Skip to main content

ธนกร การิสุข นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

"สภาพอีสาน" : งานเขียนที่จะช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์มหาสารคามร่วมสมัย

 

หลังจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปิดภาคเรียน ผู้เขียนได้กลับบ้านที่มหาสารคามพร้อมกับหนังสือ 2  3 เล่มที่ถือติดมือมาจากเชียงใหม่ (อันที่จริงก็เป็นเล่มที่ถือไปจากมหาสารคามเมื่อขึ้นไปเรียนที่เชียงใหม่ครั้งแรก) เล่มหนึ่งคือหนังสือที่เขียนโดยฟรานซิส คริปส์ (Francis Cripps) ซึ่งเขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของเขาเมื่อครั้งได้มาฝึกสอนที่มหาสารคามในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เมื่อตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 1965 ก็ได้ใช้ชื่อหนังสือว่า The Far Province ต่อมาตุลจันทร์ (จันทร์แจ่ม บุนนาค) ได้แปลเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า สภาพอีสาน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1971 โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม (ปัจจุบันมีผู้ทำเป็นหนังสือออนไลน์เผยแพร่แล้ว[1]) ซึ่งฉบับที่อยู่ในมือของผู้เขียนเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 2008 โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง

 

“สภาพอีสาน” เขียนโดย ฟรานซิส คริปส์ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2)

 

แม้ผู้เขียนจะอ่านหนังสือเล่มนี้จบไปครั้งหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2021 แต่เมื่อได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งพร้อมกับทักษะการวิพากษ์ (ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าตนยังมีอยู่เพียงน้อยนิด) ซึ่งได้รับมาจากการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็ทำให้ผู้เขียนพบข้อสนเทศที่น่าสนใจหลายประการจากหนังสือเล่มนี้ และเห็นว่าข้อสนเทศเหล่านั้นอาจช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจประวัติศาสตร์ของภาคอีสานในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นระยะที่ภาคอีสานเริ่มมีการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้ และคงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มหาสารคาม จังหวัดที่การศึกษาประวัติศาสตร์ในบริบทร่วมสมัยยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ผู้เขียนจึงตั้งใจที่จะเขียนความเรียงนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและทัศนะต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจคนอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ความเรียงนี้อาจมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ทั้งในฐานะบทวิจารณ์หนังสือและบทความวิชาการศึกษาประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงผู้เขียนเพียงแต่อยากชวนให้ผู้อ่านมองหนังสือเล่มนี้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งเท่านั้น

 

มอง "การศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคาม" ก่อนเริ่มอ่าน "สภาพอีสาน"

 

การที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่า หนังสือ สภาพอีสาน มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มหาสารคามร่วมสมัย ข้อนี้ผู้เขียนจะขอขยายความเบื้องต้นว่า มหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่มาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนั้นก็เชื้อเชิญให้นักประวัติศาสตร์เข้ามาศึกษาอยู่เสมอ (ในลักษณะประปรายแต่ไม่ขาดหายไป) แม้จำนวนของงานศึกษาว่าด้วยประวัติศาสตร์ของจังหวัดนี้จะมีอยู่น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม งานศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคามในระยะที่ผ่านมากลับมีปัญหาในแง่ที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้ศึกษาในภายหลังสามารถเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ของจังหวัดนี้อย่างรอบด้าน กล่าวคือ งานศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคามที่มีอยู่น้อยชิ้นนั้น ล้วนให้ความสำคัญกับบริบทความเป็น “มหาสารคาม” เพียงแค่ในตัวเมืองหรือเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามปัจจุบัน (หรืออาจจะแคบกว่านั้นมาก)[2] เน้นการศึกษาระยะไม่ถึง 100 ปีแรกหลังการตั้งเมืองในปี 1865 ดังเช่นกรณีประวัติศาสตร์นิพนธ์มหาสารคามชิ้นแรกของบุญช่วย อัตถากร ที่เขียนขึ้นในปี 1935 ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคามคร่าว ๆ ตั้งแต่สมัยจารีตจนถึงปี 1935 และเน้นให้รายละเอียดประวัติศาสตร์มหาสารคาม ตั้งแต่ปี 1865  1935 เป็นสำคัญ และกรณีงานศึกษาของธีรชัย บุญมาธรรม เรื่อง พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408  2455 ที่มีลักษณะงานคล้ายกับงานของบุญช่วย อัตถากร แต่มีการขยายความด้วยหลักฐานที่ถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษามากขึ้น[3]

บริบทประวัติศาสตร์มหาสารคามในงานศึกษาทั่วไปดูเหมือนจะจบลงในระยะไม่ถึง 100 ปี หลังการตั้งเมืองในปี 1865 ดังกล่าว โดยที่ขยายออกมาได้ไกลถึงปี 1955 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญที่คนมหาสารคามกล่าวถึงกันอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ การเสด็จฯ เยือนจังหวัดมหาสารคามครั้งแรกของกษัตริย์ไทย ท้ายที่สุด บริบทหรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในยุคร่วมสมัย ที่ต่างส่งผลสืบเนื่องต่อมหาสารคามมาจนถึงปัจจุบันไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้ว ก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากงานศึกษาประวัติศาสตร์ของมหาสารคาม และกลายเป็นความท้าทายของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคามยุคหลังซึ่งต้องการเข้าใจประวัติศาสตร์ของจังหวัดนี้อย่างรอบด้าน ที่จะต้องเป็นผู้ริเริ่มทำการศึกษาในหัวข้อใหม่ ๆ และค้นหาหลักฐานที่ให้มุมมองทางประวัติศาสตร์อย่างหลากหลาย ก่อนจะสรุปออกมาเป็นคำอธิบายที่ช่วยเติมเต็มพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปของมหาสารคาม ซึ่งในแง่นี้ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบหนึ่งที่คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยอาจจะซ่อนอยู่ในหนังสือเรื่อง สภาพอีสาน เนื่องด้วยเหตุผลที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นคือ สภาพอีสาน เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่บันทึกสภาพความเป็นจริงของมหาสารคามในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เอาไว้

 

อ่าน "สภาพอีสาน" ในฐานะหลักฐานสำหรับศึกษา "ประวัติศาสตร์มหาสารคามร่วมสมัย"

 

“สภาพอีสาน” เป็นหนังสือเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของฟรานซิส คริปส์ อาสาสมัครชาวอังกฤษที่มาฝึกสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูที่ต่อมายกฐานะเป็นวิทยาลัยครูมหาสารคาม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) ในปี 1961  1962 ก่อนที่จะกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษและกลับมามหาสารคามอีกครั้งในปี 1963 น่าสนใจที่ประสบการณ์ที่เขาได้พบและถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องราวส่วนตัวของเขาเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เขาได้พบเห็นตลอดเวลาที่เขาได้อยู่ในภาคอีสานด้วย นอกจากนี้ พื้นที่และบริบทสังคมที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงภายในวิทยาลัยครูมหาสารคามที่คริปส์ฝึกสอนอยู่ หรือเพียงแค่ภายในเขตตำบลตลาดและเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามเท่านั้น เพราะยังปรากฏพื้นที่รอบนอกเขตเมืองมหาสารคาม ในต่างตำบล ต่างอำเภอ และต่างจังหวัดอีกด้วย อย่างไรก็ตามในความเรียงนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดมหาสารคามเท่านั้น

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยบริบทที่งานศึกษาประวัติศาสตร์มหาสารคามชิ้นอื่น ๆ ยังไม่กล่าวถึง เริ่มตั้งแต่การปรากฏตัวของชาวต่างชาติคนหนึ่งในภาคอีสาน ดินแดนที่คนกรุงเทพฯ มองว่าทุรกันดารและเต็มไปด้วยภัยของคอมมิวนิสต์ คริปส์แสดงทัศนะว่า การปกครองและมุมมองที่คนในกรุงเทพฯ มองคนในภาคอีสานไม่ต่างจากสิ่งที่ฝรั่งเศสและอังกฤษมีต่ออาณานิคม สิ่งนี้ให้ภาพหรือบริบทของมหาสารคามได้อย่างหลากหลายทั้งการเป็นดินแดนสนธยา (หรือแทบจะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน) ในสายตาคนเมืองกรุง และเป็นพื้นที่ที่ต้องการการพัฒนาอย่างมากจนต้องพึ่งความช่วยเหลือจากชาวต่างชาติ ซึ่งอันที่จริงหากพิจารณาต่อจากข้อนี้จะพบว่า มหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่มีชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาปฏิบัติงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยมีกับชาติตะวันตกในระหว่างช่วงสงครามเย็น ซึ่งในทศวรรษ 1960 ยังปรากฏชื่อชาวต่างชาติอีก 3  4 คนที่เข้ามาปฏิบัติงานในมหาสารคาม คือ 1)  2) ชาร์ลส์ และ เจน ไคส์ (Charles F. Keyes & Jane Keyes) สามีภรรยาชาวอเมริกันที่เข้ามาทำงานวิจัยด้านมานุษยวิทยา ที่ต่อมางานของเขาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไทยศึกษา 3) แอนดรูว์ เทอร์ตัน (Andrew Turton) เจ้าหน้าที่ของบริติชเคาน์ซิล ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียง[4] และ 4) เคอร์มิต ครูเกอร์ (Kermit Krueger) ครูอาสาจากโครงการ Peace Corps ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาเขียนหนังสือชื่อ The Serpent Prince : Folk Tales from Northeastern Thailand[5]

นอกจากนี้ หนังสือของคริปส์ยังให้รายละเอียดสิ่งต่าง ๆ ในมหาสารคามไว้มากมาย โดยสามารถสังเคราะห์ข้อสนเทศแยกเป็นหมวดหมู่ได้ถึง 5 ข้อที่น่าสนใจและจะขออธิบายต่อไป คือ 1) ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปในจังหวัดมหาสารคาม 2) วิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดมหาสารคาม 3) การศึกษาภายในจังหวัดมหาสารคาม 4) ระบบข้าราชการในจังหวัดมหาสารคาม และ 5) จังหวัดมหาสารคามในบริบทสงครามเย็น ซึ่งทั้งหมดนี้จำกัดอยู่ภายใต้บริบทช่วงต้นทศวรรษ 1960

 

ว่าด้วยข้อสนเทศจาก "สภาพอีสาน"

 

1) ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปในจังหวัดมหาสารคาม

 

ฟรานซิส คริปส์ (ต่อไปจะใช้ “คริปส์”) เป็นคนที่มีความชื่นชอบการเดินทาง ขณะมาอยู่ที่มหาสารคามเขาก็มีเวลาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ มากพอสมควร ทำให้ในงานของเขามีการกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาได้ไปพบ โดยในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงสิ่งที่คริปส์พบเห็นในมหาสารคาม 

ในปี 1961 คริปส์เดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงสถานีรถไฟบ้านไผ่ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังตัวเมืองมหาสารคามด้วยรถยนต์ เขาบรรยายว่าถนนที่เชื่อมระหว่างบ้านไผ่และบรบือเป็นถนนลาดยางที่เพิ่งสร้างเสร็จ ในขณะที่ส่วนต่อขยายไปถึงเมืองมหาสารคามยังเป็นถนนดินหรือลูกรัง ผู้เขียนเข้าใจว่าถนนสายนี้ไม่มีการปรับปรุงใหม่เลยตั้งแต่มีการเกณฑ์คนมาสร้างถนนขนาดมาตรฐานครั้งแรกในปี 1925 (ภายหลังที่เขากลับมาในปี 1962 ถนนเสร็จนี้ก็สร้างเสร็จและเริ่มพังอีกรอบ) และเมื่อเดินทางมาถึงตัวเมือง เขาบรรยายว่าตัวเมืองมหาสารคามตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้และทุ่งนา ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นดินทราย ค่อนข้างแห้งแล้ง ภายหลังมีหลายคนพูดทีเล่นทีจริงกับเขาว่า “ถ้าฝนไม่ตกปีหนึ่ง เมืองนี้จะกลายเป็นทะเลทราย” นอกจากนี้ถนนในตัวเมืองมหาสารคามหลายสายยังเป็นถนนดิน แต่โชคยังดีที่มหาสารคามในขณะนั้นยังไม่มีรถยนต์สัญจรมาก ถนนดินบางสายจึงพอเดินได้

คริปส์ยังบรรยายบรรยากาศของถนนกลางเมือง (ถนนนครสวรรค์) ตั้งแต่บริเวณโรงเรียนอาชีวะ (วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคามในปัจจุบัน) ไปจนถึงบริเวณหอนาฬิกากลางเมือง ภาพเมืองที่คริปส์บรรยายสามารถทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันบริเวณที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เขากล่าวถึง (โรงเรียนสารคามพิทยาคม) เป็นสวนสาธารณะ ในขณะที่เมื่อปี 1961 คริปส์กล่าวบริเวณนี้เป็นเรือนจำที่มีการวางขายสินค้าฝีมือนักโทษอยู่ด้านหน้า (ดูภาพแผนที่ประกอบ) และยังบรรยายถึงกิจการต่าง ๆ ในตัวเมืองอย่างโรงภาพยนตร์นครสวรรค์ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงของคนมหาสารคาม มีร้านค้าของชาวจีนอยู่ทั่วไป เช่น ร้าน “รวมสิน” ที่ขายของใช้ทั่วไป ร้านขายยา “เลี่ยงฮง” และภัตตาคาร “ปักตง”

 

ภาพแผนที่เมืองมหาสารคามปี 1960 จัดทำโดยกรมแผนที่ทหารบก

บริเวณที่ผู้เขียนขีดเส้นสีแดงคือเส้นทางที่ฟรานซิส คริปส์ บรรยายไว้ใน “สภาพอีสาน”

(ภาพจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่ฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

ในขณะที่นอกตัวเมืองมหาสารคาม คริปส์ได้เดินทางออกไปในตำบลอื่น ๆ ในเขตอำเภอเมือง และเดินทางไปยังอำเภอบรบือ วาปีปทุม โกสุมพิสัย และกันทรวิชัย ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่นอกเมืองมหาสารคามเหล่านั้นมีทั้งลักษณะที่คล้ายและแตกต่างกับในตัวเมือง โดยที่ในปี 1961 ถนนสัญจรระหว่างเมืองมหาสารคามกับต่างอำเภอยังคงเป็นถนนดินหรือลูกรัง เมื่อครั้งที่คริปส์เดินทางไปวาปีปทุม เขาบรรยายว่าถนนจากมหาสารคามไปวาปีปทุมสร้างจากก้อนหินขนาดใหญ่และถมทรายไว้ หรือเมื่อเขาจะเดินทางไปโกสุมพิสัย ถนนที่กลายเป็นโคลนในหน้าฝนก็ทำให้เขาต้องเดินทางด้วยเรือแทน และถนนในตัวอำเภอของหลายอำเภอยังคงเป็นถนนดินเช่นเดียวกัน ในขณะที่ส่วนของไฟฟ้าและน้ำประปาซึ่งมีใช้แค่ในตัวเมือง เมื่อคริปส์ออกไปทำงานร่วมกับข้าราชการตามหมู่บ้านนอกเมืองเขาก็พบว่า หมู่บ้านเหล่านั้นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้เลย ตะเกียงกลายเป็นแสงที่สว่างที่สุด และน้ำบ่อก็กลายเป็นแหล่งน้ำที่จำเป็นที่สุดสำหรับการอุปโภคบริโภคเช่นกัน

 

2) วิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดมหาสารคาม

 

ชาวมหาสารคามในทศวรรษ 1960 ที่ปรากฏผ่านสายตาของคริปส์มีลักษณะวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ยังคงยึดถือขนบประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับเรื่องเหนือธรรมชาติ (ผู้เขียนเห็นว่าแม้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตลักษณะดังกล่าวก็ยังพบได้ในชนบททั่วไป) พวกเขาส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำงานฝีมือพวกสิ่งทอและเครื่องจักสาน มีบางส่วนที่ทำราชการและค้าขาย โดยที่งานอย่างหลังสุดถูกจับจองโดยชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวญวณ (เวียดนาม) ที่อพยพมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1940  1950 คริปส์บรรยายว่า ชาวเมืองมหาสารคาม (ที่หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง) ส่วนใหญ่มีชีวิตที่เรียบง่ายเฉกเช่นชาวมหาสารคามในชนบททั่วไป มีเพียงเหล่าพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนเท่านั้นที่ทำตัวเป็น “ชาวเมือง” จริง ๆ (อาจจะหมายถึงลักษณะการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม)

น่าสนใจที่คริปส์กล่าวถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนมหาสารคามไว้ด้วย เขากล่าวถึงภัยแล้งที่ทำให้ผู้คนที่ไม่สามารถทำนาได้ต้องย้ายออกไปหางานทำภายนอก (ในขณะที่บางส่วนเลือกหางานทำในท้องถิ่น เช่น การปลูกแตงโม) รวมไปถึงการอพยพเพราะกลัว “ผีปอบ” ความเชื่อเหนือธรรมชาติซึ่งทำให้หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอบรบือถูกทิ้งร้างไปเพราะผู้คนกลัวผีปอบซึ่งอาละวาดและ(พวกเขาเชื่อว่า)ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบคน

คริปส์ยังอธิบายภาพของวิถีชีวิตบางอย่างที่เปลี่ยนไปของคนในจังหวัดมหาสารคาม ถึงแม้ชาวมหาสารคามโดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือนมาแต่เดิม แต่เมื่อมาถึงทศวรรษ 1960 สิ่งที่พวกเขาเพาะปลูกกลับต้องยึดโยงกับความต้องการของตลาดที่เข้ามาสัมพันธ์กับพวกเขาในยุคเริ่มต้นการพัฒนา ข้าวที่เป็นผลผลิตหลักจากภาคการเกษตรของมหาสารคามเริ่มถูกแทนที่ด้วยพืชไร่อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของชาติ เช่น มันเทศ ปอ ฝ้าย ครั้งหนึ่งเมื่อคริปส์ไปบรบือ ชาวบ้านเล่าให้เขาฟังว่าเดี๋ยวนี้ (ปี 1963) ป่าถูกถางมากขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับปลูกพืชชนิดใหม่ ๆ นอกเหนือจากข้าว

 

3) การศึกษาภายในจังหวัดมหาสารคาม

 

การมาเป็นครูอาสาที่มหาสารคามทำให้คริปส์ได้เห็นสภาพที่แท้จริงของการศึกษาในจังหวัดนี้ (หรืออาจรวมไปถึงของภาคอีสานและประเทศไทย) ซึ่งเขากล่าวว่าไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพนัก เมื่อเขาก้าวเข้าสู่โรงเรียนฝึกหัดครูหรือวิทยาลัยครูมหาสารคาม สถานที่ฝึกสอนของเขา เขาก็พบกับข้อสอบภาษาอังกฤษที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดทางไวยากรณ์ แม้แต่คำศัพท์ง่าย ๆ ที่ถูกเขียนประกอบภาพสำหรับประดับในห้องพักครูของโรงเรียนแห่งนี้ก็ยังถูกใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ และไม่เคร่งครัดเรื่องตัวสะกด ในขณะที่นักเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูที่เรียนภาษาอังกฤษมาแล้วถึง 6 ปีในระดับชั้นมัธยมฯ ก็ยังไม่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่น่าพอใจเท่าใดนัก คริปส์ให้ความเห็นซึ่งบ่งชี้ว่าอาจเป็นผลมาจากการเรียนแบบท่องจำมากเกินไป นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนในระดับที่สูงกว่ามัธยมฯ ก็สูงถึงปีละ 900 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้โดยเฉลี่ยของคนในจังหวัดนี้และภาคอีสานโดยทั่วไป พ่อแม่ของนักเรียนบางคนที่ต้องการให้ลูกได้เรียนก็มีความจำเป็นต้องขายควายเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการนี้

ในขณะที่นอกเมืองมหาสารคาม โรงเรียนตามหมู่บ้านที่คริปส์ได้พบกลับแตกต่างออกไปจากที่เขาพบในตัวเมือง ในขณะที่โรงเรียนในตัวเมืองมีอาคารเรียนที่คงทนถาวรและมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่งดงาม โรงเรียนนอกเมืองกลับมีลักษณะที่ทรุดโทรมอย่างยิ่ง ราวกลับว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้จะไม่ตกมาถึงโรงเรียนตามหมู่บ้านเหล่านี้เลย และท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากข้อสนเทศว่าด้วยการศึกษาคือ ภาพสะท้อนผลของการศึกษาสมัยใหม่ที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น เมื่อครั้งที่คริปส์ไปบรบือก็มีคนพูดกับเขาว่า “เหมือนพวกนักเรียน (จากโรงเรียนฝึกหัดครู) ที่มาฝึกสอนที่นี่แหละครับ รู้มากกันทั้งนั้น แต่เรื่องทำไร่ไถนาไม่กระดิกหูเลย” สิ่งนี้กลายเป็นภาพสะท้อนที่ให้ความหมายว่า คนในท้องถิ่นเห็นว่าการศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนมีความรู้โดยที่ไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับบริบทใกล้ตัวอย่างมีนัยสำคัญ

 

4) ระบบข้าราชการในจังหวัดมหาสารคาม 

 

ตลอดเวลาการทำงานของคริปส์ในมหาสารคาม เขาได้มีพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับข้าราชการหลายหน่วยงาน นอกจากนี้เขายังอยู่ภายใต้การดูแลของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่างสุวัฒน์ ศรีธรรมกิจ ศึกษาธิการจังหวัดในขณะนั้น ทำให้คริปส์เห็นสภาพที่แท้จริงของระบบข้าราชการในจังหวัดนี้ (ที่แยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล) ทั้งระเบียบการรับราชการที่ไม่เคร่งครัดนักทำให้เขาได้พบกันข้าราชการที่อายุมากกว่า 60 ปีหลายคน เช่นที่บรบือ เขาพบขุนสุวรรณธาดาพงศ์ ตาแสงหรือกำนันที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่แม้มีอายุถึง 60 ปี หรือพ่อสี ผู้ใหญ่บ้านของบ้านหนองโดน ที่ยังรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาจนอายุเกิน 60 ปี นอกจากนี้การทำงานของข้าราชการในจังหวัดนี้เมื่อทศวรรษ 1960 ยังเต็มไปด้วยระบบอาวุโส (และยังคงเป็นเช่นนั้นแม้ปัจจุบัน) คำแนะนำที่คริปส์ได้รับจากข้าราชการคนหนึ่งเมื่อจะพบข้าราชการผู้ใหญ่คือ “พยายามก้มศีรษะให้ต่ำไว้” “ไม่ควรให้สูงกว่าศีรษะของคนสำคัญในที่นั้น” 

อีกด้านหนึ่ง การทำงานของข้าราชการในจังหวัดนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะเกิดความผิดพลาดและล่าช้าอยู่เสมอ คริปส์ได้พบทั้งปัญหาการจัดเก็บข้อมูลของรัฐไม่ได้มาตรฐาน ปัญหางบประมาณที่อนุมัติล่าช้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากจำนวนของข้าราชการที่ประจำอยู่ในมหาสารคามไม่มีมากเพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบ และความห่างไกลระหว่างศูนย์บัญชาการที่กรุงเทพฯ และหน่วยปฏิบัติการที่มหาสารคาม แต่ถึงกระนั้นสิ่งหนึ่งที่ข้าราชการเหล่านี้ได้รับจากประชาชนทั่วไปคือ การถูกมองว่าเป็นเจ้านายที่มีอำนาจสั่งการซึ่งพวกเขาก็พร้อมจะรับคำสั่งอยู่เสมอ ดังที่ขุนสุวรรณธาดาพงศ์พูดกับคริปส์ว่า “…แต่ผมว่าชาวบ้านก็ยังอยากให้เราสั่งการอยู่นั่นแหละ ถ้าปล่อยให้เขาปรึกษากันเอง กลัวว่าจะไม่ตัดสินใจทำอะไรลงไปให้มันแน่นอน เพราะเจ้านิสัยชอบให้ผู้ใหญ่คอยบอกคอยสั่งนี่ยังฝังติดตัว ไม่หายง่าย ๆ “

 

5) จังหวัดมหาสารคามในบริบทสงครามเย็น

 

ข้อนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามหาสารคามไม่ได้เป็นพื้นที่ที่โดดเดี่ยวตัวเองออกจากโลก หรือสภาวะที่กำลังเป็นไปในโลกขณะนั้น (ทศวรรษ 1960) อย่างสงครามเย็น ใน “สภาพอีสาน” คริปส์แสดงให้เห็นว่ามหาสารคามก็เป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในระหว่างสงครามเย็น เขาได้กล่าวถึงปฏิบัติการหลายอย่างของรัฐไทยและนานาชาติจากฝ่ายเสรีในมหาสารคามเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ คริปส์ได้พบเห็นการออกหน่วยฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่โดยข้าราชการในจังหวัดที่ออกไปฉายภาพยนตร์ตามหมู่บ้านนอกเมือง  ภาพยนตร์ที่ฉายโดยส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ข่าวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ไทย และสารคดีที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้คริปส์ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือมหาสารคามโดยชาวต่างชาติ เช่น UNICEF มอบรถแลนด์โรเวอร์ 2 คันไว้ให้ข้าราชการในจังหวัดใช้ลงพื้นที่ มีการตั้งค่ายซ้อมรบของทหารนานาชาติที่บริเวณใกล้อำเภอบรบือและรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาเยี่ยมทหารที่ค่าย มีการสร้างโรงเรียนโดยการช่วยเหลือของทหารนานาชาติที่มาซ้อมรบ มีเจ้าหน้าที่ชาวเดนมาร์กมาแนะนำให้เกษตรกรชาวบรบือหันมาเลี้ยงโคนม หรือแม้กระทั่งตัวของคริปส์เองที่มีส่วนในการปราศรัยโฆษณาชวนเชื่อ เชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมมือกับรัฐเพื่อช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น

มากไปกว่านั้นคริปส์ยังกล่าวถึงปฏิกิริยาของคนในมหาสารคามต่อการเข้ามาของชาติตะวันตก ครั้งหนึ่งเขาได้ยินพระสงฆ์เทศนาประณามอิทธิพลของชาวต่างชาติในประเทศไทย และเห็นว่าชาวตะวันตกเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีศีลธรรมสูงส่งเท่ากับคนไทย นอกจากนี้ยังเสนอว่าแม้นักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกอย่างไอน์สไตน์และรัทเธอร์ฟอร์ดจะค้นพบองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่พระพุทธเจ้าก็ค้นพบหรือตรัสรู้ทุกสิ่งมาแล้วกว่า 2,500 ปี พร้อมกับแนะนำให้คนไทยเชื่อในพระพุทธเจ้าไม่ใช่ชาวตะวันตก ซึ่งเทศนาของพระสงฆ์รูปนี้ก็ทำให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดไม่พอใจ เพราะพวกเขาพยายาม “สอน” ให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ มาโดยตลอด

 

บทส่งท้าย : "สภาพมหาสารคาม" ช่วงทศวรรษ 1960 ใน "สภาพอีสาน"

 

เมื่อมอง สภาพอีสาน ของฟรานซิส คริปส์ ในฐานะหนังสือหรือหลักฐานที่ช่วยทำความเข้าใจบริบทความเป็นมหาสารคามช่วงทศวรรษ 1960 ก็จะพบว่า จังหวัดมหาสารคามในระยะนั้นมีสภาพเป็นจังหวัดที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างเมืองสมัยใหม่และชนบทแบบดั้งเดิม (กึ่งเมืองกึ่งชนบท) ผู้คนใช้ชีวิตเรียบง่ายตามอัตภาพที่ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะความแห้งแล้งและความยากจน ความห่างไกลจากอำนาจและความเจริญที่เมืองหลวงยังทำให้จังหวัดนี้ห่างไกลจากการพัฒนาและข้าราชการที่ทำงานอย่างเต็มความสามารถ แม้จะเข้าสู่ยุคพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และการได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติในฝ่ายโลกเสรี ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน ทั้งถนนมาตรฐานเริ่มเชื่อมโยงมหาสารคามเข้ากับภายนอกมากขึ้น และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของชาวมหาสารคามอย่างการทำเกษตรกรรมแบบใหม่ แต่การพัฒนาเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวพ้นความยากจนไปได้

จากประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านไปแล้วในทศวรรษ 1960 และหันกลับมามองที่ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคามในทศวรรษ 2020 และเมื่อ 60 ปีที่แล้วดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันมากนัก จริงอยู่ที่ลักษณะทางกายภาพหลายอย่างจะแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ลักษณะจังหวัดกึ่งเมืองกึ่งชนบทก็ยังคงอยู่เช่นเดิมเสมอมา ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดนี้ยังคงต้องอยู่ร่วมกับความยากจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาข้าราชการที่ฉ้อฉลยังคงปรากฏอยู่เสมอตามภาพข่าว ถนนหนทางที่ลาดด้วยยางมะตอยหรือคอนกรีตอย่างดีถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นถนนดินอย่างที่คริปส์เคยได้พบเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ด้วยผลของการคอรัปชั่น ยังไม่นับรวมระบบการศึกษาที่ยังคงผลึกดันคนยากคนจนออกไปนับไม่ถ้วน ท้ายที่สุดผู้เขียนได้แต่ตั้งความหวังว่าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของมหาสารคามจะถูกเติมเต็มได้ด้วยการทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้ และมหาสารคามจะสามารถมีประวัติศาสตร์ที่เห็นภาพพัฒนาการของจังหวัดได้อย่างมีพลวัตมากขึ้น รวมไปถึงหวังใจว่ามหาสารคามจะมีภาพที่แปรเปลี่ยนไปจากทศวรรษ 1960 มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาที่มากขึ้นและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้มหาสารคามสามารถพัฒนาตนเองได้


 


             

[1] โปรดดู; https://www.finearts.go.th/storage/contents/2022/06/file/heIDeu0nctOGNUjK3JNsKg1orzdh5SQVoOwmsmSG.pdf

[2] ดูคำวิจารณ์ของนักวิชาการใน; ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, นราวิทย์ ดาวเรือง, เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา, วุฒิกร กะตะสีลา, ปริตส์ สาติ, ณัฐพล นาทันตอง และ ซิสิกกา วันจันทร์, “การขยายตัวของชุมชนจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2408 2560,” มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (มีนาคม - เมษายน 2561): 45.

[3] โปรดดู; บุญช่วย อัตถากร, “ประวัติศาสตร์ภาคอีสาน และเมืองมหาสารคาม และผลงานต่าง ๆ” ใน บุญช่วย อัตถากร อนุสรณ์ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญช่วย อัตถากร ทช., ทม. จันทร์ที่ 3 กันยายน 2522 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม, ((ม.ป.ท.), 2522).; ธีรชัย บุญมาธรรม, พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408 –2455, (มหาสารคาม: เทศบาลเมืองมหาสารคาม, 2547).

[4] สิ่งที่เทอร์ตันได้พบที่มหาสารคาม ทำให้เขามีความรู้สึกเหมือนเฟรดเดอริค เองเกิลส์ เมื่อตอนอายุ 24 ปี; จามะรี เชียงทอง และอู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย, “อิทธิพลงานเขียนบางเล่มที่มีต่อแอนดรูว์ เทอร์ตัน ในวัยหนุ่ม,” ใน อ่านประวัติศาสตร์สังคมไทยจากงานมานุษยวิทยา ของ แอนดรูว์ เทอร์ตัน (จามะรี เชียงทอง, บรรณาธิการ), (เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2567), 21.

[5] ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การปรากฏตัวของชาวตะวันตกในมหาสารคามเช่นนี้อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของ “บุญชนะ อัตถากร” ข้าราชการชาวมหาสารคามผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างชาติ ซึ่งปี 1960  1963 บุญชนะได้เป็นรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และเป็นผู้อำนวยการส่วนการร่วมมือทางเศรษฐกิจวิชาการกับต่างประเทศ