฒนธรรม จึงพบกับข้อจำกัดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคำถามทางการเมืองที่ “แคบ”อย่าง “สถาบันกษัตริย์/องค์พระมหากษัตริย์มีบทบาทในวิกฤติทางการเมืองปัจจุบันอย่างไร?” หรือ “เราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร?” หรือ “เราจะใช้ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวแบบใดเพื่อปลดทหารออกจากการเมือง?” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่แต่เดิมนิธิไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่อาณาบริเวณที่นิธิเชี่ยวชาญและอาจจะอึดอัดใจที่จะตอบ แต่กลับกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่สังคมไทยให้ความสำคัญตั้งแต่ช่วงวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน คำตอบที่นิธิให้ได้ดูจะเป็นคำตอบที่มีลักษณะทั่วไป พลังในการอธิบายและอิทธิพลของคำตอบในประเด็นเหล่านี้ของนิธิมีน้อยกว่าของนักวิชาการกลุ่ม Political Turn คนอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่า นี่ไม่ใช่ “เวที” ที่นิธิจะรู้สึกเป็นธรรมชาติ ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมของนิธินั้นมีคุณภาพและกระตุ้นความคิดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญ ความที่ประเด็น “การเมือง” ไม่ใช่ประเด็นที่นิธิสนใจเป็นพิเศษ จะนำไปสู่ข้อจำกัดเรื่องบทบาททางการเมืองของนิธิเองด้วย
2. บทบาทสาธารณะของนิธิกับการปรับตัวให้เข้ากับ "กาลเทศะ"
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการเมือง (ในความหมายแคบ) ของยุค Political Turn ไม่ใช่สิ่งที่นิธิสนใจโดยเฉพาะ ในยุควิกฤติที่ “บริบท” ทางการเมืองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ นิธิจำต้องปรับบทบาทและท่าทีต่อการเมืองสาธารณะให้สอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าว
ในมุมมองของคนสนใจวัฒนธรรม นิธิเคยพูดถึง “กาลเทศะ” ว่าไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวแต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมไทย อรรถจักร์ได้ยกตัวอย่างในงานเสวนาว่าวัฒนธรรมการเขียนจดหมายหรืออีเมลของนักศึกษาหาอาจารย์ที่เปลี่ยนไปสะท้อนความหมายของ “กาลเทศะ” ที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย หากเป็นสมัยก่อนการเขียนหาอาจารย์ในภาษาที่เป็นกันเองถือเป็นเรื่องผิด “กาลเทศะ” อย่างยิ่งเพราะที่ถูกต้องคือเริ่มจดหมายด้วยคำว่า “เรียนอาจารย์ที่เคารพ” แต่ในสมัยปัจจุบันความเข้าใจเรื่อง “กาลเทศะ” เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการสื่อสารก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ภาษาที่ไม่เป็นทางการกลายเป็นเรื่องปกติและอาจจะถูก “กาลเทศะ” ด้วยซ้ำไป
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “กาลเทศะ” มาวิจารณ์ความไม่ถูกกาลเทศะของนิธิเองในกรณีการเข้าร่วม “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.)” ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานเมื่อปี 2553 หลังกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงอันนองเลือด[3] สาเหตุของการเข้าร่วมคปร. ก็เพราะอานันท์ ปันยารชุนกับนิธิมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สำหรับนิธิแล้วอานันท์ถือเป็นอนุรักษ์นิยมที่ดีเพราะเมื่อนิธิชวนไปฟังเสียงชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านนายทุนเขาก็ไป ดังนั้นเมื่ออานันท์มาชวนนิธิเข้าร่วมคปร. นิธิก็ตัดสินใจไป
กระนั้น การที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนี้สะท้อน “กาลเทศะ” ของสังคมที่เปลี่ยนไป นิธิเข้าร่วมคปร. เพราะอาจมองว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” ของการต่างตอบแทน ในแง่นี้ หากสถานการณ์บ้านเมืองเป็น “ปกติ” หรือยังไม่เข้าสู่ยุค Political Turn ก็อาจจะ “ถูกกาลเทศะ” เป็นธรรมดาก็ได้ แต่ในยุคสมัยที่เกิดวิกฤติ คนเสื้อแดงถูกฆ่าตายนับร้อยใจกลางเมืองหลวงโดยยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องความจริงและความยุติธรรม ผู้คนหันมาตั้งคำถามกับสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ และกับอำนาจรัฐ การเข้าร่วมคณะกรรมการที่มีลักษณะเลือกข้างทางการเมืองและยึดโยงกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมจึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมมองว่า “ผิดกาลเทศะ” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะนิธิ เอียวศรีวงศ์ผู้ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะอันดับหนึ่งของเมืองไทย การเข้าร่วมคปร. ยิ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่เหมาะไม่ควร”หลังจากนิธิเข้าร่วมคปร. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เกือบหนึ่งปี คณะกรรมการฯ ก็ได้หารือกันและตัดสินใจลาออกทั้งคณะโดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลยุบสภาและจะมีเลือกตั้ง
ภาพจาก “สัมภาษณ์นิธิ เอียวศรีวงศ์: อย่าไว้ใจ และอย่าคาดหวังจนเกินไป” (2553) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ในประเด็นการเข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) เข้าถึงได้ที่ https://prachatai.com/journal/2010/07/30371
นิธิเองอาจไม่ประสีประสาทาง “การเมือง”[4] แต่ด้วยรากฐานความเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนใจการเปลี่ยนแปลงและบริบท ก็ “จับทาง” ได้แล้วปรับตัวให้เข้ากับ “กาลเทศะ” ใหม่ ในระยะหลังอย่างที่ทราบกันดี เราก็เห็นนิธิเข้าร่วมกับฝ่าย “ประชาธิปไตย” เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ครก. 112, การให้กำลังใจกลุ่มดาวดิน, รดน้ำดำหัวคนรุ่นใหม่, การร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง ฯลฯ บทความนิธิหลายชิ้นก็มีลักษณะที่หันไปทาง Political Turn มากยิ่งขึ้นด้วย
กล่าวได้ว่า ชีวิตนิธิเองสะท้อนบทเรียนที่เขาพร่ำสอนในเรื่องบริบทและการเปลี่ยนแปลง นิธิผู้เคยอยู่และเติบโตมาในบริบทแบบหนึ่งกระทั่งเป็นผู้บุกเบิก Cultural Turn ได้ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัว และหาที่ทางของตนในยุค Political Turn โดยระหว่างทางก็ประสบกับความผิดพลาดได้เป็นธรรมดา ในช่วงท้ายของชีวิต นิธิชี้ให้เห็นว่าแม้จะอายุมากแล้ว ก็ยังพยายามปรับตัวให้ “ทันสมัย” และถูก “กาลเทศะ” อยู่เสมอ ดังนั้นคุณลักษณะนี้จึงไม่เกี่ยวกับวัยแต่อาจจะเกี่ยวกับความเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของประวัติศาสตร์แบบที่นิธิเข้าใจ ในแง่นี้นับว่านิธิน่าชื่นชมอย่างยิ่งท่ามกลางประเทศที่เต็มไปด้วย “คนแก่” ที่พร้อมจะกด “คนรุ่นใหม่” ให้จมดิน
3. อุดมการณ์ด้านการศึกษาของนิธิ: ความพ่ายแพ้ต่อ "ทรราชของตลาด"
Cultural Turn ของนิธิ ไม่ได้หมดพลังไปเสียทีเดียว และก็ยังมีข้อดีของมันอยู่ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองและงานวิชาการที่หดแคบและจืดชืดลงทุกที (เช่น ลองดูว่าในรอบ 10 ปีมานี้ มีงานเกี่ยวกับ 2475 และวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับ 2475 กี่ชิ้น) งานของนิธิเสมือนเป็นลมหายใจสุดท้ายของงานเขียนที่ยังคงอรรถรส สวิงสวาย หยอกล้อ สนุกสนาน ไปกับวัฒนธรรมรอบตัว เสน่ห์งานเขียนของนิธิลักษณะนี้ หายไปจากงานวิชาการปัจจุบันเพราะมหาวิทยาลัยทุกวันนี้มีกฎระเบียบเข้มงวดเรื่องงานวิจัย รวมถึงประเด็นวิจัยก็ต้องตอบสนองต่อแหล่งทุน น่าสงสัยว่าหากนิธิต้องการจะทำวิจัยเรื่อง “การตดในสังคมไทย” และเขียนด้วยภาษาแบบที่เขียนอยู่ในคอลัมน์ในปัจจุบัน คงไม่มีคณะใดในมหาวิทยาลัยใดให้ทำ ทั้งนี้ หากเราพิจารณาดูแล้ว นิธิเองก็คงเห็นข้อจำกัดนี้ของมหาวิทยาลัยมานานแล้ว ความคิดเรื่อง “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” รวมถึงการเลิกเขียนงาน “วิชาการ” แต่หันไปเขียนคอลัมน์แทนสะท้อนว่าในทัศนะของนิธิ “แสงสว่างทางปัญญา” ไม่สามารถเกิดได้ในมหาวิทยาลัยไทย
ในหัวข้อ “อุดมการณ์ด้านการศึกษาของนิธิ: ความพ่ายแพ้ต่อ ‘ทรราชของตลาด’” ขอยกตัวอย่างวิชา “สังคมและวัฒนธรรมไทย” ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิชาที่นิธิเป็นตัวตั้งตัวตีให้มาแทนที่วิชา “อารยธรรมไทย” โดยกำหนดให้เป็นวิชาที่สอนนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย มีเนื้อหาในการทำความเข้าใจสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นร่วมสมัย วิพากษ์วิจารณ์ปัญหา และเสนอทางออก วิชานี้สมัยนิธิสอนมีนักศึกษาจากหลากหลายคณะและจำนวนนักศึกษาต่อ section ราว 200 คน นิธิตรวจรายงานของนักศึกษารายคนด้วยความอุตสาหะ สุดท้ายเป้าหมายของวิชานี้ก็เพื่อผลิตพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่แค่เป็นบัณฑิตที่ไปรับใช้ระบบราชการหรือทุนอุตสาหกรรมโดยคิดเองไม่เป็น
สถานการณ์ของวิชานี้ในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยนิธิโดยสิ้นเชิง ความคิดเรื่องการมีวิชาบังคับระดับมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว (ในประเทศไทยเท่าที่ทราบยังมีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) วิชานี้เคยเป็นวิชาเลือกของหลายคณะ แต่ในระยะหลังเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร (ทุก 5 ปี) หลายคณะก็ถอนวิชานี้ออกไปเพราะไม่ตอบโจทย์ “ยุทธศาสตร์” เช่น เมื่อปี 2561 คณะพยาบาลศาสตร์บรรจุวิชานี้เป็นวิชาเลือกในหมวด “กลุ่มวิชาด้านการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม” ต่อมาเมื่อปรับปรุงหลักสูตรใหม่ปี 2566 กลับถอนวิชานี้ออกไป สาเหตุก็คงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นแก่นของวิชานี้คงไม่ได้ช่วยสร้าง “นวัตกรรม” อะไรแต่อย่างใด หากพิจารณากว้างไปกว่านั้น สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะแนวโน้มการเรียนการสอนของแต่ละคณะมีลักษณะที่จำกัดเฉพาะศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเฉพาะทางของตนมากขึ้น ในสังคมทุนนิยมเข้มข้นที่ “ตลาด” เรียกร้องให้มนุษย์มีความเชี่ยวชาญและทำงานแยกส่วน วิชา “ทั่วไป” ยิ่งหมดความสำคัญลงไปมากขึ้นทุกที
นอกจากนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันยังถูกบีบคั้นกว่าสมัยนิธิในหลายด้าน เช่น เงื่อนไขเรื่องภาระงานส่งผลให้อาจารย์ต้องทำงานหลากหลายเกินกว่าการสอนหนังสือ การมีสัญญาจ้างงานที่ไม่มั่นคงและโดนบังคับโดยระบบการขอตำแหน่งวิชาการ การกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องการตีพิมพ์ ความซับซ้อนของกฎระเบียบต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับมหาวิทยาลัย และระดับคณะ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทำให้อาจารย์ถูกพันธนาการด้วยเงื่อนไขมากมายอันนำมาสู่สภาวะการทำงานล้นเกิน (overwork) และหมดไฟของอาจารย์หลายคนในระบบมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การทำงานเชิง “อุดมการณ์” แบบอาจารย์นิธิที่สอนวิชาทั่วไปในห้องเรียนอันประกอบด้วยนักศึกษาหลายร้อยคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งใส่ใจตรวจงานนักศึกษารายคน เป็นไปแทบไม่ได้ในปัจจุบัน
สุดท้ายการที่นิธิปลุกปั้นเพื่อให้มีการศึกษามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์และเข้าถึงนักศึกษาจำนวนมากนั้น ดูจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็แทบไม่เห็นเค้าแล้ว ในอนาคตไม่มีอะไรจะรับประกันว่าจะแย่ลงไปอีก โจทย์ที่นิธิเคยถามว่าเราจะสู้กับ “ทรราชของตลาด” อย่างไร เป็นโจทย์ที่ไม่มีคำตอบที่ง่าย ๆ (นิธิเองก็กล่าวว่าเขาไม่มีคำตอบ) วงการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์จะทำอย่างไรเพื่อรักษาสิ่งที่เชื่อว่าเป็น “แก่น” ของวิชาตัวเองอยู่ (ถ้ายังเชื่อว่าต้องรักษา) คงจะเป็นคำถามที่ต้องช่วยกันอภิปราย [5]
สรุป
ความเรียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายในงานเสวนา “ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ: นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับภาควิชาประวัติศาสตร์ มช.” ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงใหม่ เนื้อหาประกอบด้วยการสนทนากับผู้ร่วมอภิปรายบางท่านและการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมของผู้เขียนเอง ผู้เขียนถือว่านิธิเป็นนักประวัติศาสตร์และปัญญาชนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย โดยเฉพาะในแง่มุมของการเป็นนักวิจารณ์และการสอนให้ผู้คนตั้งคำถาม แต่นับตั้งแต่นิธิ เอียวศรีวงศ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พบว่างานเขียนและงานเสวนารำลึกถึงนิธิโดยมากแล้วจะมีลักษณะชื่นชมและกล่าวถึงคุณูปการของนิธิ งานเขียนและงานเสวนาเหล่านี้มีประโยชน์ แต่คงไม่สมบูรณ์หากขาด “จิตวิญญาณ” ของนิธิ คือการวิพากษ์วิจารณ์นิธิอย่างตรงไปตรงมา เท่าที่เห็นมีเพียงข้อเขียนของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งนำไปสู่การโต้กลับในแง่ “ผิดกาละเทศ” และ “เสียมารยาท” มากกว่าจะอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจัง
แม้ผู้เขียนจะไม่เคยพบปะพูดคุยกับนิธิเป็นการส่วนตัว แต่ก็หวังว่าข้อเขียนนี้จะเป็นการให้เกียรติผู้ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็น “ครู” โดยแสดงให้เห็นว่าชีวิตของ “ครู” นั้นไม่ได้เหมือนหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ “ขายดีแต่ล้มเหลว” แต่ “หนังสือชีวิต” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นหนังสือที่มีสีสันเพราะแสดงถึงความเป็นปุถุชนคนทั่วไปที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข บริบทและการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ มีถูก มีผิด เรียนรู้จากความผิดพลาดได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ หากเราร่วมกันพิจารณาและร่วมกันเขียน “หนังสือชีวิต” ของนิธิในแง่นี้ แม้จะจากไปแล้ว แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็จะยังทรงคุณค่าและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังต่อไปได้อีกนาน
[1] ผู้เขียนขอขอบคุณวิลลา วิลัยทอง, สิงห์ สุวรรณกิจ, วราภรณ์ เรืองศรี, และพลอยใจ ปิ่นตบแต่ง สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับแก้ความเรียงชิ้นนี้ อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดทั้งหมดของความเรียงเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
[2] ในที่นี้ขอใช้คำว่า Cultural Turn เพื่อหมายถึงการหันไปสนใจศึกษาวัฒนธรรมในบริบทเฉพาะของไทย โดยเนื้อหาแล้วใกล้เคียงกับวัฒนธรรมศึกษา และไม่ใช่ความหมายเดียวกันกับกระแส Cultural Turn ในตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลของหลังสมัยใหม่สูง ธิกานต์ ศรีนาราเสนอว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้บุกเบิก Cultural Turn ในไทย ผู้เขียนขอเสนอว่าหากไม่ใช่ผู้บุกเบิก อย่างน้อยที่สุดนิธิเป็นผู้กระจายแนวคิดนี้ออกไปอย่างกว้าง (popularize) เห็นได้ชัดที่สุดในทศวรรษ 2530
[3] นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่มีตัวอย่างอื่น ๆ อีกที่สะท้อนความผิดกาลเทศะของนิธิ เช่น ข้อเขียนเกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่จะไม่ขออภิปรายในที่นี้
[4] มีผู้พูดถึงบทบาทสาธารณะของนิธิมากแล้ว โดยเฉพาะบทบาทของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่เดินทางเข้าร่วมต่อสู้เคียงข้าง “ชาวบ้าน” ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอว่าบทบาทการเมืองในยุคดังกล่าวของนิธิ แยกไม่ออกจาก Cultural Turn นั่นก็เพราะกลุ่ม “วัฒนธรรมชุมชน” ที่นิธิสมาทานนั้น ไม่ได้มีจุดเน้นไปที่ “รัฐ” กล่าวคือไม่ได้คิดเรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐหรือ “ยึด” อำนาจรัฐ แต่มองว่า “รัฐ” เป็นคู่ตรงข้ามของ “ภาคประชาชน” อันประกอบด้วย “ชาวบ้าน” “ชุมชน” และ “วัฒนธรรม” บางประการซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการควรจะต้องเข้าไปสนับสนุนเพื่อต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงของ “รัฐ” และ “ทุน” อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่อง “วัฒนธรรมชุมชน” นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าขอบเขตของความเรียงชิ้นนี้
ประเด็นสำคัญก็คือเมื่อเข้าสู่ยุค Political Turn นิธิกลับต้องเผชิญหน้าและเข้าไปมีส่วนร่วมกับ “การเมือง” ที่ตนไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่นัก การตัดสินใจเข้าร่วมกับ คปร. ที่ได้อภิปรายไปข้างต้นสะท้อนการ “คิดไม่สุด” ในประเด็นนี้ของนิธิและสะท้อนความพยายามปรับตัวเข้าสู่ Political Turn ที่ยังไม่ลงตัว
[5] ในประเด็นนี้ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมจากบท "เกริ่นนำ" ของผู้เขียนในการเข้าสู่ "ไส้ตะเกียงเสวนา" ในหัวข้อ "มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์มีน้ำยาอะไรบ้างในปัจจุบัน?" ที่จัดขึ้นที่สวนอัญญา จ. เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 บทเกริ่นนำนี้ใช้การอภิปรายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ในหัวข้อ “วิพากษ์มนุษยศาสตร์/มนุษยศาสตร์วิพากษ์: น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย” (2558) เป็นจุดตั้งต้น