ชื่อบทความ: การประกอบสร้างตัวตนความเป็นมารดาของรัฐไทย จากพ.ศ. 2475 ถึงทศวรรษ 2520
ผู้เขียน: ธนพัฒน์ สะท้านวงค์ (สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.2567)
บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาบทบาทของรัฐไทยในการสร้างความเป็นมารดา ตั้งแต่พ.ศ.2475 จนถึงทศวรรษ 2520 โดยศึกษาผ่านหลักฐานประเภทเอกสารราชการ นิตยสาร และหนังสืออนุสรณ์งานศพ การศึกษานี้พบว่าในทัศนะของรัฐไทยตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึงยุคพัฒนา “ผู้หญิง” และ “แม่” เป็นแหล่งที่ตั้งของ “ศีลธรรม” ของชาติที่สําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์พุทธศาสนาและอุดมการณ์ของครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว การตระหนักรู้ของรัฐไทยในการเสริมสร้างสุขภาวะของมารดาสัมพันธ์กับบทบาทของสตรีที่ถูกคาดหวัง ทำให้รัฐไทยเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสตรีไทยในสามระยะ ได้แก่ “แม่ศรีเรือนหรือกุลสตรี” ที่เน้นศีลธรรมแบบพุทธ มาสู่ “มารดาสร้างชาติ” ที่เน้นการเพิ่มจํานวนประชากรของชาติในเชิงปริมาณและคุณภาพ และเป็น “แม่บ้านทันสมัย” ใส่ใจวิทยาศาสตร์ที่เน้นหลักการสุขอนามัยสมัยใหม่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ภาพลักษณ์ของสตรีสัมพันธ์กับบทบาทและตัวตนของสตรีในแต่ละช่วงเวลา โดยตัวตนของสตรีในหลังทศวรรษ 2500 มีองค์ความรู้เรื่องสุขอนามัยเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่มีผลต่อการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ กล่าวคือ ผู้หญิงสามารถแสดงบทบาทตาม “ธรรมชาติ” ออกมาได้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพ นับตั้งแต่การจัดการครัวเรือนไปจนถึงการเลี้ยงดูบุตรตลอดจนการทำหน้าที่ต่อชาติ อันเป็นสดมภ์หลักของความเป็นไทย
คำสำคัญ: มารดา, แม่ศรีเรือนหรือกุลสตรี, มารดาสร้างชาติ, ผัวเดียวเมียเดียว, แม่บ้านสมัยใหม่
วิธีการอ้างอิง: ธนพัฒน์ สะท้านวงค์, "การประกอบสร้างตัวตนความเป็นมารดาของรัฐไทย จากพ.ศ. 2475 ถึงทศวรรษ 2520," วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรี 2, ฉ.1 (มกราคม-กรกฎาคม 2567): 164-197.
เผยแพร่ออนไลน์: 16 กรกฎาคม 2567
Attachment | Size |
---|---|
07_making_thai_mothers.pdf (387.75 KB) | 387.75 KB |