Skip to main content

พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง Assistant Professor, Institute for Advanced Studies on Asia มหาวิทยาลัยโตเกียว

 


 

กว่าจะมาเป็นเด็กโตได: ว่าด้วยข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวและหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์โลก

 

วันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กนักเรียนมัธยมปลายหมื่นกว่าคนจากทั่วประเทศเดินทางมายังมหาวิทยาลัยโตเกียว (ผู้เขียนขอใช้ชื่อ “โตได” เพื่อความกระชับ) เพื่อสอบเข้า ตั้งแต่ผู้เขียนมาญี่ปุ่นใหม่ ๆ เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ผู้เขียนก็ได้ยินกิตติศัพท์ความเก่งกาจของนักเรียนมหาวิทยาลัยนี้มาตลอด ทั้งผ่านมังงะ เกมโชว์ รายการโทรทัศน์ ความเก่งกาจของเด็กโตไดถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพจำของสังคม ผู้เขียนเริ่มทำงานที่มหาลัยแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2022 และในปีนี้ก็ได้มีโอกาสเป็นส่วนเล็ก ๆ ของทีมที่ดูแลการสอบเข้าวิชาประวัติศาสตร์โลก ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะลองเขียนถึงกระบวนการสอบเข้า ตัวข้อสอบ และโยงไปถึงหนังสือเรียน และประสบการณ์การสอนสำหรับผู้ที่สนใจ

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ค่อนข้างจะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยแห่งอื่นในญี่ปุ่น และต่างจากที่ไทยเป็นอย่างมากจึงจะขอเท้าความก่อน ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยแบบที่เราคุ้นเคยมักจะให้ผู้สอบเลือกคณะและหลักสูตรกันตั้งแต่ตอนสอบเข้า แต่ที่โตได นักศึกษาไม่ได้สอบเข้าคณะ แต่สอบเข้าไปเรียนหนึ่งในหลักสูตรของ College of Arts and Sciences ที่มีทั้งสิ้น 6 หลักสูตรก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น สายศิลป์ 3 หลักสูตร (สายศิลป์ 1 เน้นนิติศาสตร์และการเมือง สายศิลป์ 2 เน้นเศรษฐศาสตร์ สายศิลป์ 3 เน้นภาษา ปรัชญาและประวัติศาสตร์ โดยทุกหลักสูตรต้องเรียนสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์เพื่อให้เข้าใจมนุษย์และสังคมในมุมกว้าง) ละ สายวิทย์ 3 หลักสูตร (วิทย์ 1 เน้นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี สายวิทย์ 2 เน้นชีววิทยา เคมีและฟิสิกส์ และวิทย์ 3 เน้นชีววิทยา เคมีและฟิสิกส์และสรีระมนุษย์เพื่อเข้าคณะแพทยศาสตร์ ) ในปีหนึ่งและปีสอง นักศึกษาจะเรียนแยกตามหลักสูตรเช่นนี้ เพื่อให้นักศึกษารู้รอบให้มากที่สุดที่เป็นไปได้ก่อนจะแยกย้ายกันไปเรียนวิชาเฉพาะทางในชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป

เนื่องจากในระดับปี 1 และปี 2 นักศึกษาจะแยกหลัก ๆ ออกเป็นแค่ 2 กลุ่มคือ สายวิทย์และสายศิลป์ กระบวนการคัดเลือกจึงแยกออกเป็นเพียงสองกลุ่มใหญ่ ๆ นี้เช่นกัน การสอบเข้าโตไดจะต้องยื่นคะแนนสองครั้ง ครั้งแรกจะใช้คะแนนสอบจากข้อสอบกลางที่เด็กนักเรียนทุกคนต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศ(大学入学共通テス) ซึ่งจัดขึ้นแค่ปีละครั้งเท่านั้น คล้าย ๆ กับการสอบ entrance หรือ admission ในสมัยก่อน สำหรับนักเรียนที่จะเข้าโตได วิชาที่นักเรียนสายศิลป์และนักเรียนสายวิทย์ใช้สอบเข้าแทบจะไม่ต่างกัน อาจจะต่างกันไปแค่สัดส่วนและระดับความเข้มข้นของวิชาสายวิทย์ คะแนนของรอบแรกที่ต้องใช้แบ่งออกเป็น 5 สาระวิชา ได้แก่ 

1) “ภาษาญี่ปุ่น” ที่เป็นวิชาบังคับที่ทั้งสองสายต้องสอบเหมือนกัน

2) ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และพลเมือง โดยแยกออกเป็น 4 วิชาย่อย ได้แก่ “ประวัติศาสตร์โลก” “ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น” “ภูมิศาสตร์” และ “จริยศาสตร์กับการเมืองและเศรษฐกิจ” สายศิลป์ต้องเลือกสอบ 2 วิชาและสายวิทย์เลือกสอบ 1 วิชา

3) คณิตศาสตร์ โดยแยกเป็น 4 วิชาย่อย คณิตศาสตร์ 1” ที่บังคับสอบทั้งสองสาย ส่วน “คณิตศาสตร์ 2” “บัญชี” และ “พื้นฐานสารสนเทศ” เป็นวิชาเลือกที่ทั้งสองสายต้องเลือกสอบวิชาใดวิชาหนึ่ง 

4) สาระวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบไปด้วย “พื้นฐานฟิสิกส์” “พื้นฐานเคมี” “พื้นฐานชีววิทยา” “พื้นฐานธรณีวิทยา (地学)” สำหรับสายศิลป์ และ “ฟิสิกส์” “เคมี” “ชีววิทยา” “ธรณีวิทยา” สำหรับสายวิทย์ ซึ่งทั้งสองสายจะต้องเลือกสอบ 2 วิชาจากสาระวิชานี้ และ

 5) ภาษาต่างประเทศ ทั้งผู้เข้าสอบจากสองสายจะต้องเลือกสอบวิชาใดวิชาหนึ่งจาก ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน และภาษาเกาหลี

คะแนนจากการสอบรอบแรกนี้ จะถูกแปลงเป็นเพียง 20% ของคะแนนรวม โดยมหาวิทยาลัยจะนำคะแนนสอบของนักเรียนที่ประสงค์จะสอบเข้าโตไดในแต่ละหลักสูตรจากทั่วประเทศมาเรียงกัน แล้วตัดที่จำนวนประมาณ 3 เท่าของจำนวนนักเรียนที่จะรับเข้าเรียนในปีนั้น พูดง่าย ๆ สมมติว่าปีนั้นเปิดรับนักเรียน 400 คน จำนวนนักเรียนที่จะมีสิทธิ์เข้าสอบในรอบสองคือ 1,200 คน  (ทั้งนี้ อัตราส่วนแตกต่างกันไปตามหลักสูตร ปี 2024 ที่ผ่านมานี้ บางหลักสูตรสายวิทย์ คนที่มีสิทธิ์สอบเป็น 2.5 เท่า-3.5 เท่าของจำนวนที่นั่งที่จะรับ) และนั่นคือจำนวนคนที่มีสิทธิ์สอบในรอบถัดไป 

หลังจากที่มีเด็กนักเรียนถูกคัดออกไปเป็นจำนวนมากด้วยคะแนนสอบจากรอบแรก ข้อสอบของจริงหรือคะแนนที่จะใช้ยื่นเข้าอีก 80% คือหลังจากนี้ 

สำหรับนักเรียนที่จะสอบเข้าสายศิลป์ จะต้องสอบวิชาภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ

ส่วนวิชาที่สายวิทย์ต้องสอบคือ  ภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่าข้อสอบของวิชาประวัติศาสตร์โลกน่าจะเป็นที่สนใจของสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยก็มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์สากลในระดับมัธยมปลายเหมือนกัน จึงได้ลองนำมาแปลเป็นภาษาไทยสำหรับผู้ที่สนใจ

ข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์โลกด้านล่างนี้ เป็นวิชาหนึ่งในข้อสอบของสาระวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่นักเรียนสายศิลป์ทุกคนต้องสอบในปี 2024 ข้อสอบของสาระวิชานี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และประวัติศาสตร์โลก ผู้เข้าสอบจะต้องเลือกตอบสองจากสามวิชาดังกล่าว

 


 

ข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์โลกประกอบไปด้วย 3 คำถามหลัก

 

คำถามที่ 1

 

ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่นายอู่ ถั่น เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2507 จงอ่านข้อความนี้แล้วตอบคำถามสองข้อด้านล่าง

 

“โลกหลังสงครามกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากสองประการในปัจจุบัน อันได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การปลดแอกทางการเมืองของประชาชนในอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนส่วนใหญ่ในเอเชียได้ลุกขึ้นยืนบนเวทีโลกในฐานะประเทศเอกราช ทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงที่โลกพบกับการผงาดขึ้นมาของแอฟริกา เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศแถบละตินอเมริกาก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

...
แนวโน้มทางการเมืองข้างต้นจะปรากฏให้เห็นอีกในทุกมุมโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่องค์การสหประชาชาติ เรียกว่าเป็นภูมิภาคกำลังพัฒนา ในความเป็นจริง พื้นที่เหล่านี้ยังพัฒนาไม่มากนักหรือพัฒนาไม่เร็วพอ พื้นที่เหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากความล้าหลังที่รุนแรงและต่อเนื่องในระดับที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับสังคมอุตสาหกรรม ภูมิภาคเหล่านี้ล้าหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงการเติบโตของประชากรร่วมด้วยแล้วมาตรฐานการครองชีพได้เสื่อมถอยลงอย่างแน่นอน นี่คือจุดที่เราสามารถมองเห็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของยุคสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจน การปลดแอกทางการเมืองไม่ได้มาคู่กับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่คาดหวังเสมอไป”

 

1.1 ดังที่ระบุไว้ในสุนทรพจน์ การปลดปล่อยทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คืบหน้าไปก็จริง แต่กระบวนการประกาศเอกราชมักเผชิญกับขวากหนามมากมาย การประกาศเอกราชบางครั้งไม่เพียงทำให้เกิดสงครามเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศเอกราชอีกด้วย

จงเขียนอธิบายสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเอเชียและแอฟริกาในทศวรรษ 1960 โดยใช้คำ คำดังต่อไปนี้ (อัลจีเรีย คองโก ปากีสถาน เวียดนาม)

จงตอบภายใน 12 บรรทัด

 

1.2 จงเขียนอธิบายภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของปัญหาเศรษฐกิจที่กล่าวถึงในสุนทรพจน์ และความพยายามของสหประชาชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในทศวรรษ 1960 จงตอบภายในห้าบรรทัด

 

คำถามที่ 2

 

การสืบเสาะว่าทำไมและอย่างไรหนังสือบางเล่มจึงถูกเขียน ถูกอ่าน และถูกส่งต่อและทำไมหนังสือบางเล่มถึงถูกฝังหรือถูกลืม อาจเป็นมุมมองหนึ่งที่สำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ จงตอบคำถามด้านล่างนี้

2.1 กล่าวกันว่าพันธะสัญญาใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพัฒนามาเป็นรูปแบบที่เราใช้กันในปัจจุบันในช่วงปลายศตวรรษที่ 1 จนถึงปลายศตวรรษที่ 4

2.1.1 จงเขียนอธิบายการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาคริสต์และอำนาจทางการเมืองในจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ถึงปลายศตวรรษที่ 4 (ความยาวไม่เกิน 4 บรรทัด)

2.1.2 ในปี ค.ศ. 325 มีการจัดการประชุมครั้งสำคัญเกี่ยวกับหลักคำสอนของคริสเตียน จงเขียนชื่อของการประชุมครั้งนั้นและอธิบายด้วยความยาวไม่เกิน 3 บรรทัด

2.1.3 นอกจากคัมภีร์ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเช่นพันธะสัญญาใหม่แล้ว ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ถูกเขียนขึ้นก่อนที่ศาสนาคริสต์จะถูกตั้งเป็นศาสนาแต่มีความสำคัญอย่างลึกซึ่งต่อประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนา  มีนักปราชญ์กรีกโบราณคนหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ทั้งมวล" ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักวิชาการในยุคกลางผ่านการแปลผลงานและข้อคิดเห็นต่องานของนักปราชญ์คนดังกล่าว จงเขียนชื่อนักปราชญ์คนดังกล่าว

2.2 กล่าวกันว่าศัพทานุกรมภาษาตุรกีของคัชการีเป็นพจนานุกรมภาษาตุรกี-อารบิกเล่มแรกในประวัติศาสตร์ เขียนขึ้นในกรุงแบกแดดประมาณปี 1077 หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในอิสตันบูลในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 แต่ต้นฉบับที่ใช้ที่นั่นเชื่อกันว่ามาจากดินแดนที่เคยถูกสุลต่านเซลิมที่ 1 ยึดครอง จงตอบคำถามสามข้อดังต่อไปนี้

2.2.1 ในคำนำของผู้เขียนในศัพทานุกรมภาษาตุรกีผู้เขียนได้บรรยายถึงสถานการณ์ร่วมสมัยที่พวกเติร์กมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในเวลานั้น เอเชียตะวันตกทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์เติร์กกลุ่มหนึ่ง จงเขียนชื่อสุลต่านองค์แรกของราชวงศ์นั้น

2.2.2 จงระบุชื่อรัฐชาติที่ก่อตั้งขึ้นในบริเวณอิสตันบูลเมื่อต้นศตวรรษที่ 13 และอธิบายประวัติศาสตร์การสถาปนาชาติดังกล่าว ภายในสองบรรทัด

2.2.3 จงเขียนอธิบายผลของสงครามกับต่างประเทศของจักรวรรดิออตโตมันภายใต้การปกครองของเซลิมที่ 1 ภายในสองบรรทัด

2.3 ราชวงศ์ชิงซึ่งปกครองจีนในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 พยายามที่จะให้ชาวแมนจูเรียเข้ามาปกครองทางการเมืองโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ยอมรับและประนีประนอมกับระบอบและประเพณีดั้งเดิม

2.3.1 ราชวงศ์ชิงมีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการหนังสือและสิ่งพิมพ์อย่างไร? จงอธิบายโดยระบุชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ด้วยความยาวไม่เกินสามบรรทัด

2.3.2 ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง ได้เกิดสาขาวิชาว่าด้วยการการแก้ไขและตรวจสอบคัมภีร์ขงจื่อและตำราทางประวัติศาสตร์อย่างเคร่งครัด จงเขียนชื่อของสาขาวิชานี้และชื่อของนักปราชญ์ที่สร้างรากฐานของวิชานี้ในต้นราชวงศ์ชิงมา 1 ชื่อ

 

คำถามที่ 3

 

ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การพิชิตทางทหารและการขยายอาณาเขต บางครั้งก็นำไปสู่การปกครองรูปแบบใหม่ บางครั้ง ก็นำไปสู่การก่อร่างสร้างตัวของจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน ปรากฏการณ์เหล่านี้เราสามารถเห็นจากหลายช่วงเวลาและหลายภูมิภาคของโลก โปรดตอบคำถามที่เกี่ยวกับการพิชิตและการต่อต้านดังต่อไปนี้

1. โรมเอาชนะคาร์เธจในสงครามพิวนิกครั้งแรกและยึดซิซิลีได้ หลังจากนั้น โรมยังคงทำสงครามเพื่อพิชิตดินแดนอื่น ๆ ต่อไป โดยเข้าควบคุมพื้นที่หลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดินแดนที่โรมควบคุมที่อยู่นอกคาบสมุทรอิตาลีนั้นเรียกว่าอะไร

2. จักรพรรดิหวู่แห่งราชวงศ์ฮั่นผู้ทำลายราชวงศ์โกโชซอนได้สถาปนาแคว้นสี่แห่งทั่วอาณาจักร ในจำนวนนี้ แคว้นเล่อหลาง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ผิงหางในปัจจุบัน ถูกปกครองโดยข้าราชการที่ส่งมาจากประเทศจีน การปกครองนั้นกินเวลานานกว่า 400 ปี จงเขียนชื่อประเทศที่ทำลายแคว้นเล่อหลางในช่วงต้นศตวรรษที่ 4

3. ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 เจงกีสข่านได้ขึ้นครองบัลลังก์รวมเผ่ามองโกลและเติร์กให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วยึดครองพื้นที่โดยรอบทีละแห่ง จักรวรรดิมองโกลยังคงขยายตัวต่อไปหลังจากนั้น และได้มีการสร้างสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ จงเขียนชื่อระบบสถานีดังกล่าว

4. จงเขียนชื่อบุคคลที่รวมดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย ได้ชื่อว่าเป็นแกรนด์ดุ๊กแห่งมอสโก และยุติการครอบงำรัสเซียโดย Kipchak Khanate ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15

5. ในคาบสมุทรอาหรับ ช่วงศตวรรษที่ 18 ลัทธิใดได้ปฏิรูปทางศาสนาให้มีการตีความคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด และได้ร่วมมือกับราชวงศ์ซาอูดสร้างชาติตามกฎหมายอิสลามขึ้นมา

6. ในอินเดียซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้เกิดขบวนการเพื่อปฏิรูปสังคมในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดียที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก หนึ่งในการปฏิรูปคือการเรียกร้องให้ยุติพิธีกรรมที่ภรรยาจะต้องบูชายัญตนเองด้วยการถูกเผาพร้อมกับร่างของสามีที่ตายไป จงเขียนชื่อของพิธีกรรมดังกล่าว

7. ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสพยายามรุกคืบเข้าไปในเวียดนาม จงเขียนชื่อผู้นำที่จัดตั้งกองทัพธงดำเพื่อการต่อต้านฝรั่งเศส

8. ในปี 1898 ขณะที่มหาอำนาจยุโรปเริ่มการแข่งขันเต็มรูปแบบเพื่อแย่งชิงดินแดนในแอฟริกา วิกฤตความขัดแย้งทางทหารเกิดขึ้นระหว่างประเทศ (ก) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขยายอาณาเขตของตนเข้าสู่แอฟริกาจากแนวซ้ายขวาและประเทศ (ข) ที่ขยายอาณาเขตของตนเข้าสู่แอฟริกาทางแนวบนล่าง จงเขียนชื่อของสองประเทศดังกล่าว 

9. เม็กซิโกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการภายใต้ประธานาธิบดีดิอัซอย่างยาวนาน ในปี 1910 ระบอบดิอัซถูกโค่นล้มโดยมาเดโร ในเวลานั้น มี ผู้นำขบวนการชาวนาที่มุ่งส่งเสริมการปฏิรูปเกษตรกรรมร่วมกับ บิลา ผู้นำจากทางเหนือ จงเขียนชื่อผู้นำขบวนการชาวนาคนดังกล่าว

10. ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อวิพากษ์ตรวจสอบมุมมองของตะวันตกต่อดินแดนที่ไม่ใช่ตะวันตก ท่ามกลางกระแสนี้ ได้เกิดนักเขียนที่เขียนหนังสือชื่อ Orientalism (1978) ขึ้นมา หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นผลงานชิ้นเอกของการศึกษาแนวคิดหลังอาณานิคม (post-colonialism) จงเขียนชื่อบุคคลที่เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว

เพื่ออรรถรสในการอ่าน ผู้เขียนขอเขียนเฉลยของข้อ ไว้ท้ายบทความ[1] ส่วนข้อ 1 และ 2 คงต้องให้ผู้อ่านลองหาคำตอบกันด้วยตัวเอง

 


 

ข้อสอบดังกล่าวทำให้ผู้เขียนที่เติบโตมาในระบบการศึกษาแบบไทยค่อนข้างตกใจ ทั้งในความกว้างและความลึกของเนื้อหา เพราะข้อสอบดังกล่าวครอบคลุมแทบจะทุกทวีปในโลก แม้แต่เอเชียตะวันตกที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นจุดบอดในการรับรู้ของคนทั่วไป มีถามถึงขบวนการชาวนาของเม็กซิโก หรือขบวนการต่อต้านอาณานิคมในเวียดนามซึ่งอาจไม่ได้เป็นโฟกัสหลักของประวัติศาสตร์โลกกระแสหลัก และความลึกของข้อสอบที่เรียกร้องความแม่นยำในการจำชื่อบุคคล ชื่อการประชุม ในขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อมโยงกับบริบทโลกในยุคสมัยนั้นได้ ต้องยอมรับเลยว่า ตัวผู้เขียนเองที่ต้องสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ไม่ได้รู้คำตอบของข้อสอบนี้ทุกข้อ และข้อที่รู้คำตอบ ส่วนใหญ่ก็เพิ่งได้มาเรียนหลังจากเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมคณาจารย์ผู้ออกข้อสอบ ทำให้ทราบว่า เป็นกฎเหล็กที่ทุกมหาวิทยาลัยรับรู้เหมือนกันว่าไม่สามารถออกข้อสอบนอกเหนือจากหนังสือเรียนได้ การออกข้อสอบจะต้องรัดกุมที่สุด แปลว่าทุกอย่างที่อยู่ในข้อสอบอยู่ในหนังสือเรียนระดับมัธยมปลาย

 

 

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผู้เขียนเลยลองหาหนังสือเรียนมาอ่าน หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่นับว่าเป็นมาตรฐานในแง่ความละเอียดและแม่นยำ และถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วประเทศ คือ หนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ยามาคาวะ ซึ่งมีเวอร์ชั่นที่แปลภาษาอังกฤษออกวางขายด้วย เท่าที่ผู้เขียนพลิกดูคร่าว ๆ คำตอบเขียนอยู่ในตัวบทบ้าง เชิงอรรถบ้าง แต่จริงดังที่อาจารย์ท่านนั้นว่าไว้ ว่าทุกอย่างในข้อสอบเขียนอยู่ในหนังสือเรียนอย่างชัดเจน

หนังสือเรียนเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก เนื้อหาในส่วนที่หนึ่งและสอง เน้นเล่าอารยธรรมยุคโบราณไปถึงยุคกลางทั้งกรีก โรมัน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ทวีปอเมริกาทั้งเหนือ กลาง ใต้ อารยธรรมโลกอิสลาม ยุโรป เอเชียตะวันออก เป็นช่วงที่แต่ละภูมิภาคมีการพัฒนากรอบวัฒนธรรม (cultural framework) เป็นของตนเอง ยังไม่ได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมอื่นมากนัก ส่วนที่สามและสี่ เริ่มตั้งแต่ต้นยุคสมัยใหม่มาจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคที่แต่ละภูมิภาคในโลกมีการติดต่อ แลกเปลี่ยนและเดินทาง โดยเนื้อหาส่วนนี้ครอบคลุมตั้งแต่ การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของเอเชียและยุโรป การปฏิวัติอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นของรัฐชาติ การล่าอาณานิคม สงครามโลกสองครั้ง สงครามเย็น และยุคสมัยใหม่ ความขัดแย้งระดับภูมิภาคและความยากจน โดยเนื้อหาครอบคลุมไปถึงทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกาด้วย

 

 

เมื่อเทียบกับหนังสือเรียนประวัติศาสตร์สากลของไทย เท่าที่ผู้เขียนได้สำรวจดูคร่าว ๆ ข้อแตกต่างที่เห็นชัดที่สุด คือ หนังสือเรียนของไทยมีความเป็น Western Centric และ Great Power Centric อย่างค่อนข้างชัดเจน ในหนังสือเรียนของไทยมีพูดถึงอารยธรรมเมโสโปเตเมีย กรีก โรมัน ยุคกลาง การปฏิวัตอุตสาหกรรมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน แต่หน่วยในการวิเคราะห์ อยู่ในระดับ “ตะวันตก” ที่เน้นยุโรปกับอมริกา และ “ตะวันออก” ที่เน้นไปที่จีนและอินเดีย และแทบไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเอเชียอาคเนย์เลย 

ในขณะที่หนังสือเรียนของญี่ปุ่นมีหน่วยการมองอยู่ที่ระดับอนุภูมิภาค ทำให้ภูมิภาคอย่างเอเชียอาคเนย์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกาได้มีพื้นที่อยู่ในหนังสือบ้าง แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับบริเวณที่ถูกทำให้เป็นอารยธรรม “หลัก” ของโลกก็ตาม เพื่อให้เห็นภาพ ในส่วนที่พูดถึงเอเชียอาคเนย์มีการพูดถึงอาณาจักรฟูนัน จัมปา บากัน สุโขทัย อยุธยา ไดเวียต มีภาพกลองดองเซิน บุโรพุทโธ และนครวัด มีการพูดถึงว่าศาสนาอิสลามเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้อย่างไรในบทเดียวกันกับที่พูดถึงการเดินทางของศาสนาอิสลามเข้าสู่อินเดียและแอฟริกา มีพูดถึงการเติบโตทางการค้าของช่องแคบมะละกาและอาณาจักรอยุธยา การล่าอาณานิคมในเอเชียอาคเนย์ เหตุผลที่ประเทศไทยรอดพ้นจากลัทธิอาณานิคมพร้อมกับรูปของรัชกาลที่ 5 การรุกรานของญี่ปุ่นเข้ามาในภูมิภาค การทรมานชนพื้นเมือง ขบวนการชาตินิยมในอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ การก่อตั้งของ SEATO และ ASEAN มีพูดถึงเหตุการณ์ Gestapu 9/30 ในอินโดนีเซีย สถานการณ์ในกัมพูชาตั้งแต่สีหนุถึงการยึดครองโดยเวียดนาม และการปฏิรูปเศรษฐกิจในเวียดนาม แม้ว่าจะไม่ได้ลึกมาก แต่ก็ละเอียดพอที่จะทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์หรืออุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งประเทศหรือหนึ่งภูมิภาคสามารถส่งผลต่อพื้นที่อื่น ๆ ในโลกได้อย่างไร

แต่แม้ว่าเนื้อหาของหนังสือเรียนประวัติศาสตร์โลกของญี่ปุ่นจะน่าประทับใจและข้อสอบสอบเข้าโตไดจะละเอียดและลึกจนชวนใจหาย แต่นักศึกษาที่ผู้สอนเคยสอนก็มีมุมมองต่อวิชาประวัติศาสตร์ที่อาจจะไม่ได้ต่างจากนักเรียนไทยนัก นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์น่าเบื่อ” “ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องท่องจำ“ไม่รู้เรียนไปทำไม” และแม้ว่าภูมิภาคที่ถูกมองข้ามอย่างเอเชียอาคเนย์จะถูกพูดถึงในหนังสือเรียนอยู่บ้าง แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าปริมาณเนื้อหาที่พูดถึงยังน้อยมากเทียบกับประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา นักศึกษาที่ผู้เขียนเคยสอน ก็ยังมีความรู้ที่จำกัดมากเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นักศึกษาส่วนมากไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเมียนมาร์อยู่ตรงส่วนใดบนแผนที่ เท่าที่ได้คุยกับนักศึกษา วิชาประวัติศาสตร์โลกของพวกเขามีความหมายเพียงแค่คะแนนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หนังสือเรียนมีไว้เพื่อจำไปสอบ ไม่ได้เรียนไปเพื่อเข้าใจโลกและเชื่อมโยงกับบริบทในปัจจุบัน

แต่แม้นักเรียนจะมองวิชาประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมปลายว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ สิ่งที่มักทำให้ผู้เขียนประทับใจหลังจากที่สอนวิชา “เอเชียอาคเนย์ในบริบทโลก” ในมหาวิทยาลัยวาเซดะและที่โตได ก็คือ แม้ว่านักศึกษาจะมีความรู้เกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์ที่จำกัดอยู่แค่สิ่งที่เคยท่องมา แต่เมื่อผู้สอนให้เนื้อหาใหม่ ๆ หรือสอนวิธีการมองประวัติศาสตร์ไป นักศึกษาสามารถคิดเปรียบเทียบ เชื่อมโยง หรือ connect the dots ระหว่างเอเชียอาคเนย์กับบริบทโลก หรือเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้กับแอฟริกา ละตินอเมริกาให้เกิดมุมมองเชิงวิพากษ์ได้อย่างค่อนข้างน่าประทับใจ

ผู้เขียนเคยให้รุ่นน้องคนญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่เป็นคุณครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่ในโรงเรียนมัธยมปลายมาสอนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นให้ผู้เขียนโดยใช้สไลด์ที่ใช้สอนในชั้นเรียน พบว่าเนื้อหาละเอียดมาก มากเสียจนผู้เขียนถามรุ่นน้องไปว่า นักเรียนจะจำรายละเอียดเยอะแยะขนาดนี้ไปทำไม มีประโยชน์อะไรกับชีวิต” 

รุ่นน้องตอบกลับมาว่า ตอนนี้สิ่งที่การสอนในระดับมัธยมปลายทำได้คือ ทำให้นักเรียนมีข้อมูลแน่นไว้ก่อน เพื่อจะได้มี วัตถุดิบเพียงพอเวลาที่ต้องไปเรียนเกี่ยวกับวิธีมองประวัติศาสตร์เพื่อวิพากษ์ข้อมูลเหล่านั้นตอนเข้ามหาลัยแล้ว ใจหนึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย แต่อีกในหนึ่ง ก็มั่นใจว่าคงมีนักเรียนอีกไม่น้อยที่ขยาดคำว่า “ประวัติศาสตร์” จนไม่ได้มาเห็นว่าการเรียนวิชานี้มันมีอะไรมากกว่าการท่องจำ

หรือสุดท้ายแล้ว ในการเรียนประวัติศาสตร์ การท่องจำเนื้อหาที่น่าเบื่อ ก็ยังคงสำคัญไม่น้อยไปกว่าการให้ วิธีมองแล้วความพอดีมันอยู่ตรงไหนกัน

อย่างไรก็ดี หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์แบบนี้จะถูกใช้ปีนี้เป็นปีสุดท้าย ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์จะรวมเอาวิชาประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาอยู่ในวิชาเดียว เพื่อแก้ปัญหาว่านักเรียนที่เลือกสอบเข้าด้วยวิชาประวัติศาสตร์โลกมีรู้ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างจำกัด และนักเรียนที่เลือกสอบวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นไม่ค่อยได้เรียนประวัติศาสตร์โลก ปีหน้าจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามกัน

 


 

[1] 1. โปรวินเกีย (provincia)

2. จักรรรดิโคกูรยอ (Goguryeo) 

3. Yam (Mongolian: Өртөө)

4. Ivan ที่ 3 (Ivan III of Russia)

5. วะฮาบีย์ (Wahhabism)

6. พิธีสตี

7. หลิว หย่งฝู

8. ฝรั่งเศสกับอังกฤษ (ต้องตอบถูกทั้งสองข้อถึงได้คะแนน)

9. เอมิเลียโน ซาปาตา

10. เอ็ดเวิร์ด ซาอิด

ได้เท่าไหร่กันเอ่ย?