Skip to main content

ณัฐวุฒิ ตติเวชกุล นักวิจัยยุทธศาสตร์เชิงรุก สำนักงานบริหารงานวิจัย (สบว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 


 

วิจารณ์บทความ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลา" ของวันพัฒน์ ยังมีวิทยา[1]

 

อิทธิพลทางความคิดของค้านท์ที่มีต่อสมศักดิ์ก็เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเองเคยมีความคิดที่จะเขียนขึ้นมาเช่นกัน ทว่าด้วยความไม่เอาไหนประการหนึ่งและข้ออ้างอื่น ๆ ก็ทำให้ยังไม่ได้ลงมือเขียนเสียที จนแล้วเมื่อได้รับรู้ว่า วันพัฒน์ ยังมีวิทยา นักวิชาการปรัชญาการเมือง ได้เขียนประเด็นนี้ขึ้นมา[2] ก็ตามเข้าไปอ่านอย่างสนใจ และพบว่าเป็นบทความที่น่าสนใจและชวนคิดอย่างมาก ตามประสบการณ์การอ่านของผู้เขียน จะพบว่างานเขียนที่พยายามอภิปรายแต่ละประเด็นและอุดช่องว่างต่อข้อโต้แย้งอย่างรอบด้านเช่นนี้มีน้อยมากในสังคมไทย ซึ่งอาจคาดเดาถึงความไม่เป็นที่ปรากฏได้สองประการ หนึ่ง งานเขียนที่นำเสนอและอภิปรายทางความคิดไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทย และ (รวมทั้งอาจเป็นผลมาจาก) สอง ขนบการขบคิดและอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์กันในทางความคิดไม่มีรากฐานในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อสังเกตที่ต้องการเนื้อที่ในการอภิปรายต่อไป แต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่จะนำเสนอ จึงเพียงขอแสดงความนิยมต่อวันพัฒน์ ณ บรรทัดนี้ งานวันพัฒน์นำเสนออย่างเป็นระบบและชวนตั้งข้อสังเกต ซึ่งเราอาจเกาะเกี่ยวงานวันพัฒน์เพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วยบางประการได้ กล่าวคือผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยแน่นอนว่าในด้านหนึ่งสมศักดิ์รับอิทธิพลจากค้านท์ แต่กระทั่งถึง “สาธารณรัฐ” หรือไม่? นี่คือประเด็นที่อาจต้องอภิปรายต่อไป

 

ปกวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 (ฉบับสุดท้าย) ปรากฎบทความของวันพัฒน์ ยังมีวิทยา เรื่อง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลา" ในหน้า 151-198

 

สมศักดิ์นั้นแม้จะแสดงตัวค่อนข้างชัดเจนว่านิยมและอ่านงานของนักคิดนักปรัชญาอย่างค้านท์ ไล่จนถึงเฮเกล ทว่าเขาก็สนใจและอ่านงานปรัชญาอย่างหลากหลาย กล่าวคือนอกไปจากปรากฏงานเขียนเกี่ยวกับประวัติผลงานนิพนธ์ของเฮเกลในการเข้าสู่โลกภาษาอังกฤษแล้ว ยังเคยอ้างถึงแนวคิดของนักปรัชญาอื่นที่เขาชอบด้วย เช่น โคว้ทข้อคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของ ริชาร์ด รอตี้ (Richard Rorty) “Take care of freedom and truth will take care of itself” และ “Freedom is power to do otherwise” หรือในกรณีการถกเถียงทางข้อเขียนกับพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ก็ยังได้อ้างถึงวิธีการเขียนโต้แย้งแบบแดริเดียน (Derridian) (สมศักดิ์บล็อค) ตลอดจนที่เขาอ้างขึ้นมาเองว่าได้อ่านงานของพวกนักปรัชญาวิเคราะห์แองโกล-อเมริกัน (Anglo-American) หลายคน อย่าง เดวิสัน (Donald Davidson), พัตนัม (Putnam) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้การอ่านกว้างขวางของเขาในทางปรัชญา ก็ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าเขาสนใจความคิดของค้านท์ (และอาจรวมถึงเฮเกล) มากเป็นพิเศษ ในแง่ที่นักคิดเหล่านี้พยายามค้นหากรอบความคิดทางปรัชญาเชิงปฏิบัติ[3] (practical philosophy) บางอย่างที่เป็นสากล (universal) และประยุกต์ใช้กับทุกคนเสมอหน้ากัน ซึ่ง (ในแง่ที่อาจไม่ผูกสัมพันธ์กันอย่างจำเป็น)[4] มันสนับสนุนความคิดเรื่องความเสมอภาคและเท่าเทียมในทางศีลธรรม และเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากค้านท์ก็อยู่ในยุคของกระแสที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” (humanism) ในยุโรปและพยายามสร้างกรอบคิดที่แยกออกจากการพึ่งพาความคิดของศาสนา (คริสต์) ในแง่นี้อาจพอกล่าวได้ว่าหากบุคคลสนใจความคิดในเชิงสากล และเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน (บางประการ) ก็ย่อมจะสนใจแนวคิดของค้านท์ได้ไม่ยากนัก อย่างที่วันพัฒน์ (2565) ก็ได้แสดงไว้ในการอภิปรายของเขาในบทความ

ในบทความ ตามความเห็นและตีความของวันพัฒน์ เขาเสนอว่า สมศักดิ์มีแนวคิดแบบสาธารณรัฐแบบค้านเทียน อันเป็น “หนึ่งในปัจจัยสำคัญ” ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด “ข้อสรุป” ของวันพัฒน์ที่มีในแง่ของ “ผลลัพธ์” ต่อสมศักดิ์อย่างน้อยสองประการ คือ (1) เพราะ (ปัจจัยหนึ่งในนั้นคือ) สมศักดิ์เป็นค้านเทียน จึงทำให้สมศักดิ์มีความคิดแตกหักกับ “ความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลาฯ[5]” และ (2) เพราะ (ปัจจัยหนึ่งในนั้นคือ) สมศักดิ์เป็นค้านเทียน จึงมองเห็นประเด็นปัญหาของสถาบันกษัตริย์ได้เร็วกว่าคนอื่น (วันพัฒน์เรียกว่า “ผู้มาก่อนกาล”)[6] โดยการยกข้อเขียนของสมศักดิ์ในวาระและแห่งที่ต่าง ๆ มาสนับสนุนความเป็นค้านเทียนของสมศักดิ์ โดยที่สมศักดิ์แทบไม่ได้กล่าวว่าตนเองสมาทานความคิดแบบค้านท์เองเลย แต่อย่างที่วันพัฒน์ และรวมถึงผู้เขียนเองก็มั่นใจที่จะกล่าวว่าสมศักดิ์ได้รับอิทธิพลจากค้านท์อย่างแน่นอน ก็คือการปรากฏของข้อคิดข้อเขียนในการอภิปรายในแต่ละโอกาสต่าง ๆ และว่ากันตามจริงแล้ว ในจำนวนโอกาสเหล่านั้น สมศักดิ์เองก็ได้กล่าวถึงค้านท์ไว้หลายครั้งคราว จนพอจะรับรู้ร่วมกันในหมู่ผู้ติดตามสมศักดิ์ได้ว่าเขาได้รับอิทธิพลจากค้านท์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (ซึ่งก็อาจจะพอเรียกว่าค้านเทียนได้) แต่สมศักดิ์เป็นสาธารณรัฐนิยมหรือไม่นั้น? สำหรับผู้เขียนคิดว่านี่เป็นปัญหาอยู่ ปัญหานี้ยังอาจแบ่งการอภิปรายได้เป็นสามประเด็นคือ หนึ่ง การนำเสนอถึงสาธาณรัฐของสมศักดิ์นั้นยังมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่หรือไม่?,สอง การนำเสนอ (ดังกล่าว) ของสมศักดิ์เป็นการนำเสนอทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานหรือไม่? และ สาม การนำเสนอ (ดังกล่าว) ของสมศักดิ์เป็นความคิดของสมศักดิ์เองหรือไม่?

 


 

สำหรับประเด็นแรก การนำเสนอถึงสาธาณรัฐของสมศักดิ์นั้นยังมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่หรือไม่? ผู้เขียนขอเริ่มจากการเดาว่า วันพัฒน์ก็น่าจะตระหนักอยู่ถึงช่องโหว่ที่ชี้ชัดไม่ได้แน่นี้ ซึ่งทำได้เพียงตีความตามที่เข้าใจในช่วงเวลานั้นได้เพียงเท่านั้น กล่าวคือบทความชิ้นนี้ของวันพัฒน์มีจุดสะดุดที่วันพัฒน์มีท่าทีที่ตระหนักถึงจุดที่อาจถูกโต้แย้งการตีความที่สำคัญอย่างน้อยสองจุดในประเด็นเรื่องสาธารณรัฐแบบค้านเทียน คือ (1) ข้อเสนอที่ว่าการมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่นั้นไม่ขัดแย้งกับความคิดเรื่องสาธารณรัฐ กล่าวคือ การปกครองรูปแบบหนึ่งที่มีสถาบันกษัตริย์คงอยู่ในแบบเฉพาะหนึ่ง ๆ สามารถเป็นประเภทหนึ่งในรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐได้ (ซึ่งประมุขต้องยึดโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง)  และ (2) สมศักดิ์มีแนวความคิดทางการปกครองหรือรูปแบบรัฐแบบสาธารณรัฐ ที่อาจยอมรับให้มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ได้ ซึ่งมาจากว่า ไม่มีข้อเสนอของสมศักดิ์ให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และปล่อยให้เป็น public debate (ประโยคที่เน้นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยว่าไม่ปรากฏเช่นนั้นจริง ๆ) ในมุมมองของผู้เขียนมองว่าการนำเสนอสาธารณรัฐแบบมีสถาบันกษัตริย์ของวันพัฒน์นั้น เกิดจากการตีความสมศักดิ์ย้อนกลับไปสู่การยกสาธารณรัฐรูปแบบดังกล่าวขึ้นมา หรือในแง่หนึ่งวันพัฒน์นั้นเป็นผู้นิยมสมศักดิ์ (Somsakian) มากในแง่ที่จะเสนอความสอดคล้องคงเส้นคงวาของสมศักดิ์มากกว่าจะชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งระหว่างความนิยมสาธารณรัฐ (ในความคิดของวันพัฒน์) กับการไม่เคยเสนอยกเลิกสถาบันกษัตริย์ หรือกล่าวอย่างถูกต้องกว่านั้นก็คือ เพราะการตีความว่าสมศักดิ์มีความคิดแบบสาธารณรัฐ ทั้งไม่ได้เสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ การมีการปกครองแบบสาธารณรัฐอันมีกษัตริย์เป็นประมุขจึงเป็นไปได้สำหรับวันพัฒน์ ผู้เขียนไม่เห็นแย้งกับวันพัฒน์ในแง่ที่ว่าสาธารณรัฐอาจมีกษัตริย์เป็นประมุขได้[7]  แต่ปัญหาคือการตีความว่าสมศักดิ์มีความคิดแบบสาธารณรัฐ ทั้งยังน่าจะมีแนวโน้มว่ายอมให้มีสถาบันกษัตริย์คงอยู่ 

เหตุใดวันพัฒน์ถึงเชื่อว่าสมศักดิ์มีความคิดแบบสาธารณรัฐ (อันมีกษัตริย์เป็นประมุข)? นอกจากท่าทีที่สมศักดิ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีปัญญาชนคนไหนทำอย่างที่รับรู้กันแล้ว วันพัฒน์ยกข้อเสนอของสมศักดิ์จากงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 3 โดยคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[8]

ความหลากหลายที่แท้จริงต้องเป็น secular, democratic และ  republic สามองค์ประกอบนี้จะแยกจากกันไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว หาดขาดอันหนึ่งอันใด องค์ประกอบที่เหลือก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดความหลากหลายได้ หากลองจับคู่ democratic กับ republic โดยหลักการของ democratic แบบสั้น ๆ คือหลักการที่ทุกคนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกันหมดในทางการเมือง ในทางกฎหมายอย่างไม่มีข้อยกเว้น ส่วนหลักการของ republic ก็คือว่า ทุกคนเข้ามาเป็นผู้บริหารรัฐได้ โดยหลักการทั้งสองนี้จะเห็นว่า หากขาดอันใดอันหนึ่งแล้ว ตัวมันเองก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ กรณี republic อย่างอิหร่าน หรืออย่างเกาหลีเหนือ ไม่ใช่ democracy เมื่อตาดหลักการด้านหนึ่งของ democratic ไป ก็ทำให้ republic ไม่ใช่ republic ในความหมายจริง ๆ เพราะคนที่จะขึ้นเป็นผู้ปกครองเกาหลีเหนือก็ต้องเป็นคนในตระกูลของคิมอิลซึง กล่าวคือ เกาหลีเหนือนี่เกือบจะมีการปกครองแบบ monarchy ไปแล้ว หรืออย่างกรณีอิหร่าน ที่เรียกว่าเป็น theocracy หรือเทวาธิปไตยอะไรก็ว่าไป เพราะฉะนั้น สองสิ่งนี้ต้องคู่กัน republic ที่ไม่เป็น democracy ก็ไม่เป็น republic อย่างกรณีอังกฤษที่ไม่เป็น republic นี้ หากพิจารณาแล้ว อังกฤษก็ไม่ได้เป็น democracy จริง ๆ เพราะ ละเมิดหลักการที่ว่า ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้ ... เพราะฉะนั้นองค์ประกอบทั้งสามนี้ ความจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น secularism, democracy และ republic รัฐที่จะเป็น condition of possibility ของการมีความหลากหลายได้อย่างแท้จริง ต้องเป็นรัฐที่เปิดโอกาสให้มนุษย์เป็นมนุษย์จริง ๆ เปิดโอกาสให้มนุษย์มี freedom และมี self-determination ของตัวเองจริง ๆ ต้องเป็นรัฐที่ประกอบด้วยสามองค์ประกอบนี้ อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้ (อ้างใน วันพัฒน์, 2565, 188-89 เน้นโดยผู้เขียน)

เราอาจอภิปรายได้ว่า republic ที่สมศักดิ์กล่าวถึงนี้มีกี่ประเภท มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแบบใดบ้าง แต่ผู้เขียนมองว่าภายใต้บริบทการนำเสนอดังกล่าว สมศักดิ์ไม่ได้มองอะไรซับซ้อนแบบนั้น กล่าวคือ ถ้าต้องการความหลากหลายที่แท้จริง ก็ต้องเป็น secular (คือเป็นรัฐฆราวาส แยกศาสนาออกจากรัฐ รัฐไม่สนับสนุนหรือโปรโมทศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นต้น), democratic (คือระบอบประชาธิปไตยมีรัฐบาลมาจากการโหวตหรือการยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ ผ่านการเลือกตั้ง? ทุกคนเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย เป็นต้น) และ republic (คือเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีกษัตริย์หรือองค์กรใดที่มีสถานะพิเศษ ทุกคนเสมอภาคกัน เป็นต้น) กล่าวคือ สาธารณรัฐสำหรับสมศักดิ์ภายใต้การตีความของผู้เขียนก็คือ ไม่มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ ง่าย ๆ เท่านั้นเลย ทว่าการนิยาม democratic กับ republic “สั้น ๆ” ของสมศักดิ์นั้นยังสร้างปัญหาต่อการตีความอยู่ ดังที่วันพัฒน์อภิปรายไว้อย่างน่าสนใจว่า

... การที่สมศักดิ์ระบุว่าแม้แต่ “อังกฤษก็ไม่ได้เป็น democracy จริง ๆ เพราะละเมิดหลักการที่ว่า ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้” นั้นมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนและอาจถูกตีความได้หลายรูปแบบและอาจถูกตั้งคำถามได้มากมาย เช่น ทำไมสมศักดิ์จึงคิดว่าอังกฤษละเมิดหลักการ “ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้” คำว่า “ผู้ปกครอง”สำหรับสมศักดิ์หมายถึงผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศเท่านั้นหรือหมายรวมถึงประมุขของรัฐที่อาจไม่ไดมีอำนาจบริหารด้วย สมศักดิ์กำลังเสนอว่า (1) การมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐขาดความชอบธรรมเพราะการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดขาดความชอบธรรมโดยตัวเอง ไม่ว่าจะได้รับการยินยอมของประชาชนหรือไม่ก็ตาม หรือ (2) สมศักดิ์กำลังหมายความว่าการมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมของประชาชน ถ้าเป็นในความหมายแรก นี่จะแปลว่าในเชิงอุดมคติ[9]แล้วสมศักดิ์เห็นว่าการเป็นประชาธิปไตยแท้จริงต้องไม่มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ถ้าเป็นในความหมายที่สอง คำถามคือทำไมสมศักดิ์จึงคิดว่าอังกฤษละเมิดหลักการ “ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ปกครองได้” ทั้ง ๆ ที่สุดท้ายแล้วประชาชนอังกฤษสามารถวิพากษ์และเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ได้ จริงอยู่ว่าในปัจจุบันผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศอังกฤษถูกระบุว่าต้องมาตามลำดับขั้นทางสายเลือด แต่เกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็สามารถถูกยกเลิกได้หากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลงมัน ฉะนั้นสามารถกล่าวได้ว่าประชาชนเป็นผู้ให้ความยินยอมกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งต่างจากกรณีประเทศไทยที่ไม่สามารถกล่าวได้เลยว่าแหล่งที่มาของการเป็นประมุขของรัฐได้รับความยินยอมแท้จริงจากประชาชน แต่คำถามก็คือทำไมสมศักดิ์จึงคิดว่าอังกฤษละเมิดหลักการดังกล่าว ผู้เขียน (วันพัฒน์) มองว่าสมศักดิ์น่าจะกำลังเสนอข้อที่ (2) นั่นคือการมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมของประชาชน แต่การที่สมศักดิ์มองว่าอังกฤษละเมิดหลักการดังกล่าวน่าจะเป็นความเข้าใจผิดของสมศักดิ์เอง พูดอีกอย่างคือ ผู้เขียนคิดว่าสมศักดิ์ไม่ได้เสนอให้รัฐในอุดมคติต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์เสมอไปเพราะตราบใดที่ประชาชนมีเสรีภาพเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นและมีสิทธิในการเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แล้ว ก็ควรถือว่าการเป็นประมุขของสถาบันกษัตริย์ได้รับความยินยอมของประชาชน

ในตอนท้ายสมศักดิ์ย้ำว่าแม้รัฐในอุดมคติควรต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังกล่าว แต่สมศักดิ์ก็ออกตัวด้วยว่าเขา “ไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้” คำถามคือเราควรจะเข้าใจการอภิปรายตรงนี้ของสมศักดิ์อย่างไร สมศักดิ์กำลังเสนอว่าไทยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐอุดมคติ หรือไทยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐที่มีความชอบธรรมตามอุดมคติ ไทยไม่จำเป็นต้องเคารพหลักการ republic ที่ว่า “ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารรัฐได้” หรือเราควรจะเข้าใจว่าด้วยบริบทในขณะนั้นที่สมศักดิ์กำลังอภิปรายประเด็นนี้  (ปี 2552)[10] สมศักดิ์ยังอยู่ในประเทศไทยที่ถูกห้ามพูดเรื่องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ จึงทำให้สมศักดิ์ต้องออกตัวเพื่อเป็นการปกป้องตัวเองจากกฎหมายด้วยการบอกว่า “ไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้” ผู้เขียนคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่สมศักดิ์จะพูดเพื่อป้องกันตนเองจากกฎหมายเพราะในขณะนั้นตัวเขายังคงอยู่ในประเทศไทย การเสนอว่ารัฐไทยต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ (secular, democratic, republic) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง republic อาจสุ่มเสี่ยงอันตรายมากเกินไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนก็คิดว่าการออกตัวเช่นนั้นของสมศักดิ์ไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันตัวเองจากกฎหมายเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะสมศักดิ์ต้องการนำเสนอข้อเสนอของตนเองให้มีความสอดคล้องและลงรอยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นเพราะในตอนต้นของการอภิปราย สมศักดิ์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการนำเสนอในลักษณะเชิงพรรณนา ไม่ใช่ในเชิงปทัสถาน (ถึงแม้ว่าตัวสมศักดิ์เองจะถือว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอเชิงปทัสถานสำหรับตัวเขาเองด้วยก็ตาม) ดังนั้น เขาจึงมาสรุปสุดท้ายว่าข้อเสนอเหล่านั้นเป็นเรื่องจำเป็น “ถ้าหาก” เราต้องการสังคมที่ยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนควรต้องให้คุณค่ากับสังคมที่ยอมรับความหลากหลายดังกล่าว ในแง่นี้ การอภิปรายของสมศักดิ์จึงมีความลงรอยอย่างยิ่ง ทั้งนี้ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแม้กระทั่งภายหลังที่สมศักดิ์ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไทยแล้ว สมศักดิ์ก็ยังไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เลยแม้แต่ครั้งเดียวทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็ไมได้อยู่ภายใต้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ (ม. 112) แล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้เขียนจึงตีความว่าสมศักดิ์ไม่ได้ถือว่าการมีสถาบันกษัตริย์ต้องขัดแย้งกับหลักการ republic เสมอไป เพียงแต่สถาบันกษัตริย์ต้องได้รับความยินยอมของประชาชนอย่างแท้จริง

การที่ผู้เขียนยกข้ออภิปรายของวันพัฒน์มาอย่างยืดยาวนี้ นอกเสียจากความน่าสนใจในการไต่สวน ทั้งยังแสดงถึง “สปิริต”ของวันพัฒน์ที่ยกข้อสงสัยที่ยังแก้ไม่ตกสำหรับเขามาพยายามอภิปรายอย่างที่สุดแล้ว ขณะเดียวกันเองก็ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยของ “ข้อมูล” กับ “ข้อวิเคราะห์/ข้อสรุป” ของวันพัฒน์[11] และตัวเขาเองก็ตระหนักดี ซึ่งข้อขัดแย้งนี้ยิ่งจะสนับสนุนข้อเสนอผู้เขียนว่า จริง ๆ แล้วสาธารณรัฐของสมศักดิ์นั้นต้องไม่มีกษัตริย์ (ง่าย ๆ เช่นนั้น) ทั้งผู้เขียนขอเสนอด้วยว่า การมีสถาบันกษัตริย์นั้นขัดต่อหลักการ “สั้น ๆ” ที่สมศักดิ์เสนอว่า “ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้” ในแง่ที่ว่า ถ้ามีสถาบันกษัตริย์อยู่ ตัวสถาบันกษัตริย์เอง (นอกจากที่ว่ามีสถานะพิเศษแล้ว[12]) นั้นจะไม่มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศได้ กล่าวคือถ้าสมาชิกคนใดในสถาบันกษัตริย์มีความต้องการจะบริหารประเทศ เธอหรือเขาเหล่านั้นก็ต้องสละสถานะพิเศษดังกล่าวเพื่อเข้ามาแข่งขันในการเลือกตั้ง เป็นต้น ดังนั้น การมีสถาบันกษัตริย์ในสาธารณรัฐจึงขัดกับหลักการ “สั้น ๆ” นั้นเอง ทั้งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้เสียเปรียบในสถานะดังกล่าวอีกด้วย แต่นี่ไม่ได้ทำให้ข้อเสนอว่าสาธารณรัฐในทางทฤษฎีอาจมีกษัตริย์เป็นประมุขได้ตกลงไป แต่เราก็อาจมีคำถามต่อได้ว่า แล้วทำไมสมศักดิ์ถึงออกตัวว่า “ไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้” แม้เป็นไปได้ที่ข้อจำกัดเรื่อง ม. 112 จะมีผลต่อการอภิปรายครั้งนี้อยู่บ้างตามข้อสังเกตของวันพัฒน์[13] และดังที่ประชาไท รายงานว่า “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. เกริ่นนำว่า หลังเกิดรัฐประหารทำให้เขาต้องเซ็นเซอร์สิ่งที่จะมาพูดวันนี้อยู่หลายรอบ และในเวทีนี้เขาจะขอทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์โดยที่ไม่ได้ตัดสินในเชิงคุณค่าว่าดีหรือเลว ถูกหรือผิด”[14] แต่ดังประชาไทรายงานว่าสมศักดืได้ออกตัวไว้ข้างต้น ผู้เขียนจึงคาดว่าการนำเสนอของสมศักดิ์ชัดเจนในตัวเองโดยผ่านการเซ็นเซอร์มาแล้ว และหากพิจารณาอย่างถึงที่สุดว่า ถ้าสมศักดิ์เซ็นเซอร์ตัวเองอย่างที่วันพัฒน์ “...คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่สมศักดิ์จะพูดเพื่อป้องกันตนเองจากกฎหมายเพราะในขณะนั้นตัวเขายังคงอยู่ในประเทศไทย” เราก็ยิ่งไม่อาจสรุปได้เลยว่านี่คือความคิดเชิงปทัสถานทางการเมืองของสมศักดิ์ เพราะการเสนอภายใต้ข้อจำกัดเช่นว่าก็ไม่อาจนับได้เลยว่านี่คือความคิดที่วางอยู่บนเสรีภาพที่จะไม่ถูกแทรกแซงและครอบงำของสมศักดิ์ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังค้างคาอยู่สำหรับวันพัฒน์ก็คือ สมศักดิ์ไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ (แม้เมื่อได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไทยไปแล้วและมีเสรีภาพที่จะพูดมากขึ้นแล้วก็ตาม) และผู้เขียนเองก็ยืนยันตามนี้เช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องชี้ให้เห็นก่อนว่า บทอภิปรายดังกล่าวของสมศักดิ์เรื่องความหลากหลาย กับท่าทีของสมศักดิ์ที่ไม่เคยเสนอยกเลิกสถาบันกษัตริย์นั้น แยกขาดออกจากกัน

 


 

นี่นำมาสู่ประเด็นที่สองและสาม ปัญหาการตีความว่าการนำเสนอ (ดังกล่าว) ของสมศักดิ์เป็นการนำเสนอทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานหรือไม่? และ สาม การนำเสนอ (ดังกล่าว) ของสมศักดิ์เป็นความคิดของสมศักดิ์เองหรือไม่? นั้น มีความซ้อนทับสลับซับซ้อนอยู่ เราอาจเริ่มต้นประเมินได้จากข้อความที่ประชาไทรายงานว่า “ในเวทีนี้เขา (สมศักดิ์) จะขอทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์โดยที่ไม่ได้ตัดสินในเชิงคุณค่าว่าดีหรือเลว ถูกหรือผิด” กล่าวคือคำกล่าวเช่นนี้จะไม่ใช่การประเมินหรือนำเสนอในสิ่งที่สมศักดิ์เองเรียกว่า “value judgement” หรือที่วันพัฒน์เรียกว่า ทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถาน (normative political theory) สิ่งนี้ยืนยันต่อข้อโต้แย้งต่อวันพัฒน์ที่จะนำการนำเสนอครั้งนี้มาอภิปราย ว่าเป็นความคิดเชิงปทัสถานของสมศักดิ์นั้นไม่ถูกต้อง และถึงแม้สมมติว่าการรายงานของประชาไทจะผิด (ในแง่การตีความ) เราจะพบข้อความสำคัญของสมศักดิ์ตอนต้นในส่วนที่ถูกตัดยกมานั่นก็คือ “ความหลากหลายที่แท้จริงต้องเป็น...” กล่าวคือสมศักดิ์นำเสนอกรอบคิดดังกล่าวบนฐานของการตอบคำถามว่า “ความหลากหลายที่แท้จริง” จะเป็นไปได้ได้อย่างไร? นั่นคือ เงื่อนไขของความเป็นไปได้ที่ความหลากหลายที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ... (“ต้องเป็น secular, democratic และ  republic สามองค์ประกอบนี้จะแยกจากกันไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว”) นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมศักดิ์คิดว่าควรเป็นหรือเชื่อว่าต้องเป็นเช่นนั้นตามความคิดเชิงปทัสถานของเขาเอง

และถึงที่สุด และว่ากันตามจริงแล้ว ข้อยืนยันที่ว่านี่ไม่ใช่ความคิดเชิงปทัสถานทางการเมืองของสมศักดิ์เองนั้น ชัดเจนอย่างที่สุดจากการนำเสนอของสมศักดิ์เองตั้งแต่ช่วงต้นในการนำเสนอ แต่เมื่อวันพัฒน์ตัดมันขาดออกจากกันในบทความของเขา เพื่อการนำส่วนแรกไปเสนอการวิเคราะห์ชุดหนึ่งของเขาคือเรื่อง การแบ่งแยกทฤษฎีการเมืองเชิงพรรณนา (descriptive political Theory) และ ทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถาน (normative political theory) วันพัฒน์ได้แยกยกย่อหน้าภายใต้การนำเสนอเดียวกันนี้ไปเพื่อชี้ให้เห็นว่าสมศักดิ์เข้าใจตรงกับสิ่งที่เขาพยายามแจกแจง และในย่อหน้านั้นก็มีข้อความที่สมศักดิ์กล่าวเองแต่ต้นสำหรับการนำเสนอครั้งนี้ทั้งหมดของเขา ว่า “ผมจะเสนอจากจุดยืนที่เหมือนนักวิทยาศาตร์ เหมือน Hilferding คือมันดีหรือไม่ดีด้วยตัวมันเอง ใครจะเห็นด้วยก็ได้ หรือไม่เห็นด้วยก็ได้” (สมศักดิ์ 2552, 31) นั่นคือเขาไม่ได้เสนอภายใต้จุดยืนแบบ ทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถาน ตามคำของวันพัฒน์หรือ Value judgement ตามคำของสมศักดิ์ แต่เป็นแบบทฤษฎีการเมืองเชิงพรรณา หรือก็คือ causal analysis (แบบ Marxism ไม่ใช่ Socialism) หลังจากวันพัฒน์แยกยกไปเพื่อวิเคราะห์ข้างต้น เขาก็ไม่ได้ดึงมันกลับมาในส่วนของการวิเคราะห์อีกตำแหน่งหนึ่งในประเด็นเรื่อง “6. สมศักดิ์กับการแตกหักกับความคิดปัญญาชน 6 ตุลา” ในความหมายที่ว่าการนำเสนอข้างต้นเป็น “ความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์” (วันพัฒน์ 2565, 186-189) ราวกับว่าเป็นข้อเขียนสองแห่งนี้เป็นคนละชิ้นกัน กล่าวคือข้อความเต็มของย่อหน้าเริ่มต้นของการนำเสนอคือ

[R]udolf Hilferding นักคิดสาย Marxist ชาวออสเตรีย ได้เขียนหนังสือชื่อ Finance Capital ในปี ค.ศ. 1910 และในคำนำหนังสือเล่มนี้ Hilferding เสนอ idea เรื่องหนึ่ง คนมักจะสับสนระหว่าง Marxism กับ Socialism เขากล่าวว่า Marxism เป็น Science เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ causal analysis คือการวิเคราะห์สาเหตุและผลเท่านั้น ไม่ได้ recommend ในเรื่อง value judgement อย่างเช่น ถ้า Marx พูดว่า กรรมกรถูกดึงมูลค่าส่วนเกินไป แต่ Marx ไม่เคยพูดว่า การดึงมูลค่าส่วนเกินนั้นโดยตัวมันเองแล้วเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี คุณสามารถเห็นด้วยกับ Marx ได้แม้กระทั่งว่าคุณเป็นนายทุน คุณก็สามารถเห็นด้วยกับวิธีวิเคราะห์ของ Marx ว่าระบบได้ดึงมูลค่าส่วนเกินไปจากกรรมกรจริง หรืออาจจะปฏิเสธ (ว่าไม่ได้ดึงมูลค่าส่วนเกินไป-ผู้เขียน) ส่วนเรื่อง value judgement ต่อการวิเคราะห์นั้นเป็นเรื่องของ Socialism หากคุณเป็น Socialist คุณก็คงอยากจะล้มมัน ผมจะเสนอจากจุดยืนที่เหมือนนักวิทยาศาสตร์ (แบบ Marx แบบ causal analysis – ผู้เขียน) เหมือน Hilferding คือ มันดีหรือไม่ดีด้วยตัวมันเอง ใครจะเห็นด้วยก็ได้ หรือไม่เห็นด้วยก็ได้...

...

form of government ที่เสนอนี้ต้องมีองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ซึ่งแยกกันไม่ออก คือ องค์ประกอบแรกคือ ต้องไม่มีศาสนา หรือ secularism องค์ประกอบที่สองจะต้องเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy และองค์ประกอบที่สามที่ต้องเป็นสาธารณะรัฐ หรือ Republic กล่าวอย่างง่ายๆคือ form of state แบบที่เราสร้างเป็น condition of possibility ของความหลากหลายที่แท้จริงต้องเป็น secular, democratic และ republic สามองค์ประกอบนี้จะแยกจากกันไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว หากขาดอันหนึ่งอันใด องค์ประกิบที่เหลือก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดความหลากหลายได้

หากลองจับคู่... (สมศักดิ์ 2552, 31 เน้นโดยผู้เขียน)

ข้อความที่คัดมานี้ปรากฏการแบ่งย่อหน้าเช่นนี้ตามต้นฉบับจากหนังสือ[15] เราจะพบว่าข้อความในต้นฉบับมีการจัดวางที่แตกต่างจากที่วันพัฒน์คัดมา และข้อความเต็มยังตอกย้ำข้อโต้แย้งของผู้เขียนอย่างชัดเจนว่า การนำเสนอดังกล่าวไม่ใช่ “ความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์” หากแต่เป็น condition of possibility ของความหลากหลายที่แท้จริง ซึ่งก็ไม่ใช่ทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานที่ประเมินคุณค่าถูกผิด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจดีว่าวันพัฒน์เองตระหนักดีว่าข้อความทั้งหมดเป็นการนำเสนอที่ต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียวกัน (ดังปรากฏในการอภิปรายของวันพัฒน์ที่ผู้เขียนยกมาอย่างยืดยาว) ทั้งยังตระหนักตีความว่าการนำเสนอดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นทฤษฎีการเมืองเชิงพรรณนา แต่เขาก็มองว่าสามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง ดังที่วันพัฒน์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของสมศักดิ์สามารถมองได้ว่าเป็นทั้งข้อเสนอของทฤษฎีการเมืองเชิงพรรณนาและทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานไปพร้อม ๆ กันได้” (วันพัฒน์ 2565, 157 และ “สมศักดิ์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการนำเสนอในลักษณะพรรณนา ไม่ใช่ในเชิงปทัสถาน (ถึงแม้ว่าตัวสมศักดิ์เองจะถือว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอเชิงปทัสถานสำหรับตัวเขาเองด้วยก็ตาม)”(วันพัฒน์ 2565, 190) ซึ่งถ้าอ่านการนำเสนอทั้งหมดของสมศักดิ์เผิน ๆ ก็เห็นด้วยว่าอาจสามารถมองไปในทางนั้นได้ แม้สมศักดิ์จะอ้างไปก่อนเองแล้วว่า “ผมจะเสนอจากจุดยืนที่เหมือนนักวิทยาศาสตร์ ...คือมันจะดีหรือไม่ดีด้วยตัวเอง ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้” ข้อความที่เน้นนั้นแสดงข้อสังเกตนี้และทำให้เชื่อตามวันพัฒน์ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น หากเป็นเช่นที่วันพัฒน์ตั้งข้อสังเกต นั่นคือเป็นไปได้ไหมว่านี่จะเป็นการเสนอข้อเสนอทางปทัสถานของตัวสมศักดิ์เอง คำตอบคือ ก็อาจเป็นไปได้ และหากเป็นเช่นนั้น เราอาจต้องสรุปต่อการนำเสนอนี้ของสมศักดิ์ว่า ไม่คงเส้นคงวา (inconsistent) กล่าวคือขณะที่สมศักดิ์บอกว่าจะเสนอแบบวิทยาศาสตร์ (causal analysis) ไม่ใช่การประเมินว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่กลับแนบเนียนเผลอไผลนำเสนอ value judgement (หรือทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานตามคำของวันพัฒน์) ของตัวเอง และต้องไม่สรุปอย่างที่วันพัฒน์บอกว่า “การอภิปรายของสมศักดิ์มีความลงรอยอย่างยิ่ง” (วันพัฒน์ 2565190) และหากว่ากันอย่างเคร่งครัด สมศักดิ์เองไม่ได้เคร่งครัดนักในการแยกระหว่าง form of state กับ form of government ผู้เขียนขอแปลเป็น “รูปแบบรัฐ” กับ “รูปแบบการปกครอง” ตามลำดับ แม้ถือว่าสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือ “ซีเรียส” (serious) อะไร แต่อย่างน้อยการที่ไม่แยกและกล่าวว่า “เพราะฉะนั้น สองสิ่งนี้ต้องคู่กัน republic ที่ไม่เป็น democracy ก็ไม่เป็น republic อย่างกรณีอังกฤษที่ไม่เป็น republic นี้ หากพิจารณาแล้ว อังกฤษก็ไม่ได้เป็น democracy จริง ๆ เพราะ ละเมิดหลักการที่ว่า ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้” แสดงให้เห็นว่าสมศักดิ์มองว่าทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันอย่างจำเป็นในบางกรณี และในกรณีนี้ก็คือสาธารณรัฐกับประชาธิปไตย แยกจากกันไม่ได้หากต้องการความหลากหลายอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น

ทว่า ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับวันพัฒน์ที่มองว่าการนำเสนอดังกล่าวของสมศักดิ์เป็นทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถาน ทั้งไม่เห็นด้วยว่าเป็นความคิด (ความเชื่อ) ของสมศักดิ์เอง และข้อสรุปของผู้เขียนจะโยงกลับไปตอบคำถามของตัววันพัฒน์เองด้วยว่าทำไม สมศักดิ์ไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงข้อความที่ว่า “ผมไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้  ผู้เขียน ขอเดาว่าการตีความของวันพัฒน์ที่มองว่าการนำเสนอดังกล่าวของสมศักดิ์นี้เป็น ข้อเสนอเชิงปทัสถาน และเป็นของสมศักดิ์นั้น (นอกจากน้ำเสียงแล้ว) อาจมาจากข้อความของสมศักดิ์ที่เน้นไปข้างต้นคือ “คือมันจะดีหรือไม่ดีด้วยตัวเอง ใครจะเห็นด้วยก็ได้ หรือไม่เห็นด้วยก็ได้” กล่าวคือ ดีหรือไม่ดี เป็นการประเมินแบบปทัสถาน และ เห็นด้วยก็ได้ หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ เป็นการแสดงถึงว่านี่เป็นข้อเสนอของสมศักดิ์ ดังปรากฏร่องรอยของประเด็นนี้ในการอภิปรายในเชิงอรรถของเขาดังนี้

...ข้อเสนอดังกล่าวของสมศักดิ์ สามารถมองได้ว่าเป็นทั้งข้อเสนอของทฤษฎีการเมืองเชิงพรรณนาและทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานไปพร้อม ๆ กันได้ และอันที่จริง สมศักดิ์ก็ยึดถือให้มันเป็นข้อเสนอของทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถานของตนเองด้วย แต่ประเด็นของสมศักดิ์ในที่นี้คือการเสนอว่า แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยว่าข้อเสนอของสมศักดิ์มีความชอบธรรม (ในฐานะของทฤษฎีการเมืองเชิงปทัสถาน) แต่เรายังอาจยอมรับได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวนำเสนอการวิเคราะห์เชิงพรรณนาของเงื่อนไขความเป็นไปได้ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ พูดอีกอย่างก็คือ ถึงแม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับสมศักดิ์ว่าข้อเสนอดังกล่าวมีความชอบธรรมและสมควรถูกทำให้กลายเป็นจริง แต่เราก็อาจเห็นด้วยกับสมศักดิ์ได้ว่า “ถ้าหาก” ใครสักคนต้องการทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมได้จริง ๆ แล้ว คนคนนั้นก็ควรต้องทำให้ข้อเสนอของสมศักดิ์กลายเป็นจริงให้ได้ “แต่” ไม่จำเป็นที่คนคนนั้นต้องเห็นด้วยว่าการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่ดีและควรถูกทำให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด... (เชิงอรรถที่ 8 ใน วันพัฒน์ 2566, 157)

ก่อนจะไปต่อผู้เขียนขอลองอธิบายข้ออภิปรายนี้ของวันพัฒน์อีกแบบโดยหวังว่าจะชัดเจนขึ้น กล่าวคือ “สมศักดิ์สมาทานข้อเสนอว่าควรจะทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายเพราะชอบธรรม (เชิงปทัสถาน) ซึ่งเราอาจไม่เห็นด้วยว่าการยอมรับความหลากหลายนั้นชอบธรรม (เหมือนสมศักดิ์เห็น) แต่ในด้านวิเคราะห์เงื่อนไขไปสู่ว่าความหลากหลายให้เกิดขึ้นได้เช่นที่สมศักดิ์กล่าว (เชิงพรรณนา) นั้นเราอาจเห็นด้วยได้ กล่าวคือ ถ้าเราต้องการให้เกิดความหลากหลายเราอาจจะเห็นด้วยกับสมศักดิ์ (ในเชิงพรรณนา) แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยว่าการยอมรับความหลากหลายนั่นชอบธรรม (เชิงปทัสถาน)”

หรือแปลงเป็นประพจน์ได้สองอย่างคือ 

  1. สมศักดิ์มองว่าการยอมรับความหลากหลายนั้นชอบธรรม (เชิงปทัสถาน)
  2. สมศักดิ์วิเคราะห์ว่าความหลากหลายจะเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขอย่างไร (เชิงพรรณนา)

เราอาจไม่เห็นด้วยกับ (1) แต่เห็นด้วยกับ (2) ได้

 


 

ทว่าการตีความเช่นนี้ผิด ผู้เขียนมองว่าข้อความว่า “คือมันจะดีหรือไม่ดีด้วยตัวเอง” นั้นสร้างปัญหาต่อการตีความว่าสมศักดิ์มีความไม่คงเส้นคงว่าอยู่ไม่น้อยจริง ๆ (บอกจะวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ แต่ดันเนียนเสนอคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ) แต่เพื่อที่จะทำให้ข้อเสนอของสมศักดิ์มีความคงเส้นคงวา หรือว่ากันตามจริงคือเป็นความเข้าใจของผู้เขียนต่อสมศักดิ์นั้น เราอาจต้องเน้นมองไปที่คำขยายของมันก็คือ “ด้วยตัวมันเอง” กล่าวคือ คือมันจะดีหรือไม่ดีด้วยตัวเอง นี้หมายถึงการประเมินคุณค่าความดีความเลวของอะไรบางอย่างวางอยู่บนมาตรฐานของตัวมันเอง เช่น เราอาจเป็นนักกษัตริย์นิยมและบอกว่ากษัตริย์ที่ดีคือกษัตริย์ที่มีผัวเดียวเมียเดียว ดังนั้นภายใต้การประเมิน “กษัตริย์ที่ดี” กษัตริย์ที่มีผัวเดียวเมียเดียวคือดี กษัตริย์ที่มีหลายเมียคือไม่ดี ตามเกณฑ์การประเมินของตัวมันเอง ไม่ใช่ตอบคำถามว่าควรมีหรือไม่มีกษัตริย์ ในทางเดียวกันหากลองยกตัวอย่างของสมศักดิ์เองว่า “Marx พูดว่า กรรมกรถูกดึงมูลค่าส่วนเกินไป...คุณก็สามารถเห็นด้วยกับวิธีวิเคราะห์ของ Marx ว่าระบบได้ดึงมูลค่าส่วนเกินไปจากกรรมกรจริง หรืออาจจะปฏิเสธ” ก็คือ ระบบดึงมูลค่าส่วนเกินจากกรรมกร วิธีการดึงมูลค่าส่วนเกินที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ดี คือมีประสิทธิภาพ หรือการดึงมูลค่าส่วนเกินแบบที่อธิบายนั้นถูกต้องหรือไม่? หรือหากต้องการความหลากหลาย เงื่อนไขที่นำไปสู่ความหลากที่กล่าวมานั้นดีหรือไม่ดี ถูกต้องหรือไม่? เป็นต้น ส่วน ใครจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ก็คือใครจะเห็นด้วยว่ามีการดึงมูลค่าส่วนเกินจากกรรมกรจริงหรือไม่ เราอาจไม่เห็นด้วยว่ามีการดึงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นจริงก็ได้ หรือเงื่อนไขที่สู่ความหลากหลายที่แท้จริงอย่างที่นำเสนอต้องเป็นดังที่นำเสนอหรือไม่ เราอาจไม่เห็นด้วยว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะนำไปสู่ความหลากหลายที่แท้จริงก็ได้ แต่ต้องเป็นเงื่อนไขอื่น... เป็นต้น นี่จึงไม่ใช่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดของสมศักดิ์ แต่เป็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์ต่อปัญหาดังกล่าว เรื่องนี้มีความซับซ้อน (ซึ่งจะอภิปรายต่อไป) ดังนั้นจะข้อสรุปเบื้องต้นว่า การนำเสนอของสมศักดิ์ยังคงเส้นคงวาอยู่ภายใต้การนำเสนอแบบ causal analysis หรือ ทฤษฎีเชิงพรรณนา และนี่ไม่ใช่ความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์ หากแต่เป็นข้อเสนอต่อสมศักดิ์ในประเด็นดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น หากได้อ่านข้อเขียนชิ้นดังกล่าวแล้ว ด้วยท่าที และน้ำเสียงจากตัวหนังสือ เราก็อาจจะรับรู้ได้ถึงความ “อิน” ในการพูดประเด็นดังกล่าว ข้อความสำคัญที่ว่า “... ข้อเสนอสองข้อนี้สัมพันธ์กันก็จริง แต่ไม่ขึ้นต่อกัน แม้คุณไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแรกเรื่อง individualism/ individuality แต่ผมก็ยังหวังว่า คุณจะเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ 2 ต้องอาศัย form of government บางอย่างในการสร้างเงื่อนไขนี้ (ไปสู่ความหลากหลายที่แท้จริง-ผู้เขียน)” (สมศักดิ์ 2552, 34) ข้อความเหล่านี้ที่พยายามโน้มน้าวให้คนฟังคล้อยตามนั้นดูราวกับเป็น “ความคิดของสมศักดิ์เอง” แต่ก็ไม่ต่างกับการอภิปรายข้างต้นและการเกริ่นตั้งแต่ต้นของสมศักดิ์เองก็จะเข้าใจว่า สิ่งที่สมศักดิ์ “หวังว่า” จะให้คนฟังเห็นด้วยนั้นก็คือตัวข้อเสนอตามหลักการของเขานั่นเอง ไม่ใช่ตามความคิดของเขา กล่าวคือ ผู้เขียนจะแปลงสารให้ชัดเพื่อยืนยันสิ่งที่ผู้เขียนเสนอ ดังนี้ หากคุณต้องการความหลากหลาย ผม (สมศักดิ์) เสนอว่าต้องให้ความสำคัญกับ individualism หรือ individuality แต่แม้คุณไม่เห็นด้วย (เห็นว่าต้องให้ความสำคัญกับอย่างอื่น เช่น collectivity ฯลฯ ความหลากหลายก็อาจเกิดขึ้นได้) แต่อาจจะเห็นด้วยกับ form of government ที่เสนอไป เพื่อจะทำให้ความหลากหลายแท้จริงเกิดขึ้นได้”

หากผู้เขียนลองทำเป็นประพจน์ จะได้ดังนี้

  1. สมศักดิ์วิเคราะห์ว่าความหลากหลายจะเกิดขึ้นได้ต้องเน้นที่ individualism (เชิงพรรณนา/อาจจะเชิงปทัสถาน[16])
  2. สมศักดิ์วิเคราะห์ว่าความหลากหลายจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย form of government/state (เชิงพรรณนา)

เราอาจไม่เห็นด้วยกับ (1) แต่เห็นด้วยกับ (2) ได้ (ทั้งนี้ทั้งนั้น การวิเคราะห์ของสมศักดิ์ดังกล่าวยังอาจประเมินได้ว่าดีหรือไม่ดีพอก็ได้)

จะพบว่าสมศักดิ์ไม่เคยแสดงตัวว่า เขาต้องการ “ความหลากหลายที่แท้จริง” (แม้มีแนวโน้มที่จะต้องการ ปัจเจกภาพ แต่ทั้งปักเจกภาพ และความหลากหลายที่แท้ ทั้งสองอย่างไม่สัมพันธ์กันอย่างจำเป็น ดังที่สมศักดิ์ได้อ้างไว้เอง) ดังนั้น ข้อสรุปของวันพัฒน์ที่ว่า “(และอันที่จริง สมศักดิ์ก็ยึดถือให้มันเป็นข้อเสนอทางทฤษฎีปทัสถานของตัวเองด้วย)” จึงไม่ถูกต้องและเป็นการตีความที่ไม่เคร่งครัดมากพอ

ดังนั้นข้อผิดพลาดของบทความของวันพัฒน์คือการนำ “รัฐในอุดมคติ (รัฐที่มีความชอบธรรม) สำหรับสมศักดิ์[17]” (ตามคำของวันพัฒน์หรือกระทั่งเป็นความคิดความเชื่อของเขาเอง) ไปทาบทับกับ “รัฐที่มีความหลากหลายอย่างแท้จริง” ตามข้อเสนอของสมศักดิ์ (วันพัฒน์ 2565, 189) ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำเช่นดังกล่าวปรากฏอีกครั้งที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับวันพัฒน์มากกว่านั่นคือเมื่อวันพัฒน์ยกคำอภิปรายในงานปาฐกถาของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่อง “นิติรัฐกับความยุติธรรมทางสังคม” ในปี 2552 ของสมศักดิ์ ตอนหนึ่งว่า “ประชาธิปไตยควรเป็นอะไรบางอย่างที่กินไม่ได้ ประชาธิปไตยสำหรับผม ยิ่งมีเฉพาะรูปแบบเท่าไหร่ยิ่งดี แล้วส่วนที่เป็นเนื้อหาให้เป็นเรื่องของการตัดสินของประชาชนในช่วงสมัยนั้น ๆ เอง ...ผมกลับมองตรงข้ามเลยว่าประชาธิปไตยต้องกินไม่ได้ ต้องเป็นในเชิงรูปแบบให้มากที่สุด มีเนื้อหาให้น้อยที่สุด ...” (สมศักดิ์ 2552, 89 อ้างใน วันพัฒน์ 2565, 191 – การเน้นเป็นของผู้เขียน) แล้ววันพัฒน์สรุปว่า “ข้อความข้างต้นของสมศักดิ์แสดงให้เห็นวิธีคิดทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดสาธารณรัฐแบบค้านเทียน[18]อย่างชัดเจน” (อ้างแล้ว) นั่นมีความถูกต้องในแง่หนึ่งและแสดงถึงความเป็นค้านท์เทียนของสมศักดิ์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าหากจะเชื่อว่าสมศักดิ์มีความคิดในรูปแบบการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง อาจจะกล่าวให้ถูกต้องกว่าได้ว่า สมศักดิ์มีความคิดแบบประชาธิปไตย หรือหากจะเป็นสาธารณรัฐก็จะเป็นแบบไม่มีสถาบันกษัตริย์มากกว่า (ดังที่ได้อภิปรายไป) 

 

งานเขียนที่ค้านท์กล่าวถึงสาธารณรัฐพบได้ในงานเรื่อง Zum ewigen Frieden. Ein philosophischer Entwurf  หรือ Perpetual Peace: A Philosophical Sketch

 

จริง ๆ หากย้อนไปไกลกว่านั้น ข้อเสนอในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยของสมศักดิ์ปรากฏในคำอภิปรายต่อปมประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2536 ในข้อเขียนที่มีชื่อว่า “สังคมไทยไม่อาจเป็นประชาธิปไตย”ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2536[19] ซึ่งเขาตั้งหลักเกณฑ์การประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ประเมินจาก:

๑) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐ ควบคุมส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ โดยทั่วไปเราจะพูดถึงลักษณะส่วนนี้อย่างเป็นรูปธรรมว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควบคุมกองทัพ (และข้าราชการประจำอื่นๆ) แต่ความจริง “ส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐ” มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่ากองทัพ หรือข้าราชการทั่วไป และแตกต่างกันในแต่ละสังคม

๒) ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพล กระทั่งการควบคุมของประชาชนอีกต่อหนึ่ง

๓) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน อยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้น

(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ๒๕๓๗: ๘๗-๘๘ เน้นข้อความตามต้นฉบับ) (อ้างใน ศุภมิตร 2555, 212)[20]

อาจเกิดคำถามต่อมาว่า ประชาธิปไตยนั้นแทบไม่มีความต่างอะไรเลยกับสาธารณรัฐ ดังการกล่าวอย่างไม่เคร่งครัดของสมศักดิ์ที่แสดงไปข้างต้น[21]  แล้วระหว่างประชาธิปไตยกับสาธาณรัฐมีความแตกต่างกันอย่างไร? คำตอบง่าย ๆ ของผู้เขียนก็คือประชาธิปไตยอาจมีหรือไม่มีกษัตริย์ก็ได้ ขณะที่สาธารณรัฐต้องไม่มีกษัตริย์ แต่การสรุปเช่นนี้อาจสร้างข้อโต้แย้งได้ว่า การที่วันพัฒน์เสนอว่าสมศักดิ์นิยมสาธารณรัฐ นั้นเขากำลังกล่าวถึง “รูปแบบรัฐ” ไม่ใช่ “รูปแบบการปกครอง” นั่นคือ รูปแบบรัฐ อาทิ สาธารณรัฐ ราชอาณาจักร รัฐเดียว สหรัฐ เป็นต้น ขณะที่ รูปแบบการปกครอง ก็เช่น ประชาธิปไตย เผด็จการ ฟาสซิสต์ เป็นต้น และดังที่สมศักดิ์ก็กล่าวไว้เองว่าประชาธิปไตยกับสาธารณรัฐแยกออกจากกันไม่ได้ เสมือนเป็นสิ่งเดียวกัน (แม้อยู่บนเงื่อนไขว่าหากต้องการความหลากหลายก็ตาม หรือเพื่อจะทำให้เกิด individualism) เช่นนั้น ผู้เขียนก็อาจเห็นด้วยกับวันพัฒน์ในแง่นี้ได้ว่า สมศักดิ์นิยม (รูปแบบรัฐ) แบบสาธารณรัฐ แทนที่จะชี้ว่าเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็น รูปแบบการปกครอง แต่ถึงที่สุดก็ยังคงไม่เห็นด้วยอยู่สองประการอยู่นั่นเองก็คือ (1) สาธารณรัฐที่สมศักดิ์กล่าวถึงยังมีกษัตริย์ดำรงอยู่ และ (2) สมศักดิ์เป็นผู้นิยมสาธารณรัฐ (หรือกระทั่งประชาธิปไตย)

แล้วความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์เป็นเช่นใด? ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์หรืออย่างกว้างที่สุดคือการเมืองไทยของสมศักดิ์นั้นวางอยู่บนรากฐานทางความคิดแบบค้านท์ที่สำคัญอย่างที่วันพัฒน์ได้นำเสนอไป แต่นั่นไม่ได้นำไปสู่ว่าสมศักดิ์มีความคิดแบบสาธารณรัฐ รูปแบบการปกครองรัฐแบบใดนั้นไม่เชื่อมโยงอย่างจำเป็นกับกรอบคิดแบบค้านท์ (ซึ่งวันพัฒน์น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี) และด้วยเนื่องจากว่ารากฐานความคิดเรื่อง “เงื่อนไขที่เป็นได้ไป” (condition of possibility) ของค้านท์นั้นเป็นและวางอยู่บนหลักการสากลในเชิงรูปแบบ จึงไม่สัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะในเชิงรูปแบบแบบใดแบบหนึ่ง เช่น การปกครองแบบใดแบบหนึ่ง หรือรูปแบบรัฐแบบใดแบบหนึ่ง ฯลฯ หากแต่สัมพันธ์กับกฎศีลธรรม (moral law) หรือ คติพจน์สากล (universal maxim) ชุดหนึ่ง ๆ ดังนั้นรากฐานในการตอบคำถามว่าการปกครองแบบใดที่ควรเป็นจึงต้องวางอยู่บนรากฐานความคิดชุดอื่น เช่น เสรีภาพ การกำหนดตัวเองได้ ปัจเจกภาพ การมีมนุษย์เป็นเป้าหมาย ฯลฯ ซึ่งไม่ขึ้นต่อกันโดยจำเป็นทั้งกับประชาธิปไตยหรือสาธารณรัฐ (แบบมีหรือไม่มีกษัตริย์) (อย่างที่สมศักดิ์เองก็กล่าวไว้) และจากตัวอย่างที่วันพัฒน์ยกขึ้นมาเอง และข้อสังเกตที่ผู้เขียนเห็นตรงกับวันพัฒน์ต่อการไม่เสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตรย์ รวมทั้งการตีความคำพูดของสมศักดิ์ที่ว่า “ผมไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้

การอภิปรายชี้ชัดว่าความคิดของบุคคลคนหนึ่งเป็นแบบใดเมื่อเขาไม่ได้ชี้แจง มีความยุ่งยากอยู่[22] กล่าวคือเราต้องแยกระหว่าง ความคิดตามหลักการ (principle base) คือ ความคิดที่บุคคลหนึ่งมองในเชิงหลักการและวิเคราะห์สังคมว่าสภาพสังคมที่กำลังมุ่งไปสู่หลักการนั้นขาดหายอะไรไปและควรจะเป็นเช่นใด กับ ความคิดตามอุดมคติ (ideal base)  ความคิดที่บุคคลหนึ่งเชื่อว่าสังคมควรเป็นเช่นใด สองอย่างนี้ต่างกัน โดยอย่างแรกวางอยู่บนฐานของแนวทางหรือข้อเท็จจริงของสังคมบางประการภายใต้กรอบคิดหรือหลักการหนึ่ง ขณะที่อย่างหลังวางอยู่บนความเชื่อและรสนิยมส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสังคมไทยที่มีความพยายามต่อสู้เพื่อไปสู่ประชาธิปไตย (democratization) กล่าวได้ว่า อย่างแรก เพื่อที่สังคมไทยจะไปสู่ประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์ขึ้น? ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการไปสู่ประชาธิปไตยก็ตาม) สังคมควรจะเป็นเช่นใด ขณะที่อย่างหลัง อาจจะมองว่าสังคมไทยควรเป็นกษัตรยาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หรือสาธารณรัฐ เป็นต้น นั่นคือเป็นอย่างอื่นแทนที่ประชาธิปไตยที่เป็นกรอบคิดที่สังคมร่วมมุ่งไปอยู่ในเชิงความเป็นจริงปัจุบัน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่สองอย่างนี้จะมาบรรจบกันในบางครั้ง นั่นคือ สังคมไทยกำลังมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย เราเห็นด้วยกับประชาธิปไตยอันเป็นการปกครองที่ใฝ่ฝัน เราก็เสนอว่าสังคมควรเป็นประชาธิปไตยและควรจะเป็นได้อย่างไร เป็นต้น และ มีความเป็นได้ที่ทั้งสองจะตั้งอยู่บนกันและกันในบางครั้ง นั่นคือ หลักการที่ถูกผลักให้ (ในเชิงอุดมคติ) ไปพ้นสถานะที่หลักการนั้นดำรงอยู่ หรือ อุดมคติบางอย่างที่สร้างมาบนฐานของหลักการ (ทฤษฎี)  ซึ่งสองแนวทางความคิดข้างต้นยังผูกสัมพันธ์ผกผันได้กับข้อเสนอเฉพาะเจาะจงในเชิงปฏิบัติ (practical) แบ่งได้เป็น ข้อเสนอภายใต้หลักการ (principle proposal) กับข้อเสนอภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง (factual proposal)[23]เช่น ขณะที่สมศักดิ์เสนอในเชิงหลักการให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงในช่วงเฉพาะหนึ่ง ๆ สมศักดิ์อาจเสนอให้ (พรรคการเมือง กลุ่มรณรงค์ ฯลฯ ลอง) แก้ไข (เช่น ใช้ข้อเสนอของคณิต ณ นคร[24])

ดังนั้นภายใต้ เกณฑ์ (category) ดังกล่าว จะสรุปได้ว่าข้อเสนอเรื่อง รัฐฆราวาส รัฐประชาธิปไตย และสาธารณรัฐ ในเงื่อนไขที่หากต้องการไปสู่ความหลากหลายที่แท้จริงนั้นอยู่ในหมวดของ ความคิดตามหลักการของสมศักดิ์ แต่ไม่ใช่ความคิดตามอุดมคติของสมศักดิ์ (ความคิดทางการเมืองของสมศักดิ์) แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจมองได้ว่าเป็น ความคิดตามอุดมคติ ของ (ผู้ที่สมาทาน) ความหลากหลายที่แท้จริง ขณะที่แน่นอนว่าสำหรับสมศักดิ์แล้ว ข้อเสนอดังกล่าว ก็คือ ข้อเสนอภายใต้หลักการ ไม่ใช่ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง คำถามคือเราสามารถมอง (อย่างวันพัฒน์) ได้หรือไม่ว่าสมศักดิ์มีความคิดตามอุดมคติของเขาสอดคล้องไปกับความคิดตามหลักการที่เขาเสนอในเรื่องความหลากหลาย? (เช่นอาจก่อให้เกิด individualism ได้) คำตอบของผู้เขียนก็คือ ทั้งได้และไม่ได้ ได้ เพราะหากประมวลข้อเขียนการแสดงความคิดในทางสาธารณะของสมศักดิ์ การกล่าวสนับสนุนประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์และเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในเชิงท่าทีแล้วก็อาจตีความและตอบว่า “ได้” เช่นที่วันพัฒน์เสนอไป แต่ถึงตอบว่า “ได้” ได้ที่ว่าก็อาจสรุปไม่ได้ว่าเป็นสาธารณรัฐที่มีกษัตริย์ แต่ต้องไม่มีกษัตริย์ (แม้สมศักดิ์จะไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์) และถึงแม้เราอาจจะตอบว่า “ได้” สิ่งที่ดูเหมือนพอจะยืนยันได้มากกว่าก็ไม่ใช่สาธารณรัฐแต่คือประชาธิปไตย ตามที่สมศักดิ์ได้กล่าวถึงไว้ในอีกที่หนึ่งคืองานเสวนาของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ว่า “ประชาธิปไตยที่กินไม่ได้” แต่ที่ ไม่ได้ เพราะสมศักดิ์เองไม่เคยบอกว่าตัวเองต้องการเสนอให้เป็นเช่นนั้น (“ผมไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้”) แล้วการที่สมศักดิ์ไม่เคยเสนอเช่นนั้นบอกอะไรเรา?

เรื่องนี้มีความซับซ้อนยุ่งยากนิดหน่อย เพื่อที่จะตอบคำถามว่าแล้วสมศักดิ์มีความคิดแบบใดในเชิงปทัสถาน ผู้เขียนคิดว่าเราอาจจะพอยืนยันได้ว่า ความคิดตามอุดมคติ และ เชิงปทัสถาน ของสมศักดิ์นั้นคือ ความเสมอภาค เสรีภาพ ปัจเจกชนนิยม (individualism) การกำหนดตัวเองได้ (self-determination) ฯลฯ ที่ไม่เพียงปรากฏในการอภิปรายเรื่องความหลากหลายที่แท้จริง แต่ยังเป็นข้อวิเคราะห์ต่อสภาพสังคมไทยในเชิงพรรณนาด้วยว่า ความคิดหรือคอนเซ็ปท์ดังกล่าวเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยในงานเสวนาเรื่อง พัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย บรรยายโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557[25] การอภิปรายของสมศักดิ์ได้กล่าวถึงจอห์น ล็อคที่มีกรอบคิดทางประชาธิปไตยที่ว่าเป็น sovereignty of individual ไม่ใช่ sovereignty of people ทั้งหัวใจของแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่ majority rule แต่คือการเน้นที่ ปัจเจก หรือ individual การโยงย้อนกลับมาที่สังคมไทยของสมศักดิ์ ผู้เขียนต้องขอเน้นไว้ด้วยว่าสังคมไทยที่กำลังไปสู่ประชาธิปไตย เมื่อเน้นเช่นนี้ก็สร้างปัญหาตามมาที่ว่าข้อเสนอในเสวนาต่อเรื่อง individualism ของสมศักดิ์ดังกล่าวที่ว่าควรสร้างให้แนวคิด ปัจเจกชน เกิดขึ้นในสังคมไทย นั้นก็เข้าข่ายในหมวด ความคิดตามหลักการ ประชาธิปไตยด้วย แน่นอนว่าหลักการประชาธิปไตยที่ว่านั้นเป็นเช่นใดก็ย่อมเถียงกันได้ไม่จบสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงอาจพอสรุปได้ว่า ความคิดตามอุดมคติ และ ความคิดตามหลักการ ของสมศักดิ์ มาบรรจบกันที่เหล่าคอนเซ็ปท์ดังกล่าว ไม่ใช่ที่ประชาธิปไตย และอาจยังกล่าวได้ว่านี่คือจุดบรรจบของทฤษฎีเชิงพรรณนา และ เชิงปทัสถาน ตามเกณฑ์ของวันพัฒน์ด้วย เช่นนั้นภายใต้คอนเซ็ปท์ดังกล่าวจะสามารถสรุปแบบวันพัฒน์คือสาธารณรัฐได้หรือไม่ คำตอบคือทั้งได้และไม่ได้ (เช่นเดิม) ได้ ก็ต่อเมื่อสาธารณรัฐนั้นได้ควบรวมคอนเซ็ปท์ต่าง ๆ ข้างต้นเข้าไว้ได้ในตัวมันเองในความเป็นจริงหรือก็คือสถานการณ์เฉพาะเจาะจงที่แน่นอนหนึ่ง ๆ (สังเกต ก็ต่อเมื่อ เป็นชุดสมการแบบมีเงื่อนไข) แต่ ไม่ได้ และผู้เขียนยืนยันในข้อนี้มากกว่า เนื่องจากคอนเซ็ปท์เหล่านี้ไม่ได้บรรจุอยู่ภายใต้คอนเซ็ปท์ของสาธารณรัฐแบบจำเป็น นั่นคือมันมีความ arbitrary อยู่ นี่คือวิธีการมองแบบค้านท์ รวมทั้งสมศักดิ์เองด้วย ดังนั้นหากจะชี้นำไปสู่ว่ารูปแบบรัฐและรูปแบบการปกครองแบบไหนในเชิงปทัสถานของสมศักดิ์ที่เป็นไปได้ ก็คือคำตอบของสมศักดิ์เอง คือ “(รัฐ ประชาธิไตย สาธารณรัฐ หรืออะไรก็แล้วแต่) ...ในเชิงรูปแบบมากที่สุด ที่รับประกันคอนเซ็ปท์เหล่านี้ในทางปฏิบัติหรือสถานการณ์เฉพาะที่เป็นจริงหนึ่ง ๆ” ส่วนเนื้อหาข้างใน “...ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายซ้าย เป็นฝ่ายขวา เป็นเสรีนิยม เป็นทุนนิยม เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ไม่พอเพียง แล้วให้เรื่องพวกนี้เป็น public debate (การถกเถียงสาธารณะ)...” และข้อสรุปเช่นนี้ก็จะย้อนกลับไปตอบคำถามได้ว่า ทำไมสมศักดิ์ไม่เคยเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และกล่าวว่า “ผมไม่ได้บอกว่าไทยควรเป็นสิ่งที่กล่าวไว้นี้” เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นต้องเป็นการถกเถียงสาธาณะนั่นเอง

นอกจากนั้นเราจะพบปัญหาว่า “นี่คือความคิดของ... (บุคคลคนหนึ่ง)” นั้นเป็นปัญหาใหญ่ในทางปรัชญา ตั้งแต่ระดับที่ยิบย่อยที่สุดต่อปมปัญหาเรื่องความเป็นบุคคล (personality) ตัวตนของบุคคลที่นับได้ว่าเป็นของคน ๆ นั้น หรือของ “ฉัน” นั้นมีเกณฑ์กำหนดอย่างไร ไปจนถึงปัญหาการครอบงำ กล่าวคือ ในช่วง 6 ตุลาฯ สมศักดิ์มีความคิดตามอุดมคติ (และตามหลักการ) แบบ พคท. ใช่หรือไม่ใช่ อาจตอบได้ว่าใช่ แล้วความคิดแบบ พคท. เป็นความคิด (ตามอุดมคติ) “ของ” สมศักดิ์เองด้วยใช่หรือไม่? ก็อาจตอบได้ว่า “ใช่” (ถ้าหากเราถือว่าสมศักดิ์ในช่วงเวลานั้นมีเสรีภาพที่จะคิดและเชื่อ แม้ดูราวกับ “ถูกครอบงำ” โดยความคิด พคท. มากกว่า) ประเด็นนี้บอกอะไร คำถามว่า “ความคิดอะไรเป็นของใคร” นั้นเป็นกรอบคิดที่เกิดขึ้นในช่วงแสงสว่าง (enlightenment) หรือก็คือการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในยุโรป นั่นคือมนุษย์คิดได้ด้วยตัวเอง พร้อม ๆ กับ กรอบคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล (private property) หรือความเป็นเจ้าของ (ownership) คือ สิ่งนี้เป็นของ “ฉัน” เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดซึ่งเป็นนามธรรม และส่งผลอิทธิพลต่อกันกลับไปมาทั้งเป็นลูกโซ่ การจะบอกว่าความคิดใดเป็นของใคร ย่อมอยู่บนฐานที่ผู้นั้นคิดเองได้ และการคิดเองได้นั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับอิทธิพลจากภายนอก หรือ discourse ที่วนเวียนอยู่ในสังคม ปัญหาว่า “ความคิดนี้เป็นของ...” จึงสร้างปัญหาในทางปรัชญาอยู่ แต่เราคงไม่ไปสู่ข้อถกเถียงเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ดังที่อภิปรายไปข้างต้น หากสามารถสรุปได้ว่า ความคิดตามอุดมคติของสมศักดิ์ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมานั้นเป็นแบบค้านท์ ซึ่งวางอยู่บนคอนเซ็ปท์ต่าง ๆ (ความเสมอภาค เสรีภาพ ปัจเจกชนนิยม การกำหนดตัวเองได้ ฯลฯ) ก็ยังวางอยู่บนเงื่อนไขของการเป็นนิเสธต่อสิ่งที่ขาดไปของการเมืองไทย มันก็จะย้อนกลับไปสู่ว่านี่คือ “ความคิดตามหลักการ” ไม่ใช่ “ตามอุดมคติ” อยู่เอง (ซึ่งผู้เขียนก็สรุปว่านี่คือจุดบรรจบ) ทว่าเรื่องนี้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก ถึงแม้ข้อเสนอจะเป็น “ความคิดตามอุดมคติ” ก็ย่อมเป็นนิเสธต่อสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันนั่นเอง กล่าวแบบจริยศาสตร์ก็คือ สิ่งที่เป็นอยู่ (to be) ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรเป็น (to ought)

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราจะสามารถจัดหมวดหมู่การวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์ไว้ในเกณฑ์ใดที่ผู้เขียนตั้งไว้ได้ แน่นอนข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อ และต่อมาเหลือ 7 ข้อ[26] เราอาจจัดได้ว่า เป็นความคิดตามหลักการของสมศักดิ์ และเป็นทั้งข้อเสนอภายใต้หลักการ และบางครั้งแปลงไปสู่ข้อเสนอภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความคิดตามอุดมคติของสมศักดิ์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สมศักดิ์เคยกล่าวในงานเสวนาหนึ่ง เมื่อปี 2544[27] ว่า “...ปัจจุบันผม (สมศักดิ์) ก็ไม่พิจารณาตัวเองเป็นมาร์กซิสต์ในแง่นี้นะ แต่ผมยังถือว่าตัวเองเป็นสังคมนิยมอยู่ แล้วถือว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นหนึ่งในแนวคิดของประเพณีแบบสังคมนิยม” (การเน้นเป็นของผู้เขียน) กรณีนี้แม้วันพัฒน์เองก็มีการตั้งข้อสังเกตไว้และทิ้งเป็นคำถามที่คลุมเครือว่าสมศักดิ์หมายความอย่างไร แต่ดูเหมือนวันพัฒน์จะไม่สนใจประเด็นดังกล่าวเท่าที่ควร เนื่องจากเขาจะยืนยันข้อเสนอของตนเองในประเด็นสาธารณรัฐแบบค้านเทียน (ดูเชิงอรรถที่ 65 ใน วันพัฒน์ 2565, 185) ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนเห็นเป็นสองแง่ หนึ่ง คือเราอาจกล่าวได้ว่า สมศักดิ์ในปี 2544 ขณะวิพากษ์ “ลัทธิมาร์คซ์” ครั้งนั้น หากเทียบกับการอภิปรายปี 2549 ในด้าน value judgment หรือก็คือด้านปทัสถาน สมศักดิ์เป็นสังคมนิยม นั่นคือ “หากคุณเป็น Socialist คุณก็คงอยากจะล้มมัน (การดึงมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน)” ซึ่งการอ้างอิงถึงหนังสือของ Hilferding ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1910 (พ.ศ. 2455) เมื่อตอนที่เขาอภิปรายเรื่องความหลากหลายในปี 2549 นั้น เป็นได้ไปหรือไม่ที่สมศักดิ์จะอ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนหน้าปี 2544 และมองตัวเองว่าเป็นสังคมนิยมไปตามแนวทางของ Hiferding หากเป็นเช่นนั้น ในแง่นี้ก็อาจกล่าวได้ว่าในช่วงปี 2544 สมศักดิ์มีอุดมคติในการประเมินคุณค่าทางสังคม (เชิงปทัสถาน) ของตัวเองไปตามทางสังคมนิยม แล้วจึงมาเปลี่ยนภายหลังเป็นค้านเทียน[28]  สอง ในปี 2544 สมศักดิ์บอกว่า “แล้วถือว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นหนึ่งในแนวคิดของประเพณีแบบสังคมนิยม” เช่นนี้เราจะตีความเทียบกับการอภิปรายในปี 2549 อย่างไร? นั่นคือในปี 2549 สมศักดิ์ได้แยก Marxism (ลัทธิมาร์กซ์) ออกจาก Socialism (สังคมนิยม) ที่อย่างแรกเป็น causal analysis และอย่างหลังเป็น value judgment การที่ “...ถือว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นหนึ่งในแนวคิดของประเพณีแบบสังคมนิยม” นั่นดูจะสับสนปนเปมากกว่าการแยกดังกล่าว ซึ่งอาจตีความได้ว่า “สังคมนิยม” เป็นร่มใหญ่ (ในทาง value judgment) ซึ่งมีลัทธิมาร์กซ์เป็นหนึ่งในแนวทางการวิเคราะห์สังคมหนึ่ง ๆ เพื่อตอบการตัดสินเชิงคุณค่าทางสังคม แล้วเปลี่ยนแปลงมัน ซึ่งกรอบคิดเช่นนี้วางอยู่บนคำตอบหรือเป้าหมาย (end) คือ “การเปลี่ยนแปลงสังคม” (ตามแนวทางสังคม-นิยม คือให้ความสำคัญกับ “สังคม”) และย้อนกลับไปใช้เครื่องมือหนึ่งเครื่องมือใด (เช่น ลัทธิมาร์กซ์) ในการวิเคราะห์สังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และในกรณีนี้สมศักดิ์เลิก (“เป็น”) ใช้เครื่องมือนี้ (ลัทธมาร์กซ์) แล้วแต่ยัง (“เป็น”) มีแนวทางและเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (สังคมนิยม) อยู่ หรือนอกเสียจากว่าก่อนปี 2549 หรือเจาะจงกว่านั้นคือก่อนปี 2544 สมศักดิ์ไม่เคยอ่าน Hilferding มาก่อน และไม่เคยตระหนักถึงการแบ่งแยกลัทธิมาร์กซ์ออกจากสังคมนิยมก่อนปี 2544 หากเป็นอย่างหลังความเข้าใจของสมศักดิ์ในประโยค “แล้วถือว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นหนึ่งในแนวคิดของประเพณีแบบสังคมนิยม” ก็จะแตกต่างออกไป

กระนั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ตามความเห็นของผู้เขียน สมศักดิ์ได้รับอิทธิพลจากค้านท์อย่างมากในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา หรือย่างน้อยที่สุดก็คือ ปี 2549 เป็นต้นมา และก็เนื่องจากว่าสมศักดิ์เป็นค้านเทียนในแง่เชิงรูปแบบอย่างถึงที่สุด เขาจึงไม่คิดที่จะเสนอรูปแบบรัฐหรือรูปแบบการปกครองใดหนึ่งในเชิงเฉพาะเจาะจง (หรือกระทั่งเชิงอุดมคติ) สำหรับสังคมไทยอันเต็มไปด้วยสภาพความเป็นจริงที่จำกัด

 


 

[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่ใหญ่กว่าที่ยังเขียนไม่เสร็จ

[2] ดู วันพัฒน์ ยังมีวิทยา, "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลา,”ฟ้าเดียวกัน, 20:2 (2565), 151-198. ซึ่งมีการนำเสนอในงานเสวนา "วลัญชทัศน์: คลื่นประชาธิปไตยก่อนถึง 14 ตุลา" วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีการถอดเทปการนำเสนอประเด็นนี้บางส่วนจากอีกงานเสวนาได้ที่ https://hist.human.cmu.ac.th/node/241 

[3] ปรัชญาเชิงปฏิบัตินั้นข้องเกี่ยวกับประเด็นทางปรัชญาในสาขาจริยศาสตร์ (ethics) ว่าด้วยชีวิตที่มีศีลธรรม

[4] การกล่าวเช่นนี้ เนื่องจากว่า การตอบคำถามเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์นั้น ในแต่ละกรอบความคิดมีวิธีการที่ “เข้าหา” (approach) แตกต่างกัน กล่าวคือความเสมอภาคเท่าเทียมที่ว่านี้เป็นรากฐาน (ground) หรือเป็นเป้าหมาย (ends) หรือเป็นธรรมชาติมนุษย์กันแน่? เป็นต้น อย่างค้านท์นั้น ความเสมอภาคเท่าเทียมนั้นมีลักษณ์จะเป็นเป้าหมาย (มากกว่าจะเป็นตัวรากฐานทางความคิดเอง) ซึ่งมีรากฐานอยู่บนกรอบคิดทางศีลธรรมของการกำหนดตัวเองได้ (self-determination) ในฐานะมนุษย์ที่มีเหตุผลและจึงสร้างกฏให้ตัวเอง ซึ่งเป็นรากฐานต่อไปให้แก่เสรีภาพ (freedom) และความเท่าเทียมในฐานะผู้สร้างกฎศีลธรรม

[5] คำว่า “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” เองนี้ก็เป็นข้อเสนอของวันพัฒน์ว่าควร “ใช้แทน” “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” ในสิ่งที่สมศักดิ์กล่าวถึง จะถูกต้องกว่า (วันพัฒน์ 2566, 159-161) ผู้เขียนเห็นด้วยกับวันพัฒน์ในกรณีที่จะ เรียกสิ่งที่สมศักดิ์เรียกว่า “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ”  ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. ว่า “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” ทั้งหากจะนับเทียบสมศักดิ์กับ “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” ก็จะใกล้เคียงมากกว่า “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” และเห็นด้วยกับเหตุผลต่าง ๆ ที่ให้ไว้ แต่ยังเห็นว่าการคงคำว่า “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” ไว้นั้นยังสำคัญในแง่ที่จะเห็นแพร่งทางระหว่างที่คนกลุ่มหนึ่งแยกไปสู่ “ความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลาฯ” กับที่ไปสู่ทิศทางอื่น (รอยัลริสต์ เป็นต้น) ที่สุดท้ายทั้งหมดกลับมาบรรจบกันทางคิดหลังปี 2535 ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่ “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” สำหรับสมศักดิ์นั้นมีนัยของการเป็น “กลุ่มคน” ที่มีบทบาทนำในสังคม (อ้างแล้ว, 167[(แต่เห็นด้วยกับวันพัฒน์ในกรณีข้างต้นว่าหากมองภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “อยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. อย่างแจ่มชัด” เมื่อเทียบระหว่าง 14ฯ กับ 6ฯ กล่าวได้ว่า 6 ตุลาฯ นั่นชัดเจนที่สุด (อ้างแล้ว,171-72)) ซึ่งแตกต่างจาก “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” ที่ผู้เขียนมองว่าคือผู้มี “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ” แทบไม่ได้มีบทบาทในการนำสังคมเลย และอาจมองได้เพียงเป็นจุดย่อยในความเคลื่อนไหวที่ใหญ่กว่าในทางประวัติศาสตร์ (อาทิ เป็นภาพตัวแทนของกระบวนการ พคท. ในเมือง) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนยังสนับสนุนว่าควรคง “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” ไว้ในฐานะคอนเซ็ปท์ของการวิเคราะห์ ทั้งยังมอง (และวันพัฒน์อาจเห็นร่วมกัน) ที่ว่าควรใช้คำว่า “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ” ในฐานะกลุ่มก้อนชุดความคิดชุดหนึ่งเป็นคำหลัก และมี “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” เป็นเพียงหมายถึงกลุ่มคนที่สมาทานความคิดนั้น ไม่ควรนับเป็น “รุ่น” เพราะหากไม่กล่าวเช่นนี้ เราจะไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงของการวิเคราะห์นักวิชาการในรุ่นนี้คนอื่น ๆ ได้ที่ไม่มี “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ” มาก่อนได้เลย 

นอกจากนั้น ผู้เขียนมองว่าเนื่องจากการผสมปนเปที่สมศักดิ์ไม่แยกแยะ “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ” แบบวันพัฒน์ออกจาก “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” จึงสร้างข้อถกเถียงในข้อสรุปต่อมาว่า ปัญญาชนในยุคดังกล่าวมองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งเป็น “เป้าหมาย” ในตัวเอง (ซึ่งสมศักดิ์กำลังกล่าวถึง “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ”) หรือไม่? และที่วันพัฒน์เถียงได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือ “อำนาจที่แท้จริงของชนชั้นล่าง” (หมายถึงระบอบสังคมนิยมที่ไม่ต้องการให้สิทธิแก่น้อยทุนและศักดินา) (ซึ่งวันพัฒน์กำลังกล่าวถึง “ปัญญาชน 6 ตุลาฯ”) (อ้างแล้ว, 172-73) เมื่อวันพัฒน์โต้แบบนี้ก็สร้างปัญหาเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับสมศักดิ์ตามวันพัฒน์จริงและวันพัฒน์ก็ได้แก้ให้ แต่การแก้ของวันพัฒน์ก็สร้างปัญหาย้อนกลับต่อข้อสรุปเรื่อง “เป้าหมาย” ที่สมศักดิ์กำลังกล่าวถึง ผู้เขียนขอสรุปเสนอให้ง่ายเช่นนี้ ว่า “ปัญญาชน 14 ตุลาฯ” มีความหลากหลายในทางอุดมการณ์ (รวมทั้งมีอิทธิพลของ พคท.) และมีประชาธิปไตยรัฐสภาและการเลือกตั้งเป็น “เป้าหมาย” (ตามข้อเสนอของสมศักดิ์) ขณะที่ “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ”  อยู่ใต้อิทธิพลของ พคท. อย่างชัดเจน และมี “สังคมใหม่” (คอมมิวนิสต์?) เป็นเป้าหมาย (“อำนาจที่แท้จริงของชนชั้นล่าง” ตามข้อเสนอของวันพัฒน์อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน “สังคมใหม่”)  สรุปได้ว่า เวลาที่สมศักดิ์กล่าวถึงกลุ่มคนที่อยู่ใต้อิทธิพลของ พคท. นั่นเรียกว่า “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ” จะถูกต้องกว่าและผู้ที่มีความคิดเหล่านี้นั้นมีเป้าหมายที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าเพราะการแบ่งแยกอย่างไม่ชัดเจนของทั้งสมศักดิ์และวันพัฒน์จึงสร้างปัญหาทางคำอธิบายที่ยังแก้ไม่เสร็จ ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า โพสต์ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 สมศักดิ์เองก็กล่าวถึง “เป้าหมาย” ของ “ความคิดแบบ 6 ตุลาฯ” คล้ายที่วันพัฒน์เสนอ สมศักดิ์โพสต์ว่า “ตลกดี เรารำลึก 6 ตุลา โดยมีคำขวัญว่า เพื่อหาความจริงแต่ลำพังพวกเราเป็นอะไร ยังไม่กล้ายอมรับกันตรงๆ ขบวนการนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลานั้น เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะนั้นเราไม่ได้กำลังสู้เพื่อประชาธิปไตย” (ดู https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/pfbid07N67NaQYBet4Qbug8fWL13Dj76wqXANfQVTSZx8Da75NwrNQDRbdpQBbtFwe3U7Sl ) แต่กำลังสู้เพื่อ “สังคมใหม่” (ดู https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/pfbid0VuDxj5Bx19hrYYzBbWJ9me4SAn99DhDthCapbkFpwRr3umJH2r6biCnUdYuwqwysl ) ลิ้งค์ทั้งหมดเข้าถึงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567

[6] การตีความอันนำไปสู่ข้อสรุปเช่นนี้ของวันพัฒน์สร้างปัญหาในเชิงข้อเท็จจริงอยู่ สมศักดิ์เคยเขียนถึงเหตุการณ์ที่เขาจดจำได้ถึงที่มาว่าทำไมประเด็นสถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่สำคัญสำหรับเขา อย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกนั้นผู้เขียนจำไม่ได้เสียแล้วว่าพบที่ไหน แต่ครั้งที่สองที่ผู้เขียนพบคือสมศักดิ์เล่าเหตุการณ์นี้อีกครั้งผ่านเฟสบุ๊ค (facebook) ส่วนตัว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคน 2566 ว่า 


"ความทรงจำ: กษัตริย์ (ต่อ)

ผมจำได้ดี วันที่ 6 ตุลา ตอนที่เสียงปืนเสียงระเบิดดังสนั่นหวัน่ไหว และพวกเรากำลังหาทางเจรจากับตำรวจให้พวกเราออกไปได้ ตรงทางเดินตึกคณะศิลปศาสตร์ ผมพบ "ยุค ศรีอาริยะ" ผมถามเขาว่า "คิดว่าครั้งนี้ เขา[กษัตริย์]เป็นคนทำใช่ไหม?" (หลายปีต่อมา ผมถาม "ยุค" ว่าเขาจำคำถามและบทสนทนาผมได้ไหม เขาจำไม่ได้เสียแล้ว)

ผมไม่เคยลืมว่าใครเป็นคนรับผิดชอบสูงสุด แต่ใช้เวลาอีกหลายปีกว่าผมจะตกผลึกได้

ผ่านการล่มสลายของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

และผมไปเรียนต่อเมืองนอก

ตอนผมอยู่เมืองนอก ผมคิดและค้นอยู่สองเรื่อง คือเรื่องกษัตริย์กับเรื่องมาร์กซิสม์ (เรื่องมาร์กซิตม์ไว้วันหลังค่อยเล่า)

ผมพบว่านับเป็นเรื่องแปลกมาก ที่กษัตริย์เป็นที่ยอมรับกันมากขนาดนี้

เหตุใดกษัตริย์จึงเป็นเรื่องที่คนไม่แตะต้องอย่างแท้จริง

แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นกรณีสวรรคต เวลากล่าวถึงรัชกาลที่ 8 สุพจน์ ด่านตระกูลยังอุตส่าห์กล่าวด้วยภาษายกย่อง

ผมเก็บปัญหาเรื่องกษัตริย์ไว้คนเดียว จนกระทั่งครั้งหนึ่ง ผมกลับมาเมืองไทยเพื่อเก็บข้อมูล

ในการสัมภาษณ์ประสบการณ์ในชีวิตเมื่อเข้าป่านั้น จู่ๆอเนก เหล่าธรรมทัศน์ก็เอ่ยขึ้นว่า

"ผมว่าเมืองไทย เราต้องหาว่าสถาบันกษัตริย์ทำไมเป็นที่เคารพเชื่อฟังขนาดนั้น ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ ก็ตอบคำถามอื่นๆได้"

ผมเกือบตบโต๊ะที่นั่งอยู่เลย บอก โห คิดเหมือนผมเลย

(ยังมีต่อ)" (ดู https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/pfbid0urNDZN4niGHBLWxPreNvXj3qdVNaiDoKgDkzx2P5NUpBZaYbrVCN92PfUVWFWoNzl )

แม้จะแตกต่างในรายละเอียดในเรื่องเล่าที่ผู้เขียนพบเห็นครั้งแรกจากความทรงจำของผู้เขียน (สมศักดิ์ คลับคล้ายจะเล่าว่าหลังอเนกตอบ เขาถึงกับ “ตบเข่า”) แต่จากโพสต์ดังกล่าวบนเฟสบุ๊คที่เป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำถึงตัวเองของสมศักดิ์เอง จะพบว่าประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่เขาเริ่มสะดุดใจตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก่อนจะ “ตกผลึกได้” อย่างไรก็ตามยังมีความคลุมเครืออยู่ที่ต้องอาศัยการค้นคว้าหากจะตอบคำถามว่าเมื่อไหร่?และอย่างไร?ที่สมศักดิ์ “ตกผลึก” เรื่องสถาบันกษัตริย์แล้วจริง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความสอดคล้องของเรื่องเล่าของสมศักดิ์เองหรือผู้ใกล้ชิดในการประเมิน ไม่เพียงเท่านั้นข้อเสนอที่ว่าค้านเทียนในฐานะ “หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ” โดยวันพัฒน์เขียนว่า “...ประการที่สอง ในการตอบคำถามว่าทำไมสมศักดิ์จึงกลายเป็นผู้มาก่อนกาลในการมองเห็นประเด็นสถาบันกษัตริย์ในขณะที่ปัญญาชนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น ผู้เขียน (วันพัฒน์) ต้องการแสดงให้เห็นว่า “หนึ่งในปัจจัยสำคัญ” คือการที่สมศักดิ์หันมาใช้แนวคิดสาธารณรัฐนิยมแบบค้านเทียน (Kantian republicanism) ในการวิพากษ์การเมืองไทย ซึ่งถือเป็นการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลาอย่างถึงราก” (วันพัฒน์ 2565153) เราจะพบการสะดุดและเปลี่ยนนัยของข้อความ ช่วงแรกวันพัฒน์เหมือนจะเสนอว่า “ทำไมสมศักดิ์จึงมองเห็นประเด็นสถาบันกษัตริย์” และเหมือนจะตอบว่า “(ปัจจัยหนึ่ง) คือการหันมาใช้แนวคิดสาธารณรัฐแบบค้านเทียน” แต่กลับเป็นว่า “ใช้แนวคิดสาธารณรัฐนิยมแบบค้านเทียนในการวิพากษ์การเมืองไทย” นี่เป็นปัญหาเชิงลำดับเหตุการณ์  กล่าวคือ เพราะสมศักดิ์เป็นค้านเทียนแล้วจึงมองเห็นปัญหาของบทบาทของสถาบันกษัตริย์หรือในทางกลับกันความคิดของค้านท์ถูกเพียงนำมาช่วยวิพากษ์ในเชิงหลักการของบทบาทของสถาบันกษัตริย์และการปกครองโดยภาพรวม (“วิพากษ์การเมืองไทย”) ก็ยังสามารถเป็นไปได้สองทาง กล่าวคืออย่างแรกเป็นอย่างที่วันพัฒน์เสนอว่าสาธารณรัฐแบบค้านเทียนเป็น “หนึ่งในปัจจัยสำคัญ” กล่าวให้ง่ายคือ “เป็นค้านเทียนก่อน แล้วเห็นปัญหาของกษัตริย์” ขณะที่อย่างหลังอาจสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่สมศักดิ์ตระหนักถึงบทบาทของกษัตริย์ก่อน (และอาจสอดคล้องและประเมินอย่างวันพัฒน์ในแง่หนึ่งได้ว่า “(ซึ่ง) ถือเป็นการแตกหักกับความคิดแบบปัญญาชน 6 ตุลาอย่างถึงราก”) กล่าวคือ “เห็นปัญหาของกษัตริย์ แล้วจึงเป็นค้านเทียน” ในเชิงลำดับหรือผสมปนเปกลับไปกลับมาก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องอภิปรายกันต่อไป ในแง่ของตัวบทความของวันพัฒน์ หากดูตามวันที่สมศักดิ์โพสต์ที่เกิดขึ้นหลังการตีพิมพ์บทความของวันพัฒน์ ก็อาจแก้ต่างให้วันพัฒน์ได้ว่าเขาไม่เห็นข้อเขียนนี้ของสมศักดิ์ขณะที่เขากำลังเขียนบทความ

[7] ประเด็นนี้อาจเทียบเคียงได้กับตัวอย่างรูปธรรมในบางประเทศสาธารณรัฐอื่น ๆ ที่มีประมุขแห่งรัฐ เช่น ระบบประธานาธิบดีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายบริหาร ฯลฯ กล่าวคือสาธารณรัฐที่มีประมุขอย่างประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งได้ แล้วเหตุใดจะมีกษัตริย์เป็นประมุขที่มาจากการเลือกตั้งหรือยึดโยงกับประชาชนไม่ได้ เป็นต้น ทว่าประเด็นนี้ก็ยังชวนสงสัยและวันพัฒน์ไม่ได้ชี้แจงว่า ในเมื่อสาธารณรัฐของวันพัฒน์อาจมีกษัตริย์ดำรงอยู่ได้ (อันเนื่องมาจากการตีความย้อนกลับจากไม่เคยมีการเสนอยกเลิกสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์) เหตุใดวันพัฒน์ถึงไม่เสนอว่าสมศักดิ์นิยมประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitution monarchy) และรูปแบบรัฐก็ถือว่าเป็น “ราชอาณาจักร” (kingdom) ไปในแบบอังกฤษ ที่วันพัฒน์เองตั้งข้อสังเกตเอาไว้อังกฤษน่าจะเป็นประชาธิปไตย เป็นไปได้ว่าสำหรับวันพัฒน์รูปแบบบรัฐดังกล่าวอาจจำกัดเกินไปในกรณีที่ต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเสีย

[8] ดู https://prachatai.com/journal/2006/11/10551 เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566, ทว่าในบทความของวันพัฒน์ระบุว่า “ซึ่งจัดขึ้นในปี 2548” (วันพัฒน์ 2565, 186) นั่นเป็นข้อมูลที่ผิด จะเห็นว่าตามแหล่งอ้างอิงของเว็ปไซท์ประชาไท ได้รายงานการอภิปรายที่มีลักษณะคล้ายกันดังกล่าว แต่ในแบบที่ตัดทอน คัดย่อ มานำเสนอ (จึงไม่ปรากฏเนื้อหาเต็มในการรายงาน) ระบุวันและเวลาชัดเจน ซึ่งจะตรงกับวันเวลาที่ระบุในเอกสารรวมบทความในงานประชุมวิชาการครั้งนั้น ซึ่งรวมตีพิมพ์เป็น “เอกสารประกอบงานวิจัย” ทว่าในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฎการอภิปรายดังกล่าวของสมศักดิ์ (และคนอื่น ๆ) สามารถดาวโหลดได้ที่เว็ปไซด์ งานห้องสมุด e-Library สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (ลิ้งค์ https://elibrary.tsri.or.th/project_content.asp?PJID=PDG49H0002 ) อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของสมศักดิ์ปรากฎในหนังสือที่ได้นำบทความในงานประชุมดังกล่าวที่ถูกคัดเลือกไว้ 10 บท แล้วรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ เกษม เพ๊ญภินันท์, บ.ก., (2552). ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ : วิภาษา.  (วันพัฒน์เองก็อ้างอิงจากเล่มนี้) ซึ่งปรากฏการะบุเดือนที่จัดเสวนาอย่างชัดเจนตรงตามประชาไทและ “เอกสารประกอบงานวิจัย" หลายตำแหน่งภายในเล่ม ทว่ากลับมีความผิดพลาดในส่วนบทนำ โดยบรรณาธิการคือ เกษม เพ็ญภินันท์ (2552, 18) ที่ไประบุวันที่ 16-17 ธันวาคม 2549 

[9] ในเชิงอุดมคติ ณ ที่นี้ (และจะเห็นต่อไปอีกหลายแห่ง) ของวันพัฒน์สามารถตีความได้สองนัย คือ หนึ่ง ในเชิงอุมดมคติของประชาธิปไตย และสองในเชิงอุดมคติของสมศักดิ์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า วันพัฒน์หมายถึงนัยอย่างหลังมากกว่า

[10] ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ผิดอีกครั้ง การอภิปรายของสมศักดิ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 แต่วันพัฒน์ไปอิงกับปีการตีพิมพ์บทอภิปรายดังกล่าว ซึ่งก็ขัดกับการอ้างผิดในครั้งแรกของเขาเองที่ระบุเป็นปี 2548 ดังที่กล่าวไปในเชิงอรรถก่อหน้า 

[11] ความไม่ลงรอยนี้ปรากฏอีกครั้งเมื่อเขาพยายามไต่สวนว่า “... เราอาจตั้งคำถามได้เช่นกัน เช่น เมื่อสมศักดิ์กล่าววว่า “สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องสร้างรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่แฟร์กับทุกฝ่าย เป็นกรอบที่ทุกฝ่ายแฟร์ด้วยกันได้ แล้วส่วนที่เป็นเนื้อหาว่าจะตัดสินเรื่องนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรเป็นเรื่องของยุคสมัย” นั้นสมศักดิ์กำลังเสนอว่า (1) นโยบายเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยต้องตัดสินโดยประชาชนและทำโดยประชาชนเอง โดยที่รัฐต้องไม่เข้าไปบังคับใช้นโยบายเหล่านั้นด้วยตัวเอง หรือ (2) สมศักดิ์กำลังเสนอว่านโยบายทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยต้องตัดสินโดยประชาชนและถูกบังคับใช้โดยรัฐ ในกรณีถ้าเป็นข้อ (1) นั่นแสดงว่ารัฐต้องมีความเป็นกลางต่อระบบเศรษฐกิจต่าง ๆไม่สามารถเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ แม้ว่าประชาชนในยุคสมัยนั้น ๆ จะมีความต้องการระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม มิเช่นนั้นเท่ากับว่ารัฐก็จะสูญเสียความเป็นกลางไปทันที เช่น ถ้าสมมติว่าในยุคเวลาหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องการระบอบสังคมนิยม คำถามคือรัฐในขณะนั้น ๆ สามารถบังคับใช้ระบอบสังคมนิยมได้หรือไม่ ถ้าตอบว่าได้ (คือ ข้อ 2) ก็จะมีคำถามต่อไปว่าแล้วเช่นนั้นจะไม่เท่ากับเป็นการทำใหรัฐเอื้อต่อแนวคิดชีวิตที่ดีแบบใดแบบหนึ่งหรือ แต่ถ้าตอบว่าไม่ได้ ก็จะมีคำถามต่อไปอีกเช่นกันว่านี่ไม่เท่ากับเป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่สมศักดิ์เสนอไปก่อนหน้านี้ว่าให้ประชาชนแต่ละยุคสมัยตัดสินนโยบายเศรษฐกิจ (คำว่า “นโยบาย” สื่อถึงการบังคับใช้โดยรัฐ) หรอกหรือ สมศักดิ์ยังคงมีความไม่ชัดเจนในคำถามเหล่านี้” (วันพัฒน์ 2566, 193) ข้อเสนอสรุปในตอนท้ายในบทความของผู้เขียนจะแก้ข้อสงสัยนี้ของวันพัฒน์เช่นกัน ทว่าข้อไต่สวนของวันพัฒน์ก็ยังน่ารับฟัง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตได้ชัดว่า สมศักดิ์ไม่ได้มีแนวโน้มปฏิเสธการคงอยู่ของ “รัฐ” ทั้งยังชวนคิดต่อได้ว่าคำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ ถ้าหากระบอบเศรษฐกิจ (หรือ “ส่วนที่เป็นเนื้อหา” หนึ่ง ๆ) ในยุคสมัยหนึ่งขัดแย้งกับประชาธิปไตยที่แฟร์กับทุกฝ่ายนั้นจะยอมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่? (“เนื้อหา” ขัดแย้งหรือทำลายตัว “รูปแบบ” เอง) หรือกล่าวอย่างทั่วไปก็คือหากมีการถกเถียงสาธารณะที่จะ “ยอมให้ตนเองถูกจำกัดเสรีภาพ” “ใช้เสรีภาพที่จะทำลายเสรีภาพ” จะยอมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?

[12] ท่าทีของสมศักดิ์เองที่ไม่เห็นด้วยกับสถานะพิเศษของสถาบันกษัตริย์นั้นอาจชี้ให้เห็นได้จากข้อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แทนที่จะทำเพียงแก้ไข ที่ปรากฎในข้อเสนอ 8 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และปรากฎอีกครั้งในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับ กลุ่มนิติราษฎร์ ในระดับวิธีคิด (โดยเฉพาะเจาะจงคือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์) และ คณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก 112) ที่เสนอเพียงแค่แก้ไข นี่ตอกย้ำทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์ (ในบริบทและช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ในสังคมไทย) ถึงความไม่เห็นด้วยของอภิสิทธิ์เฉพาะขององค์กรใด ๆ แม้กระทั่งสถาบันกษัตริย์เอง เขาถึงกับเคยกล่าวว่า “อะไรที่ดีพอสำหรับคนทั่วไป ก็ดีพอสำหรับเจ้าด้วย”

[13] ข้อกังวลอาจจะมีอยู่ แต่สำหรับผู้เขียนไม่ใช่นัยถึงว่าจะอาจจะโดนข้อหาเพราะนี่เป็นความคิดของสมศักดิ์ หากแต่เพราะ ข้อเสนอสมศักดิ์ หรือก็คือสมศักดิ์กล่าวเช่นนั้นออกไป ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะกล่าวถ้อยคำที่ละเมิด ม. 112 โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรือคิดเช่นนั้น คือถ้าหากจะผิดก็ผิดด้วย การกระทำ/การแสดงออก ไม่ใช่เพราะคิดเช่นใด

[14] อ้างแล้ว

[15] ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การแบ่งย่อหน้านี้ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นการทำขึ้นโดยกองบรรณาธิการของหนังสือจากการถอดเทป ส่วนในการนำเสนอของสมศักดิ์คงไม่ปรากฏการแบ่งย่อหน้าเช่นนี้ นอกเสียจากว่าจะเป็นการนำบทร่าง (script) ของสมศักดิ์มาพิมพ์ ประเด็นนี้เกินไปกว่าความสามารถของผู้เขียนจะยืนยันได้

[16] ตำแหน่งนี้อาจกล่าวได้ว่านี่หมายถึง ข้อเสนอของสมศักดิ์คือความคิดของสมศักดิ์เองด้วย

[17] คำนี้ซ่อนนัยยะซ้อนกันสองชั้น คือ คำนี้ “รัฐในอุดมคติ (รัฐที่มีความชอบธรรม) สำหรับสมศักดิ์” เป็นคำของวันพัฒน์เองที่นิยามข้อสรุปการตีความของเขาในนัยหนึ่ง กับอีกนัยหนึ่งก็คือ “รัฐในอุดมคติ (รัฐที่มีความชอบธรรม) สำหรับสมศักดิ์จริง ๆ” 

[18] ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า งานเขียนที่ค้านท์กล่าวถึง สาธารณรัฐ นั้นอยู่ในนิพนธ์ชื่อ Zum ewigen Frieden. Ein philosophischer Entwurf  หรือ Perpetual Peace: A Philosophical Sketch1789) ซึ่งกล่าวถึง การร่วมมือระหว่างรัฐต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่สันติภาพถาวร กลายเป็น สมาพันธรัฐ (federation) ที่มีขั้นตอนเบื้องต้น 6 ประการและนำไปสู่ข้อตกลงที่วางอยู่บน “ข้อผูกมัดเด็ดขาด 3 ประการ” ได้แก่ (1) ธรรมนูญพลเรือนของแต่ละรัฐควรจะเป็นสาธารณรัฐ, (2) บัญญัติสิทธิ์แห่งสหประชาชาติควรจะถูกวางรากฐานจากสมาพันธะเสรีรัฐ และ (3) บัญญัติสิทธิ์แห่งพลโลกบาลควรถูกจำกัดบนเงื่อนไขของมิตรไมตรี (ดู Kant, Immanuel (2016). Perpetual Peace; A Philosophical Essay. Translated by Smith, Mary C. Project Gutenberg. pp. 120128137.) จะเห็นว่าแต่ละรัฐต้องมีรูปแบบรัฐเป็นสาธารณรัฐ (republic) หากจะนำไปสู่สันติภาพถาวร อย่างไรก็ตาม ค้านท์เองไม่เคยแสดงตนว่าเป็นผู้นิยมสาธารณรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ตีความของผู้อ่านค้านท์จากการวิเคราะห์การก่อเกิดสาธารณรัฐและหลักการต่าง ๆ ที่เขานำเสนอมากกว่า และในกรณีนี้ก็คือสันติภาพถาวรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องวางอยู่บน “ข้อผูกมัดเด็ดขาด 3 ประการ” ของเขา และหากแม้ค้านท์อาจจะเป็นผู้นิยมสาธารณรัฐ แต่ก็ย่อมไม่อาจอนุมานได้ว่าสมศักดิ์ (ที่ได้รับอิทธิพลจากค้านท์) นิยมสาธารณรัฐเช่นเดียวกันได้ วันพัฒน์ระบุอยู่เองว่า สาธารณรัฐที่เขากล่าวถึง “ไม่ใช่ปรัชญาหรือความคิดของค้านท์ “ทั้งหมด”” (เชิงอรรถที่ 53 ใน วันพัฒน์ 2566177)

[19] ต่อมาข้อเขียนดังกล่าวนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน รัฐศาสตร์สาร วารสารวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 45 (ปีที่ 19 ฉบับที่ 1) มีนาคม 2537 (ลักษณะการระบุปี ฉบับซ้ำซ้อน ดูคำอธิบายเพิ่มเติมที่ ศุภมิตร  2555, 208)

[20] ศุภมิตร (2555, 211-12) ยังตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่าด้วยเพราะสมศักดิ์ไม่มอง “นิยาม" ของ “ประชาธิปไตย” อย่างเลื่อนไหลแบบนักวิชาการปัญญาชนคนอื่น แต่ยึดในนิยามตามในเชิง “รูปแบบ” ดังกล่าวอย่างแม่นมั่น จึงทำให้ความคิดของเขาแตกต่างไปจากนักวิชาการปัญญาชนคนอื่น (อย่างน้อยก็ธงชัย และเกษียร)

[21]  แม้กระทั่งเกณฑ์สามข้อของสมศักดิ์สำหรับประชาธิปไตย (ในปี 2537) เมื่อเทียบกับข้อวิพากษ์ว่า อังกฤษก็ไม่ได้เป็น democracy จริง ๆ เพราะละเมิดหลักการที่ว่า ไม่ว่าใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครองได้เพราะไม่เป็นสาธารณรัฐตามนิยาม “สั้นๆ” ของสมศักดิ์ ก็ดูน่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ (แม้ไม่เป็นสาธารณรัฐ) ประเด็นนี้ไม่ชัดเจน จึงขอสรุปว่าเป็นความเข้าใจผิดของสมศักดิ์อย่างที่วันพัฒน์ตั้งไว้

[22] แต่ถึงอย่างนั้น หากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (เช่น สมศักดิ์) ออกตัวว่าตัวเองสมาทานรูปแบบรัฐแบบใด หรือแนวคิดทางการเมืองแบบใด ก็ยังต้องตรวจสอบอภิปรายอยู่นั่นเองว่าบุคคลนั้น หรือสมศักดิ์ในกรณีนี้ มีความคงเส้นคงวาหรือสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองอ้างว่าตัวเองสมาทานมากน้อยเพียงใด วันพัฒน์ก็ตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน

[23] เกณฑ์ทั้งสี่อย่างของผู้เขียน จะใกล้เคียงกับการแบ่งของวันพัฒน์เพียงสอง ตามจอห์น รอลส์ (John Rawls) เป็น ทฤษฎีเชิงอุดมคติและทฤษฎีไม่อุดมคติ (วันพัฒน์  2566, 158) แต่มีนัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เขียนมองว่ายังไม่ละเอียดมากพอ การแบ่งดังกล่าว (ไม่ว่าของผู้เขียนหรือของวันพัฒน์) ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงและสัมพันธ์กับการแบ่งเป็นทฤษฎีเชิงพรรณนากับเชิงปทัสถานได้ด้วย  ผู้เขียนเองยังนับว่าการแบ่งเรื่อง ทฤษฎีเชิงพรรณนา และเชิงปทัสถาน เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะอยู่ในการประเมินอีกระนาบดังที่ได้อภิปรายไป จะไม่มาปนกับการอภิปรายว่าความคิดนี้ “เป็นของ” สมศักดิ์หรือไม่

[24] เช่น การลดโทษไม่เกิน 3 ปี ดู เปิดข้อเสนอคณิต ณ นคร”(ฉบับเต็ม) หนุนแก้ไข มาตรา112 ส่งตรงถึง ยิ่งลักษณ์ ใน https://prachatai.com/journal/2012/02/39096 เข้าถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2566 

[25] ดู https://www.youtube.com/watch?v=UMTNl8ZHvsE นาทีที่ 37.15 เป็นต้นไป เข้าถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2566 

[26] ดู https://prachatai.com/journal/2019/07/83630  เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566, ปราการ กลิ่นฟุ้ง (2566) ได้ให้ข้อมูลว่า “จากข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในภายหลังสมศักดิ์ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจว่า พื้นฐานของข้อเสนอ 8 ข้อนี้มาจากหลักการอันหนึ่ง... คือมาจากหลักการอำนาจและความรับผิดชอบ ซึ่งสมศักดิ์เอามาจากอาจารย์หยุด แสงอุทัย ที่เป็นนักกฎหมาย ...เป็นข้อเสนอที่อาจารย์หยุดเผยแพร่ในรูปแบบบทความวิทยุ เผยแพร่ในปี 2499 มีต้นฉบับอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ...” ในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย เป็นบทถอดเทปการบรรยาย ดู https://hist.human.cmu.ac.th/node/240 เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2567

[27] ข้อความดังกล่าว ปรากฏในบทบรรณาธิการ ดู กองบรรณาธิการ, “วิพากษ์” การเมืองไทยกับลัทธิมาร์คซ์,” การเมืองใหม่ ปีที่ 2, ฉบับที่ 3 (2554): 27 (อ้างใน วันพัฒน์ 2565, 185)

[28] ความเป็นค้านเทียนในตัวสมศักดิ์ “ปัจจุบัน” หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ผู้เขียนเองนั้นก็ขอยืนยันอีกเสียงอย่างแน่นอน แต่การจะประเมินว่าข้อเสนอเรื่อง “...เชิงรูปแบบ” หรือเงื่อนไขของความเป็นไปได้ (condition of possibility) นั้นสังกัดในแง่ casual analysis (ทฤษฎีเชิงพรรณนา) หรือเป็น value judgment (ทฤษฎีเชิงปทัสถาน) ก็ยังเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะสรุป แต่หากเป็นดังเช่นที่วิเคราะห์ก่อนหน้าและจากคำกล่าวอ้างของสมศักดิ์ ก็จะสร้างปัญหาให้วันพัฒน์ต่อมาอีกในแง่ที่ว่า หากมองว่า (1) สมศักดิ์เป็นสังคมนิยมเป็นเชิงปทัสถาน แล้วมีค้านเทียนเป็นเชิงพรรณนา (ตามที่สมศักดิ์ได้อ้างในการอภิปรายเรื่องความหลากหลายว่าเขานำเสนอในจุดยืนแบบวิทยาศาสตร์) ก็จะกลับหัวกลับหางข้อเสนอของวันพัฒน์ไปคนละขั้ว เพราะในทางกลับกันเลย วันพัฒน์ยังมองว่า (2) สมศักดิ์สามารถมีความคิดเชิงพรรณนาเป็นสังคมนิยม (และอื่น ๆ) แต่เชิงปทัสถานเป็นค้านเทียน ซึ่งผู้เขียนมองว่าแบบ (1) จะถูกต้องสอดคล้องกับการอภิปรายต่าง ๆ ของสมศักดิ์ [แต่จะว่ากันตามจริง หากเราจะสรุปว่าในเชิงปทัสถานสมศักดิ์เป็นทั้งสองคือทั้งสังคมนิยมและค้านเทียนนั้นผู้เขียนก็ยังไม่เห็นถึงความขัดแย้งกันเอง ทั้งเห็นด้วยกับวันพัฒน์ด้วยว่าสมศักดิ์ยังมีการวิเคราะห์เชิงพรรณนาแบบมาร์กซิสม์อยู่บ้างในปัจจุบัน (กระทั่งใช้การวิเคราะห์สังคมแบบค้านได้) ว่ากันตามจริงข้อเสนอการวิเคราะห์สถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันก็วางอยู่บนการวิเคราะห์รูปแบบศักดินาของมาร์กซ์สองประการ ขณะที่แม้สมศักดิ์เองจะอ้างว่าได้เลิกเป็นมาร์กซิสม์ไปแล้ว อย่างไรก็ตามมาร์กซิสม์สำหรับสมศักดิ์นั้นนับรวมอะไรบ้าง หรือสมศักดิ์ได้กลับมารับมามาร์กซ์อีกครั้ง? ก็คงต้องรอให้สมศักดิ์มาชี้แจงเอง] ในแง่นี้เราพบปัญหาว่าการแจกแจงของวันพัฒน์และของสมศักดิ์เองต่อการอภิปรายของสมศักดิ์ในประเด็นเรื่องความหลากหลายที่แท้จริงในเชิงพรรณนาและเชิงปทัสถานว่าจะแยกออกจากกันได้เด็ดขาดอย่างไร? เมื่อสมศักดิ์บอกว่าเป็นพรรณนาอย่างเดียว แต่วันพัฒน์มองว่าเป็นสองอย่างได้ และหากความเป็นจริงสมศักดิ์เป็นอย่างที่ (2) ตามที่วันพัฒน์สรุป ก็ดูจะขัดแย้งและทำให้สมศักดิ์ย้อนแย้งไม่คงเส้นคงว่ากับสิ่งที่ตัวเองกล่าวไปหมด (ภายใต้ข้อมูลที่มี) ซึ่งข้อเสนอของวันพัฒน์ในบางแง่มุมก็ฟังขึ้นอยู่ เช่น สมศักดิ์เป็นค้านทียนในเชิงปทัสถาน และผู้เขียนก็เห็นด้วยว่าดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น (แม้ ผู้เขียนได้เสนอข้อสรุปที่แน่นอนมากกว่า จุดบรรจบของความคิดเชิงปทัสถานและเชิงพรรณนาพบกันที่ตอนเซ็ปท์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป) นี่สะท้อนให้เห็นปัญหาว่าในกรณีเช่นนี้ เราจะแบ่ง causal analysis (หรือเชิงพรรณนา) กับ value judgement (หรือปทัสถาน) ออกจากกันเด็ดขาดได้อย่างไร เพื่อใช้ช่วยให้ในการทำความเข้าใจมากกว่าจะก่อปัญหา ไม่ว่าจะจากการแบ่งของสมศักดิ์เองหรือของวันพัฒน์ ดังนั้นเท่าที่ผู้เขียนนึกออกก็อาจต้องสรุปว่า ลักษณะชั่วขณะที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ของกรอบคิดแบบค้านท์มีลักษณะที่ไม่มีความต่างระหว่าง causal analysis และ value judgment โดยที่มีแนวโน้มเอียงที่จะวางบนฐาน casual analysis (เชิงพรรณนา) อยู่เสมอมากกว่า