ชื่อบทความ: นวนิยายยาโออิ: ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึกของหญิงชนชั้นกลางไทย พ.ศ.2555-2565
ชื่อผู้เขียน: สุดารัตน์ ดวงดี (สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.2566)
บทคัดย่อ
กระแสความนิยมการอ่านนวนิยายยาโออิ พ.ศ.2555-2565 ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ที่เคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนความหมาย “พื้นที่ในการแสดงตัว” ของนวนิยายยาโออิบนแอปพลิเคชันและเว็บไซต์นวนิยายออนไลน์ ซึ่งได้อนุญาตให้ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยเข้าถึงการอ่านนวนิยายประเภทนี้ง่ายยิ่งขึ้น ความนิยมการอ่านนวนิยายยาโออิสัมพันธ์กับ “ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก” ของกลุ่มนักอ่านผู้หญิงชนชั้นกลางรุ่นใหม่หรือ “สาววาย” บ่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ของสาววายมีความเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนความหมายในด้านบทบาทหน้าที่และคุณค่าความเป็นหญิงที่ดีแบบไทยกับความเป็นหญิงสมัยใหม่ ส่งผลให้สาววายจำเป็นต้องค้นหา “ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก” เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ ซึ่งก็คือการอ่านนวนิยายยาโออิ นวนิยายยาโออิกลายเป็นพื้นที่ “ปลอดภัยทางความรู้สึก” ของสาววาย เป็นพื้นที่ที่พวกเธอสามารถเปิดเผยตัวตน ความชื่นชอบ ความปรารถนาที่จะมีชีวิตแบบที่ต้องการด้วยการเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้ากับตัวบทนวนิยาย ความปลอดภัยทางอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเกิดการพูดคุยกันระหว่างผู้อ่านที่มีความชื่นชอบเหมือนกัน หรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อนวนิยายเรื่องนั้นๆ
คำสำคัญ: นวนิยายยาโออิ, สาววาย, ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก, ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก
วิธีการอ้างอิง: สุดารัตน์ ดวงดี. "นวนิยายยาโออิ: ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึกของหญิงชนชั้นกลางไทย พ.ศ.2555-2565." วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 1, ฉ.2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566): 155-175.
เผยแพร่ออนไลน์: 9 กุมภาพันธ์ 2567
Attachment | Size |
---|---|
06_yayoi_f.pdf (258.61 KB) | 258.61 KB |