วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถกกับดิน และชวนอ่าน "การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
หลังจากภาควิชาประวัติศาสตร์ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ท่านที่สนใจสามารถชมคลิปวิดีโอย้อนหลังได้ทางเพจของภาควิชาประวัติศาสตร์ ข้อเขียนเล็กๆ นี้ เขียนขึ้นเพื่อถกเถียงกับข้อเขียนของ ดิน บัวแดง เป็นสำคัญ โดยจะไม่พาดพิงไปยังคำกล่าวของวิทยากรท่านอื่น ซึ่งก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย) และข้อเขียนนี้ยังจะกล่าวถึงสิ่งที่ได้พูดไปในวันที่ 20 ด้วยพร้อมกัน
(1)
ข้อเสนอของดินที่มองว่าความคิดและงานของนิธิส่วนใหญ่หนีไม่พ้น Cultural turn ที่เริ่มเด่นชัดตั้งแต่ทศวรรษ 2520 และแม้ว่าจะล่วงมาถึงการรัฐประหาร 2549 และหลังจากนั้น เมื่อกระแส Political turn กลับมามีพื้นที่ในสังคมอย่างเข้มข้น งานของนิธิกลับไม่ได้ตั้งคำถามทางการเมืองอย่างแหลมคม ยังคงมุ่งสนใจอธิบายจากสิ่งเล็กๆ มากกว่าวิพากษ์สถาบัน ซึ่งข้อสังเกตตรงนี้ล้วนขัดแย้งกับข้อเขียนมากมาย (อย่างน้อยในมติชนสุดสัปดาห์) ที่นิธิกระหน่ำเขียนเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจการเมืองของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ไปพร้อมกับการอธิบายบริบทของสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทย การเคลื่อนตัวของชนชั้นทางสังคม และความหวาดกลัวของชนชั้นกลางเมือง ความพยายามจะเข้าใจความขัดแย้งในช่วงเวลาดังกล่าว ผ่านข้อเขียนมากมายเหล่านั้น น่าจะมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาวิจัยในชุดโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในเวลาต่อมา เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แม้งานเขียนของนิธิจะอธิบายบนฐานของประวัติศาสตร์สังคม และวัฒนธรรม จะก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานทุกชิ้นล้วนอธิบายวัฒนธรรมการเมืองในบริบทของสังคมไทย ทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์ อำนาจของชนชั้นนำ และการรักษาอำนาจเหล่านั้น หรือการสร้างความชอบธรรมผ่านการยึดโยงกับความเป็นชาติ การสร้างพื้นที่ท่ามกลางประชาชนผ่านบทบาทหลายอย่าง ซึ่งยังอธิบายผ่านวัฒนธรรมการเมืองที่แยบยล ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับความพยายามที่จะจัดนิธิลงไปอยู่ในกลุ่ม/กล่องทางความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะนิธิเป็นนักวิชาการปัญญาชนที่ไม่ยึดตัวติดกับสำนักวิชาใด ทฤษฎีใด แนวความคิดใดอย่างชัดเจน ด้วยเป็นคนอ่านมากและยังติดตามอ่านงานใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นปัญญาชนอาวุโสที่ชอบชวนถกชวนเถียงกับคนรุ่นใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ นิธิมองเห็นว่ายุคสมัยที่กำลังเคลื่อนผ่านตรงหน้า เป็นช่วงเวลาสำคัญ และเป็นคนรุ่นใหม่ๆ นี่เองที่จะเป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลง
(2)
ในช่วงการนำเสนอของคณาจารย์ปัจจุบัน ผู้เขียนได้หยิบยกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนิธิ เรื่องการปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ.2431 ซึ่งนำเสนอต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2509 ปีเดียวกันกับที่นิธิ เริ่มงานที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานชิ้นนี้หากมองอย่างผิวเผินอาจเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เช่นเดียวกับงานของผู้เขียนเองที่น้อยคนจะสนใจ หรืออยากรู้ว่า ฮ่อ คือใคร และหัวข้อยังใช้คำว่าการเสียดินแดน ซึ่งจะพบว่าภายหลังคำว่า “เสียดินแดน” กลายเป็นเครื่องหมายของการเล่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมไปเสียแล้ว อันที่จริง นิธิทำงานชิ้นนี้บนคำถาม 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ต้องการค้นหาว่าฮ่อคือใคร เข้ามาสัมพันธ์กับการปราบฮ่อในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างไร และคำถามที่สองคือ การช่วงชิงอำนาจนำเหนือพื้นที่สิบสองจุไท แขวงหัวพัน เมืองแถง ระหว่างฝรั่งเศสและสยาม
คำถามแรกของนิธิไม่ได้นำเราไปรู้จักกับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ฮ่อ เท่านั้น แต่กลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากในแถบลุ่มน้ำโขงก็เข้ามาอยู่ในงานศึกษาชิ้นนี้ด้วย ทั้งผู้ไท ไทขาว ไทดำ ไทแดง ลาว ข่า ในหลายครั้งที่คนเหล่านี้ “เข้าทู้ฮ่อ” เพราะไม่มีทางเลือกมากนักกับการรักษาชีวิตและเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากฝ่ายใด นิธิยังย้อนให้ผู้อ่านเห็นความเคลื่อนไหวในแถบลุ่มน้ำโขง อย่างน้อยนับแต่ความเคลื่อนไหวของเจ้าอนุวงศ์ ที่ทำให้อำนาจของญวนเข้ามาประชิดติดกับอำนาจของสยามผ่านทางเวียงจันทน์และหลวงพระบางมากขึ้น ครั้งเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 อำนาจของญวน เข้ามาถึงตลอดแนวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเรียบร้อยแล้ว
ในคำถามที่สองของนิธิ ยังพาผู้อ่านไปสู่ความเคลื่อนไหวของการเมืองภายในยุโรป การรักษาดุลอำนาจของฝรั่งเศสกับมหาอำนาจอื่นๆ ที่เริ่มแข่งขันกันเสาะแสวงหาอาณานิคมที่อยู่นอกยุโรป ในงานชิ้นนี้นิธิยังแสดงให้เห็นการชิงไหวชิงพริบทางการทูตระหว่างฝรั่งเศสกับสยามและอังกฤษ นอกจากเรื่องการทูต ยังเกิดสมาคม สำนักวิชา การสร้างความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ ศาสนา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมายที่เรียกร้องให้สยามคิดถึงการจัดการรัฐประเทศราชโดยด่วน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สยามได้ขยายอำนาจขึ้นมายังเชียงใหม่และอีกหลายเมือง และเริ่มให้ความสำคัญกับเมืองที่อยู่ประชิดแม่น้ำโขง เช่น เมืองน่าน
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2509 ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431 (สามารถดาวน์โหลดวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์คลังปัญญาจุฬาฯ)
การปราบฮ่อโดยตัวหลักฐานกลับเผยให้เห็นความอ่อนแอทั้งของกองทัพ ระบบราชการในยุคเริ่มต้น และความไม่ไว้วางใจของเจ้าเมืองท้องถิ่น รวมถึงไม่เชื่อว่ากองทัพของสยามจะเอาชนะพวกฮ่อได้ ซึ่งก็เป็นดังนั้น อันที่จริงในงานชิ้นนี้ไม่ได้กล่าวถึงฮ่อที่หนีภัยการเมืองจากรัฐบาลจีนลงมาทางใต้เข้าสู่อาณาเขตของญวนและลาวตอนบนอย่างเดียว แต่ยังได้พูดถึงกองกำลังของฮ่อที่เคยเป็นกำลังหนุนให้กับชนชั้นนำทางการเมืองของญวน ทั้งถูกเลี้ยงดูโดยราชสำนักเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีฝีมือทางด้านการรบพอสมควร กระทั่งเมื่อฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้ามายังอ่าวตังเกี๋ยนั่นเอง ที่กองกำลังของฮ่อภายใต้ราชสำนักถูกขับออกจากพื้นที่ และถอยร่นเข้าสู่เขตลาวตอนเหลือ แขวงหัวพัน สิบสองจุไท ที่สยามอ้างว่าขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์ที่อยู่ภายใต้อำนาจของสยามอีกชั้นหนึ่ง
ผู้เขียนได้แนะนำนักศึกษาให้อ่านงานชิ้นนี้ ทั้งให้สังเกตวิธีการวิพากษ์หลักฐาน การร้อยเรียงข้อมูล ซึ่งนิธิบอกไว้ในงานว่า การนำเสนอข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งของอังกฤษ ฝรั่งเศส และสยาม(นับรวมลาวหลวงพระบางและเวียงจันทน์) ไม่สอดคล้องกัน และเหตุผลสำคัญที่เลือกศึกษาเรื่องนี้ เพราะคำอธิบายถึงเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบชาตินิยม อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อขัดแย้งในหลักฐานดังที่ได้กล่าวมา การจะสร้างข้อสรุปหรือนำเสนอสิ่งใดจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้กระนั้นนิธิก็ยังพาผู้อ่านเข้าใกล้กับการเมืองในแถบลุ่มน้ำโขง พอๆ กับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเมืองในระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่งานชิ้นนี้มีน้อยคนจะให้ความสนใจ
ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือในช่วงท้ายของชีวิตอาจารย์ อาจารย์นิธิได้หันมาสนใจอาณาบริเวณในแถบโซเมีย และผู้คนในถิ่นฐานเหล่านั้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง “ว่างแผ่นดิน” มีร่องรอยของข้อมูลและความคิด ที่คิดต่อมาจากงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ อย่างน้อยเชื่อว่าอาจารย์นิธิพยายามย้อนเวลากลับไปศึกษาลักษณะของรัฐและอำนาจทางการเมืองในช่วงก่อนสงครามและการปราบฮ่อ ซึ่งยังเชื่อเหลือเกินว่าอาจารย์กำลังค้นคว้าเรื่องราว ผู้คน ในถิ่นฐานย่านนั้น