Skip to main content

ธนกร การิสุข นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

ว่าด้วยกระแส "ถวิลหาอดีต" และ "กษัตริย์นิยม" ในลาว: ข้อสังเกต และประสบการณ์

 

ผู้เขียนได้สนทนากับอาจารย์ดิน บัวแดง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับปรากฏการณ์บางอย่างซึ่งเกิดขึ้นกับบทความและงานเสวนาของกลุ่ม “นักเรียนไทยโพ้นทะเล”[1] โดยอาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า งานเรื่องสถาบันกษัตริย์ลาวของกลุ่มมีกระแสตอบรับที่ดีจนน่าประหลาดใจ โดยนอกเหนือจากยอดผู้ชมวิดีโอการเสวนาที่มากถึงหลักหมื่นคนแล้ว ยังมีการ “ผลิตซ้ำ” เนื้อหาบทความโดย YouTuber คนอื่น ๆ[2] รวมไปถึงการปรากฏตัวขึ้นของความคิดเห็นจาก “ชาวลาว” อย่างมากมายในลักษณะที่ “ถวิลหาอดีต” กลับไปสู่ยุคที่ลาวยังมีเจ้ามหาชีวิตปกครอง ซึ่งข้อสำคัญของบทสนทนานี้ก็คือ อาจารย์กำลังพยายามหาคำอธิบายให้กับปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นและชวนให้ผู้เขียนเสนอข้อคิดเห็นอะไรบางอย่างด้วย

ผู้เขียนไม่อาจให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์เหล่านั้นอย่างชัดเจนได้ ข้อเขียนในที่นี้จึงเป็นเพียง “ข้อสังเกต” ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนและอาศัยข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตประกอบบ้าง โดยในที่นี้จะขอตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ข้อ สำหรับเป็นคำอธิบายของปรากฏการณ์ที่อาจเรียกว่าเป็นกระแส “ถวิลหาอดีต” และ “กษัตริย์นิยม” ใน(ชาว)ลาวปัจจุบัน และอีก 1 ข้อสำหรับให้คำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นต่องานของกลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเล

 

ถ่านไฟที่ไม่เคยมอดดับ: ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมลาวหลัง 1975

 

แม้ผลของการปฏิวัติปี 1975 จะทำให้ระบอบหรือสถาบันกษัตริย์ของลาวที่มีมาอย่างยาวนานสิ้นสุดลง แต่สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวลาวมาโดยตลอด กระแสความทรงจำและความสนใจต่อสถาบันกษัตริย์ในลาวที่เกือบจะเป็นกระแส “กษัตริย์นิยม” ในบางครั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนลาวนอกซึ่งลี้ภัยไปต่างประเทศช่วงการปฏิวัติ 1975 ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้านายเดิมที่ประทับอยู่นอกประเทศเช่นกันเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นกับชาวลาวในประเทศลาวระยะปัจจุบันนี้ด้วย นอกจากกลไกด้านเวลาที่ยังไม่สามารถทำให้ผู้คนลบเลือนความทรงจำต่อสถาบันกษัตริย์ไปได้ (การปฏิวัติเพิ่งเกิดไปไม่ถึง 50 ปี แน่นอนว่ายังมีหลายคนที่เกิดทันยุคพระราชอาณาจักรและมีความทรงจำเกี่ยวกับยุคนั้นอยู่) ยังมีการคงอยู่ของสัญลักษณ์บางอย่างที่พร้อมทำให้ชาวลาวหวนระลึกกลับไปสู่อดีตอยู่เสมออีกด้วย ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในลาวจึงเปรียบเสมือนถ่านไฟที่ไม่เคยมอดดับ และพร้อมที่จะลุกโชนขึ้นหรือปรากฏตัวในพื้นที่สังคมเสมอเมื่อมีคนสนใจ ซึ่งน่าสนใจที่ชาวลาวก็มักไปทำให้ถ่านไฟก้อนนี้ลุกติดขึ้นเสมอแม้ไม่กล้าเสี่ยงที่จะไปแตะต้องโดยตรง

สถาบันกษัตริย์ลาวยังคงอยู่ในสังคมลาวโดยอาศัยกลไกหลาย ๆ อย่างประกอบกัน กลไกแรกคือ “ความทรงจำ” ของชาวลาวเองดังที่กล่าวไปแล้ว นอกเหนือจากพระราชวังหลวงพระบางซึ่งถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่พื้นที่แห่งความทรงจำหนึ่งของคนลาวต่อสถาบันกษัตริย์ ยังมีคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่มองยุคพระราชอาณาจักรลาวเป็นช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ในด้านศิลปวัฒนธรรม (ที่มากกว่าปัจจุบัน) คนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ในสังคมลาวมาโดยตลอด ดังกรณีกลุ่มนาฏศิลป์ลาวและร้านเครื่องเงินบางร้านในหลวงพระบาง และร้านผ้าไหมบางร้านในเวียงจันทน์ซึ่งผู้เขียนได้ไปเยือนเมื่อสี่ปีที่แล้ว ณ ที่นั้น เขากล้าพูดอย่างชัดเจนว่าตนสืบทอดองค์ความรู้มาจากยุคพระราชอาณาจักร และเคยได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชีวิต เขายังใช้ข้อนี้เป็นจุดขายให้แก่ผู้ที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่มากในลาว 

 

ภาพ : ภาพถ่ายมกุฎราชกุมารองค์สุดท้ายของลาวและพระชายา ผู้เขียนถ่ายจากร้านผ้าไหมแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ เมื่อปี 2019

 

อีกกรณีหนึ่งคือการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยบุคคลสาธารณะในลาวเอง ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง “พระยอดแก้วมหางอน ดำลงบุน” อดีตประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (เทียบเท่าพระสังฆราช) ในการเทศนาของท่านหลายครั้งได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์หรือระบอบเก่าอย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งเป็นการกล่าวถึงในแง่ดี การเทศนาครั้งหนึ่งของท่านว่าด้วยปัญหาการจัดการเงินของคณะสงฆ์ลาว ท่านแก้ต่างให้กับสาเหตุของปัญหาการเข้ามาก้าวก่ายคณะสงฆ์ของเหล่าฆราวาสไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัญหานี้ไม่ใช้เศษเหลือที่มีมาจากระบอบเก่า เพราะในระบอบเก่าไม่ได้เป็นอย่างนี้”[3]

กรณีสุดท้ายที่ผู้เขียนจะยกมาในข้อนี้และขอตั้งข้อสังเกตด้วยความฉงนใจคือ รัฐบาลลาวซึ่งต่อต้านการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ กลับแสดงท่าทีที่จะเป็นผู้เน้นย้ำความทรงจำของชาวลาวต่อสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันเสียเอง ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเยือนเวียงจันทน์ในปี 2019 และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา โดยในปี 2019 เมื่อไปเยือนที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ น่าตกใจที่ของที่ระลึกซึ่งขายอยู่ที่นั่นเป็นแสตมป์จากยุคพระราชอาณาจักร โดยมีชุดที่ระลึกงานพระศพเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ และชุดพระรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พร้อมทั้งมีธนบัตรจากยุคพระราชอาณาจักรวางจำหน่ายอยู่อย่างโดดเด่น เช่นเดียวกับที่เมืองห้วยทราย ในร้านหนังสือซึ่งรัฐบาลลาวสนับสนุน (มีใบประกาศนียบัตรจากหน่วยงานรัฐมากมาย) และมีสินค้าและของที่ระลึกจำหน่ายเพื่อระดมทุนจัดซื้อหนังสือให้เด็กผู้ยากไร้ในแขวงบ่อแก้ว สิ่งหนึ่งที่วางขายอย่างโดดเด่นกลับเป็นธนบัตรจากยุคพระราชอาณาจักรอย่างที่ผู้เขียนเคยพบที่เวียงจันทน์

 

ภาพ : บน  ร้านหนังสือที่ห้วยทราย, ล่าง – ธนบัตรยุคพระราชอาณาจักรลาวที่ผู้เขียนซื้อจากร้านหนังสือดังกล่าว

 

ทุนจีนและรัฐบาลลาวในฐานะเชื้อไฟแห่งกระแส "ถวิลหาอดีต" และ "กษัตริย์นิยม"

 

การเข้ามาของทุนจีนและปัญหาการคอรัปชั่นในรัฐบาลลาวซึ่งถูกกล่าวถึงมากขึ้นในระยะนี้ ทำให้ชาวลาวในประเทศมีกระแสตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐมากขึ้น วาทกรรม “ขายชาติให้อเมริกา” ที่รัฐบาลลาวใช้เรียกกลุ่มอำนาจในระบอบเก่า ถูกตอบโต้จากคนลาวรุ่นใหม่ซึ่งมักยกตัวอย่างสภาพสังคมเศรษฐกิจช่วงก่อนการปฏิวัติซึ่งสอดคล้องกับภาพแทนของความรุ่งโรจน์ด้านศิลปวัฒนธรรมมาโต้แย้ง ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นรัฐบาลลาวเองที่ถูกประณามว่า “ขายชาติให้จีน” เนื่องจากการให้สัมปทานหลายอย่างแก่นายทุนจีนโดยไม่ให้ความสำคัญต่อประชาชน ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนซึ่งถูกขายไปเพื่อทำเป็นโรงแรม (ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โรงเรียนมัดทะยมสมบูน ปะชาทิปะไต : มัธยมสมบูรณ์ ประชาธิปไตย ในหลวงพระบาง ถูกขายให้นายทุนจีนนำไปทำเป็นโรงแรม)

อย่างไรก็ดีความไม่พอใจต่อรัฐในบางกรณีไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนดังที่ผู้เขียนยกมา ชาวลาวมักแสดงความคิดเห็นเชิงประชดประชันในข่าวของรัฐบาลหลายครั้ง เช่น ข้อยบอกให้เจ้าซมเซย (ผมบอกให้คุณชื่นชม) หรือแค่คำว่า ซมเซย ๆๆ (ชื่นชม ๆๆ) พร้อมกับการกดหัวเราะก็กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งการนำภาพของอดีตที่งดงามตามอุดมคติมาตอบโต้กับปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความทุกข์หรือความยากลำบากก็ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ สังคม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ดังกรณีที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำเอาภาพของคณะราษฎรและการปฏิวัติปี 1932 ซึ่งเป็นภาพแทนจากอดีตที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง มาตอบโต้กับผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการและไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น

 

ทำไมต้องเป็นงานของ "นักเรียนไทยโพ้นทะเล" (และคนอื่น): ความเป็นคนนอก

 

ข้อนี้อาจเป็นคำตอบจริง ๆ สำหรับคำถามของอาจารย์ดินต่อความสนใจที่เกิดขึ้นกับงานของกลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเล ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่แปลกอะไรที่คนลาวจะนิยมงานดังกล่าว โดยอาศัยกลไกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับสังคมลาวที่กล่าวไปแล้ว อาจมีข้อเพิ่มเติมอีก 2 ประการเพื่อเป็นคำอธิบายในปรากฏการณ์นี้ คือ

1) ปัญหาวงวิชาการลาวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จริงอยู่ที่งานของนักเรียนไทยโพ้นทะเลไม่ได้มีปัญหาโดยตัวเอง แต่ปัญหากลับอยู่ที่วงวิชาการลาวเอง การไขว่คว้าถวิลหาอดีตในลาวคล้ายกับที่อื่น ๆ เพราะแน่นอนว่าคนต้องการเข้าใจความเป็นตนเองอย่างแท้จริงผ่านงานวิชาการด้วย ซึ่งชาวลาวหลายคนมั่นใจแล้วว่างานวิชาการที่ตนรับรู้มาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก ในความคิดเห็นหนึ่งของวิดีโอการเสวนา ชาวลาวท่านหนึ่งกล่าวประมาณว่าต้องการให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ (เชิงวิพากษ์) เช่นนี้ในลาวด้วย

2) ความเป็นคนนอกของกลุ่มนักเรียนไทยโพ้นทะเล ความสนใจของบุคคลภายนอกต่อเรื่องบางเรื่องก็อาจทำให้เจ้าของเรื่องรู้สึกว่ามีพลังอะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้ ในกรณีนี้ชาวลาวบางกลุ่มอาจใช้งานดังกล่าวเป็นตัวแทนของโลกภายนอกที่สนับสนุนความคิด ความเชื่อของเขาได้

กล่าวโดยสรุปคือ ปรากฏการณ์ที่ชาวลาวให้ความสนใจต่องานของอาจารย์และกลุ่มนักเรียนไทยอาจอาศัยกลไกความทรงจำและความสนใจของพวกเขาต่อสถาบันกษัตริย์ในลาวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับกระแสการตั้งคำถามความชอบธรรมของรัฐบาลลาวที่เพิ่มมากขึ้นและถูกเปรียบเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติก็ยิ่งทำให้เกิดความสนใจมากขึ้น ท้ายที่สุดคือความเป็นคนนอกที่เปรียบเสมือนแรงผลักดันให้ชาวลาวเองเกิดความสนใจที่จะกลับไปให้ความสำคัญต่ออดีตอีกมุมที่พวกเขาต้องการที่จะรู้ชัดถึงข้อเท็จจริงโดยไม่ผ่านข้อมูลการนำเสนอจากรัฐ

 


[1] ดู โพ้นทะเลเสวนา ตอนที่ 6 - "สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์" ขณะนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) มีผู้เข้าชมทั้งหมด 16,000 คน ในขณะที่ในบรรดาทั้งหมด 8 ตอน ตอนที่มีจำนวนยอดผู้ชมมากที่สุดรองลงมาคือตอนที่ 5 - "กษัตริย์นักประชาธิปไตย (?) : สถาบันกษัตริย์สเปนในช่วงเปลี่ยนผ่าน" มีจำนวนผู้เข้าชม 4,100 คน (ต่ำว่าครึ่งของตอนที่ 6) ส่วนตอนอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วจำนวนผู้เข้าชมไม่ถึงหลักพัน ตอนที่ผู้เข้าชมต่ำที่สุดคือ 194 คน

[2] Youtube ช่อง "ใบบุญ ชาแนล" มีผู้ติดตาม 61,400 คน นำบทความ "สถาบันกษัตริย์ลาวในการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรสู่รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์" ของ ณัฐพล อิ้งทม ซึ่งตีพิมพ์ในบล็อก "นักเรียนไทยโพ้นทะเล" ไป "อ่านออกเสียง" ทั้งบทความโดยไม่ระบุที่มาของเนื้อหา การ "อ่านออกเสียง" ในหัวข้อ "จุดสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในลาว" นี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ในขณะนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) มีผู้เข้าชมทั้งหมด 304,128 คน