Skip to main content

ชนาวุธ บริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: บทความนี้ใช้ประกอบการจัดบอร์ดที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “นักเรียนประวัติศาสตร์ กับการ 'คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์' (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย” ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบอร์ดและโครงการได้ในความเรียง "เสียงคร่ำครวญจากนักเรียนประวัติศาสตร์ผ่านบอร์ด 'นักเรียนประวัติศาสตร์ กับการ 'คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์' (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย' "

 


 

นักเรียนประวัติศาสต์ กับการ "คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์" (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย

 

ทำไมต้อง "คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์"?

 

ปัญหาพื้นฐานสำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ในระดับ “ผู้เริ่มต้น” หรือ “Beginner” (เช่นเดียวกับผู้เขียนที่ยังไม่พ้นระดับนี้ได้ภายในเร็ววันนี้) ต้องเจอคือเรื่องการจัดการกับ “หลักฐาน” ที่จะนำมาใช้สนับสนุนข้อเสนอของงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะการมี “หลักฐานเป็นจำนวนมาก” อยู่ในมือ การจัดการกับปัญหาและเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะ “ตัดตีนเข้ากับเกือก” ก็คือการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) ข้อมูลหลักฐานงานวิจัยที่เราค้นพบ โดยกระบวนการนี้คือการเชื่อมโยงข้อมูลย่อย ๆ ผ่านการวิเคราะห์ให้กลายเป็น “ความรู้” ขึ้นมาชุดหนึ่ง การสร้างความรู้จากการคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ไม่ได้จำกัดเพียงกระบวนการประมวลผลให้เกิดความเข้าใจต่อตัวผู้วิจัยเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงกระบวนการนำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจด้วย

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ “จะทำอย่างไร ?” สำหรับการพยายามหาคำตอบของผู้เขียนเมื่อย้อนความทรงจำกลับไปในช่วงเวลาของการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทดูเหมือนว่าจะไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับเรื่องนี้ จึงทำให้กระบวนการนี้ค่อนข้างจะถูกจัดอยู่ในเรื่องที่สอนกัน “อย่างสำเร็จรูป” ไม่ได้ (เช่นเดียวกันกับเรื่องของ “การเขียน” ที่อาจจะสามารถสอนแนวทางกันได้แต่ท้ายที่สุดนั้นจะขึ้นอยู่กับ “สไตล์” ของแต่ละบุคคล) และคำตอบที่ได้รับก็คือการพิจารณาหลักฐานอย่างละเอียดอ่อนรวมถึงการนำเอาทฤษฎี งานเขียนอื่น ๆ มาช่วยในการอ่านหลักฐานก็สามารถจะนำไปสู่กระบวนการนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อไม่มีคำตอบอย่างสำเร็จรูปผู้เขียนจะขอหยิบยกประสบการณ์ในการจัดการข้อมูลและการนำเสนอหลักฐานของผู้เขียนในช่วงการทำวิทยานิพนธ์มาอธิบายเพื่อให้เห็นภาพบางส่วนของกระบวนการนี้ วัตถุประสงค์ของบทความนี้ต้องการที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการข้อมูลหลักฐานในงานวิจัยและเพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกระบวนการนี้รวมไปถึงข้อจำกัดและข้อผิดพลาดของผู้เขียนในช่วงเวลาของการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท โดยขอแยกอธิบายออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการอธิบายการคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ข้อมูลหลักฐานงานวิจัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อตัวผู้วิจัยในช่วงกำลังก่อร่างสร้างวิทยานิพนธ์ ส่วนถัดมาคือการอธิบายการคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ข้อมูลหลักฐานเพื่อนำเสนอสิ่งที่เราค้นพบต่อผู้อ่าน

 

การก่อร่างสร้างวิทยานิพนธ์

 

หัวข้อวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเป็นการศึกษา “วันสำคัญแห่งชาติ” ของไทยในระดับองค์รวมที่ไม่ได้เป็นการศึกษาผ่านวันสำคัญแห่งชาติเพียงแค่วันเดียว ในชื่อหัวข้อ “การเพิ่มขึ้นของ “วันสำคัญ” กับการสร้างความเป็นพลเมืองของชาติไทย ทศวรรษ 2520-2540”ที่เริ่มมาจากคำถามงานวิจัยเบื้องต้นว่า “วันสำคัญแห่งชาติ” ที่เกิดขึ้นภายในรัฐไทยมีความหมายและความสำคัญอย่างไร ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่าในช่วงเริ่มต้นของการทำวิทยานิพนธ์แม้ผู้เขียนได้ตัดสินใจว่าจะทำเรื่องวันสำคัญแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดช่วงเวลาที่จะศึกษาไว้แต่อย่างใด แต่จากคำถามงานวิจัยเบื้องต้นก็ได้นำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องค้นหาว่าที่ผ่านมารัฐไทยมีวันสำคัญมาแล้วทั้งหมดกี่วัน มีวันอะไรบ้าง และวันสำคัญแห่งชาติเหล่านั้นเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไหนและมีบริบทอย่างไร เพื่อจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะใช้ในการศึกษาได้ และจากการค้นหานี้ยังนำไปสู่ปัญหาต่อมาด้วยว่าเราจะจัดการกับข้อมูลนี้อย่างไร โดยสิ่งที่เราสามารถทำได้เบื้องต้นก็คือการอ่านทบทวนงานทางประวัติศาสตร์ที่ศึกษารัฐไทยในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละช่วงเวลาเพื่อที่จะสามารถกำหนดช่วงเวลาที่เราจะใช้ทำการศึกษาวิจัย

เมื่อพอจะเข้าใจหรือเห็นภาพบริบทแล้ว ถัดมาคือการวิเคราะห์ว่าหลักฐานที่เรามีได้สอดคล้องไปกับบริบทอย่างไร อีกทั้งยังต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการวิเคราะห์หลักฐานด้วย เนื่องจากบางครั้งหลักฐานก็อาจจะไม่สอดคล้องไปกับบริบทที่เราทำความเข้าใจมาจากงานชิ้นอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารช่วงทศวรรษ 2500-2510 เรามักจะรับรู้กันว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการ “รื้อฟื้น” อุดมการณ์กษัตริย์นิยมรวมไปถึงมีการเข้าไปจัดการยกเลิกวันสำคัญแห่งชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “วันชาติ 24 มิถุนายน” รวมไปถึงมรดกอื่น ๆ ของคณะราษฎร แต่เมื่อเรามองผ่านหลักฐานวันสำคัญแห่งชาติบนหน้าปฏิทินแล้วกลับพบว่ามีวันสำคัญแห่งชาติได้เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เพียงแค่ 12 วันด้วยกัน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ (โปรดดูต่อไปข้างหน้า) ทำให้เห็นว่าแม้ช่วงเวลาของรัฐบาลเผด็จการจะเป็นช่วงเวลาของการล้มเลิกวันสำคัญแห่งชาติที่สืบเนื่องมาจากสมัยคณะราษฎรรวมถึงเชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมให้เกิดวันสำคัญแห่งชาติอันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เป็นต้น[1] 

ด้วยเหตุนี้ทำให้เราจะต้องกลับมาพิจารณาหลักฐานและบริบทเราอย่างละเอียดอ่อนอีกครั้งและพยายามให้หลักฐานเป็นตัวพูดและอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันแม้ว่างานของผู้เขียนจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับวันสำคัญแห่งชาติก็ตาม แต่ก็ยังต้องพิจารณาอีกว่าเราต้องการจะศึกษา “วันสำคัญแห่งชาติ” ไปในแนวทางอย่างไรและจากแง่มุมไหน อีกทั้งจะศึกษาในช่วงเวลาไหนด้วย เหตุนี้เพื่อที่จะ “ค้นหา” หัวข้อวิทยานิพนธ์ของตนเองจึงจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลปลีก ๆ ให้กลายเป็นกรอบความเข้าใจขึ้นมา โดยส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้นอกจากการวิเคราะห์ตัวบทจากหลักฐานแล้วก็คือการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้มาช่วยจัดการกับข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพสิ่งที่เราจะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

จากแผ่นภูมิสู่หัวข้อและข้อเสนอวิทยานิพนธ์

 

เครื่องมือแรกที่จะนำมาช่วยในการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) หลังจากที่ได้หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญแห่งชาติ อาทิเช่น ราชกิจจานุเบกษา มติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น มาบางส่วนและเพื่อที่จะกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์ของตนเองก็คือการใช้ “แผนภูมิ” องค์ความรู้ชั้นประถมศึกษาของผู้เขียนมานำเสนอข้อมูลให้กลายเป็นกราฟเพื่อง่ายต่อความเข้าใจและเห็นความสัมพันธ์กับชุดข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้มา ขั้นตอนนี้ยังทำไปพร้อมกับการพิจารณาตัวหลักฐานและลักษณะของวันสำคัญแห่งชาติด้วยการ “เปรียบเทียบ” วันสำคัญแห่งชาติทั้งหมด ในกระบวนการเปรียบเทียบนี้จะมีหลักการอยู่ประมาณ 3 ขั้นตอนด้วยกันง่าย ๆ คือเริ่มแรกเมื่อนำเอาหลักฐานและวันสำคัญแห่งชาติทั้งหมดมาเปรียบเทียบแล้วกระบวนการเหล่านี้จะดำเนินไปโดยอัตโนมัติที่นำเราไปสู่การเห็นถึง “ความเหมือน” กันอย่างไรและ “ความต่าง” กันอย่างไร เมื่อเราเห็นถึงความเหมือนและความต่างนี้แล้ว ท้ายที่สุดของกระบวนการเปรียบเทียบนี้จะนำไปเราสู่คำถามว่า “ทำไม” วันสำคัญแห่งชาติเหล่านี้จึงมีความเหมือนและต่างกัน

สำหรับกระบวนการเปรียบเทียบในงานของผู้เขียน ตั้งต้นได้พยายามทำความเข้าใจคำว่า “วันสำคัญแห่งชาติ” ก่อน ซึ่งพบว่าจริง ๆ แล้วคำดังกล่าวนี้ถือเป็น “ศัพท์ใหญ่” ที่ครอบคลุมทั้ง “วันหยุดราชการ”(อาทิเช่นวันรัฐธรรมนูญ, วันเฉลิมพระชนมพรรษา, วันปิยมหาราช เป็นต้น) และ “วันสำคัญ” ที่ไม่เป็นวันหยุดราชการ (อาทิเช่นวันข้าราชการพลเรือน, วันภาษาไทยแห่งชาติ, วันช้างไทย เป็นต้น) เอาไว้ด้วยกัน ดังนั้นการใช้ศัพท์ใหญ่นี้จึงต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบขั้นพื้นฐานในขั้นแรกก็คือการแยกระหว่างการเป็น “วันหยุดราชการ” และ “วันสำคัญ” ออกจากกัน และนำเอาจำนวนของวันสำคัญแห่งชาติทั้งสองมาแสดงผลผ่านเครื่องมือแผนภูมิเพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างรวมถึงความสัมพันธ์กันของข้อมูล ทำให้เห็นได้ว่า (ดูภาพแผนภูมิประกอบ) ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนสิ้นทศวรรษ 2490 ได้เกิดวันหยุดราชการขึ้นเป็นจำนวนถึง 37 วันด้วยกัน และมีวันสำคัญเกิดขึ้นเพียง 13 วัน แต่ในช่วงเวลาถัดมากลับเห็นว่าในช่วงทศวรรษ 2500-2510 กลับเกิดวันหยุดราชการ 5 วัน มีวันสำคัญเกิดขึ้น 7 วัน และท้ายที่สุดคือช่วงทศวรรษ 2520-2540 กลับพบว่ามีวันหยุดราชการเกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียว แต่กลับมีวันสำคัญเกิดขึ้นมากถึง 57 วันด้วยกัน 

 


 

เพียงแค่เห็นความแตกต่างทางปริมาณนี้ในท้ายที่สุดได้พัฒนาไปสู่หัวข้อวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนในชื่อเรื่องว่า การเพิ่มขึ้นของ “วันสำคัญ” กับการสร้างความเป็นพลเมืองของชาติไทย ทศวรรษ 2520-2540 นั่นก็คือการหันกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมในช่วงเวลาทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา “วันสำคัญ” (ที่ไม่เป็นวันหยุดราชการ) ถึงมีการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากสวนทางกับวันหยุดราชการ โดยขอสรุปคำตอบอย่างคร่าว ๆ ว่าการหยุดนิ่งของวันหยุดราชการในทางหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้าไปจัดการกับความหมายของวันสำคัญแห่งชาติของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เข้ากับความสัมพันธ์เชิงอำนาจหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดวันหยุดราชการของรัฐไทยเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ทำให้ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาวันหยุดราชการของรัฐไทยจึงได้เริ่มที่จะหยุดนิ่ง แต่ความหยุดนิ่งนี้ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของ “วันสำคัญ” ขึ้นมาอันจะเป็นกลไกในการประสานความสัมพันธ์ภายในสังคมเพื่อจรรโลงโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในรัฐ

จากคำตอบจากคำถามนี้ยังได้ถูกต่อยอดให้กลายเป็นข้อเสนอวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ด้วยก็คือการเกิดขึ้นของ “วันสำคัญ” ในช่วงเวลาทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาเป็นผลมาจากความพยายามสร้างดุลยภาพของรัฐไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งการขยายตัวของกลุ่มทางสังคมนอกระบบราชการที่เข้ามามีบทบาทในมิติต่าง ๆ ภายในรัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกในการประสานความสัมพันธ์ภายในสังคมเพื่อให้โครงสร้างความสัมพันธ์ภายในรัฐได้ดำเนินต่อไปได้ ประกอบกับในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ภัยคอมมิวนิสต์ได้เสื่อมถอยจากการเป็นภัยหลักของรัฐไทย ก็ส่งผลให้ปัญหาที่แยกย่อยต่าง ๆ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นปัญหาหลักที่รัฐจำเป็นจะต้องดำเนินการจัดการแก้ไขด้วยการผนวกกลืนความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ภายในสังคมผ่าน “วันสำคัญ”

การผนวกสังคมด้วยการใช้ “วันสำคัญ” นี้ยังส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็น “หลักยึดเหนี่ยว” ของสังคมไทย และทำให้รูปแบบวันสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานี้กลายเป็นแบบแผนของการสร้างสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินของรัฐไทยที่ได้ดำเนินมาจนถึงทศวรรษ 2540 และยึดกุมสำนึกความทรงจำของพลเมืองไทยอย่างเหนียวแน่น โดยมีใจความสำคัญก็คือการสถาปนาสำนึกความทรงจำของพลเมืองไทยให้มีสำนึกว่าตน “เป็นคนของสถาบันพระมหากษัตริย์” และมีความหมายของชีวิตที่มี “สถาบันพระมหากษัตริย์” เข้าไปสัมพันธ์อยู่ในทุก ๆ ด้าน โดยวิทยานิพน์ชิ้นนี้ต่อมาได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นหนังสือเรื่อง ความทรงจำใต้อำนาจ :รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน ของสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี พ.ศ. 2565 

 

ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

 

การคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ข้อมูลหลักฐานเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่าน

 

กระบวนการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) สำหรับวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การใช้แผนภูมิในการเข้ามาจัดการกับข้อมูลหลักฐานเท่านั้น เนื่องจากในการเขียนงานเราจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นต่อผู้อ่านด้วย และด้วยการที่มี “วันสำคัญแห่งชาติ” มีอยู่เป็นจำนวนมาก การนำเสนอในรูปแบบของการพรรณาวิเคราะห์อาจจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ไม่ชัด ดังนั้น “เครื่องมือ” (ประกอบกับความทะเยอทะยานโดยประมาทของผู้เขียน) ต่อมาที่จะนำมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลจึงเป็นความพยายามที่จะเอาวันสำคัญแห่งชาติทั้งหมดมานำเสนอผ่านรูปแบบของตารางโดยแบ่งวันสำคัญแห่งชาติออกเป็นด้าน ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีวันสำคัญแห่งชาติเกิดขึ้นด้านใดบ้างและเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดภายในวันและเดือนอะไรเสมือนกับการสร้างปฏิทิน (โปรดดูตารางประกอบ) 

ภาพของตารางวันสำคัญแห่งชาติบางส่วน

 

หมายเหตุ: เนื่องจากภาพตารางมีขนาดใหญ่เพื่อให้สะดวกจึงขอแยกเป็นไฟล์ต่างหาก

โปรดสแกนเพื่อดูหรือคลิกที่ลิงค์ต่อไปนี้ https://cmu.to/JvOoN

 

จากภาพตารางข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้พยายามรวบรวมวันสำคัญแห่งชาติทั้งหมดมารวมไว้ในตารางเดียวกันโดยแบ่งออกเป็น 6 ช่วงเวลาคือ 1.สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2.ช่วงปี พ.ศ. 2475-ทศวรรษ2480 3.ทศวรรษ 2490 4.ทศวรรษ 2500-2510 5.ทศวรรษ 2520-2530 6.ทศวรรษ 2540 พร้อมทั้งแบ่งวันสำคัญแห่งชาติต่าง ๆ ออกเป็นด้าน ๆ และจัดเรียงในลักษณะของปฏิทิน กล่าวได้ว่าท้ายที่สุดความพยายามนี้ได้นำไปสู่ปัญหาในหลาย ๆ ประการ และกลายเป็นการนำเสนอที่ล้มเหลว โดยสรุปถึงปัญหาต่าง ๆ ได้คร่าว ๆ ดังนี้

  1. การจัดช่องตารางที่กำหนดด้วยสายตาแทนที่จะใช้โปรแกรมเพื่อกำหนดช่องตารางทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอและเรียบร้อยภายในช่องตาราง
  2. ข้อมูล “วัน” ยังไม่นิ่ง เนื่องจากตารางนี้ได้ทำในช่วงที่การเขียนวิทยานิพนธ์ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก็ทำให้มาพบในภายหลังว่ามีหลายวันสำคัญที่ถูกใส่เข้ามานั้นเป็นเพียงแค่ “วันงานภายใน” ของหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้มีฐานะเป็นวันสำคัญแห่งชาติแต่อย่างใด จะพบว่ามีหลายวันสำคัญในตารางไม่ได้ถูกนำมาเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์และหนังสือก็เพราะเหตุนี้ด้วย
  3. จากการใช้รูปแบบตารางในการนำเสนอทำให้พบว่าไม่สามารถที่จะจัดแบ่งวันสำคัญแห่งชาติออกเป็นด้านต่าง ๆ ได้ เนื่องจากบางวันเกี่ยวพันกันหลาย ๆ ด้าน การนำเสนอผ่านการพรรณนาวิเคราะห์จึงเป็นเรื่องที่ง่ายแต่เมื่อนำมาสู่ตารางและจัดทำเป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์ (เนื่องจากมีความทะเยอทะยานไม่ประมาณตนที่จะนำมาเป็นภาคผนวกแต่สุดท้ายความพยายามนี้ล้มเหลว) จึงต้องคอยใส่หมายเหตุก็ยิ่งทำให้ช่องวันนั้น ๆ ขยายตัวกินพื้นที่วันและเดือนอื่น ๆ จึงทำให้ภาพของตารางออกมาอย่างไม่สมดุล อีกทั้งการทำด้วยรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์จะพบว่าส่งผลให้เกิดการแก้ไขยาก ดังจะเห็นได้ว่าผู้เขียนมีการเขียนเพิ่มวันสำคัญด้วยปากกาลงไปและยังมีบางวันสำคัญแห่งชาติที่ยังตกหล่นอยู่จำนวนหนึ่งโดยไม่ได้เพิ่มเข้าไป ขณะเดียวกันพบว่า การหมายเหตุยังกลายเป็นปัญหาอีกประการอันสะท้อนความไม่แน่ชัดในตัวของผู้เขียนที่จะพยายามจะใส่เรื่องราวของวันสำคัญแห่งชาติให้ครบถ้วน จึงทำให้เกิดปัญหาเมื่อบางวันสำคัญแห่งชาติที่ถูกยกเลิกลงไปแล้วก็ทำให้ต้องคอยเขียนหมายเหตุไว้เสมอ อีกทั้งบางวันสำคัญมีการ “เปลี่ยนวัน” ก็ทำให้เกิดปัญหาว่าจะใส่วันสำคัญแห่งชาติดังกล่าวนี้ไว้ในช่องใดหรือจะเลือกใส่ไว้สองช่องซึ่งนำมาสู่ความสับสนในท้ายที่สุด
  4. นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าวันสำคัญในแต่ละช่วงเวลายังมีประเภทของวันสำคัญที่เพิ่มขึ้นตามแต่ละช่วงเวลายิ่งทำให้การจัดการตารางประสบความลำบากมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย (ผู้เขียนยังเคยคิดว่าหากทำเป็นป้ายไวนิลอาจจะทำให้ตารางนี้มีระเบียบและสมบูรณ์ แต่การที่จะนำป้ายไวนิลแนบเป็นภาคผนวกในวิทยานิพนธ์เมื่อนึกถึงแววตาของอาจารย์ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่บัณฑิตวิทยาลัยแล้วจึงคิดว่าล้มเลิกน่าจะดีกว่า)
  5. ท้ายที่สุดแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ประสบความสำเร็จในการนำเสนอและจัดเรียงข้อมูลในลักษณะของตารางออกมา แต่ก็กล่าวได้ว่าตารางดังกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นประโยชน์ในการใช้ตรวจเช็ครายชื่อของวันในแต่ละบทว่าได้มีการนำไปอธิบายไว้ในตัวงานอย่างครบถ้วนหรือไม่ อย่างไรก็ดีหากปฏิทิน (ที่ไม่ใช่ก็คงใกล้เคียง) นี้ถูกนำเสนอและจัดทำในรูปแบบอื่น ๆ (จะนำเสนอต่อไปข้างหน้า) ผู้เขียนคิดว่าอาจจะประสบความสำเร็จและทำให้เวลาในการทำงานลดน้อยลง เช่นเดียวกับงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ หากได้รับการจัดการข้อมูลที่ดีก็จะทำให้งานนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

 

การ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อผู้ผลิตงานวิจัยเท่านั้น แต่การ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) ที่ดีและเป็นระบบยังจะส่งผลต่อการนำเสนอภาพของงานชิ้นนั้น ๆ ต่อผู้อ่านได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย และส่งผลให้ “งานวิชาการ” อย่างน้อยที่สุดกลายเป็นเรื่องที่สังคมรับรู้ได้ง่ายและทำอาจจะให้ช่องว่างระหว่างนักวิชาการและผู้คนในสังคมลดลงได้มากอีกด้วย จากปัญหาในการพยายามที่จะใช้เครื่องมือมาช่วยในการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) ข้อมูลและนำเสนอข้อมูลของผู้เขียนในทางหนึ่งยังมาจากการที่ผู้เขียนให้ความสำคัญในทักษะการพรรณนาวิเคราะห์มากกว่าเรื่องอื่น ๆ จึงเป็นผลให้ไม่มีทักษะในการนำเสนอข้อมูลเป็นแผนภาพหรือตารางให้เกิดประสิทธิภาพได้ตามมา นอกจากนี้ปัญหายังเกิดขึ้นจากกระบวนการคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ที่ไม่ดีของผู้เขียนด้วยดังที่ได้อธิบายไว้แล้วก่อนหน้านี้

ปัญหาการใช้เครื่องมือนั้นอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลอย่างตัวผู้เขียนเองที่มีข้อจำกัดในความรู้ด้านนี้ แต่ผู้เขียนเองก็ยังคิดว่าส่วนหนึ่งนั้นยังมาจากข้อจำกัดของการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้มีการเสริมสร้างให้นักเรียนประวัติศาสตร์มีความเข้าใจหรือ “ใช้เป็น” ในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ซึ่งพบว่ายังมีเทคโนโลยีหลายอย่างในการที่นักประวัติศาสตร์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้หลายอย่าง โดยผู้เขียนจะขอหยิบยกเว็ปไซต์ที่น่าสนใจที่นักเรียนประวัติศาสตร์น่าจะรู้จักและสามารถใช้ประโยชน์ได้ก็คือ https://omeka.org/ โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันข้อมูลแบบดิจิทัลและการสร้างนิทรรศการออนไลน์ เรายังสามารถที่จะออกแบบการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์และยังสามารถที่จะใส่คำบรรยายประกอบได้อย่างละเอียด พร้อมทั้งยังสามารถอัปโหลดไฟล์ต่าง ๆ ทั้งภาพและเอกสาร ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการนำเสนอข้อมูลวันสำคัญแห่งชาติของผู้เขียนอาจทำได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากกว่าในรูปแบบตารางหรือสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิม ๆ และที่สำคัญคือสามารถให้ผู้คนยังเข้าถึงการนำเสนอของเราได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

จากเว็ปไซต์ข้างต้นเป็นเพียงแค่บางส่วนของเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในการทำงานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะยังมีเทคโนโลยีอีกมากที่นักเรียนประวัติศาสตร์ยังสามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำวิจัยของตนเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าวงสนทนาของนักเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนี้นอกจากคำถามในบทสนทนาประเภท “ทำหัวข้ออะไร?” “ใช้วิธีวิทยาอะไร?” หรือ “ใช้หลักฐานอะไร?” ควรขยายมาสู่ความสนใจด้วยว่า “เราใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไร?” มาช่วยในการทำงานวิจัยซึ่งจะทำให้เกิดการและเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อนักเรียนประวัติศาสตร์ได้มากอยู่พอสมควร อย่างไรก็ดีองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานวิจัยก็ควรที่จะมีการบรรจุไว้ในวิชาเรียนด้วยเช่นกัน เนื่องจากพบว่าการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ยังคงมีข้อจำกัดในส่วนนี้อย่างมากไม่เฉพาะแต่เพียงหลักสูตรการสอนเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงบุคลากรและงบประมาณที่จะมาใช้ทำในส่วนนี้ด้วย อีกทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ยังต้องมีค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เขียนคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของ “มหาวิทยาลัย” ในการบริการสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา การที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงหรือ “ใช้เป็น” ต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เชื่อว่าไม่ได้มีเพียงแค่การทำให้งานวิจัยของนักศึกษาสามารถที่จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการที่นักศึกษาสามารถที่จะ “คืนความรู้” ให้กับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามค่านิยมที่ควรจะเป็นของสถานที่อันได้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัย”

 

อ่านเพิ่มเติม

 

ชนาวุธ บริรักษ์. “การเพิ่มขึ้นของ “วันสำคัญ” กับการสร้างความเป็นพลเมืองของชาติไทยทศวรรษ 2520-2540.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2562.

ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

 


[1] สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วในงานวิจัยของผู้เขียนจึงจะไม่ขอนำมาอธิบายซ้ำในบทความนี้ หากสนใจโปรดดู ชนาวุธ บริรักษ์, ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน (กรุงเทพฯ:  มติชน, 2565), 85-95..