Skip to main content

ชนาวุธ บริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

 

บอร์ดนี้มันมีมาเมินละหนา ตั้งแต่ก่อนลุงเข้ามายะก๋านแหม โอ้ยอยู่มาตั้งแต่สมัยอาจ๋ารย์นิธิปู้นละ

คำกล่าวข้างต้นเป็นของคุณลุงเจ้าหน้าที่หน่วยอาคารสถานที่และสาธารณการของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะที่กำลังบูรณะ “บอร์ดติดประกาศ” บริเวณหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์หลังจากที่ชำรุดมาเป็นเวลานาน

กล่าวได้ว่าคุณลุงท่านนี้ถือเป็น “คนเก่าแก่” ของคณะที่อีก 2-3 ปีก็จะเกษียณอายุราชการหลังจากที่ทำหน้าที่ดูแลคณะมนุษยศาสตร์มาเป็นเวลายาวนานและอยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงของคณะรวมไปถึงมหาวิทยาลัยมาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่พนักงานบัญชีของมหาวิทยาลัยใช้ “ลูกคิด” ทำบัญชีมาจนถึงกาลสมัยที่พนักงานมหาวิทยาลัยส่งเอกสารผ่านระบบ CMU E-document เช่นเดียวกันกับ “บอร์ดติดประกาศ” หน้าภาควิชาแผ่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ร่วมอยู่ในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับในยุคสมัยปัจจุบันที่การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลสามารถจะทำได้อย่างสะดวกสบายผ่านโทรศัพท์มือถือและระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงครอบคลุมไปทุกพื้นที่ทุกท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเกือบทุกมิติของชีวิต ก็ยิ่งทำให้การเผยแพร่ข่าวสารไปจนถึงความรู้ต่าง ๆ ผ่านบอร์ดติดประกาศได้กลายเป็นสิ่งที่ “หมดยุคหมดสมัย” และห่างเหินไปจากการเป็นสื่อของผู้คนในยุคปัจจุบัน การหมดยุคหมดสมัยนี้สอดคล้องเข้ากันกับเนื้อหาที่จะมาประดับบอร์ดติดประกาศหลังการบูรณะอย่างน่าประหลาด เพราะเป็นเรื่องราวของการหยิบใช้เทคโนโลยีอย่างผิดฝาผิดตัวและหมดยุคหมดสมัยของนักเรียนประวัติศาสตร์ผู้หนึ่ง (ผู้เขียนเอง) ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทจนต้องหยิบเอาประสบการณ์ของการทำวิทยานิพนธ์ในช่วงเวลานี้มาเป็นเรื่องบอกเล่าและแบ่งปันกัน

 

 

โปรเจกต์ “นักเรียนประวัติศาสตร์ กับการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย” เกิดขึ้นมาจากการสนทนาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษารวมไปถึงคณาจารย์ภายในภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน (ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ) ที่นักประวัติศาสตร์ในแถบตะวันตกรวมไปถึงนักวิชาการสายอื่น ๆ ใช้มาช่วยในการทำงานวิจัย การสนทนาครั้งนี้ได้มีการยอมรับกันว่าในการทำวิจัยของนักเรียนประวัติศาสตร์ของภาควิชา เรามีองค์ความรู้รวมไปถึงการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ค่อนข้างจำกัด

การสนทนาครั้งนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการทำวิจัยของนักศึกษาและอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการทำวิทยานิพนธ์ในช่วงปริญญาโท โดยผู้เขียนได้ศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวกับ “วันสำคัญแห่งชาติ” ซึ่งปัญหาหลักที่พบคือการพยายามที่จะคอนเซ็ปต์ชวลไลซ์ข้อมูลหลักฐานของวันสำคัญแห่งชาติที่เกิดขึ้นในรัฐไทยตั้งแต่ช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงช่วงทศวรรษ 2540 โดยวิธีหนึ่งในนั้นคือการทำผ่านตารางปฏิทินโดยหวังว่าจะให้ผู้อ่านได้เห็นภาพการเกิดขึ้นของวันสำคัญแห่งชาติของไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนอกเหนือไปจากวิธีการพรรณาวิเคราะห์ที่ทำอยู่เป็นปกติ ซึ่งในท้ายที่สุดการพยายามข้างต้นนี้ได้ล้มเหลวลงและผู้เขียนเองก็ยังคงเก็บตารางปฏิทินดังกล่าวเอาไว้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วปัญหาในส่วนนี้กลับสัมพันธ์ไปกับข้อจำกัดในเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการทำงานของผู้เขียนเองด้วย เหตุนี้จึงนำมาสู่โปรเจกต์การเผยแพร่ประสบการณ์ของนักเรียนประวัติศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันเรื่องราวในช่วงของการทำงานวิจัยให้ผู้สนใจหรือผู้ที่กำลังศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ได้รับรู้ในเรื่องราวเหล่านี้ว่าในการทำงานของนักเรียนประวัติศาสตร์ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

สำหรับการดำเนินการของโปรเจกต์นี้ได้มีการปลุกชีพบอร์ดติดประกาศบริเวณหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ทำให้บอร์ดติดประกาศนี้กลับขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

 

 

ในส่วนของสิ่งที่นำมาจัดแสดงบนบอร์ดติดประกาศนี้ หัวใจสำคัญก็คือตารางปฏิทินวันสำคัญแห่งชาติที่ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมวันสำคัญแห่งชาติไว้ในตารางเดียวกันโดยแบ่งออกเป็น 6 ช่วงเวลาคือ 1. สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2. ช่วงปี พ.ศ. 2475-ทศวรรษ2480 3. ทศวรรษ 2490 4. ทศวรรษ 2500-2510 5. ทศวรรษ 2520-2530 6.ทศวรรษ 2540 พร้อมทั้งแบ่งวันสำคัญแห่งชาติต่าง ๆ ออกเป็นด้าน ๆ และจัดเรียงในลักษณะของปฏิทินเพื่อให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของวันสำคัญแห่งชาติของรัฐไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยท้ายที่สุดความพยายามนี้ได้นำไปสู่ปัญหาในหลาย ๆ ประการ กลายเป็นการนำเสนอที่ล้มเหลวและไม่สามารถนำมาใช้ในวิทยานิพนธ์ โดยผู้เขียนได้สรุปถึงปัญหาต่าง ๆ จากตารางดังกล่าวนี้ไว้แล้วบนบอร์ดและบทความประกอบบอร์ดนี้ 

นอกจากตารางปฏิทินข้างต้นแล้วในบอร์ดนี้ผู้เขียนยังได้แนบบทความเป็น QR Code  (หากไม่สะดวกมาชมบอร์ดด้วยตัวเอง สามารถเข้าไปอ่านได้จากเว็บไซต์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ประกอบด้วย

1.บทความ “นักเรียนประวัติศาสตร์ กับการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย” อันเป็นบทความฉบับเต็มที่ใช้ประกอบบอร์ดชิ้นนี้

2.บทความ “วันชาติ วันประชาธิปไตย และการต่อต้านสำนึกการเมืองมวลชน” เป็นบทความเสริมจากการต่อยอดเรื่องราววันสำคัญแห่งชาติจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนในการมองปรากฎการณ์ทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

 

 

 

สำหรับโปรเจค“นักเรียนประวัติศาสตร์ กับการ “คอนเซ็ปต์ชวลไลซ์” (Conceptualize) หลักฐานงานวิจัย” ที่จัดขึ้นบนบอร์ดติดประกาศหน้าภาควิชาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ในการเผยแพร่ประสบการณ์ของนักเรียนประวัติศาสตร์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยหลังจากนี้ยังมีนักเรียนประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ ที่ได้ศึกษาวิจัยในประเด็นอื่น ๆ มาร่วมเผยแพร่ประสบการณ์ในการทำงานของตนเองในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปตามวิทยานิพนธ์ของตน เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ป่าไม้ ประวัติศาสตร์เรื่องผู้หญิงและจิตเวช ประเด็นเกี่ยวกับต่างประเทศในสายตาชนชั้นนำไทย ประวัติศาสตร์สัตว์เลี้ยง ไปจนถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเชียงใหม่ เป็นต้น โดยจะนำเสนอผ่านบอร์ดติดประกาศและเว็บไซต์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป