ปริยากร วัฒนศฤงฆาร นักศึกษาเก่าระดับปริญญาตรี รหัส 63 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การนำเอา "ประวัติศาสตร์" มาใช้ในการทำงาน: ว่าด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตหลังเรียนจบ
ก่อนอื่นเลยภาวะหลังเรียนจบ หลาย ๆ คนตั้งจุดมุ่งหมายไว้แตกต่างกันไป บางคนอยากเริ่มทำงานหลังเรียนจบ บางคนอยากทำงานหลังรับปริญญาหรือบางคนอยากพัก1-2 ปี แต่พอความเป็นจริงภาวะทางสังคมได้กดดันให้เราพยายามเฟ้นหางานทำและมีงานทำให้เร็วที่สุด ซึ่งมันรวดเร็วเสียจนตั้งคำถามกับตนเองว่า นี้เราเพิ่งอายุ 22 ปี แต่ทำไมเราต้องแบกรับความกดดันกับสภาพงานที่หนักและถูกกดดันอยู่โดยตลอด work and balance เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาแต่กลับแทบจะไม่ได้สัมผัส จนทำให้เราพยายามถวิลหาช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างอิสระเสรีเสียจนอยากกลับมาเรียนอีกรอบ
หลังเรียนจบ 3 เดือนแรกผู้เขียนออกท่องเที่ยวเหนือจรดใต้บนความกดดัน และใช้การเที่ยวเป็นการหนีความกดดัน จนกระทั่งเริ่มทำประวัติส่วนตัว เพื่อยื่นในการสมัครงาน สิ่งที่ต้องเขียนลงไปในใบสมัครทุกงาน คือ
“ได้ฝึกงานที่ไหนมาบ้างไหม” เป็นสิ่งที่เด็กประวัติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ต้องพยายาหาคำตอบเชิงจิตวิทยามาแทน เพื่อให้นายจ้างมั่นใจว่าเราสามารถทำงานได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกงานแต่เราอยู่กับตัวอักษรกองหนังสือเป็นหลักอาจมีการจัดงานเสวนาวิชาการบ้าง หรือจัดกิจกรรมให้นักศึกษารุ่นน้อง แต่นั้นก็เป็นเพียงกิจกรรม ดังนั้นเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการสร้างความมั่นใจให้นายจ้าง สิ่งต่อมาที่ต้องเจออีกคือ เรียนอะไรมาบ้าง ประวัติศาสตร์เรียนอะไรมา เป็นสิ่งที่ควรเตรียมคำตอบไป
การทำงานของผู้เขียนงานแรกคือ การเป็น ครู/อาจารย์ ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
ความท้าทายได้อุบัติขึ้นตั้งแต่การทำงานวันแรก เราไม่ได้เรียนครูมาโดยตรง ไม่มีประสบการณ์วิชาชีพครู เราจะทำอย่างไร ยังไม่ร่วมถึงเนื้อหาทั้งพุทธศาสนา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ที่ต้องรื้อฟื้นวิชากลับมาเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้วิชาเหล่านี้มีประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงเข้ากับวิชาเหล่านั้น คือการมองอดีตที่เปลี่ยนผ่านมายังปัจจุบัน เป็นสิ่งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าไปสอน
ผู้เขียนตั้งคำถามกับนักเรียนแทบทุกห้องที่สอนว่า “ประวัติศาสตร์คืออะไร” เป็นปฐมบทแห่งการเข้าสู่บทเรียนของรายวิชาที่เรียนกับผู้เขียน แม้ว่านักเรียนจะเปิดเทอมมาประมาณ 1 เดือนแล้วก็ตาม แต่ความต้องการ “อยากรู้”ในสิ่งที่เป็นฐานคิดที่สำคัญ คำตอบส่วนใหญ่คือ “อดีต” เป็นตัวการสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์ นั้นสะท้อนถึงภาพในความทรงจำเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนผ่านมาให้เห็นถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าการเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เน้นไปที่ความจำ จำเพื่อสอบ สอบเสร็จก็จบกัน การเรียนในลักษณะนี้เป็นมานานมากแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เรียนแทบไม่เข้าใจความเป็นไปของสังคมได้เลย สิ่งสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจในประวัติศาสตร์เพื่อให้ก้าวทันต่อสังคม คือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงบนความไม่หยุดนิ่งของนาฬิกาที่เดินไปอย่างไม่สิ้นสุด
การนำเอาวิชาประวัติศาสตร์จากการเรียนมาปรับใช้
เรื่องแรกคือประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่แล้ว ผู้เขียนนำเอาประวัติศาสตร์ล้านนาในทุกมิติมาสอดแทรกในเนื้อหารายวิชาประวัติศาสตร์ในหน่วยที่เป็นเรื่อง “แคว้นโบราณในดินแดนไทย” พบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่นักเรียนภายในห้องยังไม่เคยได้พบได้เห็น การเรียนประวัติศาสตร์ที่เอาทั้งตำนานการสร้างเมือง ผนวกกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการสร้างบ้านแปลงเมืองมาให้นักเรียนได้เรียน สิ่งเหล่านั้นได้ดึงดูดความสนใจของนักเรียนอย่างมาก เป็นการออกนอกกรอบ เพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงพอต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ การเรียนในลักษณะดังกล่าวคือ การหยิบเอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาศึกษา เพื่อไปไกลกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์แบบองค์รวม ที่มัดรวบประวัติศาสตร์ความเป็นชาติ กรณี ล้านนา ถือเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ไม่มากก็น้อยและแน่นอนว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ต่างกับสิ่งที่ได้เรียนมา ถึงแม้กระนั้นเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นาน เพราะเนื้อหาของกระทรวงถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ไปจนกระทั่งนักเรียนสอบเข้าศึกษาต่อ แน่นอนว่าการสอดแทรกเนื้อหาเหล่านั้นเป็นเพียงความรู้ประดับสติปัญญาของนักเรียน แต่ทั้งนี้สิ่งที่นักเรียนได้รับรู้ คือ ความเข้าใจบริบทในอดีตที่เปลี่ยนผ่านอย่างมีพลวัตมายังปัจจุบัน
ว่าด้วยประวัติศาสตร์ความรู้สึก เป็นสิ่งที่พยายามถูกสอดแทรกไปในเนื้อหาที่มากกว่าบริบททางสังคม เศรษฐกิจทางการเมืองไทย ศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับปัจเจกชน การทำความเข้าใจสังคมในรายวิชาพระพุทธศาสนา กำหนดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เขียนบทความ/เรียงความ เกี่ยวกับพุทธศาสนากับสังคมไทย นักเรียนมองอย่างไร สิ่งสำคัญเลยคือเราจำเป็นต้องยกตัวอย่าง กรณีศึกษามาให้นักเรียนได้วิเคราะห์เช่น กรณี คนตื่นธรรมหรือพุทธพาณิชย์ และทำไมคนจึงเลือกไม่นับถือศาสนา เป็นต้น สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิด ให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดในสิ่งที่เรียน หยิบเอาข่าวทางพุทธศาสนาให้นักเรียนวิเคราะห์ แล้วมองความเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบภายใต้บริบทของสังคมปัจจุบัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไร นี้คือผลลัพธ์ที่คาดหวังอยู่พอสมควร
สุดท้ายที่พอนึกออก คือในรายวิชาเกี่ยวกับการประกอบการธุรกิจ การเรียนแต่เนื้อหาและหลักการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าเบื่อเสียทีเดียว ผู้เขียนขอเลียนแบบในกระบวนวิชาประวัติศาสตร์ธุรกิจ คือใช้ บทความที่มีผู้เขียนไว้ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มทำธุรกิจเป็นสื่อการสอนสลับกับวิธิวิทยาในการเป็นผู้ประกอบการ
เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ การเริ่มต้นการประกอบธุรกิจในแบบจริงที่เคยมีผู้ทำมาแล้ว เช่น กรณีชาตรามือ หรือธุรกิจเหมืองแร่และ ธุรกิจ after you ฯลฯ ก็เพื่อศึกษาความเป็นมา กลยุทธ์ทางการค้าและการวิเคราะห์การตลาดที่บุคคลเหล่านั้นได้ผ่านมาและประสบความสำเร็จ ในกลยุทธ์ทางการค้าเราจะเห็นโครงข่ายความสัมพันธ์ในสังคมอย่างมาก ภายในโครงข่ายความสัมพันธ์ทั้ง ระบบอุปถัมภ์ในการทำธุรกิจ การพึ่งพาทางธุรกิจและความอยู่รอดของธุรกิจ ล้วนเกี่ยวข้องต่อความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไทยอย่างมาก ท้ายที่สุดคือเราจำเป็นต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเพื่อเริ่มต้นและทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด บนกระแสธารที่เปลี่ยนแปลง จะเข้าใจตลาดและผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองกับความต้องการไม่สิ้นสุดของมนุษย์ได้
การเรียนประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรที่เน้นการท่องจำมากกว่าการวิเคราะห์ มิใช่ว่าประวัติศาสตร์ไม่ต้องจำเสียทีเดียว แต่การจำในที่นี้คือการรวบรวมองค์ความรู้เหล่านั้นเพื่อวิเคราะห์บนความเปลี่ยนแปลงทำให้เราเข้าใจอดีตที่ส่งผลมายังปัจจุบันมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ได้รับจากการเรียนประวัติศาสตร์มากกว่าความจำคือสามารถวิเคราะห์ทั้งในระดับปัจเจกชนและสังคมได้ เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น